…จากประวัติ สู่พัฒนาการ จนครองความเป็นหนึ่งในวงการ ด้วยพัฒนาการของ Uni-Q จาก KEF

0

KEF ถือได้ว่าเป็นบริษัทผลิตลำโพงจากประเทศอังกฤษ ที่มีประวัติมาอย่างยาวนานถึงกว่า 60 ปี โดยชื่อเสียงของ KEF ที่โดดเด่นก็คือ ความสามารถในการผลิตไดรเวอร์คุณภาพดีออกมาได้อย่างหลากหลาย ควบคู่การวิจัย ค้นคว้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด คุณภาพในความเป็น KEF จึงไม่เคยลดลงเลย มีแต่จะทวีความรุดล้ำนำหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งหลายปีผ่านไป ประสบการณ์ก็ยิ่งสั่งสมและตกผลึกในแนวทางที่ KEF มุ่งมั่นก้าวไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ผลงานชิ้นแล้วชิ้นเล่าในแวดวงลำโพงที่ผ่านๆ มาไม่ขาดสายของ KEF คือ การันตีได้เป็นอย่างดี 

KEF ก่อตั้งขึ้นใน Tovil, Maidstone, Kent บริเวณทางใต้ของลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 1961 โดยวิศวกรไฟฟ้า Raymond Cooke และตั้งชื่อตามสถานที่ตั้งว่า Kent Engineering & Foundry และย่อสั้นๆ ว่า KEF ทว่าปัจจุบัน KEF ได้เปลี่ยนกิจการเป็นครอบครองโดย GP Acoustics ซึ่งเป็นสมาชิกของ Gold Peak Group ในฮ่องกง หากแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์, การวิจัยเทคโนโลยีเสียง และการผลิตผลิตภัณฑ์ระดับเรือธง ยังคงเกิดขึ้นที่ Tovil ดั้งเดิมในอังกฤษ 

ตามประวัติระบุว่า Cooke นั้นผ่านประสบการณ์การทำงานจากทั้ง Wharfedale และ BBC (British Broadcasting Corporation) จึงได้คิดก่อตั้ง KEF Electronics Ltd. ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างลำโพงที่เป็นนวัตกรรมใหม่โดยใช้เทคโนโลยีวัสดุแห่งยุคที่คิดค้นพัฒนาขึ้นมาล่าสุด …กว่า 6-0 ปีแห่งนวัตกรรมด้านเสียง KEF แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในอันที่จะพยายามลดขนาดเฉลี่ยของลำโพงในบ้าน (home-used speaker) จาก 9–10 ลูกบาศก์ฟุต (250–280 ลิตร) มาเป็นประมาณ 2 ลูกบาศก์ฟุต (57 ลิตร) และลำโพงตัวแรกที่ KEF ผลิตขึ้นก็คือ K1 Slimline ซึ่งใช้ไดอะแฟรมที่ทำจากโพลีสไตรีน และ เมลิเน็กซ์  

ไม่นานหลังจากนั้น ในปี 1962 KEF ก็ได้ออกวูฟเฟอร์รูปทรง “สนามแข่ง” คล้ายกับรูปไข่ มีชื่อเรียกว่า B139 อันโด่งดัง ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยให้ออกแบบรุ่น Celeste ได้เป็นหนึ่งในลำโพงวางขาตั้ง (bookshelf) ประสิทธิภาพสูงรุ่นแรกอย่างแท้จริง …นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960, KEF ได้ผลิตลำโพงมอนิเตอร์ที่ออกแบบโดย BBC อย่างเช่น LS5/1A สำหรับทั้ง BBC และเพื่อการจัดจำหน่ายที่วงกว้างยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ของ Cooke กับ BBC ที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่ KEF ก็ได้พัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงทศวรรษ 1960 และ 70  

กระทั่งต่อมา KEF ได้เปิดตัวไดรเวอร์เบส/มิดเรนจ์ “B110” ที่มีรูปทรงโค้งมน ซึ่งใช้วัสดุตัวกรวยแบบ bextrene และทวีตเตอร์ “T27” รูปทรงโดม ซึ่งใช้วัสดุตัวโดมแบบ melinex และในเวลาต่อมาได้ถูกนำไปใช้ในลำโพงมอนิเตอร์ขนาดเล็ก สำหรับออกอากาศ ที่ใช้ชื่อรุ่นว่า LS3/5A ซึ่งออกแบบโดย BBC และมียอดจำหน่ายได้มากกว่า 50,000 คู่ทั่วโลก  

ในปี 1970 ในฐานะ “KEF Electronics Limited” บริษัทได้รับรางวัล Queens Awards สองรางวัล สำหรับความสำเร็จในการส่งออก (1970 และ 1975) นอกเหนือจากการผลิตลำโพงแล้ว กิจกรรมส่วนใหญ่ของ KEF นั่นก็คือ การเป็นซัพพลายเออร์ OEM ของระบบลำโพง และไดรเวอร์ ซึ่งผู้ผลิตลำโพงรายใหญ่หลายรายและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับก็เข้ามาซื้อตัวขับเสียงคุณภาพสูงจาก KEF ทั้งนี้ The New York Times ได้ยกย่อง KEF ว่าเป็น “บริษัทเครื่องเสียงชั้นนำในยุโรป” และยังเป็น “ที่รู้จักกันดีในหมู่นักฟังเพลงระดับไฮขเอนด์ของอเมริกา” อีกด้วย 

