Mongkol Oumroengsri
แรงกดหัวเข็ม (tracking force)
พูดถึงแรงกดหัวเข็ม หรือ tracking force นั้น แม้จะเห็นค่าตัวเลขเพียงแค่ไม่ถึง 2 กรัม สำหรับหัวเข็มยุคใหม่ส่วนมาก แต่เมื่อเทียบน้ำหนักที่กระทำลงบนพื้นที่เล็กๆ เศษเสี้ยวของมิลลิเมตรนั้น มันเทียบเท่ากับแรงกดจากน้ำหนักหลายตันที่กระทำต่อพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว !
ไหนยังจะมีแรงเสียดทาน ขณะที่หัวเข็มเคลื่อนที่ไปตามร่องเสียง (groove) ก่อให้เกิดเป็นความร้อนสะสมบนส่วนปลายหัวเข็มที่สัมผัสอยู่บนร่องเสียง แล้วกระจายมาสู่ก้านหัวเข็ม (cantiliver) ที่มีส่วนช่วยระบายความร้อน
ดังนั้นหากยิ่งตั้งแรงกดหัวเข็มไว้เกินพอดี (ไม่ควรเกินกว่าค่าที่กำหนดมาของแต่ละหัวเข็ม) ก็เท่ากับว่า กำลังทำร้ายทั้งหัวเข็มและแผ่นเสียง ….งั้น ตั้งค่าแรงกดหัวเข็มไว้ให้เบาๆ อันนี้ยิ่งเป็นอันตรายต่อร่องแผ่นเสียงครับ เพราะแทนที่ปลายหัวเข็มจะลงไปสัมผัสกับร่องเสียงอย่างเต็มที่ ก่อให้เกิด “การเกาะร่อง” ได้ดี (ตรงตามความหมายของ tracking force) อย่างที่ควรจะเป็น กลับกลายเป็นแค่แตะๆ ลอยๆ อยู่ส่วนบนของร่องแผ่นเสียง มิได้จมตัวลงไปสัมผัสกับร่องเสียงอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถได้ข้อมูลจากร่องแผ่นเสียงครบถ้วนอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ความที่หัวเข็มไม่ได้เกาะอยู่บนร่องเสียงอย่างที่ควรจะเป็นนั้น ก็จะกลายเป็นว่า ปลายหัวเข็ม กำลัง “ครูด” อยู่แค่ส่วนบนของร่องเสียงแค่นั้น เท่ากับว่า กำลังทำลายสภาพร่องเสียงโดยรวมอยู่ด้วยซ้ำ
ดังนั้นข้อคิดสำหรับผม ควรจะตั้งน้ำหนักแรงกดหัวเข็มให้ตรงตามค่า tracking force ที่กำหนดมาสำหรับหัวเข็มนั้นๆ แล้วฟัง – ฟังไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทราบถึง “บุคลิกเฉพาะ” ของหัวเข็มนั้น จากนั้นถ้าพอใจกับเสียงที่รับฟังก็ปล่อยไว้ที่ค่านั้น แต่หากอยากรู้อยากลอง ก็ค่อยๆ ปรับถอยค่าแรงกดหัวเข็มนั้น ทำทีละนิดๆ แล้วฟังในทุกครั้งที่ปรับลดค่าแรงกดหัวเข็ม
….คุณอาจจะ – อาจจะนะครับ พบกับค่าแรงกดหัวเข็มที่พอเหมาะพอเจาะ จนทำให้การฟังได้รับความโปร่งโล่ง สดกระจ่าง ชิ้นดนตรีต่างๆ เป็นอิสระรับรู้ถึงบรรยากาศ รู้สึกฟิลลิ่ง-อินมากขึ้นกว่าค่าแรงกดหัวเข็มตามที่กำหนดมา ด้วยเหตุว่า หัวเข็ม “ถึงจุด” ที่ทำงานรวมกับโทนอาร์มได้อย่างลงตัว อย่างกับเป็นเนื้อเดียวกัน
ทั้งนี้ค่าแรงกดหัวเข็มที่กำหนดมานั้น อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างจากการใช้งานจริงของเรา ค่าแรงกดหัวเข็มจากโรงงานจึงเป็นแนวทางขั้นต้นสำหรับการหาค่าที่เหมาะสม อย่าไปยึดติดจริงจังกับค่านั้นค่านี้เป๊ะๆ เถียงกันคอเป็นเอ็น เพราะสุดท้ายแล้วความสุขความเพลิดเพลินใจจากการฟังของแต่ละคนนั่นแหละที่คือ อุดมคติ (ideal ) แท้จริง
