จ้อ ชีวาส
ดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ พัฒนาขึ้นจากดนตรี คันทรี และ บลูส์ ให้มีจังหวะที่เร็วและมีชีวิตชีวากว่า ดนตรีรูปแบบนี้เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริงตั้งช่วงทศวรรษที่ 1940 จากนั้นก็เดินทางจากเมืองชายขอบ หรือชนบท มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ และก่อให้เกิดกระแสความนิยมขึ้นในสังคมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากกลุ่มนักดนตรีผิวดำที่ต้องการหลีกหนีความจำเจของดนตรีบลูส์ และคันทรี แบบเดิมๆ คิดสร้างสรรค์ดนตรีที่สนุกสนานขึ้น เมื่อนักดนตรีผิวดำมากหน้าหลายตาต่างเดินเรียงแถวกันเข้าเมืองเพื่อหางานเล่นดนตรีตามร้านเหล้าและคลับบาร์ต่างๆในเมือง และนำดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ขึ้นไปเล่น ไม่นานดนตรีประเภทนี้ก็ติดหู จากนั้นก็มีตัวแทนเข้าไปติดต่อนำนักดนตรีเหล่านั้นเข้าไปหาบริษัทแผ่นเสียง และผลิตผลงานออกมา ทำให้ตลาดดนตรีเริ่มเปิดรับเพลงแบบ ริธึม แอนด์ บลูส์ จนเกิดความนิยมขึ้นทั่วไปไม่ว่าจะเป็นในหมู่คนฟังผิวดำหรือผิวขาวก็ตาม
ซึ่งต่อมาก็มีนักดนตรีผิวขาวให้ความสนใจและเริ่มทำเพลงในจังหวะ ริธึม แอนด์ บลูส์ ออกมาบ้าง ในที่สุดเพลง ริธึม แอนด์ บลูส์ ก็เป็นที่แพร่หลายในตลาดสากล และด้วยความเป็นสากลเช่นนี้เองที่ทำให้ดนตรีประเภทนี้มีโอกาสขยายตลาดออกไปเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถแผ่ความนิยมข้ามไปจนถึงอังกฤษและยุโรปได้ในระยะเวลาไม่นานนัก แต่การที่ ริธึม แอนด์ บลูส์ แผ่ขยายข้ามฝั่งแอตแลนติกไปถึงอังกฤษและยุโรปนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากชนวน ร็อค แอนด์ โรลล์ ได้ถูกจุดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 แล้วนั่นเอง จึงทำให้ดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ เริ่มข้ามฝั่งไปพร้อมกับกระแสความนิยมเพลง ร็อค แอนด์ โรลล์ จากฝั่งอเมริกาจนกลายเป็นที่คลั่งไคล้โดยทั่วไป
เรย์ ชาลส์ (Ray Charles)
ต้นธารของนักดนตรีบลูส์ที่เป็นผู้บุกเบิกดนตรีแบบ ริธึม แอนด์ บลูส์ ซึ่งภายหลังได้รับการยอมรับว่าเป็นตำนานของดนตรีบลูส์ และริธึม แอนด์ บลูส์คนแรกๆก็คือ Ray Charles เรย์ ชาร์ลส เป็นนักดนตรีผิวดำชาวจอร์เจีย แต่สนใจดนตรี เวสท์ โคสท์ บลูส์ มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1949 และเล่นดนตรีประเภทนี้อยู่จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1953 เรย์ ชาร์ลส จึงเริ่มหันออกจากความจำเจ โดยนำดนตรี กอสเปล แจซซ์ และบลูส์ มาผสมผสานกัน และตอกย้ำดนตรีแบบใหม่นี้จนได้รับความนิยม กระทั่งในปี ค.ศ. 1954 ชาร์ลส จึงมีเพลงฮิตออกมาอย่างมากมายจนกลายเป็นหนึ่งในศิลปินผิวดำที่ได้รับความนิยมท่ามกลางเหล่าศิลปินผิวขาวที่ครองตลาดอยู่ในช่วงเวลานั้น และยังคงยืนหยัดอยู่ได้จนเป็นศิลปินยุคบุกเบิกเพียงไม่กี่คนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดตลอดมา และถูกยกย่องให้เป็นศิลปินระดับตำนานที่ประดับเกียรติอยู่ในหอเกียรติยศอย่างไม่มีเสื่อมคลายตลอดไป
