ช. ชิดชล
“คนสมัยนี้ฟังเพลงหยาบขึ้น” นี่คือคำที่อาจารย์เคยบอกกับผม และยังจำฝังใจมาจนทุกวันนี้ครับ นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายต่อจากท่านว่า นักเล่นสมัยนี้ แค่ฟังเสียงได้ยิน รู้จักเสียง ทุ้มกลาง แหลม ก็สามารถ บอกกล่าว บอกสอนเพื่อนนักเล่นกันได้แล้ว และยิ่งมีความรู้ ความเข้าใจสักหน่อยหรือได้รับการบอกกล่าว ฟังเขามา ก็ถึงกับตั้งตัวเป็นอาจารย์กันเลยทีเดียว
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจะบอกกล่าวเพื่อเป็นวิทยาทานกับนักเล่น หรือจะสอนให้นักเล่นได้เข้าใจนั้น ผู้นั้นจะต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ จากการลองฟัง ลองเล่น ลองปรับแต่ง ในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้าใจท่องแท้ เพื่อให้ผู้รับ สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง หรือมีความเป็นสากล ไม่อย่างนั้นจะมีความผิดเพี้ยน ที่หาความเป็นสากลไม่ได้ จนเกิดเป็นทฤษฎีหรือแนวทางการเล่นใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะมีเป็นกลุ่มก้อนบางคน หาความเป็นสากล ที่เข้าใจกันทั่วไป ไม่ได้เลย
“ชัยวัฒน์ เวลานายฟังอะไร ทดลองอะไร จงทำให้ได้รู้แจ้งแจ่มชัด เพื่อการบอกต่อจะได้มีความละเอียด ครอบคลุมในทุกประเด็น ”
ประสบการณ์การฟัง ทักษะที่เพิ่มพูนได้
สวัสดีครับ ทุกท่าน ผม นายชัยวัฒน์ พิสิษฐบรรณกร มีบ้านอยู่ชิดติดคลอง จึงขอใช้นามปากกาว่า ช. ชิดชล นะครับ บทคามที่ผมจะนำเสนอทุกท่านให้พิจาณาต่อ ๆ ไปนี้ ขอนำมาจากคำสอนของอาจารย์ ทั้งจากทางตรง และการกระทำหรือการปฏิบัติให้เห็น ให้เข้าใจ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้ลองฟัง ลองเล่น ลองใช้งาน เพื่อให้ทุกท่านได้นำไปเป็นแนวทาง ในการฟังเพลงกันนะครับ
การฟังเสียงให้เป็นและเข้าใจนั้น ไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่ต้องเข้าใจว่า เสียงที่ได้ยินนั้น มีคุณภาพและรายละเอียดเป็นอย่างไรด้วย แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น ประสบการณ์ในการฟังเพลง ทั้งจากเครื่องเสียงที่ดีและไม่ดี อุปกรณ์ที่หลากหลาย การปรับแต่งสภาพห้องฟัง และสุดท้ายที่สำคัญคือ การไปฟังเพลง ฟังการแสดงสด การบรรเลงสดด้วยวงดุริยางค์ ที่มีเครื่องดนตรีหลายๆชิ้น ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การฟัง
เพราะสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดนั้น จะเพิ่มพูนทักษะการเล่นเครื่องเสียงอีกด้วย นอกจากนั้น ยังเอาธรรมะเข้ามาปรับใช้ในการเล่นเรื่องเสียงด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทราบถึงที่มาของการเปลี่ยนแปลง ผลของการกระทำต่อชุดเครื่องเสียง
โดยผลรวมทั้งหมดนั้น มีความเป็นสากล คือ นำไปใช้ได้กับทุกชุด ทุกการลองฟัง สามารถอธิบายให้เข้าใจและฟังได้ตามนั้น เป็นที่ยอมรับและเข้าในวงกว้าง ไม่ใช่เข้าใจและรับรู้แต่เพียงเฉพาะกลุ่ม ทั้งหมดก็เพื่อให้มีภูมิต้านทานในการฟังเพลง ในการเล่นเครื่องเสียง
