What HI-FI? Thailand

ไม่ควรออกแบบห้องฟังเหมือนคอนเสิร์ตฮอลล์

ช.ชิดชล

     การไปฟังคอนเสริต์ด้วยดนตรีประเภทการแสดงสด หรือวงดุริยางค์นั้น ได้อรรถรส ได้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการฟังเพลงนั้นๆในห้องฟังเพลง ที่มีชุดเครื่องเสียงคุณภาพดีขับกล่อมนะครับ ทั้งรายละเอียด ความสมจริง ความสด เทียบกับไม่ได้เลย และมีสิ่งหนึ่งที่จะปลุกเร้าอารมณ์ในตัว เมื่อได้ไปฟังการแสดงสดในคอนเสริต์ฮอลล์คือ ความรู้สึกรับรู้ถึงการมีชีวิต

     เมื่อประทับใจกับการฟังในคอนเสริต์ฮอลล์แล้ว อยากฟังความประทับใจนั้น อีกครั้งหนึ่ง ในห้องฟังเพลงส่วนตัว จะค้นพบว่า เสียงเทียบกันไม่ได้ จะบอกว่าอะไรดีกว่า ขึ้นอยู่กับวัดด้วยอะไร หากวัดด้วยคุณภาพความสดสมจริง คอนเสิร์ตฮอลล์ย่อมรับรู้ได้มากกว่า แต่ถ้าวัดด้วยความอิ่มเอมไพเราะ เสนาะเอาใจหู เสริมแต่งเสียงได้ตามความต้องการ ไม่เน้นความสมจริง ก็ต้องบอกว่า ชุดเครื่องเสียงที่เราเลือกมาไว้ในห้องเรา ก็มีความสุขแล้ว

     แต่ไม่ควรเอาอรรถรสทั้ง 2 นั้น มารวมกัน มาปรับใช้ด้วยกัน นอกจากจะไม่ได้เสพสุนทรียรสแล้ว ยังเสียอรรถรสไปด้วย หากเอาอะคูสติกของ คอนเสิร์ตฮอลล์ มาปรับใช้ในห้องฟังเพลง และยิ่งเป็นห้องที่ใช้สำหรับการฟังเพลงแบบจริงจัง เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ

การฟังเพลงในคอนเสิร์ตฮอลล์

     การฟังเพลงจากการบรรเลงของวงดุริยางค์นั้น ไม่ผ่านการขยายด้วยอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ แต่ผ่านการขยายด้วยสภาพอะคูสติกของคอนเสิร์ตฮอลล์ คือเสียงที่เราฟังการบรรเลงนั้น ออกมาจากชิ้นดนตรีนั้นๆโดยตรง ไม่ได้ใช้ไมค์แล้วไปผ่านเพาเวอร์แอมป์ขยายไปออกที่ลำโพง โดยใช้การจัดอะคูสติกช่วยให้มีการก้องสะท้อนของเสียง ออกแบบคอนเสิร์ตฮอลล์ทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู หรือมีลักษณะปากแตร ที่แคบเล็กบริเวณเวที และแผ่กว้างออกไปหาทำแหน่งผู้ฟัง เพื่อช่วยให้การกระจายเสียง เพิ่มปริมาณความดัง รวมถึงแรงส่งกำลังคลื่นเสียงให้ไปได้ไกล การออกแบบที่ดีจะช่วยให้เสียงกระจายไปและได้ยินดังเกือบทุกตำแหน่ง คุณภาพได้ใกล้เคียงกัน แต่ตำแหน่งที่ดีที่สุด ก็ต้องหาที่เหมาะสมเช่นเดียวกับการนั่งฟังเพลงในห้องฟัง ที่ออกแบบเช่นนี้เพราะ ไม่สามารถไปเร่งระดับความดังของการบรรเลงวงดุริยางค์ได้ หากจะไปให้นักดนตรี ดีด สี ตี เป่า ให้แรงดังขึ้น คงเพี้ยนไปจากความเป็นจริงปกติมากมาย คอนเสิร์ตฮอลล์จึงออกแบบเพื่อช่วยในการกระจายเสียงและคุณภาพการรับฟังอย่างเหมาะสม

การจัดอะคูสติกของคอนเสิร์ตฮอลลล์

     วัสดุส่วนใหญ่มักมาใช้แบบซับเสียง และเป็นวัสดุที่แข็งแรงสักหน่อย ออกแบบเล่นระดับเพื่อเพิ่มการกระจายเสียง และมุมมองที่เห็นเด่นชัดของผู้ฟัง มักจะให้ความใส่ใจในตำแหน่งเวที ด้านข้างซ้ายและขวา รวมถึงด้านบนเป็นพิเศษ โดยตำแหน่งเหล่านี้มักจะสะท้อนเสียงได้ดี หากใช้ไม้เป็นวัสดุหลักโทนเสียงก็จะออกมาอบอุ่น หากใช้วัสดุอื่นที่มีความแข็ง เสียงจะมีความคมชัด โดยมากมักเป็นวัสดุหลายชนิดที่ผสมกันเพื่อให้ได้เสียงที่ลงตัว

