What HI-FI? Thailand

แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !) 3

แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !) 3 …มงคล อ่วมเรืองศรี

แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !

The Merry Angel on 45

แผ่นเสียงแผ่นนี้มีที่มาสั้นๆ อันเป็นการคัดสรร หรือ ตัดเพลงเด่นๆ มาจากอัลบั้ม The Merry Angel Opus 8 และ Opus 9 ซึ่งเคยออกจำหน่ายเป็นเวอร์ชั่นแผ่นซีดีก่อนหน้านี้ ที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพเสียง สามารถเทียบเคียงได้กับระดับการรับฟังจากอัลบั้มของสังกัด Sheffield Labs อันสืบเนื่องมาจากการบันทึกเสียงนั้นเป็นแบบ live recording direct to 2-track ในระดับค่าความละเอียด 24/192 โดยใช้วิธีปรับตั้งอุปกรณ์ ‘Pack’ ของทาง XAV สำหรับปรับแต่งสภาพห้องฟังให้มีความเหมาะสมต่อการบันทึกเสียง มากกว่าจะใช้วิธีปรับตั้งค่าเกี่ยวข้องต่างๆ บนอุปกรณ์ผสมสัญญาณเสียง (Mixer) เพื่อให้ได้มาซึ่งลักษณะเสียงที่ต้องการ การรับฟังจึงมีคุณภาพครบถ้วนตามความปรารถนาของนักฟังออดิโอไฟล์ ทั้งในแง่ความเปิดโปร่ง-อิ่มฉ่ำ-มีมวลมีน้ำหนัก-มีเนื้อมีหนัง-มีตัวมีตน อุดมด้วยรายละเอียดเสียง-เปี่ยมในบรรยากาศ-ปลายหางเสียงก้องกังวาน ทอดยาวไกล-ให้มิติเสียงอันสมจริง

ซึ่งการบันทึกเสียงแบบ “live recording direct to 2-track” นั้น จะไม่มีการบันทึกซ้ำ ตัดต่อ แก้ไข หรือการบีบอัดข้อมูลใดๆ การตั้งเกนเอาท์พุทยังคงเซ็ตไว้ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เพื่อที่จะเก็บรายละเอียด ไดนามิครวมทั้งความดิบ, สด ที่เป็นธรรมชาติไว้ได้อย่างครบถ้วนเหมือนเดิม ดังนั้นเวลาที่นำแผ่นไปเล่นกับชุดเครื่องเสียงบ้าน จึงจำต้องเร่งระดับวอลุ่มเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับการรับฟังเพลงทั่วไปอีกสักนิด เพื่ออรรถรสในการฟังที่เต็มอิ่ม มีความเที่ยงตรงสูงในแนวมอนิเตอร์ มีความสดแต่ไม่แข็ง ไม่มีอาการกร้าวจัด หรือ Overload แต่อย่างใด เสียงที่เกิดขึ้นจริงในห้องบันทึกเป็นอย่างไร เมื่อนำมาฟังที่บ้านก็จะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างที่เป็นจริง

‘The Merry Angel’ นั้น สื่อความหมายถึง “เทพบันเทิง” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่ออัลบั้มแรกสุด และด้วยความหมายที่ดี จึงได้ใช้ชื่อนี้ตลอดมา แล้วใช้ “Opus – -” เข้ามากำกับให้เป็นหลักสากล เพื่อบ่งบอกถึง -ลำดับที่- แทนการใช้ -ชื่ออัลบั้ม- โดยเป็นฝีมือของ “วงหน่อไม้” ที่อ.สมเกียรติ ศิริวนิชสุนทร (อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสเตอริโอ) ถือเป็นผู้ก่อตั้ง รวมทั้งยังทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มอยู่กลายๆ อีกด้วย ส่วนวงดนตรีที่เล่นนั้น มีชื่อว่าวง “หน่อไม้” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในลักษณะของวง “สมัครเล่น” แต่ทว่าแท้จริงแล้ว นักดนตรีหลายท่านในวงหลาย มีฝีไม้ลายมือในระดับ “อาจารย์” กันแล้วทั้งนั้น

