What HI-FI? Thailand

ส่องเครื่องเสียงงาน HIGH END Munich 2022

Dawn Nathong

งานแสดงเครื่องเสียงครั้งยิ่งใหญ่ของโซนยุโรป ที่ห่างหายไปกว่า 2 ปีเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 กลับมาครั้งนี้ในช่วงวันที่ 19 – 22 พฤษภาคม 65 สร้างความคึกคักให้เหล่านักเล่นและวงการเครื่องเสียงทั่วโลก แน่นอนว่าเหล่าผู้ผลิตต่างก็เตรียมตัวกันมาอย่างดี พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มากมายนับไม่ถ้วน ผู้เขียนเลยขอเลือกหยิบเอาตัวที่น่าสนใจซึ่งหลาย ๆ รุ่นมีตัวแทนจำหน่ายในบ้านเรา มาเล่าสู่กันฟังบางส่วนกันก่อน

กลุ่มลำโพง

Dali Kore เรียกว่าเผยโฉมกันครั้งแรกตัวเป็น ๆ ในงานนี้ กับลำโพงรุ่นเรือธงตัวใหม่ของค่ายที่มีเทคโนโลยีแตกต่างจากอนุกรมอื่นๆ ของ Dali เรียกว่ารื้อตำราออกแบบใหม่กันเลย ว่ากันว่าน้ำเสียงนั้นทำเอาผู้ฟังทึ่งไปตาม ๆ กันด้วยความเปิดโปร่ง เปิดโล่ง เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง แถมเซ็ตอัพตำแหน่งง่าย ไดรเวอร์แต่ละข้างประกอบด้วยวูฟเฟอร์ขนาด 11.5”, มิดเรนจ์ขนาด 7 นิ้วพร้อมเทคโนโลยี SMC, ไฮบริดทวีตเตอร์ที่มีทั้งริบบ้อนและซอฟท์โดม ถึงจะเห็นกรวยไดร์เวอร์สีแดงเลือดนกที่คุ้นเคยแต่ทาง Lars Worre ซีอีโอกล่าวว่า เทคโนโลยีที่ใช้ผลิตนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากที่ Dali เคยทำมา นอกจากนี้ในส่วนของครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คก็ใหม่เช่นกันเรียกว่า “soft crossover” ตัวตู้ลำโพงขนาดใหญ่ภายในแบ่งเป็นเชมเบอร์คู่ขนาด 72 ลิตรสำหรับติดตั้งวูฟเฟอร์แต่ละตัว ตอบสนองย่านความถี่ 26 Hz – 34 kHz

(Image credit: avcat)

Karmar Exquisite GRAND 3.0 หนึ่งในอนุกรมเรือธง Exquisite ใหม่ที่พัฒนามาจนถึงเวอร์ชั่น 3.0 จุดหลักที่มีการอัพเกรดคือสแตนด์ isolation ที่ใช้ Tungsten ball ขนาด 8mm เพื่อลดพื้นที่สัมผัส เพิ่มความใสสะอาดทะลุเข้าถึงเสียงดนตรีได้มากขึ้น พร้อม Silver bridge terminals จั๊มเปอร์ ตัวลำโพงออกแบบเป็นทรงทาวเวอร์ 4 ทางจัดเรียงไดร์เวอร์ทั้งหมด 7 ตัวต่อข้างในระบบ point-source symmetrical ครอสโอเวอร์เน็ตเวอร์ใช้เทคนิคที่มีความสลับซับซ้อนและผลิตแบบ in-house ซึ่งทาง Karma ให้ความสำคัญเปรียบได้กับ “คอนดัคเตอร์ของวงดนตรี” ไดร์เวอร์ของลำโพงแต่ละข้างประกอบด้วย Diamond concave ทวีตเตอร์ขนาด 20mm หนึ่งตัวและขนาด 30mm สองตัว, มิดเรนจ์ Kharma Omega-7 กรวย carbon based ขนาด 7 นิ้วคู่, วูฟเฟอร์ Nomex Kevlar คู่ขนาด 12 นิ้วคู่ ขั้วต่อไบไวร์ ตอบสนองความถี่ 20 Hz – 100 kHz

