ควรเดินสายไฟแยกสำหรับเข้าชุดเครื่องเสียง พร้อมเหตุผลและการทดลองที่ทำได้ง่ายๆ

0

ช.ชิดชล

     บทความนี้จะมาบอกว่า ทำไมควรเดินสายไฟแยกสำหรับชุดเครื่องเสียงโดยเฉพาะ เพราะสาเหตุอะไร แล้วจะได้อะไรจากการทำแบบนั้น หากไม่ทำแบบนั้น หรือเดินสายไฟเข้าชุดเครื่องเสียง ร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ จะเป็นอย่างไร ส่งผลต่อเสียงอย่างไร และมีวิธีทดลองอย่างไร โดยในเบื้องต้นบอกก่อนครับว่า เครื่องเสียงนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ใช้ศิลปะเป็นศาสตร์ในการลองฟัง เพื่อให้เข้าถึงความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ บทความนี้ปราศจากหลักการทางวิศวะกรรมไฟฟ้าอ้างอิง แต่บอกเล่าจากประสบการณ์ในการเล่นเครื่อง ทดลองทำและฟังความแตกต่างทางเสียงที่ได้ครับ

     เดินสายไฟจากสะพานไฟหลักในบ้านแยกเป็นเส้นอิสระมาสำหรับใช้กับชุดเครื่องเสียง โดยไม่ต้องพ่วงกับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นใดภายในบ้าน แม้กระทั้งหลอดไฟ และควรมีปลั๊กเต้ารับ สำหรับพอดีหรือเกินได้นิดหน่อย จะใช้สายออดิโอเกรด ที่ออกแบบมาสำหรับการเดินสายไฟแบบนี้โดยเฉพาะ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี หรือจะใช้สายธรรมดาที่ได้มาตรฐานก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้

เพราะสาเหตุอะไร

     การเดินสายไฟมาเช่นนี้ ก็เพื่อให้ชุดเครื่องเสียงไม่ถูกรบกวนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งเรื่องการจ่ายกระแสให้เพียงพอ ไม่รบกวนกันในเรื่องของระบบกราวด์ หรือไม่รบกวนในด้านการทำงาน อีกทั้งหากใช้สายไฟที่มีคุณภาพดีหรือระดับออดิโอเกรด จะช่วยเป็นตัวกรองสัญญาณรบกวนได้ระดับหนึ่ง แถมยังได้ค่าความเก็บประจุภายในสายมาช่วยสำรองกระแสไฟแม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม ที่สำคัญ วัสดุที่ใช้ผลิตตัวนำภายในสายนั้น สามารถปรุงแต่งเสียงให้กับชุดเครื่องเสียงได้ รวมถึงปลั๊กที่ใช้ด้วย

     ในเรื่องการจ่ายกระแสให้เพียงพอนั้น หากมีสายไฟแยกออกมาเฉพาะ เราสามารถเลือกทั้งขนาดและคุณภาพตัวนำได้ ซึ่งจะทำให้ชุดเครื่องเสียงได้ไฟที่เต็มอิ่ม ไม่โดนอุปกรณ์อื่นดึงกระแสไฟ(ในกรณีที่สายไฟเส้นเล็กเกินไป) การแยกแบบนี้แม้สุดท้ายจะมารวมกันที่สะพานไฟ แต่ก็ทำให้มีระยะห่างออกไป อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำงานอยู่ภายในบ้านนั้น ก็ไม่รบกวนกับชุดเครื่องเสียง หรือมีโอกาสรบกวนแต่ก็จะถูกทิ้งกราวด์ไปก่อนที่ตำแหน่งสะพานไฟ(ระบบกราวด์ต้องต่อถูกต้องและมีคุณภาพดี) หากใช้สายไฟออดิโอเกรด ที่บางเส้นมีการใช้ตัวนำคุณภาพดี มีการถักไขว์ตัวนำ มีชิลด์ป้องกันการรบกวน ก็จะยิ่งส่งผลให้คลื่นรบกวนไม่เข้าไปหาชุดเครื่องเสียง แน่นอนว่า สายทุกเส้น เมื่อมีความยาวถึงระดับหนึ่ง มักมีค่าความต้านทานภายในสาย ค่าการเก็บประจุภายในสาย นอกจากนั้น ปลั๊กที่ใช้ เต้ารับที่ใช้ สามารถเปลี่ยนคุณภาพในระดับออดิโอเกรด เพื่อเพิ่มคุณภาพชุดเครื่องเสียง หรือเพื่อการปรุงแต่งเสียงได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องจูนเสียงได้ทั้งสิ้น  

