What HI-FI? Thailand

ขุดราก Rock & Roll (ตอนที่ 9) กระแสการปั้น “Teenage Idol” ในยุคปลาย 1950

จ้อ ชีวาส

นับจากปลายทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ธุรกิจแผ่นเสียงส่อเค้าว่าจะต้องมีการต่อสู้อย่างรุนแรงขึ้นมาให้เห็นเพื่อแย่งชิงตลาดกันชนิดที่ดุเดือดขึ้นอย่างมาก ตลาดดนตรีถูกเจาะจงลงไปที่ความนิยมและความต้องการของเด็กวัยรุ่นเป็นหลัก การก่อกำเนิดของบริษัทแผ่นเสียงค่ายเล็กค่ายน้อยมีมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้บริษัทที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดแผ่นเสียงมาก่อน อย่างเช่น RCA Records และ Capitol Records ต่างก็เริ่มขยายขอบข่ายการผลิตของตนออกไปให้มากไลน์ยิ่งขึ้นจากเดิม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในสงครามการต่อสู้ทางด้านธุรกิจดนตรีกับค่ายเพลงที่เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากนี้ ช่วงเวลานั้นจึงถือเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นสงครามธุรกิจดนตรีที่ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายยกแรก ทีค่ายเพลงต่างก็พยายามสร้างดาราขวัญใจที่เรียกกันว่า “Idol” ออกมาแข่งขันกันเป็นการใหญ่  ช่วงเวลานั้นจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเชือดเฉือนกันเพื่อเข้าสู่เส้นชัยกันเป็นการใหญ่  นับจากกระแสความคลั่งไคล้ในตัว Elvis Presley เป็นต้นมา ทำให้ธุรกิจดนตรีเริ่มเข้าสู่ทิศทางใหม่นับแต่นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดว่าขายได้ จะถูกนำมาพ่วงกับดารายอดนิยมทั้งสิ้น  การสร้างดาราขึ้นมาคนหนึ่งจึงเป็นการคิดแพ็คเกจรวมที่จะมีทั้ง เพลง ภาพยนตร์ และสินค้าต่างๆทั้งสิ้น  ค่ายเพลงต่างๆ บริษัทประกอบการด้านบันเทิง หรือตัวแทนต่างๆ ต่างก็ส่งแมงมองออกไปเพื่อควานหาคนหนุ่มสาวหน้าตาดีมีความสามารถมาปั้นเป็นดารากันทั่วทุกหนทุกแห่ง จนเกิดเป็นยุคสมัยที่มีดาราเกิดขึ้นมาอย่างมากมายที่มีความสามารถครบสูตร ทั้งร้องเพลง แสดงภาพยนตร์ และถ่ายแบบโฆษณาสินค้า

ในปี ค.ศ. 1957 ความสำเร็จของเพลง Diana ที่ร้องโดย Paul Anka และเพลง Young Love ที่ร้องโดย Tab Hunter ได้กลายเป็นสัญญาณใหม่ของการเปลี่ยนโฉมตลาดดนตรีไปยึดกลุ่มผู้บริโภคที่เป็น Teenage ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมหรือ Hi School เป็นหลัก  ความคลั่งไคล้ในตัวดาราซึ่งเป็นที่ชื่นชอบ เป็นส่วนสำคัญในการขยายตัวของตลาดดนตรีออกสู่วงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งกระแสการตลาดของธุรกิจดนตรีขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางขึ้นมากเท่าใด จำนวนของเด็กหนุ่มเด็กสาวซึ่งคลั่งไคล้ในตัวดาราที่ตนชื่นชอบก็ยิ่งขยายวงออกไปมากขึ้นจนไร้ขีดจำกัด อีกทั้งการเกิดขึ้นของสื่อต่างๆที่มีความหลากหลาย ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ใบปลิวโฆษณา  สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งช่วยผลักดันให้กระแสความคลั่งไคล้ต่างๆลุกโชนขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน  อีกทั้งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่มีทั้งภาพและเสียงที่เรียกว่า “โทรทัศน์” ก็เป็นอีกทางหนหนึ่งที่ช่วยโหมกระแสความคลั่งไคล้ดาราได้อย่างรวดเร็วขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากเดิมที่เคยมีแต่เพียงสถานีวิทยุที่คอยเป็นสื่อกลางเท่านั้น

