What HI-FI? Thailand

ขุดราก Rock & Roll (ตอนที่ 4) กระแส “Pop Art” และการระเบิดของ ร็อค แอนด์ โรลล์

จ้อ ชีวาส

ทศวรรษที่ 50 ตลาดใหญ่ๆของโลกกระจุกตัวกันอยู่เพียง 2 ภูมิภาคคือสหรัฐอเมริกาและยุโรป เนื่องด้วยผลของการจัดการระบบเศรษฐกิจแนวใหม่ของโลก คือ “ทุนนิยม” ที่เขียนขึ้นโดยนักวิชาการทางระบบเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฟากฝั่งนั้นเอง เริ่มเผยให้เห็นผลออกเป็นวงกว้างแล้ว การลงทุนคือตัวจักรสำคัญในการบิดผันองคาพยพของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การค้า และการบริโภค  เงินทุนที่ใส่ลงไปต้องสามารถได้กลับคืนมาเป็นกำไรที่มากกว่า 5 เท่า ไม่ใช่เพียง 1-2 เท่าอย่างเคย  การแลกเปลี่ยนสินค้าก็มีความหมายที่แตกต่างออกไป มันไม่ใช่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนธรรมดาอีกต่อไป หากแต่สินค้าที่แลกเปลี่ยนต้องทำกำไรเป็นตัวเงินตามติดเข้ามาอย่างทวีคูณหลายเท่าตัวด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบการตลาดเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในสินค้าทุกๆชนิดเพื่อให้สามารถทำกำไรได้มากๆ ระบบการค้าการขายทั้งหมดจึงต้องแข่งขันเพื่อทำกำไรให้ได้มากกว่ากัน   ด้วยเหตุนี้สภาพตลาดการค้าทั้งหมดที่ใช้ระบบทุนนิยมจึงต่างต้องแข่งขันช่วงชิงกันเพื่อให้ได้ความเป็นต่อในเชิงธุรกิจที่เหนือกว่า ธุรกิจการค้าการขายจึงแปรสภาพกลายเป็นสนามรบแนวใหม่ซึ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเริ่มเข้าสู่กลางศตวรรษที่ 20 นั้นเอง  ซึ่งนับวันตลาดที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งทุกขณะ ต่างก็พุ่งเป้าหมายไปที่เป้าหมายหลักก็คือสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยเหตุปัจจัยที่ประเทศต่างๆในยุโรปไม่สามารถรวมกันได้ติด และประเทศใหญ่อย่างรัสเซียก็เป็นคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ทุนนิยม และสหรัฐอเมริกาก็มีพลเมืองจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภค โดยสหรัฐอเมริกาก็ยังมีแต้มต่อสำคัญก็คือความสามารถในการกำหนดค่าเงินดอลลาร์ของตนเป็นอัตราแลกเปลี่ยนหลักของตลาดโลกได้โดยอิสระอย่างไม่จำเป็นจะต้องมีการค้ำประกันใดๆ อย่างเช่นชาติอื่นๆที่ต้องมีทองคำเป็นหลักค้าประกัน  มีเพียงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เป็นตัวค้ำประกันเพียงอย่างเดียว  ด้วยเหตุนี้จึงสามารถละเลงเงินดอลลาร์ออกสู่ตลาดมากเท่าใดก็ได้ตามต้องการ ขอเพียงโลกเชื่อในเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาว่าไม่มีวันล่มลงได้เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้หากสหรัฐอเมริกาพลิกตัวไปทางไหน โลกก็ต้องพลิกไปทางนั้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง  สหรัฐอเมริกาจึงสามารถกำหนดตลาดตามใจตัวอย่างที่ใครๆก็ได้แต่ลอบมองค้อนโดยทำอะไรไม่ได้  ไม่เพียงตลาดการค้าเท่านั้นที่ไหลไปตามกระแสที่เกิดขึ้นกับโลกยุคใหม่ที่สหรัฐอเมริกาคล้ายเป็นผู้ครอบครองหลักอยู่เพียงกลุ่มเดียว ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม โลกก็ยังเดินหน้าไปในแนวของ “Pop Art” ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้จุดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 50 ด้วยอีกเช่นกัน ศิลปะและวัฒนธรรมนี้ยังรวมไปถึงตลาดทางด้านธุรกิจบันเทิงทั้งภาพยนตร์และดนตรีอีกด้วย  กระแส “ป็อป อาร์ต” ได้ทำให้สังคมของชาวอเมริกันและสังคมโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบ “สวิง” คือสะบัดกลับด้านพลิกผันอย่างรุนแรง  จนกระทั่งกลายเป็นความขัดแย้งที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมโดยทั่วไปเมื่อกระแสสังคมความคิดแบบเก่าและแบบใหม่ได้ปะทะกันอย่างรุนแรง นั่นคือความคิดความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชน “ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่” กับกระแสใหม่ก็คือ “หนุ่มๆสาวๆและเด็กๆ”  และเมื่อการแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้น ธุรกิจการค้าของโลกยุคใหม่จึงต่างพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มหลังซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ถูกชักจูงสู่วงจรทางการค้าได้ง่ายกว่า กระแสวัฒธรรม ป็อป อาร์ต จึงถูกจุดขึ้นไปทั่วอย่างไฟลามทุ่ง  ซึ่งตลาดทางด้านบันเทิงก็ถูกจุดขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจบันเทิงยุคใหม่ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมให้วัฒนธรรมกระแสใหม่นี้เฟื่องฟูขึ้นกันนอย่างพร้อมเพรียง

