แผ่นเสียงเพลงไทย…

0

แผ่นเสียงเพลงไทย…

บุษบาอธิษฐาน-มโนห์ราลงสรง

พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี

——————————————————————————————————

บุษบาอธิฐาน

         แผ่นเสียงเพลงไทยฉบับนี้ จะนำขอเสนอแผ่นเสียงในยุคแรก ๆ ที่มีการบันทึกเสียงในระบบสเตอริโอของเมืองไทย เป็นแผ่นเสียงของบริษัท กมลสุโกศล ๒ แผ่นที่ออกมาคู่กัน

บริษัทกมลสุโกศล ถือว่าเป็นบริษัทใหญ่มีกิจการหลายประเภท สำหรับแผนกแผ่นเสียงนั้นเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการแผ่นเสียงของเมืองไทย ตั้งอยู่ที่สามยอด ห้องบันทึกเสียงตั้งอยู่ในซอยอรรถการประสิทธิ์   ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๙ มีนายเตียง โอศิริ เป็นผู้จัดการ มีหน้าที่คัดเพลงและควบคุมการบันทึกแผ่นเสียง โดยมี เกษม มิลินทจินดา, สุทิศ เทศารักษ์, ชรินทร์ งามเมือง (นันทนาคร) เป็นผู้ช่วย เพลงของบริษัทมีทั้งเพลงไทยสากล เพลงสุนทราภรณ์ นายเตียง โอศิริ นี้ได้รับสมญาว่า “บรรณาธิการเพลงแห่งประเทศไทย

ภายหลังได้ครูสง่า อารัมภีร มาร่วมงาน ซึ่งครูสง่า อารัมภีร เล่าว่า “ลุงเตียง ซึ่งผมรักชอบกับท่าน เอาเพลงมาขายจนท่านรักเหมือนลูกเหมือนหลาน พอคุณชรินทร์ ออกไป ท่านก็ให้คุณต้น บุญกวง หัวหน้าแผนกขายสด คุณณรงค์ วงศ์รัก ชิปปิ้งของบริษัทมาตามให้ผมไปทำงาน… ผมก็นำมิตรรักนักเพลง อาทิ ไสล ไกรเลิศ, สมาน กาญจนะผลิน, ชาลี อินทรวิวิตร, ประสิทธิ์ พยอมยงค์   ฯลฯ ป้อนเพลงให้ศิลปินคู่ใจ ชรินทร์ เพ็ญศรี, สุเทพ สวลี ฯลฯ ร้อง ผมคุมงานด้านนี้ ด้านสุนทราภรณ์ ลุงเตียงคุมเอง …”

ยุค พ.ศ. ๒๕๐๐   ถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๓ ก่อนบริษัทจะเลิกกิจการด้านแผ่นเสียง แผ่นเสียงตรากมลสุโกศล มีผลงานออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก จากการคัดเพลงของครูสง่า อารัมภีร โดยมี วิสุทธิ์ วิวานนท์ เป็นผู้บันทึกเสียง โดยธุรกิจห้องบันทึกเสียง และผลิตแผ่นเสียง แยกเป็นบริษัทเฉพาะ คือบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ นับเป็นโรงงานผลิตแผ่นเสียงสเตอริโอไฮไฟที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคตะวันออกไกล ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นยุคเริ่มของระบบการบันทึกเสียงระบบสเตอริโอของเมืองไทย

มโนห์รา

       จากหนังสือแค็ตตาล็อกแผ่นเสียงของบริษัท พบว่า แผ่นเสียงของบริษัทกมลสุโกศลที่บันทึกเสียงในระบบสเตอริโอ ที่เรียกในขณะนั้นว่า “สเตอริโอโฟนิค” แผ่นแรกที่ผลิตในนามแผ่นเสียงกมลสุโกศล ตรา K.S 8 (ไม่ใช่รับจ้างบันทึกเสียง) คือชุด   สังคีตประยุกต์ หมายเลขแผ่น SKS ๓๐๑ ตามมาด้วย ชุด จังหวะลาตินล้วน SKS ๓๐๒ ซึ่งเป็นเพลงบรรเลง และชุดต่อมา คือ ชุด บุษบาอธิษฐาน หมายเลข ๓๐๓ และ มโนห์ราลงสรง หมายเลข ๓๐๔   ซึ่งเป็นเพลงขับร้องสลับกับเพลงบรรเลง ซึ่งผมจะนำมาเสนอในฉบับนี้

แผ่นเสียงสองแผ่นนี้แปลกตรงที่ แผ่นแรกชุด “บุษบาอธิษฐาน” หน้าแรกเป็นเพลงขับร้องที่แต่งมาจากวรรณคดีไทยเรื่อง อิเหนา   หน้าที่ ๒ เป็นเพลงบรรเลงชุดมโนห์รา   ส่วนแผ่นที่สอง “มโนห์ราลงสรง” นั้นกลับกัน คือหน้าแรก เป็นเพลงขับร้องที่นำมาจากวรรณคดีเรื่อง มโนห์รา หน้ากลับเป็นเพลงบรรเลงจากชุด บุษบาอธิษฐาน ซึ่งแผ่นเสียงสองชุดนี้ผลิตจำหน่ายประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๐๙ และน่าจะผลิตออกมาใกล้ ๆ กัน โดยพบหลักฐาน จากหนังสือเพลงกล่อมจิต เล่ม ๑๑ เดือนมากราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ คอลัมน์ชุมทางนักเพลง ซึ่งอาจารย์กมล ทัพคัลไลย ผู้จัดทำหนังสือ ซึ่งใช้นามปากกาว่า ไมเนอร์ เขียนไว้ว่า

“…พูดถึงเพลงก็เลยนึกถึงแผ่นเสียงลองเพลย์สเตอริโอโฟนิคล่าสุดของศักราช ๐๙ คือชุดมโนห์รา ทั้งชุดในจังหวะตะลุงเทมโป้ ของ เวส สุนทรจามร โดยมี ธาตรี เป็นผู้ใส่คำร้อง ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี … แผ่นจะออกในเดือนมกรานี้ นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีชุด จันทร์เจ้าขา ของพรานบูรพ์ เพลงเก่าที่อมตะอย่างแท้จริง แต่จะมาทันสมัยด้วยสเตอริโอเพลงไทยสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้จัดทำโดยบริษัท กมล สุโกศล จำกัด …

ปกแผ่นเสียงชุดแรก บุษบาอธิษฐาน ปกแผ่นสีทอง มีภาพวาดสีน้ำ เป็นภาพบุษบานางเอกจากวรรณคดีเรื่องอิเหนา กำลังพนมมือไหว้ ต่อหน้าแสงเทียน มุมบนซ้ายใช้อักษรสีดำเขียนว่า สเตอริโอโฟนิค   มุมบนซ้ายมีคำว่า STEREO ถัดลงมามีอักษรสีแดงขอบเหลือง และอักษรสีน้ำเงิน ไล่เลียงลงมา บอกชื่อชุดว่า บุษบาอธิษฐาน ต่อกันลงมา   ปกสวยงามเหมือนงานศิลปะนี้เป็นผลงานของ พนม สุวรรณบุณย์ นักวาดชั้นครูที่เป็นผู้เขียนปกแผ่นเสียงเจ้าประจำของบริษัท

