What HI-FI? Thailand

ขุดราก Rock & Roll (ตอนที่ 3) วัฒนาการที่ไม่หยุดยั้ง เริ่มต้นยุคความหลากหลาย

จ้อ ชีวาส

เมื่อโลกเริ่มผ่านช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด  ระเบิดอะตอม 2 ลูกที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่น ไม่เพียงบีบบังคับให้ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมันจำยอมจำนนเท่านั้น  แต่มันคล้ายเป็นการประกาศการเริ่มต้นแห่งยุคสมัยของวิทยาการใหม่ๆให้เกิดขึ้น โลกเจ็บช้ำและสูญเสียไปกับการโรมรันพันตูของทั้งสองฝ่ายมากพอดู  ในยุคสมัยถัดมาจึงเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูซากปรักหักพัง  การฟื้นฟูทำให้ประเทศมหาอำนาจหลังสงครามต่างพยายามที่เดินเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยวิทยาการใหม่ๆ พวกเขาพยายามคิดค้นสิ่งต่างๆที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลกใบนี้ให้เห็นเป็นจริงและจับต้องได้  วิทยาการใหม่ๆรวมไปถึงวิทยาการทางด้านบันเทิงทั้งวงการภาพยนตร์และดนตรีด้วย

วิทยาการใหม่ๆทำให้เรารู้จักกับช่องทางข่าวสารและการบันเทิงมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  เรารับชมภาพยนตร์และข่าวสารได้สะดวกขึ้นด้วย “โทรทัศน์” เราได้สัมผัสกับระบบ “สเตรีโอ” และสามารถรับฟังวิทยุด้วยระบบกระจายเสียงที่สมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม  เราสามารถรับฟังเพลงที่ให้เสียงชัดเจนขึ้นกว่าเดิม กระทั่งต่อมาก็เริ่มรู้จักกับวิทยุติดรถยนต์ นั่นหมายถึงผู้คนสามารถเดินทางไปและรับฟังทั้งเพลงและข่าวสารไปได้ทุกหนทุกแห่ง  เมื่อโลกก้าวสู่ก้าวกระโดดทางวิทยาการเหล่านี้ไปอีกขั้น  ธุรกิจก็ยิ่งดำเนินเส้นทางที่ใหญ่โตกว้างขวางขึ้น และเติบโตยิ่งขึ้น  มันคือกฎธรรมชาติที่เมื่อธุรกิจเติบโต มันจะเกิดการแข่งขันมากขึ้น และพลวัตรต่างๆก็จะถูกผลักดันไปตามกระแสของการเติบโตนั้นเอง  มันจึงเป็นยุคสมัยแห่งการเริ่มต้นของความหลากหลายโดยมีแต้มต่อทางธุรกิจเป็นเป้ากำหนดอย่างแท้จริง

Jazz เมื่อคนดำปลดปล่อยความทุกข์ออกจากวิญญาณ

เพลงบลูส์อาจเป็นรากเหง้าของดนตรีคนดำที่เกิดขึ้นในแผ่นดินอเมริกาโดยเติบโตมาเป็นเส้นขนานกับเพลงคันทรีของคนขาวที่มีมาก่อนหน้า  แต่ดูเพลงบลูส์จะได้รับความนิยมเป็นวงกว้างมากกว่า เนื่องจากคนผิวขาวมากมายที่หันมาสนใจเพลงบลูส์  ในขณะที่คนผิวดำนั้นไม่สามารถเข้าไปชื่นชมกับเพลงคันทรีของคนขาวได้มากนัก  เมื่อบลูส์เติบโตขึ้น  นักดนตรีผิวดำมากมายที่สามารถหารายได้จากเพลงบลูส์ที่พวกเขาเล่นและทำให้ท้องอิ่ม  เพลงบลูส์ก็เริ่มดำเนินมาถึงทางแยกที่ต้องเดิน  กลุ่มนักดนตรีผิวดำจำนวนหนึ่งหันไปหาวิธีการเล่นดนตรีที่ใช้รูปแบบของถิ่นกำเนิดในอาฟริกา มีเครื่องเคาะจังหวะ มีนักร้องทั้งชายและหญิง ร้องเพลงและร่ายลีลาแบบที่สืบทอดกันมาโดยสายเลือดจากพื้นเมืองอาฟริกัน ดนตรีแบบนี้ฟังดูมีความสนุกสนานมากกว่าความหดหู่แบบบลูส์ดั้งเดิม มันแทรกไว้ด้วยอารมณ์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างอิสระด้วยเสียงเพลง  ดนตรีแบบนี้เองที่ต่อมาเติบโตขึ้นเป็นดนตรีที่เรียกว่า “Jazz”  มันเกิดขึ้นมาในช่วงตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 20 จะเริ่มต้นเสียอีก  โดยนักดนตรีที่เล่นเพลงแบบนี้ได้เริ่มตั้งกลุ่มกันขึ้นใน นิว ออร์ลีนส์  ดนตรีแจ็ซซ์นั้นเกิดขึ้นโดยการผสมวัฒนธรรมทางดนตรีแบบอาฟริกันเข้ากับวัฒนธรรมดนตรีที่ใช้สำหรับเต้นรำของคนผิวขาว  เมื่อหนุ่มสาวต้องการเต้นรำ ดนตรีสำหรับเต้นรำก็มีขึ้น และเมื่อคนผิวดำต้องการมีเพลงเต้นรำบ้างจึงนำเอาเพลงเต้นรำแบบคนขาวมาใช้กับรูปแบบดนตรีของตนเอง  ดนตรีแบบนี้จึงเกิดขึ้นและเดินทางเข้าสู่นิว ออร์ลีนส์แหล่งรวมของโรงเต้นรำหรือคลับมากมาย  ไม่นานเพลงของคนผิวดำก็ได้รับการยอมรับและถูกนำเข้าไปเล่นในโรงเต้นรำหรือคลับบ้าง

