What HI-FI? Thailand

คุยด้วยเพลง สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องเพาะช่าง (2)

พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี

            มีนักเรียนรุ่นพี่อยู่คนนึ่งชื่อ อมร ภูมิรัตน์ ชอบแต่งเพลงมาก แต่งออกมาแล้วพวกนักเรียนนิยมเอามาร้องกันเกร่อ เช่นเพลง “ดวงใจ” ที่ผมเอามาร้องใหม่แบบประสานเสียงที่คุณได้ฟังกันอยู่ในขณะนี้ในแผ่นสุเทพโชว์และเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลงที่ผมยังจำไม่ได้ก็ยังมีอีกเยอะแยะ

            เมื่อโรงเรียนมีวงดนตรีขึ้นมา นักร้องก็เป็นนักเรียนของโรงเรียนเพาะช่างนั้นแหละ ส่วนผมน่ะอยากจะร้องด้วยใจแทบขาด เคยเลียบเคียงเข้าไปสมัครร้องด้วยก็ไม่มีใครเขารับผมเอาไว้เลย บอกให้รอไปก่อนอยู่เรื่อยๆ

            จนกระทั่งต่อมา โรงเรียนมีงานปิดภาคเรียนนักเรียนรุ่นพี่ๆ เขาเสนอให้มีการแสดงละครของนักเรียนกันขึ้น และมีการเล่นดนตรีสลับกับละครในห้องโถงของนักเรียนช่างไม้ซึ่งเป็นห้องกว้างขวางพอที่จะเล่นหรือจัดเป็นเวทีได้อย่างสบายๆ

            ผมก็นึกว่าคราวนี้ละ ผมคงได้ร้องแน่นอน อุตส่าห์ขอยืมกางเกงขายาวของพี่ชายเอาไว้ซักรีดแขวนไว้เป็นดิบดี เสื้อเชิ้ตขาวก็ซื้อมาใหม่เอี่ยม เนคไทก็เที่ยวไปขอยืมเพื่อนๆ เตรียมตัวไว้เต็มที่

            พอถึงวันงาน ผมแต่งตัวคอยตั้งแต่บ่าย ผูกเนคไทก็ยังไม่เป็นต้องให้เชิงเทียรผูกให้ เดินไปเดินมาช่วยงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเลยจนถึงค่ำข้าวปลาไม่กล้ากินมาก เพราะกลัวว่าจะอิ่มเกินไป เดี๋ยวร้องไม่ออก

            เพื่อนๆ บอกให้นั่งคอยอยู่ที่หลังเวที จะได้ยินเวลาโฆษกเขาประกาศชื่อ ผมก็นั่งคอยใจเต้นตุ๋มๆ ต้อมๆ

            นั่งคอยไปใจก็นึกถึงนักเรียนสาวๆ ที่ผมคุยเอาไว้ว่า ผมจะร้องเพลงในงานโรงเรียนคืนนี้ให้มาคอยเชียร์ผมด้วย

            ยิ่งนึกไปถึงว่า หากผมได้ร้องเพลงจนเป็นดาราของโรงเรียนเหมือนอย่างรุ่นพี่ๆ เขาละก้อผมคงได้เปลี่ยนสาวๆ ควงไม่ซ้ำหน้าแน่ ไอ้เพื่อนสองคนมันคงอิจฉาผมเด็ดขาด นึกไปกระหยิ่มใจไป

            เวลาล่วงไป การแสดงก็ผ่านไปหลายชุด ผมชักกระสับกระส่ายที่ยังไม่เห็นมีใครประกาศชื่อผมสักทีผมเลยขึ้นไปถามฝ่ายควบคุมรายการว่า เมื่อไหร่จะถึงตาของผมบ้าง เขาก็บอกว่ายังไม่ถึงคิวผม ให้รอไปก่อน

            ผมก็กลับมาลงนั่งคอยอีก รอแล้วรออีกจนกระทั่งจวนเลิกก็ยังไม่มีเสียงประกาศชื่อผมอยู่ดี ผมชักหงุดหงิดเต็มที่ พอจะขึ้นไปถามก็ได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี

            ผมค่อยๆ หลบคนที่กำลังทยอยออกจากห้องโถงการแสดง อยากจะทำตัวให้ลีบเล็กลงเท่าที่จะทำได้ แจวอ้าวมาจนถึงหน้าโรงเรียนคอยรถเมล์กลับบ้าน

            เสียงเจี๊ยวจ๊าวของกลุ่มผู้หญิงใกล้เข้ามาตรงที่ผมยืนอยู่ จนหลบก็หลบไม่ทัน พวกที่ผมไปคุยเอาไว้นั่นเอง พอเจอหน้าพวกนั้นก็ใส่ผมฉอดๆ ว่าหลอกให้คอยดูแล้วก็ไม่ร้องตามที่พูด