เวส สุนทรจามร
เวส สุนทรจามร

ปกหลังพิมพ์ด้วยหมึกขาวดำ ให้ข้อมูลหมายเลขแผ่น คือ SKS – ๓๐๓ และมีข้อความว่า “บริษัท กมลสุโกศล จำกัด เสนอ … เพลงตลุงเท็มโป้ ชุด อิเหนาขับร้องโดย เพ็ญศรี – เลิศ –ดวงตา และเพลงดนตรีล้วน ตลุงเท็มโป้ ชุด มโนห์รา ทำนอง เวส สุนทรจามร เนื้อร้อง ธาตรี เพิ่ม คล้ายบรรเลง เรียบเรียงเสียงประสาน

ครับ แผ่นเสียงชุดนี้ ทำนองและเนื้อร้องโดยนักแต่งเพลงจากวงดนตรีสุนทราภรณ์ ครูเวส สุนทรจามร เจ้าของทำนองเพลง หงส์เหิร, พรหมลิขิต, สนต้องลม, ทาสน้ำเงิน, บุพเพสันนิวาส, ริมฝั่งน้ำ   ฯลฯ ส่วนคำร้องเป็นผลงานของครูวิชัย โกกิลกนิษฐ์ ผู้ใช้นามปากกาว่า ธาตรี ผู้แต่งเนื้อร้องเพลง น้ำตาดาว, วิมานสีชมพู, สั่งไทร, รอพี่, จำไก้ไหม, รักวันเติมวัน, สมมติว่าเขารัก, สาวอัมพวา, อาลัยโดม, บนลานลั่นทม ฯลฯ

ส่วนนักร้องถ้าเป็นฝ่ายหญิง จะเป็นการขับร้องไปพร้อมๆ กันของ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี อดีตนักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์ กับ ดวงตา ชื่นประโยชน์ นักร้องหญิงที่กำลังมีชื่อเสียง สำหรับฝ่ายชาย คือเลิศ ประสมทรัพย์ นักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์

ปกตลุงเทมโป

         เพลงทั้งสองอัลบั้มใช้จังหวะตะลุงเทมโป้ (Talung Tempo)   ซึ่งเป็นจังหวะลีลาศจังหวะหนึ่ง ซึ่งประเทศอังกฤษได้จดทะเบียนชื่อและท่าเต้นไว้โดยจัดให้อยู่ในกลุ่มลีลาศจังหวะเร็ว ๑๒ จังหวะ จังหวะตะลุงนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ สมคมชาวปักษ์ใต้ได้จัดให้มีการประกวดดนตรีชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย โดยได้เชิญ ครูล้วน ควันธรรม และครูเอื้อ สุนทรสนาน มาประชุมปรึกษากันที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ และที่โรงแรมสุริยานนท์ ครูล้วน ควันธรรม ซึ่งมีภรรยาเป็นคนใต้ และเดินทางไปปักษ์ใต้บ่อย ๆ เห็นวิธีการเชิดหนังตะลุง จึงเกิดความคิดที่จะเอาจังหวะของหนังตะลุงมาดัดแปลงให้เป็นจังหวะเต้นรำแบบไทย ๆ จึงเสนอนายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ (นายประดิษฐ์ พรหมภัติ) ซึ่งคณะกรรมการเห็นด้วย ครูล้วน จึงแต่งเพลงวตะลุงเท็มโป้ขึ้น โดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ช่วยพิจารณาแก้ไข จนใช้จังหวะตะลุงสำหรับการลีลาศได้ จังหวะตะลุงจึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น   มีการแต่งเพลงจังหวะตะลุงออกมามากมาย

ครูล้วน ควันธรรม ท่านแต่งเพลง “ตะลุงเท็มโป้” เล่าถึงประวัติของเพลงจังหวะตะลุงไว้

เพลงตะลุงเท็มโป้

มาจากปักษ์ใต้ของประเทศไทย   จังหวะทำนองคล้องจองว่องไวแก้ไขดัดแปลง

ตะลุงเท็มโป้ ชื่อโก้พอแรง               จังหวะเชิดหนัง  ดั้งเดิมปรุงแต่งแพลงพลิกทำใหม่

ลองฟังซิครับเสียงทับฉับแกระรุกเร้าเริงใจ ลีลาท่าที  ชี้ชัดว่องไวคล้ายหนังตะลุง                                กำหนดกฎเกณฑ์เต้นรำคนกรุง             ใช้เข้าแบบแผนแสนโก้ปรับปรุง ตะลุงแบบไทย

แผ่นมโนห์ราลงสรง...

สำหรับแผ่นเสียงชุด บุษบาอธิษฐาน นี้ ครูธาตรี ท่านนำความมาจากวรรณคดีเรื่องอิเหนา

หนังสือ “เล่าเรื่อง อิเหนา” สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษาจัดพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖   รศ. วิเชียร เกษประทุม ท่านเล่าไว้ว่า

“…อิเหนาเป็นนิทานอิงพงศาวดารของประเทศชวา (อินโดนีเซีย) เหตุที่เกิดนิทานเรื่องนี้ก็เนื่องมาจากพวกชวานับถือกันว่า  อิเหนาเป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพมาก  เป็นที่ชื่นชมของชาวชวาถึงกับนำไปเล่าสู่กันฟัง  บ้างก็ใช้เป็นคำพากย์หนังเชิดอย่างหนังตะลุง  บางกระแสกล่าวว่า  อิเหนาคือพระวิษณุหรือพระนารายณ์แบ่งภาคมาเกิด

ต่อมาเมื่อเรื่องอิเหนาแพร่มาถึงมลายู (มาเลเซีย) พวกมลายูก็นำเอาเรื่องอิเหนามาเล่นเป็นละครแขก  หรือหนังแขกนิทานเรื่องอิเหนามาเล่นเป็นละครแขก  หรือหนังแขกนิทานเรื่องอิเหนาจึงเป็นนิทานที่แพร่หลายที่สุด  เรื่องอิเหนาในชวามีหลายสำนวน  ต้นฉบับเก่าเป็นหนังสือภาษาชวา  ชื่อ  “ปันหยี สะมิหรัง”  แปลว่า  เก็บไว้ที่หอสมุดของสมาคมศิลปวิทยาเมืองบะตาเวีย  คำว่า  “สะมิหรัง”  แปลว่า แปลงหรือปลอมตัว  ในไทยเราเรียกนามปันหยีว่าเป็นนามปลอมของพระเอก  คืออิเหนา  ซึ่งต้นฉบับในภาษาชวาไม่นิยมเรียกว่าอิเหนา  แต่จะเรียกว่าปันหยีตลอดเรื่อง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  เรื่องอิเหนาแม้ในชวาเองแต่ละสำนวนมีเรื่องแตกต่างกันไป มีเค้าที่จะลงรอยกับอิเหนาฉบับไทย  ก็แต่ในกระบวนการชื่อเมือง  ชื่อคน  และวงศ์วานบ้างเท่านั้น