Conical vs Elliptical กับการเลือกใช้งานที่เหมาะสม (ในทัศนะของผม)
ท่านที่เล่นแผ่นเสียง นอกจากจะทราบว่า หัวเข็ม (cartridge) นั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทหลัก :- MM, MI และ MC โดยที่ส่วนปลายหัวเข็มสำหรับแบบ MM และ MI นั้นจะสามารถถอดเปลี่ยนได้ ในขณะที่แบบ MC จะถอดเปลี่ยนไม่ได้ .อีกทั้งส่วนปลายหัวเข็ม (stylus) ที่ทำหน้าที่เกาะร่องเสียง (groove) บนแผ่นเสียงนั้น ยังมีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ :- ปลายทรงกลม (conical), ปลายทรงรี (elliptical) และปลายทรงหัวตัดแผ่น (shibata) ซึ่งถือเป็นสุดยอดของปลายหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง
ทว่าของสุดเจ๋ง ใช้ว่าจะเหมาะกับเราที่สุดเสมอไปหรอกนะ – – จ่ายแพงกว่า แต่อาจได้น้อยกว่า ถ้าเลือกพลาด ใข้งานได้ไม่ตรงจุดประสงค์
…สำหรับผม ฟังเพลงร็อคเพลงร้องจะใช้หัวเข็ม MM แบบ conical เพราะรายละเอียดที่เก็บเกี่ยวไม่เยอะมากนัก ถ้าเป็นเพลงแจ๊ส แม้จะยังคงเป็น MM แต่ก็จะเป็นแบบ elliptical เพราะมักจะมีรายละเอียดสอดแทรก โชว์ทักษะทางดนตรี
ทว่าถ้าเป็นแผ่นยุคเก่า การเลือกฟังจากหัวเข็มแบบ conical ก็มักจะได้อารมณ์มากกว่า เพราะว่า ลักษณะปลายหัวเข็มที่เป็นทรงกรวยตรง ก็เลยไม่เก็บเกี่ยวเอาเสียง noise จากร่องเสียงเก่าๆ ขึ้นมามากนัก เลยฟังได้สบายหูกว่า แต่ถ้าเป็นเพลงคลาสสิค อันนี้น่าจะเป็นหัวเข็ม MC เพราะดนตรีเป็นร้อยชิ้น ย่อมมีรายละเอียดสอดแทรกอยู่เยอะ ไหนจะบรรยากาศในสถานที่บันทึก ไหนจะห้วงอารมณ์ดนตรีในแต่ละมูฟเมนต์ ไหนจะท่วงทีลีลาของวาทยากร ฯลฯ
หัวเข็มดีๆ ที่เข้ากับโทนอาร์มอย่างเหมาะเจาะ จะฟังเพลงคลาสสิกได้อย่างเคลิบเคลิ้มใจมาก ยิ่งปลายหัวเข็มแบบ shibata ซึ่งจำลองแบบจากรูปแบบของหัวตัดแผ่น (cutting head) ก็ยิ่งต้องใช้ความพิถิพิถันมากขึ้นไปอีก จึงจะได้ความดีเด่นออกมาเต็มสูตร เนื่องเพราะรูปทรงของหัวเข็มแบบนี้จะถูกออกแบบให้เก็บเกี่ยวรายละเอียดจากร่องเสียงทั้งสองข้าง (แชนแนลซ้าย และแชนแนลขวา) ได้อย่างชนิดที่ว่าใกล้เคียงกับหัวตัดแผ่น แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการติดตั้งและปรับตั้งอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น
“shibata” จึงเป็นประเภทปลายหัวเข็มที่นักเล่นหน้าใหม่ยังไม่ควรเอามาใช้ ควรลองเล่น-ลองฟังให้ได้ประสบการณ์จากปลายหัวเข็มชนิดอื่นก่อน จนประสบการณ์ได้รับการสั่งสมมากพอค่อยว่ากัน
หัวเข็มถูกๆ ติดตั้งใช้งานง่ายๆ ที่มักจะถูกมองข้าม ด้วยมักถูกมองว่า ด้อยในศักดิ์ศรี คนที่ใช้ยังเป็นละอ่อนในวงการ ยังต่ำต้อยในประสบการณ์ …หลังจากอ่านข้อเขียนนี้แล้ว ทำความเข้าใจให้ดี คุณอาจจะกลายเป็นผู้มีทักษะในการรู้จักเลือกใช้ ไม่จ่ายส่วนเกินไปกับสมรรถนะที่ไม่ได้ใช้ และยังได้เสียงที่พึง (เพียง) พอใจอีกต่างหาก
