What HI-FI? Thailand

“ตัวรอง”…ลองยังไงไม่ให้เป็น รอง!!!

ป.ปลา ตากลม

เขียนเรื่อง “ตัวรอง”…ลองยังไงไม่ให้เป็น รอง!!! นี้บางคนจะหาว่าผมไม่เคยเล่นหรือเปล่า? บอกเลยว่าเล่นมาระดับหนึ่งครับ ตั้งแต่ทิปโทบ้านหม้อ ร้านโมดิฟาย ตัวละ 50 บาท ไปจนของนอกเซ็ทละหมื่นต้น (3 ชิ้น) เกินราคานี้ผมว่าน่าจะอัพไปเล่นแท่นวาง น่าจะได้ผลชัดเจนกว่าครับ

ทำไมต้องรอง ผมจะเริ่มเกริ่นให้ทราบ สำหรับการเล่นเครื่องเสียงนั้น ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก คือ เครื่องเล่นต้นทาง / ภาคขยาย / ลำโพง หลัก ๆ จะมี 3 ส่วนด้วยกัน ขณะที่อุปกรณ์เสริมนั้น ชื่อก็บอกชัดเจนแล้วว่า “เสริม” ไม่ใช่ “หลัก”

เมื่อตัดสินใจเล่นเครื่องเสียง ย่อมจะต้องเลือกอุปกรณ์หลักให้ได้เสียก่อน ไม่ใช่เลือกอุปกรณ์เสริมมารอไว้ ซึ่งมีความสุ่มเสียง เช่น ซื้อตัวรองเครื่องแบบมีสปริงเอาไว้ กะว่าใช้รองใต้เครื่องเล่นแผ่นเสียง แต่สุดท้ายเครื่องที่เราเลือกซื้อมีสปริงในตัวแล้ว…ตัวรองดังกล่าวก็ว่างงานซิครับ ครั้นจะเอาไปใช้กับเครื่องอื่น บางทีไม่ได้ออกแบบมาเป็น Universal ก็ใช้ไม่ได้อีก สุดท้ายมีโอกาสต้องขายทิ้ง

เมื่อเลือกอุปกรณ์หลักได้แล้ว ต้องมั่นใจว่า ปรับตั้งพารามิเตอร์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งรายละเอียดจะมากน้อยก็ขึ้นกับแต่ละเครื่อง รวมถึงเซ็ทอัพตำแหน่งวางลำโพงได้อย่างลงตัว เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด จากนั้นดูว่าเสียงไปทิศทางใด ขาดเหลือจุดใด จะเสริมแนวไหน ฯลฯ แล้วค่อยเลือกอุปกรณ์เสริมมาปรับแต่งให้เป็นแบบที่ต้องการ

โดยควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ความเหมาะสม.. ชุดหลัก 1 แสน ใส่อุปกรณ์เสริมอีก 1 แสน รวม 2 แสน มันเหมาะสมแล้วหรือ? ก็อาจมีคนย้อนแย้งว่าเหมาะ ก็ว่ากันไปครับ ผมว่าถ้างบ 2 แสน ใช้อุปกรณ์หลัก 150,000 บาท อีก 50,000 บาท เป็นค่าอุปกรณ์เสริม น่าจะได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่านะครับ  แต่ทุกคนมีสิทธิ์คิดได้จะเลือกแบบแรกก็ไม่ว่ากัน แต่การทำหน้าที่สื่อในครั้งนี้อยากนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง และมุมมองเหมาะสมด้วยเพื่อจรรโลงวงการให้ดีขึ้นไม่ใช่แย่ลงครับ

ถ้านึกความเหมาะสมไม่ออก ลองยกตัวอย่างเรื่องยางรถยนต์ ถ้าคุณใช้รถบ้านวิ่งได้สูงสุดไม่เร็วเกิน 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะเปลี่ยนยางใหม่ เลือกเอายางรุ่นเดิม เส้นละ 2-3 พันก็เหมาะสมแล้ว การเอายางรถซุปเปอร์คาร์ที่วิ่งได้ทะลุ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง เส้นละเป็นหมื่นมาใส่มันเกินความจำเป็นไปเยอะ เพราะรถคุณวิ่งยังไงก็ไม่ถึง ใส่แล้วสิ้นเปลืองเปล่า ๆ เก็บส่วนต่างเส้นละ 7,000×4 = 28,000 บาทมาทำอย่างอื่นดีกว่าครับ ใครจะใส่มีแค่อยากอวด อยากโชว์ออฟมากกว่า มองยังไง มองมุมในก็ไม่เหมาะสมแม้แต่น้อย