นิทานอิเหนาได้เริ่มเข้ามาในเมืองไทย  แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์

วรพินิต  ประทานความคิดเห็นไว้ดังนี้ว่า  “ผู้นำเรื่องอิเหนาเข้าไปเล่าในกรุงสยามครั้งกรุงเก่านั้น  คงจะเป็นชาวชวา  หรือมลายู  แต่คงจะมีล่ามแปล  ล่ามนั้นน่าจะเป็นชาวมลายูตอนใต้  ซึ่งพูดไทยได้เป็นเสียงชาวนอก  และคำมลายูทั้งปวงที่ใช้ในเรื่องอิเหนา  จึงมีเสียงผันเป็นเสียงชาวนอกเพราะภาษาชวาและมลายู  ปกติไม่มีเสียงสูงต่ำ  ดังเช่น  ดาฮา  เห็นดาหา  สิงคัสซารี  เป็นสิงหัดส่าหรี  บายัน  เป็นบาหยัน  วายัง  เป็นว่าหยัง  เป็นต้น”

นิทานอิเหนาเข้ามาเมืองไทยตามที่สันนิษฐานกันว่า  คงจะเป็นหญิงเชลยแห่งปัตตานี  ซึ่งเป็นข้าหลวงรับใช้เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลและเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ  พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและคงจะได้เล่าเรื่องอิเหนาให้
เจ้าหญิงทั้งสองฟัง  เจ้าหญิงทั้งสองทรงเป็นผู้ฝึกหัดละครอยู่แล้ว  คงจะได้ทรงนำเรื่องอิเหนามาแต่งเป็นบทละคร  เกิดเป็นอิเหนาใหญ่ (ดาหลัง) และอิเหนาเล็กขึ้น

หลักฐานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า  ในหนังสือเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่  ๒  กล่าวอ้างไว้เป็นเพลงยาว  หน้า  ๑,๒๐๖-๑,๒๐๗  ดังคำประพันธ์ดังนี้

“อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง      สำหรับงานการฉลองกองกุศล

ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์             แต่เรื่องต้นตกหายพรัดพรายไป

หากพระองค์ทรงพิภพปรารภแล่น        ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่

เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้                 บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”

สำหรับผู้แต่งเรื่องอิเหนานั้น  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้ประทานอธิบายไว้ในคำอธิบายว่าด้วยบทละครอิเหนาฉบับหอสมุดวชิรญาณ  เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๔๖๕  ว่าดังนี้

“บทละครอิเหนา  ซึ่งเรียกรวมกันทั้ง  ๓๘  เล่มสมุดไทยว่าพระราชนิพนธ์รัชกาลที่  ๒  นั้น  ที่จริงหาได้เป็นพระราชนิพนธ์ทั้งหมดไม่  มีคำผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า  พระราชนิพนธ์ทรงไว้เพียงสึกชี  คือเพียงจบเล่ม  ๒๙  เล่มสมุดไทย  ต่อไปอีก  ๕  เล่ม  สมุดไทย  ว่าเป็นของผู้อื่นแต่งเติมต่ออีกภายหลัง  แต่ใครเป็นผู้แต่ง
ข้อนี้กล่าวกันเป็นหลายอย่าง  ไม่มีหลักฐานที่จะสอบสวนให้รู้ได้เป็นแน่นอน”

ส่วนทำนองแต่งเรื่องอิเหนานั้น  แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนบทละคร  คือขึ้นต้นบทด้วย  เมื่อนั้น  บัดนั้น  บางบทมีคำบอกหน้าบทสำหรับร้อง  เช่น ช้า  ร่าย  โทน  โอ้  ยานี  โอ้ร่าย  โลมชมตลาด  ช้าปี่  พัดช้า  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังบอกชื่อเพลงหน้าพากย์ไว้ท้ายบท  เช่น  โอด  เสมอ  สาธุการ  เพลงช้า กราว  โล้  เป็นต้น

สำหรับภาษาที่ใช้ในหนังสืออิเหนา  มีภาษาชวาปนมาก  เป็นประโยชน์สำหรับผู้ต้องการศึกษาภาษาชวาที่เข้าปนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี  นอกจากนั้นยังมีภาษาบาลีสันสฤต  ภาษามลายูและคำไทยโบราณด้วย

ในกระบวนหนังสือไทยเก่า  จะหาเรื่องใดที่จับใจและขึ้นใจชาวไทยยิ่งไปกว่าเรื่องอิเหนานั้นมีน้อยนัก
เพราะบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีความดีเด่นครบทั้งองค์ห้าของละคร  คือ  ตัวละครงาม  รำงาม  ร้องไพเราะ  พิณพาทย์ไพเราะ  และกลอนไพเราะงดงาม

นอกจากนี้ยังให้ความรู้ในเรื่องโบราณราชประเพณีของไทย เช่น  พิธีการพระเมรุ  พิธีสมโภชลูกหลวง
พิธีโสกัณฑ์ (โกนจุก)  และพิธีรับแขกเมือง  เป็นต้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว  วรรณคดีสโมสร  ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๖  ได้ตัดสินเมื่อปี  พ.ศ.  ๒๔๕๙  ให้บทละครเรื่องอิเหนาเป็น  “ยอดของกลอนบทละคร”

ครับ คนไทยสมัยก่อนรู้จักอิเหนาจากบทละคร รุ่นต่อมารู้จักจากแบบเรียนวรรณคดีที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้นักเรียนได้เรียน

นอกจากละครและแบบเรียนแล้ว คนไทยยังรู้จักวรรณคดีเรื่องนี้จากบทเพลงไทยสากล เช่น ครูไสล ไกรเลิศ ท่านนำความจากเรื่องมาจินตนาการแต่งเป็นเพลง   อิเหนารำพัน, บุษบาในฝัน, อิเหนารำพึง ให้ศิษย์รักนักร้องหน้าใหม่ ชรินทร์ งามเมือง ขับร้องบันทึกเสียง วงจันทร์ ไพโรจน์ มีชื่อเสียงจากเพลง “บุษบาเสี่ยงเทียน” รวงทอง ทองลั่นทม ขับร้องเพลง อนิจจา   ที่ขึ้นว่า “โอ้ว่าอนิจจาความรัก เพิ่งประจักษ์คล้ายดังสายน้ำไหล…” เพลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา

ครู ธาตรี
ครู ธาตรี

 

