What HI-FI? Thailand

คุยด้วยเพลง… เพลงชุดโตเกียว

พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี

          ช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๐  ที่ผ่านมา ผมได้พาครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่น … เป็นตะลอนทัวร์ ที่เดินทางไปกันเองไม่พึ่งทัวร์ เพื่อความเป็นอิสระในการท่องเที่ยว  เริ่มจาก ภูมิภาคคันไซ เมืองโอซาก้า เกียวโต นารา และโกเบ ก่อนกลับมาตั้งหลักที่โตเกียว เกือบสิบวันในทริปนี้ มีแต่ความชุ่มชื่นเบิกบานใจ เมืองที่ผสมผสานระหว่างความทันสมัยกับประวัติศาสตร์ ธรรมชาติทั้งทะเล ป่าไม้ ภูเขา ดอกไม้ ล้วนงดงาม  คนมีระเบียบวินัย มีน้ำใจ มีความเป็นมิตร ล้วนแต่สร้างความประทับให้กับผมและครอบครัวมาญี่ปุ่นคราใดก็มีแต่ความสุขทุกครั้ง ตามประสาคนชอบเพลง ก็ต้องนึกถึงเพลงไทยที่เกี่ยวพันกับญี่ปุ่น … โดยเฉพาะเมือง โตเกียว ผมค้นหาเพลงที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นจากแผ่นเสียง ซีดี และเทปคาสเสท ที่สะสมไว้ ก็พบเพลงที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นจำนวนหลายเพลง จึงขอนำมาคุยกับท่านในฉบับนี้

            เพลงที่เกี่ยวพันกับญี่ปุ่น มีทั้งเพลงไทยที่นำทำนองมาจากเพลงญี่ปุ่น และเพลงที่แต่งขึ้นจากความประทับใจในญี่ปุ่น เพลงไทยสากลและเพลงลูกทุ่ง หลายเพลงสร้างเพลงจากทำนองเพลงญี่ปุ่น เช่น เพลง โจโจ้ซัง (JOJOSAN) โจโจ้ซัง เรื่องของหญิงสาวญี่ปุ่น จากจินตนาการของนักเขียนชาวอเมริกา ที่กลายเป็นอุปรากรยุโรป ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกจากนวนิยายกลายเป็น ละคร ภาพยนตร์ และเพลงหลายชาติหลายภาษา

           โจโจ้ซัง เป็นชื่อตัวละครเอกฝ่ายหญิงในเรื่อง เรื่องบัตเตอร์ฟลาย (Madame Butterfly) ของ จอห์น ลูเธอร์ลอง (John Luther Long) ซึ่งแต่ง เมื่อปี ค.ศ. 1897 โจโจ้ซัง หรือนางผีเสื้อ อดีตเกอิชา มีความรัก และได้แต่งงานกับเรือเอกพิคเคอร์ตัน นายทหารเรือชาวอเมริกัน เมื่อคนรักอเดินทางกลับ  โจโจ้ซังเฝ้ารอคอยสามีที่จากไปอยู่หลายปี และผลแห่งการรอคอย คือการกลับมาของสามีสุดที่รักพร้อมกับภรรยาชาวอเมริกัน โจโจ้ซังซึ่งรักเกียรติ และศักดิ์ศรีของตน  จึงตัดสินใจทำฮาราคีรีเรื่องจึงจบด้วยโศกนาฏกรรม

            มาดามบัตเตอร์ฟลายได้กลายเป็นมหาอุปรากรที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนาราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนำเค้าเรื่องมาแต่งๆเป็นละครร้องเรื่อง “สาวเครือฟ้า” ภายหลังมีผู้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ละครวิทยุ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

           ครูพยงค์ มุกดา นำทำนองเพลง มาใส่เนื้อร้องภาษาไทย  ใช้ชื่อ โจโจ้ซัง  เล่าเรื่องราว โดยมีทั้งภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ให้รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ขับร้อง

            “ฮีเซงนางาซากิมีนาดตมาจิ อิจิยาชิกิโนทาโซคาเรวา นาเซงาอาซา มิชิอี ฟูริโซเตงินงีโย โคยอินูเองาเซ คูรูคูรูโต โจ้ะโจ้ะซัง โจ้ะโจ้งซัง ซากูระโนฮานางา ซากูโคโรนี โอฟูเนงาคาเอเอ เตคูรูโตอีโย ฮานาโนโรอาฮือซือ นางาซากินา งาซากินี นาโตมาซี

            (พูด) CHO CHO SAN,IT’S A BEAUTIFUL GIRL,SHE LIVE IN NAGNASAKI,A LOVELY CITY AND NOW SHE IS THINKING OF HER SWEETHEART WHO HAS PROMISED TO COMEBACK IN THE CHERRY BLOSSOM TIMEW”

            “อันความรักมักชักชวนใจให้ลุ่มหลงระเริง เปรียบดังเปลวที่ได้จุนเจือ เชื้อใหม่ลาม ยามเพลิงรักรุมใจใครจะมาหาญห้าม เรื่องจะปรามรักกันมัน กว่าดับไฟ เหมือนรักของทรามวัยในนิยายญี่ปุ่น โจโจ้ซัง

            หล่อนพลีกายใจด้วยรักซื่อ ถืออมตะจริงจังกลับต้องมาผิดหวังพบกันวันหลัง เขามีเมียมา ปวดใจนักเหมือนคนรักไร้สัจจา โจโจ้ซังดอกฟ้าจึงฮาราคีรี ชาตินี้ขอมีรักเดียว…

            ครูพยงค์ มุกดา ใช้ถ้อยคำเพียงไม่กี่บท กล่าวถึงเรื่องราวความรักที่จบลงด้วยความสะเทือนใจของ โจโจ้ซัง สาวงามแห่งเมืองนางาซากิ เสียงขึ้นนาสิกของรุ่งฤดีนั้นเหมาะกับเพลงแนวญี่ปุ่นอยู่แล้ว จุดเด่นของเพลงคือดนตรีจากการเรียบเรียงเสียงประสานมือหนึ่งของเมืองไทยในยุคนั้น จุดที่เสริมความไพเราะของเพลงก็คือ เสียงคอรัสที่ร้องคลอของ แหม่มแครอล ซึ่งเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงภรรยาของ ประสาน สุทัศน์ ณ อยุธยา นักดนตรีและนักเรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยสากลที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง

            โจโจ้ซัง เสียงขับร้องของรุ่งฤดี อยู่ในแผ่นเสียงที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ภายหลังเธอได้นำเพลงโจโจ้ซังมาขับร้องบันทึกเสียงอีกครั้งหนึ่ง ฉบับเวอร์ชั่นใหม่นี้อยู่ในซีดีของบริษัทโรสวีดีโอ ชุด “ดีที่สุด รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส่” หมายเลขแผ่น 120243 ผลิตเมื่อปี พ.ศ.2549 เสียงขับร้องของรุ่งฤดียังคงสดใสไพเราะเหมือนในอดีตแม้ว่าจะห่างจากวงการเพลงไปนาน

          อีกเพลงหนึ่งที่ใช้ทำนองเพลงญี่ปุ่น คือ เพลง นักรบชายแดน ครูพยงค์  มุกดา นำทำนองเพลง NAVAYA แต่งให้ รุ่งฤดี  แพ่งผ่องใส ขับร้องบันทึกเสียงครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2513

                     “หลับนอนถอนใจอาลัยอาวรณ์  ก่อนเคยนอนเคล้าคู่อยู่เป็นสอง

            อบอุ่นแสนละมุนยามเคียงครอง  ทั้งหอห้องเหมือนเมืองแมน

                     แต่ค่ำนี้มีเราเศร้าเหงาเพียงลำพังกับหมอน  ยอดรักจรไปหนุนขอนต่างแขน

          กอดเพียงแต่ปืนบนแผ่นพื้น  หนาวเย็นเหมือนเป็นแท่น  พิทักษ์แดน เสรีนี้ให้ยืนนาน

                     หลับตาหนใดยังลืมไม่ลง  ห่วงพะวงเห็นใจตำรวจทหาร

          ห่างญาติและมิตรคู่ดวงมาลย์ สมชายชาญเชื้อวีรชน

                       ได้แต่พนมมือก้มกราบ พระผู้เสวยสวรรค์  โปรดคุ้มกันทหารตำรวจทหาร

            ให้พ้นผู้ทำลายชาติ ศาสนา มหากษัตริย์ขอจงปี้ป่น ไทยทุกคนเห็นใจนักรบชายแดน

          เพลงนักรบชายแดนเป็นที่ประทับใจทั้ง แนวหลัง ซึ่งเป็นญาติพี่น้อง ของ แนวหน้า คือ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ต่อสู้กับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ผจญความยากลำบากอยู่ที่ชายแดน  ถือได้ว่าเป็นเพลงดังเพลงหนึ่งในยุคนั้น  


เพลง Sukiyaki (สุกิยากิ)

            เพลงนี้คนไทยมักนิยมออกเสียงเป็น สุกี้ยากี้ ซึ่งเป็นชื่ออาหารญี่ปุ่นที่คนไทยนิยมรับประทาน โดยดัดแปลงให้เข้ากับลิ้นของคนไทย ไปที่ไหนจะมีสุกี้ยากี้ให้ลิ้มลองกัน เพลงสุกิยากิ นี้หากใครไม่รู้ความหมายก็คงจะคิดว่าเป็นเพลงที่เกี่ยวกับ อาหาร    

            SKY SAKAMOTO หรือ คิวจัง ผู้ขับร้อง เขาเป็นนักร้องเอเชียคนเดียวยุค 60 ที่นำเพลง SUKIYAKI ติดอันดับ 1 ได้รับแผ่นเสียงทองคำของสหรัฐอเมริกา  และทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

          เพลง SUKIYAKI ชื่อเดิม อุเอโอะ มูอิเต๊ะ อารูโด พอเพลงนี้ไปสหรัฐอเมริกาได้ตั้งชื่อเป็น SUKIYAKI เพราะชื่อเดิมยาว และจำยาก เนื้อเพลงเป็นเรื่องของคนที่ว้าเหว่เดียวดาย เดินแหงนหน้ามองฟ้าในฤดูร้อนไป ร้องไห้น้ำตาไหลพรากไป  

            สมโภช  ล้ำพงษ์  ได้นำเอาทำนองเพลงมาแต่งเพลง “หัวใจร้องไห้” สุเทพ ขับร้องได้อย่างไพเราะ

            “ดึกดื่นคืนนี้ไม่มีจันทร์ เปรียบฉันไม่มีเธอ แผ่วๆ ลมพลิ้ว จิตวาบหวิวเสียงลมหวนครวญละเมอ ดังมีเธอพร่ำวอน…

          SUKIYAKI ฉบับภาษาไทย ที่ผมพบอีกเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง สุกี้ยากี้ ขับร้องโดย ศักดิ์ศรี  ศรีอักษร  เจ้าของเสียงเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ที่โด่งดังมากเมื่อสี่สิบปีที่แล้วหลังจากขับร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้ว ได้เนื้อร้องไทย ว่า

            “เชิญคะเชิญท่าน  มาสุขสันต์ฤดี  จะรำพัดโบกวี  รับสุกี้ยากี้ เริงรื่นฤดี”..

          อีกเพลงหนึ่ง   สุรพล สมบัติเจริญ นำทำนองมาใส่เนื้อร้องไทย ให้ชื่อว่า คอยเธอที่โตเกียว  ให้ ชูศรี ทองแย้ม ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง

            เพลง  โตเกียวเปลี่ยวใจ  ขับร้องโดย  สุเทพ วงศ์กำแหง  และเพลง ไม่ลืมเธอ ขับร้องโดย  ชรินทร์ นันทนาคร  นำมาจากทำนองเพลง   TOKYO TWILIGHT 

            เพลง Sayonara (ซาโยนาระ) คำนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นที่คนไทยรู้จักความหมายกันดีว่า คือ “ลาก่อน” ครูแก้ว อัจฉริยะกุล นำทำนองมาสร้างเพลง  ซาโยนาระ ให้ รวงทอง  ทองลั่นทม  ขับร้องประกอบภาพยนตร์เรื่องซาโยนาระ

            “ซาโยนาระ ขออำลารักไป กระซิบซาโยนาระ รักลา อย่าร้องไห้ ชื่นชีวี เคยเคล้าที่ซี้ซากุระวิไล โอบอาลัย เชยชิดใกล้ แหงานมองในนภา….