ตัวอย่างของความดังที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนเมื่อดาราได้ไปออกในรายการทีวีก็คือ เอลวิส เพรสลีย์ นั่นเอง  อาจกล่าวได้ว่า เอลวิส เพรสลีย์ โด่งดังเป็นพลุขึ้นในทันทีภายหลังจากที่เขาไปปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงซึ่งมีผู้ชมทั่วประเทศที่คอยตั้งตาชมรายการนี้อยู่ นั่นก็คือรายการ The Ed Sullivan Show  เอลวิส ไปออกรายการนี้ในปี ค.ศ. 1956  ซึ่งหลังจากที่เขาไปออกรายการนี้แล้วนั่นเอง เขาก็โด่งดังเป็นพลุแตกจนคนทั้งประเทศรู้จักเขา และต่างออกมาหาซื้อแผ่นเสียงของเขาในวันรุ่งขึ้นทันที  นอกจากนี้ยังมีคนดังคนอื่นๆอีกมากมายที่โด่งดังขึ้นภายหลังจากไปออกในรายการของ เอ็ด ซัลลิแวน จนเป็นที่กล่าวขานกันว่าหากใครไปออกในรายการนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นก็ตีตั๋วดังได้เลย  สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้วัยรุ่นยุคในเวลานั้นเริ่มเกิดความตื่นตัว และสร้างสังคมของตัวเองขึ้นจนสำเร็จ และกลายเป็นสังคมของคนกลุ่มใหม่กลุ่มหนึ่งที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางสังคมเดิมซึ่งเคยเป็นสังคมเฉพาะพวกผู้ใหญ่ ชี้นำโดยผู้ใหญ่ โดยที่เด็กต้องคอยเดินตามเท่านั้น สังคมกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นจึงเป็นสังคมที่แปลก ตา ไม่คุ้นเคยในสายตาของผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กได้สร้างโลกของตัวเองขึ้น เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงออก ปลดเปลื้องตัวเองออกจากโลกที่เคยถูกชี้นำโดยผู้ใหญ่มาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 นั่นเอง เนื่องจากเด็กรุ่นที่เกิดช่วงหลังสงครามหรือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกว่ารุ่น “Baby Boom” เริ่มเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นพร้อมๆกัน และเริ่มมีความคิด มีความต้องการมีโลกเป็นของตัวเองแล้ว เด็กหนุ่มเด็กสาวในยุคสมัยนั้นจึงเริ่มหาหนทางที่จะหลุดออกจากสิ่งที่ผู้ใหญ่กำหนดให้ เริ่มดื้อรั้น และเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

ในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ พอล แองกา และ แท็บ ฮันเตอร์ สร้างเพลงฮิตขึ้นจนโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองนั้น Ricky Nelson ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังหลังจากได้ไปปรากฏตัวทางโทรทัศน์โดยเป็นดาราประกอบในซีรีส์หรือละครชุดเรื่อง The Adventures of Ozzie and Harriet ค.ศ. 1957  ซึ่งก็ทำให้เขาได้มีโอกาสบันทึกเสียงออกผลงานเพลงในเวลาต่อมาอีกด้วย โดยในเวลานั้น ริคกี เนลสัน มีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น เขาเคยมีผลงานปรากฏอยู่ในเพลงของ Fats Domino คือเพลง I’m Walkin’ เป็นครั้งแรก และในที่สุดเขาก็ตกลงเซ็นสัญญาอยู่ในสังกัดของ โดมิโน ที่เขาเปิดขึ้นเองเป็นบริษัทส่วนตัว จากนั้น ริคกี เนลสัน ก็เริ่มโด่งดังขึ้นจนมีชื่อเสียงพุ่งขึ้นสู่ความนิยมอย่างสูงสุดในปี ค.ศ. 1963 ทั้งผลงานด้านการร้องเพลงและแสดงภาพยนตร์

