หาทำ 10 ตำแหน่งในห้องฟัง เพื่อการฟังเพลงไพเราะขึ้นอย่าง อัศจรรย์!

0

ช. ชิดชล

     ตำแหน่งหรือด้านต่างๆในห้องฟังเพลง หรือของมุมฟังเพลงนั้น มีผลต่อเสียงโดรวมของชุดเครื่องเสียงครับ เพราะเสียงคือคลื่นความถี่ที่กระจายออกไป ตกกระทบ กระแทก สะท้อน สั่นสะเทือน กับวัสดุที่ต่างชนิดกัน ก็ให้ผลทางเสียงที่แตกต่างกันไป นักเล่นนักฟังเพลงที่พิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดการปรับแต่งสภาพอะคูสติก เพื่อให้ได้เสียงที่พอใจนั้น ควรให้ความสำคัญกับตำแหน่งต่างๆครับ เรียกว่าปรับปรุงพื้นที่ฟังเพลงให้ลงตัวก่อน ก่อนจะที่จะไปปรับแต่งชุดเครื่องเสียงหรืออุปกรณ์เสริม ไม่อย่างนั้น เปลี่ยนอย่างไรเสียงก็ไม่ลงตัว ได้แบบนี้มาพอใจ แต่เสียอีกอย่างไปโดยต้องทำใจ พายเรือวนในอ่าง แก้ไขไม่จบนะครับ

     แต่ละตำแหน่งมีผลต่อบุคลิกเสียงแตกต่างกันไปครับ แต่ที่เหมือนกันในทุกตำแหน่งคือ คุณลักษณะของตำแหน่งนั้นๆครับ คือตำแหน่งใดซับเสียงมากเกินไป เสียงมักขาดความกังวาน หางเสียงไม่ทอดยาว ตำแหน่งใดสะท้อนเสียงมากไป เสียงมักขาดโฟกัสที่ชัดเจน เนื้อเสียงไม่อิ่ม ตำแหน่งใดไม่แข็งแรง เสียงมักเบลอบวม น้ำหนักเสียง แรงปะทะไม่คมชัดเจนครับ โดยรวม 10 ตำแหน่งที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงมีดังนี้ครับ

1. ตำแหน่งกลางห้องด้านหน้า

หรือตำแหน่งด้านหลังลำโพงและชุดเครื่องเสียง ตำแหน่งนี้ส่งผลต่อมิติเสียงตื้นลึก โฟกัสความเป็นตัวตนของชิ้นดนตรี นักร้อง และความชัดเจนของเสียงตรงกลาง การจัดสภาพอะคูสติกตำแหน่งนี้ ควรมีการซับกึ่งสะท้อนเสียงตรงกลาง ตั้งแต่ระดับพื้นขึ้นไปเกือบถึงเพดาน และซับมากหน่อย(ไม่ใช่ซับทั้งหมด)ด้านข้าง เพื่อไม่ให้มีการซับเสียงมากเกินไป ลองจัดในอัตราส่วนที่เหมาะสม จะได้เสียงที่มีความลึกเป็นลำดับชั้น โดยมีโฟกัสเข้มตรงกลาง เสียงทั้งหมดไม่พุ่งออกมามากเกินไปด้วย กำแพงห้องด้านนี้ควรมีความแข็งแรง เพราะส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักเสียง โดยเฉพาะลำโพงขนาดใหญ่ ที่มีท่อระบายเสียงออกทางด้านหลัง

