ช.ชิดชล
ในชีวิตการเป็นนักเขียน นักวิจารณ์เครื่องเสียงมา 20 ปี เจอคำถามของนักเล่นที่สอบถามมาสารพัด ทั้งนักเล่นมือใหม่ อยากเริ่มเล่นเครื่องเสียง การจัดชุดเครื่องเสียง แนะนำอุปกรณ์ต่างๆว่ามีบุคลิกเสียงอย่างไร ใช้งานอย่างไร รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆที่ท่านเหล่านั้นพบเจอ นักเล่นมือเก่าเล่นเครื่องเสียงมานาน ก็มีคำถามมาถามเช่นกัน แต่มักเป็นคำถามที่ลึกซึ้งขึ้นมาอีกระดับ เพราะผ่านการลองผิดลองถูกบ้าง แต่ก็ยังเจอปัญหาอยู่ โดยบทความนี้ได้รวบรวมหัวข้อสำคัญๆที่ได้ฟังจากคำถามและการบอกเล่าถึงปัญหาของนักเล่นมานำเสนอ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการ เล่นเครื่องเสียงนะครับ
1. พลาดเพราะตื่นเต้น
นักเล่นมือใหม่ เมื่อได้ลองฟังเสียงเพลงจากชุดหรืออุปกรณ์เครื่องเสียงใหม่ มักมีความ ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ หัวใจพองโต เสียงใหม่ๆที่ไม่เคยได้ยิน หรือเสียงที่คมชัดกว่าที่เคยได้ยินมา อารมณ์แบบนี้ทำให้ขาด การยับยั้งชั่งใจ เพราะตัดสินไปด้วยอารมณ์ ความตื่นเต้น ไม่ได้ตัดสินไปด้วยสติและปัญญา ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อ หรือเข้าใจในบุคลิกเสียง ผิดพลาดไม่ตกกับความจริงนัก ก็อารมณ์มันพาไปแล้ว ความยั้งคิดก็น้อยลง หลงไปกับความแปลกใหม่
ผลที่ตามมาคือ เมื่อได้ชุดหรืออุปกรณ์เครื่องเสียงนั้นๆมาอยู่มาใช้มาฟัง ฟังด้วยระยะเวลาที่นานสักหน่อย ฟังเรื่อยๆ ความตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจลดน้อยหายไป เริ่มมีสติยั้งคิด เริ่มรับฟังด้วยความละเอียดถี่ถ้วน กลับพบว่า เสียงบางอย่าง หรือหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ตรงกับความต้องการ แน่นอน ฟังด้วยเวลาระยะเวลาสั้นๆอาจจะชอบ หากพิจารณาให้รอบด้านแล้ว กลับพบความจริงที่เปลี่ยนไป นักเล่นอาการแบบนี้เจอเยอะมาก โดยเฉพาะมือใหม่เริ่มเล่นเครื่องเสียง มักหลงผิดและพลาดไป แม้กระทั่งนักเล่นมือเก่าๆก็ยังมีพลาดพลั้งไปได้เช่นกัน หากประสบการณ์ไม่มากพอ ฟังมาไม่หลากหลาย
วิธีป้องกัน เมื่อไปลองฟัง อย่าด่วนตัดสินคุณภาพเสียงเมื่อฟังเพียงไม่นาน อย่าตื่นเต้นกับบางเสียง ที่ได้ยินอย่างชัดเจน ควรหาโอกหาสฟังเครื่องเสียงให้หลากหลายก่อน ฟังด้วยบทเพลงหลากหลายแนว หากสนใจเป็นพิเศษ แนะนำให้ฟังซ้ำๆวนๆสักหน่อย การฟังบ่อยๆจะช่วยลดความตื่นเต้น เพิ่มสติในการพิจารณาถึงเสียงที่แท้จริง หรืออย่างฟังแล้วชอบโดยยังไม่จบเพลงแรก ไม่ควรฟังเพลงเดียวในการตัดสินใจ
2. พลาดเพราะแรงดัน