เรย์ ชาร์สส เกิดในปี ค.ศ. 1930 ที่เมืองอัลบานี รัฐจอร์เจีย ในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพที่ค่อนข้างยากจน ชื่อเต็มคือ Ray Charles Robinson ชาร์ลส มีชีวิตในวัยเด็กที่ค่อนข้างยากแค้น ครอบครัวของเขาต้องตกอยู่ในสังคมที่ดูถูกดูแคลนชนชั้น ทั้งจากการเป็นคนผิวดำและบิดายังเป็นกรรมกรหาเช้ากินค่ำอีก ซึ่งในช่วงที่เขาเพิ่งลืมตาขึ้นดูโลกนั้น สหรัฐอเมริกากำลังตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างรุนแรงไปทั่วทั้งประเทศ จากผลของพิษตลาดหุ้นวอลสตรีทล่มครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1929 หรือที่เรียกกันว่า “Great Depression” ทำให้ครอบครั้งต้องอยู่อย่างแร้นแค้น อดมื้อกินมื้อ เมื่อบิดาตกงาน และพอ เรย์ ชาร์ลส อายุได้เจ็ดขวบ เขาก็ต้องประสบกับเคราะห์ร้ายซ้ำอีกครั้ง เมื่อต้องสูญเสียดวงตาทั้งสองข้างไปด้วยโรคแก้วตาอักเสบ และด้วยความยากจน ชาร์ลส จึงไม่ได้รับการเยียวยาอย่างที่ควร เขาจึงต้องสูญเสียการมองเห็นไปตั้งแต่นั้นทั้งที่สามารถจะเยียวยาให้หายได้
เรย์ ชาร์ลส ต้องมีชีวิตอยู่อย่างขมขื่นกับปมด้อยจากการมองไม่เห็นนี้เป็นเวลานานพอสมควรจนแทบหมดกำลังใจในชีวิต แต่แม่ของ ชาร์ลส ก็ดูแลและให้กำลังใจเขามาโดยตลอดเพื่อให้เขาต่อสู้กับชีวิตได้ต่อไป แม่ของ ชาร์ลส เคยพูดว่า “แกเป็นแค่คนตาบอด แต่ไม่ใช่คนโง่ แกเสียไปแค่ดวงตาเท่านั้น ไม่ได้เสียสติปัญญาไป” และด้วยกำลังใจจากแม่นี้เองที่ทำ ชาร์ลส เริ่มมีกำลังใจและหันมาสู้ชีวิตอย่างมุ่งมั่นอีกครั้ง ซึ่งต่อมาแม่ของ ชาร์ลส ก็วิ่งเต้นหาที่เรียนสำหรับคนตาบอดให้กับเขาจนได้ โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดและหูหนวก St. Augustine ที่เมืองออร์แลนด์ รัฐฟลอริดา และที่นี่เองที่เขาได้เริ่มเรียนเปียโน และแซ็กโซโฟน เป็นครั้งแรก
เมื่อ เรย์ ชาร์ลส อายุได้ 15 ปี เขาก็สั่งสมฝีมือเปียโน และอัลโต แซ็กโซโฟน ที่ฝึกฝนมาจนคล่องแคล่ว และเริ่มออกหาประสบการณ์อย่างแท้จริงข้างนอกบ้าง เขาเริ่มรับงานแสดงเป็นครั้งคราวกับคณะดนตรีเต้นรำที่ออกแสดงตามโรงเต้นรำต่างๆ ซึ่งก็ทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปทั่วทั้งฟลอริดา และจอร์เจีย กระทั่งถึงซีแอตเทิล และในเวลาต่อมา ชาร์ลส ก็เริ่มให้ความสนใจกับดนตรีบลูส์อย่างแท้จริง โดยมักครวญเพลงเศร้าๆคลอไปกับเสียงเพลงที่เปิดอยู่หน้าวิทยุเป็นประจำ ชาร์ลส เก็บเอาภาพความเจ็บปวดต่างๆที่ผ่านเข้ามาในวัยเด็กกลั่นออกมาผ่านทางเสียงเพลงได้อย่างบาดอารมณ์มาก จนใครๆที่ได้ยินต่างก็อดไม่ได้ที่จะนั่งฟังเขาร้องจนจบ และอดชื่นชมกับน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณในบทเพลงที่เขาร้องไม่ได้เช่นกัน