Ricky Nelson

ในปี ค.ศ. 1957 เช่นกัน ที่ฟิลาเดลเฟีย ได้มีการก่อตั้งบริษัทขนาดเล็กขึ้นเพื่อดำเนินการผลิตผลงานให้กับศิลปินต่างๆ โดยมีการจัดวางระบบบริหารให้ง่ายขึ้นสำหรับผลักดันให้ศิลปินหน้าใหม่มีโอกาสสร้างผลงานออกสู่ตลาดบ้าง ซึ่งในเวลานั้นมีเป็นศิลปินที่มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเข้าหาค่ายใหญ่ๆ หรือบริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ต่างๆ  บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งโดย Bob Marcucci และ Peter De Angelis ภายใต้ชื่อ Chancellor Records  บริษัทนี้เริ่มจากการสนับสนุนศิลปินท้องถิ่นหน้าใหม่ๆในฟิลาเดลเฟียเป็นลำดับแรก ศิลปินคนแรกที่ทั้งสองค้นพบและมอบโอกาสให้จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับทั้งตัวเองและค่าย แชนเซลเลอร์ ก็คือ Frankie Avalon ที่มีชื่อเสียงขึ้นจากเพลง De De Dinah ในปี ค.ศ. 1958  แฟรงกี อะวาลอน มีเชื้อสายอิตาเลียน เป็นนักร้องเพลงพ็อพที่ได้ชื่อว่ามีสุ้มเสียงสดใสอย่างมาก และยังเป็นนักร้องขวัญใจวัยรุ่นที่มีภาพลักษณ์ของความนุ่มนวลปรากฏอยู่ จนแฟนเพลงส่วนใหญ่ที่เป็นวัยรุ่นสาวๆเกิดความคลั่งไคล้อย่างมากเช่นเดียวกับนักร้องเสียงใสคนอื่นๆ เช่น Frank Sinatra, Tony Bennett และ Perry Como  และนอกจากเพลงดังกล่าวแล้ว อะวาลอน ก็ยังมีเพลงฮิตเพลงอื่นๆที่ขึ้นอันดับอีก เช่น Venus, Why? และ Bobby Sox to Stockings

ดาราที่ค่าย แชนเซลเลอร์ สร้างขึ้นคนต่อมาก็คือ  Fabian Forte  เฟเบียน ฟอร์เต หรือที่มักเรียกกันว่า เฟเบียน เฉยๆเป็นเด็กหนุ่มวัยเพียง 15 ปีเท่านั้น ในตอนที่ค่าย แชนเซลเลอร์ ค้นพบ  เฟเบียน มีเชื้อสายอิตาเลียนเช่นกัน เขาถูกปั้นขึ้นมาเป็นดาราตามสูตรการสร้างไอดอลทุกระเบียดนิ้ว  แชนเซลเลอร์ หวังในตัว เฟเบียน อย่างมาก จึงทุ่มทุกอย่างอย่างสุดตัวจนถึงกับโหมโฆษณากันอย่างหนักทั้งการซื้อโฆษณาในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ และการสร้างข่าวกอสสิป หรือข่าวซุบซิบต่างๆเพื่อให้เขาโด่งดังขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เมื่อ เฟเบียน ได้กลายเป็นภาพลักษณ์ให้กับสินค้านานาประเภทด้วยเวลาเพียงไม่นาน จนเป็นที่ติดตาไปทั่วประเทศทั้งตัวเขาและสินค้าที่เขาโฆษณาให้ และ เฟเบียน ก็กลายเป็นรูปแบบของตัวทำเงินให้กับค่ายเพลงในยุคแรกๆที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มุ่งที่จะขายรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลาของดารามากกว่าการขายผลงาน ซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์นี้ก็ถูกต้อง เพราะในที่สุดก็ปรากฏว่าความนิยมในตัว เฟเบียน เป็นเพียงคลื่นลูกหนึ่งที่ซัดเข้าฝั่งมาอย่างรุนแรงเพียงชั่วครู่เท่านั้น แล้วหายไปในเม็ดทรายเมื่อคลื่นเข้าสู่ฝั่งแล้ว ความสำเร็จของ เฟเบียน จึงต่างไปจากความสำเร็จของ ริคกี เนลสัน และ แฟรงกี อะวาลอน ที่ทั้งสองคนหลังนี้ยังคงมีผลงานที่โดดเด่นและได้รับความนิยมไปจนกระทั่งข้ามเข้าสู่ทศวรรษใหม่แล้ว