แรงเชียร์ แรงเป่า(หู) เป็นเรื่องจริงอันโหดร้ายสำหรับการพลาดในประเด็นนี้ มือใหม่หลายท่านมักโดนสิ่งเหล่านั้นจากทั้งคนใช้สินค้านั้น คนขาย เพื่อนฝูง หรือนักวิจารณ์กิตติมศักดิ์ เขาเหล่านั้นอาจให้ข้อเสนอแนะไปในทางบวกกับสินค้าเหล่านั้น เพื่อชักจูงให้นักเล่นมือใหม่ คล้อยตาม ด้วยเหตุผลต่างๆน่าๆ เช่น เคยใช้แล้วดี(ดีในแบบตนเอง) ต้องการขายสินค้าหรือได้ค่าคอมมิชชั่น อ่านความคิดเห็นจากหลายๆสื่อแล้วเชียร์เพื่อนให้ซื้อ หรือคำชักนำของเหล่ากูรูที่เผยแพร่ออกมา โดยขาดการรอบคอบ ขาดการพิจารณาอย่างละเอียด ขาดประประสบการณ์ แต่พวกเขาเหล่านั้นมักได้เป็น นักวิจารณ์กิตติมศักดิ์ เชื่อเถอะครับว่า นักเล่นมือใหม่แม้กระทั่งมือเก่าบางท่านก็เคยประสบพบเจอ
ผลที่ตามมาคือ เมื่อเจตนาดัน เชียร์ เป่าหู ไม่บริสุทธิ์ใจเพราะมีอะไรแอบแฝงแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะไม่ตรงตามความต้องการของนักเล่นนักบางท่านได้แรงดันจากแหล่งที่ดีหน่อย พอมีความน่าเชื่อถือ ก็ได้ของถูกใจ แต่อาจไม่ตรงตามความต้องการทั้งหมด หรือมีตัวเลือกที่ตรงใจกว่า ผลทั้งหมดส่งให้เล่นเครื่องเสียงได้ไม่นานก็ปรับเปลี่ยน อัพเกรด เสริมอุปกรณ์ต่างๆเพื่อแก้ไข ชดเชย สุดท้ายก็จ่ายมากแต่ได้ตรงใจน้อย ทำให้ฟังเพลงไม่มีความสุข หลงทางเลิกเล่นเครื่องเสียงไปก็มีไม่น้อย หรือโชคดีหน่อย มีทุนทรัพย์ ก็ปรับเปลี่ยนจนได้ของที่ถูกใจ ได้ประสบการณ์ได้ฟังเพลงที่ไพเราะ แต่ก็เสียค่ารู้ เสียทุนทรัพย์ไปมาก ทั้งที่มีทางลัดที่ดีกว่านั้น
วิธีป้องกัน ฟังหูไว้หู เชื่อครึ่งแล้วไปลองฟังทดลองใช้งาน ตัดสินใจให้ช้า ฟังความคิดเห็นให้มากและหลากหลาย โดยเฉพาะนักเล่นที่ เจ็บมาเยอะ จากนั้นรวบรวมข้อมูลประกอบกับการฟังด้วยตนเอง แล้วค่อยพิจารณาตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้แรงเหล่านั้น ลดความกดดันอันส่งผลต่อการตัดสินใจ เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็สามารถเลือกเครื่องเสียงได้ตรงความต้องการ
3. พลาดเพราะเชื่อสเปค
อย่าคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าจะมีนะครับ เซียนสเปคเยอะแยะและมักพลาดไปกับตัวเลขอันสวยหรู เพราะตัวเลขเหล่านั้น มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ไม่เท่ากันในแต่ละบริษัท ตามธรรมาภิบาลของผู้ผลิต เคยเจอไหมครับ แอมป์กำลังขับ 200 วัตต์ ขับลำโพงเบสครางหงิงๆ แต่อีกเครื่อง 50 วัตต์ อัดเบสตูมตาม นักเล่นบางท่านถึงกับกำหนดเลยว่า อย่างได้ชิปทอดรหัสยี่ห้อนี้ เบอร์นี้ หรือต้องถอดรหัสที่ความละเอียดเท่านั้น ความถี่เท่านี้ สเปคเหล่าควรรู้และควรกำหนดเป็นพื้นฐาน แต่สุดท้ายต้องลองฟัง เพราะท่านซื้อเครื่องเสียงไปฟัง ไม่ได้ซื้อไปเสพย์ติดสเปค เชื่อเถอะครับ ประเภทซื้อเครื่องเสียงแล้วเอาไปฟังเพลงออดิโอไฟล์ไม่กี่เพลง แถมไม่จบเพลง มันไม่ได้ความสุนทรี ไม่ได้อิ่มเอมใจในระยะยาวๆหรอกครับ เครื่องเสียงที่คุ้มค่าเกินราคาคือ เครื่องเสียงที่ไม่ว่าจะราคาแพงขนาดไหน(หากจ่ายไหว) ไม่ว่าสเปคจะเป็นอย่างไร หากทำให้ท่านอยู่กับบทเพลงได้อย่างหลากหลาย ฟังเพลงได้นานอย่างมีความสุข นั่นละครับใช่เลย
