What HI-FI? Thailand

ขุดราก Rock & Roll (ตอนที่ 12) สังคมอังกฤษก่อนถึงยุค Beatlemania และ British Invasion

จ้อ ชีวาส

ประเทศอังกฤษได้รับการสืบทอดวัฒนธรรมทางดนตรีสมัยใหม่ที่หลั่งไหลมาจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษที่ 30 เป็นต้นมา  ยุคสมัย “Jazz Age” ที่เฟื่องฟูในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 1920 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้สังคมสหรัฐฯต่างคลั่งไคล้กับเพลงแจ็ซซ์ พร้อมๆกับแฟชั่น Flapper กันถ้วนทั่ว ทั้งสองสิ่งนี้กลายเป็นของคู่กันซึ่งได้รับความนิยมไปทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว ทุกหนแห่งตามเมืองใหญ่ๆจะเห็นแฟชั่น แฟล็ปเปอร์ ละลานตาไปหมด พร้อมกับโรงเต้นรำที่เล่นเพลงแจ็ซซ์ต่างก็ผุดกันขึ้นมาอย่างมากมายด้วยเช่นกัน ผู้คนต่างสนุกสนานกับเพลงแจ็ซซ์ และเต้นรำ Jazz Dance กันอย่างสนุกสนาน

สังคมอเมริกันเวลานั้นแตกต่างจากสังคมของประเทศใหญ่ๆในยุโรปเช่น อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ที่ได้รับความเสียหายจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1914-1918 อย่างมากมาย แต่สหรัฐอเมริกาไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดสงคราม และเข้าสู่สงครามในช่วงท้ายๆหลังจากที่สงครามสู้รบกันอย่างดุเดือดในยุโรป หลังสงครามครั้งนั้นยุติลงสหรัฐอเมริกาจึงเป็นฝ่ายได้แต่เพียงอย่างเดียว  ทั้งที่ทุกประเทศในยุโรป หรือแม้ในเอเชียตะวันตกต่างก็ได้รับความบอบช้ำกันจนถ้วนทั่ว จึงทำให้เศรษฐกิจในสหรัฐฯเฟื่องฟูขึ้นภายหลังสงครามครั้งนั้นอย่างมากจนแทบไม่มีผู้แข่งขัน ดนตรีแจ็ซซ์ และแฟชั่น แฟล็ปเปอร์ จึงเป็นสิ่งสะท้อนยุคสมัยแห่งความเฟื่องฟูของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี และสองสิ่งนี้ก็ถือเป็นวัฒนธรรมส่งออกจากสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ที่รับเอากระแสนี้เข้าไปในสังคมของตนกันอย่างถ้วนทั่ว

โดยเฉพาะที่อังกฤษนั้นทั้งดนตรี แจ็ซซ์ และแฟชั่น แฟล็ปเปอร์ ได้ไหลบ่าเข้าไปแทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิมในสังคมของตนมากกว่าที่อื่นๆ นับแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมาถือว่าเป็นยุคสมัยที่ดนตรีแจ็ซซ์เริ่มเป็นที่นิยมในอังกฤษอย่างมากมายเลยทีเดียว  กระทั่งช่วงทศวรรษที่ 50 เป็นต้นมา อังกฤษก็รับเอาวัฒนธรรมทางดนตรีชนิดใหม่เข้าไป นั่นก็คือ “ร็อค แอนด์ โรลล์”  ที่ไหลบ่าจากสหรัฐอเมริกาข้ามไปยังอังกฤษระลอกใหญ่อีกระลอกหนึ่ง