แผ่นเสียงชุดนี้ ครูธาตรี ท่านเอาเรื่องอิเหนามาเล่า จับความจากตอนที่ อิเหนามาพบนางบุษบาในถ้ำ

ท่านที่เป็นนักอ่านคงจำกันได้นะครับว่า อิเหนาเป็นพระราชโอรสของท้าวกุเรปัน พระราชบิดาหมั้นหมายไว้กับ นางบุษบา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของท้าวดาหา ซึ่งเป็น วงศ์เทวา หรืออสัญแดหวา ด้วยกัน อิเหนา หรือระเด่นมนตรีไปรักกับนางจินตะหราพระญาติข้างพระมารดา จึงไม่ยอมอภิเษกกับนางบุษบา ซึ่งไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ทำให้ท้าวดาหาพิโรธ จึงประกาศยกนางให้กับชายคนแรกที่มาสู่ขอ

จรกา เจ้าเมืองเล็กๆ รูปชั่วตัวดำ ได้ส่งทูตไปขอนาง ซึ่งท้าวดาหาก็ยอมยกนางให้ ขณะเดียวกัน วิหยาสะกำ โอรสท้าวกระมังกุหนิง ได้เห็นภาพวาดนางบุษบาก็เกิดความหลงใหล จึงขอให้พระบิดายกทัพไปเมืองดาหาเพื่อแย่งชิงนางบุษบา

เมื่อดาหาเกิดศึก ท้าวกุเรปันส่งอิเหนาไปช่วยรบ อิเหนายกทัพไปปราบท้าวกระมังกุหนิงและวิหยาสะกำได้ชัยชนะ เมื่อพบหน้านางบุษบาอิเหนาก็หลงใหลในความงามของนางเสียดายที่ปฏิเสธนาง เมื่อเสร็จศึกท้าวดาหาก็เตรียมจะอภิเษกนางกับจรกา ทำให้อิเหนาเสียใจและคิดจะชิงนาง โดยทำอุบายวางเพลิงเผาเมืองดาหา และพานางไปซ่อนไว้ในถ้ำ …

อิเหนาบุษบา

แผ่นเสียงหน้าแรก ซึ่งเริ่มจากความตอนนี้ ประกอบด้วยเพลง บุษบาอธิษฐาน, ปฎิมาดำรัส, บุษบาพ้อ, อิเหนาโลม, มะเดวีให้ความสัตย์ และบุษบาแค้น

เพลงที่   ๑ บุษบาอธิษฐาน   เป็นตอนที่นางมะเดวีพระมารดาเห็นว่า เรื่องราวต่างๆ ที่วุ่นวายเกิดขึ้นเพราะอิเหนา จึงให้นางบุษบาไปเสี่ยงเทียนว่าใครจะไปคู่กับนางระหว่าง อิเหนา กับจรกา เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ร้องคู่กับดวงตา ชื่นประโยชน์

ข้ออภิวันท์มั่นพระพุทธา อธิษฐานขอให้ข้าตรงฤทัย ต่อหน้าแสงเทียนไม้ผิดเพี้ยนไป   วาสนาใครผู้ใดเป็นคู่กัน

ถ้าจรกาเทียนซ้ายเป็นคู่ครอง อันเทียนทองอิเหนาจงดับพลัน หากบุษบาคู่กุเรปัน  ให้เทียนอำพัน ขวามือนั้นไซร้แสงเรืองวิไล สมดังวอนไว้ในใจเอย

เพลงที่ ๒ ปฏิมาดำรัส   เมื่อนางบุษบาเสี่ยงเทียนและอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูป อิเหนาซึ่งซ่อนตัวอยู่หลังองค์พระ จึงแสร้งพูดออกมาให้เข้าใจว่าเป็นเสียงของพระปฏิมา   เลิศ ประสมทรัพย์ ขับร้องฝ่ายชาย

ชาย.   ฝ่ายองค์อิเหนา แอบองค์ซ่อนหลังปฏิมา เฝ้ายลเฉิดโฉมบุษบา ได้ฟังนางว่าตอบวาจาพลัน ว่าบุญวาสนา บุษบาอิเหนาครองกัน คู่วงศ์ใช่ชั้นเทวัญเช่นจรกานั่นแล้วมีอันตราย

หญิง. บุษบาถอนใจอิเหนานั้นไม่ใฝ่ดังพระทัย เฝ้าเมินมิวายไปแนบกายจินตหรา

ชาย. แต่องค์อิเหนาเฝ้าตรมด้วยรักบุษบา ต่างองค์ก็ชั้นเทวาคู่กันดังว่าสงกาไปไย

เพลงที่ ๓ บุษบาพ้อ เพลงนี้ท่อนแยกทำดนตรีได้ไพเราะ น่าเต้นรำ ผู้ร้องฝ่ายหญิงร้องด้วยสำเนียงคนภาคใต้

อิเหนาหรือจะมาตามด้วยความรัก ข้อนี้ไม่ประจักษ์ยังสงสัย ซึ่งมาจากหมันยาถึงเวียงชัย             เพราะดาหามีภัยจึงไคลคลา   หวังจะช่วยรณรงค์สงคราม มิได้มาด้วยความเสน่หา                                       นี่แวะมาไหว้พระปฏิมา แล้วคืนหมันยาธานี

เพลงที่ ๔ อิเหนาโลม   หลังจากการเสี่ยงเทียนและพระปฏิมามีดำรัสกับนางบุษบาแล้ว อิเหนาได้ไล่ค้างคาวออกมาทำให้เทียนดับ เมื่อวิหารอยู่ในความมืด อิเหนาได้ออกมาเล้าโลมนาง

ด้วยเชิงกลระเด่นมนตรีได้ฟังวาทีที่นางพลางพ้อมา จะออกไปหาบุษบาพระจึงต้อนพาค้างคาวไปดับไฟ      แสงเทียนดับพระจึงทรงย่างองค์เข้าอุ้มนาง ไว้บนตักแล้วจึงพลางจูบโลมขวัญใจ   หอมนวลเนื้อนางละมุนละไม หอมปรางวิไลซึ้งใจชวนให้ชม

บุษบานวลน้องช่างผ่องพรรณ ชื่นชีวันอิเหนาที่เฝ้าชม รักจึงหมายครองนวลเนื้อจงอย่าตรม ขอปองภิรมย์ชมน้องไม่คลาดคลา   บุษบาอิเหนามาติดตาม ก็ด้วยความจงรักนางไม่วาย สัญญา สัญญา จะรักไม่กลับกลาย ทั้งใจทั้งกายปองหมายเพียงเจ้าเอย

เมื่อนางมะเดวีสั่งให้จุดเทียน เห็นอิเหนากระทำกับบุษบา นางจึงพิโรธที่อิเหนาไม่ให้เกียรติ อิเหนาอ้างว่าบุษบาเป็นคู่อภิเษกของตนแต่เดิม แต่ในที่สุดมะเดวีก็ต้องยอมอิเหนาโดยให้สัตย์ว่าจะไปกราบทูลท้าวดาหาให้ ช่วงนี้เป็นเพลงที่ ๕ มะเดวีให้ความสัตย์