ที่ซีแอตเทิลนั้น ชาร์ลส ได้ก่อตั้งคณะดนตรี 3 ชิ้นขึ้นเป็นของตัวเองวงแรก ชื่อ The Maxim Trio โดยเล่นเพลงแจซซ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลานั้น โดยมีวงดังๆที่ร่วมอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับวงของ ชาร์ลส ก็คือวง The Cole’s Trio ซึ่งเป็นวงของ Nat King Cole กับ Three Blazers ของ Charles Brown การที่ ชาร์ลส ต้องเล่นเพลงตามยุคสมัยในช่วงเวลานั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวกับคนอื่นๆคือหาเงินได้คล่องนั่นเอง แต่ต่อมา ชาร์ลส ก็หันมาทำเพลงแบบกอสเปลบ้าง เพราะเริ่มเบื่อที่จะเล่นแต่เพลงแจซซ์ตามคำขอ จึงต้องการผละมาทำเพลงตามที่ใจตัวเองเรียกร้องบ้างเท่านั้น ชาร์ลส จึงเริ่มทำเพลงแบบกอสเปลผสมผสานกับดนตรีริธึม แอนด์ บลูส์ที่กำลังเริ่มเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในเวลานั้นยออกมา ซึ่งดนตรีที่ เรย์ ชาร์ลส ทำออกมาตั้งแต่ตอนนั้น ต่อมาภายหลังรู้จักกันว่าดนตรี “Soul” นั่นเอง
เรย์ ชาร์ลส ทำเพลงฮิตออกมาเพลงแรกในปี ค.ศ. 1954 คือเพลง I’ve Got a Woman ที่สามารถติดตลาดทั้งในหมู่คนผิวขาวและผิวดำ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 ดนตรีกอสเปล และโซล เริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น นักดนตรีหลายคนในช่วงนั้น เช่น Ruth Brown, Sam Cooke, Aretha Franklin, Wilson Pickett, Lou Rowls และ Dione Warwicke จึงเริ่มรับเอาอิทธิพลจาก เรย์ ชาร์ลส เอาไว้ในดนตรีของตนกันมากขึ้น
ในปี ค.ศ. 1960 ชาร์ลส ก็สร้างปรากฏการณ์ขึ้นด้วยเพลงชื่อ Georgia On My Mind ที่แต่งโดย Hoagy Carmichael และ Stuart Gorrell ตั้งแต่ก่อนหน้านั้น 30 ปี คือปี ค.ศ. 1930 เดิมเป็นเพลงแบบ Traditional Pop หรือเพลงที่นิยมประจำถิ่น แต่ เรย์ ชาร์ลส นำมาร้องใหมาในแบบโซล เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตติดอันดับ 1 ทั้งในอเมริกาและอังกฤษพร้อมกัน จนกลายเป็นเพลงประจำรัฐจอร์เจียกระทั่งถึงปัจจุบัน การเดินทางสู่ความสำเร็จในเส้นทางดนตรีของ เรย์ ชาร์ลส นี้เป็นตัวอย่างให้กับนักดนตรีที่พิการทางสายตาในยุคหลังๆอีกมากมาย เช่น Jose Feliciano, Stevie Wonder และ Ronnie Milsap เพื่อพยายามต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคที่พิการทางร่างกาย โดยเฉพาะสิ่งสำคัญคือดวงตาที่ต้องดูโน้ต เขียนเพลง หรือเล่นดนตรี ให้สิ่งนั้นไม่เป็นขวากหนามในการทำความฝันให้เป็นจริง ก็คือความสำเร็จในอาชีพดนตรีอันเป็นที่รัก
Little Richard (ลิตเทิล ริชาร์ด)
