แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !) 6

0

แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !) 6 …มงคล อ่วมเรืองศรี

 

แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !
แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !

 

[เสียงใบไผ่] – อ.ดนู ฮันตระกูล – Joe Poster Productions

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุไว้ว่า “ดนู ฮันตระกูล” : นักดนตรีระดับอาจารย์ เป็นทั้งนักแต่งเพลง และ ผู้อำนวยเพลงชาวไทย -การศึกษา- : โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา (เอกประพันธ์ดนตรี ปีพ.ศ. 2513), รอยัลคอนเซอร์วาตอรี กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ -ประวัติงาน- : เมื่อปีพ.ศ. 2519 หลังจากจบการศึกษาทางด้านเอกการประพันธ์จาก รอยัลคอนเซอร์วาตอรี อ.ดนู ฮันตระกูลได้ก่อตั้ง ‘ภาคีวัดอรุณ’ โดยรวบรวมเพื่อนพ้องทางดนตรีไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น จิรพรรณ อังศวานนท์, สุรสีห์ อิทธิกุล, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา และนันทิกา กาญจนวัฒน์ – ลูกสาวของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร (อดีตนักร้องวง เจเนอเรชั่น, แฟลช, ฮาร์โมนี่ ทริโอ, คาไลโดสโคป และ ดิ เอเวอร์เรสท์) ซึ่งมีแกนนำอย่าง บรูซ แกสตัน (บุรุษ เกษกรรณ) และ ธนวัฒน์ (อนุวัฒน์) สืบสุวรรณ

หลังจากนั้นไม่นาน อ.ดนู ฮันตระกูล ได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนดนตรี ‘ศศิลิยะ’ และได้เชิญ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ซึ่งเป็นเพื่อนจากรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกันสมัยอยู่เมืองไทย เข้ามาเป็นผู้บริหารงานในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อ.ดนู ฮันตระกูล ได้เปิดบริษัท ‘บัตเตอร์ฟลาย ซาวนด์แอนด์ฟิล์ม เซอร์วิส’ จำกัด ร่วมกับหมู่คณะทางดนตรีอีกหลายท่านที่มาจากกลุ่มภาคีวัดอรุณเข้าร่วมอีกครั้ง รวมถึงอีกหลายต่อหลายท่านที่เข้ามาสมทบ ซึ่งปรากฏว่า เกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเพลงโฆษณาทั้งหลายที่สังคมไทยได้ยินได้ฟังทางสื่อต่างๆ นั้นล้วนเป็นผลงานจากกลุ่ม -คนบัตเตอฟลาย- ทั้งสิ้น

 

e0b89be0b881e0b981e0b89ce0b988e0b899e0b980e0b8aae0b8b5e0b8a2e0b887e0b980e0b8aae0b8b5e0b8a2e0b887e0b983e0b89ae0b984e0b89ce0b988

 

อ.ดนู ฮันตระกูล ได้เริ่มก่อตั้งวงดนตรี ‘ไหมไทย’ ขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2530 -ไหมไทย- ถือเป็นรูปแบบดนตรีเครื่องสาย 12 ชิ้น และพิณฝรั่ง ซึ่งถือเป็นวงดนตรีสากลที่บรรเลงและขับร้องได้หวานซึ้ง นิ่มนวล ยึดถือธรรมชาติวัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของวง และในปีเดียวกัน ก็ได้มีผลงานเพลงชุดแรก “ชีพจรลงเท้า/เขมรไทรโยค” ออกสู่สังคม -ไหมไทย- ได้ร่วมงานกับ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ออกเพลงชุด “ลำนำแห่งขุนเขา” โดยนำเอาเพลงที่คุณจรัล มโนเพ็ชรแต่งมาร่วมร้องออกลักษณะพื้นเมืองเหนือ จนกระทั่งมาถึงงานเพลงชุด “เงาไม้” ในปีพ.ศ. 2532 -ไหมไทย- ได้เพิ่มนักร้องหญิงคือ ‘สุภัทรา อินทรภักดี’ พร้อมๆ กับสร้างเพลงร้องและประสานเสียง ให้เป็นมิติใหม่เต็มรูปแบบของ -ไหมไทย- นับแต่นั้น

อ.ดนู ฮันตระกูล ถือเป็นอาจารย์ของคนในวงการเพลงหลายๆ คน นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้ไปแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส ปัจจุบันอ.ดนู ฮันตระกูล ยังคงเรียบเรียงผลงานเพลงอยู่เรื่อยๆ และมีการแสดงเป็นครั้งคราวคู่กับวงไหมไทยในโอกาสพิเศษต่างๆ เพื่อนำเสนอดนตรีอันเกี่ยวโยงกับศิลปะ และวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ยังทำธุรกิจร้านอาหารยุโรปกับครอบครัวบริเวณถนนสุขุมวิทอีกด้วย