คุณสมเกียรติเคยแสดงความคิดเห็นว่า “การที่เพลงดนตรีไทยเดิมนั้นได้รับความนิยมน้อย น่าจะมาจากสาเหตุ 2 ประการ หนึ่งนั้นก็คือ “โอกาส” ในการนำเสนอนั้นมีน้อยมาก และสองก็คือแผ่นเพลงดนตรีไทยเดิมที่บันทึกมาดีๆ นั้นหาฟังได้ยากยิ่ง ถึงแม้ว่าการมาถึงของภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” เมื่อหลายปีก่อนจะมีส่วนเป็นอย่างมากในการกระตุ้น ความตื่นตัวในวงการดนตรีไทยให้เกิดขึ้น อีกทั้งยังได้สร้างกระแสความสนใจในบทเพลงดนตรีไทยเดิม ส่งผลให้ศิลปินนักดนตรีไทยเดิมต่างนำเสนอผลงานออกมากันอย่างคึกคัก ถึงแม้จะมีแผ่นเพลงออกมาให้เลือกซื้อเลือกหามากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าคุณภาพในการบันทึกเสียง แม้จะได้รับความใส่ใจมากขึ้นก็ตาม แต่ก็นับว่ามีคุณภาพเสียงยังห่างจากคุณภาพเสียงที่เหล่านักเล่นในวงการเครื่องเสียงจะยอมรับกันอยู่ไม่น้อย มีที่เป็นที่ยอมรับกันก็เป็นแผ่นที่ผลิตจากค่ายดังในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนน้อย และมีราคาในตลาดมือสองที่สูงมาก”

และยังได้ขยายความต่อว่า “การบรรเลงเพลงดนตรีไทยเดิมนั้นส่วนใหญ่แทบทั้งหมด จะเล่นตามอารมณ์โดยไม่มีการกางโน้ตเล่นแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการ “ด้นสด” หรือการเล่นแบบ By Heart ดังนั้นอารมณ์ของนักดนตรีและบรรยากาศจึงมีความเป็นธรรมชาติสูง การจะบันทึกสิ่งดีๆ เหล่านี้ไว้ได้ครบถ้วนนั้น จะต้องใช้กรรมวิธีในการบันทึกที่เรียกว่าการบันทึกสดแบบ “Live to Two-Track” ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงที่ค่ายเพลงชื่อดังในวงการเครื่องเสียงอย่าง Sheffield Labs ในอดีตเลือกใช้จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงมาจวบจนปัจจุบัน”

การบันทึกแบบ “Live to Two-Track” นั้น เน้นที่การให้นักดนตรีทั้งหมดบรรเลงเพลงพร้อมกันทั้งหมดในเวลาเดียวกัน และทำการบันทึกสดพร้อมกันไปในขณะนั้น เกิดมีนักดนตรีท่านใดเล่นผิดพลาดเพียงคนเดียว ก็จะต้องทำการเล่นพร้อมกันใหม่ทั้งหมด และเริ่มทำการบันทึกเสียงใหม่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นสมาธิและฝีไม้ลายมือของศิลปินจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การจะเข้าไปตัดต่อหรือซ่อมเฉพาะบางช่วงบางตอนนั้นบอกได้คำเดียวว่า “หมดสิทธิ์” เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ดนตรีเกิดการสะดุดขาดความต่อเนื่องจนฟ้องออกมาและฟังออกชัดเจนครับ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ด้วยเหตุนี้การบันทึกแบบ “Live to Two-Track” จึงไม่ได้รับความนิยมในแง่ของเชิงพาณิชย์ จึงทำให้กรรมวิธีในการบันทึกดังกล่าว หาฟังได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งจะแตกต่างจากการบันทึกเพลงส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่จะนิยมการบันทึกแบบ “มัลติแทร็ค” (Multi-Track) ซึ่งการบันทึกนั้นสามารถทำได้โดยที่นักดนตรีไม่ต้องมาพร้อมกัน ใครว่างช่วงไหนก็มาบันทึกเก็บไว้ แล้วค่อยมามิกซ์ (Mix) ผสมสัญญาณเสียงรวมกัน ถ้าเกิดมีความผิดพลาดในการเล่นก็สามารถที่จะแก้ไขชดเชยและปรับแต่งได้ในขั้นตอนสุดท้าย

