จ้อ ชีวาส
The Beatles เป็นผู้ทำให้อังกฤษกลายเป็นศูนย์กลางของดนตรีสมัยใหม่ และเป็นผู้ปฏิวัติวงการดนตรีที่ทำให้ ร็อค แอนด์ โรลล์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของดนตรีสมัยใหม่นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา จนเกิดระแสที่เรียกว่า British Invasion หรือการรุกทางดนตรีจากเกาะอังกฤษ ที่ทำให้วงดนตรีร็อคจากอังกฤษวงแล้ววงเล่า เช่น The Rolling Stones, The Dave Clark Five, The Kinks, Herman’s Hermits และ The Animals รวมถึงวงดนตรีอังกฤษอีกเป็นจำนวนมาก ได้สร้างกระแสโด่งดังไปทั่วโลกติดตาม เธอะ บีทเทิลส์ กันเป็นทิวแถวตลอดช่วงเวลานับจากทศวรรษที่ 1960 ต่อเนื่องไปจนถึงทศวรรษ 1970
สำหรับทางฟากฝั่งสหรัฐอเมริกานั้นก็เกิดกระแสการปฏิวัติดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ขึ้นด้วยเช่นกัน นับจากที่ ทวิสต์ ได้สร้างอิทธิพลความคลั่งไคล้ของโลกดนตรีสองฟากฝั่งแอตแลนติกในช่วงปี ค.ศ. 1959 แล้ว ทวิสต์ ก็หมดความนิยมลงไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ทศวรรษใหม่ และ ทวิสต์ ก็นับเป็นอิทธิพลคนตรี พ็อพ จากฟิลาเดลเฟียที่เปลี่ยนแปลงยุคสมัยของดนตรีสมัยใหม่และครองตลาดดนตรีมาเป็นเวลาหลายปีลงไปด้วยเช่นกัน ก่อนหน้าที่ เธอะ บีทเทิลส์ จะบุกตลาดสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1964 และเปลี่ยนแปลงตลาดดนตรีในสหรัฐฯทั้งหมดนับตั้งแต่นั้นมา ในปี ค.ศ. 1963 ความเคลื่อนไหวของวงการของวงการดนตรีในสหรัฐอเมริกาได้มีการย้ายศูนย์กลางของตลาดดนตรีไปขึ้นกับเมืองใหญ่ 3 เมือง ที่ต่างเติบโตและขยายฐานความนิยมออกไปครอบคลุมพื้นที่ 3 ภูมิภาคของสหรัฐฯคือ แนชวิลล์ นิวยอร์ก และ ดีทรอยต์
แนชวิลล์
แนชวิลล์ ซาวน์ด ดนตรี คันทรี รูปแบบใหม่
เมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี นับเป็นศูนย์กลางของดนตรี คันทรี ยุคใหม่ที่เรียกกันว่า Nashville Sound ตั้งแต่ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา ดนตรีแบบ แนชวิลล์ ซาวน์ด นี้เป็นดนตรี คันทรี แบบประยุกต์ที่มีรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะ โดยนำเอาดนตรีแบบ ฮองกี ทองค์ ที่ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1940 ถึงต้นทศวรรษที่ 1950 กลับมาทำใหม่โดยใช้เครื่องดนตรีที่มีการพัฒนาขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องดนตรีแบบเต็มวง คือ กีตาร์ เบสส์ กลอง แล้ว ยังมีการนำเครื่องดนตรีที่ให้สำเนียงพื้นเมืองชนิดอื่นเข้ามาเสริมอีกด้วย อย่างเช่น สตีล กีตาร์ หรือกีตาร์ที่นำโลหะเข้ามาช่วยทำให้มีเสียงก้องกังวานมากยิ่งขึ้น และนำท่อโลหะเข้ามาใช้สำหรับรูดสายกีตาร์ให้เกิดเสียงลื่นไหล ซึ่งนำความคิดนี้มาจากเครื่องดนตรีฮาวาย นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีหลักอื่นๆอีก เช่น ฟิดเดิล หรือซอ และ แอคคอร์เดียน หรือหีบเพลง กับ ฮาร์โมนิกา หรือหีบเพลงปาก เป็นต้น พร้อมทั้งทำให้จังหวะจะโคน สำเนียงดนตรี รวมถึงเสียงร้องเสียงประสานที่กลมกลืนสดใสมากยิ่งขึ้น ไม่หยาบกร้านเช่นดนตรีแบบ ฮองกี ทองค์ ในอดีต