ตัวอย่างต่อมาก็คือ Little Richard ลิตเทิล ริชาร์ด เป็นนักร้องเพลงบลูส์ กอสเปล ริธีม แอนด์ บลูส์ และเป็นผู้บุกเบิกร็อค แอนด์ โรลล์ผิวดำชาวจอร์เจียอีกคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องให้เป็น The Greatest Rocker of All Time ลิตเทิล ริชาร์ด มีชื่อเต็มว่า Richard Wayne Penniman เกิดในปี ค.ศ. 1932 เป็นนักดนตรีชาวอเมริกันผิวดำคนเดียวในช่วงทศวรรษที่ 50 ที่สามารถครองใจแฟนเพลงวัยรุ่นชาวอังกฤษได้กว่าค่อนประเทศ นับเป็นความสำเร็จสูงสุดของศิลปินอเมริกันในยุคนั้นเลยทีเดียว
ริชาร์ด เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 จนกระทั่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี ค.ศ. 1955 ด้วยเพลง Trutti Frutti แต่แล้วที่สุดในปี ค.ศ. 1957 เขาก็ออกจากวงการหันหน้าเข้าโบสถ์เพื่อเป็นบาทหลวง สร้างความประหลาดใจให้กับแฟนๆของเขาเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1962 ลิตเทิล ริชาร์ด ก็กลับมาปรากฏตัวต่อแฟนเพลงชาวอังกฤษเพื่ออกผลงานอีกครั้ง และสามารถเข้าสู่ความนิยมได้ใหม่เป็นสมัยที่สอง แต่ไม่นานชื่อเสียงของ ลิตเทิล ริชาร์ด ก็กลับจางหายไป เหลือไว้เพียงตำนานให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้เท่านั้น
ช่วงทศวรรษที่ 70 ลิตเทิล ริชาร์ด ก็กลับเข้าโบสถ์อีกหน และค้นพบว่าสามารถทำหน้าที่ทางศาสนาได้ดีกว่าการเป็นนักร้อง แต่ ลิตเทิล ริชาร์ด ก็ยังไม่ยอมหยุดร้องเพลงของเขาแม้จะอยู่ในเพศนักบวชก็ตาม และการมีดนตรีในหัวใจอย่างเปี่ยมล้นนี้ก็ทำให้ ริชาร์ด ต้องกลับมาอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 80 และหายหน้าไปจากวงการอีก แล้วกลับมาอีกเป็นเช่นนี้เรื่อยมา แต่ทุกครั้งที่เขากลับมาก็ยังได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลงไม่ว่ารุ่นเล็กรุ่นใหญ่อย่างดีทุกครั้ง ก็เพราะความเป็นอมตะของ ลิตเทิล ริชาร์ด นั่นเอง สำหรับเพลงดังๆในช่วงรุ่งโรจน์ของ ลิตเทิล ริชาร์ด มีเช่น Long Tall Sally, Ready Teddy, Rip It up, Lucille และ Good Golly Miss Molly ซึ่งทุกเพลงยังคงความเป็นอมตะเช่นเดียวกับชื่อเสียงของ ลิตเทิล ริชาร์ด ทั้งสิ้น และมักถูกนำมาใช้ในการประลองความสามารถของนักดนตรีร็อค แอนด์ โรลล์ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นเพลงที่ถูกเรียกว่าเป็น “เพลงครู” อย่างไม่เสื่อมคลายเช่นกัน
Chuck Berry (ชัค เบอร์รี)
นักดนตรีริธึม แอนด์ บลูส์ผิวดำรุ่นบุกเบิกอีกคนหนึ่งเป็นชาวมิสซูรี เป็นศิลปินที่ผิดแผกไปจากศิลปินผิวดำคนอื่นๆ เพราะนำดนตรีที่มีบุคลิกลักษณะแบบดนตรีผิวขาวมาผสมผสานกับดนตรีผิวดำ โดยการผนวกเอาดนตรีเวสท์ โคสห์ บลูส์มาเข้ากับชิคาโก บลูส์ ศิลปินผู้นี้ คือ Chuck Berry ชัค เบอร์รี เริ่มก้าวเข้ามาในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 ด้วยเพลงยอดนิยม คือ Maybelline รูปแบบดนตรีของ เบอร์รี นั้นมีลักษณะสนุกสนาน