“…อะไรคือไฮไฟ? – ไฮไฟคืออะไร?…”

0

Garoonchart  Bukkavesa

Episode 1 : ปฐมบทภาพรวม

เราฟังเพลงจากชุดเครื่องเสียงเพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่ศิลปินนักร้อง นักดนตรี ซาวด์เอ็นจิเนียร์ ฯลฯ รังสรรค์เอาไว้เสมือนการได้ยินจากตอนเล่นจริง ๆ โดยอาศัยการใช้เครื่องเสียงต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดนั้น

ที่ผ่านมาไม่มีโรงเรียนสอนการ “ฟัง” เครื่องเสียง ทำให้ต่างคนต่างเล่น การจับคู่ต่าง ๆ เป็นแบบตามสะดวก ตามอำเภอใจ ไม่มีบรรทัดฐาน เกณฑ์วัดที่แน่นอน ตลอดจนอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ  ลำดับความสำคัญต่าง ๆ ไม่มีการจัดใด ๆ …ทำให้เล่นผิดขั้นตอน โดนร้านค้าหลอกอยู่ร่ำไป ไม่รู้จักจบสิ้น ต้องคอยเปลี่ยนเครื่องเปลี่ยนลำโพงตลอด ไม่ได้ฟังเพลงสักที…

เวลาจะซื้อครั้นพอไปถามในกลุ่มต่าง ๆ ที่เล่น เพราะคิดว่าเชื่อถือได้ (จริงหรือ?) บรรดาเซียนคีบอร์ดต่างกรูตอบมาแบบรวม ๆ 10 กว่ายี่ห้อ เลยไม่รู้จะเลือกอะไรดี…เขาว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ทุกตัวดีหมด..แน่นอนว่าคำตอบที่มีแต่ละยี่ห้อนั้นล้วนมาจากตัวเองขายเองอยู่ พรรคพวกขาย เล่นอยู่ ฯลฯ ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญ ไม่มีคนใดสามารถควบคุมตัวแปรได้จริงจัง..นั่นทำให้ตีความกันแตกต่าง

คำว่า “เสียงดี” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางคนบอกแหลมสุดยอด พออีกคนมาฟัง…อูยบาดหูสุด ๆ ฯลฯ เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย บางทีเถียงกันไม่รู้จบ ยิ่งต่างคนต่างคิดว่าตัวเองเจ๋ง ตัวเองเก่งกว่าใคร…มันก็บรรลัยละครับ เลิกคบกันไปเยอะแล้ว

ผมจึงได้เขียนคอลัมน์ที่ผมตั้งชื่อว่า “…อะไรคือไฮไฟ? – ไฮไฟคืออะไร?…” ขึ้นมา 

เพื่อให้นักเล่นมือใหม่ (มือเก่าสามารถอ่านได้เช่นกันครับ) ใช้เป็น “ไกด์ไลน์” เพียงพอที่จะให้มีความรู้ มีหลักการเล่นเบื้องต้นที่สามารถจะยึดไปปฏิบัติ (เลือกซื้อ) ได้อย่างเหมาะสม ไม่โดนหลอก ไม่หลงทาง ไม่ซ้ำซ้อนหรือบานปลาย ฯลฯ

แม้ไม่ได้เป็นการสอนเรื่องการฟังว่าต้องฟังอย่างไร? แต่ผมพยายามนำเสนอวิธีการเลือก นำเสนอขั้นตอน ตลอดจนวิธีการต่าง ๆ ที่ผมพบมา โดนมา นำมาปรับปรุงให้อ่านเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดครับ

โดยอาศัยประสบการณ์ที่ผมเล่นมากว่า 25 ปีบนถนนสายนี้ค่อย ๆ เล่าสู่กันฟัง แน่นอนว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก ในแต่ละประเด็นสามารถเล่าแตกย่อยออกไปได้มากมาย คงไม่สามารถสรุปย่อใน 3-4 หน้ากระดาษนะครับ เลยขอเล่าแยกเป็นตอน ๆ เพื่อให้มีรายละเอียดครอบคลุมการเล่นให้มากที่สุด ต้องการสื่อให้สั้น และกระชับ เข้าใจง่าย ท่านใดสงสัยประเด็นใดเพิ่มเติม ถามไถ่ทักมาได้ครับ

