What HI-FI? Thailand

“…อะไรคือไฮไฟ? – ไฮไฟคืออะไร?…” (5) สายไฟเอซี ผู้ที่มากำหนดชีวิตซิสเต็ม

Garoonchart  Bukkavesa

สวัสดีครับ ตอนนี้จะมาเล่าเรื่องเส้นสายแรกที่กำหนดชีวิต… นั่นคือ สายไฟเอซี ครับ สายไฟเอซีในที่นี้เป็นสายการใช้งานเฉพาะทางนะครับ คือ ควรเป็นสายไฟเอซีแท้ ๆ โดยตรง หลีกเลี่ยงการนำสายลำโพงหรือสายอื่นบางรุ่นมาทำ จริง ๆ สามารถทำได้..แต่ไม่ได้ทุกตัว ไม่ชัวร์อย่าเสี่ยงครับ ได้ไม่คุ้มเสียครับ ใช้ให้ถูกต้องตามวัถุประสงค์ดีกว่าครับ

สำหรับผม ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับสายไฟเอซีว่า “เส้นแรกคือ เส้นที่สำคัญที่สุด!!” สมควรลงทุน มีงบทุ่มไปเต็มที่ ดีที่สุดของเส้นสายในระบบ คำนิยามของสายไฟเส้นแรกคือ สายไฟที่ต่อจากปลั๊กผนังออกมานั่นเอง ส่วนจะมาเข้าปลั๊กกรอง บล๊อคไม้ ฯลฯ ก็แล้วแต่เลยครับ

ด้วยว่าเมื่อระบบไฟผ่านสายเส้นนี้ คาแรคเตอร์ต่าง ๆ จะถูกกำหนดในเบื้องต้น รวมถึงพลังของกระแสไฟที่จ่ายไปแต่ละเครื่องจะได้เต็มที่ ไม่อั้น ลองนึกดูว่าแอมป์คุณหลายร้อยวัตต์ หรือมีเครื่องในซิสเต็มมาก 5-6 เครื่อง ฯลฯ แต่สายต้นทางเล็กจิ๋ว มันจะเอากำลังจากไหนกันครับ เสียงก็แกน ๆ ไปตามระเบียบ 

ดังนั้น สายไฟเอซีเส้นแรกนี้จึงสำคัญมาก… แต่บางคนไม่สนใจ ใช้ของบ้าน ๆ คือ หน้าตัดอาจจะใหญ่จริงแต่เกรดของตัวนำต่ำ เส้นละไม่กี่พัน ขณะที่สายไฟเอซีต้นทางของผม ราคาประมาณ 3,000$ ยังดีที่มีของมือ 2 เข้ามาพอดี ราคาจับต้องง่ายขึ้นตัดสินใจไม่ยาก แต่กระนั้นผมถึงกับกินมาม่าไปหลายเดือน  

จากนั้นสายไฟเอซีเส้นอื่น คุณใช้ย่อมเยาว์ลงมาได้ แถมยังได้อานิสงฆ์จากสายไฟเอซีต้นทางที่ดีที่สุดนี้ด้วยเช่นกัน

นั่นอาจย้อนแย้งกับหลาย ๆ คนที่สายไฟต้นทางใช้ธรรมดา ไปเน้นที่เครื่องแต่ละเครื่องโดยตรง…ซึ่งผมจะไม่บอกว่าถูกหรือผิด แต่อยากให้คุณลองทำวิธีผมดู แล้วฟังว่าเสียงจากซิสเต็มนั้นดีขึ้นหรือไม่?

จุดนี้ ทำให้เมื่อมีสายไฟมาใหม่ ผมจะสนใจเสมอ คันตลอด อยากซื้อเรื่อย ๆ แม้จะมีเกินระบบแล้วก็ตาม บางเส้นยังไม่มีงานทำเลย วางไว้เฉย ๆ ขณะที่ถ้าเป็นสายสัญญาณ สายลำโพง หรือสายอื่น ๆ ออกใหม่ ผมมักจะเฉย ๆ ไม่คัน มีแต่ขายออกไปด้วยซ้ำ ลองคิดดูว่า “สายไฟเอซี” สำคัญมากน้อยเพียงใดครับ