การบันทึกแบบ “Live to Two-Track” นั้นจึงมีความพิเศษตรงที่สามารถจะเก็บเอาบรรยากาศรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งฮาร์โมนิกของเสียงดนตรีและอารมณ์ของนักดนตรีไว้ได้เป็นอย่างดี มีความเป็นธรรมชาติและน่าฟัง ซึ่งการบันทึกในแบบมัลติแทร็คนั้น-เทียบชั้น-ไม่ได้เลย นอกจากนี้อ.สมเกียรติ ยังเคยปรารภกับผมว่า “ต้องการที่จะจัดทำอัลบั้มดนตรีไทยแท้ๆ อย่างที่มักจะถูกเรียกกันว่า –เพลงไทยเดิม- นี่แหละ แต่ว่าให้มีคุณภาพการบันทึกที่ดีมากๆในระดับมาตรฐานสากลเทียบชั้นได้กับแผ่นของฝรั่งมั่งค่าที่ได้รับการยอมรับกัน เพื่อให้เป็นแบบอย่าง หรือ สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานของการรับฟังในการประเมินสมรรถนะและคุณภาพเสียงของชุดเครื่องเสียงที่เล่นอยู่ได้ อย่างภาคภูมิใจในความเป็นไทย เปิดเสียงโชว์ให้ไทย-จีน-ญี่ปุ่น-ฝรั่ง ฟังได้ไม่อายใคร”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘The Merry Angel’ นับตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก “เทพบันเทิง” ซึ่งถือเป็น Opus 1 ตามมาด้วย Opus 2 (Normai & Friends), Opus 3 (Music For Kims, Siamese Drums And Percussions), Opus 4 (Normai & Distinguished Colleagues play The Oriental Classics) กระทั่ง Opus 5 ในชื่อชุด “พญาลำพอง” (Phya Lampong) ซึ่งถือได้ว่า “เริ่ม” ฉายแววความเป็นออดิโอไฟล์ให้เหล่านักฟังได้ประจักษ์ เนื่องจากได้รับการปรับเปลี่ยน-จัดวางตำแหน่งไมโครโฟนใหม่ (แต่ยังคงใช้ห้องใหญ่ของ Vintage Studio ในการบรรเลง และใช้ทำการบันทึกเสียงเช่นเดิม) รวมถึงทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการวางของวง และตำแหน่งของนักดนตรีใหม่ โดยเป็นฝีมือของคุณธานินท์ โฆษะกิตติกุลในการวางตำแหน่งไมโครโฟน รวมทั้งการบันทึก และจัดทำมาสเตอร์ด้วย

จากนั้นตามมาด้วยชุด Opus 6 (Music for Ranad, Pi-ie, Drum and Percussions) และต่อติดด้วยอัลบั้ม Opus 7 และ Opus 8 ที่ออกมาพร้อมๆ กัน ซึ่งตัวผมเองถือว่า ให้คุณภาพเสียงที่-ฟันธง-ได้อย่างไม่ต้องเกรงใจเลยว่า “ดียิ่งกว่า” อัลบั้มทุกชุดที่ผ่านมาของ ‘The Merry Angel’ ทั้งในด้านประเด็น -ความอิ่มเข้ม- ของเสียง ที่ให้ความมีตัวมีตนที่มากขึ้นกว่าเดิม -สภาพเวทีเสียง- ที่วางตำแหน่งแห่งที่ของชิ้นดนตรีอย่างมีระยะลึก/ตื้นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น -ความกังวาน- ของทั้งน้ำเสียงและปลายหางเสียงที่ชุ่มฉ่ำยิ่งขึ้นอย่างชัดเจน-มวลบรรยากาศ- ในสภาพห้องที่บรรเลงและใช้ในการบันทึกเสียง ที่ครานี้มีอยู่อย่างอบอวล อีกทั้งแต่ละเสียงชิ้นดนตรีก็ไม่ชัดจนแข็งแห้ง ฟังแล้วมีความสมจริง ในขณะที่ประเด็นความใส/โปร่งกระจ่าง ซึ่งนับเป็น ‘จุดเด่น’ สำคัญ ก็ยังมีอยู่ครบถ้วน