แนชวิลล์ ซาวน์ด เริ่มต้นขึ้นโดยกลุ่มนักดนตรี โปรดิวเซอร์ และเอนจิเนียร์ ของค่ายแผ่นเสียง RCA Victor ประจำแนชวิลล์ เทนเนสซี กลุ่มหนึ่ง นำโดย Chet Atkins, Steve Sholes, Owen Bradley and Bob Ferguson และ Bill Porter ได้ร่วมกันทำดนตรีดังกล่าวขึ้น และทำการบันทึกเสียง แนชวิลล์ ซาวน์ด หรือ คันทรี ยุคใหม่ขึ้นเพลงแรกในปี ค.ศ. 1957 ชื่อเพลง Four Walls ร้องโดย Jim Reeves สำหรับคำว่า แนชวิลล์ ซาวน์ด นั้นเกิดขึ้นจากการเรียกของสื่อมวลชนที่พยายามจะให้คำจำกัดความของดนตรี คันทรี รูปแบบใหม่นี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งต่อมาก็นิยมนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นชื่อเรียกดนตรีที่มีถิ่นกำเนิดในแนชวิลล์แบบนี้กันโดยทั่วไป
ศิลปิน แนชวิลล์ ซาวน์ด ที่โด่งดังนอกจาก จิม รีฟส์ แล้ว ยังมีเช่น Hank Locklin, Jimmy Dean, Patsy Cline, Lynn Anderson, Bob Luman, Glen Campbell, Floyd Cramer, Charlie Rich และ Charley Pride ศิลปิน คันทรี ผิวดำ ซึ่งไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก หรือแม้ Elvis Presley และ The Everly Brothers ก็ตาม ก็ยังมีผลงานบางส่วนที่เป็นอิทธิพลของ แนชวิลล์ ซาวน์ด ด้วยเช่นกัน ดนตรี แนชวิลล์ ซาวน์ด เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1960 จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1970 นั้นได้ถูกนำไปใช้ผสมผสานกับดนตรีรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะเพลง ร็อค จนกลายเป็นดนตรี Country Rock
นิวยอร์ก
คณะประสานเสียง ริธึม แอนด์ บลูส์ และ ดู-วอป
ส่วนทางด้านนิวยอร์กนั้นเป็นศูนย์กลางของดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ที่ครองตลาดใหญ่นับจากกลางทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา ซึ่งเวลานั้นดนตรี แของคนผิวดำได้เข้ามาอยู่ในความสนใจจากคนผิวขาวอย่างแพร่หลายแล้ว ทำให้คณะนักร้องนักนักดนตรีผิวดำต่างมุ่งหน้าเข้าสู่นิวยอร์กซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของดนตรีทางภาคเหนือของสหรัฐอเมริกาเพื่อมองหาลู่ทางสร้างความสำเร็จให้แก่พวกเขา
กระแสความนิยมในดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ นี้จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับคณะนักดนตรีผิวดำที่สามารถนำผลงานของตนเข้าสู่ตลาดใหญ่ของประเทศได้อย่างเต็มตัวเช่นดนตรีรูปแบบอื่นของคนผิวขาวเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะตลาดดนตรี พ็อพ ที่เป็นตลาดซึ่งสร้างมูลค่าให้อย่างมหาศาลนั้น คนผิวดำก็สามารถเข้ามาตีตลาดนี้ได้เป็นครั้งแรกด้วยดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ของพวกเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ทำให้ดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ สามารถเข้ามาครองอิทธิพลในเมืองศูนย์กลางดนตรีอย่างที่นิวยอร์กได้นั้น ก็คือกระแสความนิยมของดนตรีจากกลุ่ม Sun Records ในเมมฟิส เทนเนสซี เช่น เอลวิส เพรสลีย์, Carl Perkins, Johnny Cash และ Jerry Lee Lewis ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 ด้วยนั่นเอง
ส่วนศิลปินผิวดำคนแรกๆที่สามารถเข้าไปโด่งดังในตลาดนิวยอร์กได้ก็คือ Frankie Lymon แฟรงกี ไลมอน เป็นศิลปินพื้นถิ่นของนิวยอร์กเอง เขาเป็นชาวฮาเล็มในนิวยอร์ก ก่อตั้งวง The Teenagers ขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1954 แต่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเป็นครั้งแรกด้วยเพลง Why Do Fools Fall in Love ที่ขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในปี ค.ศ. 1956 และต่อมาวง แฟรงกี ไลมอน และ เธอะ ทีนเอจเจอร์ส ได้ไปเข้าตา Alan Freed ดีเจที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในเวลานั้นเข้า อแลน ฟรีด จึงช่วยโปรโมตเพลงของพวกเขาจนโด่งดังไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว นอกจาก แฟรงกี ไลมอน แล้ว ยังมีนักร้องนักดนตรีผิวดำที่ทำให้ดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ดังระเบิดขึ้นในตลาดคนผิวขาวอย่างมากก็คือ Little Richard, Chuck Berry และ Fats Domino ที่นับเป็นกลุ่มนักดนตรีผิวดำซึ่งบุกเบิกเพลงของคนผิวดำเข้าสู่ตลาดของคนผิวขาวในนิวยอร์กได้สำเร็จเป็นกลุ่มแรกๆ
นอกจากนักร้องและคณะดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ของคนผิวดำแล้ว ยังมีคณะนักร้อง ริธึม แอนด์ บลูส์ แบบกลุ่มอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Vocal Group หรือคณะนักร้องประสานเสียง ก็เริ่มเข้าสู่ความนิยมในช่วงเวลาเดียวกัน จนทำให้นับจากปลายทศวรรษที่ 1950 ไปจนถึงต้นทศวรรษที่ 1960 คณะดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ แบบกลุ่มประสานเสียงเหล่านี้ยังนำรูปแบบดนตรีประเภทหนึ่งที่เริ่มต้นพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1940 เรียกว่า Doo-wop ซึ่งเป็นวิธีการประสานเสียงที่เน้นการผสมคีย์เสียงของแต่ละคนมาใช้จนกลายเป็นเส้นเสียงเดียวกันที่กลมกลืนกันอย่างที่สุด ดนตรีประเภทนี้สามารถที่จะครองตลาดความนิยมทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมถึงทั่วโลกอยู่ได้เป็นเวลาหลายปี
คณะดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดและถือเป็นผู้บุกเบิกให้ดนตรีประเภทนี้ได้รับความนิยมก็คือคณะ The Drifters เธอะ ดริฟเตอร์ส เป็นคณะนักร้องประสานเสียงที่ถือว่าประสบความสำเร็จกับเพลงในรูปแบบ ริธึม แอนด์ บลูส์ และ ดู-วอป อย่างสูงสุด คณะ เธอะ ดริฟเตอร์ส ที่มีถิ่นกำเนิดในนิวยอร์ก มีผู้นำคณะคือ Clyde McPhatte สร้างเพลงฮิตเพลงแรกตั้งแต่เริ่มต้นออกแผ่นเสียงแผ่นแรกคือเพลง Money Honey ที่ขึ้นถึงอันดับ 1 ของชาร์ต ริธึม แอนด์ บลูส์ ในปี ค.ศ. 1953 และ Honey Love ในปี ค.ศ. 1964 แต่เพลงที่ทำให้ เธอะ ดริฟเตอร์ส ขึ้นถึงจุดสุงสุดและกลายเป็นวงอันดับหนึ่งของดนตรีประเภทนี้ก็คือเพลง Save the Last Dance For Me ในปี ค.ศ. 1960
อิทธิพลดนตรีของ เธอะ ดริฟเตอร์ส ได้ทำให้นิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางดนตรีของวงนักร้องประสานเสียง ริธึม แอนด์ บลูส์ และ ดู-วอป ที่ถือกำเนิดขึ้นติดตามกระแสของเธอะ คริฟตอร์ส อีกมากมายหลายคณะ เช่น The Platters, The Temptations, The Flamingos, The Coasters, The Four Tops, The Miracles นอกจากนี้ยังมีคณะดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ที่เป็นกลุ่มนักร้องประสานเสียงหญิงซึ่งโด่งดังขึ้นมาในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน คือคณะ The Ronettes และ The Crystals เป็นต้น
เมื่อเริ่มเข้าสู่ทศวรรษที่ 60 นั้น ดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ได้ครองอิทธิพลครอบคลุมทั้งตลาดของคนผิวขาวและคนผิวดำจนกลมกลืนแยกไม่ออก ไม่มีการแบ่งแยกกันอีกต่อไปว่าดนตรีประเภทไหนเป็นเฉพาะของคนผิวขาว หรือดนตรีประเภทไหนเป็นของคนผิวดำ และนิวยอร์กก็กลายเป็นแหล่งรวมของธุรกิจดนตรีนานาประเภท เป็นที่ชุมนุมของนักร้อง นักแต่งเพลง อะเรนเจอร์ และ โพรดิวเซอร์ มือดีๆที่มารวมกันอยู่อย่างมากมายเพื่อจะหาโอกาสโด่งดัง และอาจเป็นเศรษฐีกับเขาบ้าง นิวยอร์กจึงกลายเป็นเมืองในฝันที่ใครๆก็ต้องการที่จะเข้ามาแสวงโชค ด้วยความเชื่อที่ว่านิวยอร์กเป็นเมืองสวรรค์ซึ่งโอกาสสามารถตกใส่เท้าของใครๆก็ได้ทุกๆนาที หากเดินไปอย่างถูกทิศถูกทางและถูกจังหวะ
สำหรับผู้ที่อยู่เบื้องหลังของดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ และทำให้ดนตรีประเภทนี้ครองตลาดในนิวยอร์กคนสำคัญๆมีเช่น Jerry Leiber and Mike Stoller, Phil Spector, Bert Burns, George Morton และ Burt Bacharach บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็น โพรดิวเซอร์ อะเรนเจอร์ และนักแต่งเพลงฝีมือดี ที่ไปรวมตัวกันอยู่ที่นิวยอร์ก และเป็นผู้ที่มีส่วนในการสร้างให้ตลาดดนตรีของนิวยอร์กเป็นตลาดที่ทรงอิทธิพลในช่วงเวลานั้นทั้งสิ้น
