What HI-FI? Thailand

#เครื่องนี้น่าสน BOSE 363 WestBorough

Mongkol Oumroengsri

เอ่ยชื่อ BOSE เชื่อได้เลยว่า ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก แต่สำหรับ “BOSE 363 WestBorough” คงน้อยคนนักที่จะมักคุ้น หรือเคยผ่านตา เนื่องด้วยว่า ลำโพงรุ่นนี้ BOSE Corp. ทำออกมาวางจำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่นโดยเฉพาะ (มิได้มีวางขายทั่วไป) เปิดตัวในเดือนธันวาคม ปี 1993 (พ.ศ.2536) ด้วยราคา ¥ 139,600 อีกทั้งสำหรับความเป็น BOSE ตระกูล WestBorough นั้นจะได้รับการผลิตขึ้นอย่างแตกต่างจากรุ่นปกติ ด้วยการมุ่งเน้นไปที่รูปลักษณ์ ความสวยงาม หรูหรา ควบคู่กับคุณภาพเสียง “WestBorough” จึงเปรียบเหมือนซีรี่ส์สุดพิเศษของ BOSE อันโดดเด่นสะดุดตาด้วยการตกแต่งลายไม้มีค่าที่สวยงามมาก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของซีรี่ส์ WestBorough โดยผิวตัวตู้ลำโพงนั้นจะใช้ไม้ Bird Eye Maple มาเคลือบด้วย UV Coating ให้มีความแข็งป้องกันรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดี และช่วยให้มีผิวที่แวววาวดูงดงามสะดุดตา

…จริงๆ แล้วนั้น ที่มาของรุ่น 363 ก็คือ รุ่น 121 + 242 นั่นเอง

ราคาจำหน่ายในญี่ปุ่น
121= 49,800เยน
242= 89,800เยน
―――――――――――
363=139,600เยน

BOSE 363 WestBorough เป็นลำโพง 3-ทาง แบบผสมผสาน มีโครงสร้างของรุ่น 121 WestBorough จัดวางไว้ที่ด้านบน โดยทำหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของช่วงความถี่เสียงกลาง เนื่องจาก D-222 ซึ่งเป็นตัวขับเสียงของรุ่น 121 นั้น เป็นตัวขับเสียงแบบ ฟูลเรนจ์ (full range) ตัวกรวยลำโพงมีขนาด 11.5 ซม. ทำให้การส่งมอบช่วงความถี่เสียงกลางที่ยอดเยี่ยมสมจริง

D-222 ที่ใช้อยู่ในรุ่น 121 WestBorough แม้จะมีขนาด 11.5 ซม. แต่ได้ออกแบบข้อกำหนดใหม่เพื่อให้สามารถแสดงประสิทธิภาพที่ดีที่สุด – ประการแรก เพื่อให้ได้เส้นใยกระดาษที่มีความแข็งแกร่งสูง และการสูญเสียภายในโครงสร้างไม่มากนัก BOSE จึงเลือกใช้วัสดุใหม่ที่ผสมวัสดุไมกา (mica) อย่างพอเหมาะเข้ากับเยื่อกระดาษอย่างระมัดระวัง วัสดุไมกา จะไปช่วยเสริมความแข็งของกรวยกระดาษ นอกจากนี้ เพื่อให้การตอบสนองช่วงความถี่เสียงสูงที่ราบรื่นนั้น ก็มาจากรูปทรงกรวยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ร่วมกับดัสท์แคปพิเศษที่เป็นวัสดุใยแก้ว (glass fiber)

ในส่วนของวอยซ์คอยล์ใช้ลวดอะลูมิเนียมแบบ แบน (ribbon wire) พันรอบกระบอกวอยซ์คอยล์โดยเอาด้านข้างเข้าให้แนบชิดไม่มีช่องว่าง ด้วยการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ที่แม่นยำ ส่งผลให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพของความเข้มสนามแม่เหล็กที่ดีขึ้น และตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันชั่วได้อย่างดีเยี่ยม สำหรับตัวโครงลำโพง หรือ basket นั้นเป็นวัสดุโพลีเมอร์แบบฉีดขึ้นรูปดั้งเดิมของ BOSE ซึ่งวัสดุนี้ไม่ก่อให้เกิดสภาพแม่เหล็กของตัวโครงลำโพง

ในส่วนโครงสร้างของรุ่น 242 WestBorough ที่จัดวางไว้ด้านล่างเพื่อเสริมรับการทำงานกับรุ่น 121 WestBorough นั้น แท้จริงแล้วเป็นระบบลำโพงแบบ 2-ทาง ทำหน้าที่รับผิดชอบหลักในส่วนของช่วงความถี่เสียงต่ำ และช่วงความถี่เสียงสูง โดยมีตัวขับเสียงความถี่ต่ำ (วูฟเฟอร์) ติดตั้งซ่อนอยู่ภายในตัวตู้ และตัวขับเสียงความถี่สูง (ทวีตเตอร์) ติดตั้งอยู่ส่วนบนของแผงหน้าตัวตู้

