What HI-FI? Thailand

จับประเด็นเขา นำมาเล่าสู่ – 3

จับประเด็นเขา นำมาเล่าสู่3

Bluesky

 

 

ในครั้งที่ผ่านมา ได้บอกกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า จะขอนำเรื่องราวของริบบอน ทวีตเตอร์ และเฉพาะอย่างยิ่ง “heil-air motion tweeter” ซึ่ง Dr. Oskar Heil เป็นผู้คิดค้นพัฒนาขึ้นแต่แรกเริ่ม และปัจจุบัน “JET tweeter” ของ ELAC นี่แหละคือผู้สืบทอดพัฒนาการ มานำเสนอ-สาธยายให้ท่านทั้งหลายได้รับทราบกัน

 

…แต่พลั้นให้คิดไปถึงเรื่องของ “แผ่นเสียง” ที่ใครต่อใครมักมองว่า “ไปไม่รอด” ด้วยมองเห็นภาพแต่เพียงภายนอกที่ดูว่าเป็นสิ่งล้าสมัย-ตกยุค ขาดความสะดวก-สบาย ไม่ให้ความคล่องตัวในเวลาเล่น พกพาและเก็บรักษาได้ยากยิ่ง ทั้งยังเต็มไปด้วยเสียงสอดแทรก-รบกวนสารพัดสารพัน ผิดกับการเล่นไฟล์เพลงดิจิตอล หรือที่เรียกขานกันอย่างโก้หรูในทุกวันนี้ว่า computer audio ตามรอยทาง-การชี้นำของฝรั่งมังคุดพุทราที่มุ่งแต่จะ “ขาย” เทคโนโลยีให้แก่มวลมนุษย์ที่ไม่อยากจะตกยุคตกสมัย (ความนิยม)

 

โดยอาจลืมไปว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีดิจิตอลจะพัฒนารุดล้ำนำสมัยไปไกลโพ้นเพียงใด จนได้มาซึ่งรายละเอียดข้อมูลจำนวนเป็นร้อยบิต แต่กระนั้นในช่วงท้ายสุดที่นับเป็น “ห่วงโซ่” ข้อสุดท้ายของการเล่น ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญยิ่งนัก ที่อย่างไง-อย่างไงก็ล้วนจำเป็นต้อง “แปลงผัน” ข้อมูลดิจิตอลให้ “คืนกลับ” มาสู่ –รูปสัญญาณ- “อะนาลอก” อย่างหนีไม่พ้นกันทั้งนั้น ซึ่งก็เพื่อ “การรับฟัง” นั่นเองแหละ เพราะประสาทหูมนุษย์เราอย่างไง-อย่างไงก็ต้องฟังเสียงที่เป็นอะนาลอก …ยังไม่มีมนุษย์พันธุ์ใดในโลกที่รับฟังเป็นข้อมูลดิจิตอลได้โดยตรง (ต่อให้ฝัง DAC chip เข้าในสมองเลยก็ตามทีเถอะ)

…..ก็แล้วอย่างนั้น จะแข่งขันกันมุ่งหน้าไปหาเทคโนโลยีที่รุดล้ำนำหน้า ทว่าสุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะต้องหวนกลับมาสู่ “จุดเริ่มต้น” แห่งความเป็นเสียงกันทำไม ก็ไม่รู้ — หลายคนทีเดียวที่คิดเช่นนี้ รวมทั้งตัวผม ปัจจุบันก็เลยมี “กลุ่มคน” จำนวนนึง ซึ่งกำลังทวีพลเมืองมากขึ้นๆ ในแต่ละปี ที่นึกนิยมในการ “กลับคืน” มาสู่การเล่นแบบพื้นฐานแห่งจุดเริ่มต้น ที่มิได้วิลิศมาหราอะไร ทว่ารับฟังเสียงเพลงและดนตรีได้อย่างเป็นธรรมชาติ จากอุปกรณ์ที่เป็น -อะนาลอก- เฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังจากแผ่นเสียง และตอนนี้ได้ขยายแนวทางไปสู่การใช้เครื่องเล่นเทปแบบ ม้วนเปิด (open-reel) กันแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นก็เพื่อ “หนี” จากแนวทางการรับฟังด้วยข้อมูลดิจิตอลนั่นเอง

 