ตัวอย่างสินค้าที่มากับกระแส ป็อป อาร์ต และกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ถูกนำมาใช้ปลุกกระแสก็คือ “Coca Cola” และ “Levi”  ทางด้านภาพยนตร์นั้น ภาพยนตร์ของตลาดวัยรุ่นก็เริ่มมีออกมามากขึ้น  ดาราวัยรุ่นถูกนำมาใช้สร้างกระแสให้เกิดปรากฏการณ์ “คลั่งดารา”  ด้วยการสร้าง “Idol” ให้สังคมหนุ่มสาวคลั่งไคล้บูชา เพื่อเป็นจุดขายและสร้างไลน์สินค้าต่างๆออกมามากๆสำหรับดูดเงินจากกระเป๋าของแฟนๆวัยรุ่นที่คลั่งไคล้  มันจึงทำให้เกิดธุรกิจที่แตกสายออกมาอย่างมากมายพร้อมกับกระแสความคลั่งไคล้ดารานี้  เมื่อภาพยนตร์และการสร้างดารากลายเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกับกระแสวัฒนธรรมใหม่นี้  สูตรสำเร็จนี้ก็ถูกนำไปใช้กับวงการเพลงและวงการดนตรีด้วยเช่นกัน  จนในที่สุดมันจึงกลายเป็นธุรกิจสามประสานที่แยกกันไม่ออกระหว่าง ภาพยนตร์-ดนตรี-ผลิตภัณฑ์  ภาพยนตร์เรื่องเด่นต้องมีดาราดัง และมีเพลงดังๆเสริมเข้าไปเพื่อให้ขายได้ แล้วเมื่อภาพยนตร์เป็นที่นิยม สินค้าเครื่องใช้ต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกันนั้นก็จะถูกผลิตออกมาเรียกเงิน เป็นกระแสธุรกิจแบบใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนขนาดธุรกิจของมันเมื่อใหญ่โตมากๆนั้น ถึงกับมีการนำกิจการเข้าไปซื้อขายกันในตลาดหุ้นเลยทีเดียว

สำหรับวงการดนตรีนั้น ทศวรรษที่ 50 ยังเป็นทศวรรษแห่งการสวิงตัวของรูปแบบดนตรีแนวใหม่ที่เกิดขึ้นและเติบโตมากับกระแส ป็อป อาร์ต และวัฒนธรรมใหม่ของชาวอเมริกันเช่นกัน นั่นก็คือ  “Rock And Roll”