Marten Mingus Quintet 2 ลำโพงเจนเนอเรชั่นสองที่มีการปรับปรุงใหม่พร้อมไดร์เวอร์เทคโนโลยี CELL ลำโพงแต่ละข้างใช้ไดร์เวอร์ทั้งหมด 5 ตัว ประกอบด้วย pure diamond วีตเตอร์ขนาด 0.75” หนึ่งตัว, pure ceramic มิดเรนจ์ขนาด 5” หนึ่งตัว และ aluminum sandwich เบสโดมขนาด 7” สามตัว ดีไซน์ครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คแบบ 1st order เพื่อให้เสียงเปิด สะอาดและมีไดนามิกมากที่สุด ใช้สายวายริ่งภายในจาก Jorma แยกเส้นขั้วบวก-ลบอิสระ นอกจากนี้ยังปรับปรุงในส่วนของการคุมเรโซแนนท์ด้วย advanced damping mat และไม้เนื้อแข็งประกบด้านบนและล่างของลำโพง ฐานล่างเป็น Marten Isolators ที่ตัดการรบกวนของแรงสั่นระหว่างพื้นกับตัวลำโพง ตอบสนองย่านความถี่ 24 Hz – 100 kHz (+-2dB) สำหรับใครที่ต้องการคุณภาพสุงสุดกว่านี้ สามารถอัพเกรดเป็น Statement Edition ที่ใช้สายวายริ่ง Jorma Statement และอัพเกรดอุปกรณ์คอรสโอเวอร์เน็ตเวอร์คให้สุด ๆ

(Image credit: avcat)

Wilson Benesch Omnium ลำโพงรุ่นใหม่จากอนุกรม Reference Omnium มาจากภาษาละตินแปลว่า “ของทั้งหมด” ออกแบบเป็นลำโพง 2.5 ทาง ใช้ไดร์เวอร์ทั้งหมด 7 ตัวต่อข้างประกอบด้วย WB Fibonacci ไฮบริดทวีตเตอร์ขนาด 1”, WB Tactic 3.0 วูฟเฟอร์เบส-ไฮ ขนาด 7”, มิดเรนจ์ WB Tactic 3.0 ขนาด 7”, วูฟเฟอร์เบส-โลว์ WB Tactic 3.0 ขนาด 7” โดยส่วนของมิดเรนจ์ทำงานแบบฟูลเรนจ์ไม่มีเน็ตเวิร์ค และท้ายสุด Isobaric Drive System (IDS) ระบบเบส push-pull ที่ใช้ไดร์เวอร์ WB Tactic 3.0 ขนาด 7” อีกสามตัว ทั้งหมดติดตั้งลงในโครงสร้างตู้แบบใหม่ A.C.T. 3Zero Monocoque มีโครงสร้างเป็น biocomposite ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่ง Craig Milnes ดีไซน์ไดเร็กเตอร์ที่ Wilson Benesch ระบุว่าใช้เวลาพัฒนากว่า 4 ปี ลงทุนค่า R&D ไปกว่า 7.4 ล้านปอนด์ ด้านบนตู้ท้อปด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ ว่ากันว่าตอบสนองทรานเชียต์ได้อย่างสมจริงที่สุด และเต็มไปด้วยความดปร่งใส ตอบสนองย่านความถี่ 28Hz – 30KHz (+/- 2dB)

กลุ่มฟร้อนเอ็นด์

CH Precision C1.2 DAC / Controller ดีทูเอคอนเวอร์เตอร์รุ่นล่าสุด ออกแบบมาใช้งานร่วมกับ D1.5 CD/SACD player/transport ยกเครื่องใหม่จากรุ่น C1 เดิม มีการอัพเดตและออกแบบกระบวนการทำงานเส้นทางของสัญญาณดิจิตอลใหม่หมด เพิ่มพลังประมวลผลเพื่อรองรับฟิลเตอร์อัลกอริธึม PETER spline กับ fixed-point processing ใช้ MEMS-base master clock ที่เพิ่มความแม่นยำและลดอาการ timing error เข้าไปอีก ในส่วนของการจัดการพลังงานจะเน้นลดดิจิตัลน้อยส์ฟลอร์ รองรับการเล่น MQA เต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีชุดอัพเกรดที่จะแปลงร่าง C1.2 ให้กลายเป็นชุด dual-monaural DAC แบบสามตัวถัง โดย C1.2 จะรับหน้าที่เป็นภาค System Controller เต็มตัวและแยกภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ออกมาเป็นแชนแนลละหนึ่งตัว เรียกว่าสุด ๆ กันไปเลย ท่านใดที่ครอบครองรุ่น C1 เดิมอยู่ก็สามารถนำมาอัพเกรดเป็นรุ่น C1.2 ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามรุ่น