หลายท่านทีเดียวที่บอกว่า มีความสบายอกสบายใจที่ได้-หนีห่าง-จากความรู้สึกเบื่อต่อการคุยโตโอ้อวดกัน ทั้งเรื่องของโปรแกรมที่ใช้ และขนาดจำนวนบิตของข้อมูล (อันหมายรวมไปถึงเรื่องของราคาที่ต้องจ่ายออกไปให้ได้มา) ดีอกดีใจที่ไม่ต้องมานั่งกังวลใจในเรื่องความเชย หรือ ล้าสมัยของอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ (อะไรเขาว่าดีก็ต้องขวนขวายสรรหามาใช้ ไม่งั้น-ตกยุค) โดยลืมคิดไปถึงเรื่องของ jitter ที่อย่างไรเสียเทคโนโลยีดิจิตอลก็ล้วนหนีไม่พ้นกันทั้งนั้น แต่บรรดาจ้าวแห่งเทคโนโลยีพากันหมกเม็ดอำพรางกันไว้ ไม่นำมาพูด โชว์กันแต่ตัวเลขด้านเดียวว่างั้น…

 

 

…เอาล่ะท่านนะ วกมาเข้าเรื่องเข้าราวของการนำเสนอเนื้อหาในเล่มนี้กันดีกว่า ชี้แจงเหตุผลถึงการปรับเปลี่ยน – content – กันไปแล้ว สำหรับ -สาระ- ที่พณฯท่านทั้งหลายจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นการ “เจาะลึก” เข้าไปถึงสรรพวิทยาการแห่งความเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับไฮเอนด์ที่มีเนมแบรนด์นามว่า “VPI” แห่งสหรัฐอเมริกา ที่คออะนาลอกริซึ่มต่างปรารถนาใคร่จะได้ครอบครอง ซึ่งก็เพราะเหตุผลอันใดกันเล่า ที่ทำให้เหล่าสาวกไวนีลทั้งหลายกระหายได้ลิ้มลอง นี่แหละคือ เนื้อหา–สาระที่กระผมจะนำมาเล่าแจ้งแถลงไขให้ท่านทั้งหลายได้รับทราบกันในเล่มนี้ครับ

 

>>> ย้อนอดีตไปในช่วงแผ่นเสียงครองโลก ซีดีนั้นยังไม่อุบัติขึ้น ดิจิตอลยังอยู่ในยุคตั้งไข่ ใครต่อใครที่เป็นนักเล่นนักฟังประเภท “ออดิโอไฟล์” มักนิยมเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงกันทั้งนั้น (แต่ผู้คนส่วนใหญ่รวมทั้งออดิโอไฟล์บางคนก็ให้ความนิยมชื่นชอบในการเล่นคาสเซ็ตเทปกันทั่วไป กระทั่ง Walkman นั้นเป็นที่คลั่งไคล้ ต้องได้มาครอบครอง เฉกเช่น iPod ในปัจจุบัน)

 

เหล่าออดิโอไฟล์ในยุคนั้น เป็นต้องหมายปอง “LinnSondek LP12” กันแทบจะถ้วนหน้า ในฐานะเจ้าแห่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Suspension ชั้นยอดของโลก ในขณะที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Non-suspension ชั้นเยี่ยม ที่มี “REGA” เป็นแม่แบบนั้น น้อยนักที่จักได้รับความสนใจ (ซึ่งอาจเป็นเพราะ Rega มีราคาถูกกว่า Linn อยู่อักโข ค่านิยมของผู้คนซึ่งยึดติดอยู่กับว่าของดีนั้นมีอยู่ แต่จำเพาะของแพงเท่านั้น จึงไม่ใคร่จะสนใจ)

 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะด้วยว่า ระบบ Suspension ดูจะมีหลักการทำงานที่ให้ผลใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการป้องกันและสลายพลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้าง มิให้ไปส่งผลรบกวนต่อการทำหน้าที่แกะรอยอักขระขรุขระบนผิวแผ่นเสียงออกมาเป็นสัญญาณไฟฟ้าอันแผ่วเบาของหัวเข็ม ในขณะที่ระบบ Non-suspension นั้นอาศัยหลักการทางฟิสิกส์ ซึ่งผู้คนทั่วไปมักไม่เข้าใจ กลายเป็นความไม่ศรัทธา ไม่เชื่อว่าจะให้ผลใช้งานได้เป็นจริงเป็นจัง

 

