ช.ชิดชล
การขัน ไม่ว่าจะเป็นขันนอต ขันอุปกรณ์เครื่องเสียงต่างๆ เพื่อการปรับแต่งเชื่อมต่อนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความแน่นหนา หรือเพียงการให้ตัวได้(พอตึงมือ) ทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้งานในเรื่อง ความแข็งแรง การส่งผ่านกระแส และแรงสั่นสะเทือน บทความนี้นำเสนอเพื่อให้เข้าใจถึงการขันให้มากขึ้น และการใช้งานให้ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงวัสดุแต่ละประเภทที่ส่งผลต่อบุคลิกเสียง เรียกว่า ขันให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ถ้าไม่ขันนี่ซิเรื่องใหญ่…
ทำไมการขันจึงมีผลต่อการใช้งานและเสียง
การขันนอต ขันล็อกสายสัญญาณ สายลำโพง หรือขั้วต่ออื่นใด มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงแข็งแรงและการนำสัญญาณ ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน จากสายที่อาจหลุดหรือมาสัมผัสกัน เกิดการลัดวงจรได้ อุปกรณ์ขาตั้ง ชั้นวาง สไปค์ หรืออุปกรณ์ภายในห้องฟังเพลง หากมีการติดดั้งที่ดี ก็ส่งผลต่อการกระจายเสียงที่ดี น้ำหนักเสียงที่ชัดเจน ลองคิดดู หากอุปกรณ์ต่างๆไม่มั่นคง เสียงเพลงที่ฟัง ไม่รู้มาจากลำโพง หรือมาจากการสั่นสะเทือนของอุปกรณ์เหล่านั้น ลองนึกถึงน้ำในเขื่อนที่นิ่ง เมื่อพายเรือจะเห็นคลื่นที่เกิดจากเรือชัดเจน แต่ถ้าไปพายในทะเลที่มีคลื่นลม คงไม่เห็นคลื่นจากการพายเรือชัดนัก
นักดนตรีเล่นบนพื้นที่มีความแข็งแรง เสียงย่อมกระจายไปไกลและชัดเจนกว่าเล่นบนแพกลางน้ำ ในขณะเดียวกันนั้น เครื่องดนตรีประเภทสาย หากขึงสายตึงไปก็ขาดลีลาความกังวาน หากหย่อนไปก็จะขาดพลังเสียงและน้ำหนักเสียงเช่นกัน ความพอดีของการขันและความแข็งแรงนั้น ต้องมีรายละเอียดที่ควรพิจารณาเฉพาะชุดและเฉพาะอย่างของอุปกรณ์
ขันสายลำโพง สายลำโพงมักเชื่อมต่อกับขั้วด้วยหางปลา หรือไม่ก็สายเปลือย การขันขั้วต่อสายลำโพงนี้ อุปกรณ์ที่เหมาะสมที่สุดคือมือเรานี่ละครับ เพราะจะรู้ความหนัก ความแน่น ความตึงมือ อาจจะใช้เครื่องมือช่วย ก็เลือกให้เหมาะสม ไม่ควรใช้เครื่องมือที่เป็นโลหะมาขันโดยตรง ควรมีผ้าบางขั้นเอาไว้ เพื่อไม่ให้โลหะสัมผัสกัน เพราะจะทำให้สารที่เคลือบผิวหลุดลอกออก และนานไปจะเกิดอ็อคไซค์ได้ หรือหากใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมและขันแรงไป อาจเกิดความเสียหายกับขั้วต่อหรือหางปลาได้ การขันที่แน่นเกินยังเกิดแรงเครียดที่จุดเชื่อมต่อ ส่งผลให้การนำสัญญาณไม่ดี โดยเฉพาะเสียงแหลมที่มักวิ่งที่พื้นผิว และจะได้บุคลิกเสียงที่แข็งกระด้าง พุ่งออกมาอย่างเด่นชัด แนะนำว่าให้ใช้มือหมุน ค่อยๆหมุนไปช้าๆ เมื่อแน่นแล้วก็ควรหยุด ลองจับสายลำโพงไม่สามารถขยับได้ หรือหากต้องการความแน่นกระชับอาจเอายางโอริงมาสวมที่ขั้วต่อแล้วหมุนก็ลดความลื่นลงไปได้
ขันนอตอุปกรณ์เครื่องเสียง นอตตัวเครื่อง ข้อสำคัญหากจะขันคือ เลือกหัวนอตและอุปกรณ์ให้ตรงกันทั้งรูปแบบและขนาด ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเสียหายได้ หรืออาจเกิดการหนีจุดศูนย์กลาง ขันไปแล้วนอตปีนเกลียว อาจทำให้เกลียวเสียหาย ส่งผลต่อความแน่นหนาของตัวเครื่องหรืออุปกรณ์นั้นๆได้เลย และเช่นกัน ควรมีผ้าบางๆรองรับการขัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายของหัวนอต มีข้อสังเกตอยู่ว่า นอตที่เอาออกจากส่วนไหน ตำแหน่งใด ควรเอากลับไปตำแหน่งนั้น ไม่ควรย้ายตำแหน่งแม้จะมีขนาดเหมือนกัน เพราะการขันเกลียวร่องนอตนั้นๆ อาจจะผิดเพี้ยนไปได้