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 นั้น มีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งกล่าวได้ว่ามีอิทธิพลต่อวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวอย่างมาก ก็คือรายการที่ชื่อว่า American Bandstand รายการนี้เป็นรายการโทรทัศน์ซึ่งออกอากาศที่ฟิลาเดลเฟียเป็นประจำตลอดสัปดาห์ โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี ค.ศ. 1952  กระทั่งปี ค.ศ. 1956 เมื่อ Dick Clark เริ่มเข้ามเป็นผู้ดำเนินรายการ รายการนี้ก็เริ่มพุ่งขึ้นสู่ความนิยมกระทั่งเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีเรตติงติดในลำดับต้นๆของสหรัฐอเมริกา สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้รายการนี้กลายเป็นรายการยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวก็คือการเลือกช่วงเวลาในการออกอากาศนั่นเอง  อเมริกัน แบนด์สแตนด์ เลือกช่วงเวลา 4 โมงเย็นเป็นเวลาออกอากาศ ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเลิกเรียนของนักเรียนไฮสคูลพอดี การเลือช่วงเวลานี้มาเป็นกำหนดเวลาสำหรับการเริ่มออกอากาศนั้นก็เพราะต้องการพุ่งเป้าไปที่เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อพ่อแม่ในการบริโภคสินค้าต่างๆ เมื่อเด็กเปิดดู พ่อแม่ก็ต้องมาคอยนั่งเฝ้าและดูโฆษณาสินค้าคั่นรายการไปด้วย หรือเด็กๆนั่นเองที่จะร้องขอให้พ่อแม่ซื้อสินค้าเหล่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้ที่ทำให้พ่อแม่ยอมให้เด็กนั่งดูรายการนี้จนจบก็คือ เมื่อโรงเรียนเลิก เด็กๆก็จะตรงกลับบ้านเพื่อมาตั้งตาดูรายการนี้โดยไม่ต้องไปเถลไถลสร้างปัญหาที่ไหน แทบทุกบ้านจึงเปิดดูรายการนี้กันจนเป็นที่แพร่หลาย

จุดสำคัญของรายการ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ ก็คือการนำนักร้องนักดนตรีที่กำลังเป็นวัญใจวัยรุ่นในช่วงเวลานั้นๆ หรือแม้ศิลปินหน้าใหม่ก็ตามมาออกอากาศ กับการนำเพลงใหม่ๆของศิลปินที่กำลังฮิต หรือกำลังจะฮิต หรือกำลังจะฮิต มาใส่ไว้ในรายการ ซึ่งค่ายเพลงต่างๆต่างก็พยายามที่จะส่งเพลงของตนเข้าไปโปรโมตในรายการนี้ให้ได้ เพราะการได้ออกในรายการ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ ของ ดิค คลาร์ค ถือเป็นตั๋วไปสู่ความดัง เพลงที่ได้ออกอากาศในรายการนี้เตรียมไต่ขึ้นในอันดับ ท็อป 10 ได้เลยทันที  นอกจากนี้การจัดรายการของ ดิค คลาร์ค ยังถือเป็นการพลิกรูปแบบของการจัดรายการที่ได้ชื่อว่ามีจริยธรรมสูงอย่างไม่เหมือนใครอีกด้วย เขามักพูดชักชวนให้เด็กๆรู้จักปรับปรุงตัวเอง พัฒนาตัวเองให้มีชีวิตที่ดี รู้จักรักษาความสะอาด และพร่ำสอนถึงจารีตประเพณีที่ดีงาม มีศีลธรรมอันดี เคารพผู้ใหญ่ และชวนให้เด็กๆเข้าโบสถ์ฟังเทศน์แทนที่จะเอาเวลาไปทำในเรื่องที่ผิดศีลธรรม การสอนสิ่งเหล่านี้ให้แก่เด็กๆสร้างความยินดีให้กับบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก พ่อแม่จึงมักให้การสนับสนุนอย่างดีเมื่อลูกๆติดรายการ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ กันอย่างงอมแงม  รายการนี้จึงถือเป็นการปฏิวัติวิธีการจัดรายการด้วยเหตุนี้ และยังเป็นรายการที่ช่วยเปลี่ยนภาพพจน์ให้แก่ดนตรี พ็อพ และ ร็อค แอนด์ โรล์ ในสายตาพวกพ่อแม่ผู้ปกครองที่เคยต่อต้านดนตรีประเภทนี้ เข้าใจความต้องการของเด็กๆได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของรายการนี้มากกว่าสิ่งอื่นใด  และจากความสำเร็จของค่ายเพลง แชนเซลเลอร์ ที่สร้างดาราขวัญใจวัยรุ่นออกมาอย่างมากมาย รวมถึงความสำเร็จของ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ อีกด้วยนั้น จึงทำให้ฟิลาเดลเฟียกลายเป็นศูนย์กลางของกระแสดนตรีที่ใครๆต่างก็พุ่งเป้าไปที่นั่นในช่วงเวลานั้น  สำหรับศิลปินหน้าใหม่ที่อาจกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นมาจากรายการ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ นั้น มีตัวอย่างเช่น Bobby Rydell, Charlie Gracie, Freddy Cannon, Tony Orlando, Bobby Vee, Del Shannon และ Brian Hyland เป็นต้น  และด้วยการที่ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ เป็นผู้เปิดทางให้แก่ศิลปินที่เป็นที่นิยม รวมถึงศิลปินหน้าใหม่ ไปสู่โลกของเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะเด็กมัธยมหรือไฮสคูลนี้เอง จึงมักมีการเรียกเพลงของศิลปินที่ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ นำมาออกในรายการกันว่า “High School Pop”