242 WestBorough ใช้ระบบการทำงานแบบ Acoustimass กับวูฟเฟอร์ขนาดกรวย 16 ซม. ซึ่งถูกนำมาทำหน้าที่เป็นแบบโลว์-พาส (low-pass) โดยเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาของ BOSE ส่วนทวีตเตอร์เป็นแบบ ซอฟต์โดมขนาด 2.5 ซม.ที่พัฒนาขึ้นใหม่สำหรับยืดขยายช่วงความถี่เสียงสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทวีตเตอร์ซอฟต์โดมนี้ใช้วัสดุ tetron ที่บางมาก ช่วยยับยั้งทั้ง peaks และ dips ของการตอบสนองความถี่เสียงสูง นอกจากนี้ BOSE ยังมีการเติมสารแม่เหล็กเหลว ‘ferro fluid’ เข้าไปอยู่ในส่วนช่องว่างระบบแม่เหล็ก (magnetic circuit) ของทวีตเตอร์นี้ช่วยให้มีการแดมปิ้ง (damping characteristic) ของวอยซ์คอยล์ที่ดีขึ้น ลดอาการการบิดเบือนของเสียง และยังทำให้เกิดเสียงที่มีการเจือสีสันน้อยลง

ด้วยระบบ Acoustimass ที่วูฟเฟอร์จะถูกติดตั้งซ่อนอยู่ภายในตู้ พลังงานเสียงจึงแผ่ออกไปด้านนอกในรูปแบบที่สะท้อนกับมวลของอากาศในพอร์ตแบบ Aero Flare ความถี่เสียงเรสโซแนนซ์จึงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากพลังงานความถี่จะแตกต่างจากความถี่เรโซแนนซ์ของอากาศในท่อเปิด หรือ port นั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบที่ป้องกันไม่ให้เกิดกระแสลมไหลวนภายในท่อเปิด ไม่เพียงแต่ขจัดสัญญาณรบกวนภายในท่อเปิดเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการสร้างพลังงานความถี่ต่ำอีกด้วย โครงสร้างของระบบ Acoustimass นี้ประสานเอาท์พุตทั้งสองด้านของตัวขับเสียงความถี่ต่ำ ด้วยการปรับจูนความถี่ทั้งสองด้าน ผ่านทางพอร์ตแบบ Aero Flare ที่ออกแบบใหม่ ซึ่งใช้ประโยชน์จากกลไกการไหลของมวลอากาศได้อย่างเต็มที่ ด้วยการควบคุมปริมาณอากาศและความเร็วที่จำเป็นสำหรับการสร้างเสียงเบสในปริมาณมาก เสียงรบกวนของพอร์ตจะลดลง และความขุ่นของเสียงเบสจะถูกขจัดออกไป ทำให้ได้เสียงเบสที่ราบเรียบ และมีประสิทธิภาพในแถบความถี่เสียงต่ำที่กว้างมาก

โครงสร้างตัวตู้ลำโพงนั้นเป็นวัสดุ MDF ที่โดยปกติแล้ว MDF ให้ความแข็งแรงประมาณ 1.5 เท่าของแผ่นไม้อัดทั่วไป  และจะมีระดับค่าความถ่วงจำเพาะสูงจึงขจัดเสียงแหลมที่ไม่ต้องการ ทั้งนี้ MDF ส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมของไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน แต่สำหรับ  BOSE 363 WestBorough ใช้ไม้เนื้ออ่อนที่คัดเลือกมาอย่างดี โดยเป็นไม้สน 100% นอกจากนี้ แผงด้านข้างตัวตู้ยังตกแต่งด้วยโทนสี bird’s eye maple และเคลือบพื้นผิวด้วยสารเคลือบยูวีพิเศษที่ทนต่อการขีดข่วนและช่วยเพิ่มความทนทาน ส่วนของขั้วเสียบสายลำโพงนั้นใช้ชนิดสกรูชุบเคลือบทองแบบ binding post ที่รองรับปลั๊กเสียบแบบ banana ทั้งนี้ BOSE 363 WestBorough มีขาตั้งลำโพงเฉพาะรุ่น PS-3 ให้เป็นตัวเลือกอีกด้วย

ทั้งนี้ในแง่ของการรับฟัง BOSE 363 WestBorough นั้นไม่กินกำลังขับ เหมาะสำหรับการฟังเพลงเบาๆ เช่น เพลงร้อง เพลงบรรเลง แนวเพลงคลาสสิคโรแมนติกจะเหมาะที่สุด แต่สำหรับแนวเพลงเร็วๆ แรงๆ ก็ยังพอรับได้ในระดับปานกลาง ทว่าความสวยงามของ BOSE 363 WestBorough นั้นนับว่า กินขาดจริงๆ ครับ


BOSE 363 WestBorough specification

method3-way, 3-speaker, acoustic mass method, bookshelf type, magnetic shield design
Unit usedFor low range: 16cm cone type
For mid range: 11.5cm cone type For
high range: 2.5cm cone type
Impedance
Allowable input80W (rms)
210W (peak)
Low flux leakageCanceling magnet method
Connecting terminalDual banana compatible screw-in type (gold-plated)
External dimensionsWidth 270 x Height 581 x Depth 264 mm
weight16.2kg
Sold separatelyDedicated speaker stand PS-3 (1 set of 2 units, ¥ 22,000)

Exit mobile version