ทว่าในเวลาต่อมา KEF สูญเสียทิศทางด้านการเงินและในที่สุด KEF ก็ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในปี 1992 แล้วก็ถูกซื้อโดย GP Acoustics ซึ่งเป็นสมาชิกของ Gold Peak Group ในฮ่องกง หากแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์, การวิจัยเทคโนโลยีเสียง และการผลิตผลิตภัณฑ์ระดับเรือธง ยังคงเกิดขึ้นที่ Tovil ดั้งเดิมในอังกฤษ 

เทคโนโลยี 

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970, KEF เป็นบริษัทแรกที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทดสอบและออกแบบลำโพง ซึ่งนำไปสู่วิธี ‘การออกแบบระบบทั้งหมด’ และเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น การจับคู่การทำงานของไดรเวอร์ สำหรับรุ่น Model 105 ที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งได้เปิดตัวในปี 1977 และต่อมา ก็ได้เป็นหนึ่งในลำโพงที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในยุคนั้น (KEF, Bowers & Wilkins และ Celestion คือ บริษัทผู้ผลิตลำโพงในระดับ “บิ๊กทรี” ของอังกฤษ ในยุค 70 และ 80 และ KEF ยังได้ชื่อเป็นผู้บุกเบิกการใช้วัสดุและเทคนิคขั้นสูงในด้านเสียง ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีอันรุดล้ำนำหน้าเหล่านั้น ก็คือ Uni-Q (1988) ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว และยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่อง สืบทอดเป็นหลายต่อหลายเจนเนอเรชั่นมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเป้าหมายเพื่อความสมบูรณ์ของเฟส และจับคู่การกระจายเสียงระหว่างไดรเวอร์เสียงต่ำและเสียงสูง ส่งผลให้จินตภาพมิติสเตอริโอที่ดียิ่งขึ้น 


Uni-Q for perfectly timed sound 

Uni-Q เพื่อค่าเวลาทางเสียงที่สมบูรณ์แบบ ด้วยการออกแบบแหล่งกำเนิดเสียงแบบจุดเดียว (single point source design) ของ Uni-Q ความถี่ทั้งหมดจะเดินทางมาถึงหูของผู้ฟังในเวลาเดียวกัน ดังนั้น Uni-Q จึงให้เสียงที่มีความแม่นยำ และสมจริงมากกว่าลำโพงทั่วไป โดยที่เอาต์พุตจากไดรเวอร์แต่ละตัวจะมาถึงในเวลาที่ต่างกันเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น  

Uni-Q always innovating 

ไดรเวอร์ Uni-Q ได้รับการพัฒนามาจนเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 12 แล้วในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องกว่าสามทศวรรษโดยทีมวิศวกร KEF จากจุดเริ่มแรกแนวคิดที่ว่าเสียงทั้งหมดที่มาจากแหล่งกำเนิดที่เดียวกัน ย่อมให้เสียงที่ได้รับการปรับปรุงที่เป็นเสียงเสมือนจริง  

นวัตกรรม Uni-Q จากจุดเริ่มต้น จนมาเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 12 

– Generation I (1988) 

ในปี 1988 KEF ได้ออกแบบและจดสิทธิบัตรตัวขับเสียงลำโพงที่ให้เสียงเดินทางมาถึงพร้อมกันเป็นตัวแรก ภายใต้ชื่อเรียกขาน Uni-Q โดยการจัดตำแหน่งทวีตเตอร์ขนาด 25 มม. (1 นิ้ว) วางอยู่ที่คอของวูฟเฟอร์ขนาด 200 มม. (8 นิ้ว) ซึ่งนับเป็นการจัดวางตำแหน่งศูนย์กลางเสียงของทั้งสองยูนิตให้ตรงกันอย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ใช้แม่เหล็กโลหะผสม นีโอไดเมียม-เหล็ก-โบรอน ซึ่งเป็นวัสดุขั้นสูงในขณะนั้น อันเป็นที่ยอมรับกันในด้านความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กที่สูงมาก โดยมีขนาดที่เล็กลง 

รุ่น C95 จากซีรีส์ C ที่ออกจำหน่ายในปี 1988 เป็นลำโพงตัวแรกที่ติดตั้ง Uni-Q ไดรเวอร์แหล่งกำเนิดเสียงที่เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างแท้จริงตัวแรกของโลก นอกจากนี้ ยังสืบทอดการออกแบบการโหลดเสียงเบสแบบ twin coupled-cavity configuration จาก KEF Reference 104/2 อีกด้วย 

– Generation 2 (1989) 

Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 2 ได้เปลี่ยนกรวยขับเสียงกลางเป็นขนาดที่เล็กกว่า 160 มม. (6.5 นิ้ว) เพื่อทำงานร่วมกับยูนิตไดรฟ์ต่ำ/กลาง 160 มม. (6.5 นิ้ว) ที่วางอย่างสมมาตรสองตัว ซึ่งช่วยให้ได้พื้นที่ด้านหน้าที่แคบลง ส่งผลให้จินตภาพเสียงสเตอริโอได้รับการปรับปรุงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