           เพลง Subaru (ซู บารุ) เพลงนี้ อังคาร หาญวงสา นำมาแต่งเป็นเพลง ดาวประดับใจ ทำให้ดอน สอนระเบียบ ผู้ขับร้องโด่งดังมากเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

                             “เหม่อมองฟ้าคืนนี้ แสงดาวเรียงรายสวยเด่น

                  แต่ใจฉันคืนนี้สุดแสนลำเค็ญหม่นหมาง

                  ค่ำคืนนั้นได้กอดกระซิบแนบชิดเคียงข้าง

                  แต่คืนนี้เปล่าเปลี่ยวอ้างว้างระทมอ่อนใจ…”


             สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่ง  ประทับใจเพลงญี่ปุ่น จึงนำมาแต่งเพลงและขับร้องเอง เพลงรักริงโง (ริงโงภาษาญี่ปุ่น หมายถึงต้นเอ๊ปเปิ้ล) ซึ่งมีท่วงทำนองและจังหวะสนุก ๆ นั้น คนไทยชอบกันมาก


                          ค่ำ คืน นี้ มีจันทร์สวยส่องสกาว    เมฆ ขาว พราวเรียง ราย   

                  เห็นดาวเกลื่อน ท้องนภาน่าใจหาย            คนรักคลายไม่มาให้ชื่น
                ค่ำ คืนนี้ ไม่มีแม้แต่เงาเธอ             พี่ เผลอกาย เฝ้า ยืน   

                  ไร้คนเกี่ยวก้อยแสนเศร้า สุดฝืน                ทนเฝ้ายืน กลืนน้ำตา

                              โอ้ นวลน้อง เนื้อทองเจ้าอยู่แห่งไหน   โปรดเห็นใจพี่สักครา

                    ย้อนคืนกลับซิน้องเอย อย่าช้า              มาซิมาพี่จะพาน้องโชว์                         

                           พี่ยังรักยังคอยไม่เปลี่ยนใจ          ใต้ซุ้มรัก ริงโง

                   ทุกคืนค่ำพี่ยังคอย แม้ดึกโข                     เฝ้าร้องเพลงริงโงเรียกเธอ

          อีกเพลงหนึ่ง คือเพลงอาทิตย์อุทัยรำลึก  ซึ่งร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นก่อนถึงเนื้อไทย

                          โย..เฮ โน อี โน โม               โม โน ซา มี เช

                         โซ..แก..โน มี ชี มี                       โอ โม…อี เด..โน
                    ฮา ฮา ฮา ฮา                      ดี โว..โน ฮา นา วา….

                         ซา อี ตา เก โด….                       โฮ โม อี โว โย เซ โด
                   อี โต วา นา โอ                     โอ โฮ โม อา โน นี โน

                          วา สุ กา ยู โก…                       
                อยู่ห่างเธอใจละเมอเพ้อครวญ              กำสรวลนิวรณ์ก่อนนิทรา

       แดนอาทิตย์อุทัยที่จากมา                            หลับตาครั้งใดใจอาวรณ์
     ภาพน้องนั้นยังลอยเหนือบนดวงใจ     ผูกมัดฤทัยคอยหลอกหลอน                

        นอนพะวงมิหลับ หลับมิคืน                     ดวงใจสะอื้นระทม                        

                หากขาดน้องแล้ว                         พี่คงไม่แคล้วช้ำ

                      น้ำตานองหมองรำพัน                               อยู่ห่างไกลใจยังครวญถึงเธอ
                   เสมอทุกคืนและวัน                           มองฟากฟ้าไม่มีแม้จันทร์

                       ส่องฉายมาน่าเศร้าใจ                                          

                             โอ้เรานี้…เกิดมาเหมือนมีบาปบัง           พลาดหวังเชิงชายอดสูเกิดมาเหมือนมีบาปบัง                     พลาดหวังเชิงชายอดสู                         อยู่เหมือนคนที่มีเพียงร่างไร้วิญญาณ

                               ไม่เคยฉ่ำหวานในความรักเลย        กราบเทพไท้จง บันดาลให้เธอนั้น

                      ผันกลับคืนมา..

           เพลงเกี่ยวกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเพลงร่วมสมัย ก็ต้องเพลง “เมื่อดอกซากุระบาน”  ซึ่งแผ่นเสียงและซีดีชุดนี้ นักเล่นเครื่องเสียงรู้จักกันดี

            เพลงเมื่อดอกซากุระบาน  ผลงาน ดนู  ฮันตระกูล ซึ่งสร้างจากความประทับใจเมื่อไปญี่ปุ่น ผู้แต่งได้นำบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์เมื่อได้เข้าไปนมัสการพระพุทธรูปเชื่อมโยงถึงดอกซากุระได้อย่างแยบยล สุภัทรา  อินทรภักดี  บรรจงขับขานไว้ด้วยความตั้งใจ ฟังแล้วเหมือนอยู่ในบรรยากาศแห่งแดนอาทิตย์อุทัยจริงๆ

                                     คละควันคลุ้ง  อบอวลองค์พระร่ำรมหอมกลิ่นเทียนธูปบูชา

                           สองมือประนมก้มกราบสักการ  ขอพรพุทธคุณ  สร้างบุญกุศล

                           ผู้คนทุกทางต่างยิ้มแย้มบาน  ธารน้ำใส  ลมไล้ซากุระ

                            ยินระฆังเรียกสวดมนต์  เจ้ายืนต้นฟังพระสอน

                                    ไม่อนาทรลมหนาวเนิ่นนาน  รับพระธรรมจนอิ่มใจ

                           ผลบุญแผ่กิ่งใบ เจ้าดอกน้อยค่อยคลี่กลีบบาน

                            งามสมคามเขตอาทิตย์อุทัย  งามซึ้งซากุระ

                           มองทะเลจรดขอบฟ้าแดนไกล คิดถึงซากุระ…

         แผ่นเสียงและซีดีชุดนี้  ผลิตออกมาจำหน่ายหลายครั้งในรอบ  ๑๐  ปี นับเป็นอัลบั้มเพลงที่ได้รับความนิยม ปัจจุบันแผ่นเสียงเป็นที่ถวิลหาของนักสะสม    

       


สำหรับเพลงที่เกี่ยวกับโตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่น ที่ปรากฏในเพลงนั้น มีหลายเพลง บางเพลงเป็นเพลงยอดนิยมซึ่งยังคงรู้จักกันจนบัดนี้

        ผมมีเพลงจากแผ่นเสียงตรามงกุฎ ชุด “รักเหนือขอบฟ้า”  หมายเลข C.R.T.๒๖๑ ซึ่งเป็นผลงานการแต่งเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ        