ขันนอตดอกลำโพง ตรงตำแหน่งการขันนี้สำคัญมากๆ นอกจากจะมีผ้ารองรับก่อนขัน เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับหัวนอตแล้ว น้ำหนักมือ และเทคนิคในการขันก็สำคัญเช่นกัน นอตจากช่องไหนควรกลับไปช่องนั้น เพราะตู้ลำโพงมักใช้ไม้ MDF หากมีการสลับนอตอาจส่งผลต่อเกลียวภายในเนื้อไม้ หากเกลียวขยายหรือที่เรียกว่าเกลียวหวานแล้ว การยึดดอกลำโพงจะไม่แน่น ส่งผลต่อน้ำหนักเสียงอย่างแน่นอน เทคนิคอีกประการคือ ค่อยๆคลายนอตทุกตัวบนดอกลำโพงไปพร้อมๆกัน ไม่ควรขันนอตตัวไหนหรือด้านใดของดอกลำโพงให้สุดแบบทีละตัว ให้ขันทีละ 2-3 รอบกับนอตทุกตัว ไปจนสุด เพื่อให้เกิดความบาลานซ์ ถ่วงดุลดอกลำโพง ไม่อย่างนั้นจะมีแรงเครียดกดที่ดอกลำโพงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ส่งผลต่อน้ำหนักเสียงที่ไม่ชัดเจน และขันความแน่นพอให้สุดเกลียวแบบตึง ไม่ควรเพิ่มแรงให้แน่นมากเกินไป อาจทำความเสียหายให้กับดอกลำโพง
นอตผลิตด้วยโลหะต่างชนิดและการเลือกอุปกรณ์มาขัน
วัสดุที่ใช้ผลิตเป็นนอตนั้น มีความแตกต่างกันในการใช้งาน ขึ้นกับผู้ผลิตต้องการความแข็งแรง ความสวยงาม หรือเพื่อการจูนเสียง โดยหลักที่ได้รับความนิยมแล้ว มักมีวัสดุที่เป็นโลหะมาใช้ผลิตเป็นนอตคือ ทองเหลืองที่ให้เนื้อเสียงและความอิ่มแน่นของเสียง เด่นในด้านเสียงที่ติดไปทางช้าเล็กน้อย ละเมียดละไม ไร้อาการเสียงแข็งกระด้างคมชัด โดยเฉพาะในด้านรายละเอียดต่างๆ นอตที่ทำจากเหล็กนั้น มักยึดกับตำแหน่งที่ต้องการความแข็งแรง ให้แรงปะทะของเสียงที่ดี น้ำหนักเสียงกระชับชัดเจน เรี่ยวแรงแข็งขัน เนื้อเสียงมีอยู่ในแบบฉับไว สมดุลของเนื้อเสียงและความใสลงตัว นอตสแตนเลส พบได้น้อยและมักพบในเครื่องราคาสูง มีความทนทานและเงางาม เพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวเครื่อง น้ำเสียงติดไปโทนสว่าง(ตรงข้ามกับทองเหลือ) เนื้อเสียงกระชับฉับไวกว่าเหล็ก แต่หางเสียง ปลายเสียง ทอดยาวกังวานน่าฟัง มิติเสียงเด่นไปในทางกว้าง ให้เสียงที่เปิดและสดใส
การเลือกอุปกรณ์มาขัน ควรมีความแข็งแรง ผลิตด้วยเนื้อโลหะที่มีคุณภาพดี สำคัญที่สุดคือ ขนาดและรูปแบบต้องสัมพันธ์กับหัวนอต ห้ามดัดแปลงเพื่อให้ขันนอตได้เป็นอันขาด เพราะจะเกิดความเสียหายได้ ด้ามจับควรมีขนาดที่เหมาะสม ไม่เล็กเกินไป เพราะจะขาดกำลังหมุนที่ข้อมือเวลาจับ ไม่ควรมีพื้นผิวสัมผัสที่เรียบลื่นเป็นเงา เพราะจะทำให้ขาดความกระชับ และทำความเสียหายได้ขณะขันนอต
จากทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ที่ลองผิด ลองถูก ลองขันและเกิดความเสียหาย ทั้งต่อนอต ขั้วต่อ และอุปกรณ์เครี่องเสียง จึงนำมาบอกเล่าให้นักเล่นที่พิถีพิถัน ใส่ใจในการเล่นเครื่องเสียง ไม่เว้นแม้แต่การขันเข้าสายลำโพง หรือการขันนอตต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อย อันส่งผลต่อการใช้งานและบุคลิกเสียง เพื่อรักษาอุปกรณ์เครื่องเสียง ให้มีอายุที่ยาวนาน คงสภาพความแข็งแรงมั่นคง หรืออย่างน้อยๆก็สามารถบ่งบอกได้ว่า คุณเป็นคนรักเครื่องเสียง รักอุปกรณ์ และรักการฟังเพลงครับ