ปรากฏการณ์ Skiffle Revival

กระแส ร็อค แอนด์ โรลล์ ในอังกฤษถูกปลุกขึ้นโดยดนตรีที่เรียกว่า สคิฟเฟิล ซึ่งก็คือดนตรีลูกผสมระหว่าง บลูส์ แจ็ซซ์ และ โฟล์ค ตามที่กล่าวมาแล้ว  ดนตรีประเภทนี้แม้จะมีถิ่นกำเนิดมาจากนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ช่วงราวทศวรรษที่ 1920  แต่ก็ค่อยๆเสื่อมความนิยมลงไปจนหายไปจากตลาดในช่วงทศวรรษที่ 1940  จนกระทั่งข้ามไปได้รับความนิยมในอังกฤษแทนในช่วงทศวรรษที่ 1950 พร้อมกับการเกิดขึ้นของกระแส ร็อค แอนด์ โรลล์ ในสหรัฐอเมริกา  อาจกล่าวได้ว่า ร็อค แอนด์ โรลล์ ที่ข้ามฝั่งเข้าไปยังอังกฤษนั้น ถูกปลุกขึ้นโดยดนตรี สคิฟเฟิล ก่อนนั่นเอง จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Skiffle Revival” 

ซึ่งผู้ที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นคนปลุกกระแส สคิฟเฟิล ขึ้นมาในอังกฤษจนเป็นที่แพร่หลายก็คือ Lonnie Donegan  และต่อมาก็เกิดวง สคิฟเฟิล ของเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ๆติดตามออกมามากมาย ที่ต่อมาเด็กหนุ่มเหล่านี้ล้วนเติบโตขึ้นกระทั่งกลายเป็นตำนาน ร็อค แอนด์ โรลล์ จากฟากฝั่งอังกฤษทั้งสิ้น เช่น Van Morrison, Alexis Korner, John Lennon, Mick Jagger, Roger Daltrey, Jimmy Page, Ritchie Blackmore, Ronnie Wood, Alex Harvey, Robin Trower, David Gilmour, Graham Nash, Allan Clarke และ  Barry Gibb เป็นต้น

นอกจากอิทธิพลของ ร็อค แอนด์ โรลล์ จะเดินทางข้ามแอตแลนติกเข้าไปยังอังกฤษผ่านทางกระแสดนตรี สคิฟเฟิล แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ร็อค แอนด์ โรลล์ โถมเข้าใส่สังคมคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ของอังกฤษจนเป็นที่แพร่หลายก็คือ อิทธิพลจาก Media หรือสื่อต่างๆนั่นเอง เช่น แผ่นเสียง โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร และ หนังสือพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะกระแสความคลั่งไคล้ Idol หรือดาราดังๆจากสหรัฐอเมริกามากมายที่อยู่ในกระแสความนิยม และยังมีการสร้างกระแสให้ดาราดังเหล่านั้นเป็นวีรบุรุษในใจของวัยรุ่น จนคนหนุ่มคนสาวชาวอังกฤษรุ่นใหม่ต่างหันมายึดเอาดาราเหล่านั้นเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตประจำวันกันเป็นทิวแถว  

สังคมอังกฤษภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานั้นเปลี่ยนไปอย่างมากจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำหลังสงคราม ถึงแม้อังกฤษจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้ชนะสงคราม แต่ก็เป็นชัยชนะที่มีต้นทุนสูงอย่างมากมายมหาศาล บ้านเมืองเสียหายจากภาวะสงคราม โดยเฉพาะลอนดอนนั้น ถูกระเบิดของเยอรมนีถล่มอย่างหนักจนตึกรามบ้านช่องเสียหายไปทั่วเมือง ครอบครัวต่างๆต่างประสบกับปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองจนอยู่กันอย่างยากลำบาก สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้สังคมครอบครัวเกิดปัญหาติดตามมาแทบทุกครอบครัว เกิดปัญหาสังคมที่เด็กๆรุ่นใหม่ไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างเช่นในอดีต เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่เริ่มรู้สึกว่าตนโตเป็นผู้ใหญ่ คิดเป็นทำเป็น ยิ่งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอน ก็ยิ่งบีบให้เด็กหนุ่มเด็กสาวเหล่านั้นต้องพึงตนเองมากขึ้น แทนที่จะรอให้ผู้ใหญ่หยิบยื่นเงินให้ใช้จ่าย พวกเขาก็เลือกที่จะออกจากบ้านมาหางานทำ มีสังคมเป็นของตัวเอง