เจอร์รี ลีเบอร์ และ ไมค์ สตอลเลอร์ เป็นคู่หูนักแต่งเพลงชื่อดังที่มักรู้จักกันภายใต้ชื่อ Leiber & Stoller ซึ่งทั้งสองก็คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังเพลงฮิตจำนวนมากของ เอลวิส เพรสลีย์ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 เป็นต้นมานั่นเอง และ ลีเบอร์ แอนด์ สตอลเลอร์ เช่นกันที่เป็นผู้เขียนเพลงฮิตมากมายให้แก่ เธอะ ดริฟเตอร์ส และ เธอะ โคสเตอร์ หรือแม้คณะดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ อื่นๆ เจอร์รี ลีเบอร์ และ ไมค์ สตอลเลอร์ เริ่มต้นก่อตั้งบริษัทแผ่นเสียงของตนเองชื่อ Spark Records ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 เพื่อต้องการที่จะปั้นนักร้องนักดนตรีให้โด่งดัง แต่ต่อมาบริษัท สปาร์ค เร็คคอร์ดส ก็ต้องขายให้แก่บริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่คือ Atlantic Records ไปในที่สุดเนื่องจากขาดสภาพคล่อง และต้องกลายเป็นโพรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงให้แก่ แอตแลนติก เร็คคอร์ดส ด้วยเช่นกัน
แต่ทั้งสองก็ทำสัญญาพิเศษกับ แอตแลนติก ขึ้นมาฉบับหนึ่ง โดยมีอิสระที่สามารถจะโพรดิวซ์และเขียนเพลงให้กับค่ายแผ่นเสียงค่ายอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งต่อมาไม่นานทั้งสองก็ปลดตัวเองออกจาก แอตแลนติก กลายเป็นโพรดิวเซอร์และนักเขียนเพลงอิสระ ซึ่งก็ทำให้เขามีโอกาสสร้างสรรค์เพลงฮิตและเป็นอมตะฝากเอาไว้ในวงการดนตรีนับเป็นจำนวนมากมายมหาศาล รวมไปถึงผลงานของ เอลวิส เพรสลีย์ เธอะ ดริฟเตอร์ และ เธอะ โคสเตอร์ อีกด้วย
บุคคลสำคัญคนต่อมาก็คือ ฟิล สเปคเตอร์ สเปคเตอร์ นับเป็นบุคคลสำคัญของแวดวงดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ผู้มีบทบาทสูงในช่วงเปลี่ยนผ่านของกระแสดนตรีจากยุค 1950 ไปสู่ยุค 1960 และ 1970 ที่กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่มีความหลากหลายที่สุดในกระแสโลกดนตรียุคใหม่ หรือยุคของ ร็อค แอนด์ โรลล์ ที่มีสีสันมากที่สุด ฟิล สเปคเตอร์ นั้นเคยร่วมงานกับ ลีเบอร์ และ สตอลเลอร์ มาก่อนเช่นกัน ในช่วงที่เขาทำงานให้กับบริษัท แอตแลนติก เร็คคอร์ดส ก่อนที่จะมาก่อตั้งบริษัทเป็นของตัวเองชื่อ Philles Records ในปี ค.ศ. 1961 สเปคเตอร์ เป็นผู้ที่มักได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนว่า เป็น “วากเนอร์ (Wagner)” แห่ง ร็อค แอนด์ โรลล์ ที่หมายถึงผู้พลิกโฉมวงกรดนตรี ตามชื่อของ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) คีตกรดนตรีคลาสสิกชาวเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ปฏิวัติวิธีการประพันธ์ดนตรีคลาสสิกไปสู่แนวใหม่