การเกิดขึ้นของ “ร็อค แอนด์ โรลล์” คือแรงระเบิดลูกใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้เห็นและได้สัมผัส  ร็อค แอนด์ โรลล์ ก็คือความภาคภูมิใจของคนอเมริกันที่เป็นผู้ทำให้ดนตรีกระแสนี้เกิดขึ้นในบรรณพิภพ กระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เหนี่ยวรั้งกระแสสังคมของคนหนุ่มคนสาวทั่วทั้งโลกเอาไว้ด้วยกัน และเป็นภาษาของดนตรีที่ใช้สื่อสารเป็นภาษาเดียวกัน วัฒนธรรม ร็อค แอนด์ โรลล์ นี้เริ่มเส้นทางเดินของมันโดยรุกข้ามแอตแลนติกจากอเมริกาสู่เกาะอังกฤษเป็นแห่งแรกแล้วจึงแผ่ขยายข้ามไปบนแผ่นดินยุโรปและที่ต่างๆอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมันถูกแพร่เข้าไปที่ใดก็ตาม ก็ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างความเก่ากับความใหม่ขึ้นทุกหนแห่ง เกิดการต่อต้านกับกระแสดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ จากอเมริกาขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะในอังกฤษนั้นรุนแรงมาก ทั้งนักดนตรีพื้นบ้านและผู้นิยมดนตรีชั้นสูงหรือกลุ่มชนชั้น “ผู้ดี” ต่างก็ต่อต้านและพยายามผลักไสดนตรีแนวนี้ออกไป ไม่ต้องการให้เจริญงอกงามขึ้นในอังกฤษ  แต่อย่างไรก็ดีสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ทำให้สังคมอังกฤษไม่ได้เอื้ออำนวยให้กลุ่มที่ต่อต้านสมปรารถนาตามใจตนนัก เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นพร้อมกับปัญหามากมายภายหลังสงคราม รวมถึงการระบาดของแฟชั่น “Teddy Boy” ทำให้เด็กรุ่นใหม่เริ่มกล้าแสดงออกและมีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ทำให้เด็กๆในอังกฤษต่างหันหน้าเข้าหาดนตรีแบบใหม่ที่มาจากอเมริกาคือ ร็อค แอนด์ โรลล์ กันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นกระแสคลั่งไคล้ที่ระบาดไปทั่วทุกหนแห่งอย่างรวดเร็วจนฉุดไม่อยู่

ปี ค.ศ. 1954  ร็อค แอนด์ โรลล์ ระเบิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริงโดยวง Bill Haley and the Comets ที่นำเพลง “Rock Around the Clock” ขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งในสหรัฐอเมริกา และในเวลาไล่เลี่ยกันก็สามารถนำเพลงนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้าไปไต่ขึ้นถึงอันดับ 6 ในชาร์ตของอังกฤษ นอกจากนี้ Lonnie Donegan ศิลปินเพลงชาวอังกฤษก็สามารถสร้างกระแสคลั่งไคล้ดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ด้วยเพลงของเขาในอังกฤษด้วยเช่นกัน  เมื่อกระแสเพลงอเมริกันสามารถบุกตลาดเข้าสู่อังกฤษได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ จึงเป็นการยากที่คนรุ่นเก่าในอังกฤษต่อต้านหรือสกัดกั้นแต่อย่างใดได้อีก และดูจะยิ่งไม่มีหนทางใดที่จะหยุดยั้งความคลั่งไคล้ครั้งใหม่นี้ได้เลยเมื่อ Elvis Presley นำเพลง Heartbreak Hotel เข้าไปติดในชาร์ต บริติช ท็อพ 20  และต่อมา Carl Perkins ก็มีผลงานตามมาติดๆ  อีกทั้งยังมี Frankie Lymon and the Teenagers, Fats Domino, Gene Vincent and the Blue Caps, The Platters ก็ล้วนเป็นชาวอเมริกันที่ร่วมสร้างผลงานไปสู่ชาวอังกฤษด้วยเช่นกัน  กระแสเพลงฮิตในเวลานั้นข้ามฝั่งแอตแลนติกได้รวดเร็วมาก เพียงแค่เปิดฟังกันที่อเมริกาเพียงไม่กี่คืน เพลงนั้นก็จะดังข้ามฝั่งไปถึงอังกฤษในทันที  ความนิยมในอังกฤษจึงไล่เลี่ยกันกับตลาดในสหรัฐฯควบคู่กันเช่นนี้เรื่อยมา  เหตุผลหนึ่งที่นักดนตรีพื้นบ้านของอังกฤษปฏิเสธการเกิดขึ้นของ ร็อค แอนด์ โรลล์ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเขาไม่ได้ซึมซับกับรากฐานของดนตรีชนิดนี้มาก่อนนั่นเอง  อันที่จริง ร็อค แอนด์ โรลล์ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่มันแตกหน่อออกมาจากรากของดนตรีหลายๆสายในสหรัฐอเมริกากว่าที่จะกลายมาเป็นเพลง “ร็อค” ได้ ซึ่งคนอังกฤษส่วนใหญ่นั้นไม่เคยสัมผัสและรับรู้ถึงข่าวคราวการเคลื่อนไหวของดนตรีชนิดนี้อย่างแท้จริงมาก่อนเลย แต่แล้วจู่ๆ ร็อค แอนด์ โรลล์ ก็เกิดระบาดเข้าไปในอังกฤษอย่างรวดเร็ว ทุกๆคนต่างบ้าคลั่งไปกับมันอย่างที่พวกเขายังไม่ทันตั้งตัวเสียด้วยซ้ำ พวกเขาจึงคิดว่าปรากฏการณ์นี้อาจสร้างผลเสียและกระทบกระเทือนต่อวงการดนตรีของอังกฤษเองจึงไม่อาจยอมรับได้