รุ่น 105/3 เป็นเรือธงของซีรีส์ ‘The Reference’ ในปี 1989 ภายใต้รูปลักษณ์ลำโพงตั้งพื้น 4 ทิศทาง ใช้ Uni-Q รุ่นที่ 2, ไดรเวอร์เสียงต่ำ/กลาง 160 มม. (6.5 นิ้ว) สองตัว และวูฟเฟอร์ 200 มม. (8 นิ้ว) สองตัว ไดรเวอร์นี้ติดตั้งกำหนดค่าในลักษณะของ twin coupled-cavity configuration 

– Generation 3 (1994) 

Uni-Q รุ่นที่ 3 นำเสนอเซอร์ราวด์แบบโลว์โปรไฟล์ (low-profile surround) ใหม่ล่าสุด สำหรับการตอบสนองความถี่สูงที่นุ่มนวลขึ้น ใช้ยูนิตเสียงกลางทรงกรวยโพลีโพรพิลีน 160 มม. (6.5 นิ้ว) ควบคู่กับทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 25 มม. (1 นิ้ว) ที่ติดตั้งในลักษณะของ coincident-mounted 

Model Four แสดงถึงจุดสุดยอดของซีรีส์ ‘The Reference’ ในปี 1994 ในรูปแบบลำโพงตั้งพื้นสี่ทิศทาง โดยมี Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 3, ยูนิตขับเสียงต่ำ/กลาง 160 มม. (6.5 มม.) สองตัว และส่วนเสียงเบสเป็นแบบ twin coupled cavity ที่ขับเคลื่อนโดยตัวขับเสียงเบส 250 มม. (10 นิ้ว) สองตัว  

– Generation 4 (1997) 

Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 4 จุดเด่นอยู่ที่เซอร์ราวด์แบบโลว์โปรไฟล์ที่หล่อไว้บนตัวกรวย (low-profile surround moulded onto the cone) เพื่อปรับปรุงสภาพยุติทางกลของกรวย/เซอร์ราวด์ที่ดีขึ้น และให้การตอบสนองในแถบความถี่เสียงกลางที่นุ่มนวลขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังนำเสนอท่อนำคลื่นที่ให้ความต่อเนื่อง (continuous waveguide) มากขึ้น สำหรับการแผ่ลำเสียงของทวีตเตอร์ช่วงความถี่สูง โดยยกระดับความเรียบเนียน และโทนสีสันทางเสียงที่เป็นธรรมชาติ 

Q15 เป็นรุ่นที่มีขนาดกะทัดรัดที่สุดในซีรีส์ Q ปี 1997 ลำโพงสองทาง แบบตั้งวางขาตั้ง (two-way bookshelf speaker) โดยใช้อาร์เรย์ไดรเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 4 ที่ติดตั้งตรงกลาง พร้อมตัวขับเสียงเบส/เสียงกลางตัวกรวยโพลีโพรพิลีนใส (clear polypropylene cone) ขนาด 160 มม. (6.5 นิ้ว) และ ทวีตเตอร์ซอฟต์โดมขนาด 19 มม. (3/ 4 นิ้ว) 

– Generation 5 (2001) 

Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 5 เป็นรุ่นแรกที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ทวีตเตอร์โดมโลหะ (metal dome tweeter) ในรูปแบบของไทเทเนียมโดม ขนาด 25 มม. (1 นิ้ว) โดยมีโปรไฟล์ทรงรี (elliptical profile) ที่ปรับให้เหมาะสมโดยเทคนิคการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ สามารถให้เสียงร้องมีความชัดเจนเป็นพิเศษ 

รุ่น Reference 201 เป็นลำโพงตั้งพื้นแบบ ทุ้มสะท้อน (bass reflex) สี่ทิศทางจากซีรีส์ ‘The Reference’ ปี 2001 โดยมาพร้อมกับ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 5 ซึ่งใช้ไฮเปอร์ ทวีตเตอร์ (Hyper-tweeter) ขนาด 19 มม. (3/4 นิ้ว) และ ไดรเวอร์ความถี่ต่ำขนาด 165 มม. (6.5 นิ้ว)  

– Generation 6 (2006) 

การอัปเดตที่สำคัญใน Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 6 คือ ทวีตเตอร์ไทเทเนียมโดมใหม่ ใช้ระบบมอเตอร์แบบมีรูระบายอากาศ (vented motor system) เพื่อขับเคลื่อน ‘Stiffened Dome’ ที่ได้รับสิทธิบัตร ซึ่งทำจากสองส่วน: วงแหวนทรงรีหนึ่งวง (spherical cap), ฝาครอบทรงกลมหนึ่งอัน (spherical cap) ทำงานด้วยความแม่นยำเป็นพิเศษ การเคลื่อนที่แบบลูกสูบ สร้างความถี่ที่สูงขึ้นพร้อมความชัดเจนที่รับรู้ง่ายดายขึ้นมาก 

