ช.ชิดชล
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน เมื่อครั้งก่อนๆนั้น ได้บอกเล่ากล่าวถึง การฟังเพลงจากแหล่งต่างๆ เมื่อเทียบเคียงจากการฟังชุดเครื่องเสียง เพื่อเป็นการฝึกฝนทักษะการฟังเพลง ฝึกการฟังแล้ว ครั้งนี้มาเพิ่มทักษะการฟัง การปรับจูนชุดเครื่องเสียง รวมถึงสภาพห้องฟังเพลงคร่าวๆกันนะครับ เพราะนอกจากความสนุกในการฟังชุดเครื่องเสียงแล้ว ยังทำให้ทักษะการฟังเพลง เพิ่มขึ้นไปอีกระดับครับ และที่สำคัญที่สุด ทักษะการฟังเพลงเหล่านี้ จะสามารถติดตัวนำไปใช้ได้ในทุกๆโอกาส ที่ท่านได้ยินเสียง จากชุดเครื่องเสียงครับ
ชุดเครื่องเสียง ลองขยับ ลองปรับ ลองฟังเสียง
การปรับชุดเครื่องเสียง ด้วยการขยับ ปรับ แต่งนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ เริ่มต้นด้วยการฟังชุดเครื่องเสียงให้คุ้นหู จากนั้นหากลำโพงวางใกล้ผนังหลังห้อง ลองขยับลำโพงให้ห่างจากผนังห้องด้านหลังสักหน่อย หรือหากลำโพงซ้ายขวาวางใกล้กัน หรือห่างกันมากเกินไป ลองขยับปรับเปลี่ยน แค่นี้เสียงจากลำโพงก็จะเปลี่ยนไป ในแบบที่รับฟังความแตกต่างได้
ที่นี้จะปรับวางแบบไหน อย่างไร ท่านผู้อ่านก็เปิดเพลงที่บันทึกการแสดงสดจากการบรรเลงของวงดุริยางค์มาเทียบเคียง ตำแหน่งใดให้เสียงชิ้นดนตรี รูปวง ความกว้าง ความลึก ระดับชั้นของเสียง ใกล้เคียงกับประสบการการณ์ฟังเพลงที่ได้ไปฟังมา ก็เอาแบบนั้นละครับ นับว่าเป็นอันใช้ได้ ในการขยับ ปรับ แต่ง ตำแหน่งลำโพงคร่าวๆ
จากนั้นก็เป็นการ จัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์หลักในระบบ ควรให้ความสำคัญกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่นซีดี และเครื่องใช้หลอดครับ เพราะอุปกรณ์พวกนี้ อ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือน มีผลต่อเสียงและชุดเครื่องเสียงเป็นอย่างมาก ฝึกทักษะการฟังเพลงที่ละเอียดขึ้นได้ดีเลยละครับ
อุปกรณ์ที่อ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือน ควรวางให้ห่างจากลำโพง โดยเฉพาะลำโพงตั้งพื้น หรือลำโพงซับวูฟเฟอร์ เพราะขนาดดอกลำโพงที่ใหญ่ จะส่งคลื่นความถี่ต่ำและแรงสั่นสะเทือนออกมา หากไปวางใกล้ๆก็จะทำให้เสียงขาดความคมชัดลงไป โดยเฉพาะรายละเอียดในย่านปลายแหลม
ยิ่งห้องไหนมีซับวูฟเฟอร์หลายๆดอก ยิ่งไปกันใหญ่ หาตำแหน่งวางให้ห่างสักหน่อยนะครับ ถึงแม้ว่าจะมีชั้นวางที่ดี ลดแรงสั่นสะเทือนได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะคลื่นความถี่ต่ำ ไม่ได้กระจายไปตามพื้นอย่างเดียวนะครับ
ถ้าเลี่ยงไม่ได้ หรือจำเป็น หรือของมันต้องมี ซับวูฟเฟอร์ ก็ให้ว่างเครื่องเหล่านั้น ให้อยู่ในแบบสมดุลคือ มีระยะห่างเท่าๆกัน เพื่อรับคลื่นความถี่ในแบบเท่ากันหรือเหมือนกัน สำหรับนักเล่นท่านใดที่ทักษะการฟังถึงระดับหนึ่งแล้ว จะลองขยับแล้วฟัง หามุม ตำแหน่ง ที่ดีที่สุดก็ได้นะครับ เป็นการเพิ่มทักษะการฟังที่ดีมากๆเลยครับผม