หญิง. ครั้งพอแสงเทียนแสงจ้า บุษบาหนีองค์อิเหนา ชาย. น้องเอยหนีไปไหนเล่า นั่งบนเพลาของเราดีกว่า   หญิง. ฝ่ายมะเดหวีได้เห็นทั้งสิ้น อิเหนาดูหมิ่นยึดเจ้าบุษบา ช่างฮึกหักหาญ ไม่เห็นแก่หน้า ไม่คิดเกรงข้าด้วยความศักดาเกรียงไกร   ชาย. ขอเอยขอวอนโปรดปรานีข้า ใช่องค์มารดาจะเคืองไฉน เพราะนางนี้ฤาใช่คือใครไม่ ได้เคนหมั้นหมายแต่ครั้งก่อนมา

หญิง. ขันจริง ขันจริงนะเจ้า ปล่อยลูกเราเสียทีเถิดหนา ซึ่งเคยสัมพันธ์ซึ่งเหมือนว่าเจ้าตัดมามิยอมเคียงนาง   ชาย. โธ่เอย นางนี้ลูกแสนรักใคร่ กลับคิดยกให้ระตูอื่นไกลครองนาง ถ้าคิดข่มเหงไม่คิดเกรงว่า หากยกเคียงข้างแล้วจึงว่างบังอร   หญิง. พระเอยพระทรง โปรดฟังคำมั่น จะวอนทรงธรรมบิดาสมร พระทรงหายเคืองก็ทรงผันผ่อน อย่าทำใจร้อนอิเหนาเจ้าเอย

เพลงที่ ๖   บุษบาแค้น เพลงนี้เป็นตอนที่นางบุษบาต่อว่าอิเหนาที่อุกอาจใช้กำลังบังคับโดยไม่ให้เกียรตินาง

ชาย. สมใจอิเหนาแล้ววางนงเยาว์เจ้าลง แล้วเอาเครื่องทรงขององค์ยื่นไป แลกเปลี่ยนอาภรณ์ไว้คลายอาวรณ์เมื่อไกล ขอเพียงสไบน้องไปชื่นตา

หญิง. อกเอ๋ยตัวข้าบุษบาแค้นจนร้องไห้ โธ่ อิเหนาหนอมาทำได้ เจ็บในฤทัยเป็นนักหนา เฝ้าเคล้าเคลียต้อง ให้มีราคีหมองมัวตัวข้า โอ้ข้าตายเสียดีกว่า ต้องตรมอุราสุดแสนช้ำ

เพลงที่ ๗ – ๑๒ เป็นเพลงบรรเลง คือเพลง มโนห์ราลงสรง, บ่วงนาคบาศ, มโนห์ราถวายตัว, ลาแล้วมโนห์รา, มโนห์รากำสรวล และพระสุธนจำแหวน      ซึ่งจะกล่าวถึงไนแผ่นเสียงชุดที่ ๒

นายตำรา ณ เมืองใต้

         แผ่นเสียงชุดที่ ๒   “มโนห์ราลงสรง”   หน้าปกพื้นใช้สีเทา มุมขวาเป็นภาพวาดพระสุธน ติดกันในกรอบเป็นภาพวาดสีน้ำ นางมโนห์รากำลังเล่นน้ำ มีพรานบุญ แอบดูอยู่ใกล้ ๆ มีตัวหนังสือตรงด้านบนว่า สเตอรีโอโฟนิค และ STEREO   ตามมาด้วยชื่อชุดสีแดง คือ “มโนห์ราลงสรง” ปกหลังมีข้อความเหมือนชุดบุษบาอธิษฐาน แต่มุมขวาปกหลังบอกชื่อหมายเลขแผ่น คือ SKS – ๓๐๔

 

หน้าแรกเป็นเพลงร้อง จากวรรณคดีเรื่องมโนห์รา   ขอทบทวนเรื่องราวของนางมโนห์รา จากหนังสือ “นางในวรรณคดี” ของสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งปิยตา วนนันทน์ ได้เรียบเรียงไว้ดังนี้

“นางมโนราห์  เป็นพระธิดาองค์เล็กของท้าวทุมราชผู้เป็นพระยากินนรนางมีพระพี่นางอีกหกองค์ล้วนหน้าตาเหมือนๆกัน  งดงามยิ่งกว่านางมนุษย์  รูปร่างหน้าตาของพวกนางเหมือนมนุษย์แต่มีปีกและหางที่ถอดออกได้  เมื่อใส่ปีกใส่หางแล้วกินนรกินรีก็บินไปยังที่ต่างๆได้

นางมโนราห์และพี่ๆอยู่แต่ที่เขาไกรลาส  มีความเบื่อหน่าย  ทุกวันพระกลางเดือนพระจันทร์เต็มดวง  พวกนางพร้อมด้วยบริวารจะพากันบินไปเล่นน้ำที่สระโบกขรณีใกล้อาศมพระกัสสปฤาษี

นายพรานคนหนึ่งชื่อบุณฑริก (ในนิทานไทยเรียกว่าพรานบุญ) ไปเห็นนางกินรีเล่นน้ำ อยากจะจับไปถวายพระสุธน  พระโอรสพระเจ้ากรุงอุตรปัญจาลจึงไปถามพระฤาษีว่าทำอย่างไรจึงจะจับนางกินรีได้  พระฤาษีบอกแต่เพียงว่าต้องใช้นาคบาศจึงจะจับได้  บังเอิญพรานบุณฑริกผู้นี้เคยช่วยชีวิตพระยาชมพูจิตรนาคาราชไว้จึงไปขอยืมนาคบาศจากพระยานาคมมาจับนางมโนราห์ไปถวายพระสุธน  เจ้านายของตน  ก่อนจะนำไปถวายพระสุธน  นายพรานได้นำปีกและหางของนางที่ถอดไว้ข้างสระโบกขรณีไปด้วย

พระเจ้าอาทิตย์วงศ์และพระนางจันทาเทวีพระบิดามารดาของพระสุธนก็มิได้รังเกียจ  จัดอภิเษกสมรส
พระสุธนกับนางมโนราห์ให้อย่างสมเกียรติทุกประการ

ปกโนห์รา

แต่พระสุธนมีศัตรูอยู่ผู้หนึ่งซึ่งพระองค์เองก็มิทรงทราบคือ  ปุโรหิตของพระเจ้าอาทิตย์วงศ์เนื่องจากมีพราหมณ์ผู้หนึ่งรับใช้พระสุธนมาด้วยความภักดี   พระสุธนโปรดปรานมาก จึงสัญญาว่าเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อใดจะแต่งตั้งให้เป็นปุโรหิต  ปุโรหิตคนเก่าได้ทราบเรื่องนี้ก็โกรธพระสุธน  คิดทำลายพระองค์ด้วยวิธีต่างๆ  เป็นต้นว่าทูลพระเจ้าอาทิตย์วงศ์ว่าพระสุธนเป็นกบฏพยายามจะปรงพระชนม์พระองค์แล้วขึ้นครองราชย์  แต่พระเจ้าอาทิตย์วงศ์ไม่เชื่อ  ขณะนั้นมีข้าศึกมาตีเมืองชายแดน  ปุโรหิตจึงยุยงให้ส่งพระสุธนไปรบ