          สุรพล สมบัติเจริญ  แต่งให้นักร้องในวงขับร้องบันทึกแผ่นเสียง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๔    

            ๓  เพลงแรก เป็นเพลงที่นำทำนองมาจากเพลงญี่ปุ่น ให้ ชูศรี ทองแย้ม ขับร้อง เพลงแรกซึ่งเป็นชื่ออัลบั้ม “รักเหนือขอบฟ้า”  นำทำนองมาจากเพลงญี่ปุ่น  ช่วงแรกร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น ตามด้วยเนื้อร้องไทย แต่เนื้อหาไม่ได้กล่าวถึงเมืองโตเกียว

           เพลงที่เกี่ยวกับโตเกียวเพลงแรก  เป็นเพลงที่  ๒  จากแผ่นเสียงชุดนี้  ชื่อเพลง คอยเธอที่โตเกียวทำนองจากเพลงญี่ปุ่น  SUKIYAKI   ช่วงแรกร้องเป็นภาษาญี่ป่น ตามด้วยเนื้อร้องภาษาไทย ดังนี้

                              โอ้สุดที่รักของฉันเอย   ต้องจากกันแล้วนะคนดี  ด้วยประเพณีกั้นเราไว้

                     มิให้รักเราสัมพันธ์   เราจึงต้องจากกัน ทั้ง ๆ ที่ฉันสุดจะรักเธอเท่าดวงหทัย

                              ก่อนเธอจากฉันฉันขอเตือน โปรดอย่าลืมเลือนเลือนฉันไป

                    ก่อนกลับเมืองไทยโปรดจำไว้นะที่รัก ของฉันเอยว่าเราเคยสุขสันต์ มีเธอและฉัน

                   ต่างฝากรักกันแดนโตกิโอ

                               เธอคงลืมหมดแล้ว ลืมแม้คืนที่สุโข ลืมแดนโตกิโอ ปล่อยฉันโซเฝ้าละเมอ

                   เธอจากไปแล้วฉันคะนึง สุดจะคำนึงนึกถึงเธอ เฝ้าแต่ละเมอ เธออยู่ไหน ได้ยินไหม

                   ฉันเรียกเธอ คอย คอย คอย เฝ้าเพ้อ เธออยู่ไหน กลับเถิดขวัญใจ ฉันยังเฝ้าคอย

          เพลงต่อมา ชื่อเพลง  โตเกียวแห่งความหลัง   เริ่มช่วงแรกเป็นภาษาญี่ปุ่น  และท่อนหลังเป็นเนื้อร้องภาษาไทย

                         คืนฟ้าหม่นเดือนคล้อยดวงล่วงลาลับดับแสงกลับทิวไม้บัง

                   เปล่าเปลี่ยววังเวงสุดจะทน

                         โอ้คนรักจ๋า ตัวเธออยู่แห่งไหน ไยจึงปล่อยให้ฉันเฝ้าคอย หนาวทรวงดวงใจสะท้าน

                         ลืมแล้วหรือความรักเรา ข้าสุขแสนฉ่ำหวานบนแดนซากุระบาน

                   ฉ่ำชื่นดวงมาลย์สุดคณานับ กลับเถิดที่รัก คืนนี้ฉันเฝ้าคอยคุณกลับมา  มิได้หลับ

                   ขอให้คืนกลับ กลับมาโตกิโอ

          แผ่นเสียงเพลงที่เกี่ยวกับโตเกียว แผ่นที่  ๒  คือแผ่นเสียงชุด “รวมเพลงแห่งความหลัง ของ สมจิต ตัดจินดา นักร้องเสียงระฆังทอง แห่งวงดุริยางค์ทหารเรือในอดีต” ซึ่งชมรมผู้นิยมเพลงเก่า นำโดย นคร ถนอมทรัพย์ รวบรวมต้นฉบับเดิมจากแผ่นครั่งมาจัดทำเป็นแผ่นเสียงลองเพลย์เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพลงเก่าที่มีคุณค่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๑

          ๓  เพลงแรก เป็นเพลงที่เกี่ยวกับโตเกียว  เสียดายที่ผมหาชื่อท่านผู้แต่งไม่ได้

           เพลงแรก   สัญลักษณ์โตเกียว   ท่านผู้แต่งนำความประทับใจที่มีต่อดอกซากุระมาแต่งเป็นเพลง โดยยกย่องให้ซากุระเป็นสัญลักษณ์ของโตเกียว