ผมแบ่งเป็น 9 episode ดังนี้ครับ ปฐมบทภาพรวม, แหล่งโปรแกรม, แอมป์, ลำโพง, สายไฟ, สายสัญญาณ, สายลำโพง, อุปกรณ์เสริม, ห้องฟัง

เพื่อให้มือใหม่ในที่นี้จะหมายถึงคนไม่เคยเล่นมาก่อน เล่นแบบซื้อตามคนขายแนะนำตัวไหนก็จ่ายเงินไปโดยไม่เคยทราบว่าจะต่อยังไง ทำไมจับคู่แบบนี้ คนที่เล่นหูฟัง+สมาร์ทโฟนจนชินอยากขยับมานั่งฟังในบ้าน ในออฟฟิศ ฯลฯ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากอะไร ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง กี่ชิ้นจึงจะมีเสียง ต้องเชื่อมต่อด้วยสายอะไรบ้าง? มาเดินไปพร้อม ๆ กันครับ

เครื่องเสียงไฮไฟเวลาจะเริ่มเล่น มีองค์ประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลง ห้องฟัง รวมถึงงบประมาณ ทั้งหมดจะสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อม จำได้ว่าสมัยก่อนตอนผมเริ่มเล่น ได้อ่านบทความฝรั่ง เขาจะแบ่งสัดส่วน 100% ออกเป็น 3 ส่วน แหล่งโปรแกรม 25-30% แอมป์ 25-30% ลำโพง 30-40% ส่วนที่เหลือ 10% คือ อุปกรณ์เสริม 

แหล่งโปรแกรมในบ้าน สิ่งที่จำเป็นลำดับแรก จะมีตั้งแต่จูนเนอร์ (วิทยุ) เครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นแผ่น โน๊ตบุ๊ค เครื่องเล่นไฟล์เพลงหรือระบบสตรีมมิ่ง (ฟังเพลงออนไลน์) ใครรักชอบ ถนัดอะไรก็ว่ากันไป มีความแตกต่างในรายละเอียด / วิธีการเล่น ราคาขาย รวมถึงคุณภาพเสียง

อุปกรณ์ที่เรียกกันว่าแอมป์ เพื่อขยายเสียงให้ดังนั่นเอง แน่นอนว่าจะมีแบ่งเรียกตามมาตรฐานคือ อินทิเกรตแอมป์ (เป็นเครื่องรวมภาคปรีแอมป์กับภาคขยายไว้ด้วยกันในตัวถังเดียว) กับแยกเป็น 2 ชิ้นคือ ปรีแอมป์ 1 ชิ้น และแอมป์ 1 ชิ้น  เริ่มต้นง่าย ๆ คือ ใช้อินทิเกรตแอมป์ ซึ่งเป็นของยอดนิยมครับ

ลำโพงตัวที่ทำหน้าที่แปรเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าเป็นสัญญาณเสียง มีให้เลือกมากมาย ยุคเก่า ยุคใหม่ วางหิ้ง ตั้งพื้น ฯลฯ มันเหมือนหรือต่างกันตรงไหน จะใช้เกณฑ์อะไรบ้าง หรือแบบ 2.1 แชนแนลละ มันดีกว่า 2 แชนแนลปกติหรือไม่? มีคำตอบแน่นอนครับ

เครื่องต่าง ๆ จะทำงานด้วยกระแสไฟ แน่นอนว่าสายไฟสำหรับแอมป์กับแหล่งโปรแกรมต้นทาง เห็นง่าย ๆ แค่สายไฟเส้นเดียว..แต่มีเรื่องเล่าไม่รู้จบจนทุกวันนี้!! หรือการจะลงทุนกับปลั๊กไฟที่มีมาตรฐานเรื่องเสียงโดยเฉพาะแทนปลั๊กผนังที่ติดบ้าน อาจจะได้ยินกับคำว่า Hospital Grade เพื่อให้เครื่องเสียบได้แน่น ไม่หลวม เครื่องทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ  และทำให้เสียงนั้นดีอย่างที่ควรจะเป็น ฝันไปหรือเปล่า?