ในคืนที่พระสุธนยกทัพไปนั้น  พระเจ้าอาทิตย์วงศ์ฝันว่าไส้ใหญ่ไหลออกจากท้องไปพันรอบชมพูทวีปไว้ได้สามรอบแล้วหดกลับเข้าดังเดิม  ที่จริงเป็นฝันดีแสดงว่าพระบารมีจะแผ่ไพศาลแต่ปุโรหิตกลับทูลเท็จว่าเพราะองค์กำลังเคราะห์ร้าย  จะต้องทำพิธีบูชายัญถวายพระผู้เป็นเจ้าต้องฆ่าสัตว์สองเท้าสี่เท้าถวาย  พระเจ้าอาทิตย์วงศ์ก็ให้หาสัตว์ต่างๆ  มาจนครบถ้วน  ปุโรหิตกราบทูลว่ายังขาดกินนร  ต้องมีกินนรด้วยพิธีถึงจะสมบูรณ์  ตอนแรกพระเจ้าอาทิตย์วงศ์ไม่ทรงยอมให้กระทำเพราะนางมโนราห์เป็นพระชายาของพระโอรส  แต่ปุโรหิตกราบทูลอ้างเหตุผลจนทรงคล้อยตาม

แต่ยังไม่ทันจะส่งทหารไปจับนางมาบูชายัญ  นางมโนราห์ก็ทราบเรื่องจากสาวใช้เสียก่อนจึงรีบไปเฝ้าพระนางจันทาเทวี  ทูลขอปีกและหางที่ฝากไว้  เมื่อทรงเครื่องเป็นกินรีครบแล้วนางก็ทูลลาและเหาะหนีไป

นางมโนราห์ไปยังอาศมพระอัสสปฤาษี  ฝากผ้ากัมพลคือผ้าทอด้วยขนสัตว์  แหวน  และยาผง  และส่งความละเอียดถึงการเดินทางไปยังเขาไกรลาสไว้กับพระฤาษี  นางมโนราห์บินกลับไปยังเขาไกรลาส  ท้าวทุมราชให้สร้างประสาทให้นางอยู่ต่างหาก  เพราะนางมีกลิ่นมนุษย์ติดกายมา  ต้องใช้เวลาถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือนกับเจ็ดวันกลิ่นจึงจะจางแล้วต้องทำพิธีล้างกลิ่นมนุษย์อีกด้วย  จึงจะกลับไปอยู่รวมกับพระพี่นางและพระบิดามารดาได้

ส่วนพระสุธนเมื่อเสร็จศึกกลับเมือง  ทราบว่านางมโนราห์จำต้องหนีกลับไปยังเขาไกรลาสก็ออกติดตาม  พรานบุฑริกาพาไปนมัสการพระอัสสปฤาษีถามหนทางไปยังเมืองของกินนรพระฤาษีมอบผ้ากัมพล  ยาวิเศษ  และแหวน  ให้พระสุธน  และบอกหนทางอันแสนกันดารให้ตามที่นางมโนราห์สั่งไว้

พระสุธนเสด็จไปทางทิศเหนือพ้นเขตแดนผู้คนอาศัยจะต้องผ่านป่าไม้มีพิษ  พระสุธนจับลูกลิงตัวหนึ่งไปด้วยตามคำแนะนำของนางมโนราห์  เมืองจะกินผลไม้ก็ให้ลูกลิงเลือกก่อน  ผลไม้ชนิดใดที่ลิงกิน  พระสุธนจึงจะเสวยได้  พ้นป่าไม้มีพิษก็ถึงป่าหวายใหญ่ พระสุธนใช้ผ้ากัมพลห่อพระองค์ให้แน่นและนอนนิ่งๆ มีนกยักษ์ชื่อหัสดีลิงก์  หัวเหมือนช้างตัวโตมาก  บินมาหาอาหาร  เห็นพระสุธนในห่อผ้ากัมพลนึกว่าเป็นสัตว์ ก็โฉบพระสุธนพาข้ามป่าหวายนั้นไปจนถึงรังบนต้นไม้ใหญ่  พอถึงพระสุธนก็ตบมือ  นกยักษ์ตกใจบินหนีไป  พระสุธนเดินทางต่อ

พระสุธนพบพระยาช้างสองเชือกต่อสู้กันอยู่  จึงเอายาผงที่นางมโนราห์ฝากไว้ให้นั้นทาตัวแล้วเดินลอดขาช้างไป  ผ่านพระยาช้างไปแล้วพระสุธนยังต้องพบกับภูเขาซึ่งเคลื่อนตัวกระทบกันได้ราวกับมีชีวิต  พระสุธนร่ายมนต์เป่าไปทางยอดตลาดจนถึงเชิง  ภูเขาแยกตัวออกไปเป็นช่องให้เดินผ่านได้จนพ้นและไปถึงเขตแดนของผีเสื้อน้ำ  พระสุธนร่ายมนต์แล้วเดินทางพ้นอันตรายไปได้จนถึงป่าหญ้าคา  ผ่านภูเขาเงินภูเขาทอง  ป่าหญ้าคมบาง  ป่าไม้อ้อ  ป่าหนาม  และแม่น้ำ

ถัดจากนั้นไปพระสุธนพบยักษ์ตนหนึ่งสูงเจ็ดชั่วลำตาล (สูงเท่าต้นตาลเจ็ดต้นต่อกัน) ยืนตระหง่านอยู่กลางป่า  จึงเอายาผงโรยลูกศรแล้วยิงไปถูกยักษ์ล้มลง  พระสุธนเดินทางไปทางหัวของมหายักษ์นั้น  ไปอีกร้อยโยชน์พบแม่น้ำใหญ่  มีงูเหลือมยักษ์ตัวหนึ่งนอนพาดข้ามแม่น้ำเหมือนสะพาน  พระสุธนใช้ยาทาที่พระบาทแล้วเดินไปบนตัวงูเหลือม  ข้ามแม่น้ำนั้นไปได้จนถึงป่าหวายมีหนาม  พระสุธนปีนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง  รอนกยักษ์ฝูงหนึ่ง  นกนี้ตัวโตเท่าเสาเรือนอาศัยอยู่ที่ต้นไม้นั้น  พระสุธนคลานเข้าไปตามซอกปีกนกตัวหนึ่ง แล้วใช้เชือกผูกตัวกับขนปีกไว้ให้แน่น  พอรุ่งเช้าบรรดานกยักษ์ก็พากันไปยังนครของท้าวทุมราช ร่อนลงอยู่ข้างสระใหญ่พระสุธนจึงลงไปยังพื้นดิน