นอกจากรายการ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ จะสร้างปรากฏการณ์ด้วยการเป็นผู้เปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่นำผลงานของตนให้เป็ที่รู้จักเป็นวงกว้างแล้ว รายการนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ให้กับนักร้องนักดนตรีหญิงได้มีโอกาสทัดเทียมกับผู้ชายอีกด้วย ซึ่งถึงแม้เวลานั้นศิลปินเพศหญิงจะจะได้รับการยอมรับและมีบทบาทในสังคมได้ทัดเทียมกับเพศชายมากขึ้นแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวทีสำหรับผู้หญิงนั้นเปิดให้น้อยกว่าผู้ชายมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งบริหารอยู่ตามบริษัทใหญ่ๆในวงการนั้น  ก็ยังคงมีอคติเกี่ยวกับการออกมาทำงานนอกบ้านของผู้หญิง หรือการมีบทบาททางสังคมของผู้หญิงกันอยู่มาก การเปิดเวทีให้ผู้หญิงได้มีโอกาสแสดงผลงานออกมาสู่สาธ่รณะของ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ จึงได้รับความชื่นชมอย่างมากด้วยเช่นกัน  สำหรับตัวอย่างของนักร้องและศิลปินหญิงที่ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ ให้การสนับสนุนจนมีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ Connie Francis  คอนนี ฟรานซิส เป็นขวัญใจเด็กสาวไฮสคูลอันดับต้นๆที่ทำให้เด็กสาวไฮสคูลต่างลุกขึ้นมาลอกเลียนแบบบุคลิกลักษณะและการแต่งตัวที่เรียกว่า “สาวเปรี้ยว” ของเธอกันเป็นทิวแถว จนเด็กสาวทั่วบ้านทั่วเมืองต่างกลายเป็นเป็น คอนนี ฟรานซิส กันไปทั่วทุกหัวถนน และด้วยภาพลักษณ์แบบ คอนนี ฟรานซิส นั่นเอง ที่ทำให้เด็กสาวๆเริ่มมีความกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น ให้อิสระกับตัวเองมากขึ้น ยกย่องตัวเองมากขึ้น แทนที่จะคอยเดินตามผู้ชาย ก็เริ่มกล้าที่จะเดินออกมานอกแถว เริ่มกล้าที่จะคบเพื่อนชายและเดินควงคู่กันออกไปงานตามที่สาธารณะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากภาพยนตร์และดนตรีในช่วงเวลานั้นทั้งสิ้น จนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่วัยรุ่นหนุ่มสาวในยุคนั้นต้องยึดถือกัน หาไม่ก็จะตกยุคตกสมัยกลายเป็นพวกเปิ่นพวกหลังเขาไป

