ดร นาทอง การุณชาติ พุกกะเวส
เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ทางบริษัท Deco2000 ได้เชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเซ็ตอัพลำโพงแบบย้อนกลับ (Reverse Setup) จากสภาพสมบูรณ์กลับไปที่จุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คงไม่ได้มีบ่อย ๆ เนื่องจากลำโพง Wilson Audio Chronosonic XVX คู่นี้จะถูกส่งมอบไปออกงานโชว์เครื่องเสียงในอาทิตย์หน้าพอดี
งานนี้ได้คุณกฤตย์ ฮ้อเผ่าพันธุ์ Deco2000 Audio Specialist ที่ผ่านการอบรมจาก Wilson Audio โดยตรง มาเป็นผู้บรรยายและสาธิตให้แก่ผู้ร่วมงานได้สัมผัสผลการเปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้นตอน ซึ่งต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยในตำแหน่งไดร์เวอร์แต่ละตัวของลำโพงวิลสันนั้น ส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่ได้ยินในระดับมหาศาล
ลำโพงของวิลสัน ออดิโอนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อการรับฟังในระดับ critical listening เพื่อการถ่ายทอดคุณภาพเสียงที่เรียกว่าเข้าถึงในทุกอารมณ์รายละเอียดของเสียงดนตรีที่มีความซับซ้อน ออกมาได้อย่างถึงแก่นที่สุด
ซึ่งเรื่องของ Time Domain เป็นสิ่งที่วิลสัน ออดิโอให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ลำโพงของวิลสันทุกรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Chronosonic XVX จะใช้การจัดเรียงไดรเวอร์เสียงกลางและเสียงแหลมทั้งหมดสี่ตัวในรูปแบบ MTMM (มิดเรนจ์ / ทวีตเตอร์ / มิดเรนจ์ / มิดเรนจ์) ไดรเวอร์แต่ละตัวจะถูกติดตั้งอยู่ในโมดูลที่แยกอิสระจากกัน และใช้กลไก Micrometer ถึงสองชุดในการปรับตั้ง Time Alignment โดยชุดแรกใช้สำหรับมิดเรนจ์ตัวบนสุดกับทวีตเตอร์ และชุดที่สองสำหรับมิดเรนจ์สองตัวด้านล่าง เพื่อให้สามารถปรับแต่ง Time Alignment ได้ทั้งมุมสูง-ต่ำ เดินหน้า-ถอยหลัง แยกอิสระกันได้อย่างละเอียดที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับระยะความสูงของหูผู้ฟัง, ระยะห่างของการนั่งฟัง, และตำแหน่งวางลำโพง
เมื่อถูกปรับแต่งอย่างลงตัวแล้ว อย่าได้แปลกใจเมื่อได้ยินเสียงจากไดร์เวอร์ข้างละ 6 ตัวของ Chronosonic XVX เดินทางมาถึงหูของผู้ฟังด้วยความเป็นแหล่งกำเนิดเดียว (Point Source) ที่สูงมาก ราวกับภาพสองภาพที่ซ้อนกันสนิท มีความสมบูรณ์ทั้งในแง่สปีด อิมแพ็ก ไดนามิก รายละเอียดระดับไมโครดีเทล ความสงัดและบรรยากาศ โดยไม่เกี่ยงสภาพอคูสติกส์ห้องแม้แต่น้อย และแน่นอนว่าไม่เกี่ยงประเภทดนตรีเสียด้วย…
บรรยากาศกิจกรรม Reverse Setup
ซิสเต็ม ที่ใช้เดโมในงานกิจกรรมนี้ประกอบด้วยฟร้อนต์เอ็นด์จาก dCS อนุกรม VIVALDI ปรีแอมป์หลอด VTL TL6.5II เพาเวอร์หลอด VTL S-400 Series II และสายเชื่อมต่อ Nordost Odin Gold อุปกรณ์เสริมกรองไฟตัวท็อป Shunyata Everest 8000 โดยสตรีมเพลงจาก TIDAL เป็นหลัก
หลังจากที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากันครบแล้ว คุณกฤตย์ได้เริ่มด้วยการให้ผู้ร่วมกิจกรรมเลือกเล่นเพลงที่แต่ละคนคุ้นหู เพื่อจับบุคลิกเสียงของซิสเต็มกันก่อน จากนั้นจึงเริ่มเปิดเพลงจากหลาย ๆ อัลบั้มที่มีความแตกต่างกันไปตั้งแต่คลาสสิคยันเฮฟวี่เมทัล รวมถึงเพลงไทย เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ซึ่งซิสเต็มนี้ก็สามารถถ่ายทอดออกสีสันของดนตรีทุกแนวออกมาได้อย่างเข้าถึงอารมณ์ ฟังแล้วอินไปกับบทเพลง มีรายละเอียดของเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนจากหลายอัลบั้มปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนเป็นธรรมชาติ มาสรุปจบท้ายกันที่เพลงของ Adel เป็นเพลงที่จะใช้เริ่มต้นกิจกรรม
หลังจากนั้นคุณกฤตย์ได้ทำการปรับลำโพง ให้เคลื่อนจากตำแหน่งที่ดีที่สุดเพียงเล็กน้อยระดับไม่เกินมิลลิเมตร โดยค่อย ๆ เริ่มจากจุดที่ส่งกระทบต่อคุณภาพเสียงน้อยที่สุดก่อนไล่ไปตามลำดับ จนถึงจุดที่กระทบกับโทนัลบาล้าซ์ของเสียงและไม่สามารถปรับให้กลับคืนคุณภาพเสียงดังเดิมได้อีกต่อไป
ซึ่งเพียงแค่การปรับช่วงแรก ๆ ก็ทำให้ทุกคนรับรู้ได้ถึงคุณภาพเสียงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งเรื่องปลายเสียงแหลมที่มีความคมจัดขึ้น มิติเวทีเสียงที่ขาดความตื้นลึกอย่างที่ควรจะเป็น บรรยากาศของเสียงที่หดหาย แต่ที่น่าแปลกใจคืออิมแพ็กแรงปะทะหัวเสียงทุ้มนั้นขาดน้ำหนักไปอย่างเหลือเชื่อจากการขยับเพียงไม่กี่มิลลิเมตร!
ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการเซ็ตอัพลำโพง หากไม่ได้ลองฟังลำโพงที่ถูกเซ็ตอัพไว้ในตำแหน่งที่ดีที่สุดก่อนในครั้งแรก ก็อาจเข้าใจไปว่าเสียงที่ได้ยินจากการ Reverse Setup ในสเต็ปต่าง ๆ นั้นถูกต้องแล้ว ซึ่งหลายคนอาจชอบมากกว่า 100% เสียด้วยซ้ำ วิธีนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมองเห็นภาพรวมและลำดับความสำคัญของการเซ็ตอัพลำโพงไปในทิศทางที่ถูกต้องได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
ความเห็นจาก Garoonchart Bukkavesa
สำหรับผม จะขอสรุปเป็นรวม ๆ เนื่องจากว่า ถ้าระบุการทำบางอย่างไป แล้วอธิบายผลลัพธ์ของเสียง คิดว่าจะสื่อให้คนอ่านเข้าใจได้ยากละครับ
ตัว Wilson Audio : Chronosonic XVX ออกแบบให้ปรับโมดูลของชุด 2 ตัวบนได้ รวมถึงโมดูลชุดล่างอีก 2 ตัวก็ปรับได้ด้วย โดยที่การปรับถือว่าปรับได้ละเอียดระดับ “มิลลิเมตร” ทำให้ฟ้องเรื่องการเซ็ทอัพได้อย่างชัดเจน เช่น โมดูลตัวบนซึ่งมีทวีตเตอร์ติดตั้งอยู่นั้น เมื่อปรับให้ยิงเสียงเข้าจุดนั่งฟังแล้ว พอขันขึ้นลงหรือหันโทอินแค่นั้น เสียงจะหลุดจากตำแหน่งที่เซ็ทไว้ดีที่สุดไปแล้ว
หลายคนคิดว่าการทำกลับตำแหน่งเดิมคงไม่ยาก…ก็ไม่ยากนะมีตัวหมุนขัน เพียงแต่ขันยังไงจะไม่ลงตำแหน่งเดิม 100% ส่งผลทำให้ฟังยังไงก็ไม่เหมือนเดิมครับ
และไม่ใช่แค่เสียงแหลมที่แปรเปลี่ยนไป กลับส่งผลให้ “เสียงทุ้ม” นั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย เบสขุ่นมัว ขาดแรงปะทะ ฯลฯ ทั้งที่การปรับครั้งนี้ไม่ได้ยุ่งกับตู้เสียงเบสเลย
ในส่วนโมดูลนี้ ทาง Wilson Audio : Chronosonic XVX จะใช้สายเชื่อมต่อจากครอสโอเวอร์ไปเข้าโมดูล ซึ่งการขยับให้สายลำโพงซ่อนเข้าไปอยู่ในตู้มากที่สุด (ดูสวยงาม) กลับทำให้เสียงตึง / เครียด จะต้องปล่อยให้สายนั้นมีระยะลอยอยู่ภายนอกมาก (อาจดูไม่สวยงาม) แต่เสียงจะฟังสบายกว่า…
Wilson Audio : Chronosonic XVX มีน้ำหนักตู้ราว 310 กิโลกรัม ถือว่าเยอะมาก เมื่อลองยกเอียงข้าง / ยกด้านหน้า / ยกด้านหลัง ฯลฯ แล้วกลับมาในตำแหน่งเดิม (โดยที่ทำทีละแบบแล้วฟังนะครับ) ด้วยแม่แรงพิเศษสามารถกำหนดแรงยกได้ การยกจึงเท่าเทียมกัน พอขยับไป ๆ มาๆ แล้วฟังตอนนี้ พบว่าเสียงทุ้มจะไม่ “หนักแน่น” เหมือนเมื่อตอนเซ็ทอัพเข้าที่ (จริง ๆ ก็ฟังดีแล้วถ้าไม่เทียบ) แน่นอนว่ากว่าจะทำกลับให้ดีเหมือนในตำแหน่งที่เซ็ทลงตัว ลำโพงทั้งหมดทิ้งน้ำหนักลงพื้นเหมือนเดิมต้องรออีกนาน “หลายวัน” อีกทั้งส่งผลกระทบต่อเสียงกลาง / แหลมด้วยเช่นกัน
นั่นเป็นไกด์ไลน์ที่ผมสรุปคร่าว ๆ ว่าการทำสิ่งใด ๆ ก็ตามล้วนส่งผลยิ่งใหญ่ เนื่องจากคุณภาพของตัวลำโพงเองเป็นสำคัญ ถ้าลำโพงอื่น ๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาเป็นโมดูลปรับแบบนี้ก็จะไม่สามารถทำอะไรสนุก ๆ แบบนี้ได้นั่นเอง
สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ “การปรับให้เป็น” และต้องเข้าใจคำนิยามของเสียงดีอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นการปรับตำแหน่งต่าง ๆ ใน Wilson Audio : Chronosonic XVX จะไม่มีประโยชน์อันใดเลยครับ!!
ทางทีมงาน What Hi-Fi? Thailand ขอขอบคุณทางคุณกฤตย์และ Deco2000 ที่ให้โอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ มา ณ โอกาสนี้