ช. ชิดชล
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/03/34050160072_d99bea4db0_b-1.jpg)
เมื่อครั้งก่อนของบทความนี้ ได้อธิบายถึงการเพิ่มทักษะการฟังเพลง ด้วยการแนะนำให้ลองฟังการแสดงสดของวงดุริยางค์ เพื่อจะได้ทราบถึงแนวเสียง ที่เอามาเทียบเคียง เพื่อใช้ในการฟังเพลง การฟังเครื่อง ให้มีหลักการเป็นสากลนะครับ ครั้งนี้เรามาต่อกันถึง การเพิ่มทักษะการฟังเพลงกันต่อครับ
ทำไมต้องเทียบหรือแนะนำให้ไปฟังการแสดงสด ด้วยการบรรเลงของวงดุริยางด์ ก็เพราะเราต้องการตัดปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนทำให้ผลทางเสียงนั้นเปลี่ยนไปครับ ออกไปให้มากที่สุดครับ เช่น คุณภาพการบันทึก อุปกรณ์เครื่องใช้ในส่วนต่างๆของการบันทึก เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อเวลาฟังในขั้นตอนการเล่นกลับผ่านชุดเครื่องเสียง จะทำให้เสียงเปลี่ยนไปครับ
แม้กระทั่งการฟังวงดุริยางค์ในแต่ละวงนั้น ยังให้เสียงที่แตกต่างกันไปเลยนะครับ!
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/03/84074039_1183804458493604_422759738388774912_n.jpg)
สำหรับท่านผู้อ่านที่เคยผ่าน สัมผัส ประสบการณ์การฟังสิ่งเหล่านี้มามาก จะค้นพบว่า ไวโอลินของวงดุริยางค์ Thailand Philharmonic Orchestra / Bangkok Symphony Orchestra / Vienna Philharmonic Orchestra / BBC Philharmonic Oorchestra นั้นมีลีลาและบุคลิกน้ำเสียงที่แตกต่างกัน รวมถึงเสียงจากดับเบิ้ลเบส และชิ้นดนตรีอื่นๆ
สาเหตุเพราะ วัสดุที่ใช้ผลิต คุณภาพการผลิต และบุคคลที่เล่นเครื่องดนตรีเหล่านั้น มีความแตกต่างกัน แต่ด้วยความแตกต่างกันนี้ ยังคงมีกรอบหรือเอกลักษณ์ทางเสียงของชิ้นดนตรีนั้นๆ ที่เหมือนกัน จึงเป็นเสียงที่สามารถฟังและอ้างอิงได้ อย่างมีความเป็นสากล ฉะนั้น ฟังให้มาก ให้หลากหลาย รวมถึงการแสดงสด หรือการแสดงที่ผ่านการขยายเสียง ในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นการ เพิ่มทักษะในการฟังเพลง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/03/88360860_504029003642130_9043554177216675840_n.jpg)
มาถึงการฟังด้วยชุดเครื่องเสียง เมื่อเราฟังแผ่นเพลงที่บันทึกการแสดงสดของวงดุริยางค์ เรายังสามารถรับรู้ถึงเสียงเครื่องดนตรีเหล่านั้นได้ แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างตามปัจจัยของวงที่เล่นและการบันทึก แต่ยังสามารถอ้างอิงได้ และท่านใดที่มีประสบการณ์การฟังที่มาก ก็จะสามารถทราบถึงความแตกต่าง กับผลทางเสียงที่ได้ยินได้ สรุปง่ายๆคือ ต่างกันได้ ไวโอลินเสียงอิ่มเนื้อหรือใสบาง ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่กล่าวไป แต่อย่างไรก็มีความแตกต่างจาก วิโอลา หรือ เชลโล่ อย่างแน่นอน
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/03/87478404_880066075764231_1764770154614358016_n.jpg)
ด้วยความที่มีปัจจัยดังกล่าว จึงแนะนำให้ฟังการแสดงสดและวงดุริยางค์ ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะการฟังเพลง ส่วนการแสดงสด หรือวงดนตรีในรูปแบบอื่น สามารถฟังไว้เป็นประสบการณ์ได้ แต่จะอ้างอิงได้ยากกว่า โดยเฉพาะเพลงไทย แต่ไม่ได้หมายความว่า เพลงไทยบันทึกไม่ดีเสียไปทั้งหมดนะครับ คุณภาพ ความเป็นสากลระดับอ้างอิงยังไม่หลากหลายรอบคลุมครับ
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/03/88273861_970880543308391_244726368942686208_n.jpg)
ขอเสริมในรายละเอียดการฟังเครื่องเสียง ผ่านบทเพลงการแสดงสดสักหน่อยครับ หากท่านผู้อ่านไปฟังแล้ว จะรับรู้ได้เลยรับว่า เครื่องนั้นๆ ชุดเครื่องเสียงนั้นๆ ให้บุคลิกเสียงอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร และเมื่อไปฟังชุดหรือเรื่องเสียงอื่นๆ ก็จะยิ่งทราบความแตกต่าง หลากหลายขึ้นไปอีก โดยไม่ต้องไปสลับฟังแบบ A B เทสแต่อย่างใด ยกเว้นว่า ในชุดนั้นมีอุปกรณ์ที่ท่านไม่คุ้นเคย แต่ลองดูนะครับ หากฟังมามาก มีประสบการณ์มากๆ จะพอแยกความแตกต่างออกมาได้ครับ
ย้ำนะครับว่า การฟังที่มากและหลากหลาย ด้วยการเปิดใจให้กว้าง เข้าใจความแตกต่าง จะเป็นการเพิ่มพูนทักษะในการฟัง อย่าฟังโดยตั้งธงเอาไว้ล่วงหน้า ด้วยประสบการณ์ที่ไม่หลากหลาย แล้วไปตัดสินผลของเสียง จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และความเข้าใจผิดนี้นอกากจะไม่มีความเป็นสากลแล้ว การบอกเล่าต่อยังมีผลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงอีกด้วยครับ
ครั้งต่อไปจะกล่าวถึง การเพิ่มทักษะการฟังเพลง ด้วยการพิจารณาอุปกรณ์ การลองปรับห้องฟัง และการปรับแต่งการจัดวาง ตำแหน่ง ชุดเครื่องเสียงครับผม
อ่านบทความ: ปฐมบทการฟังเพลง ตอนที่ 1