เด็กหนุ่มเด็กสาวมากมายจึงหันไปรวมกลุ่มกัน ตั้งเป็นแก๊งวัยรุ่นกันขึ้น จับกลุ่มกันฝังตัวอยู่ตามแหล่งชุมนุมต่างๆ   และยิ่งเมื่อกระแสสังคมแบบเด็กหนุ่มเด็กสาวอเมริกันแพร่เข้าไปยังอังกฤษ เช่นภาพยนตร์เรื่อง “Blackboard Jungle” ที่สะท้อนสังคมวัยรุ่นอเมริกันในโรงเรียนมัธยมข้ามฝั่งไปฉายในอังกฤษ พร้อมกับเพลงฮิต “Rock Around the Clock” ที่ดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ยิ่งทำให้เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวในอังกฤษต้องการเดินตามรูปแบบชีวิตอิสระของชาวอเมริกันมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสังคมชนชั้นกลาง

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวของอังกฤษ โดยเฉพาะในสังคมชนชั้นกลางนั้นเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น เริ่มกล้าแสดงออกทางอารมณ์ที่ต้องการประชดประชันสังคม โดยเฉพาะสังคมชั้นสูงของอังกฤษ ที่พวกเขาเคยมีความรู้สึกถูกกดดันจากช่องว่างระหว่างชนชั้น ที่พวกชนชั้นสูงมักชอบแสดงตนเป็นผู้ดีและเหยียดหยามชนชั้นกลางอยู่เป็นประจำ เด็กหนุ่มเด็กสาวเหล่านั้นมีวิธีแสดงออกในรูปแบบต่างๆกัน แต่มีวิธีหนึ่งที่แสดงออกได้ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดก็คือเรื่องของ “แฟชั่น”  พวกเขานำแฟชั่นของพวก “ผู้ดี” ชั้นสูงมาล้อเลียนจนเกิดแฟชั่นที่เรียกว่า “Teddy Boy” ขึ้น  แฟชั่นแบบนี้ก็คือการนำแฟชั่นในยุค Edwardian หรือยุคสมัยกษัตริย์ Edward VII แห่งอังกฤษในทศวรรษที่ 1900 ที่พวกชั้นสูงนิยมสวมใส่ มาปรุงโฉมเสียใหม่ให้มีบุคลิกต่างไปจากที่เคยเป็นทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 จึงเห็นเด็กหนุ่มเด็กสาวแต่งกายแบบ เทดดี บอย และเต้นรำจังหวะ ร็อค แอนด์ โรลล์ กันทั่วบ้านทั่วเมือง

จากยุคของ เทดดี บอย  พอถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 เด็กหนุ่มเด็กสาวในอังกฤษก็เปลี่ยนสไตล์แฟชั่นของตน สืบเนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง “The Wild One” ที่นำแสดงโดย Marlon Brando และความโด่งดังของ Eddie Cochran กับ Gene Vincent ที่เข้ามาบุกตลาดดนตรีในอังกฤษ ภาพของหนุ่มขบถสวมเสื้อแจ็คเก็ตหนังและกางเกงยีนส์ ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือช็อปเปอร์ เป็นที่ติดตาตรึงใจวัยรุ่นหนุ่มสาวอังกฤษไปทั่ว คนกลุ่มหนึ่งจึงยึดบุคลิกนี้เป็นบุคลิกประจำกลุ่ม ชอบขี่ช็อปเปอร์เตร็ดเตร่ไปทั่วทั้งเมืองกันแบบยกแก๊ง เรียกกันว่าพวก “Rocker” เพราะชอบฟังเพลง ร็อค แอนด์ โรลล์ ของ Elvis Presley, Bo Diddley และ เอ็ดดี โคชแรน กับ ยีน วินเซนต์ เป็นชีวิตจิตใจ 