ใครไม่เชื่อว่าสายไฟเอซีมีผล ลองคิดตามประเด็นนี้ดูครับ “ในเมื่อเครื่องต่าง ๆ ทำงานด้วยไฟฟ้า ดังนั้นต้องเสียบสายไฟเอซีเข้าที่ปลั๊กผนังเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าเครื่อง แล้วจะบอกว่าใช้สะพานไฟอะไรก็เหมือน ๆ กัน” ผมว่านั่นเป็นคำพูดในมุมมองที่แคบมาก ๆ เหมือนคนเราต้องกินข้าว กินเหลาหรือข้างถนนก็เหมือน ๆ กัน อันนี้จะเห็นภาพแล้วนะครับ ทำไมบางคนต้องเสียเงินบินไปประเทศนั้น ๆ เพื่อกินสิ่งที่เป็นต้นตำหรับ เพราะมันไม่เหมือนกันจริง ๆ

ระบบไฟก็เช่นกัน เมื่อผ่านสายไฟเส้นละพันกับเส้นละหมื่น คุณภาพย่อมไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าจะต่างมากน้อยเพียงใดก็มีตัวแปรอื่น ๆ เข้ามาด้วย   

บางคนมักแบ่งสายไฟเอซีตามขนาดหน้าตัดตัวนำ เช่น 14 AWG / 10 AWG ซึ่งตัวเลขน้อยหมายถึงขนาดตัวนำที่ใหญ่กว่านั่นเอง ทำให้บางครั้งสายไฟหน้าตัดเล็กมักถูกกำหนดให้ใช้กับเครื่องที่กินไฟน้อยเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องเล่นสายงูเหลือมงูอนาคอนด้าให้สิ้นเปลือง ส่วนแอมป์จะกินไฟกว่าต้องใช้เส้นโต ๆ ถือว่ามีส่วนถูกอันเนื่องจากการออกแบบที่ต่างกัน ซึ่งนักเล่นทั่วไปมักจะใช้พิมพ์นิยมแบบนี้

ถ้าจำต้องระบุ สายไฟสำหรับเครื่องเล่นต้นทางไม่ควรเล็กกว่า 14 AWG ส่วนแอมป์หรือเครื่องอื่น ๆ ที่กินไฟเยอะเช่น เครื่องกรองไฟ / ซับวูฟเฟอร์ / เพาเวอร์แอมป์ ฯลฯ ไม่ควรเล็กกว่า 10 AWG ครับ เพื่อให้จ่ายไฟได้เพียงพอ เล็กกว่านี้ก็ทำงานแต่จะขาดเรี่ยวแรง สายไฟจะร้อน ทำงานหนัก

เครื่องกินไฟน้อยกินไฟมากดูตรงไหน ให้ไปดูป้ายต่าง ๆ บริเวณด้านหลังเครื่องนั่นเองครับ ส่วนมากซีดีมักจะกินไฟ 5-30 วัตต์ ถือว่าน้อย ส่วนอินทิเกรตก็เริ่มกันแบบ 50-90 วัตต์ประมาณนี้ แต่ถ้าวัตต์สูงก็จะกินไฟมากขึ้นตามลำดับหรือเป็น Class A ก็กินไฟมากเช่นกัน

แต่บางคนไม่ได้ยึดแบบนี้ จะมีแนวคิดหนึ่งคือจะใช้สายไฟเอซีคุณภาพสูง ไม่ต้องหน้าตัดใหญ่ แต่อาจจะแพงด้วยวัสดุมาใช้กับเครื่องเล่นต้นทาง ส่วนปลายทางอาจจะไม่ได้แพงสุดแต่ตัวนำใหญ่อย่างพอเหมาะ ซึ่งถามว่าทำไม…คงต้องบอกว่าแนวความคิดนี้สำเร็จนักเล่นที่คิดว่าเครื่องต้นทางสำคัญที่สุด