นอกจาก คอนนี ฟรานซิส แล้ว นักร้องสาวอีกคนหนึ่งที่โด่งดังในช่วงเวลานั้นแบบแทบจะวัดรอยเท้ากันก็คือ Brenda Lee  เบรนดา ลี เป็นเด็กสาวจากจอร์เจีย เธอมีวัยเพียง 15 ปีเท่านั้นตอนที่เริ่มออกผลงาน และเธอก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในช่วงเวลานั้นว่าเป็นคู่แข่งคนสําคัญของ คอนนี ฟรานซิส  เบรนดา ลี เป็นศิลปินหญิงอีกคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จภายใต้การสนับสนุนของ อเมริกัน แบนด์สแตนด์  เธอเริ่มมีชื่อเสียงจากเพลงฮิตเพลงแรก คือ Sweet Nothin’s ในปี ค.ศ. 1959  เบรนดา ลี สร้างภาพลักษณ์ของเธอจนติดตาด้วยภาพของเด็กผู้หญิงที่คล่องแคล่วดูคล้ายผู้ชาย หรือ “ทอมบอย” นั่นเอง น้ำเสียงของเธอนั้นฟังมีเสน่ห์ อ่อนโยนแบบเด็กสาวๆ และแหบนิดๆ จึงทำให้เพลงของเธอฟังดูแปลกหูอย่างมากในเวลานั้น

จากอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เปิดยุคทองให้กับโลกดนตรีในช่วงทศวรรษที่ 50 – 60 นั้น ก็ทำให้ชื่อเสียงของ ดิค คลาร์ค พลอยโด่งดังคับฟ้าตามไปด้วย จนกลายเป็นนักจัดรายการที่ทรงอิทธพลที่สุดคนหนึ่งในเวลานั้น และก็ทำให้ฐานะทั้งทางด้านการงานและการเงินของเขาอู้ฟู่ขึ้นมาด้วยเช่นกัน จนในที่สุด ดิค คลาร์ค ก็ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความร่ำรวยของเขาว่าได้มาอย่างสุจริตหรือไม่ กระทั่งมีการตรวจสอบจนพบว่าเขามีชื่อเข้าไปเป็นหุ้นส่วนของบริษัทในธุรกิจดนตรีและการบันเทิงบริษัทต่างๆถึง 6 บริษัท โดยมีบริษัทแผ่นเสียง 3 บริษัท และบริษัทจัดจำหน่าย บริษัทตัวแทนจัดการธุรกิจดนตรี กับโรงงานผลิตแผ่นเสียง และนำไปสู่ข้อสงสัยว่าที่มาของเงินทุนที่เขานำไปเข้าหุ้นกับบริษัทเหล่านั้นมาจากที่ใด ซึ่งต่อมาเขาก็ถูกทางการตั้งข้อกล่าวหาว่ารับสินบนจากค่ายเพลงต่างๆ เพื่อตอบแทนในการที่เขาให้กับการสนับสนุนผลงานของค่ายเพลงเหล่านั้นเป็นพิเศษ  จากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ชื่อเสียงของ ดิค คลาร์ค ต้องเกิดความมัวหมองลงอย่างไม่มีทางเลี่ยง เนื่องจากการรับสินบนจากค่ายเพลงถือเป็นความไร้จรรยาบรรณของสื่อมวลชนอย่างรุนแรงและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะถือว่าเป็นการใช้อิทธิพลที่สามารถตัดสินให้ผลงานของศิลปินคนใดอยู่หรือไปก็ได้ในในทางที่ผิด  และจาการถูกตรวจสอบครั้งนั้น ก็พลอยทำให้ศิลปินดังหลายคนในยุคนั้นถูกข้อครหาตามไปด้วย เช่น Duane Eddy, The Crests และอีกหลายๆคน ที่ถูกนักวิจารณ์และคอลัมน์นิสต์ในยุคนั้นกล่าวโจมตีว่าเบื้องหลังความสำเร็จของพวกเขาก็คือจำนวนเงินที่มอบให้กับรายการ อเมริกัน แบนด์สแตนด์ นั่นเอง  กรณีนี้เป็นกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1959 ซึ่งต่อมา ดิค คลาร์ค ก็สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาได้ในที่สุด  แต่เหตุการณ์แบบเดียวนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำรอยในปี ค.ศ. 1962 ซึ่งครั้งหลังนี้เกิดขึ้นกับนักจัดรายการวิทยุชื่อดังที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ก็คือ Alan Freed  อลัน ฟรีด ก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ารับสินบนด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ทำให้ชื่อเสียงของเขาต้องมัวหมองไปจนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1965 นั่นเอง