นอกจากพวก ร็อคเกอร์ แล้ว สังคมของวัยรุ่นหนุ่มสาวอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกันก็ยังมีกลุ่มคู่ขนานอีกกลุ่มเรียกว่าพวก “Mod”  พวก ม็อด จะมีแฟชั่นต่างไปจากพวก ร็อคเกอร์ อย่างเห็นได้ชัด พวกนี้นิยมสวมเสื้อโอเวอร์โค้ท หรือเสื้อคลุมยาว และขี่สกูตเตอร์กันเป็นแก๊งไปทั่วเมืองเช่นกัน แต่พวก ม็อด นั้นมีเสียงเพลงที่ชอบต่างจากพวก ร็อคเกอร์  พวก ม็อด ชอบเพลงประเภท ริธึม แอนด์ บลูส์ และเพลงประเภท “Beat” แบบของ Chuck Berry กับเพลงในแบบ “Ska”  ซึ่งเป็นดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ รูปแบบหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจาไมกา และความแตกต่างทั้งในด้านการแต่งกายและรสนิยมระหว่างคนสองกลุ่มนี้ ก็ทำให้คนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่กินเส้นกันไปด้วย ไม่ว่าคนทั้งสองกลุ่มจะพบกันที่ใด ก็มักจะเกิดเรื่องเกิดราวชกต่อยกันจนถึงยกพวกตีกันเป็นประจำด้วยเช่นกัน 

วัฒนธรรม ร็อคเกอร์ และ ม็อด ในสังคมอังกฤษนี้ดำรงไปจนกระทั่งถึงช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 1960 จึงค่อยๆจางหายไป เนื่องจากถูกแทนที่โดยวัฒนธรรมธรรมใหม่ ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากกระแสดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน  ความเคลื่อนไหวทางสังคมคนหนุ่มคนสาวครั้งใหม่ในอังกฤษนี้เรียกว่า “Carnaby Street”  ชื่อนี้มาจากชื่อของถนนอันเป็นย่านชอปปิงในลอนดอนที่เต็มไปด้วยร้านเสื้อผ้าแฟชั่นไปตลอดสองข้างถนน และที่ย่าน คาร์เนบี สตรีท นี้ก็มีร้านหล้าและคลับแสดงดนตรีอยู่เต็มไปหมด ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ถือเป็นตำนานของคลับที่วงดนตรีร็อคระดับตำนาน ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและที่อังกฤษเองต่างแวะเวียนเข้าไปแสดงที่นั่นกันเป็นประจำก็คือ Marquee Club  แม้คลับแห่งนี้จะตั้งอยู่คนละถนนกับ คาร์เนบี สตรีท แต่ก็อยู่บนถนนที่เชื่อมติดต่อถึงกันได้ คลับแห่งนี้นับเป็นตำนานของวงการ ร็อค แอนด์ โรลล์ อังกฤษนับจากทศวรรษที่ 1960 ไปจนกระทั่ง 1980 เลยทีเดียว

Liverpool อีกหนึ่งศูนย์กลางดนตรีร็อคของอังกฤษ

สำหรับความเคลื่อนไหวทางดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ อังกฤษนั้น นอกจากลอนดอนจะเป็นศูนย์กลางของดนตรีร็อคในอังกฤษแล้ว ยังมีอีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นศูนย์กลางดนตรีร็อคของอังกฤษนับจากปลายทศวรรษที่ 1950 เช่นกัน นั่นก็คือ Liverpool  ลิเวอร์พูล เป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของอังกฤษ ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลทิศตะวันตกของอังกฤษ บริเวณปากแม่น้ำ Mersey  เป็นจุดขึ้นเรือของเรือสินค้าต่างๆมาแต่อดีต จึงเป็นเหตุให้เมืองลิเวอร์พูลกลายเป็นแหล่งชุมนุมของเรือสินค้าจากชาติต่างๆ โดยเฉพาะเรือสินค้าจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากนิวยอร์ก และนิวออร์ลีนส์  สิ่งนี้ส่งผลให้ลิเวอร์พูลเป็นจุดแลกเปลี่ยนอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านต่างๆระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาที่สำคัญแห่งหนึ่ง รวมไปถึงอิทธิพลทางด้านดนตรีด้วย