สำหรับอัลบั้ม “เสียงใบไผ่” เป็นผลงานของอ.ดนู ฮันตระกูลออกผลงานไว้ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2549 โดยเป็นงานบันทึกเสียงสดๆ พร้อมกันทั้งวง จากการแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (โรงเล็ก) ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปีพ.ศ.2548 โดยจัดทำอัลบั้มนี้มาในแบบเป็นซีดี ‘เสียงใบไผ่’ – 1 แผ่น และดีวีดี เบื้องหลังการบันทึกเสียง ‘ตามเสียงขลุ่ย’ อีก 1 แผ่น (ราคาปกจำหน่ายรวมกัน 450 บาท)

อ.ดนู ฮันตระกูล ได้เขียน ‘คำนำ’ เอาไว้ว่า [ งานเพลงชุดนี้มีหลากหลายอารมณ์และสีสัน ตั้งแต่แนวลูกทุ่ง, ลูกกรุง, เพื่อชีวิต, ร็อค แนวกวี จนถึงแนวคลาสสิก การประสมเครื่องดนตรีก็แปลกไปจากที่เคย สุ้มเสียงของวงขนาดสิบชิ้นนี้ถึงแม้ไม่สวยสง่าเหมือนวงออร์เคสตร้า และไม่เก๋เหมือนไวโอลินกับเปียโน แต่ก็ให้น้ำหนักและสีสันที่ห่ามหรือกลางสุกกลางดิบ เหมือนเครื่องกินประเภทเมี่ยงยังไงยังงั้น นักฟังโดยเฉพาะที่ชอบแสวงของแปลกคงจะได้ผึ่งหูฟังเป็นที่สนุกกัน
ตามเสียงขลุ่ย ไม่ใช่ของแถมและไม่ใช่ผลพลอยได้ แต่เป็นงานที่ได้ตั้งใจทำขึ้นเพื่อเผยให้เห็นกระบวนการทำงาน บรรยากาศที่จริงจัง คละด้วยความรู้สึกที่อิ่มเอมในการประจงสร้างเสียงเพลง และเพื่อจะบอกว่า มิติของดนตรีนั้นมิได้สำเร็จอยู่เพียงหน้าลำโพงหรือหน้าเวทีแสดงเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปทั่วทุกองคาพยพของผู้เล่นและผู้ฟังทั้งหลาย ที่รักที่จะแบ่งปันกันซึ่งสารัตถะอันควรค่า และความงามอันพึงใจ ]

อัลบั้ม “เสียงใบไผ่” จึงเป็นงานเพลงที่ผสมผสานระหว่างเพลงร้อง และเพลงบรรเลง จำนวนทั้งสิ้น 10 เพลงด้วยกัน ซึ่งในเวอร์ชั่นแผ่นเสียงนี้ ได้จัดวางเพลงไว้ดังนี้ :- 1. เสียงใบไผ่ : ดนู ฮันตระกูล  คำร้อง / ทำนอง / เรียบเรียง – ถนอม สามโทน ร้อง, 2. เพื่อนร่วมทาง : ดนู ฮันตระกูล คำร้อง / ทำนอง / เรียบเรียง – ดนู ฮันตระกูล – ขับร้อง, 3. อันคนใดใด : ดนู ฮันตระกูล คำร้อง / ทำนอง / เรียบเรียง – พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ – ขับร้อง, 4. มาซิอุปสรรค : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บทกวี / ดนู ฮันตระกูล ทำนอง / เรียบเรียง – เรโซแนนซ์ – ขับร้อง, 5. ลมเหนือ น้ำหนาว : ดนู ฮันตระกูล คำร้อง / ทำนอง / เรียบเรียง – เรโซแนนซ์ – ขับร้อง และ 6. สิ้นปีที่ลันตา : ดนัย ฮันตระกูล คำร้อง / รพี รำพึง ทำนอง/เรียบเรียง – เรโซแนนซ์ – ขับร้อง …ไล่เรียงไว้ในหน้า A

ส่วนในหน้า B จะไล่เรียงเพลงไว้เป็นดังนี้ :- 1. แว่วสายลม : ก่อเกียรติ ชาตะนาวิน คำร้อง / รพี รำพึง ทำนอง / เรียบเรียง – สุภัทรา อินทรภักดี – ขับร้อง, 2. รำพัน : รพี รำพึง คำร้อง / ทำนอง / เรียบเรียง – ภัทรา อินทรภักดี + เรโซแนนซ์ เทเนอร์ คอรัส – ขับร้อง, 3. เจ้าพระยา : ดนู ฮันตระกูล ทำนอง / เรียบเรียง – บรรเลง และ 4. ยักษ์เยื้อง : ดนู ฮันตระกูล ทำนอง / เรียบเรียง – บรรเลง