ในช่วงที่ อเมริกัน แบนด์แสตนด์ ครองอิทธิพลในวงการดนตรีสหรัฐอเมริกานั้น รายการนี้ได้สร้างดาราพ็อพขึ้นมามากมายนับไม่ถ้วน นับจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 จึงเป็นช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของการสร้างดาราพ็อพเข้าสู่วงการเพลงครั้งใหญ่ที่สุดยุคหนึ่ง จนศิลปินหลากหลายแนวทางที่เข้าสู่วงการนี้มาด้วยดนตรีแนวของพวกเขาเองต่างก็ต้องปรับทิศทางหันมาหาแนวทางพ็อพเพื่อที่จะให้ตนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามบ้าง เช่น Roy Orbison, Del Shannon, Dion DiMucci and the Belmonts และ Bruce Channel คือผู้เดินขึ้นสู่ความนิยมอย่างสูงสุดในช่วงเวลานั้น    ตัวอย่างเพลงแบบ “ไฮสคูล พ็อพ” ที่ฮิตระเบิดในเวลานั้นก็คือ Itsy Bitsy Teenie Weenie Yollow Polka Dot Bikini ของ Brian Hyland  และ Johnny Get Angry ของ Joanie Summers ที่ยังคงฟังติดหูมาจนถึงทุกวันนี้

จากยุคของ ไฮสคูล พ็อพ แล้ว  อเมริกัน แบนด์สแตนด์ ยังเป็นผู้ที่ผลักดันให้ดนตรีเต้นรำรูปแบบหนึ่งขึ้นมาสู่ความนิยมสูงสุดในช่วงก่อนเข้าสู่ยุค 1960 นั่นก็คือการเต้นรำที่เรียกว่า “Twist” จนใครๆก็หันมาเล่นเพลงแบบ ทวิสต์ กันหมดในเวลานั้น  ดนตรีเต้นรำแบบนี้มีหัวขบวนที่ชื่อของเขาจะต้องมาคู่กับจังหวะเต้นรำแบบ ทวิสต์ เสมอก็คือ Chubby Checker  ชับบี เช็คเกอร์ คือศิลปินที่ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จกับเพลงและรูปแบบการเต้นแบบ ทวิสต์ ที่ไม่มีใครเทียบได้ นอกจากนี้ยังมี Santo and Johnny เจ้าของเพลงบรรเลงที่ดังก้องโลก Sleep Walk ก็มีเพลงดังแบบ ทวิสต์ ด้วยก็คือ Twistin Bells ส่วน  Rod McKuen กวีและนักแต่งเพลงฝีมือดีก็มีเพลง Oliver Twist ด้วยเช่นกัน  และ The Champs เจ้าของเพลงบรรเลง Tequila ที่รู้จักกันดีก็เล่นเพลงแบบ ทวิสต์ คือ Tequila Twist  หรือ Bill Doggett ศิลปินเพลง แจ๊ซซ์ และ ริธึม แอนด์ บลูส์ ก็ยังเล่นเพลงแบบ ทวิสต์ ด้วย คือเพลง (Let’s Do) The Hully Gully Twist

ดนตรีเต้นรำแบบ ทวิสต์ เป็นกระแสที่โถมกระหน่ำมาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เพราะเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นดนตรีแบบนี้ก็หายไปจากความนิยมของตลาด และ ทวิสต์ ก็นับเป็นอิทธิพลความคลั่งไคล้ยุคท้ายๆของอิทธิพลเพลงจากฟิลาเดลเฟียด้วยเช่นกัน เพราะพอขึ้นทศวรรษใหม่ในปี ค.ศ. 1960  แนวรุกของตลาดดนตรีก็ถูกเบี่ยงเบนไปขึ้นกับเมืองใหญ่ 3 เมืองที่ยึดหัวหาดการเป็นศูนย์ดนตรี คือ แนชวิลล์ นิวยอร์ก และ ดีทรอยต์


Exit mobile version