ผลที่ตามมาคือ มีความสุข เสพย์ตัวเลขทางสายตาและทางความคิดได้ไม่นานนัก หากเป็นนักฟังเพลงที่แท้จริงก็จะพบว่า ตัวเลขสวยๆอาจฟังเพลงไม่ไพเราะ กำลังขับที่สูงๆอาจขับลำโพงไม่มีประสิทธิภาพ วัสดุที่ใช้ผลิตมีคุณภาพดี ระดับสูง แต่กับให้เสียงที่แข็ง แบน รายละเอียดคมชัดเกินจริง ไร้ซึ่งความกังวานก่อนจางหายไป ลีลาอารมณ์ของบทเพลง ฟังไม่ได้เลย ตัวเลขที่สวยหรูอาจไม่ใช่องค์ประกอบของเสียงที่มีความเป็นดนตรี ที่ทำให้เราฟังเพลงได้ยาวนาน
วิธีป้องกัน เลือกหาข้อมูลชุดและอุปกรณ์เครื่องเสียงจากสเปคที่ดีหรือที่ชอบก่อน จากนั้นไปลองฟัง สลับปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ลองฟังในหลายแง่มุม ฟังให้มาก ลืมเรื่องสเปคไปก่อน หากฟังไพเราะ ชื่นชอบ ก็นับว่ามาถูกทาง ค่อยพิจารณาตัดสินใจ หากสเปคดีแต่พอไม่ฟังจริงจัง ปรับแต่งดีแล้ว ก็ไม่ถูกใจ เสียงไม่เสนาะหู ทิ่มแทงแข็งกระด้าง แบบนี้ให้มองใหม่ เพราะสวยแต่รูปจูบไม่หอม เครื่องเสียงที่ดีคือ สเปคต้องมีความเที่ยงตรง ไม่หลอกลวง เป็นรายละเอียดที่มีการวัดอย่างมีมาตรฐาน สุดท้ายลองฟัง หากชอบก็จบครบสเปคครบทั้งเสียงครับ
4. พลาดเพราะขาดการทดลองอย่างถี่ถ้วน
ประเด็นนี้ไม่มีอะไรต้องนำเสนอมากมายนัก แต่เชื่อไหมครับ นักเล่นมากมายพลาดกับสิ่งนี้ ฟังไม่จบเพลงแม้ฟังด้วยเพลงอันหลากหลาย ฟังอัลบั้มเดียวแต่หลายเพลง ฟังเฉพาะเพลงบันทึกคุณภาพระดับออดิโอไฟล์ ฟังเฉพาะเพลงที่เขาชื่นชอบกัน(ไม่ใช่เรา) ไม่ได้สลับปรับเปลี่ยน ลองฟังให้หลายรุ่น ลองฟังให้หลายเงื่อนไข เชื่อไหมครับว่า เคยเจอแบบว่า เล่นรุ่นรอง งบมีแค่นี้ แต่ถ้าเพิ่มเงินอีกหน่อย เล่นรุ่นสูงสุดไปเลย ในระยะยาวคุ้มกว่า แบบนี้ก็มีมากครับ กับจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ได้เสียงที่ตรงใจมากที่สุด อยู่กับด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ถ่ายทอดบทเพลงอันไพเราะ เชื่อว่าท่านไปทำมาหากินมาชดเชยได้ไม่นาน อารมณ์ดี ชีวิตดี เงินก็จะดีตามไปด้วย ฉะนั้น ลองฟังให้มากเข้าไว้ก่อน ตัดสินใจช้าๆครับ
ผลที่ตามมาคือ อย่างที่บอกไป เพิ่มเงินอีกนิดได้รุ่นที่ถูกใจกว่า หรือ ไปเจอรุ่นใหม่ที่เสียงดีกว่า หรือ มีแบบนี้ด้วยน่าเสียดายที่ไม่ได้มาลองฟังก่อน ไม่อย่างนั้นได้ซื้อไปแน่ เหตุการณ์แบบนี้ก็เจอไม่ใช่น้อยเลย ขาดการฟังที่หลากหลาย ตัดสินใจด้วยการขาดการลองฟัง ทำให้ความคิดไม่ตกสะเก็ด จนไปเสร็จการตลาด