รุ่น 207/2 ซึ่งเป็นเรือธงของซีรี่ส์ ระดับอ้างอิง (Reference Series) ที่ได้รับรางวัลในปี 2006 โดยเป็นลำโพงตั้งพื้น 4 ทิศทาง ใช้ตัวขับความผิดเพี้ยนต่ำพิเศษขนาด 250 มม. (10 นิ้ว) สองตัวแยกกันในตู้สะท้อนเสียงเบสขนาด 70 ลิตร ซึ่งเป็นตัวขับเสียงกลางที่ต่ำกว่าโดยเฉพาะ ขนาดเท่ากัน พร้อมกับ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 6 

– Generation 7 (2006) 

ซี่โครงเสริมแรง แบบเรเดียล (Radial reinforcing ribs) ถูกเพิ่มเข้าไปในกรวยโพลีโพรพีลีนของ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 7 การเพิ่มความแข็งแกร่งทำให้มั่นใจได้ว่า กรวยจะเคลื่อนที่เหมือนลูกสูบได้อย่างเรียบลื่น ดังนั้น การตอบสนองจึงราบรื่น ส่งผลลดการบิดเบือน นอกจากนี้ Uni-Q ขนาด 110 มม. ยังมีเทคโนโลยีระบบกันสะเทือนแบบปิดผนึก (Sealed Suspension Technology) ซึ่งปรับปรุงเสียงได้อย่างมาก คุณภาพในปริมาณที่สูงขึ้น 

KHT3000 คือกลุ่มลำโพงโฮมเธียเตอร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างดียิ่ง ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘EGG’ ด้วยการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ ลำโพงแบบ satellite รุ่น HTS3001 ขนาดกะทัดรัดใช้ชุดไดรเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 7 ติดตั้งไว้ตรงกลาง 

– Generation 8 (2007) 

ไดรเวอร์ Uni-Q ขนาด 115 มม. (4.5 นิ้ว) ได้รับการปรับปรุงโดยการเพิ่ม Tangerine Waveguide อันชาญฉลาด และได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว ส่งมอบความไวเสียง และทิศทางการกระจายเสียงที่ได้รับการปรับปรุงขึ้น ซึ่งช่วยให้ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 8 ให้การตอบสนองที่สะอาด และราบรื่นยิ่งขึ้น 

วิวัฒนาการของซีรีส์ 3000 ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้วรุ่น KHT3005SE ใช้ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 8 ที่ได้รับการปรับปรุง เพื่อมอบประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมความคมชัดและรายละเอียดที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็รักษาความสวยงามและสไตล์ของโฮมเธียเตอร์ภายใต้รูปลักษณ์ ‘EGG’ อันเป็นเอกลักษณ์  

– Generation 9 (2009) 

Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 9 ใช้กรวยไฮบริด (hybrid cone) ที่มีผิวด้านนอกของลิเธียม / แมกนีเซียม / อลูมิเนียมอัลลอยด์ เสริมด้วยโครงสร้างแบบ ribbed structure ที่ออกแบบมาอย่างแม่นยำของโพลีเมอร์คริสตัลเหลว (Liquid Crystal Polymer) การรวมกันนี้สร้างความถี่เสียงกลางช่วงบนที่ให้ความความแม่นยำอันเหลือเชื่อ 

จุดมุ่งหมายของ Concept BLADE คือ การผลิตลำโพงแบบ point source ที่ให้คลื่นเสียงที่สอดคล้องกัน แทนที่จะเป็นเสียงกระจายซึ่งอาจเป็นผลมาจากอาการเบรคอัพของกรวยและการแผ่ลำเสียงแทรกซ้อนของตู้ ซึ่งต้องขอบคุณ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 9 ที่ทำให้ KEF สามารถสร้าง Single Apparent Source Speaker ตัวแรกของโลกได้สำเร็จ 

– Generation 10 (2010) 

ใน Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 10 ส่วนของ Tangerine Waveguide ได้รับการออกแบบใหม่ เพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างทวีตเตอร์โดมกับอากาศที่อยู่ด้านหน้าโดยตรง โดยปรับมุมเสียงที่แผ่ออกจากทวีตเตอร์ให้เหมาะสมที่สุดทางเสียง ดังนั้นจึงให้ “ลำเสียง” ที่ดูเหมือนแหล่งกำเนิดเสียงแท้จริง (point source) มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ค่าความไวเพิ่มขึ้น และการกระจายตัวที่ดียิ่งขึ้น 

Q300 เป็นลำโพงวางขาตั้ง (bookshelf speaker) ที่ใหญ่ที่สุดในซีรีส์ Q ปี 2010 เป็นระบบสะท้อนเสียงสองทางที่ใช้ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 10 ซึ่งใช้ตัวกรวยอะลูมิเนียมขนาด 165 มม. (6.5 นิ้ว) และทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียมแบบ ระบายอากาศ (vented aluminium dome tweeter) ขนาด 25 มม. (1 นิ้ว) . 