2. ตำแหน่งมุมห้องด้านหน้า

มุมห้องหรือมุมพื้นที่ฟังเพลง ตำแหน่งนี้ส่งผลโดยตรงต่อเสียงทุ้ม รวมถึงความกว้างในด้านลึกของเวทีเสียงและบรรยากาศด้านลึกของมิติเสียง ตำแหน่งนี้ควรซับกึ่งสะท้อนเสียง เพื่อลดคลื่นความถี่ต่ำสะสมบริเวณนี้ หากไม่มีการจัดอะคูสติกในตำแหน่งนี้ เสียงทุ้มจะขาดโฟกัสที่ชัดเจน น้ำหนักเสียง แรงปะทะ ไม่คมชัดเด็ดขาด บรรยากาศด้านลึกของมิติเสียงไม่มีหรือไม่ชัดเจน มิติเสียงด้านลึกจะไม่โอ่โถงกว้างแบบมีบรรยากาศ เสียงจะเดินหน้าและค่อนไปทางกว้างแต่ขาดรายละเอียด และเพิ่มความใส่ใจเป็นพิเศษหากใช้ลำโพงตั้งพื้น หรือดอกลำโพงขนาดใหญ่ มีท่อระบายเสียงออกทางด้านหลัง

3. ตำแหน่งมุมเพดานบนกับกำแพงในทุกด้าน

หลายท่านไม่ให้ความสนใจเลย อย่าคิดว่าไม่สำคัญนะครับ เพราะส่งผลต่อ ความกังวานสั้นยาวของหางเสียง โดยเฉพาะเสียงแหลม หากจัดการอะคูสติกในตำแหน่งนี้ ให้มีการซับเสียงบ้างเล็กน้อย จะส่งผลต่อเสียงแหลมที่ทอดยาว เสียงเข้มไปจนจางหาย มีรายละเอียด มีคอนทราสต์อ่อนแก่งดงาม เสียงนักร้องมีลีลาน่าฟัง หวานขึ้นอีกมากทีเดียว หากไม่ได้จัดอะคูสติก เสียงกังวานจะไม่ค่อยทอดหางเสียงนัก มิติเสียงอาจจะเตี้ยลงด้วย ความเปิดโปร่งของเสียงจะลดทอนลงไป เสียงปลายแหลมจะติดฟุ้งๆไม่ค่อยมีความชัดเจน

4. ตำแหน่งกำแพงด้านข้างซ้ายและขวา

เป็นอีกตำแหน่งมหาชนหรือพิมพ์นิยม หลายห้องใช้วัสดุปรับแต่งอะคูสติกในตำแหน่งนี้ แต่จะติดตั้งตรงไหนนั้น มีคำแนะนำคร่าวๆว่า ให้เอากระจกไปลองวาง และนั่งตรงตำแหน่งนั่งฟัง ระยะลำโพงปกติที่เคยฟัง ลองเลื่อนกระจกเดินหน้าถอยหลัง หากมองเห็นลำโพงในกระจกจากตำแหน่งนั่งฟัง ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ติดวัสดุปรับแต่งตรงบริเวณนั้น ปริมาณความสูงต่ำขึ้นกับขนาดลำโพงและขนาดห้อง ไม่มีตายตัว ให้ลองฟังก่อนและค่อยเพิ่มปริมาณ อย่าไปติดตั้งแบบทั้งแผงเต็มไปหมด เพราะเสียงที่ได้ อาจเป็นผลเสียงมากกว่า วัสดุที่ใช้นั้น ควรมีการซับและสะท้อนเสียงเท่าๆกัน หากซับหรือสะท้อนมากเกินไป ส่งผลต่อมิติเสียงทางด้านกว้าง ลำโพงซ้ายและขวาจะล่องหนเป็นรูปวงดนตรีสวยงาม กว้างลึกได้สมดุล ตำแหน่งนี้มีความสำคัญ

5. ตำแหน่งพื้น

มีความสำคัญเช่นกัน ส่งผลต่อน้ำหนักเสียง เสียงทุ้มลึก รายละเอียดในย่านเสียงทุ้ม พื้นควรให้ความสำคัญบริเวณหน้าดอกลำโพงไปจนถึงตำแหน่งนั่งฟัง ควรมีความแข็งแรงมากสักหน่อย หาวัสดุมาป้องกันการสะท้อนเสียง ให้มีการซับเสียงบ้าง โดยต้องไม่นุ่มมากเกินไปนัก หากจัดแต่งได้อย่างเหมาะสม น้ำหนักเสียงจะกระแทกชัดเจน มีความอ่อนแก่ แยกคอนทราสต์ในความถี่ต่ำออกมาได้แตกต่าง หากจัดแต่งไม่ดี เสียงทุ้มจะลงไม่ลึก ไม่ทิ้งน้ำหนัก กระแทกไม่ชัดคม อาจมีอาการเสียงทุ้มเบลอได้บ้าง