ในส่วนของปรีแอมป์ อินทิเกรตแอมป์ หรือเพาเวอร์แอมป์นั้น ก็ควรเน้นตำแหน่งแห่งที่ในการจัดว่างเช่นกัน แต่ความอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนจะน้อยกว่า แต่ย้ำว่า ทุกอุปกรณ์ควรให้ความสำคัญในการจัดวางอย่างเหมาะสม
ไม่เว้นแม้กระทั่งปลั๊กลอย อุปกรณ์ต่างๆนั้น หากเลี่ยงการวางกับพื้นโดยตรงได้จะดีมาก หาชั้นวาง หรืออุปกรณ์ป้องกัน ลด แรงสั่นสะเทือนมารองรับ จะส่งต่อคุณภาพเสียงเป็นอย่างมาก โดยที่อุปกรณ์เหล่านี้หากสลับปรับเปลี่ยน ผลทางเสียงก็แตกต่างกันออกไป เป็นการฝึกทักษะการฟังเพลงได้อีกด้วยครับ
สภาพอะคูติกห้องฟัง ครูที่ดีของการฝึกฟังเสียง
ลองสำรอจรอบๆชุดเครื่องเสียง ในบริเวณที่ฟังเพลง หรือภายในห้อง มีการสะท้อนเสียงหรือซับเสียงมากกว่ากัน เพราะทั้งสะท้อนเสียงมาก ก็ส่งผลต่อเสียงที่ก้องเกินไป ขาดรายละเอียด ขาดน้ำหนักเสียง มิติเสียงและโฟกัสชิ้นดนตรี หายไปหมด ในขณะที่ซับเสียงมากเกินไป เสียงก็จะขาดการทอดหางเสียงที่น่าฟัง เสียงห้วนสั้นเก็บตัวไว ทุ้ไม่นุ่มลึก เวทีเสียงก็อาจจะแคบได้ สิ่งเหล่านี้สามารถปรับเพิ่มลดการก้องสะท้อนหรือการซับเสียงให้มีความเหมาะสมได้
ตำแหน่งที่ควรจะซับเสียงบางคือ ผนังด้านข้างของลำโพง ผนังด้านหลังลำโพง และผนังหลังตำแหน่งนั่งฟัง รวมถึงพื้นบริเวณหน้าดอกลำโพงถึงตำแหน่งนั่งฟัง หากตำแหน่งที่กล่าวมา มีวัสดุที่สะท้อนเสียงมากเกินไป ให้หาวัสดุซับเสียงมาติดตั้ง ง่ายที่สุดก็ม่านหรือพรม ก็จะช่วยลดการสะท้อนเสียงลงไปได้ เพื่มความชัดเจนของรายละเอียด น้ำหนักเสียงเด่นชัดขึ้น เสียงมีโฟกัสขึ้น แต่ถ้าใส่วัสดุซับเสียงมากเกินไป มากเกินไป หรือจนเต็มห้อง เสียงก็จะไม่ดีดังเช่นที่กล่าวไป
ฉะนั้น ความเหมาะสม ความลงตัว คือสิ่งที่ต้องลองฟัง ลองปรับจูน ลองเลือกวัสดุที่นำมาใช้งาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ขณะทดลองและฟังไปด้วย จะเป็นการเพิ่มพูนทักษะการฟังเพลง การได้ยินเสียง การแยกแยะคุณภาพเสียง ไปพร้อมๆกับประสบการณ์การปรับแต่งห้องฟังเพลงครับ
เครื่องเสียง ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เอามาวางๆ แล้วเอาวัสดุปรับแต่งมาปะมาติดตั้ง แล้วใช้เครื่องมือตรวจวัด เพราะเครื่องเสียงคือศิลปะ ศิลปะทางดนตรี ที่มีความประณีตละเอียดอ่อน
มีคำกล่าวว่า ชุดและอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ดีนั้น จะเลือกอยู่ในสภาพอะคูสติกที่เหมาะสม เพื่อฉายแว่วเด่นออกมา และยังเลือกอยู่กับนักเล่น ที่เข้าใจถึงศิลปะทางเสียง หากท่านละเลยสิ่งเหล่านี้ ก็จะมีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงาม ที่เปล่งเสียงออกมาให้ได้ฟังได้ เพียงเท่านั้นครับผม
อ่านบทความ: ปฐมบทการฟังเพลง 1
อ่านบทความ: ปฐมบทการฟังเพลง 2