VPI “HW-19” ที่โด่งดังคับฟ้า กระทั่งหมู่ออดิโอไฟล์บ้านเรารู้จักกันแพร่หลาย (ด้วยแรงผลักดันจากเฮียหั่ง แห่งไฮ-ไฟ เฮ้าส์ที่ได้นำเข้าแบรนด์นี้เป็นเจ้าแรก …ขอจารึกนามไว้เป็นเกียรติแห่งการระลึกนึกถึง) ไม่ยิ่งหย่อยกว่า “LP12” และมีไม่น้อยที่ยังคงครอบครองอยู่ ก็เป็นหนึ่งในสาวกของหลักการป้องกันและสลายพลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้างด้วยระบบ Suspension และเป็นแบบ 4-point suspension กระนั้น VPI ในปัจจุบันก็ยังหันมาสนใจในหลักการ “ไร้” ซึ่งระบบ Suspension แล้วเป็นส่วนใหญ่ ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันก็คือ “The Scout” ซึ่งได้รับรางวัล Product of the Year and Editors Choice จากนิตยสาร Hi Fi Plus ในปีค.ศ. 2002 (อันเป็นปีแรกที่ The Scout ถูกผลิตออกจำหน่าย) ทั้งยังถูกจัดอันดับเป็น Recommended “Class B” ของสำนัก STEREOPHILE มาแล้วด้วย

 

นั่นแสดงว่า หลักการแบบ Non-suspension (ต้นตำรับโดย Roy Gandy เจ้าสำนัก REGA) นั้น ต้องมีอะไรดี เป็นที่น่าสนใจ และที่สำคัญให้ผลใช้งานได้จริง มิใช่สิ่งนามธรรมอีกต่อไป ซึ่งเราจะได้ทำการวิเคราะห์เจาะลึกกันล่ะ…

 

 

อย่างที่ได้บอกไว้ตอนต้นว่า ระบบ Non-suspension นั้นอาศัยหลักการทางฟิสิกส์ในการ “ยับยั้ง” พลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้าง มิให้ไปส่งผลรบกวนต่อการทำหน้าที่อันถูกต้อง แม่นยำ (อย่างที่ควรจะเป็น) ของหัวเข็ม ในขณะที่ระบบ Suspension นั้นอาศัยหลักการของคอยล์สปริงมาใช้ “แขวนลอย” ฐานย่อยที่ติดตั้งทั้งแพลตเตอร์และโทนอาร์มเอาไว้ ให้มีสภาพ “เกือบ” เป็นอิสระต่อพลังงานแรงสั่นสะเทือนจากฐานแท่นเครื่อง และมวลอากาศรายรอบ

 

ทั้งนี้หลักการทางฟิสิกส์ที่ถูกนำมาใช้ในการ “ยับยั้ง” พลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้างนั้น อธิยายความได้ดังนี้ สสารหรือวัตถุใดๆในโลกนี้ ล้วนมีค่าจำเพาะของการสั่นสะเทือนอย่างที่เรียกว่า “ค่ากำทอน” หรือ เรโซแนนซ์ (resonance) อยู่เฉพาะของใครของมัน สสารต่างสถานะกัน หรือ วัตถุต่างชนิดกันก็จะมีค่ากำทอนที่ว่านี้แตกต่างกันไปด้วย อีกทั้งสสารที่ต่างสถานะกันก็ยังมีคุณสมบัติในการนำ-พาคลื่นความถี่เสียงได้ช้า-เร็วแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน อย่างที่เรา-ท่านล้วนทราบกันดีว่า โลหะกับไม้นั้น โลหะจะมีคุณสมบัติในการนำ-พาคลื่นความถี่เสียงได้เร็วกว่าไม้ ในขณะที่ระหว่างของเหลว หรือ น้ำกับอากาศนั้น คลื่นเสียงความถี่ต่างๆ ก็จะเดินทางในของเหลว หรือ น้ำได้ดีกว่านั่นเอง

จากหลักการดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่า หากนำเอาสสารหรือวัตถุ 2 ชนิด (หรือกว่านั้น) ที่ต่างกันมา “ผนึก” หรือยึดติดกัน ย่อมสามารถก่อให้เกิดผลของการ “ยับยั้ง” พลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้างได้ อันเนื่องมาจากการที่คลื่นความถี่เสียงนั้นเดินทางผ่าน “ตัวนำ” ต่างชนิดกันได้ดี-ด้อยไม่เท่ากัน การส่งผ่านคลื่นความถี่เสียงระหว่างสสารต่างสถานะกัน หรือวัตถุที่ต่างชนิดกันจึงเกิดการ “เหลื่อมค่า” ของการนำ-พาคลื่นความถี่เสียง และด้วยค่ากำทอนที่แตกต่างกัน การนำ-พา หรือ การส่งผ่านคลื่นความถี่จากพลังงานแรงสั่นสะเทือนรายรอบ จากสสารหรือวัตถุชนิดหนึ่งไปยังสสารหรือวัตถุอีกชนิดหนึ่งจึงเป็นไปอย่าง “จำกัด” ทำให้พลังงานแรงสั่นสะเทือนรายรอบถูกลดทอนลงได้อย่างมาก