dCS Apex ฟร้อนเอ็นด์อนุกรมใหม่ตระกูล Apex ที่มาครบ ๆ ทั้ง Vivaldi DAC, Rossini DAC รวมถึง Rossini Player ที่มีการอัพเกรดบอร์ดวงจร Ring DAC ใหม่แล้ว ยังได้พัฒนาภาคแอนะล็อกเอาต์พุตขึ้นใหม่ลดความเพี้ยนให้ต่ำลง, ปรับปรุงความเป็นเชิงเส้น, ให้ผลทั้งการวัดค่าและการฟังในส่วนที่สำคัญดีขึ้น เรียกว่า Chris Hales นั้นทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก จุดแรกที่โมดิฟายด์คือ Reference supply ที่ป้อนแผงวงจร Ring DAC ส่งผลต่อประสิทธิภาพเสียงและเอาต์พุตอิมพิแดนซ์โดยตรง นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงในส่วนเอาต์พุตสเตจ แยกส่วน Summing stage ตัดขาดจากโลกภายนอก ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้เต็มที่ จ่ายกระแสได้มาก ขับโหลดทุกรูปแบบของสายเคเบิลและแอมปลิฟายเออร์ที่เชื่อมต่อได้อย่างเสถียร รวมถึงอัพเกรดทรานซิสเตอร์และปรับเลย์เอ้าต์บนแผงวงจร ทำให้ได้ความสงัดและความเป็นลิเนียร์เพิ่มขึ้นอีก 12 เปอร์เซ็นต์

LampizatOr Horizon DAC ฉายา “The DAC of the future” เป็นดีทูเอคอนเวอร์เตอร์หลอดสุญญากาศรุ่นเรือธงใหม่ล่าสุดของค่ายจากโปแลนด์นี้ ผลิตแบบลิมิเต็ดอิดิชั่น 400 ตัว ยังไม่มีการเปิดเผยว่าใช้ชิปแด็คหรือไม่ แต่จั่วหัวไว้ว่า “ขอบคุณชิปที่ปฏิวัติวงการ” เขียนซอฟท์แวร์ส่วนคอนโทรลเลอร์และคัสต้อมเฟิร์มแวร์เอง รองรับความละเอียด PCM 768kHz และ DSD512 ภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ใช้หลอด 6SN7GT ภาคเอาต์พุตใช้หลอด KT88 ตัว PCB บอร์ด 4 เลเยอร์เน้นอุปกรณ์แบบคัสต้อมเมดหลายส่วน ภาคจ่ายไฟโอเวอร์ไซส์แยกวงจรจ่ายไฟ 17 จุด ใช้หลอดเรกติฟาย 5U4G มีวงจร superclock ที่ใช้แสงในการถ่ายโอนข้อมูล มี CNC milled รองบอร์ดตัดแรงสั่นสะเทือน มีภาคโวลุ่มคอนโทรลสุดเจ๋งในตัวที่ไม่ต้องง้อปรีแอมป์ หรือจะทำบายพาสในกรณีใช้งานเป็นดีทูเอคอนเวอร์เตอร์เพียว ๆ ก็ได้ พร้อมฟังก์ชั่น TRP (tube roller’s paradise) ที่สามารถเลือกปรับเปลี่ยนหลอดได้หลากหลายเบอร์

MSB Digital Director ส่วนประมวลผลสัญาณดิจิทัลและทำหน้าที่ isolated น้อยส์ก่อนส่งต่อไปยังดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ผ่านการเชื่อมต่อแบบ ProISL ไฟเบอร์ออพติก เรียกว่าตัดการรบกวนต่าง ๆ ที่เข้ามาทางดิจิทัลอินพุตได้อย่างสิ้นเชิง พร้อมซิงค์โครไนซ์คล็อกทั้งหมดก่อนส่งข้อมูลต่อไปยังดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ ออกแบบมาสำหรับใช้งานร่วมกับ DAC ทั้งรุ่น Premier, Reference, และ Select เวอร์ชั่นใหม่นี้มีการอัพเกรด DSP ใหม่ถึงสองชุดโดยใช้ FPGA เพื่อรองรับคำสั่งการทำงานระดับ 12 พันล้านครั้งต่อวินาที รวมถึงมีดิจิทัลฟิลเตอร์แบบใหม่ที่ถูกออกแบบมาให้มั่นใจว่าจะสร้างรูปคลื่นแอนะล็อกออกมาได้ตรงตามต้นฉบับ นอกจากนี้ยังอัพเกรดภาคจ่ายไฟลิเนียร์แบบอัลตร้าโลว์น้อยส์บิ๊วต์อินเข้าไปด้วยเลย บอดี้เป็นอลูมิเนียม billet CNC รองรับดิจิทัลอินพุตโมดูลได้ 4 slot