ที่ลิเวอร์พูลถือเป็นประตูที่เปิดรับวัฒนธรรมทางดนตรีมาจากสหรัฐอเมริกา ด้วยการเข้ามาของเรือสินค้าและผู้คนที่เดินทางไปมาระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษโดยผ่านทางลิเวอร์พูลนี้เอง เพลงฮิตใหม่ๆ แผ่นเสียงใหม่ๆจากสหรัฐอเมริกา ก็จะเดินทางมาถึงลิเวอร์พูลก่อนที่อื่นๆ จึงทำให้เด็กวัยรุ่นคนหนุ่มคนสาวในลิเวอร์พูลต่างๆก็รู้จักกับดนตรีแบบ ริธึม แอนด์ บลูส์, คันทรี, ร็อคอะบิลลี ตลอดจนเพลง บลูส์ และ แจ๊ซซ์ จากสหรัฐอเมริกาก่อนที่อื่นๆ

ที่ลิเวอร์พูลจึงเต็มไปด้วยวงดนตรีเกิดขึ้นมามากมาย โดยที่วงต่างๆในลิเวอร์พูลได้นำเอาดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์, ดูวอป, บีท และ สคิฟเฟิล มาผสมผสานกันจนกลายเป็นดนตรีรูปแบบของชาวลิเวอร์พูลที่เรียกว่า “Merseybeat”  วงดนตรี เมอร์ซีย์บีท จากลิเวอร์พูลซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ The Beatles  นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายวงที่ล้วนเป็นตำนานทั้งสิ้น เช่น Rory Storm and the Hurricanes, Gerry and the Pacemakers, The Searchers, The Fourmost และ The Swinging Blue Jeans 

นอกจากนี้ยังมีวงดนตรีจากเมืองอื่นที่เล่นดนตรีแบบ บีท เช่นเดียวกับกลุ่ม เมอร์ซีย์บีท อีก ซึ่งวงดนตรีจากเมืองอื่นที่ไม่ใช่ลิเวอร์พูล จะถูกเรียกรวมๆกันว่า “British beat”  วงต่างๆเหล่านี้มีเช่น The Animals จากนิวคาสเซิล  Herman’s Hermits และ The Hollies จากแมนเชสเตอร์  The Move จากเบอร์มิงแฮม  The Troggs จากแฮมเชอร์  The Dave Clark Five, The Kinks, Manfred Mann, The Small Faces, The Who และ The Rolling Stones จากลอนดอน เป็นต้น 

แม้ดนตรี บีท จะมีถิ่นกำเนิดมาจากลิเวอร์พูล แต่ถึงอย่างไรลิเวอร์พูลก็ยังไม่ใช่ตลาดใหญ่ของธุรกิจดนตรี การสร้างผลงานให้ติดตลาด คณะดนตรีต่างๆจึงต้องมุ่งหน้าเข้าสู่ลอนดอนเมืองหลวง ที่ถือเป็นเป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจดนตรีหรือธุรกิจต่างๆของอังกฤษ แม้แต่ เธอะ บีทเทิลส์ ก็เช่นกัน

Beatlemania ความคลั่งไคล้ที่อยู่รอบวงดนตรีร็อคอังกฤษ

ที่ลิเวอร์พูลนั้น ตั้งแต่ดนตรี เมอร์ซีย์บีท หรือ บริติชบีท จะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนั้น  Ray McFall ซึ่งเป็นจัดการให้กับคณะดนตรีในลิเวอร์พูลหลายคณะ เกิดความคิดที่จะเปิดคลับเพื่อรวมคณะดนตรีในลิเวอร์พูลคณะต่างๆให้เข้าไปเปิดการแสดงที่นั่น โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับคณะดนตรีเหล่านั้นได้มีโอกาสเปิดตัวสู่ตลาดใหญ่ได้บ้าง หากมีแมวมองแวะเวียนมาพบเข้า จึงเข้าไปซื้อกิจการของคลับที่มีชื่อว่า “The Cavern Club” ตั้งอยู่ที่ถนนแมทธิว ในลิเวอร์พูล เริ่มเปิดขึ้นในปี ค.ศ. 1957 ซึ่งเป็นคลับของคณะดนตรีแจ็ซซ์มาก่อน จนกระทั่งดนตรี บีท เริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เธอะ คาเวิร์น คลับ จึงกลายเป็นศูนย์รวมของคณะดนตรี เมอร์ซีย์บีท ไปในที่สุด  