“เสียงใบไผ่” ขึ้นต้นด้วยเสียงอินโทรอันอ้อยอิ่ง คละเคล้าไว้ด้วยความเศร้า เสียงของคุณถนอม สามโทนฟังแล้วได้กลิ่นอายของบ้านนอกคอกนาจริงๆ เพลงนี้ถ่ายทอดอารมณ์ให้เราซึมซับและสำนึกรัก “ความเป็นไทย” ได้อย่างยอดเยี่ยม ฟังแล้วผมชอบมาก “เพื่อนร่วมทาง” คำร้อง/ทำนอง/เรียบเรียง รวมทั้งเป็นเสียงร้องของอ.ดนู ฮันตระกูล เอง “มาซิอุปสรรค” จากบทกวีของท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เมื่อมีดนตรีและเสียงประสาน ฟังแล้วเหมือนเพิ่มพลังให้รู้สึกฮึกเหิมครับ “ลมเหนือ น้ำหนาว” เป็นเพลงออกทางสนุกสนาน กระหึ่มอลังการ มีเสียงฉิ่ง-ฉับ ราวกับคณะรำวง-กลองยาว มันส์มากๆ เป็นอีกเพลงที่ผมชอบฟัง ซึ่งจริงๆ แล้วเพลงนี้เคย -เปิดตัว- ให้ได้ฟังกันเป็นครั้งแรกแบบสดๆ ด้วยวง BSO กันไปแล้ว เมื่อครั้งที่อ.ดนูนำวง BSO (เกือบๆ เต็มวง) ไปเล่นที่ลานหน้าวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา “สิ้นปีที่ลันตา” วงเรโซแนนซ์ ขับขานประสานเสียงได้นุ่มนวล ลื่นไหล น่าฟังมากๆ

“แว่วสายลม” บทเพลงเศร้าๆ ที่คุณสุภัทรา ขับร้องไว้อย่างได้อารมณ์ร่วม แสดงถึงฝีมือ และความตั้งอกตั้งใจของเธอที่ต้องการจะสื่อให้เข้าถึงอารมณ์ของบทเพลง “รำพัน” คุณสุภัทรา เธอขับร้องไว้อย่างได้อารมณ์เพลงอีกเพลง โดยมีวงเรโซแนนซ์ร่วมคอรัสด้วย ไพเราะน่าฟังทีเดียว “เจ้าพระยา” สำหรับผม เพลงนี้เป็น -เพลงโปรดที่สุด- ในอัลบั้มนี้เลยครับ ฟังกันยาวทีเดียวมีหลายมูฟเมนต์ เสียงอินโทรช่วงเริ่มบทเพลง ช่างอ้อยอิ่งเหมือนสายน้ำที่ค่อย ๆ ไหลเอื่อย ๆ แฝงไปด้วยความเย็นฉ่ำ ทว่าเปี่ยมพลัง ยามเมื่อสายน้ำเล็ก ๆ จากทั้งปิง-วัง-ยม-น่าน ไหลมารวมบรรจบกันที่ปากน้ำโพ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำหลักของแผ่นดินไทย กระแสน้ำก็มากขึ้น รุนแรงขึ้น ไหลเชี่ยวขึ้น (ดนตรีโหมกระหน่ำเป็นระยะ ๆ ) จวบจนช่วงท้ายของเพลงนี้ที่ให้ความรู้สึกมีพลัง ชื่นมื่นหัวใจ เหมือนได้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ มาถึงจุดหมายปลายทางออกไปสู่ทะเล เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่อ.ดนูได้เคยนำไป -เปิดตัว- ให้ได้ฟังกันเป็นครั้งแรกแบบสดๆ ที่ลานหน้าวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เช่นเดียวกับเพลง ลมเหนือ น้ำหนาว

…และแล้วก็ปิดท้ายอัลบั้มกันด้วยเพลง “ยักษ์เยื้อง” ชื่อที่อาจฟังดูน่ากลัว แต่เป็นเพลงบรรเลง ออกทางอารมณ์สนุก ๆ ครับ ผมขอแนะนำให้หยิบแผ่นนี้มาเปิดฟังทำใจสบายๆ ปล่อยจิตปล่อยใจไหลไปกับบทเพลง …รับรองไม่นานหรอกครับ ท่านจะต้องเปิดเร่งเสียงให้ดังขึ้น ซึมซับความกระหึ่มให้ซาบซ่าส์เข้าไปในหัวใจ เพราะอัลบั้มนี้ได้รับการบันทึกเสียงมาดีเหลือหลาย ตั้งแต่ครั้งต้นฉบับจัดทำเป็นซีดี จนคุณโจ โปสเตอร์ประทับใจ และติดต่อขออนุญาตอ.ดนูนำมาจัดทำใหม่