เร็วและแรง จึงกลายเป็นสิ่งที่นักดนตรีร็อครุ่นหลังนำเอาเยี่ยงอย่างไปใช้กันมากมาย โดยเฉพาะเทคนิคการเล่นกีตาร์ที่กระแทกกระทั้น และลีลาการเต้นโยกไปกับกีตาร์บนเวทีของเขาแบบเมามันเขย่าอารมณ์ ซึ่ง เบอร์รี มีท่าเฉพาะของเขาที่เรียกว่า “Duckwalk” หรือท่าเป็ดเดิน ที่ใครๆมักนำไปเลียนแบบ จึงอาจกล่าวได้ว่า ชัค เบอร์รี ก็คือปรมาจารย์คนหนึ่งของนักดนตรีร็อคในยุคตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา
ถึงแม้ว่า เบอร์รี จะเป็นศิลปินผิวดำ แต่ดนตรีริธึม แอนด์ บลูส์ที่ เบอร์รี สร้างสรรค์ขึ้นนี้กลับได้รับความนิยมในหมู่คนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำด้วยกันเสียอีก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นก็คือ บทเพลงส่วนใหญ่ของ เบอร์รี มักกล่าวถึงสังคมทั้งคนผิวขาวและผิวดำผสมผสานกันแบบไม่มีกำแพงแบ่งแยก และด้วยเหตุนี้เอง ดนตรีของเขาจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงดนตรีร็อคผิวขาวในยุคต่อมาที่ถือเป็นวงแถวหน้า เช่น The Beatles, The Rolling Stones, The Beach Boys, Lonnie Mack และ Johnny River
ชัค เบอร์รี เกิดในปี ค.ศ. 1926 มีชื่อจริงคือ Charles Edward Anderson Berry เติบโตขึ้นในครอบครัวที่รักดนตรี พ่อและแม่เป็นนักร้องเพลงกอสเปลในโบสถ์ และมีน้องสาวที่เล่นออร์แกนให้กับโบสถ์เดียวกัน ส่วนพี่สาวเป็นนักร้องเสียงดี เคยอัดเสียงร่วมกับ ชัค เบอร์รี ในขณะที่ยังเรียนอยู่ไฮสคูล เบอร์รี เริ่มจับกีตาร์มาแต่เด็ก เขาสนใจดนตรีชิคาโก บลูส์และฝึกลูกเล่นตามแบบอย่างศิลปินชิคาโก บลูส์ดังๆหลายคน พอจบไฮสคูลแล้ว เบอร์รี ไม่ได้ยึดอาชีพนักดนตรีแต่อย่างใด แต่ไปเป็นช่างตัดผมเพื่อหาเลี้ยงตัวอยู่ที่เมืองเซ็นหลุยส์ระยะหนึ่งก่อน กระทั่งต่อมาเมื่อเขาสามารถรวบรวมสมาชิกเพื่อก่อตั้งคณะดนตรีได้สำเร็จ จึงเลิกอาชีพช่างตัดผมแล้วออกหางานแสดงดนตรีกับเพื่อนๆตามความฝัน โดยเริ่มเล่นดนตรีแนวเวสท์ โคสท์ คันทรี และบลูส์ ทำให้ดนตรีริธีม แอนด์ บลูส์ของ ชัค เบอร์รี จึงมีสำเนียงของดนตรีทั้งผิวขาวและผิวดำผสมผสานกัน
กระทั่งในปี ค.ศ. 1955 ชัค เบอร์รี จึงได้มีฮิตเพลงแรกที่โด่งดังจนขึ้นถึงอันดับ 1 คือเพลง เมย์เบลลีน และในปี ค.ศ. 1958 ชื่อเสียง ชัค เบอร์รี ก็ข้ามไปโด่งดังถึงฝั่งอังกฤษ เมื่อเพลง Sweet Little Sixteen ไปติดอันดับที่นั่น และทำให้ดนตรีริธึม แอนด์ บลูส์ได้รับความนิยมยิ่งขึ้นไปอีกมากมายในอังกฤษ และนอกจากเพลงฮิตที่กล่าวถึงแล้ว ยังมีเพลงที่ถือเป็นเพลงธงของ เบอร์รี อีกหลายเพลงซึ่งล้วนแต่ถูกนำมาเล่นซ้ำ และกลายเป็นเพลงฮิตให้กับศิลปินร็อคในยุคต่อๆมามากมาย เช่น Thirty Days, Roll Over Beethoven, Schooldays, Rock and Roll Music, Johnny B. Goode, Carol, Memphis Tennessee, Little Queenie, Bye Bye Johnny และ Back In USA.