6. ตำแหน่งด้านหลังของห้อง

ตำแหน่งนี้ควรมีพื้นที่สักหน่อยนะครับ หากนั่งชิดกำแพงหลังห้อง เตรียมตัวรับพลังเสียงทุ้มที่ปริมาณเกินจริงและเด่นชัดจนกลบเสียงกลางแหลมได้เลย หากมีระยะห่างสักหน่อย ตำแหน่งนี้มีผลต่อสมดุลเสียง มิติเสียงด้านลึก รวมถึงบรรยากาศหรือพวกฮาร์โมนิก ตำแหน่งนี้หากพื้นที่น้อย ควรมีการซับเสียงมากสักหน่อย หากมีพื้นที่กว้างก็ซับและสะท้อนเสียงอย่างเหมาะสม ตำแหน่งนี้หากอะคูสติกจัดได้ลงตัว เสียงทุ้มกลางแหลมจะได้สมดุลที่ดี มิติด้านลึกมีความนิ่ง ฮาร์โมนิคเสียงต่างๆ ทั้งหลักและรองลงไป ฟังได้บรรยากาศ สัมผัสเสียงแผ่วเบาต่างๆได้อย่างมีรายละเอียดขึ้น ฟังเพลงได้อรรถรสมากขึ้น

7. ตำแหน่งมุมห้องด้านหลัง

ควรให้ความสำคัญกับตำแหน่งนี้ หลังจากให้ความสำคัญกับหลายตำแหน่งที่กล่าวมาครับ ความสำคัญไม่เป็นรองแต่เน้นส่วนหลักๆให้ดีก่อนนะครับ ตำแหน่งนี้ส่งผลต่อเสียงทุ้ม น้ำหนักเสียง และมิติเสียงเช่นกัน หากจัดอะคูสติกให้บริเวณมุมห้องด้านหลังนี้ ลดการสะสมของคลื่นสะท้อน ที่มักเป็นเสียงทุ้ม เสียงโดยรวมจะเปิดโปร่งขึ้นทันที ทำให้ได้ยินน้ำหนักเสียงทุ้ม รายละเอียดต่างๆชัดเจนขึ้นด้วย เสียงทุ้มลึกที่นุ่มนวล อย่างมีความอ่อนแก่ในน้ำหนักเสียง รวมถึงมิติเสียงที่ขึ้นรูปวงอย่างเสียงสวยงาม จะปรากฏให้รับฟังได้ หากจัดการซับ สะท้อนเสียง ลดคลื่นสะสมบริเวณนี้อย่างเหมาะสม

8. ตำแหน่งเพดาน

มาถึงบริเวณด้านที่นักเล่นเครื่องเสียงบางท่านใส่ใจ แต่หลายท่านมองข้ามไปครับ เพดานต้องมีความสูงต่ำให้เหมาะสมกับการวางชุดเครื่องเสียง และที่สำคัญ ตำแหน่งความสูงของลำโพง หากเพดานเตี้ยเกินไป ส่งผลต่อไดนามิค ความสูงต่ำของมิติเสียง รวมถึงการทอดหางเสียง หากเพดานมีความแข็งแรง มีความสูงอย่างเหมาะสม จัดแต่งอะคูสติกให้มีการซับเสียงบางเล็กน้อย ส่งผลต่อเสียงที่มีความเปิดกว้างทางด้านมิติ เปิดโปร่ง เสียงกังวานทอดหางเสียง เสียงไม่เตี้ยหรือการการสวิงของเสียงที่ดี บริเวณที่ควรจัดอะคูสติกคือ หน้าดอกลำโพงมาถึงตำแหน่งนั่งฟังและเลยตำแหน่งนั่งฟังไปเล็กน้อย