สายสัญญาณ เชื่อมต่อกันระหว่างแหล่งโปรแกรมกับแอมป์นี้จะต้องมีสายที่เรียกว่า “สายสัญญาณอนาลอก” รหัสสีเป็น ขาว / แดง หรือ แดง / ดำ ฯลฯ 1 ชุด 2 เส้น   ผู้เป็นดั่งสะพานเชื่อมจุดแรก มันทำให้คนน้ำตาตกมามากมายเมื่อเลือกผิดเส้น! แล้วถูก / ผิดวัดกันที่อะไร ดูตรงไหน? ต้องติดตามครับ

“สายลำโพง” ที่เปรียบเสมือนผู้ปิดทองหลังพระ มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์เมื่อคุณมองข้าม ซึ่งมีทั้งแบบเป็นแบ่งขายเป็นฟุต / เป็นเมตร กับสายที่ประกอบสำเร็จจากโรงงานให้เราเลือก ไว้เล่ากันอีกทีสนุกสนานแน่นอนครับ

อุปกรณ์เสริม ชื่อก็บอกว่าเสริม คุณควรมีอุปกรณ์ 3 ชิ้น (แหล่งโปรแกรมต้นทาง-แอมป์-ลำโพง) เพื่อมาประกอบเป็นชุดเครื่องเสียงให้สามารถฟังได้  ส่วนหลังจากนี้จะถึงคิวของอุปกรณ์เสริมที่ว่า พวกสายต่าง ๆ ขั้นแรกใช้ที่แถมมาไปก่อนได้ หลังจากนั้นค่อยหาซื้อเสริมเข้าไปภายหลัง โดยงบประมาณที่มีเราควรเลือกอุปกรณ์หลัก 3 ชิ้นให้ได้ก่อนนะครับ อย่าเพิ่งไปแบ่งสำหรับอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ครับ 

ห้องฟัง บทสุดท้ายของการเล่นเครื่องเสียงไฮไฟ เมื่อเราทราบองค์ประกอบคร่าว ๆ แล้วว่าต้องมีอะไรบ้าง เมื่อเรามีซิสเต็มทั้งหมดแล้วจะไปวางใน มุม ๆ หนึ่งของห้องนั่งเล่น ห้องเอนกประสงค์ โต๊ะทำงาน ทั้งหมดก็จะแตกต่างกันในคุณภาพเสียง เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องนั้น ๆ ย่อมมีคาแรกเตอร์ด้านเสียงที่ต่างกันไป จะมากน้อยก็ว่ากันอีกที แต่จะได้คุณภาพโดยรวมไม่เต็มที่นัก เนื่องจากตัวแปรต่าง ๆ คุณจะวัดผลซิสเต็มได้ดีที่สุดคือ การมีห้องฟังเฉพาะทาง ซึ่งในส่วนห้องฟังเองก็มีตัวแปรอีกนับไม่ถ้วน มีสิ่งที่จะต้องเรียนรู้กันอีกมากมายจริง ๆ

ห้องฟังที่ดีมักจะยึดกับคำภาษาไทยว่า “สัดส่วนทองคำ” Golden Ratio เพื่อลดคลื่นค้างที่ไม่พึงประสงค์นั่นเอง ถ้าไม่ได้สัดส่วนก็จะมีปัญหาบางความถี่ที่จะต้องทำการแก้ไขกันต่อไป ซึ่งบางห้องอาจผิดส่วนไปมากเกินกว่าจะแก้ไขให้ดีได้ เช่น ห้องใต้บันได… ห้องกระจกทั้งหมด ห้องที่มีเสาภายในห้อง

เมื่อคุณมีห้องฟังเต็มรูปแบบ และมีคุณภาพดี ย่อมพูดได้ว่าคุณได้เดินสู่ถนนของสายนี้อย่างเต็มตัว รับรู้ว่า “…อะไรคือไฮไฟ? / ไฮไฟคืออะไร?…” อย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อคุณมองย้อนกลับไปคุณจะมีความทรงจำที่ดี / ไม่ดี เป็นประสบการณ์ล้ำค่ายิ่ง


episode ต่อไปจะมาบอกเล่าการเลือกแหล่งโปรแกรมต้นทางกัน ฝากติดตามกันด้วยนะครับ