            ผมตอบไม่ออก

            เวรกรรมแต่ครั้งนั้นกระมังจึงทำให้ผมต้องมาร้องเพลงในบัดนี้อย่างไม่หยุดปาก ทั้งเช้า สาย บ่าย ค่ำ ดึก ไม่ร้านอาหารก็ไนต์คลับ หรือเวทีภาพยนตร์หรืองานต่างจังหวัด พอว่างก็เข้าห้องอัดเสียง ซึ่งหมอดูก็ไม่เคยทายไว้…”

          ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่ สุเทพ วงศ์กำแหง  เฉือนออกมาจนหมดหัวใจ ละเฉือนออกมาจากใจ ซึ่งเป็นความทรงจำและความประทับจที่มีต่อโรงเรียนของเขาที่ชื่อว่า  “เพาะช่าง”

          ผู้ที่ใช้นามว่า “กมลทัศน์”  ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็น “กมล ทัศนาญชลี  ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ สาขาทัศนศิลป์ เขียนถึง สุเทพ วงศ์กำแหง ไว้ในหนังสือ “สุเทพโชว์ คอนเสิร์ต รอบโลกแห่งความรัก” สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ 

สุเทพ  วงศ์กำแหง ศิลปินเพาะช่างรุ่นหลังคาจาก”

            ในยุคสงครามโลกครั้งที่  2  โรงเรียนเพาะช่างยังคงดำเนินการเรียนการสอนเป็นปรกติ  ถึงแม้ว่าอาคารเรียนศิลปินจะถูกทำลายถล่มพินาศลงไปแล้วก็ตาม  แต่ก็ได้สร้างอาคารหลังคาจากขึ้นมาใช้แทนชั่วคราว

อาคารเก่าโรงเรียนเพาะช่าง (ปัจจุบันถูกระเบิดทำลายไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง)

อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าถนนตรีเพชร  และไปสุดที่รั้วของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  ได้ทำการแบ่งกั้นเป็นห้องเรียน  ปีที่  ๑  ปีที่  ๒  และปีที่  ๓  ได้มีครูผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนั้นสอนศิลปะวิชาต่างๆ  อาทิ  ครูแนบ  บังคม, ครูจิตร  บัวบุศย์  (ศาสตราจารย์ราชบัณฑิต),  ครูเฉลิม  นาคีรักษ์  (ศิลปินแห่งชาติ  ๒๕๓๑), ครูทวี  นันทขว้าง  (ศิลปินแห่งชาติ  ๒๕๓๓), ครูใหญ่  น้ำทิพย์, ครูนิโร  โยโกต้า  กับครูไว  ซาเซ (จากประเทศญี่ปุ่น),  ครูกัณฑ์  ศรลพ, ครูบัว   เมตตาจิตร    ครูแสวง  ประพันธ์  เป็นต้น

ในปี  พ.ศ.๒๔๘๐ ได้มี  เด็กชายสุเทพ  วงศ์กำแหง  ซึ่งเป็นนักเรียนจากโคราช  จังหวัดนครราชสีมา  สอบเข้าเรียนได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๑๕ ปี  จึงเป็นนักเรียนที่อายุน้อยที่สุดในรุ่น  มีเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เป็นที่รู้จักกันในรุ่น  คือ  ประหยัด  พงษ์ดำ  (ศาสตราจารย์และศิลปินแห่งชาติ  ๒๕๔๑)  และศักดา  ประจุศิลป (พันเอก)  เลขาธิการสมาคมเพาะช่างสองสมัย

เด็กชายสุเทพ  เป็นนักเรียนคนโปรดของครูทวี  นันทขว้าง  ในช่วงที่ครูทวี  สำเร็จการศึกษาทางด้านศิลปะมาจากกรุงโรม  ประเทศอิตาลี  และได้มาสอนที่โรงเรียนเพาะช่าง  โดยเด็กชายสุเทพ  วงศ์กำแหง  สามารถเขียนดอกไม้ทำคะแนนได้เต็ม  ๑๐๐ + ๑๐  จึงเป็นที่รักของครูทวี  นันทขว้าง  เรื่อยมา  จนกระทั่งภายหลังที่ครูทวีได้เลิกกับนักประพันธ์ชื่อดัง  สุวรรณี  สุคนธา  และได้แต่งงานอีกครั้ง  จึงได้เชิญ  ดร.  สุเทพ วงศ์กำแหง  ศิลปินแห่งชาติ  ๒๕๓๓  เป็นประธานจัดงานแต่งงานให้

ในยุครุ่นหลังคาจาก  การเรียนการสอนศิลปะนอกจากทำการสอนในอาคารแล้ว  ยังได้ให้นักเรียนเขียนรูปนอกสถานที่แถวคลองหลอด  แม่น้ำเจ้าพระยา  ท่าเตียน  วัดโพธิ์, วัดสุทัศน์,  วัดอรุณ  ประตูวัดต่าง ๆ  งานแกะสลักประติมากรรมจีนที่อยู่ตามวัดวาอาราม