บางคนที่ซุกซน เล่นมาเยอะ ฟังมาเยอะ อาจยึดตามประเภทของเครื่อง คือหาซื้อสายไฟที่ออกแบบมาใช้กับแหล่งโปรแกรมที่เป็นดิจิตอลเฉพาะเท่านั้น-อาจมีการกรองต่าง ๆ ไว้ ส่วนแอมป์ที่เป็นอนาลอก ล้วนมีย่านการทำงานที่ต่างกันไป สามารถใช้สายไฟเอซีปกติได้ ไม่ต้องมีระบบกรองหรือลดสัญญาณรบกวนใด ๆ คือ ยึดแนวคิดเลือกใช้การออกแบบเฉพาะจุดจะ “ดีที่สุด” ถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่การใช้งานจริงค่อนข้างยาก มีข้อจำกัดคือหากสลับประเภทอาจจะทำให้เสียงไม่ดี ไม่เหมือนเดิม สายเส้นใดใช้กับเครื่องประเภทไหนควรใช้ไปตลอด

สายไฟเอซีมีทั้งประกอบสำเร็จ กับสายตัดแบ่ง ในส่วนสำเร็จจากโรงงาน เราทำอะไรไม่ได้ แค่เลือกให้เหมาะสมกับเครื่องกับงบที่มีแล้วลองมาเสียบ

ส่วนสายไฟเอซีที่ “ตัดแบ่ง” นั้น ความสนุกอยู่ที่ว่า คุณสามารถจับคู่หัว/ท้ายอะไรก็ได้ แล้วแต่ที่คุณต้องการ จะเลียนแบบพิมพ์ยอดนิยม ผสมเองก็ได้หมด ถ้าสดชื่น แต่ดีไม่ดีก็เป็นอีกเรื่อง

ข้อคิดที่สมดุลย์คือ “หัว/ท้าย” วัสดุที่ชุบควรเป็นแบบเดียวกัน อย่าต่างกันสุดติ่ง เช่น หัวโรเดียมท้ายทอง ได้จี๊ดจ๊าดแต่ไม่ “กลมกลืน” การใช้หัวทองก็ให้ท้ายทองด้วยจะลงตัวกว่า ลองดูสายประกอบนอกเป็นไอเดียครับ ไม่มีลูกผสมคนละวัสดุ

ถ้ามีงบซื้อของดีแค่ชิ้นเดียว ให้เน้นซื้อหัวปลั๊กดี ๆ ครับ ส่วนท้ายใช้ธรรมดาพอได้ ขอให้แน่นกระชับไม่หลวมก็เพียงพอแล้ว

หัวปลั๊กปกติจะนิยมมาตรฐาน US ถ้าเป็นยุโรปหรืออังกฤษจะใช้หัวอีกแบบ บ้านเราไม่ได้รับความนิยมมากนัก ล่าสุดมาตรฐาน มอก.บ้านเรา เป็น 3 ขา คุณพระ!! ไม่รู้ไปเอาสูตรอะไรมา จะใช้งานยากขึ้น เบ้าเสียบของปลั๊กผนัง / เต้ารับที่เป็น AudioGrade ของเราแทบไม่ได้รองรับแบบนี้ ต้องผ่านอแดปเตอร์ ถ้าไม่มีก็เสียบไม่ได้..

ขณะที่ด้านท้าย มักไม่มีปัญหา ใช้ 15 แอมป์ ถ้าเครื่องกินไฟเยอะจะใช้เป็น 20 แอมป์ ซึ่งหลายยี่ห้อมีให้สั่ง นอกจากนี้ถ้าเป็นพวกทีวี / ซาวด์บาร์ ฯลฯ จะใช้แบบเลข 8 หรือ c7 ซึ่งสายยี่ห้อมีผลิตมารองรับเช่นกัน แต่ราคารวมสำเร็จจะค่อนข้างสูง ถ้าไม่บ้ายี่ห้อแนะนำสั่งประกอบดีกว่าครับ ถูกกว่าหลายเท่า ผลไม่ต่างกันมาก