แล้วการฟังหรือเสียงแบบไหนละ ที่มีความเป็นสากล
ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่า การฟังเพลงที่วันนี้ ไม่ว่าจากแหล่งรายการใดก็ตาม หรือบันทึกมารูปใดก็ตาม ก็การเล่นกลับจากที่บันทึกไว้ ไม่ใช่การฟังการบรรเลงหรือดนตรีสดๆ การบันทึกมีขบวนการมากมาย เครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เราไม่สามารถเปรียบเทียบเสียงจากการฟังเพลง เข้ากับเสียงจากการบรรเลงหรือฟังดนตรีสดๆได้ แต่สามารถนำคุณลักษณ์ทางเสียงต่างๆ ที่การฟังสดนั้นมีให้ได้รับรู้ มาเทียบเคียงได้กับการฟังผ่านเครื่องเสียงได้ และคุณลักษณ์นี้ละครับ จะมีความเป็นสากล อ้างอิงได้
ภาพถ่าย ที่ถ่ายด้วยกล้องที่ดีที่สุด พร้อมเลนส์คุณภาพสูงสุด อย่างไรก็คือ ภาพถ่าย มีความแตกต่างจาก ภาพจริง ที่เรามองเห็นด้วยสายตา แสงเงารายละเอียด ความสุกสว่างของแสงสี ความอิ่มแน่นของสี รวมถึงแสงเงา อย่างไรก็มีความแตกต่างกับที่สายตามองเห็น
แต่มีคุณลักษณ์ที่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ เช่น สีของทะเลที่ระดับน้ำลึกๆต่างจากสีทะเลบริเวณริมหาด สีทะเลตอนกลางคืนเดือนมืดต่างกับตอนกลางวันที่ไร้แดด สัดส่วนของต้นไม้ ที่ใหญ่เล็กลดหลั่นกันไป หรือโดยปกติ ต้นไม้ย่อมเล็กกว่าภูเขา
สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงที่ถูกต้อง หากเรามองไปที่ภาพถ่ายสิ่งเหล่านั้น ภาพนั้นต้องแสดงรายละเอียดต่างๆเหล่านั้นให้รับรู้ได้ แยกแยะได้ตามความจริงที่ถูกต้อง แม้การแยกแยะนั้น อาจมีแสง เงา ความอิ่มของสี ผิดเพี้ยนไปบ้างตามบุคลิก แต่คุณลักษณะหลักต้องแยกแยะตามความจริง ความเป็นสากล
ไม่ใช่ว่าภาพกลางคืนแต่น้ำทะเลสว่างใส ภาพต้นไม้เอียงหรือใหญ่กว่าภูเขา แบบนั้นผิดเพี้ยน อ้างอิงไม่ได้
กลับมาที่เสียงจากการบรรเลงหรือดนตรีสด หากเป็นการฟังการแสดงของวงดุริยางค์ เรื่องดนตรีหลายๆชิ้น เสียงไวโอลินต้องเล็กกว่าเสียงวิโอลา(ตามขนาดเรื่องดนตรี) เสียงดับเบิลเบสต้องมีขนาดใหญ่ มวลเนื้อเสียงมากติดไปทางช้ากว่าเรื่องสายชนิดอื่น เสียงทุ้มลึกจากกลองทิมปานีและดับเบิ้ลเบสแยกออกจากกันชัดเจน เสียงเรื่องเคาะเช่น ไทรแองเกิล จะต้องมีความชัดเจน สุกสว่าง อยู่ลึกเข้าไป ไม่เด่นลำออกมาด้านหน้า เหมือนการจัดวางตำแหน่งเครื่องดนตรีจริง
สิ่งเหล่านี้เวลามาฟังจากการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่นหรือรูปแบบไฟล์ใด ๆ ตาม ต้องสามารถแยกแยะคุณลักษณะเหล่านี้ออกมาให้รับรู้อย่างครบถ้วน โดยเสียงอาจจะมีความอิ่มหนา หรือกระชับ หรือสดใส แตกต่างกันไปตามเครื่องบันทึกและเครื่องเล่น เมื่อผู้ฟัง ฟังแล้วก็สามารถเปรียบเทียบ อ้างอิง คุณลักษณะต่าง ๆ ได้ตามความเป็นจริง แบบนี้ก็สามารถนำไปพูดคุยบอกต่อได้ เพราะมีความเป็นสากล