ดังนั้นการมาถึงของ Opus 9 ซึ่งเป็นการบรรเลงเพลงไทยโดยใช้แตรวง (Brass Band) จึงเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเราๆ ท่านๆ น่าจะเคยได้ยินได้ฟังเสียงแตรวงแบบไทยๆ ที่ให้ความชื่นมื่นสนุกสนาน เฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศของการบวชนาค หรือว่าการแต่งงาน ทว่าโอกาสฟังสดๆในบรรยากาศงานเช่นนั้น -หาได้ยาก- เต็มทนในยุคปัจจุบัน การที่อ.สมเกียรติเลือกที่จะหยิบจับ-คัดสรรบทเพลงจากทั้ง Opus 8 และ Opus 9 มารวมไว้ในแผ่นเสียงชุดเดียวกัน อีกทั้งการที่อ.สมเกียรติเลือกที่จะจัดทำแผ่นเสียงชุดนี้ในแบบสปีด 45 (รอบต่อนาที) เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยม เท่าที่แผ่นเสียงในระดับความเร็วต่อรอบอันเป็นมาตรฐานสากลจะพึงให้ได้ จึงต้องเปล่งเสียงไชโยกันดังๆ

มหาฤกษ์-มหาชัย (Opus 9) , พันธุ์ฝรั่ง (Opus 8) ,แขกมอญบางขุนพรหม (Opus 9) และพม่ารำขวาน (Opus 9) คือ บทเพลงทั้ง 4 ที่ถูกนำมาบรรจุไว้ในแผ่นเสียงชุดนี้ – ฟังแล้ว ขนลุกครับ โดยเฉพาะ “มหาฤกษ์-มหาชัย” ที่ถือเป็นเพลงมิ่งขวัญมหามงคล ซึ่งหาโอกาสฟังได้ยาก เพราะใช้เป็นเพลงในพระราชพิธี ได้ฟังแล้วแช่มชื่นใจครับ ส่วน “พม่าประเทศ” เป็นเพลงที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยกันดี แต่ไม่ใคร่จะมีใครทราบถึงชื่อเพลงรวมถึงที่มา …เพลงนี้แหละครับที่ถูกนำมาใช้เป็นเพลงนำก่อนถึงเวลาเคารพธงชาติทุก เช้า-เย็น สำหรับ “พม่ารำขวาน” บอกสั้นๆว่า -มันมาก- มีกลองยาวเข้ามาเล่นเสริม สนุกสนานเบิกบานอุรา บอกกันตรงๆว่า ใครที่เคยได้ฟังอัลบั้ม Opus 8 และ Opus 9 ในเวอร์ชั่นแผ่นซีดีมาแล้ว “The Merry Angel on 45” นี้ถือเป็นสุดยอดครับ แม้ฟังจบแผ่นแล้วยังจะรู้สึกว่า ฟังกันยังไม่เต็มอิ่มนัก กับเวลาสิบกว่านาที ที่ราวกับกำลังนั่งรับฟังวง มาบรรเลงสดๆ อยู่ตรงหน้า มีระยะลึก-ตื้น รวมถึงความสดใส-ฉับพลันทันใดของไดนามิก และมวลบรรยากาศ ชนิดที่ว่าไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากเพลงไทย (เดิม) บ้านเรา ถือเป็น Reference ได้เลยครับ (…น่าจะจัดส่งไปให้สังกัด Sheffield Labs ได้ฟังกัน – ภูมิใจมากครับ บอกกันตรงๆ)