– Generation 11 (2014) 

ใน Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 11 ระบบควบคุมคอกรวย (cone neck control) แบบใหม่ ให้การตอบสนองของไดรเวอร์ที่นุ่มนวลขึ้นมาก ลิงก์แดมปิ้งสูงที่ยืดหยุ่นได้ถูกนำมาใช้ในการเชื่อมต่อกรวยและคอยล์เสียง ดังนั้นเฉพาะสัญญาณที่อยู่ภายในคลื่นความถี่ของไดรเวอร์เท่านั้นที่จะถูกถ่ายโอนไปยังตัวกรวย 

Reference 5 แบบสามทางเป็นรุ่นเรือธงของซีรีส์ ‘The Reference’ ปี 2014 ไดรเวอร์ความถี่เสียงต่ำ ตัวกรวยอะลูมิเนียม ขนาด 165 มม. (6.5 นิ้ว) จำนวนสี่ตัว และ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 11 ขนาด 125 มม. (5 นิ้ว) ได้รับการจัดเรียงในรูปแบบ D’Applito configuration มั่น่ใจได้ว่า แหล่งกำเนิดเสียงอยู่ที่ตำแหน่งของ Uni-Q ตลอดช่วงความถี่เสียงทั้งหมดของลำโพง 

– Generation 12 (2018) 

มีการเพิ่มแดมเปอร์ช่องว่าง (gap damper) ของทวีตเตอร์ใน Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 12 เพื่อดูดซับเสียงที่ลอดเข้าไปในช่องว่างวงแหวนระหว่างทวีตเตอร์กับกรวย ผลลัพธ์คือ การตอบสนองความถี่สูงที่นุ่มนวลขึ้นมาก 

R11 เป็นรุ่นเรือธงของซีรีส์ R ปี 2018 โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก REFERENCE 5 ที่ยอดเยี่ยม โดยใช้ไดรเวอร์ความถี่เสียงต่ำ ตัวกรวยอะลูมิเนียม 165 มม. (6.5 นิ้ว) จำนวนสี่ตัว และ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 12 ขนาด 125 มม. (5 นิ้ว) ในรูปแบบ D’Applito configuration 

– Generation 12 with MAT (2020) 

Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 12 มาพร้อม MAT ซึ่งได้เพิ่มเทคโนโลยี Metamaterial Absorption Technology (MAT) และคุณสมบัติใหม่เพื่อลดสีสันและการบิดเบือนของเสียง รวมถึงซี่โครงเสริมความแข็งแกร่ง (strengthening ribs) ติดตั้งเพิ่มเติมด้านหลังส่วนท่อนำเสียงแบบ Tangerine Waveguide, แดมเปอร์ช่องว่างทวีตเตอร์ (tweeter gap damper) ที่ออกแบบใหม่, ระบบควบคุมคอกรวย (Cone Neck Control) ที่เป็น mk2 และระบบแม่เหล็ก ตัวขับเสียงกลางที่ได้รับการปรับปรุง 

LS50 Meta เป็นลำโพงตัวแรกของโลกที่มีวัสดุ metamaterial ซึ่งผสมผสาน Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 12 พร้อมด้วย MAT driver array ซึ่งอาร์เรย์ไดรเวอร์ใหม่นี้ให้สีสันที่ลดลง การบิดเบือนน้อยลง และเสียงที่โปร่งใส เหมือนมีชีวิตมากกว่าที่เคยเป็นไป แผ่กระจายไปทั่วทั้งห้องอย่างสม่ำเสมอ 

เหนือชั้นไปอีกขั้น ยังมีเทคโนโลยีทีเด็ด… 

– Single Apparent Source Technology​​​​​​​ 

หัวใจของ Blade คือเทคโนโลยี Single Apparent Source ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้เสียงในระดับอุดมคติของแหล่งกำเนิดเสียง ที่เป็นแบบ point source ทั้งช่วงความถี่ต่ำ, กลาง และสูง แผ่กระจายจากจุดเดียว นี่คือ สิ่งที่ทำให้ Blade มีความสอดคล้องกันอย่างเหลือเชื่อ ถึงพร้อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การนำเสนอจินตภาพเสียงที่แม่นยำ 

– Uni-Core® 

เทคโนโลยี Uni-Core ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรของ KEF กำหนดนิยามใหม่ให้กับลำโพง และซับวูฟเฟอร์ประสิทธิภาพสูงในพื้นที่ใช้งานจริง ซึ่งจำเป็นต่อการส่งเสียงเบสที่ลึกและแม่นยำ 

– Metamaterial Absorption Technology 

เครื่องมือที่ปฏิวัติวงการอย่างแท้จริงในคลังแสงอะคูสติกของ KEF ก็คือ เทคโนโลยีการดูดซับพิเศษ ซึ่งเรียกขานว่า Metamaterial Absorption Technology (MAT) เป็นโครงสร้างคล้ายเขาวงกตที่ซับซ้อนสูง ซึ่งดูดซับ-สลายเสียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ 99% จากด้านหลังของไดรเวอร์ ช่วยขจัดความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้น และให้เสียงที่บริสุทธิ์และเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น . 