กลับเข้าเรื่อง อุปกรณ์เสริมในที่นี้ หมายถึงทุกสิ่งอย่างที่นิยม สายสัญญาณ, สายลำโพง, สายไฟเอซี, ชั้นวาง, ตัวกรองไฟ, ปลั๊กผนัง ฯลฯ

ใครเล่นขั้น Advanced เช่น ตัวทับเครื่อง, ตัวรองเครื่อง, ตัวคั่นสาย, หม้อแปลง Isolated Transformer ฯลฯ

ซึ่งในส่วนอุปกรณ์เสริมยอดนิยมหรือขั้น Advanced ก็ยังมีแยกย่อยออกไปได้อีก ตามสูตรของผู้ผลิต เช่น ตัวกรองไฟบางตัวมีวงจรกรอง DC แปลงกระแสกลับเป็น DC ก่อนแปลงกับเป็น AC เพื่อจ่ายออกไป, หม้อแปลง Isolated Transformer แบบ Balanced ฯลฯ

การเลือกอุปกรณ์เสริมนั้น บางอย่างจำเป็นต้องมีหลายชิ้น เช่น สายไฟเอซี ถ้ามีเครื่องเยอะ 5 เครื่อง ก็สมควรแล้วที่จะใช้ 5 เส้น เพื่อให้แต่ละเครื่องได้ระบบไฟที่ดีที่สุด พวกสายสัญญาณ สายลำโพงก็มีตามจำนวนที่มี จะเป็นการเสริมอย่าง “เหมาะสม” เพราะมีไว้ใช้งานจริง ไม่ได้มีไว้โชว์หรือโอ้อวดใคร ขายของ (แอบอยู่เบื้องหลัง) หรือร้านโดนยัดของ!

ชี้ชัดให้มากขึ้น ขอยกตัวอย่าง ย้ำว่าไม่ได้พาดพิงใครนะ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผมตามติดเสมอ ด้วยว่ามันเป็นอุปกรณ์เสริมยอดนิยม ใช้กันแพร่หลาย นั่นคือ ตัวรองเครื่อง

บางคนจะเรียกติดปากว่า ทิปโท (กรวยแหลม) ซึ่งมีมากมายจริง ๆ ทำจากหลายวัสดุ ยาง อลูมิเนียม พลาสติก ไม้ ฯลฯ มีหลายรูปทรง บางแบรนด์ก็ออกแบบให้มีการเคลื่อนไหวได้ (ผ่านลูกปืนทรงกลม-ซึ่งแน่นอนว่ายังจำแนกลูกปืนออกได้หลายชนิด เช่น เหล็ก-เซรามิค-ทังสเตน ฯลฯ ซึ่งจะให้เสียงต่างกัน รวมถึงราคาที่ต่างกันด้วย) บางยี่ห้อผสมกันหลายวัสดุ ทำเป็นแยกชิ้น 4-5 ชิ้นมาประกอบกันเพื่อปรุงแต่งเสียง โดยทำให้มันยุ่งยากวุ่นวายในการออกแบบเพื่อให้ดูแพง ๆ แต่ได้ผลจริงหรือเพียงแค่อัพราคา? ต้องลองเล่นดู