บรรยากาศรายรอบ (atmosphere) ดีมากๆ อบอวลทีเดียว และแทรกตัวเข้ามาให้เรารับรู้อยู่ตลอด สมจริงมาก ความชัดเจนของเสียงต่างๆ ไม่ชัดจนเกินจริง (ไม่ถูกบูสต์จนผิดเพี้ยนไปจากความสมจริง) ทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยชัดเจนมาก แม้เสียงที่แผ่วเบา สุ้มเสียงสดใส โปร่งกระจ่าง มีน้ำนวล เต็มอิ่มน่าฟัง ไม่คมกริบ จัดจ้าน ปลายเสียงเปิดกว้างมีความกังวาน น้ำหนักเสียงโดยรวมดี มีความเอิบอิ่ม เป็นตัวเป็นตน อิมเมจเสียงวางตัวดี มีซาวด์สเตจกว้าง และลึกมากทีเดียว (เสียงเพอร์คัสชั่นต่างๆ อยู่ชั้นในสุดของเวทีเสียงเลยเชียวละ) ชื่นชอบมากๆ ครับสำหรับรายละเอียดในเสียงร้องประสานที่สอดแทรกเข้ามา ชัดเจนมากแยกได้เป็นคนๆ – ขนลุกครับ

อิมเมจดีมีมิติ ไล่ระดับลึก-ตื้น เสียงกระจายตัวเป็นอิสระ ไม่หลบลู่ เสียงสูง-กลางเป็นประกายพละพลิ้ว ปลายหางเสียงกังวานทอดตัวยาวทีเดียว รายละเอียดต่างๆ ลอยตัวไม่จมกลืนหายไป ทั้งยังมีเสียงสอดแทรกเล็กๆ น้อยๆ แสดงถึงว่า มาสเตอร์ต้นฉบับนั้นดีมากๆ ดียิ่งกว่าชุด “ไหมไทย คอนเสริ์ต 2553” ที่คุณโจ โปสเตอร์ได้เคยนำกลับมาทำเป็นเวอร์ชั่นแผ่นเสียงไว้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วซะอีก (ผิดกันแต่ว่า ชุดนั้นมีเสียงปรบมือในคอนเสริ์ต ได้บรรยากาศร่วมของการแสดงสด) …นี่จึงเป็นอลังการงานสร้างชิ้นสำคัญของคุณโจ โปสเตอร์ ซึ่งผมขอการันตี ณ วันนี้ไว้เลยว่า “เสียงใบไผ่” จะต้องกลายเป็นแผ่น collector items ในอนาคต …ฟันธงครับ

 

sbp300

 

คุณโจ โปสเตอร์ยังได้บอกว่า “อายุคนเราสั้น ศิลปะยืนยาว แผ่นเสียงมีอายุการเก็บรักษาได้มากเกิน 100 ปี ทำผลงานบูชาครูทั้งที ขอสุดๆ ครับ” ดังนั้นสำหรับปกแผ่นเสียงชุด “เสียงใบไผ่” (ที่หนาปึ๊ก แข็งแรงราวกับปกไดอารี่ฝรั่ง) คุณโจเลยตกลงใจไปขอรบกวนให้อาเปี๊ยก โปสเตอร์ ช่วยวาดภาพปกให้ โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 57 ปีเลยทีเดียว เอาให้สมกับความทรงคุณค่าของบทเพลงจากฝีมือของอ.ดนู ฮันตระกูล

อ้อ…อีกนิดครับ คุณโจ ได้จัดทำแผ่นเสียงชุด “เสียงใบไผ่” ไว้เป็น 2 เวอร์ชั่นนะครับ มีทั้งแบบแผ่นเดี่ยว สปีด 33 1/3 (ผลิตจำนวน 300 แผ่น ราคา 2,750 บาท) และแบบแผ่นคู่ สปีด 45 (ผลิตจำนวน 200 ชุด ราคา 4,900 บาท) แต่โปรดอย่าย้อนถามผมว่า เวอร์ชั่นสปีด 45 ฟังดีกว่าเยอะไหม ผมตอบชัดๆ ไม่ได้ครับ เพราะไม่มีตังค์ซื้อหามาเปรียบเทียบกันแบบจะๆ ซึ่งหากจะเอากันแบบ-สุดซอย-ไปเลย ไหนๆ ก็ไหนๆ ซื้อเก็บสะสมไว้ทั้ง 2 เวอร์ชั่นเลย จะได้ไม่เสียดายในภายหลัง ….รู้งี้ – – –