เมื่อคนดำนำเพลงรูปแบบเช่นนี้ไปเล่น มันมีบุคลิกเฉพาะแบบที่คนขาวไม่เคยเห็นและไม่เคยฟังเพลงที่มีจังหวะจะโคนผสมผสานแบบอิสระเช่นนี้มาก่อน  ดนตรีแจ็ซซ์จึงกลายเป็นกระแสดนตรีของคนดำอีกกระแสหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากคนขาวกันอย่างกว้างขวาง

เพลงแจ็ซซ์ก็มีเส้นทางการเติบโตแตกออกเป็นสายต่างๆด้วยเช่นกัน โดยก่อนปี ค.ศ. 1900 นั้นมีดนตรีที่เป็นรากของแจ็ซซ์ที่เติบโตมาสู่ปัจจุบันเกิดขึ้นก่อนเรียกว่าเพลงแบบ “Ragtime” เป็นแจ็ซซ์รุ่นบุกเบิกก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่และธุรกิจดนตรีของนิว ออร์ลีนส์ในราวปี 1910 หรือทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20  เมื่อเพลงแจ็ซซ์เดินทางสู่นิว ออร์ลีนส์ มันถูกเรียกอย่างรวมๆว่า “นิว ออร์ลีนส์ แจ็ซซ์”  ซึ่งเมื่อมาถึงขณะนั้นเพลงแจ็ซซ์เริ่มทันสมัยขึ้นด้วยการใช้เครื่องดนตรีมากชิ้นขึ้นโดยเฉพาะเปียโนและเครื่องเป่าเช่นแซ็กโซโฟนกับทรัมเป็ต  จากนิว ออร์ลีนส์ เพลงแจ็ซซ์ยังคงแตกสายทางออกไปอีกเป็น “Dixieland” เป็น “Chicago” เป็น “Swing” และ “Bebop”  และเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆกว่าจะเป็นแจ็ซซ์ที่ยังใช้เล่นใช้ร้องกันอยู่ในปัจจุบัน มันได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบเปลี่ยนวิธีการเล่นมามากมายแล้ว

Honkytonk คันทรีคนขาวที่ถอดรูปจากบลูส์คนดำ

ช่วงทศวรรษที่ 40-50  เพลงบลูส์ยังคงเป็นกระแสหลักที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและวัฒนาการทางกระแสดนตรี แต่ตลาดดนตรีใหญ่ก็ยังคงอยู่ในกำมือของคนผิวขาว  หลังสงครามถึงแม้วิทยาการจะทำให้สหรัฐอเมริกาดูเจริญขึ้น แต่ขีดศีลธรรมในหัวใจยังไม่ดีขึ้นในหลายๆภูมิภาคของประเทศ การกีดกันสีผิวและเกลียดชังคนผิวสียังคงดำเนินไปเรื่อยๆ  แต่สิ่งหนึ่งที่คนขาวไม่อาจปฏิเสธก็คือการขโมยสมบัติของคนดำมาใช้อย่างหนึ่งคือ“เพลงบลูส์”  ด้วยเหตุนี้ทำให้คนขาวพยายามที่จะนำเพลงบลูส์มาประยุกต์ดัดแปลงให้เป็นของตนเองอย่างไม่ต้องคิดตะขิดตะขวงใจอยู่เสมอ  จนกระทั่งมาถึงยุคของนักร้องนักแต่งเพลงผิวขาวจากอลาบามาชื่อ Hank Williams เกิดโด่งดังขึ้นมาด้วยเพลงแบบ “Honkytonk “