New LS50 Meta 

ให้สมรรถนะในการนำเสนอเสียงอันบริสุทธิ์แบบที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ เป็นเสียงดุจธรรมชาติสร้างที่ผู้ฟังสามารถดื่มด่ำอรรถรสได้เต็มพิกัดในทุกทัศนียภาพของเสียง ให้คุณสัมผัสได้ถึง ‘Every note, Every word, Every detail’ แบบเต็มอิ่มครบรส ถือเป็นลำโพงแรกของโลกที่ปฏิวัติวงการ โดยมีการนำเทคโนโลยีดูดซับเสียงสะท้อน Metamaterial Absorption Technology (MAT) มาใช้ในการออกแบบลำโพงเป็นครั้งแรกของโลก แหวกทุกกฎเกณฑ์เดิมเรื่องการดูดซับเสียงสะท้อนในลำโพง ซึ่ง KEF ได้ออกแบบพัฒนาร่วมกับ Acoustic Metamaterials Group 

MAT Technology 

เกิดจากการใช้วัสดุสังเคราะห์ใหม่ที่มีคุณสมบัติขั้นสูงในการดูดซับเสียง ส่วนเกินที่แผ่ออกมาด้านหลังตัวขับเสียง ช่วยลดการบิดเบือนความใสของเนื้อเสียง ทำให้ได้เสียงแท้ที่คมชัดกว่าเดิม ซึ่ง MAT นี้ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างเหมือนเขาวงกต เพื่อให้แต่ละช่องสามารถดูดซับเสียงที่มีความถี่หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทำงานประสานกันโครงสร้างนี้เปรียบเสมือนหลุมดำของเสียงที่สามารถดูดซับเสียงส่วนเกิน ลดความผิดเพี้ยนของความถี่สูง ได้กว่า 99% ในขณะที่กรรมวิธีแบบอื่น ๆ มีประสิทธิภาพการกำจัดเสียงเกินส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 60% เท่านั้น ดังนั้นผลลัพธ์ของคุณภาพเสียงจึงมีความโดดเด่นยากจะหาใครเทียบ 

12th generation Uni-Q with MAT 

เพิ่มประสิทธิภาพของไดรเวอร์เพื่อให้เสียงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และความผิดเพี้ยนของเสียงน้อยลง โดยมาพร้อมเทคโนโลยี Uni-Q ไดร์เวอร์ เจนเนอเรชั่นที่ 12 โดยไดร์เวอร์ Uni-Q  จะทำงานร่วมกันกับ MAT ที่ช่วยให้กระจายเสียงได้ทั่วห้องอย่างสม่ำเสมอ ให้คุณดื่มด่ำกับเสียงเสมือนจริงได้จากทุกมุมห้อง และยังมีกรวยลำโพงแยกแบบใหม่ และการพัฒนาระบบมอเตอร์ที่ช่วยลดความเพี้ยนของเสียง ทำให้ได้เสียงโปร่งขึ้นและมีเบสลึกขึ้นกว่าเดิม 

Enhancement from legendary LS50 Lineage 

การพัฒนาจากลำโพง LS50 รุ่นเดิมในส่วนต่างๆ  ได้แก่ การใช้พอร์ตเสียงเบสที่มีความยืดหยุ่น (off-set flexible bass port) ซึ่งเป็นสิทธิบัตรเฉพาะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและลดความผิดเพี้ยนของเสียง การใช้ตู้ลำโพงที่มีลักษณะโค้งทำให้เกิดการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ต่ำ (curved baffle) และใช้หลักการดีไซน์ตู้ลำโพงแบบ Finite Element Analysis (FEA) พร้อมโครงสร้างซับพอร์ตภายในด้วยหลักการ Cross Bracing และ Constrained Layer Damping เพื่อให้ได้โครงสร้างตู้ที่แข็งแกร่งมั่นคง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ประกอบเป็น  ‘LS50 Meta’ ที่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไร้รอยต่อ ก่อให้เกิดเสียงที่ชัดเจนทุกรายละเอียดอย่างยอดเยี่ยม เกิดความผิดเพี้ยนของเสียงน้อยมาก ไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของห้อง 

Finished to perfection 

นอกจากประสิทธิภาพอันทรงพลังแล้ว LS50 Meta ยังมาพร้อมดีไซน์ตู้ลำโพงที่สวยงาม ที่ออกแบบรูปทรงส่วนโค้งด้านหน้าเพื่อประสิทธิภาพเสียงที่ยอดเยี่ยม ตามแบบฉบับ ของ KEF โดยทีมดีไซเนอร์ของ KEF ยังให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดการดีไซน์เพื่อให้แน่ใจว่าลำโพง LS50 Meta’  สามารถกลมกลืนและเสริมสร้างสภาพแวดล้อมราวกับเป็นเฟอร์นิเจอร์หนึ่งภายในบ้านคุณ ด้วยการออกแบบรูปลักษณ์ตัวลำโพงให้มีความหรูหรา สวยงามและมาพร้อมหลากหลายสีให้เลือกสรร ด้วย Carbon Black, Titanium Grey, Mineral White 

นอกเหนือจาก LS50 Meta ยังมี R3 Meta เป็นรุ่นล่าสุด ที่ช่วยคุณประหยัดได้มากยิ่งขึ้น 

ลำโพงรุ่น R3 Meta ของ KEF เป็นเวอร์ชันล่าสุดของลำโพงแบบ วางขาตั้ง (bookshelf) อันยอดเยี่ยมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ R series ภายใต้รูปลักษณ์ลำโพงแบบ สามทางสมบูรณ์แบบ ที่ได้รับการอัปเกรด Meta โดยมี Metamaterial Absorption Technology ของ KEF ติดตั้งอยู่ด้านหลังตัวขับเสียง ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อลดการบิดเบือน …นี่คือ สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับรุ่น Reference 1 ของ KEF ในราคาที่ถูกกว่ามาก 