 

อันจะเห็นได้ว่าระบบ Non-suspension นั้นมีหลักการอันแตกต่างจากระบบ Suspension โดยสิ้นเชิง ซึ่งแม้ว่าหลักการของระบบ Non-suspension ดูจะเข้าใจได้ยาก ทว่าในความเป็นจริงนั้น ระบบ Non-suspension กลับมีความซับซ้อนที่น้อยกว่า ทั้งจากอุปกรณ์ที่ใช้และความไม่ยุ่งยากในการปรับแต่ง (tune-up) เมื่อเทียบกับระบบ Suspension ซึ่งนี่เองที่ส่งผลให้ “ปัจจัย” ต้นทุนในการผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Non-suspension นั้นต่ำกว่าต้นทุนในการผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Suspension อยู่มากทีเดียว

 

VPI นั้น นำหลักการ “ไร้” ซึ่งระบบ Suspension มาใช้ใน “The Scout” อย่างที่ได้กล่าวแล้ว ทีนี้เราก็มาดูตรงที่ว่า VPI ได้เลือกใช้วัสดุชนิดใดมาทำเป็นฐานแท่นเครื่อง เพื่อก่อให้เกิดสภาพ “ยับยั้ง” พลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้างขึ้นมา อีกทั้งจาก “The Scout” ดั้งเดิม ก็ได้รับการปรับปรุง-พัฒนาขึ้นมาสู่ “The Scout II” ในปัจจุบัน ก็ยิ่งต้องมาดูที่รายละเอียดกันว่า 9 ปีกว่าที่ผ่านมามีอะไร ที่ VPI ได้คิดค้นก้าวหน้าไปบ้าง จนกลายมาเป็น “The Scout II”

 

จาก “The Scout” มาสู่ “The Scout II” วิศวกรของ VPI ยังคงเลือกใช้วัสดุ MDF board ความหนา 1 1/8 นิ้วที่ถูก “ยึดติด” (bonded) เข้ากับแผ่นโลหะขนาด 12 gauge (ประมาณ 3-4 มม.) มาใช้เป็นฐานแท่นเครื่อง หรือ plinth เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคง-แข็งแรง (stability) ของโครงสร้างควบคู่กับสภาพการยับยั้ง (damping) พลังงานแรงสั่นสะเทือนรายรอบ ซึ่งหากวิเคราะห์ดูถึงลักษณะทางโครงสร้าง หรือ องค์ประกอบของ MDF board ก็จะพบว่า แม้ลักษณะทางกายภาพของ MDF board จะดูแทบไม่ต่างอะไรจากเนื้อไม้ เพราะมีเส้นใย หรือไฟเบอร์เป็นองค์ประกอบเหมือนกัน

 

หากแต่ว่า การเรียงตัวของไฟเบอร์ใน MDF board จะมีลักษณะที่สอดประสานไขว่กันเป็นชั้นๆ หนาแน่นพอประมาณ หรือปานกลาง ทำให้มีความแข็งแรงที่ดี และยังเกิดสภาพการนำ-พา หรือการส่งผ่านคลื่นความถี่จากพลังงานแรงสั่นสะเทือนรายรอบที่ไม่ “ต่อเนื่อง” กัน ต่างกับการนำ-พา หรือการส่งผ่านคลื่นความถี่ในเนื้อไม้แท้ๆ ที่มีลักษณะการเรียงตัวของเส้นใยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การนำ-พา หรือ การส่งผ่านคลื่นความถี่ในเนื้อไม้แท้ๆ นั้น จึงราบเรียบ-ต่อเนื่องกัน (เครื่องดนตรีนานชนิดจึงนิยมใช้เนื้อไม้แท้กัน ในขณะที่ตัวตู้ลำโพงมักนิยมใช้ MDF board ไงล่ะครับ)

 