การเขียนภาพส่วนใหญ่ใช้สีน้ำเป็นสื่อแสดงออก  แต่ยังไม่มีการเขียนภาพทะเลในยุคนั้นเนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก  การจะไปเขียนรูปที่อ่างศิลาจังหวัดชลบุรีไปได้ยาก  เพราะไปทางรถไม่ถึง  ต้องข้ามเรือไปต่อที่แม่น้ำบางปะกง  เพราะสมัยนั้นยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำ  การเรียนการสอนจึงอยู่ในกรุงเทพฯ  เป็นส่วนใหญ่  และเนื่องจากในเวลานั้นมีวัวของแขกพาหุรัดเข้ามากินหญ้าในสนามหน้าโรงงเรียนเพาะช่างแทบทุกวันทำให้สะดวกสบายในการเขียนภาพสัตว์อย่างมาก  โดยไม่ต้องเดินทางไปเขียนที่สวนสัตว์

ครูเฉลิม นาคีรักษ์

ครูเฉลิม  นาคีรักษ์  และครูนิโร  โยโกต้า  ถือได้ว่าเป็นครูคนสำคัญ  ครูเฉลิมสอนกายวิภาคและการเขียนสีน้ำ  ถนัดในเรื่องของการใช้ฝีแปรง  เทคนิคการปาดพู่กันฉับพลัน  ส่วนครูนิโร  โยโกต้า  สอนการเขียนในลักษณะลายเส้นปากกา  ถนัดในเรื่องตลาดน้ำจึงทำให้เด็กชายสุเทพ  วงศ์กำแหง  ได้เรียนรู้เทคนิคที่สำคัญจากครูทั้งสองท่านประกอบกับครูทวี  นันทขว้าง  ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ให้หลักการเขียนภาพและแนวทางต่างๆ  เป็นอย่างดีอีกด้วย

สุเทพ  วงศ์กำแหง  จึงมีความประทับใจและความผูกพันกับโรงเรียนเพาะช่างเป็นอย่างมาก  ความทรงจำจิตใต้สำนึก “เลือดแดงดำ” ของเพาะช่างมีอยู่ในตัวอย่างแรงกล้า  จึงได้นำความรู้ที่ได้มาไปประกอบอาชีพเป็นช่างเขียน  ทำบล็อก  ด้วยฝีมือการเขียนด้วยลายเส้นที่แม่นยำสวยงาม  จึงทำให้ครูไศล  ไกรเลิศ  นักแต่งเพลงรุ่นบรมครูของวงการเพลงไทยสากล  มอบความไว้วางใจให้สุเทพ  วงศ์กำแหง  เป็นผู้คัดลอกเขียนแบบโน้ตเพลงที่ครูไศล  ไกรเลิศ  เป็นผู้แต่งเรื่อยมา  อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สุเทพ  วงศ์กำแหง  ได้เข้าไปอยู่ในวงการเพลงไทยสากล

และต่อมาไม่นานนัก  ครูสง่า  อารัมภีร  (ศิลปินแห่งชาติ  ๒๕๓๑)  และครูสมาน  กาญจนะผลิน  (ศิลปินแห่งชาติ  ๒๕๓๑) ได้มอบเพลงที่ได้แต่งไว้คนละสองเพลงในปี  ๒๔๙๖  ให้สุเทพ  วงศ์กำแหงร้องเป็นครั้งแรกก่อนแสดงละครที่ศาลาเฉลิมไทย  “เรื่องพันท้ายนรสิงห์”  ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล  ละครเรื่องนี้นำแสดงโดย  ชูชัย  พระขรรค์ชัย  (นักมวยไทยรุ่นบรมครู)  แสดงคู่กับนางเอก  สุพรรณ  บูรณพิมพ์

จากการที่ได้มีโอกาสร้องเพลงก่อนแสดงละครนี้เองทำให้สุเทพ  วงศ์กำแหง  ได้แจ้งเกิดเป็นศิลปินนักร้องตั้งแต่นั้นมา  และใช้ชีวิตเป็นนักร้องอาชีพประสพความสำเร็จในชีวิตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการเป็นนักร้องแล้ว  สุเทพ  วงศ์กำแหง  ยังได้แสดงภาพยนตร์

เรื่องแรกคือ  “วิมานรัก” บทประพันธ์ของ  “อิงอร”  (ศักดิ์เกษม หุตาคม)  โดยมีภริยาของอิงอร  เป็นดารานำแสดงฝ่ายหญิง  ภาพยนตร์เรื่องต่อมาคือ “สวรรค์มืด”  รับบทดารานำฝ่ายชาย  และร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ด้วย

