What HI-FI? Thailand

อะไร คือ ความแตกต่างระหว่างสายสัญญาณเสียบต่อ RCA และ Phono?

Plug Audio Cable Hifi Rca Phono Connection Cable

Mongkol Oumroengsri

จ่าหัวขึ้นมาแบบนี้ ก็ด้วยเหตุว่า น่าจะมีใครๆ สงสัยในเรื่องของสายสัญญาณเสียบต่อ หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกขานว่า Interconect นั่นแล เฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เล่นแผ่นเสียงเป็นหลัก มักจะมีข้อกังขาอยู่ในใจว่า จำเป็นหรือไม่? ที่จะต้องใช้สายสัญญาณ Phono cable โดยเฉพาะมาใช้เสียบต่อจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปสู่ปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์ …จะสามารถเอาสายสัญญาณ RCA มาใช้เสียบต่อได้ไหม?

ก่อนจะเฉลยคำถามดังกล่าว ขอจับเอาที่มาของ phono connector มาเล่าสู่กันก่อน …Phono นั้นเป็นตัวย่อมาจาก ‘phonograph’ ซึ่งก็เป็นรูปแบบช่องเสียบต่อ (connector) ประเภทหนึ่งที่ใช้ในช่วงแรกๆ ของการบันทึกเสียงเพื่อเชื่อมต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงเข้ากับวิทยุ (radio) ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียงด้วยในช่วงเวลานั้น (ซึ่งก็น่าจะประมาณยุคปี 1930) และในยุคปัจจุบัน รูปแบบการเสียบต่อนี้ก็ยังใช้งานอย่างแพร่หลาย สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงกับ phono stage ที่อยู่ในปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์ โดยที่ phono connector จะมีตัวปลั๊กเสียบต่ออยู่ 2 แบบแตกต่างกัน เรียกกันว่า ตัวผู้ (male plug) กับตัวเมีย (female plug) จุดประสงค์การใช้งานของ phono connector ก็คือ เพื่อให้การเชื่อมต่ออิมพีแดนซ์ต่ำระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณเสียงแอนะล็อก

แล้ว RCA connector ล่ะ …จริงๆ แล้ว RCA เป็นชื่อเรียกขานที่ได้มาจาก Radio Corporation of America (และบริษัทในเครือ RCA Victor ซึ่งผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียง Victrola และยังเป็นเจ้าของสังกัดค่ายเพลงอีกด้วย ทั้งนี้แบรนด์เหล่านี้ยังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้ แม้ว่าตัวบริษัทนั้นจะไม่มีอยู่แล้วก็ตาม) โดยที่ “ตัวหัวเสียบต่อ” (connector) แบบนี้ก็เป็นการเชื่อมต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงและวิทยุเข้าด้วยกัน ในกรณีที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงและวิทยุไม่ได้ประกอบเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวกัน ดังนั้นหากจะกล่าวว่า RCA และ phono เป็นแบบเดียวกันจึงเข้าใจไม่ผิด

ดังนั้น หากจะนำเอาสายสัญญาณ RCA มาใช้เสียบต่อระหว่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปสู่ปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์ แทนสายสัญญาณ Phono cable ก็สามารถที่จะทำได้ เพียงแต่ว่า อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สายนำสัญญาณต่างๆ (cables) นั้น ย่อมที่จะต้องมีค่าอิมพีแดนซ์ (impedance) เป็นคุณสมบัติติดตัวอยู่ตลอด ในทุกระดับความยาวสายตัวนำ นอกจากนี้ในสายตัวนำยังจะต้องมีค่าคาปาซิแตนซ์ (capacitance) แฝงอยู่ด้วยเช่นกัน แปรผันไปตามระดับความยาวไม่ต่างกัน