ผมไม่กล้าบอกว่า ลูกละ 3 พัน (ชุด 4 ชิ้น 12,000 บาท) นั้นถูกหรือแพง เพราะเม็ดเงินแต่ละคนไม่เท่ากัน ราคานี้บางคนว่าแพง ซื้อไม่ไหว หรือซื้อได้แค่ 1 เซ็ท ขณะที่บางคนว่าถูก มีเครื่อง 8 ตัว สามารถซื้อใส่ “ทุกเครื่อง” รวมแล้ว 8×12000=96,000 บาท!! (เกือบแสน!!) แล้วยังยิ้มได้ ถ้ามีเครื่องมาเพิ่มอีก 2 เครื่อง ก็ซื้อตัวรองอีก 2 เซ็ท เงินยังเหลือ บอกสบาย ๆ… เห็นไหมครับ 2 เคสนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ถ้าไม่นับเรื่องเงินที่ไม่อั้น การซื้อตัวรองนี้ บางทีมีทริคง่าย ๆ ใช้สัก 2 ชุดก็เหมาะสมแล้ว แต่ถ้าเกรงใจร้านหรือโดนยัด โดนบังคับซื้อเพิ่มในชุดที่ 3-8 นั้น..เสียงมันไม่ได้ทวีคูณตามเงินไปด้วยแน่นอน ใส่ 1-2 เซ็ทแรกได้ผลดีชัดเจนแน่ ส่วนชุด 3-8 ไม่ใช่ไม่ดีแต่มันจะฟังความต่างได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งชุดที่ 6-8 บางทีต้องวัดกันด้วยแผ่นเฉพาะ แทรคเฉพาะ ลงไปถึงวินาทีนั้น!!! กันเลย เช่น ฟังความกังวานที่ทอดตัวยาวขึ้นกว่าปกติ “เสี้ยววินาที” แต่จ่ายเงินรวมแสน…

ถ้าเล็งไปถึงจุดนี้คือ อยากจะบอกว่าต้องดู “อุปกรณ์หลัก” ด้วยว่าอยู่ระดับไหน ไม่ใช่ซีดีตัวละ 15,000 / DAC ตัวละ 20,000 / ปรีตัวละ 20,000 จะไปใส่ตัวรองเซ็ทละ 12,000 บาทx3= 36,000 บาท แล้ว เอาเงินนี้ไปอัพซีดี / DAC / ปรี น่าจะคุ้มกว่า? จริงอยู่ว่าอุปกรณ์เสริมนี้ซื้อแล้วใช้ได้ตลอด แต่ว่าไม่จำเป็นต้องใส่ให้ “ทุกตัว” ละครับ เพราะอะไรก็ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าบนแบบละเอียดครับ 

ตัวรองที่เคลื่อนไหวได้ ถ้าให้ผมเลือก ผมจะใช้กับเครื่องเล่นต้นทาง เพื่อให้เครื่องลอยกลางอากาศ ลดทอนการสั่นต่าง ๆ ที่จะเข้าไปสู่เครื่อง ส่วนลำโพงผมชอบแบบตัวรองที่ไม่มีการเคลื่อนไหวครับ ลองนึกดูถ้าคุณออกแรงปาก้อนหินบนพื้นที่ยวบยาบคุณจะปาไปได้ไกลไหม?

บางทีคนก็หลงไปกับกระแส กลไกการตลาด แรงเชียร์ต่าง ๆ ทำให้ลืมตัวไปบ้าง นี่คิดแค่เซ็ทละ 12,000 บาทเท่านั้นนะครับ ผลลัพธ์เรื่องราคายัง “น่าตกใจ” ถ้าเป็นเซ็ทละ 30,000 บาทละครับ วางไว้ลูกเอาไปกลิ้งเล่น เมียเผลอเอาไปทิ้ง สะดุ้งแน่ … ถ้าสั่งซื้อมา 8 เซ็ท 2 แสนฝ่า ๆ เอื้อก ครึ่งหนึ่งของรถอีโคคาร์นั่นเทียว ดีแน่แต่ไม่น่าจะคุ้ม…ส่วนร้านค้ายิ้มพุงปริแทบจะปิดร้านฉลองยอดขายเลยละครับ

สูงสุดคืนสู่สามัญ ขอยกตัวอย่าง บล๊อกไม้ Cardas ออกแบบเรียบง่าย เป็นก้อนไม้ชิ้นเดียว ไม่ต้องมีอะไรผสม ไม่มีลูกปืน ราคาไม่แพงก้อนละไม่กี่ร้อยบาท จะใช้ 3 หรือ 4 ก้อนก็ตามสะดวก ได้ผลดีขึ้นแน่นอน แบบนี้จะดีกว่าไหมครับ

หวังว่าจะได้แง่มุมการซื้ออุปกรณ์เสริมบ้างในแง่การรองใต้เครื่องที่ลองยังไงไม่ให้เป็นรอง (พ่อค้า) ซึ่งควรจะยึดหลักความเหมาะสมเป็นสำคัญ  ­ขอให้สนุกกับการเล่น โชคดีครับ


Exit mobile version