แฮงค์ วิลเลียมส์ เดินตามรอย จิมมี ร็อดเจอร์ส ผู้บุกเบิกหักล้างถางพงสร้างดนตรีบลูส์ของคนขาวขึ้น จนเป็นเพลงคันทรีที่มีรูปแบบแปลกไปจากเดิมที่คนขาวเคยเล่นกัน ดนตรี ฮองกีทองค์ ก็ผันแปรรูปแบบมาอีกทอดหนึ่ง  ฮองกีทองค์ เป็นรูปแบบเพลงคันทรีที่ไม่ยุ่งเหยิงเช่นคันทรี แบนด์ทั่วไป ดนตรีแบบนี้มักเป็นการเล่าเรื่องจากชีวิตจริงหรือบทโคลงกลอนที่จดจำกันมา  แฮงค์ วิลเลียมส์ เขียนเพลงดังประเภทนี้ไว้มากมายในช่วงเวลานั้น เช่น Cold Cold Heart, You Win Again, Your Cheatin’ Heart, I’m So  Lonesome I Could Cry, There’ll Be No Teardrops Tonight  แฮงค์ วิลเลียมส์ ได้ทำให้เพลงแบบฮองกีทองค์โด่งดังขึ้นจนกลายเป็นเพลงที่เปิดที่ฟังกันอย่างแพร่หลายในช่วงนั้น และดูจะเป็นนักดนตรีประเภทนี้คนเดียวที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 40  แต่แล้วเมื่ออายุเพียง 30  แฮงค์ วิลเลียมส์ ก็ต้องลาจากโลกนี้ไปเพราะการเสพยาเกินขนาด หากแต่ชื่อเสียงของเขาก็ยังคงเป็นที่จดจำกันจนทุกวันนี้

นอกจาก แฮงค์ วิลเลียมส์ แล้ว นักร้องประเภทฮองกีทองค์ในยุคเดียวกันยังมี Ernest Tubb, Kitty Wells, Webb Pierce และ Lefty Frizzell   เพลงฮองกีทองค์ในยุคนี้มีเนื้อหาออกมาในหลายๆลักษณะแต่ก็ล้วนแล้วเป็นการแสดงออกถึงการใช้ชีวิตของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่  ทั้งการเดินทาง การต่อสู้ผจญภัย หรือการระหกระเหินเช่นเพลง Slipping Around, Wild Side of Life เพลงแบบคนสำมะเลเทเมาเช่น There Stands The Glass และเพลงของคนที่อ้างว้างว้าเหว่เช่น Walking The Floor Over You  ภาพพจน์ของนักดนตรีแบบฮองกีทองค์นั้นมักถูกสร้างให้เป็นภาพของพวกนักแสวงโชค พวกไม่มีหลักไม่มีฐานแน่นอน ไม่มีสตางค์ ชีวิตไม่มีแก่นสารและมักจมปลักกับบาร์เหล้า ปราศจากเพื่อนปราศจากความรัก วันๆไม่มีอะไรดีไปกว่าการดื่มและพรํ่าเพ้อแต่สิ่งไร้สาระ  เหมือนพวกคนจรนั่นเอง

แรกๆดนตรีฮองกีทองค์มักจะเล่นร้องโดยนักร้องเพียงคนเดียวกับอะคูสติคกีตาร์เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของเพลงบลูส์ในยุคแรกๆ  แต่ต่อมาก็พัฒนาตัวเองขึ้นเป็นวง มีการนำ”ฟิดเดิล (Fiddle)” หรือซอฝรั่งมาใช้ด้วย โดยมีกีตาร์ ริธึมกีตาร์ และเบสส์เป็นแบ็คอัพให้  กระทั่งต่อมาเมื่อเครื่องดนตรีไฟฟ้าถูกใช้กันอย่างแพร่หลายนักดนตรีแบบฮองกีย์ทองค์ก็กระโดดเข้าสู่ยุคของเครื่องไฟฟ้ากันบ้าง