การฟังเพลงในห้องฟัง

    การฟังเพลงในห้องฟัง เราฟังจากชุดเครื่องเสียง เป็นการเล่นกลับจากแหล่งรายการที่ถ่ายทอดสิ่งที่บันทึกมา ตามแต่รสนิยมและความสะดวกในแต่ละท่าน แต่ไม่ใช่การมีวงดุริยางค์มาเล่นสดๆให้ฟังเป็นแน่แท้ ฉะนั้น อารมณ์ การรับรู้ อรรถรสจึงแตกต่างกันอย่างแน่นอน รวมถึงสภาพอะคูสติกของห้องฟังด้วย เพราะเครื่องเสียงเราสามารถจัดองค์ประกอบอย่างเหมาะสมได้ ตั้งแต่การแมทชิ่งชุดและอุปกรณ์ เลือกเครื่องและกำลังขยาย รวมถึงรูปแบบวงจรภาคขยายได้ เลือกลำโพง ทั้งขนาดและวัสดุได้ และที่สำคัญที่สุด เราสามารถเลือกปรับระดับความดังได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอะคูสติกห้องฟังช่วยในการเร่งเสียง ที่สำคัญ ขนาดห้องฟังที่เล็กกว่าคอนเสริต์ฮอลล์ และเครื่องเสียงที่มีกำลังขยาย เราควรจัดสภาพอะคูสติกห้องฟัง ให้ซับและสะท้อนเสียงอย่างเหมาะสม โดยต้องมีความแข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดเสียงที่มาจากการสั่นสะเทือน ซึ่งไม่ใช่เสียงหลักจากชุดเครื่องเสียง

การจัดอะคูสติกในห้องฟัง

     เริ่มจากสัดส่วนที่เหมาะสมของห้องฟัง ผนังแต่ละด้านควรขนานกัน เพื่อให้เกิดแรงอัดแบบสะท้อนเสียงที่เหมือนและเหมาะสมกัน ควรมีความแข็งแรงโดยเฉพาะพื้นผนังด้านหลังลำโพงและด้านหลังที่นั่งฟัง มีวัสดุซับเสียงด้านหลัง ด้านข้าง ของชุดเครื่องเสียง และหลังตำแหน่งนั่งฟัง ให้ความใส่ใจตรงมุมห้องสักหน่อย เพราะเกี่ยวกับเสียงก้องสะท้อน โดยเฉพาะเสียงทุ้มและคลื่นเสียงที่มักวนๆตรงบริเวณดังกล่าว ห้องฟังเพลงก็เปรียบเสมือนตู้ลำโพง และชุดเครื่องเสียงก็เหมือนดอกลำโพง ควรใช้และอยู่ในอะคูสติกที่เหมาะสม และเมื่อเทียบกับคอนเสริต์ฮอลล์ มักไม่มีปัญหาเหมือนชุดเครื่องเสียงที่ฟังในห้อง การจัดอะคูสติกห้องฟังขอกล่าวแต่เพียงภาพรวม เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยและเงื่อนไขมากมายครับ

     จากที่กล่าวมานั้น ฟังเพลงด้วยการบรรเลงของวงดุริยางค์ ภายในคอนเสริต์ฮอลล์ มีความแตกต่างกันอย่างมากกับการฟังเพลงจากชุดเครื่องเสียงภายในห้องฟัง จึงไม่ควรนำเอาสภาพอะคูสติกของคอนเสริต์ฮอล์มาใช้เพื่อการปรับแต่งอะคูสติกภายในห้องฟัง เพราะมีหลักการซับสะท้อนเสียงที่ต่างกัน อันเกี่ยวข้องกับการกระจายเสียงและระดับความดัง รวมถึงตำแหน่งนั่งฟัง หากนำหลักการอะคูสติกของคอสเสริต์ฮอลล์มาออกแบบห้องฟัง เสียงจะขาดน้ำหนัก ขาดแรงปะทะ เสียงจะกว้าง กระจายตัวออกมาอย่างฉับไว ขาดมิติเสียงที่แยกลำดับชั้นตื้นลึก เสียงคมชัดขาดลีลาไม่น่าฟัง และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ


     ประสบการณ์ ความเข้าใจ เข้าถึงอย่างลึกซึ่งในการฟังเพลง จะนำมาซึ่งผลงานและคำแนะนำที่ดี ทุกคนฟังเพลงได้เหมือนกัน แต่สามารถเลือกที่จะเข้าถึง ได้ไม่เหมือนกันครับ

Exit mobile version