แล้วจะได้อะไรจากการทำแบบนั้น

     ผลที่ได้ก็เหมือนกับต่อสายลำโพงแบบซิงเกิ้งไวร์ แล้วก็แยกไปต่อแบบไบไวร์ครับ น้ำหนักเสียงดีขึ้น ช่องว่างช่องไฟเว้นวรรคมีความสงัดมากขึ้น เสียงนิ่งขึ้น รายละเอียดเล็กน้อยมีความอ่อนแกเด่นชัดขึ้นมา เสียงดังและเสียงแผ่วแยกกันอย่างชัดเจนมากขึ้น แรงปะทะ เรี่ยวแรงดีขึ้น เสียงมีความกว้างและลึกเป็นสามมิติมากขึ้น ฟังเพลงได้ความไพเราะและกินใจมากขึ้น รวมถึงเสียงที่ไม่เคยได้ยิน จะได้ยิน หรือเสียงที่แยกแยะไม่ออก ก็จะฟังได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

หากไม่แยกจะเป็นอย่างไรต่อเสียง

     ก็เหมือนกับการต่อสายลำโพงจากไบไวร์แล้วกลับไปต่อแบบ ซิงเกิ้ลไวร์ครับ แรกๆจะฟังได้ว่ามีความต่อเนื่อง กลมกลืม ลื่นไหล สมดุลเสียงดี แต่พอฟังนานๆไป จะรับรู้ได้ว่า ความต่อเนื่องนั้นขาดรายละเอียดไป ขาดความอ่อนแก่ เสียงเรียบๆไร้น้ำหนัก ความกลมกลืนมันคือการที่โน้ตเสียงกระจุกตัวไม่แผ่กระจาย ความลื่นไหลมันคือช่องว่างช่องไฟไม่มีการเว้นวรรค โน้ตเสียงชิดติดกัน สมดุลเสียงดีความจริงคือเสียงขาดไดนามิค ขาดการแสดงในด้านคอนทราสต์ดังเบา เสียงมีคลื่นรบกวนผสมอยู่ ทำให้ฟังว่ามีเนื้อเสียง แต่จริงๆขาดความสะอาดและขาดความใส  

วิธีทดลอง

     การทดลองว่า เสียงจะต่างกันอย่างไรนั้น ทำได้ 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรกก็ลองต่อสายลำโพงแบบไบไวร์และซิงเกิ้ลไวร์สลับกันแล้วลองฟังเสียง พอเทียบเคียงได้ พอให้ได้เสียงไปในแนวทางเดียวกันกับการต่อสายไฟแยกมาอีกชุดจากสะพานไฟสำหรับชุดเครื่องเสียง อีกรูปแบบคือ ลองเอาปลั๊กพ่วง เอาหลอดไฟ เอาพัดลม เอาไดร์เป่าผม มาต่อกับปลั๊กในห้องฟังเพลง เริ่มจากต่อกับปลั๊กเดียวกับที่ชุดเครื่องเสียงเสียบ เรียกว่าต่อใช้งานใกล้ชุดเครื่องเสียงเลย และไปต่อปลั๊กอื่นๆที่ห่างออกไป หรือปลั๊กภายในห้องเครื่องเสียง ซึ่งห่างจากชุดเครื่องเสียงมาสักหน่อย จากนั้นเอาอุปกรณ์เหล่านั้นออกทั้งหมด ลองฟังเทียบเสียง ก็จะรับรู้ความแตกต่างครับ ว่าแบบต่อแบบไหน ได้เสียงแตกต่างกันอย่างไร เทียบได้กับการต่อสายตรงจากสะพานไฟเข้าชุดเครื่องเสียง แม้สายไฟอีกชุดที่ใช้ในบ้านจะพ่วงอุปกรณ์เหล่านั้น แต่มีระยะห่าง การรบกวนก็น้อยลงไป

สรุป

     สำหรับท่านใดที่ต้องการฟังเพลงให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นไปอีกระดับ วิธีง่ายที่สุดคือ แยกชุดสายไฟเฉพาะจากสะพานไฟมาใช้สำหรับเครื่องเสียง โดยไม่ต่อพ่วงกับอุปกรณ์อื่นใดเลย ท่านจะได้ยินเสียงที่มีคุณภาพ รายละเอียด ความไพเราะมากขึ้น อย่างคุ้มค่าเหนื่อย หากท่านใดมีงบประมาณเพิ่ม ก็จัดสายไฟแบบออดิโอเกรด ก็จะได้คุณภาพเพิ่มขึ้นไปอีก ตามงบประมาณและคุณภาพของสายไฟนั้น

     การเสียเงินให้กับชุดเครื่องเสียง สามารถจ่ายได้หลายรูปแบบ หลายอุปกรณ์ เพื่อเปลี่ยนเสียงหรือยกระดับคุณภาพเสียง การแยกชุดสายไฟนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ ที่ใช้งบไม่มากแต่เห็นผลคุ้มค่าเหนื่อยแน่นอนครับผม