               โอ้ดอกซากกุระดอกขาวนวล   บานพร้อมพรั่งหอมแลวิไลไม่มีหมอง

                   ใครได้แลเห็นสุดจะห้ามใจได้หมายปอง  ต่างคนร่ำร้องหมายปองจะชม

                         บุญที่ยังมีที่มาได้เห็น      เช้าและเย็นสุดรื่นรมย์

                   ชมซากุระแรกบานซ่านซ่านซึ้งใจ

                         ซากุระนี้ดอกเจ้ามีค่าล้ำนัก เป็นสัญลักษณ์ของแคว้นอาทิตย์อุทัย

                   เมื่อถึงคราวบานก็ตระการแลวิไล   ร่วงโรยเมื่อใดก็โรยพร้อมกัน

                                ในถิ่นโตเกียว สิ่งเดียวที่ปอง หญิงงามยังมองดอกเจ้านั้น

                     เป็นสัญลักษณ์สำคัญของโตเกียว

         เพลงที่  ๒  โตเกียวแห่งความหลัง   เริ่มบรรเลงด้วยดนตรีทำนองญี่ปุ่น

                               รำพึงความหลังครั้งเคยไปเที่ยวโตเกียวเมืองใหญ่

                   เคยสุขใจแสนที่แดนอาทิตย์อุทัย  จากมาไกลใจฉันยังคะนึง

                              โอ ภาพฟูจีดั่งมีเวทย์มนต์ดลใจ ให้ประหวัดถึงใครคนหนึ่ง

                   เพ่งดูทีไร ดื่มใจรักซาบซึ้ง ครุ่นคะนึงถึงเธอละเมอครวญ

                              มาไกลใจหายเสียดายเคยชื่น ทนกล้ำกลืนปั่นป่วน เพลงแผ่วแว่วดัง

                  ได้ฟังเหมือนเธอคร่ำครวญ ดังจะร้องชวนสำนวนสะอื้น

                             จากมาเมืองไทย แต่ใจทิ้งไว้โตเกียว ทนอยู่คนเดียวข่มขื่น

                  ชาติหน้าถ้ามี ฝากชีวีมิกลับคืนผืนดินโตเกียว

         เพลงนี้ สุนารี ราชสีมา  นำกลับมาร้องบันทึกเสียงใหม่ได้ไพเราะมาก

          เพลงที่  ๓  เดือนตกที่โตเกียว  เพลงแนวรักเศร้า

                           โอ้ดวงเดือนดังเตือนหัวใจฉันเศร้า ยามเมื่อเราอยู่เดียวอดีตไม่เลือน

                  ดวงเดือน ทรมานเปล่าเปลี่ยวครุ่นคิดถึงเธอเสียจนผู้เดียว หวังใจคะนึงโตเกียวไม่วาย

                           ค่ำคืนไหนมีเดือนหงาย แสงเดือนเหมือนมีมนต์พราย ดังฝากความหมายรักมา

                           เมื่ออยู่โตเกียวสองเราไปเที่ยวด้วยกัน จนดึกจนแจ้มจันทร์ลับลอยจากฟ้า

                 ลมหนาวโชยหิมะโปรยปรายมา เย็นเยือกวิญญา อิงแอบอกงามวิไล

                          จากมาไกล แต่ใจเรานี้คงถึงกันโดยพระจันทร์ผ่องเพ็ญ เราต่างแลเห็น

                 เด่นเดือนเตือนหัวใจ รักเราคงมิเบากลับกลาย

                           ดึกแล้ว แสงเดือนนั้นเลื่อนลับคงหาย  แสนจะเสียดายยามอยู่คนเดียว

                 แสงหาย คร่ำครวญคิดไปใจเสียว  ไปหรือมาโตเกียว เดือนก็ดวงเดียวเหมือนกัน

                           หากบุญยังมีฉันนี้จะได้กลับไป คงสุขใจดังพบแดนสวรรค์ ยามนี้ยังเฝ้ามอง

                  ร่วมกัน เฝ้าคอยคืนฝันไปสู่โตเกียวฟ้างาม


เพลงสาวงามในโตเกียว (โอโต๊ะมิซัง)

          เพลงโตเกียว ที่ไพเราะอีกเพลงหนึ่ง  ชื่อ   สาวงามในโตเกียว   จากแผ่นเสียงคาเธ่ย์ตรงมงกุฎ เป็นเพลงดังช่วง พ.ศ.  ๒๕๐๐ ต้น ๆ   ผมประทับใจเพลงนี้มาก จึงขอนำมาเล่าโดยละเอียด

          สาวงามในโตเกียว   เป็นเพลง ที่เลิศ ประสมทรัพย์  นำทำนองเพลงญี่ปุ่น มาใส่เนื้อไทย  โยเป็นผู้ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงเอง  ที่มาของเพลงคือ 

         “…  เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม  2497 เลิศ ประสมทรัพย์  ได้สมัครเป็นทหารอาสา เดินทางไปกล่อมขวัญทหารไทยในสงครามเกาหลี  กับคณะดนตรี  ที่มีครูธนิต ผลประเสริฐ เป็นหัวหน้า มีครูสมาน (ใหญ่) นภายน ซึ่งขณะนั้นรับราชการที่กองดุริยางค์ทหารบกก่อนจะโอนมาอยู่กรมประชาสัมพันธ์  ม ครูเล็ก ศรไชย  มือแซกโซโฟน เดินทางโดยเรือที่ ฟูจิกามารู เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2497 รอนแรมในทะเลประมาณ 10 วันก็ถึงประเทศเกาหลี คณะดนตรีชุดนี้ได้ ชื่อเสียงไว้ที่ประเทศเกาหลี  และที่ประเทศญี่ปุ่นมาก  

         สำหรับเลิศ ประสมทรัพย์ นั้นสร้างชื่อเสียงไว้มาก เพราะเล่นดนตรีได้ร้องเพลงได้ เล่นตลกได้อย่างดี การเดินทางไปเกาหลีและญี่ปุ่น ทำให้เลิศ ประสมทรัพย์ ได้ทำนองเพลงมาแต่งเป็นเพลงไทย เช่น เพลง ริมฝั่งน้ำแพงม้า อารีดัง สาวงามในโตเกียว (โอโต๊ะมิซัง) เลิศเป็นผู้แต่งคำร้องภาษาไทย  โดยใช้ทำนองของเกาหลี ญี่ปุ่น เพลงเหล่านี้ได้รับความนิยมมาก  

               ครูสมาน(ใหญ่)   นภายน หนึ่งในคณะของวงดนตรีที่เดินทางไปราชการสงครามที่ประเทศเกาหลี เล่าถึงเลิศ ประสมทรัพย์ว่า

            “…ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ก็ได้สมัครไปราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี ผลัดที่ 6 ในนามวงดนตรีพยัคฆ์น้อย เพื่อนๆ ที่ไปเกาหลีด้วยกันในวงดนตรี คือ ธนิต ผลประเสริฐ เป็นหัวหน้าวง สิบโทสมาน  (ใหญ่ นภายน) เล่นกีตาร์ สิบโทแสวง  ปานอำไพ เล่นกลอง  สิบตรีบันเทิง  ปัทมเวณุ เล่นแซ็ก…สิบตรีเลิศ ประสมทรัพย์ แอ๊ดคอเดียน ทั้งนี้อยู่ในหน่วยบำรุงความสุข ซึ่งมีร้อยเอกทวี  พานิช  เป็นผู้บังคับหน่วย..”