พูดง่ายๆ ก็คือว่า คลื่นความถี่จะเดินทางผ่านในเนื้อไม้แท้ๆ ได้ดีกว่าใน MDF board นั่นเอง เมื่อเป็นฉะนี้จึงบอกได้ว่า MDF board นั้น โดยคุณสมบัติทางกายภาพของตัวมันเองก็นำ-พา หรือ ทำการส่งผ่านคลื่นความถี่ได้ไม่ดีนักอยู่แล้ว เมื่อมีแผ่นโลหะขนาด 12 gauge มายึดติดอยู่ จึงเกิดสภาพการส่งผ่านคลื่นความถี่ที่แตกต่างกันอยู่อย่างมาก ระหว่างโลหะกับ MDF board ซึ่งหากนึกภาพไม่ออก ขอให้ลองจินตนาการถึง “ระฆังแตก” ที่ให้เสียงไม่กังวาน เพราะขาดความต่อเนื่องของการส่งผ่านคลื่นความถี่ที่สั่นสะเทือนไปโดยรอบตัวระฆัง “รอยแตก” หรือ “รอยร้าว” ของตัวระฆังนั้นเองที่ทำให้ลักษณะการกังวานของเสียงระฆัง (ซึ่งก็คือ “ค่ากำทอน” หรือเรโซแนนซ์ของระฆังนั้นๆนั่นเอง) ต้องเปลี่ยนแปลงไป

 

ทีนี้มาดูในส่วนของ platter หรือ แท่นวางแผ่นเสียงนั้น ซึ่งใน “The Scout” ใช้เป็นวัสดุอะคริลิก (acrylic) หนา 1 3/8 นิ้ว ที่ได้รับการ “ถ่วงจุดสมดุล” มาอย่างดี และถูกวางหนุนอยู่บน inverted bearing ที่เป็น Teflon กับทองเหลือง ซึ่งอยู่บนแกนปลอกชุบแข็ง “60 Rockwell case” ก่อให้เกิดการหมุนรอบที่เป็นอิสระ ไหลลื่นไร้แรงเสียดทาน (เพราะ Teflon นั้นมีคุณสมบัติที่เรียบลื่นมาก) แต่สำหรับ “The Scout II” แท่นวางแผ่นเสียง หรือ platter นี้กลับถูกปรับเปลี่ยนเป็นวัสดุอะลูมินั่มพิเศษ “6061 aluminum” ที่มีความหนา 1 7/8 นิ้ว ซึ่งยังถูกยึดตรึงอยู่กับ damping plate ที่เป็น stainless steel “ไร้สภาพเหนี่ยวนำทางแม่เหล็ก” (nonmagnetic) ทำให้น้ำหนักโดยรวมของ platter หรือ แท่นวางแผ่นเสียงนี้หนักถึง 18 pounds เลยทีเดียว …!

 

นี่จะเห็นได้ว่า VPI ได้นำหลักการทางฟิสิกส์ของวัตถุต่างชนิดกัน ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นนั้น มาใช้ในการ “ยับยั้ง” พลังงานแรงสั่นสะเทือนรอบข้างสำหรับแท่นวางแผ่นเสียง หรือ platter ของ “The Scout II” นี้อีกชั้นหนึ่งด้วย นอกจากนี้การที่ VPI ใช้วัสดุอะลูมินั่มผนึกติดกับ damping plate ที่เป็น stainless steel เช่นนี้ ก็จะก่อให้เกิดสภาพถ่ายเททางแรงเคลื่อนประจุไฟฟ้าสถิต ทั้งที่เกิดสะสมอยู่บนตัวแผ่นเสียงเอง (ขณะถูกดึงเสียดสีเบาๆ ออกจากซองใส่แผ่นเสียง) และถูกถ่ายเทจากตัวเราขณะจับตัวแผ่นเสียงวางลงบนแท่นวางแผ่นเสียง ล้วนจักถูกถ่ายเทลงสู่ stainless steel ในลักษณะของการกราวด์ (grounded) ไปยังฐานแท่นเครื่อง มิได้สะสม หรือเวียนวนอยู่บนแผ่นเสียง และ platter นี่คืออีกหนึ่งความใส่ใจอย่างลึกล้ำของ VPI

 