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นทางด้านตลาดเพลงคันทรีแท้ๆเองก็ยังคงดำเนินไปอย่างปกติ นักร้องเพลงคันทรีก็ยังคงดำเนินผลงานของตนออกมาในกลุ่มผู้ฟังของตน  นักร้องคันทรีสองคนที่มีคุณูปการต่อวงการเพลงคันทรีคือ Roy Acuff และ Hank Snow ทั้งสองเป็นที่โดดเด่นขึ้นโดยนำเสนอแนวทางใหม่ให้กับเพลงคันทรี พวกเขาใช้บทเพลงที่พูดถึงความหวังใหม่และเชิงคำสอนของพระเจ้า ทำให้เพลงคันทรีเริ่มมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ขึ้นบ้างจากเดิมที่เป็นไปเพียงเพื่อชีวิตและสังคมแบบของชาวชนบทเท่านั้น  อะคัฟฟ์ มีเพลงดังคือ Wabash Cannonball, Freight Train Blues  ส่วน สโนว์ ก็มี I’m Moving On และ The Golden Rocket  เพลงเหล่านี้ยังคงเป็นอิทธิพลให้กับวงการคันทรีในยุคต่อๆมาอีกด้วย ทั้ง อคัฟฟ์ และ สโนว์ เป็นเสมือนผู้จุดประกายของเพลงคันทรีให้สว่างขึ้น และยังเป็นผู้บุกเบิกเพลงแนวคันทรีให้เป็นที่นิยมสู่วงกว้าง ให้มีตลาดเฉพาะของตัวเองอยู่จนทุกวันนี้ (เพลงคันทรี เดิมเป็นเพลงข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอังกฤษกับกลุ่มคนชนชั้นล่างกลุ่มบุกเบิกที่ขึ้นมาในแผ่นดินอเมริกาตอนเหนือ เมื่อพวกเขาเดินทางรอนแรมบุกเบิกข้ามฝั่งเพื่อหาดินแดนสำหรับลงหลักปักฐานเพาะปลูกในฝั่งตะวันตก พวกเขาได้ใช้ดนตรีที่ติดตัวมาร้องเล่นกันด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านง่ายๆอย่าง ซอ ฮาร์พ แอ็คโคเดียน และเครื่องเคาะที่ใช้ “Washboard” หรือกระดานซักผ้า  ต่อมาเมื่อเพลงแบบนี้นิยมกันอย่างแพร่หลายขึ้น จึงมีการรวมกลุ่มเป็นวงและมีกีตาร์เข้ามาช่วย จนกระทั่งประยุกต์มาเป็นเพลงรูปแบบต่างๆดังที่กล่าวมา)

Bluegrass ดนตรีผสมผสานระหว่างคันทรี บลูส์และแจ็ซซ์

ตั้งแต่กลุ่มดนตรีจากฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงทศวรรษที่ 30-40 ทำให้ตลาดดนตรีทางฝั่งตะวันตกเริ่มเป็นที่สนใจ  มีดนตรีอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากดินแดนทางแถบนั้นเรียกว่า “Bluegrass” และเริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็วติดตามมา  บลูกราสส์ สืบเชื้อสายมาจากดนตรีสตริง แบนด์ของกลุ่มคนที่เรียกว่า “Hillbilly” หรือคนภูเขา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายและมีสังคมมีวัฒนธรรมแบบของคนชนบท พวกเขามีรูปแบบดนตรีของตนเอง และเริ่มออกสู่โลกภายนอกจนเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ทศวรรษที่ 20-30 มาแล้ว ดนตรีแบบ “ฮิลล์บิลลี” เติบโตมาจากฐานเดิมคือเพลงคันทรีที่มากับพื้นถิ่นของคนที่อพยพมาอยู่ในแผ่นดินอเมริกาตั้งแต่รุ่นแรกๆ และมีความใกล้เคียงกับรากเดิมมากที่สุด  เดิมทีนั้นพวกเขาใช้เครื่องดนตรีเพียงสามชิ้นคือ ซอ แบนโจ และกีตาร์  แต่ต่อมาเมื่อแตกสายออกมาเป็น บลูกราสส์ แล้วได้มีการเพิ่มเอาเบสส์และแมนโดลินเข้ามาใช้ด้วย  ดนตรีแบบนี้เน้นที่น้ำเสียงการร้องและลูกเล่นการใช้นิ้วที่ฉับไวในการเล่นเครื่องดนตรี ที่สำคัญคือบลูกราสส์จะหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าทั้งหมด เครื่องดนตรีทุกชิ้นจะให้เสียงจริงของมันเอง แม้แต่เบสส์ก็ต้องใช้ดับเบิลเบสส์ เป็นการพยายามให้มีความใกล้ชิดกับเสียงของธรรมชาติมากที่สุด  เนื้อเพลงจะเป็นประเภทโคลงกลอนและเรื่องราวเก่าๆ ทั้งยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อเก่าๆทางด้านศาสนา   บลูกราสส์ ยังเป็นการทำให้ผู้คนได้เริ่มหันกลับไปสนใจบรรยากาศของเพลงแบบคันทรีและบลูส์เก่าๆได้อีกเช่นกัน