            “จากนั้นวงดนตรีของเราก็ถูกเชิญให้ไป บรรเลงในงานต่างๆ เช่น กองทัพเรือก็ไปบรรเลงที่ ซาเซโบ ทหารอากาศไทยที่มีหน่วยขึ้นตรงกับนางาซากิ และงานอื่นๆ อีกมายมายระหว่างที่อยู่ที่กรุงโตเกียว จากวันที่ 8 ตุลาคม  2497 จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2497

            “..หลังจากเลิศกลับจากสงคราม (เดือนมกราคม 2498 : ผู้เขียน) ณ ประเทศเกาหลี เขาก็กลับเข้ารับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์อีกครั้ง พร้อมกับนำเพลงที่เขาแต่งเนื้อร้องมาให้วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์บันทึกแผ่นเสียง เช่น เพลงโอโต๊ะมิซัง, ริมฝั่งแม่น้ำแพงม้า จนคนร้องตามกันได้ทั้งเมืองต่อมา…”

เพลงสาวงามในโตเกียว (โอโต๊ะมิซัง)

           อิจินะคึโรเมะอิมิกะชิโนมาซื อาตานะซื้อาตา

            โนงะนะงีงามี ชีดาฮัดซือตาโย  โอโต๊ะมิซัง อิคิเตอี  อะโต๊ะวะ

            โอชาเกชาเมเดโม๊ะ ชิดานุโฮโตเกโยโอโต๊ะมีซัง เอ่เอ ซาโอเกฮึมยาดานา

            ซืงิตามุกะชิโออามูจะนะอิงะ อาเตโมะซื้มิรุ ยะโอซิโนตาโอ

            ฮีซาซีบูรีดาโนโอโต๊ะมีซัง เอเอ ซาโอซืมะตาเรเม

                         โอ้เธอช่างงามกระไร  งามยิ่งหญิงใดที่ไหนมาเทียมเธอ

            วันคืนฉันเพ้อเพียงยลหน้าเธอคล้ายดวงจันทร์

            เนตรเธอคมวาวดุจจะน้าวโน้มใจพลัน

            ทุกครั้งพบเธอเป็นเพ้อครวญ รัญจวนฤทัยให้ป่วนปั่น

            ยามเธอพบฉันมีความสัมพันธ์ทุกนาที โอ้ตาเธอนี้มีมนต์ทวีให้ตามไป

                        เมื่อตาเรามาเจอกัน มีความสัมพันธ์กับฉันในดวงใจ

            ความจริงนั้นไซร้ดวงใจละเมอเพ้อรำพัน แต่เธอทำงอนพี่เฝ้าวอนทุกคืนวัน

            ง้อนักมักงอนทำค้อนเมิน ยามเดินฉันเดินเพลินตามพลัน

            ดวงใจฉันนั้นรำพันคำนึงถึงทรามวัย

                        โอ้ใจเธอเอ๋ยใจไยละเลยให้เรียนตรม

            เพลงโอโต๊ะมิซัง เป็นเพลงที่มีทำนองไพเราะ ใช้จังหวะเร็ว นักร้องต้องใช้ความสามารถเป็นอย่างยิ่งจึงจะร้องเพลงนี้ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับ เลิศ ประสมทรัพย์ เพลงโอโต๊ะมิซัง หรือ ภาคภาษาไทยคือ เพลงสาวงามในโตเกียว ได้พิสูจน์ให้ผู้ฟังเห็นแล้วว่า เลิศ ประสมทรัพย์ มีความสามารถทั้งการแต่งคำร้องให้กลมกลืนสอดคล้องกับทำนองเพลงได้อย่างงดงาม

            เพลงสาวงามในโตเกียวได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ ผมไม่เคยเห็นว่า มีนักร้องรุ่นหลังท่านใดนำเพลงนี้มาขับร้องบันทึกเสียงใหม่เหมือนกับเพลงอื่นๆ

            ในความเห็นของผม คงจะเป็นเพราะว่า เพลงนี้ร้องยาก ถ้านักร้องมีพลังเสียงไม่ถึงจริงๆ แล้วคงร้องเพลงนี้ให้ได้ไพเราะได้ยาก อีกประการหนึ่ง คือ ผู้ร้องต้นฉบับ คือ เลิศ ประสมทรัพย์ ขับร้องไว้ด้วยมาตรฐานที่สูงยิ่ง

          เพลงของเลิศ เลิศขับร้องด้วยความเป็นเลิศ

          จะมีใครขับร้องเพลงนี้ได้ดีเท่าเลิศ…ไม่มีอีกแล้ว

          เพลงสาวงามในโตเกียว ปรากฏในแผ่นเสียงของห้างแผ่นเสียง คาเธ่ย์ ตรงมงกุฎที่ผมมีอยู่ 2 แผ่นคือ

            แผ่นเสียงลองเพลย์ตรามงกุฎ ชุด “บัวขาว” หมายเลขแผ่น CRT 111 แผ่นนี้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น มีเพลงไพเราะจากเสียงขับร้องของ ชรินทร์ นันทนาคร  รวงทอง  ทองลั่นทม   สุเทพ  วงศ์กำแหง  ผ่องศรี   วรนุช  รวมทั้งเพลง  สาวงามในโตเกียว และ ซาโยนาระ ด้วย

            อีกแผ่นหนึ่ง เป็นแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว ชุด “รอยรักรอยเล็บ” หมายเลขแผ่น CTR. 55.1 หน้า 1 มีเพลง รอยรักรอยเล็บ และซ่อนรักรักซ้อน จากการขับร้องของ ชรินทร์  นันทนาคร  ส่วนหน้า 2 มีเพลง ซาโยนาระ-ลาก่อน ของ รวงทอง ทองลั่นทม และสาวงามในโตเกียว

          ทั้งสองเพลงภายหลังถูกนำมาจัดทำในรูปแบบของซีดี บันทึกประวัติศาสตร์แม่ไม้เพลงไทย ชุด “อารีดัง เสียงครวญจากเกาหลี” หมายเลขแผ่น CD 747 วันนี้ยังมีวางจำหน่ายอยู่ร้านซีดีทั่วไป


          เพลงโตเกียวผมชื่นชอบนอกจาก  สาวงามในโตเกียว  ก็ยังมีจาก เสียงของ  สุเทพ วงศ์กำแหง  นักร้องขวัญใจของคนไทย

          อาลัยโตเกียว  คิดถึงโตเกียว และโตเกียวเปลี่ยวใจ

          สุเทพ วงศ์กำแหง  มีความผูกพันและความหลังกับญี่ปุ่นและโตเกียวเป็นพิเศษ  ท่านเคยไปเรียนศิลปะที่ญี่ปุ่น

        หลังจากที่เกือบจะต้องมรสุมทางการเมือง จากการร่วมคณะไปเผยแพร่วัฒนธรรมที่จีนแผ่นดินใหญ่กับ คณะของ สุวัฒน์ วรดิลก  ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐  สุเทพ วงศ์กำแหง  ต้อง “หลบภัย”  ไปต่างประเทศ ดังนั้นการเดินทางไปศึกษาต่อจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