ลำโพงวางหิ้ง KEF R3 Meta ตัวขับเสียงเบสแบบ ไฮบริด ทรงพลัง ขนาด 6.5 นิ้ว ออกแบบมาให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพไดรเวอร์แบบเดียวกับรุ่นท๊อป R11 Meta ด้วยการไดรเวอร์ Uni-Q® 12th generation พร้อม MAT™ Technology ที่เป็นจุดเด่นของ R series โดยนำดอกทวีตเตอร์ย่านความถี่เสียงสูง มาติดตั้งอยู่ตรงกลางของตัวขับเสียงเบส/ทวีตเตอร์ ทำให้เสียงถูกยิงออกมาจากตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งไม่ว่าคุณจะนั่งฟังตรงไหน คุณจะยังคงได้ยินทุกรายละเอียดเสียง …ผลักดันประสิทธิภาพไปสู่ขีดสุดใหม่ของระบบลำโพง 

นี่คือ ไอคอนที่เกิดจากระดับ The Reference – ชุดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีชั้นนำที่ถ่ายทอดจาก The Reference เพื่อประสิทธิภาพเสียงที่ยอดเยี่ยม ด้วยเทคโนโลยี Metamaterial Absorption Technology ดูดซับเสียงที่ไม่ต้องการได้ถึง 99% เพื่อเสียงที่บริสุทธิ์ และเป็นธรรมชาติ …นิยามเสียงเบสที่แท้จริง ด้วยตัวขับเสียงเบส กรวยอะลูมิเนียมไฮบริด (Hybrid aluminium) พร้อมตัวขับเสียงที่ให้ระยะเคลื่อนตัวมากยิ่งขึ้น (greater driver excursion) เพื่อเสียงเบสที่หนักแน่น ลึกล้ำ และควบคุมได้ 

12th generation Uni-Q® ทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดจุดเดียวเพื่อขยาย ‘sweet spot’ และกระจายเสียงที่เทียมเท่าๆ กันมากขึ้น ทั่วถึงทั้งห้อง  รวมถึงการออกแบบหน้ากากลำโพงสุดพิเศษ ‘Microfibre grilles’ ที่เจาะรูอย่างแม่นยำมากถึง 1801 รู สำหรับไดรเวอร์แต่ละตัว มั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพ แม้ในขณะที่ไดรเวอร์ถูกครอบหน้ากากอยู่ก็ตาม ซึ่งในแง่คุณภาพเสียงจากการรับฟัง R3 Meta ลื่นไหลไปกับเสียงเพลงทุกประเภท ให้ความสมดุลของโทนเสียง และรายละเอียดเสียงระดับเชิงลึกที่น่าพอใจมาก เวทีเสียงที่เปิดกว้าง พร้อมด้วยน้ำหนักเสียง และความโปร่งโล่งที่รับรู้ได้ชัดเจนในทันทีที่รับฟัง ไม่เพียงแค่ดึงความสนใจของคุณตั้งแต่เริ่มต้นการรับฟังเท่านั้น แต่ยังรักษาแรงจูงใจในการรับฟังได้เป็นเวลานานเท่านานอีกด้วย  

ทั้งยังต้องยอมรับว่า “R3 Meta” นั้นให้เสียงที่สะอาดขึ้น โปร่งใสมากขึ้น และแม่นยำยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งบอกได้เลยว่า “R3 Meta” เป็นลำโพงที่น่าดึงดูดใจอย่างมาก ทั้งในด้านการออกแบบ และประสิทธิภาพทางเสียงที่รับฟัง อยากบอกว่า “R3 Meta” นั้นเป็นลำโพงที่ราคาไม่เกินคว้า ทว่าสมรรถนะและคุณภาพเสียงนั้นไกลเกินคาดมากๆ นั่นเป็นเพราะการสร้างสรรค์ไดรเวอร์ที่ทรงประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก จนสามารถส่งมอบเสียงร้อง และช่วงย่านเสียงกลางที่แจ่มแจ้ง สดกระจ่าง ในขณะเดียวกันก็ให้ความดื่มด่ำในช่วงย่านเสียงต่ำ และอิ่มอุดม เข้มข้นในเนื้อเสียง คุณจะตราตรึงใจในความแผ่กว้างของอาณาบริเวณเสียง โดยไม่ต้องเครียดเคร่งกับตำแหน่งนั่งฟังตรงกลางระหว่างลำโพงอีกต่อไป เข้าถึงประสบการณ์ความเป็น 3 มิติของตำแหน่งแห่งที่เสียงดนตรีในสภาพเวทีเสียง อิ่มเอมใจในรายละเอียดต่างๆ ราวกับกำลังรับฟังดนตรีแสดงสดอยู่ตรงหน้ากระนั้น – Highly recommended !! สำหรับ “R3 Meta” จาก KEF  