Fats Domino (แฟ็ตส์ โดมิโน)
ศิลปินรุ่นบุกเบิกและทำให้ดนตรีริธึม แอนด์ บลูส์ได้รับความนิยมอย่างสูงอีกคนหนึ่งที่อดกล่าวถึงไม่ได้ก็คือ Fats Domino แฟ็ตส์ โดมิโน มีชื่อจริงคือ Antoine Domino Jr. เกิดในปี ค.ศ. 1928 เป็นชาวนิว ออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา เขาเป็นศิลปินผิวดำอีกคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และมีช่วงเวลาแห่งความสำเร็จยาวนานกว่าใครทั้งหมดในยุคบุกเบิกยุคเดียวกัน ท่ามกลางความผันแปรที่กระแสดนตรีหันไปเทให้กับดนตรีร็อค แอนด์ โรลล์กันจนหมดในยุคทศวรรษที่ 60 แต่ดนตรีริธึม แอนด์ บลูส์แท้ๆของคนผิวดำก็ยังมี แฟ็ตส์ โดมิโน นี้เองที่ยินหยัดและคงรูปแบบซึ่งตนเองรวมบุกเบิกมาอย่างเหนียวแน่นโดยไม่ยอมหันเหแนวทางไปทางไหน
โดมิโน ไม่ใส่ใจว่าเด็กรุ่นใหม่จะเดินหน้าทำดนตรีแบบก้าวหน้าไปจนถึงจุดไหน เขายังคงเล่นดนตรีในแบบที่เขารักอยู่อย่างนั้น และยังคงได้รับความนิยมอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งล่วงเข้าถึงกลาง ทศวรรษที่ 60 โดมิโน ก็ยังคงมีชื่อเสียงท่ามกลางกระแสเพลงร็อค แอนด์ โรลล์ยุคใหม่อยู่อย่างนั้น แฟ็ตส์ โดมิโน มีชื่อเสียงขึ้นมาจากเพลง Ain’t That a Shame ในปี ค.ศ. 1955 ซึ่งต่อมา Pat Boone นักร้องเพลงพ็อพผิวขาวได้นำเพลงนี้ไปร้องซ้ำจนโด่งดัง และยิ่งทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในปีเดียวกัน
อันที่จริงแล้ว แฟตส์ โดมิโน มีผลงานก่อนหน้านี้มามากมายแล้ว เขาเริ่มทำงานดนตรีด้วยเพลงแบบริธึม แอนด์ บลูส์รูปแบบเฉพาะของนิวออร์ลีนส์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 และได้รับความนิยมในตลาดริธึม แอนด์ บลูส์อยู่ไม่น้อย จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1955 โดมิโน จึงได้กระโดดออกจากรูปแบบเก่า และทำเพลงริธึม แอนด์ บลูส์แบบเฉพาะของตัวเองที่มีจังหวะสนุกสนานและกระแทกกระทั่งมากยิ่งขึ้น ที่ต่อมาได้กลายเป็นรูปแบบให้วงร็อค แอนด์ โรลล์ยุคหลังนำไปใช้เป็นต้นแบบเช่นกัน เพลงฮิตของ แฟ็ตส์ โดมิโน มีเช่น I’m In Love Again, Blueberry Hill, Blue Monday, I’m Walkin’ และเพลงอื่นๆอีกมากมาย