วันนั้นบรรดานางทาสีมาตักน้ำที่สระเพื่อนำไปทำพิธีล้างกลิ่นมนุษย์ให้นางมโนราห์เพราะนางกลับมาได้นานเจ็ดปีเจ็ดเดือนกับเจ็ดวันแล้ว  พระสุธนอธิฐานให้นางทาสีคนหนึ่งยกหม้อน้ำไม้ขึ้น  พระองค์เข้าไปช่วยยกและแอบใส่แหวนลงไปในหม้อน้ำ

ขณะอาบน้ำให้นางมโนราห์  พอนางกินรีทาสคนสุดท้ายเทน้ำจากหม้อลง  ก็บันดาลให้แหวนเข้าสวมนิ้วก้อยของนางมโนราห์ทันที  นางนึกรู้ว่าพระสุธนตามมาถึงแล้ว  จึงไปกราบทูลพระบิดามารดาให้ทรงทราบ

ท้าวทุมราชและพระมเหสีให้รับพระสุธนเข้าวัง  ให้แสดงวิชาแผลงศรและยกบัลลังก์ดูพระบารมี  พระสุธนปฏิบัติได้ทุกประการก็พอพระทัย  จึงให้ตามพระธิดาทั้งเจ็ดออกมาให้พระสุธนเลือกอีกครั้งว่านางใดคือนางมโนราห์  พระสุธนจำนางไม่ได้เพราะหน้าตาเหมือนกันหมดทุกนาง  พระอินทร์จึงเนรมิตกายเป็นแมลงวันบินวนรอบศีรษะนางมโนราห์ให้พระสุธนเลือกได้ถูกต้องท้าวทุมราชจึงอภิเษกนางกับพระสุธน

เมื่ออยู่เมืองกินนรได้พักหนึ่ง  พระสุธนรำลึกถึงพระบิดามารดาจึงทูลลาท้าวทุมราชเสด็จกลับพร้อมด้วยนางมโนราห์ ท้าวทุมราชเสด็จไปส่งจนถึงนครอุตรปัญจาล พระเจ้าอาทิตย์วงศ์ยินดีมากที่พระโอรสเสด็จกลับ  จึงอภิเษกพระสุธนและนางมโนราห์ครองกรุงอุตรปัญจาลพระองค์เองเสด็จออกบรรพชา

เรื่องนางมโนราห์นี้อยู่ในสุธนชาดก  ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก  แพร่หลายไปทั่วเอเชียเนื้อเรื่องอาจจะต่างกันในรายละเอียดบ้างเล็กน้อย  ของ  จีน  ญี่ปุ่น  เกาหลี  ไม่ใช่นางกินรีแต่เป็นนางนกยูง  ในอินโดนีเซียมีแผ่นภาพแกะสลักตอนสุธนหย่อนแหวนลงในหม้อน้ำที่บุโรพุทโธของไทยมีปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  มีบทละครเรื่องมโนราห์ฉบับกรุงเก่า  ต่อมามีแต่งเป็นบทละครชาตรี และละครนอก  ตอนที่นิยมแสดงกันมากคือตอนนางมโนราห์รำบูชายัญ

ชื่อนางมโนราห์สะกดเป็นสองแบบ  อีกแบบหนึ่งสะกดว่ามโนหรา  แปลว่า  ยั่ว  หรือ  งาม  หรือ
สบอารมณ์  เช่นเดียวกับชื่อของนายพรานผู้จับนางมโนราห์มาถวายพระสุธน ตามชาดกชื่อ บุฑริกา แปลว่า
บัวขาว  แล้วเพี้ยนมาเป็นพรานบุญ  หรือบ้างก็เรียก  พรานบุน…”

ครูธาตรี นำเอาวรรณคดีเรื่องนี้มาเรียงร้อยเป็นเพลงในจังหวะตะลุงผ่านทำนองของครูเวส สุนทรจามร โดยแผ่นเสียงหน้าแรก ประกอบด้วยเพลง ๖ เพลง คือ มโนห์ราลงสรง, บ่วงนาคบาศ, มโนห์ราถวายตัว, ลาแล้วมโนห์รา, มโนห์รากำสรวล และพระสุธนจำแหวน

แผ่นบุษบาอธิษฐาน..

เพลงที่ ๑ มโนห์ราลงสรง เลิศ ประสมทรัพย์ร้องด้วยสำเนียงคนภาคใต้ ผสมกับดนตรีในจังหวะตะลุงฟังแล้วคึกคักสนุกสนาน อินโทรเริ่มจากเสียงกลองตะลุง จากนั้นก็กล่าวถึงนางมโนห์ราและพี่ ๆ ที่กำลังเริงร่ากับการสระสนานในสระอโนดาต

มโนห์ราโฉมงามทรามวัย ร่าเริงใจชักชวนน้องพี่ ใส่ปีกบินเหินไปทันที แล้วลงวารีนทีคงคา ดอกบัวไหวหวั่นแสงตะวันก็อายหนักหนา ลูกตาของปลาล้วนจ้องมาเพราะความตกใจ อโนดาตเหมือนดังวิมาน มโนห์ราสำราญต่างหยอกล้อสรวลศัลย์กันไป โฉมงามชื่นใจเหมือนปลาได้ชล ว่ายวนมิหน่ายน้ำกระจายพรมพรายฟองล้น แนะปลาซุกซน … ชอบกลเคล้าวนดอกบัว

มโนห์ราสรงในวารี ดั่งเทพีเย้ยนารีทั่ว แต่อุมานั้นยังต้องกลัว อิศวรเมามัวเคลิ้มตัวจ้องมอง โน่นดูนกนั่น โถนั่นมันพลอยร่ำร้อง อยากเป็นน้ำนองหมายมุ่งปองเคล้ามโนห์รา

พรานบุญมาเห็นเข้าจึงจับนางด้วย “บ่วงนาคบาศ” ซึ่งเป็นชื่อเพลงที่ ๒

พอย่องมาถึงพรานตะลึงวาบหวาม อโนดาตลานงามด้วยนางลานตา หัวใจพรานบุญ มันวุ่นวายหนักหนา เห็นปวงกัลยา เอออุราพลอยสั่น   ดอกบัวงามวิไลลอยปริ่มในชลนั่น เต่งตั่งเตะตาเสียจนอุรางงงัน ดุจดอกสวรรค์นั่นชูประชันชิงดี

โอ โอ โอ้ โอ้ … โออกเอ๋ย งามยิ่งจริงเหวยเออแม่กินรี โฉมมโนห์ราเทียมอุมาเทวี ยวนยีเกินสตรีในหล้า อยากชมอยากเชยอกเอ๋ยไม่สมกัน คู่ควรนางสำคัญควรจะเป็นราชา ขว้างนาคบาศหมายแล้วจับนางไปพารา ได้มโนห์รา แล้วพรานก็พาไปพลัน