KEF R3 Meta พัฒนาการต่อยอดจาก R3 

เมื่อเอ่ยถึง R3 Meta ย่อมต้องพูดถึง R3 “ต้นแบบ” อีกระดับ แบบฉบับของลำโพงไฮ-เอ็นด์แบบ วางขาตั้ง ที่ส่งมอบไดนามิคเร้นจ์กว้าง ไม่ต่างจากลำโพงตั้งพื้น ซึ่ง R Series นับเป็นอีกลำดับขั้นในความมุ่งมั่นของ KEF ในการเติมเต็มห้องฟังเพลงด้วยเสียงดนตรีที่บริสุทธิ์เที่ยงตรงเฉกเช่นต้นฉบับ เพื่อกล่อมเกลาจิตวิญญาณด้วยเวทีเสียงที่ละเมียดละไมอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ลำโพง KEF R Series รุ่นใหม่ ถูกออกแบบใหม่หมดจดในทุกมิติ อาศัยประสบการณ์นานหลายทศวรรษ บวกกับความคลั่งไคล้ในเสียงดนตรี รวมกันเป็นผลิตภัณฑ์ R Series รุ่นใหม่ การผสมผสานนวัตกรรมใหม่จากลำโพงรุ่น Reference Series เข้ากับเทคโนโลยีอันเป็นสิทธิบัตรเฉพาะ ทำให้ลำโพง R Series รุ่นใหม่ ให้เสียงที่มีรายละเอียดมากกว่า เข้าถึงความเป็นดนตรี และให้ความตื่นตะลึงน่าประทับใจจากทุกตัวโน้ต 

ซึ่ง R3 เป็นลำโพงวางบนขาตั้งเพียงรุ่นเดียวในซีรีส์ ภายใต้การทำงานแบบ ลำโพงสามทางสมบูรณ์แบบ ใช้ไดรเวอร์ชุดเดียวกับที่ใช้ในลำพงรุ่นท็อป R11 ออกแบบเป็นฟลูเรนจ์ที่ให้เสียงอันเหนือชั้นเกินคาด ซึ่งหากมองจากภายนอก “R3” จะเหมือนมีอยู่แค่ 2 ตัวขับเสียง แต่โดยแท้จริงแล้ว R3 เป็นลำโพงแบบ 3-ทางแท้ๆ โดยใช้เบสไดรเวอร์ทรงพลัง ขนาด 165 mm (6.5 นิ้ว) และใช้มิดเรนจ์ไดรเวอร์ ขนาด 125 mm (5 นิ้ว) โดยมีทวีตเตอร์ ขนาด 25 mm (1 นิ้ว) เป็นอะลูมินั่มโดม Uni-Q อยู่ในใจกลางของมิดเร้นจ์ร่วมกันทำงานเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงล้ำอย่างถึงที่สุด ภายใต้ค่าการตอบสนองความถี่ที่ (-6dB) 38Hz – 50kHz และค่าความไวเสียงอยู่ที่ 87dB มีค่าอิมพีแดนซ์ปกติ 8 โอห์ม ทั้งหมดนี้ซ่อนสมรรถนะอยู่ในตัวตู้ลำโพงที่เป็นชิ้นงานการผลิตที่สวยงามมากๆ เมื่อได้จับต้องสัมผัส จะรับรู้ได้ถึงความประณีตถึงที่สุดของผู้ผลิต มิติขนาดตัวตู้  (สูง x กว้าง x ลึก) 
422 x 199.6 x 312 มม. น้ำหนัก 13.5 กก. (R3 มีให้เลือกสามสี ได้แก่ Black Gloss, White Gloss และ Walnut)  

ในแง่คุณภาพเสียง จากการรับฟัง R3 ให้เสียงค่อนข้างราบรื่นไร้รอยสะดุดใดๆ รับรู้ได้ถึงความอิ่มหวานในน้ำเสียง และรายละเอียดละเมียดละไม น่าประทับใจ และแม่นยำเที่ยงตรงในแบบของลำโพง Reference  ระดับอ้างอิงได้อยู่ในตัว พร้อมด้วยช่วงปลายเสียงแหลมที่ค่อนข้างมีความฉ่ำชุ่ม พร้อมด้วยรายละเอียดระยิบระยับ ในด้านความถี่ต่ำนั้นลึกล้ำเปรียบเทียบลำโพงตั้งพื้นได้เลยทีเดียว เวทีเสียงแผ่กว้างลึก แผ่กระจายเสียงหลุดตู้ ให้บรรยากาศดนตรีอันอบอวลน่าทึ่ง แจกแจงรายละเอียดแม่นยำ และไดนามิคเรนจ์อันฉับพลัน 

บุคลิกเสียงโดยรวมของ R3 มีความนุ่มนวล เปี่ยมรายละเอียดครบถ้วน ควบคู่ความสดสะอาดและเปิดโปร่ง ครบถ้วนด้วยความผิดเพี้ยนบิดเบือนทางเสียงที่ต่ำ …ในแง่สไตล์เพลงที่รับฟัง R3 พูดได้เลยว่า เล่นได้หลากหลาย ไม่ว่าคลาสสิก, ป็อบ, ร็อค, แจ็ส รวมถึงเพลงร้อง เรียกได้ว่าคุ้มค่ามาก “R3” เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเสียงดนตรีอันละเอียดอ่อน ละเมียดละไม สนองตอบเพลงทุกประเภท โดยไร้ขีดจำกัดด้วยวิถีทางออดิโอไฟล์ เป็นผลงานของ KEF ที่ได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างมากจากนักเล่นทั่วโลก