          สุเทพ วงศ์กำแหง  เล่าไว้ในหนังสือ “สุเทพ วงศ์กำแหง คอนเสิร์ต รอบโลกแห่งความรัก”  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗

2500 “เรียนศิลปะที่โตเกียว

          จากเหตุผลที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้น  ทำให้ผมต้องระเห็จไปเรียนต่อที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่น ณ วิทยาลัย “อุเอโน ไดงักกุ” หรือ “โตเกียวยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ  อาร์ต” เสีย 3 ปี

            โดยหลักฐานที่ผมมีติดตัวไป เป็นหลักฐานที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นแบบ “ถึงผู้เกี่ยวข้อง” และลงนามโดยรัฐมนตรีศึกษาธิการ (ซึ่งตอนนั้นเป็นใครไม่ทราบ) ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ผมเป็นนักเรียนพิเศษเท่านั้น และผมก็ไม่สามารถที่จะนำหลักฐานใดๆ จากมหาวิทยาลัยอุเอโน ไดงักกุ มาทำประโยชน์ในเมืองไทยได้เช่นกัน

            มีแต่ประสบการณ์ 3 ปี ที่อยู่อย่างทุกข์ทรมานเพราะขาดเงิน “เงิน” เป็นส่วนใหญ่ ชีวิตที่อยู่ได้ก็ด้วยการเรียนภาษาญี่ปุ่นเสีย 1 ปี กับการเป็นหนี้สินทั้งสถานทูตและเพื่อนฝูงที่หลายคนก็เห็นใจให้หยิบยืมพออยู่ได้และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ รับจ้างออกแบบ ให้ท่านทูตการค้าไทยท่านหนึ่ง ซึ่งจะต้องสร้างร้านใหญ่ (บูธ) ในเกียวโต และร้านไทยร้านนี้จะโชว์สินค้าไทยหลายอย่างที่เป็นสินค้าออกไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางน้ำตาล และพันธุ์พืชต่างๆ ของไทยทั้งสิ้น ทำให้มีเงินก้อนหนึ่งพอเลียงชีพตนเองและเพื่อนบางคนอย่าง “วิช วัชรา” (นสพ. ไทยรัฐ ปัจจุบัน) หรือคุณกลาง สัมมาพันธ์ ได้ขณะหนึ่ง

            ช่วงเวลาที่เหลือก็ได้เดินทางไปทัศนาจรกับ “สมาคมอาเซียโตโมโนะไก” ไปเหนือสุดและใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้ความรู้บางอย่างที่ไม่เคยรู้และได้เรียนบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยเรียนในเมืองไทยรวมทั้งไปถึงการตั้งหน้าตั้งตาศึกษาวิธีการขับร้องของนักร้องญี่ปุ่นที่ดีๆ ชั้นเยี่ยมของญี่ปุ่น เช่น นักร้องชาย “แฟรงค์ นางาย” หรือ “เป๊กกี้ ฮายาม่า” เป็นนักร้องสาวเสียงดีและสวย ทั้งสองท่านมีผลงานแผ่นเสียงขายดีที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นในขณะนั้น

            โดยเหตุผลเช่นนี้เอง ทำให้ผมคิดจะทำแผ่นเสียงแล้วส่งมาขายเมืองไทย จึงติดต่อผู้ที่ผมเคารพเพราะให้เพลงดีๆ ผมร้องมากมายล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ผมทั้งนั้น คือ ครูสมาน  กาญจนะผลิน ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์  ครูไศล  ไกรเลิศ และขอเพลงของท่าน ท่านละ 2 เพลง มาทำเป็นแผ่นเสียงร้องทั้งเนื้อไทยและเนื้อญี่ปุ่น ผ่านมาทางบริษัท กมล สุโกศล เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทย

            แต่เป็นที่น่าเสียดาย บริษัท กมล สุโกศล บอกปัดงานชิ้นนี้ออกไปอย่างไม่มีเยื่อใย โดยอ้างว่าบริษัทกำลังตั้งโรงงานผลิตแผ่นเสียงในเมืองไทยอยู่แล้ว จึงไม่มีโครงการจะรับเพลงจากใครมาจำหน่ายทั้งสิ้น

            หากมีการรับจำหน่ายรแผ่นเสียงจากญี่ปุ่นที่ผมทำเป็นจริงดังที่ผมคาดหวังไว้ ป่านนี้ผลงานที่ผมทำร่วมกับบริษัท “โตชิบา” ก็น่าจะเป็นผลงานที่ก้าวหน้าและอาจมีผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้ก็เป็นได้

            จึงน่าเสียดายที่กาลเวลามันผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งมันควรจะมีแนวทางที่งดงามและความสัมพันธ์ระหว่างผมกับบริษัทแผ่นเสียงญี่ปุ่นคงจะสดใส เจริญงอกงามมาเนิ่นนานแล้วก็ได้

            ก็นับว่าไปญี่ปุ่นทั้งที่ ผมก็ได้ประสบการณ์ “ชีวิต” มามากมายทีเดียว

            พร้อมกับการเป็นหนี้บุญคุณ “การบินไทย” ที่ให้ตั๋วเครื่องบินขากลับมาด้วย

            จนได้กลับมาสร้างชื่อเสียงจากการร้องเพลงขึ้นมาใหม่อีกครั้ง…”

         เมื่อกลับจากญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓   สุเทพ วงศ์กำแหง  ได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงดังที่คนไทยที่รักชาติ รักแผ่นดิน ต่างซาบซึ้ง ก็คือ   เพลง “บ้านเรา”  ที่ครูชาลี อินทรวิจิตร  กลั่นกรองความรู้สึกของคนที่ “ได้กลับมาบ้าน”  หลังจากไปอยู่แดนไกลออกมาได้อย่างไพเราะกินใจ  จากทำนองของ ครู สมาน กาญจนะผลิน

                              บ้านเรา แสนสุขใจ    แม้นจะอยู่ที่ไหน ไม่มีสุขใจดังบ้านเรา

                      คำว่าไทย ซึ่งใจมิใช่ทาสเขา   ด้วยพระบารมีล้นเกล้า คุ้มเราร่มเย็นสุขสันต์…

                              … บุญนำพา กลับมาถึงถิ่น ทรุดกายลงจูบดิน ไม่ถวิลอายใคร

                หัวใจฉันใครรับฝากเอาไว้  จากกันแสนไกล ยังเก็บไว้หรือเปล่า…

         พร้อม ๆ กับเพลงดังอย่าง เกิดมาอาภัพ  เอื้อยโรย รักคุณออกอย่างนี้  น้ำตาลใกล้มด เธออยู่ไหน พ่อแง่แม่งอน ใจพี่ เย้ยฟ้าท้าดิน  เกิดมาอาภัพ  และเพลง  อาลัยโตเกียว