วิธีป้องกัน ง่ายๆเลยครับ ฟังเครื่องเสียงให้หลายยี่ห้อ ทั้งในงบที่เราตั้งไว้ หรืออาจจะมากว่า ฟังทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ เพื่อให้รู้ถึงคุณภาพในแต่ละช่วงราคา ฟังหลายๆเพลง นั่งฟังนานๆ คิดให้ดีก่อนตัดสินใจ ฟังเสร็จแล้วกลับมาทบทวนที่บ้าน หาความรู้จากอินเตอร์เน็ต สอบถามเพื่อนๆ หรือบรรดากูรูทั้งหลาย เอาความคิดเหล่านั้นมาหล่อหลอมเป็นความชื่นชอบส่วนตัว แล้วค่อยตัดสินใจครับ
5. พลาดเพราะเชื่อนักวิจารณ์
มีจริงและมีเยอะ แถมเสียเงินมากแล้วไม่จบ มีคำถามที่ว่า นักวิจารณ์เชื่อถือได้ไหม ก็ต้องตอบว่า สามารถเลือกหาความน่าเชื่อถือได้ โดยดูผลงาน คำแนะนำที่ผ่านมา แต่ก็มีบ้างที่ต้องลดความเชื่อถือ เพราะ นักวิจารณ์อาจขาดความเป็นกลาง ขาดการรอบรู้อย่างแท้จริง ขาดการลองอย่างถี่ถ้วน หรือ รู้อยู่แต่จงใจเปลี่ยนข้อเท็จจริงในบางส่วนเพราะผลประโยชน์อันนี้ว่าไม่ได้ครับ เพราะทุกคนต้องกินต้องใช้
ผลที่ตามมาคือ ได้ชุดหรืออุปกรณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ใช้งานได้ไม่เหมาะสม หรือมีหนทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ในราคาที่คุ้มค่ากว่า ผลแบบนี้พิสูจน์ไม่ยากครับ ไม่นานก็จะเห็นผลลัพธ์ของคำวิจารณ์นั้น เพราะโลกอินเตอร์เน็ตข้อมูลข่าวสารไปไวมาก หากหมดหรือลดความน่าเชื่อถือ เมื่อนั้นก็จะเกิดความเสื่อมและศรัทธาจะน้อยลงไป
วิธีป้องกัน เลือกเชื่อนักวิจารณ์ที่มีคุณภาพดี ลองดูจากผลงานคำแนะนำที่ผ่านมา ดูจากนิสัยและการกระทำ ว่ามีความจริงใจขนาดไหน อย่างไร การรับผลประโยชน์สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ไม่บิดเบือนหรือเชียร์ขายของมากเกินไป เลือกเชื่อถือนักวิจารณ์ที่ทดลองอย่างรอบคอบ ลองอย่างหลากหลาย โดยพิจารณาจากคำแนะนำ ต้องมีความหลากหลาย ละเอียด มีที่มาที่ไป ลดการใช้อารมณ์ส่วนตัว มีเหตุผลรองรับ จงอย่าเชื่อสิ่งที่เขาว่าดี แต่หาเหตุผลและคำแนะนำมารองรับไม่ได้
เหตุการณ์หรือข้อผิดพลาดของนักเล่นที่กล่าวไปแล้ว พร้อมทั้งผลและวิธีแก้ไข ก็แนะนำไปแล้ว แต่นี่เป็นเพียง ข้อสำคัญๆที่มักพบเจอ ยังมีอุทาหรณ์อีกหลากหลาย แต่เห็นว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย และเป็นความผิดพลาดส่วนบุคคล เช่น เลือกเพราะลดราคาเยอะ แบบนี้ไม่ได้มานำเสนอ เพราะเชื่อว่า นักเล่นทุกท่านใช้พื้นฐานการเลือกซื้อของอื่นๆในชีวิตประจำวัน นำมาปรับใช้ได้อยู่แล้ว
สุดท้ายอยากจะฝากนักเล่นว่า การเลือกเครื่องเสียงที่จะมาฟังเพลง ใช้งานกันหายปี อย่าใช้เวลาเลือกเพียงไม่กี่นาที เลือกมาฟังเพลงที่เราชอบ ไม่ใช่เพลงที่เขาเล่าว่า หรือที่เขาว่าดี สุดท้ายแล้วหวังว่า บทความนี้จะเป็น ภูมิคุ้มกันให้ท่านได้ไม่มากก็น้อย มีความสุขในการเลือกเครื่องเสียง เพื่อนำมาฟังเพลงครับ