anti-skating ในทางปฎิบัติ
บางท่านที่เล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง อาจจะสงสัย หรือ รู้สึกกังขาต่อค่าตัวเลข 0, 1, 2, 3 ที่ระบุอยู่บนปุ่มหมุนใกล้ๆ โทนอาร์ม ซึ่งบางทีก็อาจจะมาเป็นสไลด์เลื่อนปรับค่าได้ และบางทีก็อาจจะมาในรูปของตุ่มถ่วงที่มีสายเอ็นยึดโยง แต่ว่าบางทีก็ไม่มีอะไรสักอย่างดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจไปนะครับ
….อะไรดังกล่าวที่บอกไว้ข้างต้น นั่นคือ anti-skating ครับ – มีไว้เพื่อเพิ่มแรงฉุดรั้ง หรือ ใส่แรงต้านเข้าไปให้เหมาะสมกับแรงผลักเข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งในขณะที่หัวเข็มวิ่งอยู่บนร่องแผ่นเสียงนั้น ย่อมจะมีแรงกระทำต่อปลายหัวเข็มที่วางอยู่บนร่องเสียง ในลักษณะของการผลัก หรือ เหวี่ยงเข้าสู่ศูนย์กลาง อันอาจส่งผลต่อการเกาะร่องเสียงของปลายหัวเข็มให้เก็บเกี่ยวร่องเสียงของสัญญาณแชนแนลซ้ายและแชนแนลขวาได้ไม่เท่ากัน
กล่าวคือ ปลายหัวเข็มจะถูกผลักให้เบียดอยู่กับร่องเสียงด้านใน (แชนแนลซ้าย) มากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจส่งผลให้การอ่านร่องเสียงบนแผ่นเสียงที่กำลังรับฟังนั้นออกอาการ “เอียงซ้าย” อยู่บ้างก็เป็นได้ .ดังนั้นถ้าจะให้ดี ก็ควรจะต้องมีแรงกระทำเล็กๆ ใส่เข้าไปต่อต้านแรงผลักเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อข่วยให้ปลายหัวเข็มไม่ถูดเบียดกับร่องเสียงด้านในมากนัก การเก็บเกี่ยวสัญญาณบนร่องเสียงด้านใน-ด้านนอกจะได้เท่าเทียมกัน …ไม่รู้สึกเสียงเอียงซ้าย
การใส่แรงกระทำเล็กๆ เพื่อต่อต้านแรงผลักเข้าสู่ศูนย์กลางได้อย่างเหมาะสม จะทำให้การรับฟังได้รับสัญญาณจากร่องเสียงแขนแนลซ้าย-แชนแนลขวาได้อย่างทัดเทียมกัน ส่งผลให้การรับรู้ต่อระบบเสียงสเตอริโอเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น.ทั้งนี้การใส่ค่าช่วยเพิ่มแรงต้านดังกล่าว ก็คือค่า anti-skating นั่นเองละครับ ที่ตามปกติจะกำหนดให้สัมพันธ์กับค่าแรงกดหัวเข็ม (tracking force) ซึ่งตัวเลข 0, 1, 2, 3 ก็คือค่าที่กำหนดขึ้นมาคร่าวๆ เพื่อความสะดวกในการตั้งค่า anti-skating ให้สอดรับกับค่าแรงกดหัวเข็มนั่นเองละครับ
ดังนั้น “ถ้า” เครื่องเล่นแผ่นเสียง (Turntable) ของท่านมีปุ่มปรับ หรือสไลด์เลื่อนสำหรับ anti-skating แล้วละก้อ ขอให้ท่านทำการปรับตั้งกันนะครับ เพื่อให้การรับฟังเสียงสเตอริโอมีความสมบูรณ์ …ไม่ควรมองข้ามไป ยกเว้นในกรณีที่โทนอาร์มบางแบรนด์นั้น วิศวกรเขาได้ออกแบบเผื่อไว้แล้ว ก็เฉยๆ ไว้ไม่ต้องไปซีเรียสจนฟังเพลงไม่สนุก