        เพลงอาลัยโตเกียว เป็นเพลงที่ สุเทพ วงศ์กำแหง  ถ่ายถอดความรู้สึก อาลัยโตเกียว  ได้อย่างไพเราะ 8สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์  ตั้งใจแต่งเพลงนี้ให้ สุเทพ วงศ์กำแหง  จากทำนองของครู สมาน กาญจนะผลิน เพลงอาลัยโตเกียว อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ ของบริษัทกมลสุโกศล  ชุด  “อาลัยโตเกียว”  หมายเลขแผ่น   33 ESX–554  ปกเป็นภาพวาด สุเทพ วงศ์กำหง ประกอบสาวญี่ปุ่นในชุดกิโมโน  แผ่นเสียงชุดนี้บันทึกเสียงประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๕  ปัจจุบัน แม่ไม้เพลงนำมาจัดทำซีดีอยู่ในชุด “จะคอยขวัญใจ” หมายเลขแผ่น ๑๕๙ 

                                จากโตเกียวมาไกล   ฉันยังห่วงอาลัย สุดหมองไหม้วิโยคอกตรม

                      โตเกียวเอยข้าขื่นขม                       ร้าวทรวงระทมทุกคราเหลือข่มอาลัย

                                 กรุ่นอยู่ในภวังค์ล้วนแต่เป็นภาพฝัง     ลึกอยู่กลางหว่างดวงใจ

                      ยืนหรือเดินนั่งนอนเหลืออาวรณ์ในฤทัย        เหมือนเตือนให้ห่วงใยกัน

                                 แดนอาทิตย์อุทัย                มีทุกสิ่งตรึงใจ พาฉันให้ตรมเศร้าจาบัลย์

                      มีความรักสุดฉ่ำหวาน                    หวานเกินน้ำตาล ซึ้งทรวงซาบซ่านอุรา

                                  ในความรักดื่มด่ำ  แฝงด้วยความชอกช้ำ แสนระกำสุดคณา

                      อันน้ำตาลหวานล้ำเคล้าระคนปนน้ำตา           เหมือนคอยเตือนว่าอย่าลืม

          ในระยะเวลาใกล้ ๆ กัน  ศักดิ์ เกิดศิริ ก็แต่งเพลง  คิดถึงโตเกียว  ให้  สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงกับห้างคาเธ่ย์ตรามงกุฎ ชุด “ฝากฟ้าฝากดิน คุณรักหรือหลอก”  หมายเลขแผ่น C.T.R. 208 ปกเป็นภาพสุเทพ วงศ์กำแหง เต็มตัวยืนล้วงกระเป๋ามีสูทพาดอยู่  แผ่นเสียงแผ่นนี้เป็นการรวมเพลงไพเราะ จากเสียงของ  สุเทพ วงศ์กำแหง  ทนงศักดิ์ ภักดีเทวาและธานินทร์ อินทรเทพ          

                               เฝ้าคำนึงคิดถึงโตเกียว                  เพียงครั้งเดียวที่ได้ไป

                       สาวโตเกียวช่างสวยตรึงใจ         พาให้จิตผูกพัน

                              ซากุระแห่งแคว้นแดนอาทิตย์อุทัย งามวิไลพราวเพริศเฉิดฉันท์

                       สวยสง่าวาจาอ่อนหวาน                        พาหัวใจสราญเมื่ออยู่ใกล้เธอ

                               เฝ้าคำนึงถึงสาวโตเกียว                เพียงครั้งเดียวที่ได้เจอ

                        สาวโตเกียวพาฝันละเมอ          รักเธอมั่นอุรา

                               แดนอาทิตย์อุทัยพาหัวใจชื่นฉ่ำ    ใจระกำเมื่อต้องจากมา

                        สาวโตเกียวเหนี่ยวใจเสน่หา                  จนสูญสิ้นชีวา  ไม่ลืมโตเกียว

         เพลงคิดถึง โตเกียว  อยู่ในซีดี แม่ไม้เพลงไทย  ชุด  “ดอกแก้ว” หมายเลขแผ่น  ๕๑๖

          เพลง โตเกียวเปลี่ยวใจ  ก็เป็นเพลงหนึ่งที่สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องไว้

                      เปลี่ยวใจใครเล่าเฝ้ารำพึงรำพันฝันหา   เสียงเธอนั้นร้องไห้คล้ายคนซับน้ำตา

              ร่ำเรียกหาคนมาปลอบใจ  อยู่ที่ไหน  ไยจึงไม่มา

                       อยู่ไหน กันเล่า ไม่มีเงาเธอวนเวียนมา ฉันยังรักเธออยู่ รู้ใจไหมแก้วตา

             โอ้เธอจ๋าไยจึงแกล้งงำ  ปล่อยให้ฉันทำเป็นแกล้งลืม

                       ก่อนเราชื่นเชยผูกพันได้ชมเชียว   เพียงครั้งใดไยเธอก็ทิ้งวาจา  ปรารถนาว่าจะร่วมกัน

            โอ้จอมขวัญไม่น่าจะลืม

                       ห่างไกลกัน ไม่ทันก็จะถึงแรมปี ไยไม่มีความจริงให้ถึงแรมเดือน

            น้ำตาช้ำคอยเตือน เปรียบเสมือนใจจะขาดรอน  จิตสะท้อนเฝ้าคอยแต่เธอ

                 โตเกียวเปลี่ยวใจ  ใช้ทำนองเพลงญี่ปุ่น   “ TOKYO TWILIGHT”  ผมไม่ทราบชื่อผู้แต่ง  อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ ตราวีนัส ชุด “คะนึงฝัน โตเกียวเปลี่ยวใจ” ผลิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘  ผมไม่มีข้อมูลการนำมาทำเป็นแผ่นซีดี

                 ที่กล่าวมาเป็นเพลงไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโตเกียว อาจจะมีอีกหลายเพลงที่ผมยังหาไม่พบ  จึงขอนำมาบันทึกไว้


๑๕  พฤษภาคม ๒๕๖๐

Exit mobile version