“เล่นอย่างไรให้คุ้ม” กับแอมป์ที่มีภาค DAC ในตัว

0

DAWN NATHONG

ปรีแอมป์ที่มีช่องดิจิทัลอินพุต

ยุคนี้พอศอนี้ เราจะเห็นอินทิเกรตแอมป์ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับไฮเอ็นด์ ร้อยทั้งร้อยมักจะติดตั้งภาค D/A Converter มาให้ในตัวเสร็จสรรพ ตามการฟังเพลงสมัยนิยมที่เน้นความสะดวกสบายแบบชิ้นเดียวจบ

วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าอินทิเกรตแอมป์ หรือปรีแอมป์รุ่นไหนที่ติดตั้งภาค D/A Converter มาด้วย คือการดูที่ด้านหลังเครื่อง แล้วมองหาช่องเชื่อมต่อที่เขียนว่า Digital Input ไม่ว่าจะเป็น Coaxial, Optical หรือ USB นั่นแปลว่าแอมป์ของท่านมีภาคถอดรหัสเสียงดิจิทัลติดตั้งมาด้วยแล้ว

แอมป์ที่มีภาค D/A Converterในตัวจะมีช่องดิจิทัลอินพุตลักษณะนี้

อินทิเกรตแอมป์ที่มีช่องดิจิทัลอินพุต

เรื่องมันมีอยู่ว่า นักเล่นหลาย ๆ ท่านที่มีแหล่งโปรแกรมแยกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นซีดีเพลเยอร์, ดีวีดี, บลูเรย์, เน็ตเวิร์คเพลเยอร์ หรือแม้แต่เครื่องเล่นเพลงพกพา มักนิยมใช้การเชื่อมต่อสายสัญญาณแบบอนาล็อกเข้ากับชุดเครื่องเสียง ที่ช่องอนาล็อกอินพุตซ้าย-ขวา ของอินทิเกรตแอมป์หรือปรีแอมป์เป็นปกติวิสัย ซึ่งกรณีที่แหล่งโปรแกรมต้นทาง มีคุณภาพสูงมาก ๆ อยู่แล้ว การเชื่อมต่อลักษณะนี้ก็มักจะให้คุณภาพเสียงที่น่าพึงพอใจมากที่สุด

ตัวอย่างการเชื่อมต่อสายดิจิทัล Coaxial

แต่หากแหล่งโปรแกรมต้นทางมีช่องต่อดิจิทัลเอาท์พุต และมีระดับราคาไม่สูงกว่าแอมป์ที่มีภาค D/A Converter ในตัวสัก 2-3 เท่า แนะนำว่าให้ท่านลองหาสายดิจิทัล (ถ้าเป็นไปได้แนะนำเป็น Coaxial) มาลองเชื่อมต่อดู แทนการเชื่อมต่อที่ช่องอนาล็อค ท่านอาจพบว่าน้ำเสียงมีความใสสะอาด โปร่ง และรายละเอียดหยุมหยิม รวมถึงโฟกัสและรูปวงที่ชัดเจนขึ้นแบบรู้สึกได้ และเมื่อเปลี่ยนกลับไปเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณอนาล็อกแบบเดิม ฟังแล้วน้ำเสียงเหมือนจะนุ่มนวลกว่า แต่กลับแฝงไว้ด้วยความขุ่นมัว ไม่สดใสเท่าที่ควร

สายสัญญาณดิจิทัล Coaxial

เครื่องเสียงที่แยกภาคทรานสปอร์ตและภาค D/A Converter ออกจากกัน

เหตุที่เป็นเช่นนั้น อนึ่ง เกิดจากการแยกการส่วนของภาคทรานสปอร์ต และภาคถอดรหัสออกจากกัน โดยแหล่งโปรแกรมทำหน้าที่เป็นทรานสปอร์ต ส่งผ่านสัญญาณดิจิทัลมาถอดรหัสด้วยภาค D/A Converter ในแอมปลิฟายเออร์แทน เป็นการลดการรบกวนภายใน ระหว่างภาคทรานสปอร์ตและภาคถอดรหัส และสอง โดยพื้นฐานแล้วการเชื่อมต่อด้วยสายดิจิทัล จะมีโอกาสที่สัญญาณจะสูญเสีย หรือถูกรบกวนได้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณอนาล็อก

สาย USB A to USB B

ตัวอย่างการเชื่อมต่อสายดิจิทัล USB

กรณีที่แอมป์ตัวนั้นมีช่อง USB ออดิโออินพุต ท่านก็สามารถนำโน็ตบุ๊ค หรือคอมพิวเตอร์ มาเชื่อมต่อด้วยสาย USB แล้วเล่นไฟล์เพลงแบบไฮเรส ฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งด้วยซอฟท์แวร์ต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์ อาทิ JRiver, Foobar2000, Roon หรือ Tidal, Spotify เป็นต้น หรือจะใช้ฟังเพลงแบบง่าย ๆ ผ่าน YouTube เลยก็ย่อมได้ ซึ่งภาค D/A Converter ของแอมป์ที่มีช่อง USB บางรุ่นนั้น สามารถรองรับการเล่นไฟล์คุณภาพสูงอย่าง DSD ได้อีกด้วย

สรุป

ท่านอาจพบว่า ภาค D/A Converter ที่อยู่ในแอมปลิฟายเออร์ของท่าน มีคุณภาพดีเกินคาด ไม่ใช่เป็นของแถมให้มาครบ ๆ อย่างเดียว โดยเฉพาะชิปถอดรหัสรุ่นใหม่สมัยนี้นั้น บางยี่ห้อคุณภาพดีมากเลยทีเดียว รองรับแซมปลิ้งเรตสูงลิบ ดั้งนั้นการประมวลผลที่ความละเอียดระดับมาตรฐาน 16bit / 44.1kHz จึงทำได้สมบูรณ์แบบ แม่นยำ และมีคุณภาพสูงกว่าชิปถอดรหัสรุ่นเก่า หรือหากแหล่งโปรแกรมของท่านสามารถเพลย์แบ็ค และส่งสัญญาณความละเอียดสูงออกช่องดิจิทัลเอาท์พุตได้ เช่น 24bit / 192kHz หรือ DSD ก็ยิ่งดีเข้าไปอีก

นี่เป็นทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ท่านสามารถทดลองทำด้วยดัวเองได้สนุก ๆ เป็นการค้นหาวิธีทำให้อุปกรณ์เครื่องเสียงของเรา ถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ชุบชีวิตแหล่งโปรแกรมดิจิทัลที่ตกรุ่น และอาจทำให้ท่านไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้เสียสตางค์