อังกฤษได้หันมาสนใจดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ อย่างจริงจังในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 เพราะไม่อาจทัดทานต่อกระแสคลั่งไคล้ที่รุนแรงนี้ได้อีกต่อไป ซึ่งก็คล้ายๆกับในสหรัฐอเมริกาเองก่อนหน้านั้น ที่เหล่าผู้ใหญ่และพวกหัวเก่าเริ่มต่อต้านเพลงประเภทนี้ไม่ได้อีกต่อไปเช่นกันจนต้องยอมถอยฉากออกไปในที่สุด  ก่อนหน้านั้นวงการดนตรีระดับสูงหรือแม้แต่บริษัทผู้ผลิตแผ่นเสียงในอังกฤษเองก็ยังคงมองว่าดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ อาจคงมาเป็นเพียงกระแสคลื่นกระทบฝั่ง มาแรงอยู่ชั่วพักชั่วยามแล้วดับมอดลงไปเองจึงคอยดูเชิงกันต่อไป  บริษัทแผ่นเสียงจึงยังไม่กล้านำผลประโยชน์ลงไปพัวพันกับมันมากเท่าใดนัก พวกเขาคงคิดว่ามันมองไม่เห็นทางที่จะได้รับผลกำไรแต่อย่างใด อีกทั้งการกีดกันดนตรีต่างด้าวยังคงมีกันอยู่โดยทั่วไปในอังกฤษ แต่นับวันดนตรีประเภทนี้กลับทวีความนิยมและคลั่งไคล้กันมากขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวและวัยรุ่นยุคใหม่ และดูจะไม่สามารถหยุดยั้งได้อีกต่อไป จนกระทั่ง ร็อค แอนด์ โรลล์ ได้เข้ามาปฏิวัติค่านิยมใหม่ด้วยตัวของมันเอง และเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมดไปในที่สุด จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมยุคใหม่ในอังกฤษไปโดยปริยาย ซึ่งมันก็เป็นเช่นนี้เหมือนๆกันในทุกหนแห่งที่มันเดินทางไปถึง  ร็อค แอนด์ โรลล์ จึงกลายเป็นสิ่งที่ปฏิวัติกระแสสังคมใหม่ที่ไม่เพียงแต่โลกดนตรีเท่านั้น แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง เนื่องจากมันถูกผูกติดไปกับกระแสการตลาด และกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมไปโดยปริยาย

Bill Haley

หัวชนวนระเบิดลูกใหม่

เคยมีคนบอกว่า “ถ้าหากพระเจ้าไม่ส่งให้ บิลล์ ฮาลีย์ มาเกิด โลกนี้คงยังไม่มีใครได้รู้จักกับคำว่า ร็อค แอนด์ โรลล์ ดีพอ”  ก็เห็นจะไม่ใช่คำกล่าวที่เกินความจริงแต่ประการใดสำหรับสิ่งที่เขาทำขึ้นและได้บันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีจนทุกวันนี้  บิลล์ ฮาลีย์ ทำให้คนทั้งโลกรู้จักกับคำว่า ร็อค แอนด์ โรลล์ ด้วยเพลงฮิตเพลงแรกกับวง เธอะ โคเม็ตส์ คือ Rock Around the Clock ในปี ค.ศ. 1954  เขาเริ่มงานดนตรีด้วยการเล่นเพลง คันทรี และต่อมาก็เป็น เวสเทิร์น สวิง กับเพื่อนๆ จนก้าวเข้ามาเล่นดนตรีแบบ ริธึม แอนด์ บลูส์ บ้าง แล้วรู้สึกรักมัน จึงพัฒนาแนวของเขาขึ้นเอง โดยคิดรูปแบบดนตรีที่มีลักษณะการเล่นที่เร็วและโยกไปมาตามจังหวะ โดยเรียกดนตรีแบบนี้วา ”Shake”  เพลงแบบ “เชค” ของ บิลล์ ฮาลีย์ ก็คือจุดเริ่มต้น ร็อค แอนด์ โรลล์ ในแบบของ บิลล์ ฮาลีย์ นั่นเอง

บิลล์ ฮาลีย์ อายุเกือบจะ 30 ปีพอดีในวันที่เขาได้สร้างปรากฏการณ์ไว้ให้โลกได้รู้จักกับรูปแบบของดนตรี  “เชค”  ที่เขาเล่นกับวง เธอะ โคเม็ตส์  เป็นสิ่งที่น่าแปลกเมื่อบุคลิกของเขาและสมาชิกคณะทุกคนดูเป็นผู้ใหญ่เกินไปกว่าที่จะเป็นขวัญใจของเด็กวัยรุ่นได้  แต่เพลงจังหวะ เชค ของเขามีจังหวะที่โดนใจวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ดนตรีเขย่าอารมณ์ในจังหวะเต้นรำใหม่ถอดรูปแบบเขย่าสะโพกโยกขาที่ บิลล์ ฮาลีย์ นำเสนอออกมา กลายเป็นสิ่งที่แพร่ระบาดและติดกันง่ายดายอย่างรวดเร็ว  วง บิลล์ ฮาลีย์ แอนด์ เธอะ โคเม็ตส์ เป็นแกนนำของวัยรุ่นในสหรัฐฯที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงกลางของทศวรรษที่ 50 ทุกๆพื้นที่ที่พวกเขาไปปรากฏตัวแทบจะต้องมีการเบียดเสียดเยียดยัดกันอย่างแน่นขนัดไปทั่วทั้งฮอลล์และฟลอร์เต้นรำ ทุกคนกรีดร้อง ตื่นตา และเร้าอารมณ์กับลีลาอันสั่นสะท้านของ บิลล์ ฮาลีย์  และวง เธอะ โคเม็ตส์ ของเขา  กลุ่มวัยรุ่นต่างคลั่งไคล้ในแนวทางใหม่เอี่ยมที่พวกเขาหยิบยื่นให้ คล้ายทุกคนลืมพฤติกรรมของตนเองเมื่อได้ยินเพลงของ บิลล์ ฮาลีย์ แอนด์ เธอะ โคเม็ตส์  ไม่เคยมียุคใดสมัยใดก่อนหน้านี้ที่จะมีปรากฏการณ์เช่นนี้ออกมาให้เห็น มันคือปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสังคมคนอเมริกันที่เกิดภาพเช่นนี้ขึ้น จึงไม่แปลกเลยที่เหล่าผู้ใหญ่ต่างมองดูด้วยความไม่ชอบใจที่มีภาพเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะพวกเขาปรับตัวรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ทันนั่นเอง