แต่ คาเวิร์น นั้นเปิดขึ้นโดยยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย  ที่นี่จึงเปิดอย่างไม่ค่อยจะเป็นเวลานัก บางครั้งก็จะเปิดช่วงกลางวัน บางครั้งก็เปิดตอนกลางคืน  คลับแห่งนี้ไม่มีการโฆษณา จะรู้กันในหมู่แฟนคลับกันจากปากต่อปากต่อปากเท่านั้น และ เธอะ บีทเทิลส์ ก็เป็นหนึ่งในคณะดนตรีที่เข้าไปแสดงที่ คาเวิร์น คลับ ด้วยเช่นกัน ซึ่งในตอนนั้นพวกเขายังคงใช้ชื่อคณะว่า The Quarrymen  โดยเปิดการแสดงที่นี่เป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1957  จนกระทั่งเมื่อพวกเขาเดินทางไปเปิดการแสดงที่คลับในฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1960  เมื่อกลับมาที่ลิเวอร์พูลแล้ว พวกเขาก็มาเปิดการแสดงที่ คาเวิร์น คลับ อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1961 ซึ่งเวลานั้นพวกเขาใช้ชื่อคณะว่า เธอะ บีทเทิลส์ แล้ว และที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีซึ่งทำให้คำว่า “Beatlemania” เกิดขึ้นบนโลกในเวลาต่อมา

เมื่อ Brain Epstein ได้ไปพบพวกเขาเข้าในฐานะแมวมองสมัครเล่น  เพราะเขาไม่ใช่ผู้จัดการวงดนตรีหรือคนที่ทำงานให้กับบริษัทแผ่นเสียงแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้จัดการร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับดนตรีและแผ่นเสียงในลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว และบังเอิญไปได้ยินลูกค้าคุยกันถึงเรื่อง คาเวิร์น คลับ จึงเกิดความสนใจและไปเยี่ยมคลับแห่งนั้นด้วยตัวเอง จนติดใจฝีมือของเด็กหนุ่ม 4 คนในนาม เธอะ บีทเทิลส์  และเสนอตัวเป็นผู้พาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งในตอนที่ ไบรอัน เอ็ปสไตน์ ไปชมการแสดงของ เธอะ บีทเทิลส์ ที่ คาเวิร์น คลับนั้น พวกเขามีสมาชิกคือ John Lennon, Paul McCartney, George Harrison และ Pete Best  กระทั่งเมื่อ ไบรอัน เอ็ปสไตน์ สามารถพาพวกเขาเข้าเซ็นสัญญากับบริษัท EMI Records ได้สำเร็จแล้วนั่นเอง จึงได้เปลี่ยนตัวมือกลองจาก พีท เบสต์ มาเป็น Ringo Starr ที่เคยอยู่กับวง รอรี สตอร์ม แอนด์ เธอะ เฮอร์ริเคน มาก่อน ตามคำแนะนำของ George Martin โพรดิวเซอร์ของ อีเอ็มไอ  จึงทำให้ พีท เบสต์ ต้องตกขบวนรถมุ่งไปสู่ความรุ่งโรจน์อย่างน่าเสียดายไปนับตั้งแต่นั้นเอง  และนอกจาก เธอะ บีทเทิลส์ แล้ว ต่อมา ไบรอัน เอ็ปสไตน์ ยังมีศิลปินคนอื่นๆเข้าอยู่ในสังกัดของเขาอีก เช่น Gerry and the Pacemakers, Billy J. Kramer and the Dakotas, The Fourmost, Cilla Black และ The Cyrkle