ทีนี้ หันมาดูที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงกันนะครับ แน่นอนละครับว่า ก็ต้องมีสัญญาณขาออกจ่ายออกมาจากหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง ไม่ว่าจะเป็นหัวเข็มแบบ MM หรือว่า MC ก็ตามที โดยที่สัญญาณขาออกที่จ่ายออกมาจากหัวเข็มแต่ละแบบนั้นก็นับว่า น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับสัญญาณขาออกที่จ่ายออกมาจากเครื่องเล่นซีดี, เทป หรือจูนเนอร์ รวมทั้งสตรีมเมอร์ ซึ่งเมื่อสัญญาณขาออกของหัวเข็มที่ต่ำมากๆ ต้องเดินทางผ่านสายสัญญาณที่มีทั้งค่าอิมพีแดนซ์ และค่าคาปาซิแตนซ์ขวางกั้นอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ย่อมต้องมีผลต่อสัญญาณที่ต้องเดินทางผ่านไม่มากก็น้อย แต่ด้วยความแรงสัญญาณขาออกของหัวเข็มที่ต่ำมากๆ ทำให้อาจจะเกิดการสูญเสียสัญญาณขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย

ดังนั้นการออกแบบสายสัญญาณที่มีทั้งค่าอิมพีแดนซ์ และค่าคาปาซิแตนซ์อยู่ในระดับพอเหมาะพอสมสำหรับรองรับการเดินทางของสัญญาณขาออกจากหัวเข็มโดยเฉพาะ จึงย่อมที่จะ “ดีกว่า” การใช้สายสัญญาณที่ออกแบบไว้รองรับการใช้งานทั่วไป สำหรับเครื่องเล่นซีดี, เทป หรือจูนเนอร์ รวมทั้งสตรีมเมอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีค่าความแรงสัญญาณที่สูงกว่าสัญญาณของหัวเข็มนับเป็นร้อยเป็นพันเท่า

สัญญาณของเครื่องเล่นซีดี, เทป หรือจูนเนอร์ รวมทั้งสตรีมเมอร์ จึงสามารถเดินทางฝ่าด่านทั้งค่าอิมพีแดนซ์ และค่าคาปาซิแตนซ์ที่เปรียบเป็นอุปสรรคขวางกั้นในตัวสายสัญญาณ ผ่านไปได้ราบเรียบดีกว่าสัญญาณของหัวเข็ม โดยที่หัวเข็มแบบ MM นั้นต้องการค่าโหลด (อิมพีแดนซ์) ตามที่ระบุ และไม่จำเป็นต้องเลือกใช้สายสัญญาณที่มีค่าคาปาซิแตนซ์ต่ำ แต่ต้องใช้สายสัญญาณที่มีค่าคาปาซิแตนซ์อันเหมาะสม

โดยมีสูตรคำนวณง่ายๆ ดังนี้ :-

คาปาซิแตนซ์ต่อเมตรของสายสัญญาณ x ความยาวของสายสัญญาณ = คาปาซิแตนซ์ของสายสัญญาณ

คาปาซิแตนซ์ของสายสัญญาณ + คาปาซิแตนซ์ของสายเดินภายในโทนอาร์ม + คาปาซิแตนซ์ขาเข้า (input capacitance) ของภาคโฟโน = โหลดของโฟโน

สำหรับสายสัญญาณเสียงระดับไฮ-เอ็นด์ในท้องตลาด พบว่า จะมีค่าอิมพีแดนซ์ตั้งแต่ 11 โอห์มถึง 120 โอห์ม แต่ก็อาจจะมีนอกเหนืออยู่บ้างที่สุดขั้วกว่านี้ อย่างไรก็ดี หัวเข็ม MC นั้นรองรับต่อ capacitive load ได้มากกว่าหัวเข็ม MM อยู่พอสมควรทีเดียว

ขอยกตัวอย่างค่า capacitive load ของสายสัญญาณ QED Performance Graphite นั้นอยู่ที่ 115 pF/m (พิโคฟารัดต่อเมตร) โดยประมาณ ซึ่งสำหรับสายสัญญาณอื่นที่มีค่า capacitive load น้อยกว่านี้ ก็น่าจะดีมากขึ้นไปอีก อย่างเช่น QED Signature Audio 40 มีค่า capacitive อยู่ที่ 63 pF/m ก็จะดีกว่า QED Performance Graphite มากขึ้นไปอีก และ Blue Jeans LC-1 มีค่า capacitive อยู่ที่ 40 pF/m ก็จะดีกว่า QED Signature Audio 40 มากขึ้นไปอีก เป็นต้น


Exit mobile version