What HI-FI? Thailand

นักวิจารณ์ ยังเชื่อถือได้ไหม ที่มาที่ไปพร้อมคำแนะนำ

ช.ชิดชล

“ลองให้ลึก รู้ให้จริง ฟังให้เป็น เข้าใจถึงแก่นแท้ ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์มาก่อนความถูกต้อง

     สวัสดีครับทุกท่าน บทความนี้เขียนขึ้นจากความปรารถนาดี ไม่ได้มีถ้อยคำที่ตำหนิหรือความหมายที่ทำให้เข้าใจไปได้แบบนั้น เป็นบทความที่บอกเล่าถึงแหล่งที่มา ที่ไป เกิดขึ้น ดังอยู่ และหายไปของนักวิจารณ์ เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักเล่นและสังคมการเล่นเครื่องเสียง หรือวงการเครื่องเสียง บทความนี้เรียบเรียงจากเหตุการณ์ สิ่งที่ได้รับรู้ เรื่องราวต่างๆล้วนเกิดขึ้นจริง ในชีวิตการอยู่ในวงการเครื่องเสียงกว่า 30 ปี เพื่อเป็นประโยชน์ การศึกษาการเล่นเครื่องเสียง และแนวทางในการคัดเลือกนักวิจารณ์

     ที่มาที่ไปของนักวิจารณ์ เหตุที่เราต้องรู้ถึงที่มาของการมาเป็นนักวิจารณ์ เพื่อเราจะได้รู้และเข้าใจของการเป็นนักวิจารณ์ เข้าใจการกระทำ รู้ซึ้งถึงเจตนาอันแท้จริง เพื่อจะได้รู้ที่ไป หรือรู้ว่า สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร เรียกว่ารู้เหตุ รู้การกระทำ รู้ผล

     นักวิจารณ์ที่มาจากนักเล่น คือเริ่มต้นเป็นคนฟังเพลง ต่อมาก็ชอบเล่นเครื่องเสียง สลับปรับเปลี่ยนตามความชอบ ความอยากลอง อยากรู้และต้องการทดลองเครื่องเสียงเพื่อการฟังเพลง เมื่อลองฟังมาก ลองฟังหลายแบบ ก็มีประสบการณ์ระดับหนึ่ง จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ เพราะลองเอง รู้ด้วยตนเอง สามารถอธิบายถึงสิ่งต่างๆได้อย่างเข้าใจ นักวิจารณ์แบบนี้มักไม่ค่อยอิงร้านค้าหรือผู้นำเข้า จะมีความเป็นอิสระ กล้าพูดกล้าแนะนำอย่างตรงไปตรงมา อธิบายได้ถึงหลักการ เหตุผลความเปลี่ยนแปลงของเสียง อธิบายถึงบุคลิกเสียงให้เข้าใจได้ หากจะมีความแอนเอียงก็เพราะพวกพ้อง ไม่ได้แอนเอียงไปตามผลประโยชน์ หรืออาจจะมีบ้าง แต่ยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง นักวิจารณ์แบบนี้สามารถอยู่ในวงการได้นาน มีฐานแฟนคลับระดับหนึ่ง

     นักวิจารณ์ที่มาจากพ่อค้า คือเริ่มจากการขาย หรือเพื่อนขาย แล้วแนะนำสินค้านั้น โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าของตนเอง อ้างอิงหลักการและเหตุที่เป็นจริงบ้าง ไม่เป็นจริงตามหลักสากลบ้าง นักวิจารณ์แบบนี้มักเกิดขึ้นง่าย ดังไม่นานแล้วก็หายไป เพราะขาดความเป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ กล่าวถึงแต่สินค้าที่ตนเองขายหรือมีผลประโยชน์ ขาดประสบการณ์ที่หลากหลาย ความจริงใจกับนักเล่นมีไม่มากนัก พวกนี้มักจะมีทฤษฎีใหม่ๆมาสอดรับกับสินค้าใหม่ๆของตนเองเสมอ โดยขาดความเป็นสากล และไม่ค่อยได้รับการยอมรับ  

     นักวิจารณ์ที่มาจากความรัก ความชอบ คือเริ่มจากความรัก ความชอบในอุปกรณ์เครื่องเสียง แล้วก็ผันตัวมาเป็นนักเล่น สุดท้ายก็มาเป็นนักวิจารณ์ วิถีชีวิตจะคล้ายๆกับกลุ่มแรก แตกต่างกันตรงมีความหลงใหลในเครื่องเสียงที่มากกว่า กลุ่มแรกจะหลงใหลในการฟังเพลง นักวิจารณ์แบบนี้มักมีแนวทางปฏิบัติเหมือนกับกลุ่มแรก แต่จะมีความรู้ลึกในรายละเอียดการทำงานของเครื่อง วัสดุที่ใช้ผลิต อันส่งผลต่อคุณภาพเสียง สามารถอธิบายถึงเหตุอันส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางเสียงได้ สอบถามปัญหาอธิบายให้เข้าใจได้อย่างละเอียด ชื่อเสียงมักไม่โด่งดังนัก แต่มีความน่าเกรงขาม เพราะรู้ลึก รู้จริง