เธอะ บีทเทิลส์ เริ่มประสบความสำเร็จในอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 จากซิงเกิลชิ้นที่ 2 คือ Please Please Me ออกจำหน่ายในเดือนมกราคม ค.ศ. 1963 และขึ้นถึงอันดับ 1  หลังจากซิงเกิลชิ้นแรก คือ Love Me Do ที่ออกวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 สามารถขึ้นถึงอันดับสูงสุดเพียงอันดับที่ 17 เท่านั้น จากนั้นพวกเขาก็ออกเปิดการแสดงทัวร์ไปทั่วทั้งอังกฤษระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1963 โดยร่วมทัวร์ไปกับศิลปินดังอย่าง Helen Shapiro และ Roy Orbison  จากนั้นมาชื่อของ เธอะ บีทเทิลส์ ก็กลายเป็นความคลั่งไคล้ครั้งใหม่ที่เริ่มระบาดไปทั่วทั้งอังกฤษอย่างรวดเร็ว เพลงทุกเพลงที่ออกมาติดอันดับความนิยมสูงสุดเกือบทุกเพลง อัลบัมทุกชุดถูกสั่งจองล่วงหน้าเป็นเวลานานหลายเดือน สินค้าที่ระลึกต่างๆ เช่น รองเท้าบูท วิกผม เสื้อแจ็กเก็ต เข็มกลัด ได้ถูกผลิตออกมาจำหน่ายให้แก่แฟนเพลงของพวกเขาชนิดนับไม่ถ้วน ทั้งโทรทัศน์และวิทยุต่างก็เปิดเพลงของพวกเขาออกอากาศทุกวัน นิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างลงข่าวคราวของ เธอะ บีทเทิลส์ กันทุกฉบับ ความสำเร็จพรั่งพรูเข้าสู่พวกเขาอย่างไม่หยุดยั้ง  

ความโด่งดังของ เธอะ บีทเทิลส์ นี้ถึงกับทำให้ทางสำนักพระราชวังของอังกฤษได้เชิญพวกเขาไปแสดงต่อหน้าพระพักตร์ ราชินี เอลิซาเบธ ที่ 2 (Queen Elizabeth II) แห่งอังกฤษและสมาชิกราชวงศ์ ในคอนเสิร์ตการกุศลรายการ “Royal Variety Performance” ที่ Palace Theatre ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963  ปรากฏการณ์ “บีทเทิลเมเนีย” หรือความคลั่งไคล้ต่อวง เธอะ บีทเทิลส์ ได้เกิดขึ้นแล้วในอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 เป็นต้นมา แต่สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกานั้น เธอะ บีทเทิลส์ ยังไม่มีความคลั่งไคล้เกิดขึ้นเช่นที่อังกฤษ

British Invasion ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมกลางยุค 60s

บีทเทิลเมเนีย ที่สหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในปีต่อมา หลังจาก เธอะ บีทเทิลส์ เหยียบแผ่นดินสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1964 จากนั้นก็เริ่มตระเวนออกรายการและออกแสดงตามที่ต่างๆจนเกิดกระแสความคลั่งไคล้พวกเขากันไปทั่วไม่แพ้ในอังกฤษ  สำหรับสาเหตุที่ บีทเทิลเมเนีย เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอเมริกาล่าช้านั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน  อันที่จริงกระแสความนิยมของ เธอะ บีทเทิลส์ ได้ถูกปลุกขึ้นมาก่อนหน้านั้นตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1963 แล้ว โดยสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ รายการทีวีและวิทยุ ต่างก็ประโคมข่าวและนำผลงานของพวกเขามาเป็นระยะ ทำให้แฟนคลับชาวอเมริกันต่างก็เฝ้ารอคอยการมาของ เธอะ บีทเทิลส์ อย่างจดจ่อ ซึ่งพวกเขาก็มีแผนที่จะมาเปิดตัวที่สหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 1963 แล้ว แต่ก็เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐฯในเวลานั้น คือ John F. Kennedy ขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ขึ้นเสียก่อน ประชาชนจึงตกอยู่ในขวัญผวากันไปทั่วทั้งประเทศ