สายไฟเอซี ตัวนำมี 3 ชุด บวก / ลบ /กราวด์ แต่ละยี่ห้อจะใช้กี่เส้น กี่ตัวนำก็ว่ากันไป นอกจากนี้มีบางแบรนด์ใช้เทคนิค “การเบิ้ลสาย” ถ้าเป็นสายไฟเอซีโรงงานจะมีไม่กี่ยี่ห้อที่ทำแบบนี้ เช่น Virtual Dynamics คุณจะเห็นเบิ้ลสาย 3 เส้นแยกกันมาเลย จริง ๆ แล้วยี่ห้ออื่นก็มีเบิ้ลเช่นกัน เพียงแต่เขาเบิ้ลข้างในแล้วหุ้มพวกท่อหด / หนังงูรวบให้เป็นเส้นเดียวเลย ให้ดูเรียบร้อยกว่า ข้อดีคือ เสียงจะอิ่มแน่น แต่ข้อเสียคือ สายจะแข็งมาก ดัดโค้งลำบาก ทำให้การต่อสายนั้นแทบจะต้องต่อเป็นเส้นตรง โค้งมุมกว้าง ๆ

นอกจากนี้ก็มีแบบใช้เทคนิค “ถักไขว้” ล่าสุดคือ Khunpol หรือสายขุนพล  รุ่นเล็ก 4 เส้น ขณะที่รุ่นใหญ่พี่บิ๊ก เป็นถัก 3 เส้น เพื่อลดการรบกวนของสนามแม่เหล็ก / คลื่นวิทยุต่าง ๆ

สายไฟงูเส้นโตดุจอนาคอนด้า เท่าที่ผมมีคือ Elrod : Statement รุ่นเก่า เส้นเขื่องจนถึงหัว / ท้าย สายจะพับงอเป็นตัว L ได้ที่กลางเส้น ทำให้ใช้งานยากสุด ๆ เพราะแม้จะงอตัว L ได้ แต่ตำแหน่งของหัว และท้ายจะฟิกซ์ตามนั้น ไม่สามารถหมุนอะไรได้ แต่ไม่ตรงต้องพลิกสายทั้งเส้นกลับมาอีกด้าน ซึ่งอาจจะติดเครื่อง ติดชั้น ฯลฯ ไม่สะดวก

ส่วนสายไฟอย่าง Shunyata Research แม้จะเส้นโต แต่ถือว่าดัดโค้งง่าย ไม่ยากเกินไป รุ่นเก่าจะง่ายกว่ารุ่นใหม่

ตัวนำส่วนมากจะเป็นทองแดง มีบางรุ่นเป็นเงิน ซึ่งมีทั้งเงินแท้ เงินผสม เหนือสุดยอดคือ ทอง ไม่นานนี้ Nordost ได้นำเสนอออกมา นั่นคือ Odin Gold ผสมทองเข้าไปในสาย สเปคคือ Gold-plated 99.999999% solid core OFC ทำให้สไตล์เสียงก็เหมือนที่คาดกันไม่มีผิดคือ มีความหวานเนียนขึ้นมา ราคาพุ่งดุจทองคำเช่นกัน ใครอยากลองกำเงินแล้วจัดไปครับ

สรุปแนวทางการเลือกสายไฟเอซีมีดังนี้

  1. เลือกจากหน้าตัดของสายที่ใช้งาน เบอร์ 10 AWG สำหรับเครื่องกินไฟเยอะ เบอร์ 14 AWG สำหรับเครื่องกินไฟน้อย
  2. เลือกตามลักษณะเครื่องที่มี เครื่องอนาลอก เครื่องดิจิตอล แอมป์ (ถ้าชอบแบบนี้)
  3. เลือกว่าจะเป็นสายสำเร็จรูปหรือตัดแบ่ง

เรียกว่าเป็นมุมมองของผมที่มีต่อสายไฟเอซี ส่วนตัวผมชอบมาก อัพอะไรได้ผลดีทั้งหมด ฟังความต่างง่าย อยากให้ลองเล่นลองฟังกันครับ เริ่มต้นหลักร้อย (ปลาย ๆ) เรียกว่าถ้าใครยังใช้สายแถมทั้งหมด สายเส้นแรกที่ควรอัพเกรดคือ สายไฟเอซีนี่ละครับ เห็นผลมากกว่าสายอื่น ๆ ในวงเงินเดียวกัน

ส่วน ep ต่อไปคือ ep.6 ว่าด้วยเรื่อง “สายสัญญาณ” โปรดติดตาม และเป็นกำลังอ่านกันด้วยนะครับ


Exit mobile version