9. ตำแหน่งวางชุดเครื่องเสียง

ตำแหน่งหรือบริเวณนี้ ไม่ค่อยสำคัญแต่ห้ามละเลยนะครับ หากจะพิถีพิถันกันสุดๆ ชุดเครื่องเสียงไม่ควรวางในตำแหน่งอับทึบ มุมห้อง ติดกำแพง หรือในมุมอับที่เพดานเตี้ยๆ เหตุผลคือ มันเป็นที่สะสมของคลื่นเสียง ส่งผลต่อการทำงานของเครื่องทีเดียว อย่าคิดว่ามีอุปกรณ์เสริมรองรับแล้วไม่ได้รับคลื่นเสียงนะครับ เพราะคลื่นที่ไปกระแทกกับกำแพงแล้วย้อนกลับลงมาด้านบนเครื่องนี่ เล่นเอาสั่นเบาๆได้เช่นกัน หากจัดวางองค์ประกอบได้เหมาะสม เสียงจะมีความนิ่ง รายละเอียดเล็กน้อยแสดงออกมาชัดเจนมากขึ้น หากวางในมุมที่ได้รับผลกระทบ เสียงก็จะไม่คมชัด ออกไปทางเบลอนิดหน่อย หากฟังไม่ละเอียดจะเหมือนกับเสียงมีความเนียน เชื่อมโยง แต่จริงๆแล้วเป็นเสียงที่เบลอขาดโฟกัสที่ชัดเจน

10. ตำแหน่งนั่งฟัง

ความสูง ความต่ำ ความแข้งแรง คุณภาพวัสดุของเก้าอี้ ล้วนมีผลต่อการฟังเพลงคุณภาพเสียงทั้งสิ้น ความสูงต่ำมีผลต่อรายละเอียดเสียงแหลมโดยตรง ความแข็งแรงมั่นคงส่งผลต่อน้ำหนักเสียง ความนิ่ง และคุณภาพเสียงโดยรวมทั้งหมด เก้าอี้ที่ผลิตด้วยวัสดุซับเสียงมากเกินไป มีขนาดที่ใหญ่ อาจส่งผลต่อเสียงที่ขาดประกายในด้านเสียงแหลม วัสดุที่เหมาะสมต้องไม่ซับหรือสะท้อนเสียงมากเกินไป โดยเฉพาะตำแหน่งพนักพิง หากความสูงของพนักพิงไม่ควรเกินไหล่หากต้องการฟังบรรยากาศเล็กน้อยของเสียง แต่ประเด็นนี้ควรเป็นเรื่องรองลงไป เพราะเอาความสุข ความสะดวกสบายในการฟังเพลงเป็นสำคัญก่อน หากพิจารณาได้องค์ประกอบที่เหมาะสมตามเงื่อนไขที่กล่าวมา จะเพิ่มคุณภาพในการฟังเพลงให้ได้อรรถรสมากขึ้น

สรุป

     ตำแหน่งทุกตำแหน่งในห้องฟัง แม้ไม่มีห้องฟังแต่เป็นมุมโปรดในการฟังล้วนมีความสำคัญ ส่งผลต่อคุณภาพเสียงและการฟังเพลง ความสมดุลของสภาพอะคูสติกโดยรวมนั้น ต้องมีความสัมพันธ์กัน ไม่มีด้านใดซับเสียงหรือสะท้อนเสียงมากจนเกินไป ให้พิจารณาของมุมที่เสียงตกกระทบเป็นสำคัญ ค่อยๆลองฟังลองปรับแต่ง ด้วยอุปกรณ์อย่างง่ายๆที่พอจะหามาได้ (อ่านบทความ )

หากพิจารณาได้คุณภาพได้ตามการลองแล้ว จะยกระดับใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับปรับแต่งอะคูสติกโดยเฉพาะ ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม นอกจากจะได้ห้องฟังเพลง ที่ฟังเพลงได้ไพเราะขึ้นแล้ว ยังขึ้นชื่อได้ว่า เล่นเครื่องเสียง ไม่ใช่โดนเครื่องเสียงเล่น นะครับ