https://www.youtube.com/watch?v=I16YOPmmZbs

บลูกราสส์ เกิดจากการผสมผสานอิทธิพลดนตรีหลายๆแบบทั้งคันทรี บลูส์ และแจ็ซซ์ หรือมีการเปรียบเพลงแบบบลูกราสส์ก็คือการเอาเพลงดั้งเดิมมาใส่จังหวะจะโคนและเร่งให้มันมีความเร็วและฉับไวขึ้นนั่นเอง  วงที่ทำให้ดนตรีประเภทบลูกราสส์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากก็คือ The Stanley Brothers และ Bill Monroe and His Blueglass Boys  โดยเฉพาะ บิลล์ มอนโร นักร้องและนักแมนโดลิน สามารถทำให้การใช้สำเนียงการร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของเขากลายเป็นที่นิยม และกลายเป็นต้นแบบให้กับวงดนตรีคณะอื่นๆนำไปใช้ นั่นคือการร้องที่ใช้เสียงด้นสูงอย่างที่เรียกว่าเสียงแบบ “Mountain Hightenor” ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่สร้างบุคลิกให้กับเพลงแบบบลูกราสส์  Earl Scruggs เป็นนักดนตรีประเภทนี้อีกคนที่สร้างชื่อเสียงจากบลูกราสส์ เขามีฝีไม้ลายมือในการเล่นแบนโจที่ว่องไวเป็นพิเศษ  ซึ่ง เอิร์ล สครักก์ส ก็ยังคงเป็นศิลปินบลูกราสส์ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงและยังมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันในทำเนียบของเพลงคันทรี แอนด์ เวสเทิร์น

ดนตรี บลูกราสส์ นี้กำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 40 จนกระทั่งถึงทศวรรษที่ 50  และอาจเรียกได้ว่า บลูกราสส์ นี้มีส่วนอย่างยิ่งในการก่อให้เกิดกระแสของดนตรีแบบร็อค แอนด์ โรลล์ขึ้น  เพลงแบบบลูกราสส์เป็นการวางรากฐานให้กับดนตรียุคต่อๆมาที่ต้องการใช้จังหวะจะโคนที่กระชับฉับไว ที่มีความเร็วขึ้น  วง The Everly Brothers เป็นวงที่เริ่มต้นการนำเอาอิทธิพลของเพลงบลูกราสส์มาใช้ และพัฒนาดนตรีเข้าสู่ยุคที่วงการดนตรีต้องการฟังเพลงที่มีความรวดเร็วฉับไวและมีพลังขึ้น   งานยุคแรกๆของ Elvis Presley ก็ได้ Bill Black มาเล่นเบสส์แบบแปดห้องตามรูปแบบของบลูกราสส์ที่กำหนดไว้ในเพลงของ บิลล์  มอนโร มาก่อนหน้ายุคของเขาราวเจ็ดถึงแปดปี  อีกทั้งการเล่นแบบเป็นกลุ่มและการร้องเสียงคับคอในรูปแบบบลูกราสส์ยังถูกนำมาใช้กับเพลงในยุคสมัยของร็อค แอนด์ โรลล์กันอย่างแพร่หลาย