ในปี  ๒๔๙๗  ได้เล่นละครเพลงเรื่อง  “มนต์รัก – นวลจันทร์”  ที่โรงละครศรีอยุธยา  บทประพันธ์โดย  สุวัฒน์วรดิลก(ศิลปินแห่งชาติ  ๒๕๓๔)  ขับร้องคู่กับ  เพ็ญศรี  พุ่มชุศรี  (ศิลปินแห่งชาติ  ๒๕๓๔)  เนื้อร้องประพันธ์โดย  “ทวีปวร”  และสง่า  อารัมภีร  แต่งทำนองโดย  ครูเอื้อ  สุนทรสนาน  จุดเด่นของละครเรื่องนี้คือ  การร้องลำนำเพลงโดยกล่าวเป็น  “กลอน”  ก่อนการร้องเพลงซึ่งถือเป็นบทเพลงและบทกลอนที่มีความยาวที่สุด  จำเป็นต้องจำบทกลอนและเนื้อเพลงให้ได้โดยไม่มีการบอกบทจนกระทั่งร้องเพลงเสร็จ  ในการแสดงรอบแรกนี้ได้รับพรพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  เสด็จทอดพระเนตรในรอบปฐมทัศน์  พร้อมกับ  ม.ร.ว.  บุษบา  กิติยากร  พระขนิษฐา

สุเทพ  วงศ์กำแหง  เป็นศิลปินที่ประสพความสำเร็จอย่างสูงในชีวิตการเป็นนักร้องที่ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงมาแล้วประมาณ  ๕  พันเพลงซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมเพลงทั้งหมดอัดลงแผ่น  CD  ได้กว่า  ๓  พันเพลงแล้ว

ในอนาคตข้างหน้าตั้งใจไว้ว่าเมื่ออายุเกิน  ๗๐  ปีขึ้นไปก็จะอำลาวงการเพลงและหันมาเอาจริงเอาจังกับการเขียนภาพสีน้ำที่ตนรักมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนรุ่นหลังคาจาก  ของโรงเรียนเพาะช่าง

ขณะนี้  ดร.  สุเทพ  วงศ์กำแหง  ได้เดินทางมาพักผ่อนและร้องเพลงให้ความสุขกับพี่น้องชาวไทยใน  แอล.เอ.  ที่ห้องอาหารกัปตัน  และที่ศูนย์อาหารไทยแลนด์  พลาซ่า  ในช่วงสั้น ๆ และได้ใช้เวลาในการเดินทางมาครั้งนี้ไปกับการ  “ออกเขียนภาพสีน้ำ”  ตามสถานที่ต่าง ๆ  ทั้งในและนอกเมือง  แอล.เอ.  โดยเป็นแขกรับเชิญของคุณ  ส.ท่าเกษม  หรือคุณพิสุทธิอาภรณ์  พึ่งบุญ  ณ  อยุธยา  ตลอดเวลาหนึ่งเดือนเต็ม

ดร. สุเทพ  วงศ์กำแหง  ได้ฟื้นการเขียนรูปสีน้ำที่อเมริกาตรงกับช่วงฤดูใบไม้ร่วง  ใบไม้กำลังเปลี่ยนสีสวยงาม  สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกในบรรยากาศที่ได้พบเห็นในการมาครั้งนี้สร้างงานได้มากกว่าสิบชิ้นแล้วและเมื่อรวบรวมผลงานได้มากพอก็มีโครงการที่จะนำเอาออกแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมต่อไป

ดร.  สุเทพ  วงศ์กำแหง  เป็นศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดงขับร้องเพลงไทยสากล  และอดีต  สส.  ๒  สมัย  แน่วแน่  เป็นผู้ที่ผูกพันและรักสถาบัน  ขณะที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่นั้น  ได้หาทางของบประมาณการสร้างเป็นศิษย์เก่าเพาะช่างคนสำคัญและโดดเด่น  ได้ทำคุณประโยชน์รับใช้สังคมและประเทศชาติเป็นนักการเมืองที่ดีมีอุดมการณ์ปรัชญาอาคารเรียน ๗ ชั้นได้สำเร็จคือ  “อาคารจุฑาธุช”  ที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้

ปัจจุบันเพาะช่าง  รุ่นหลังคาจาก ๒๔๙๐ ยังคงเกาะกลุ่มรวมตัวพบปะสังสรรค์กันทุกๆ ๓  เดือนในกรุงเทพฯ  อย่างเหนียวแน่นถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานและสมาชิกหลายคนในรุ่นได้ตายจากกันไปหลายคนแล้ว

แต่ความทรงจำเก่า ๆ สมัยเคยเรียนด้วยกันมา  “ภายใต้หลังคาจาก”  ยังเป็นความประทับใจที่ยากจะลืมเลือนได้..”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

Exit mobile version