หมายกำหนดการณ์จึงเลื่อนมาจนข้ามมาถึงปี ค.ศ. 1964 เมื่อ เธอะ บีทเทิลส์ เหยียบแผ่นดินอเมริกาเป็นครั้งแรกที่สนามบิน John F. Kennedy International พวกเขาได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลงชาวอเมริกันที่ต่างแห่แหนกันมาต้อนรับ บีทเทิลส์ ทั้ง 4 กันอย่างล้นหลามเต็มสนามบิน ซึ่งต่างก็แสดงอาการดีใจที่ได้พบเห็นพวกเขาตัวเป็นๆด้วยการกรีดร้องจนหลายคนถึงกับเป็นลมล้มพับไป บีทเทิลเมเนีย เกิดขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่พวกเขาทั้ง 4 เหยียบแผ่นดินอเมริกาเป็นก้าวแรกแล้ว ซึ่งก็ทำให้หนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯต่างตกใจกับปรากฏการณ์นี้และเริ่มหวาดกลัวการบุกอเมริกาของ 4 หนุ่มจากอังกฤษครั้งนั้นว่าอาจทำให้ศิลปินอังกฤษแห่แหนกันข้ามมายังอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนั้นสหรัฐอเมริกาก็คงต้องถูกศิลปินอังกฤษยึดครองหัวหาดไปเป็นแน่ จึงต่างประโคมข่าวถึง เธอะ บีทเทิลส์ ในวันรุ่งขึ้นในเชิงลบ บ้างก็พาดหัวว่า “แมลงเต่าทองที่กัดกินอังกฤษ” หรือ “ความบ้าคลั่งจากอังกฤษกำลังมา”  บางฉบับถึงกับเขียนบทความปลุกให้ชาวอเมริกันให้ตระหนักถึงการรุกรานของชาวอังกฤษครั้งนี้ว่าอาจถูกอังกฤษยึดครองครั้งใหม่ด้วยกระแสความคลั่งไคล้นี้ โดยมีการตบท้ายด้วยประโยค “Beatles go home” กันเลยทีเดียว

แต่ถึงแม้สื่อมวลชนอเมริกันพยายามที่จะกีดกัน เธอะ บีทเทิลส์ อย่างไรก็ไม่เป็นผล เพราะกระแส บีทเทิลส์ นั้นแรงกลบเสียงของพวกเขาไปเรียบร้อยร้อยแล้ว ยิ่งเมื่อพวกเขาไปออกทีวีในรายการทีวีชื่อดังของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ชมมากกว่า 1 ล้าน 4 แสนคนคอยจดจ้องอยู่หน้าทีวีไม่ยอมให้พลาดรายการนี้ ก็คือรายการ “The Ed Sullivan Show” ในอีก 2 วันต่อมาหลังจากเดินทางมาถึงสหรัฐฯ ที่จัดรายการพิเศษเพื่อต้อนรับทั้ง 4 มีชื่อรายการว่า “A Hard Day Night Meet The Beatles” กระแส บีทเทิลเมเนีย ก็หยุดไม่อยู่เสียแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ บีทเทิลเมเนีย เท่านั้น ที่อังกฤษได้เข้ามายึดหัวหาดตลาดดนตรีของสหรัฐอเมริกา  เธอะ บีทเทิลส์ เป็นเพียงคลื่นยักษ์ สึนามิ ลูกแรกเท่านั้นที่ซัดเข้าใส่แผ่นดินอเมริกา นับจากนั้นเป็นต้นมายังมีคลื่นยักษ์ลูกอื่นๆติดตามเข้ามาอีกาเป็นระลอกๆ โดยเรียกปรากฏการณ์ต่อมานี้กันว่า “British Invasion”


Exit mobile version