พรานบุญได้มานางมโนห์ราไปถวายต่อพระสุธน เพลงที่ ๓ มโนห์ราถวายตัว

       ชาย. น้องเอยช่างบุญกระไรขวัญตา ชักพาให้เราได้มาพบกัน สวยจริงยิ่งนางอื่นใดไหนทัน ผิวพรรณนวลน้องชวนตาชม   พรานจับน้องคล้องมาให้มโนห์รา พาเจ้าตรม นางอย่ามัวระทมด้วยพรานอุ้มสมให้เราเคียงครอง

หญิง. พระเอยข้าเพียงแต่เป็นเชลย พระเอยไม่ควรจะมาหมายปอง ลดองค์ให้ทรงแปดเปื้อนละออง เหมือนทองมาปนเงินให้กลาย   ชาย. ใจพี่รักขวัญตา โปรดจงเมตตาอย่าอาย หญิง. จริงอย่างคำมิคลาย ข้ายอมถวายทั้งใจกายเอย

หลังจากอภิเษกได้ไม่นาน พระสุธนต้องยกทัพไปปราบข้าศึกที่ชายแดน ทำให้ต้อง “ลาแล้วมโนห์รา” ซึ่งเป็นเพลงที่ ๔

ชาย. พี่ลาแล้วนางต้องร้างแก้วตา โอ้มโนห์รา โนรา โนรา เจ้าเอย ขอเชิญชิดชมเจ้าเอย หวานคำพร่ำเปรย โธ่เอ๋ย โธ่เอ๋ย จากไกล   หญิง. โอ้กรรมของเราต้องเหงาเศร้าใจ ความรักเราไซร้พี่เอ๋ยจำไว้มั่นคง   ถึงไกลลับตาหวนมาพะวง รักจริงแล้วจงอย่าหลงลืมกัน

ชาย. เจ้าปองภักดีพี่นี้ผูกพัน สุธนจะฝันแต่น้องเท่านั้นมั่นใจ   คะนึงทุกคราขวัญตาวิไล ถึงตัวแสนไกลแต่ใจแนบชม   หญิง. พี่ลาไปศึกข้านึกเศร้าตรม   ชาย. วอนขออินทร์พรหม เฝ้าน้อง เฝ้าน้อง คนดี     หญิง. น้องรอ น้องรอ น้องรอ ทั้งปี   ชาย. ขอจงขวัญดี ไม่ช้าพี่นี้กลับมา

เมื่อพระสุธนจากไกล ปุโรหิตซึ่งเป็นศัตรูได้กราบทูลให้พระบิดาพระสุธนจับนางมโนห์ราบูชายัญ ตอนนี้ครูธาตรีได้นำมาแต่งเพลงที่ ๕ “มโนห์รากำสรวล”  

อกเอ๋ยอกมโนห์รา ต้องนองน้ำตาอุราช้ำทรวง หวังในชู้ชายสุธนมิมาจะลาร้างตาย ข้ายังเสียดายที่เคยชิดชมอิงแอบกัน แม่เอ๋ยข้าจะขอลา โปรดจงเมตตาใส่ปีกหางมาจะบูชายัญ ให้มันมลายวอดวายพร้อมกัน ข้าเคนสวมมัน หากตายครบครันยังชื่นอุรา

พอได้ปีกหางนางก็พลางสดใส จะรีบบินไปให้ไกลพารา แม้ยังอาลัยยังตัดใจจำลา เว้าวอนมารดาจงเมตตากันบ้าง บินขึ้นเวหาแล้วสั่งลาอีกหน หากพระสุธนยังต้องการเคียงข้าง รักมโนห์รามิคลาดคลาเลือนจาง พระจงตามนางไปที่เขาไกรลาศ

เมื่อพระสุธนกลับมารู้ว่า มโนห์ราหนีไป จึงทรงติดตามนางไปด้วยความยากลำบาก ต้องฝ่าฟันอันตรายนานัปการ จนถึงที่อยู่ของนาง   ตอนสุดท้ายคือท้าวทุมราชให้พานางกินรีทั้งเจ็ดมาให้พระสุธนเลือกว่าองค์ไหนคทอนางมโนห์รา พระสุธนทรงจำแหวนได้จึงทรงเลือกได้ถูกต้อง   เพลงสุดท้ายของอัลบั้ม คือ “พระสุธนจำแหวน”

ชาย. สุธนผู้ผิดหวังกลับหลังมายังพารา   ไร้มโนห์ราขวัญตาน้องมาจากพี่ไป พักตร์ยังติดตรึง พระจึงดุ่มไพร ขอบฟ้ากว้างไกล ดังน้องใกล้กาย   เดินกลางพนางูร้ายก็มา ขวางไม่วาย เสือช้างมากมาย สุธนยังหมายจอมขวัญ ไม่ถอยไม่ท้อ ขอเพียงเจอกัน ดังเธอใฝ่ฝันสัมพันธ์ดวงมาลย์

บุษบาเสี่ยงเทียน

หญิง. เจ็ดนางร่ายฟ้อนกรายช้อนกรเวียนชำนาญ โฉมเอยสะคราญคล้ายกันเสียจนไม่มั่นใจ ชาย. โอ้มโนห์ราน้องคือผู้ใด นี่พิศเพ่งไปนางไหนแน่นาง สุธนเมียงมองมองนิ้วที่งาม ของแก้วตา เห็นมโนห์รา พี่ปรารถนามั่นหมายมีแหวนงามสวมสำรวมใจกาย ตาน้องชม้ายคล้ายดังเชิญชม

แผ่นเสียงหน้า ๒ เป็นเพลงบรรเลง จากแผ่นเสียงเพลงร้องชุดที่ ๑ มีเพลง บุษบาอธิษฐาน ปฎิมาดำรัส บุษบาพ้อ อิเหนาโลม มะเดวีให้ความสัตย์ และบุษบาแค้น

สรุปว่าแผ่นเสียงทั้งสองชุด คือ บุษบาอธิษฐาน และ มโนห์ราลงสรง   เป็นแผ่นเสียงคู่แฝดที่ไม่ค่อยมีบริษัทแผ่นเสียงผลิตออกมา เพลงจะได้รับความนิยมแค่ไหนผมไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด จะมีการนำมาจัดทำเป็นเทปหรือไม่ผมก็ไม่เคยพบ สำหรับซีดีนั้นไม่ต้องถามหา ถ้าจะมีการนำมาผลิตเป็นซีดีก็คงจะต้องเป็น “แม่ไม้เพลงไทย” ผู้ได้รับอนุญาตจากบริษัทแผ่นเสียงกมลสุโกศลอย่างเดียว …

ท่านผู้อ่านที่สนใจเพลงจากแผ่นเสียงทั้งสองชุดนี้ติดต่อมาได้ที่ วอทไฮไฟ ครับ…