ฟิล สเปคเตอร์ จึงเป็นผู้ที่คิดไม่เหมือนใครในเวลานั้น เขามักต้องการทำอะไรใหม่ๆเสมอ ด้วยเหตุนี้เขาจึงมุ่งสร้างคว่ามแปลกใหม่ด้วยการนำนักร้องหญิงมารวมกลุ่มทำเพลง ริธึม แอนด์ บลูส์ ประสานเสียงอย่างเช่นวงของผู้ชายที่เกิดขึ้นมากมาย แต่วงผู้หญิงกลับไม่ค่อยมีให้เห็น หรือจะมีบ้างก็ไม่มีโอกาสโด่งดังเช่นวงผู้ชาย เขาจึงมุ่งผลักดันคณะนักร้องประสานเสียงหญิงให้โด่งดังขึ้น เช่นคณะ The Crystals และ The Ronettes เป็นต้น นอกจากนี้ สเปคเตอร์ ยังเป็นผู้ที่ผลักดันให้คณะนักร้องประสานผิวขาวคือ The Righteous Brothers สามารถแหวกม่านเข้ามาอยู่ในเวทีของกลุ่มคณะนักร้องประสานเสียง ริธึม แอนด์ บลูส์ ผิวดำที่กำลังครองตลาดอยู่ในเวลานั้นได้อีกด้วย ซึ่งดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ผิวขาวนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Blue-eyed Soul ที่แปลว่า “โซลตาสีน้ำเงิน” หรือ โซลขาว (White Soul) ซึ่งหมายถึง “คนขาวร้องเพลงโซลของคนดำ” นั่นเอง
ความเติบโตของตลาดดนตรีในนิวยอร์กยังทำให้เกิดกระแสธุรกิจที่สะพัดขึ้น จนเกิดมีบริษัทจัดการด้านดนตรีต่างๆเกิดขึ้นในนิวยอร์กมากมายจนหลังคาแทบจะชนกันอีกด้วย ตั้งแต่บริษัทแมวมองจัดหานักร้องนักดนตรีมาออดิชั่น จัดหานักแต่งเพลง จัดหานักดนตรีแบ็คอัพ และจัดการด้านลิขสิทธิ์ต่างๆให้ ในจำนวนนี้มีบริษัทที่ถือว่าโดดเด่นอย่างมากก็คือบริษัท Aldon Music of Broadway ซึ่งอยู่ภายใต้การอำนวยการของ Don Kirshner และ Al Nevins โดยในจำนวนนักแต่งเพลงที่อยู่ในสังกัดของ อัลดอน มิวสิก นี้มีคู่นักแต่งเพลงสองสามีภรรยา คือ Gerry Goffin กับ Carole King ที่เป็นผู้สร้างเพลงฮิตให้กับคณะนักร้องนักดนตรีมากมายรวมอยู่ด้วย การก่อตั้งบริษัทจัดการด้านดนตรีเช่นนี้นับเป็นการปฏิวัติวงการดนตรีไปสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากรูปแบบของธุรกิจดนตรีในยุคใหม่นี้มีความซับซ้อนมากขึ้น และตลาดก็ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บริษัทเหล่านี้จึงต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตนี้ให้สามารถเดินไปได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด
ดีทรอยต์
โมทาวน์ ซาวน์ด อาณาจักรเฉพาะของคนผิวดำ
อาจกล่าวได้ว่าเมืองดีทรอยต์ มลรัฐมิชิแกน ของสหรัฐอเมริกา ก็คือฐานใหญ่ของดนตรีของคนผิวดำในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 เป็นต้นมา ที่บริษัท Motown Records ได้เริ่มต้นก่อตั้งขึ้นในปีนั้น โมทาวน์ เร็คคอร์ดส เริ่มขึ้นจากบริษัทแผ่นเสียงเล็กๆบริษัทหนึ่งในดีทรอยต์ ก่อตั้งขึ้นโดย Berry Gordy Jr. นักแต่งเพลงผิวดำที่มีถิ่นกำเนิดในดีทรอยต์ ซึ่งเคยแต่งเพลงฮิตให้กับ Jackie Wilson and the Matadors มาก่อน จากนั้นก็ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจเปิดบริษัทแผ่นเสียงของตัวเองเพื่อเป็นศูนย์กลางผลิตงานให้กับศิลปินผิวดำได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดที่ส่วนใหญ่ถูกผูกขาดโดยบริษัทของคนผิวขาว ทำให้คนผิวดำมักถูกกีดกันให้อยู่ในวงจำกัด เบอร์รี กอร์ดี จูเนียร์ จึงมีความคิดที่จะทลายกำแพงที่กีดกั้นโอกาสนั้นออกไป