คุณสมบัติที่ดีของการเป็นนักวิจารณ์

     ใจรัก ใจที่รักต้องมาก่อนเสมอ หากใจไม่รักแล้ว มักทนแรงเสียดทานต่างๆไม่ไหว ทั้งจากร้านค้าผู้นำเข้าที่ไม่เข้าใจถึงจุดยืน ทั้งจากนักวิจารณ์ด้วยกันเองที่ไม่มีใครอยากให้เด่นนำ หรือจากกลุ่มที่ไม่ได้ไปอำนวยความสะดวกด้านผลประโยชน์ หรือเซียนๆทั้งหลาย เมื่อใจรักที่จะทดลองและบอกกล่าวสิ่งใหม่ ใจรักที่จะหาสิ่งดีมีประโยชน์ ความรู้ความเข้าใจที่มีผลต่อเสียง ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของนักเล่น กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ คุณค่าและคุณภาพของนักวิจารณ์นั้น หากเป็นของแท้ รู้ลึกรู้จริงก็อยู่ในวงการได้นาน เป็นที่ยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ เรียกว่าทำด้วยใจรัก ไม่ได้ทำเพื่อเน้นไปที่ผลประโยชน์หรือชื่อเสียง   

     พรสวรรค์ นักดนตรีที่เข้าถึงท่วงทำนองและความหมายของบทเพลง จิตกรหรือศิลปินเอกที่เข้าถึงแก่นแท้ของศิลปะ มนุษย์ไม่สามารถเป็นแบบดังกล่าวได้ทุกคน และจะมีไม่กี่คนเท่านั้น ที่ไปถึงจุดนั้นได้อย่างได้รับการยอมรับ นักวิจารณ์ก็ไม่พ้นสัจธรรมดังกล่าว 100 คนฟังเพลง เข้าใจและรับรู้อย่างลึกซึ้งไม่เหมือนกัน 100 คนฟังเสียง ได้ยินความแตกต่าง อย่างละเอียดอ่อน อันมาจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน บางคนคิดว่าเข้าใจถูกต้องและชัดเจนแล้ว แต่ความเข้าใจนั้นกลับแคบและตื้นสำหรับอีกคน เรื่องแบบนี้แสวงกันพอได้ แต่ได้ในระดับหนึ่ง ฝึกฝนเรียนรู้ได้ แต่ก็ได้แค่ระดับหนึ่ง จะถึงแก่นแท้ได้ ต้องมีสวรรค์ให้พรมาด้วย พร้อมใจที่เปิดกว้าง เข้าใจอย่างแท้จริงถึงเสียงจริงและเสียงบันทึกมา คิดวิเคราะห์ลองฟังให้หลากหลายอย่างถึงแก่น พร้อมทั้งการถ่ายทอดให้รับฟังได้อย่างเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับทุกคนที่ ฟังเป็น

    จริงใจ ซื่อสัตย์ นักวิจารณ์ที่ยังอยู่ในอาชีพนี้ส่วนใหญ่จะมีความจริงใจกับนักเล่น และมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ และต่อนักเล่นระดับหนึ่ง มากมายขึ้นอยู่กับอุดมการณ์และผลประโยชน์ หากมีมากเที่ยงตรง ก็จะได้ความเคารพนับถือที่มากจากนักเล่น พ่อค้าผู้นำเข้ามีความยำเกรง หากมีน้อย มักไม่ได้รับความเชื่อถือจากนักเล่นนัก แม้ดังมีชื่อเสียงได้ แต่ไม่นานก็จะหายไป สุดท้ายก็ไม่มีใครให้ความเคารพและเชื่อถือ ความจริงใจ ซื่อสัตย์ คือสิ่งสำคัญ สิ่งเหล่านี้สื่อสารได้ด้วยการกระทำ สายตา คำพูด และความปรารถนาดี