ต้นฉบับการบันทึกนั้น-ดีมากๆ มาตั้งแต่แรก สมควรยกให้เป็น -แม่แบบ- แห่งคุณภาพการบันทึก สนามเสียงที่รับฟังมีความแผ่กว้าง ชิ้นดนตรีไม่กระจุกตัว มีมวลบรรยากาศ พร้อมทั้งเสียงเล็กๆน้อยๆสอดแทรกเป็นเกร็ดซ่อนอย่างธรรมชาติไว้ให้จับกัน ช่วงปลายหางเสียงนี่แหละครับ ที่ผมถือเป็น “ประเด็นเด็ด” เพราะทิ้งตัวทอดยาว แล้วค่อยๆจางหายไปอย่างในธรรมชาติ โดยไม่จมตัวหดห้วนไปเฉยๆ …ขอแนะนำให้เร่งเสียงดังๆ เวลารับฟังแผ่นนี้ แล้วคุณจะรู้สึกราวกับว่า ยืนดูวงแตรวงเล่นอยู่ตรงหน้า – ผมไม่ได้โม้นะ เพราะการรับรู้ระยะชัดลึก-ชัดตื้นนั้นไล่ระดับตำแหน่งชิ้นดนตรีมีหน้า-มี หลัง เว้นระยะห่างอย่างสมจริงมาก — หากแต่ในความรู้สึกส่วนตัวของผม ซึ่งชื่นชอบแตรวงมาแต่ไหนแต่ไร แผ่นนี้ยังให้ “ความกริ๊บ” หรือ crispy ของ เสียงแตรวงที่จะต้องมี “ความคม” กัดหูน้อยๆเจือปนออกมา อย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องเป่าทองเหลือง (อย่างเช่นทรัมเป็ตนี่ก็ใช่) ได้กลมมนไปนิด ไม่แปร๋แปร๋นออกมาเต็มที่ คงเป็นเพราะเกรงว่าจะจัดจ้าละกระมัง – กระนั้นเสียงฉิ่งเสียงฉาบก็กระจ่างชัด และกังวานทอดยาวไกล ให้น้ำหนักเสียงอันสมจริง

“live recording direct to 2-track” นั้นบันทึกเสียงในขณะบรรเลงพร้อมกันทั้งวง โดยปราศจากการโอเวอร์ดับ (overdub) หรือเล่นซ่อมใหม่ แก้ไขในส่วนที่ผิดพลาด ดังนั้นอารมณ์ดนตรีที่ได้ฟังจึงให้ความเป็นธรรมชาติ ความสมจริงแห่งบรรยากาศเสียง ตำแหน่งชิ้นดนตรี และไดนามิคที่โดดเด่น รวมทั้งการรับรู้ถึงสภาพเวทีเสียงที่เสมือนกำลังนั่งฟังการบรรเลงจริงๆ แผ่นเสียงชุดนี้ผมจึงถือเป็น “ที่สุด” แห่งสุดยอดของแผ่นเสียงเพลงไทยแท้ เท่าที่ได้เคยมีการผลิตแผ่นเสียงเพลงไทย (เดิม) มาเลยทีเดียว

…อีกนิดครับ เกือบลืมบอกไป “The Merry Angel on 45” ได้รับการจัดทำในเยอรมันอย่าง Limited Edition รับประกันได้ในคุณภาพ โดยผลิตเป็นแผ่น 180g Black vinyl จำนวน 250 แผ่น และแผ่น Red Vinyl จำนวน 250 แผ่น …รีบจับจอง-ซื้อหากันได้นะครับ ก่อนที่จะหมด และกลายเป็น Collector Items ให้ต้องจ่ายกันในราคาแสนแพง !!

Exit mobile version