บิลล์ ฮาลีย์ ใช้ชีวิตเติบโตขึ้นในครอบครัวชาวไร่ที่เมืองเชสเตอร์ใกล้ๆกับฟิลาเดลเฟีย เขาเริ่มเล่นดนตรีแบบ ป็อป คันทรี ตามแบบของคนท้องถิ่นซึ่งฝึกฝนจากสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังและจดจำไว้จากศิลปินในอดีตหลายคน  ในระหว่างปี ค.ศ. 1945 ถึง ค.ศ. 1948  เขาได้มีโอกาสออกตระเวนแสดงดนตรีกับพรรคพวกอยู่บ้าง โดยออกเล่นในละแวกบ้านและเมืองใกล้ๆ กระทั่งต่อมาเมื่อเขากลับมาที่เชสเตอร์อีกครั้ง  บิลล์ ฮาลีย์ จึงได้เข้าทำงานกับสถานีวิทยุท้องถิ่น WPWA  ซึ่งทำให้เขาได้พบปะกับเพื่อนพ้องที่มีความคิดแนวเดียวกันที่กำลังชอบเพลงแบบ เวสเทิร์น สวิง อีกหลายคน จึงได้ก่อตั้งคณะดนตรีขึ้นคณะหนึ่งขึ้นในระหว่างนั้น โดยมีชื่อวงว่า Four Aces of Western Swing  กระทั่งในปี ค.ศ. 1949 คณะดนตรีคณะนี้ก็ได้บันทึกเสียงกับบริษัทแผ่นเสียงเล็กๆบริษัทหนึ่งเป็นครั้งแรก

ในปี ค.ศ. 1951 บิลล์ ฮาลีย์ ได้ตั้งคณะดนตรีคณะใหม่ขึ้นชื่อว่า The Saddlemen  ในครั้งนี้เขาสลัดคราบของดนตรีแบบ เวสเทิร์น สวิง ออก เนื่องจากดนตรีชนิดนี้เริ่มเสื่อมความนิยมลงแล้วในเวลานั้น เขาเริ่มสนใจดนตรีของทางใต้คือ ริธึม แอนด์ บลูส์ ของคนผิวดำ  งานชุด Rocket 88 คือผลงานแบบ ริธึม แอนด์ บลูส์ ซึ่ง บิลล์ ฮาลีย์ ได้บันทึกเสียงที่ Sam Phillip Studio ในเมมฟิส  พอถึงปี ค.ศ. 1954 บิลล์ ฮาลีย์ จึงเริ่มฟอร์มวงใหม่ภายใต้ชื่อ เธอะ โคเม็ตส์ และตกลงเซ็นสัญญาอัดเสียงกับบริษัท Decca Records  สมาชิกร่วมคณะในเวลานั้นมีRudy Pompilli (แซ็กโซโฟน), Johnny Grande (เปียโน, แอ็คคอเดียน), Fran Beecher (ลีด กีตาร์), Al REX (เบสส์), Billy Williamson (สตีล กีตาร์) และ Ralph Jones (กลอง) โดยอยู่ภายใต้การควบคุมการผลิตของ Milt Cabler โปรดิวเซอร์หัวกะทิผู้ซึ่งเคยทำงานชิ้นโด่งดังให้กับศิลปินริธึม แอนด์ บลูส์ยุคบุกเบิกอย่าง Lewis Jordan มาก่อน จนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1954 นั่นเองที่งานชิ้นประวัติศาสตร์คือ ร็อค อะราวด์ เธอะ คล็อค จึงได้ออกวางจำหน่าย