นักร้องนักดนตรีในสังกัดของ โมทาวน์ นี้มีทั้ง ริธึม แอนด์ บลูส์ กอสเพล และ แจ็ซซ์ ดนตรีที่ออกจากค่าย โมทาวน์ นี้มักเรียกกันว่า Motown Sound หรือดนตรี Soul นั่นเอง ดนตรีรูปแบบนี้มีส่วนผสมทั้ง ริธึม แอนด์ บลูส์ กอสเพล และ แจ็ซซ์ ที่ถูกนำมาโขลกรวมเข้าด้วยกัน ในช่วงแรกของ โมทาวน์ นั้นเริ่มต้นจากการทำผลงานให้กับศิลปินท้องถิ่นคือคณะ The Contours ซึ่งโด่งดังขึ้นมาจากเพลง Do You Love Me ในปี 1962 สำหรับศิลปินรุ่นแรกๆที่กล่าวได้ว่าเป็นศิลปินที่ร่วมบุกเบิกมากับ เบอร์รี กอร์ดี และทำให้ โมทาวน์ ก้าวเข้าสู่ความรุ่งโรจน์กลายเป็นค่ายแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ก็คือ Smokie Robinson, Lamont Dozier และ Eddie Holland ที่ถือเป็น 3 ขุนพลนักเขียนเพลง และโพรดิวเซอร์ รวมทั้งออกผลงานของตัวเองป้อนเพลงฮิตให้กับ โมทาวน์ ออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมี The Four Tops, Stevie Wonder และคณะนักร้องหญิง The Supremes ที่นับเป็นศิลปินรุ่นแรกๆที่โด่งดังขึ้นในสังกัดของ โมทาวน์ อีกด้วย
นอกจากดนตรี โซล แล้ว โมทาวน์ ยังนับเป็นค่ายแผ่นเสียงที่ทำให้ดนตรีแบบ กอสเพล ได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดดนตรีของยุคปลายทศวรรษ 1950 ถึงต้นทศวรรษ 1960 อีกด้วย ศิลปินชื่อดังของ โมทาวน์ คนแรกๆก็คือ C.L. Franklin (บิดาของ Aretha Franklin นักร้องเพลงโซลชื่อดัง) ที่ กอร์ดี ไปชักชวนเขาออกจากการร้องในโบสถ์มาสร้างผลงานสู่ตลาดระดับประเทศ และยังมี Matha and the Vandellas ที่เริ่มต้นจากการร้องเพลงในโบสถ์และมาทำผลงานแบบ กอสเพล ให้กับ โมทาวน์ ก่อนที่จะโด่งดังจากผลงานเพลงแบบ โซล นอกจากนี้ โมทาวน์ ยังได้สนับสนุนนักร้องนำจากคณะดนตรีในสังกัดให้โด่งดังขึ้นในฐานะศิลปินเดี่ยว
สำหรับศิลปินชูโรงของ โมทาวน์ นั้นก็คือ สโมกี โรบินสัน ที่นอกจากจะเป็นหัวแรงสำคัญในการเขียนเพลงและโพรดิวซ์งานต่างๆให้กับ โมทาวน์ แล้ว ยังตั้งคณะประสานเสียง The Miracles ของตัวเองอีกด้วย สโมกี โรบินสันกับวง เธอะ มิราเคิลส์ มีเพลงฮิตที่ขึ้นถึงอันดับ 1 ใน ริธึม แอนด์ บลูส์ ชาร์ต ก็คือเพลง Shop Around ในปี ค.ศ. 1960 และ You’ve Really Got a Hold on Me ในปี ค.ศ. 1962 นอกจากนี้ โรบินสัน ยังเป็นผู้ที่แต่งเพลงที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ MyGuy ให้กับ Mary Wells และเพลง My Girl กับ Get Ready ให้กับคณะ The Temptations อีกด้วย
นอกจากนักร้องดังเหล่านี้ที่ โมทาวน์ สร้างขึ้นแล้ว Diana Ross ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่ง ริธึม แอนด์ บลูส์ ของยุค 1960 ก็เริ่มต้นมีชื่อเสียงขึ้นมาจากการปั้นของค่าย โมทาวน์ ในสมัยที่ร่วมกับคณะ The Supremes อีกด้วยเช่นกัน รวมถึง Marvin Gaye, Mary Wells, The Temptations และ The Isley Brothers ก็เป็นศิลปินที่ต่างประสบความสำเร็จมาจากค่ายแผ่นเสียง โมทาวน์ เช่นกัน