สำหรับในส่วนของมอเตอร์ที่ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนแท่นวางแผ่นเสียงนั้น ได้ถูกแยกออกมาต่างหากเป็นอีกฐานอย่างอิสระ มิได้ติดยึดอยู่กับฐานแท่นเครื่อง หรือ plinth เพื่อป้องกันมิให้เกิดแรงสั่นสะเทือน อันเนื่องมาจากรอบหมุนที่สูงมากถึง 600 รอบต่อนาทีของมอเตอร์แบบ AC synchronous motor เดินทางเข้าสู่ฐานแท่นเครื่องไปส่งผลกระทบรบกวนต่อภาระหน้าที่ของโทนอาร์มและหัวเข็ม โดยได้นำเอามอเตอร์ดังกล่าวไปติดตั้งอยู่ใน steel housing เพื่อให้เกิดน้ำหนักในขณะตั้งวาง จะได้เกิดแรงดึงจากความตึงของสานพานในขณะมอเตอร์กำลังหมุน

 

ในส่วนของโทนอาร์มนั้น ทาง VPI ระบุว่า “The Scout” และ “The Scout II” สามารถรองรับได้กับ RB300 ของ REGA ได้โดยมิต้องทำการปรับแต่ง หรือ ดัดแปลงใดๆ นอกเหนือจากการติดตั้งโทนอาร์มรุ่น JMW-9T ที่เป็นมาตรฐานจากทางโรงงาน (VPI ยังมีโทนอาร์มรุ่นพิเศษ JMW-10.5i และ JMW-12.7 ให้เลือก สำหรับผู้ที่ต้องการ “ความยาว” ของโทนอาร์มที่ระดัลบ 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว) ทั้งนี้ JMW-9T มีหลักการทำงานในลักษณะที่เป็น unipivot tonearm คือไม่มี friction bearing ใดๆติดตั้งอยู่ในโทนอาร์ม มีเพียงเดือยแหลมเปี๊ยบเล็กๆ ที่เป็น tungsten-carbide เท่านั้นทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของทั้งโทนอาร์มและหัวเข็ม

 

JMW-9T จึงเป็นอิสระในขณะทำงาน ไร้ซึ่งแรงเสียดทานใดๆ อาศัยเพียงแทร็คที่หมุนวนเป็นก้นหอยของร่องรอยอักขระบนผิวแผ่นเสียงเป็นตัวขับเคลื่อน ให้หัวเข็มค่อยๆเลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆได้อย่างเที่ยงตรงตลอดทั้งแผ่น โดยมีตุ้มถ่วงเล็กๆ คอยหน้าที่ “ฉุดรั้ง” ในการทำหน้าที่ anti-skating มิให้หัวเข็มขูดกับผนังร่องแผ่นเสียงด้านในมากเกินไป มิใช่เพียงแตะสัมผัสร่องแผ่นเสียงเพื่อการอ่านข้อมูลอันสมดุลจากผนังร่องแผ่นเสียงทั้ง 2 ด้านอย่างที่ควรจะเป็น

 

ซึ่งในส่วนโครงสร้างของ JMW-9T ได้ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นท่อเรียวยาวจากหัวถึงท้าย หรือ tapered armtube ทำจาก stainless steel เพื่อให้ส่งผลช่วยลดสภาพการเกิดเรโซแนนซ์ ทั้งยังเสริมภายในของ armtube นี้ไว้ด้วยวัสดุเฉพาะ (proprietary damping material) เพื่อให้เกิดการซึมซับคลื่นความถี่ไว้อีกชั้นหนึ่งด้วย ทั้งนี้ทาง VPI ได้ระบุไว้ว่า JMW-9T ที่ติดตั้งเป็นมาตรฐานให้กับ “The Scout II” นั้นเป็นรุ่นที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ล่าสุด เพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นองค์ประกอบอันสมบูรณ์สำหรับการทำหน้าที่ของหัวเข็มแบบ MC โดยส่วนใหญ่

ในขณะใช้งานทำการเล่นแผ่นเสียง ควรติดตั้ง record clamp ที่ทำจากวัสดุ Solid Delrin วางทับและยึดติดตัวแผ่นเสียงไว้ให้แนบชิดกับ platter เพื่อให้เกิดสภาพการใช้งานที่สมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็นของ “The Scout II” อย่างไรก็ตามเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Non-suspension นั้นต้องการผู้ใช้งานที่มีประสบการณ์ ห้ามตั้งวางแบบไม่เลือกที่ นึกจะตั้งวางเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบนี้ตรงไหนก็วาง …อย่างนี้อย่าว่าแต่ระบบ Non-suspension เลย ต่อให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Suspension ขั้นมหาเทพอย่าง Goldmund Reference II (ระดับราคา $300,000) ก็เอาไม่อยู่…. ขอบอกครับ !!!

Exit mobile version