จากความสำเร็จอย่างงดงามของ ร็อค อะราวด์ เธอะ คล็อค มันได้เปิดยุคสมัยของดนตรีจังหวะใหม่ขึ้นในทันที  ซึ่งผลครั้งนี้ได้ทำให้ Dave Myers แห่ง เดคคา ต้องคิดหาลู่ทางการประชาสัมพันธ์ให้กับวง เธอะ โคเม็ตส์ อย่างชนิดพลิกตำรา  ไมเออร์ส หาวิถีทางชักนำให้บริษัทสร้างภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่อย่าง MGM ได้นำเอาเพลง ร็อค อะราวด์ เธอะ คล็อค นี้ไปใส่ไว้ในภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1955 เรื่อง The Blackboard Jungle ด้วย และทันทีที่ภาพยนตร์ชุดนี้ออกมา มันกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงิน ซึ่งก็ทำให้ บิลล์ ฮาลีย์ และวง เธอะ โคเม็ตส์ พลอยติดตลาดความนิยมทั่วทั่งประเทศในเวลาอันรวดเร็วด้วยเช่นกัน  แต่ผลพวงทางด้านลบของทั้งภาพยนตร์และเพลงของ บิลล์ ฮาลีย์ ที่ติดหางเลขด้วยก็คือ เกิดการต่อต้านทั้งหนังและเพลงไปทั่วเมื่อมันถูกนำออกฉาย เนื้อหาของหนังนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าทำให้วัฒนธรรมเสื่อมเสีย มันแสดงออกถึงชีวิตของคนหนุ่มคนสาวที่จะแจ้งจนเกินไป ความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ ความก้าวร้าวต่อครูบาอาจารย์ และหลายต่อหลายตอนที่แสดงถึงการขบถต่อวัฒนธรรมและจารีตแบบเดิมที่แหกกฎของศีลธรรม  สิ่งเหล่านี้ถูกเหล่าผู้ปกครองของเด็กๆมองว่า ผู้สร้างจงใจปลูกฝังความเชื่อแบบผิดๆให้กับเด็กๆของพวกเขา  แต่เด็กๆเหล่านั้นกลับคิดตรงกันข้ามกับผู้ใหญ่ มันคือการปลดปล่อยพวกเขาออกจากกรอบของผู้ใหญ่ที่ทำให้พวกเขาอึดอัดมากกว่า จึงเกิดเป็นกระแสที่เดินกันคนละทางขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมชาวอเมริกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ที่ชัดเจนที่สุด  ซึ่งก็ทำให้เพลงของ บิลล์ ฮาลีย์ พลอยถูกกระแสต่อต้านตามไปด้วยเช่นกัน  แต่ก็ใช่ว่าการถูกต่อต้านจะเป็นการปิดกั้นหนทางไปสู่ความรุ่งโรจน์ของ บิลล์ ฮาลีย์ และคณะ มันกลับยิ่งทำให้เพลงของพวกเขาเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก  และอาจเป็นเพราะสถานการณ์ครั้งนั้นเองที่ทำให้สื่อต่างๆเริ่มสนใจที่จะเล่นข่าว จนกลายเป็นการปลุกกระแสของดนตรีแบบใหม่นี้ไปอย่างไม่รู้ตัว เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นการปลุกให้ดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ได้กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ระเบิดขึ้นกลางทศวรรษที่ 50 นั้นเอง

ภายหลังจากทำให้แรงระเบิด ร็อค แอน์ โรลล์ เกิดขึ้นแล้ว  บิลล์ ฮาลีย์ มีชีวิตอยู่ดูเมล็ดพันธุ์ที่เขาหว่านลงดินเติบโตขึ้นได้อีกเพียงสองทศวรรษเท่านั้น เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1981  ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของชีวิตนั้น บิลล์ ฮาลีย์ ก็ยังตระเวนแสดงอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง แม้การเดินทางครั้งสุดท้ายของเขาจะเป็นไปอย่างค่อนข้างจะเงียบเชียบ แต่ตัวเขาก็คงพอเพียงกับชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ที่ได้มา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเขาและผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นได้ถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไว้อย่างยาวเหยียดแล้ว  บิลล์ ฮาลีย์ จึงหยุดการแสวงหาเพียงเท่านั้น แต่ในสิ่งหนึ่งที่เขาหยุดมันไม่ได้นั่นก็คือดนตรี เขามีความสุขกับการได้เล่นดนตรี ด้วยเหตุนี้ บิลล์ ฮาลีย์ จึงยังคงจับกีตาร์จวบจนวันสุดท้ายที่ได้อำลาโลกนี้ไป ลาก่อน บิลล์ ฮาลีย์ ผู้จุดระเบิด ร็อค แอน์ โรลล์ ลูกแรกให้ระเบิดขึ้นโลกใบนี้


Exit mobile version