Rhythm & Blues เพลงบลูส์ที่จับจังหวะใส่ไว้ให้มีชีวิตชีวา

เพลงแบบ Rhythm & Blues เกิดขึ้นราวยุคกลางทศวรรษที่ 40  ริธึม แอนด์ บลูส์ถือกำเนิดขึ้นจากนักดนตรีผิวดำที่คิดทำเพลงของพวกเขาให้มีมีจังหวะที่สนุกสนานขึ้น  อันที่จริงแล้วมันเริ่มเติบโตต่อเนื่องมาจากแนวคิดของนักดนตรีผิวดำที่ให้กำเนิดดนตรีแจ็ซซ์ขึ้นหลายทศวรรษก่อนหน้าแล้ว  และเมื่อกระแสดนตรีของคนดำผ่านช่วงยุคสมัยของดนตรีมาสู่ความใหม่ที่ใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่โดยเฉพาะเครื่องดนตรีไฟฟ้าต่างๆ  แม้แต่บลูส์ยุคดั้งเดิมก็ยังถูกกระแสของวัฒนธรรมเครื่องไฟฟ้าเข้าไปทำให้บลูส์มีความแปลกใหม่ไปจากเดิมจนกลายเป็นยุคของ ”อิเล็คตริค บลูส์” ได้  นักดนตรีกลุ่ม”เลือดใหม่”กลุ่มหนึ่งจึงคิดที่จะทำให้เพลงบลูส์สามารถให้อารมณ์ที่สนุกสนานขึ้น เพลงแจ็ซซ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมานานอาจให้อารมณ์ที่สนุกสนานได้ มันอาจมีจังหวะจะโคนที่สนุกเหมือนกับตัวโน้ตทุกตัวนั้นเป็นอิสระและมีชีวิตชีวา  แต่มันก็ซับซ้อนและไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัวที่จะควบคุมดูแลให้เพลงทั้งเพลงดำเนินไปตามแนวเดียวกันได้

https://www.youtube.com/watch?v=0rEsVp5tiDQ

กลุ่มศิลปินเช่น Louis Jordan, Ray Charles และ Fats Domino  ได้เริ่มวางแนวคิดใส่จังหวะที่กระชับและตายตัวให้กับงานดนตรีของพวกเขา  เพลงในแบบที่พวกเขาเล่นนั้นเรียกว่า “ริธึม แอนด์ บลูส์”

Rockabilly ต้นกำเนิดของเพลงร็อค

อาจเรียกได้ว่า Rockabilly คือต้นกำเนิดของร็อค แอนด์ โรลล์อย่างแท้จริง  ร็อคอะบิลลี ถือกำเนิดมาจากแผ่นดินทางใต้ของสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 50  ชื่อนี้หมายถึง “ร็อคแบบของคนภูเขา” หรือ “ฮิลล์บิลลี” นั่นเอง  ซึ่งเพลงแบบนี้ก็คือดนตรีสายของคันทรีในอีกลักษณะหนึ่ง  รูปแบบของ ร็อคอะบิลลี รับช่วงแบบอย่างมาจาก บลูกราสส์ ไว้ชัดเจนมาก  แต่ ร็อคอะบิลลี เป็นดนตรีลูกผสมหลายๆแบบ  นักดนตรีดังๆที่ทำดนตรีแบบนี้ออกมาเช่น Bill Haley  บิลล์ ฮาลีย์ เอาเพลงแบบเวสเทิร์น สวิง และริธึม แอนด์บลูส์เข้ามาใช้ด้วย  รูปแบบจังหวะของ ร็อคอะบิลลี เป็นดนตรีที่ฉับไวมากขึ้นกว่าบลูกราสส์  กีตาร์จะเป็นเครื่องดนตรีหลักที่ทำให้เพลงมีความไพเราะน่าฟังขึ้น ในยุคของร็อคอะบิลลีนี่เองที่ทำให้เกิดนักกีตาร์ฝีมือดีขึ้นมากมายเช่น Scotty Moore และ Eddie Cochran  เสียงกีตาร์จะกรีดสำเนียงอย่างน่าระทึกใจ ส่วนเบสส์กับกลองจะตบกระชับจังหวะให้เข้ากันได้ดี  ส่วนเสียงร้องของนักร้องเพลงแบบนี้จะฟังคล้ายๆกับไม่ตั้งใจร้อง รวดเร็ว และออกเสียงแปลกๆ มีทั้งเสียงร้องกรีด เสียงตะกุกตะกัก บางทีก็ทำเป็นเสียงติดอ่าง  ตัวอย่างเช่น  Elvis Presley Jerry Lee Lewis และ Carl Perkins ทั้งสามคือนักร้องเพลงร็อคอะบิลลีที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก

https://www.youtube.com/watch?v=J3sUgxx4Jvw

ในตอนหน้าก็จะเข้าสู่กลางทศวรรษ 50  ช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อกระแสวงการดนตรีในสหรัฐอเมริกาตลาดใหญ่ของดนตรีตะวันตก  ช่วงปีที่เกิด “The King” ขึ้นในวงการ “ร็อค แอนด์ โรลล์”

Exit mobile version