เหตุแห่งความเสื่อมของนักวิจารณ์

     ขาดความรู้และความเข้าใจ ประเด็นนี้สำคัญ ขาดความรู้ถึงสินค้านั้นๆ อาจเกิดจากไม่ได้ศึกษา ลองเล่นอย่างแท้จริง หรืออย่างรอบด้าน ก็จะมีอะไรหรือประเด็นไหนขาดตกบกพร่องไปได้ เหตุแบบนี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร เพราะมนุษย์ปกติสามารถผิดพลาดกันได้ แต่เหตุที่ผิดพลาดมาจากความตั้งใจ อันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อันนี้ก็อภัยได้ยากสักหน่อย ยิ่งเกิดผลเสียไปกับผู้ที่เชื่อถือ ก็ยิ่งให้อภัยไม่ได้ ความรู้จริงนี้รวมไปถึงความเข้าใจด้วย เพราะเมื่อรู้จะเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็ถ่ายทอดบอกกล่าวได้อย่างถูกต้อง  

     ขาดประสบการณ์ อันที่จริงกว่าจะเป็นนักวิจารณ์ได้นั้น ควรผ่านประสบการณ์มามาก หลากหลาย แต่เชื่อไหมว่า บางครั้งในบางคน ไม่มากเพียงพอ หลากหลายแต่ตื้นเขิน ขาดความลึกซึ้ง หรืออาจจะหละหลวม ลองเล่นด้วยความไม่เข้าใจ ซ้ำร้ายกว่านั้นหลายคนถึงกับ ฟังไม่เป็น แยกแยะเสียงไม่ออก คิดว่าเสียงแบบนี้ดี แบบนี้ถูกต้อง แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีเสียงไหนดีที่สุด มีแต่เสียงที่เหมาะสมถูกต้อง และเสียงที่ตรงความชอบ แต่เสียงทั้งหมดนั้น ต้องมีความเป็นสากล หมายถึง ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า ใช้ได้ มีหลักอ้างอิง ไม่ใช่เสียงดีแต่เฉพาะตนแถมให้เหตุผลไม่ได้

    ขาดความเป็นกลางและความเที่ยงตรง ประเด็นนี้คงไม่ต้องอธิบายให้มากความ หากนักวิจารณ์ไม่เป็นกลางหรือพูดในสิ่งที่เป็นจริง เที่ยงตรง ก็จะขาดความน่าเชื่อถือ แนะนำอะไรแก่นักเล่นไป เขาไปทำตามแล้วไม่เป็นแบบนั้น ก็จะขาดความน่าเชื่อถือไปในที่สุด ชีวิตจริงทุกคนต้องกินต้องใช้ มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ อันนั้นก็สุดแล้วแต่บุคคล แต่ขอให้ยึดถือความถูกต้อง บนพื้นฐานของความจริง จะสามารถหากินได้อย่างยาวนาน    

ข้อเสนอแนะจากใจผู้เขียน

     นักวิจารณ์ ควรมีหัวใจรักในเครื่องเสียงและการฟังเพลง สมองที่มีความคิดที่เปิดกว้าง หาความรู้ให้เข้าใจอย่างเข้าถึง ทดลองและฟังให้หลากหลาย เติมข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผล อธิบายถึงเหตุแห่งที่มาที่ไป ของความเปลี่ยนแปลงทางเสียงได้ อิงนักเล่นให้มากกว่าผลประโยชน์ ขาที่ยืนอย่างมั่นคงต่อนักเล่นหรือผู้อ่าน ส่วนมือจะยื่นไปทางผู้นำเข้าบ้างก็ไม่เป็นไรนัก ขอให้หัวใจ สมอง และขาที่เป็นจุดยืนนั้น หนักแน่น

     เมื่ออ่านบทความนี้ คิดทบทวนถึงนักวิจารณ์ที่พบเจอ ก็จงเลือกเชื่อและนับถือในแบบที่ท่านนั้นเห็นสมควรเหตุแก่ความเชื่อและนับถือนั้น และละลดหากมีเหตุอันควรไม่ให้เชื่อถือ แล้วท่านจะมีความสุขในการเล่นเครื่องเสียง สุดท้ายนี้ขอฝาก กาลามสูตร 

กาลามสูตร (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตตสูตร) คือ พระสูตรที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการ ได้แก่

  1. มา อนุสฺสวเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟัง ๆ ตามกันมาหรือเพียงใครพูดให้ฟัง
  2. มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมาอย่างยาวนาน
  3. มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือหรือคนส่วนใหญ่เชื่อกัน
  4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือมีในคัมภีร์
  5. มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
  6. มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน) และการเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาปะติดปะต่อกัน
  7. มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการเห็นด้วยตา หรือตามลักษณะอาการที่แสดงออกมาน่าจะเป็นไปได้
  8. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีหรือทิฏฐิของตนหรือตามอคติในใจ
  9. มา ภพฺพรูปตา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ หรือเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ หรือเพราะเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
  10. มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเคารพนับถือว่าคนพูดเป็นสมณะผู้นำทางจิตวิญญาณของเรา เป็นครูของเรา เป็นศาสดาของเรา

เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ


อ้างอิง wikipedia

Exit mobile version