กลุ่มแอมปลิฟายเออร์

Chord ULTIMA PRE 3 ปรีแอมปลิฟายเออร์ตัวเด็ดจาก Chord Electronics แบบเพียวแอนะล็อก ซึ่งจะมาเป็นปรีแอมป์รุ่นเรือธงตัวใหม่ของบริษัทแทนรุ่น Ultima Pre 2 เดิมที่เปิดตัวปี 2020 ปรีแอมป์ Ultima Pre 3 ดูสลิมขึ้น มาในดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งภายนอกและภายใน จุดเด่น ๆ ของปรีแอมป์รุ่นนี้มีพัฒนาการที่น่าสนใจสามประการคือ ภาคจ่ายไฟใหม่ที่ก้าวหน้าและให้ความเพี้ยนต่ำสุด, การทำงานของภาคขยายที่ให้สัญญาณรบกวนต่ำ และสุดท้ายคือการดีไซน์วงจรภายในใหม่หมด ตัวถัง CNC จากบล็อคอลูมิเนียม aircraft-grade พร้อมขา Integra legs มีช่องแอนะล็อกอินพุตแบบบาล้านซ์ 2 ชุดและอันบาล้านซ์ 3 ชุด นอกจากนี้ยังมีช่องจ่ายไฟ พอร์ต USB ขนาด 5V/3A สำหรับจ่ายไฟเลี้ยงให้ DAC ของ Chord อย่างเช่น Qutest หรือ Hugo 2 ได้อีกด้วย ทางผู้ผลิตระบุว่าปรีแอมป์รุ่น Ultima Pre 3 เข้ากันได้ดีเป็นอย่างยิ่งกับเพาเวอร์แอมป์หลากหลาย โดยเฉพาะเพาเวอร์แอมปลิฟายเออร์รุ่น Ultima 5 หรือ Ultima 2 และ Ultima 3 monoblock

Electrocompaniet AW 800 M แบรนด์ไฮเอ็นด์จากนอร์เวย์ เปิดตัวเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกรุ่นเรือธงใหม่ที่ทรงพลังมากที่สุดที่บริษัทเคยสร้างมา และจะมาแทนที่รุ่น AW 600 NEMO เดิม ด้วยขุมพลัง 800W ที่โหลด 8 โอห์ม และอัดฉีดได้ถึง 2,000W ที่โหลด 2 โอห์ม ค่าแดมปิ้งแฟคเตอร์สูงกว่า 1,000 ตอบสนองแบนด์วิธตั้งแต่ 0.5Hz จนถึง 1.1 MHz ใช้เอาต์พุตไบโพล่าร์ทรานซิสเตอร์แบบกระแสสูง, แบนด์วิธกว้างถึง 32 ตัว ให้สัญญาณเอาต์พุตที่บริสุทธิ์สูงมาก สะอาด ปราศจากน้อยส์และไร้ผลกระทบจากโหลดที่เชื่อมต่อ ภาคจ่ายไฟใช้หม้อแปลงเทอรอยด์คู่พร้อมชุดตัวเก็บประจุขนาด 210000 uF นอกจากนี้ถ้าอยากจะสวิตช์โหมดการทำงานไปเป็นแบบสเตอริโอหรือไบ-แอมป์ก็ยังได้ เพราะภายในเป็นเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกสองตัวใส่ไว้ในตัวถังเดียวกัน

Esoteric S-05 เพาเวอร์แอมป์สเตอริโอ Class-A รุ่นล่าสุดที่ดึงเทคโนโลยีจากรุ่นเรือธง Grandioso M1X โมโนบล็อกมาใส่ไว้ในตัวถังขนาดคอมแพ็ค ตามปรัชญาของ Esoteric ที่ว่า “วงจรเรียบง่าย – เอาต์พูตสูงสุด” สามารถเอามาจับคู่กับเน็ตเวิร์ค แด็ค/ปรีแอมป์รุ่น N-05XD ได้อย่างลงตัว ก็จะได้ชุดฟังเพลงแยก 2 ชิ้นขนาดกะทัดรัดแต่คุณภาพสูง วงจรภายในของ S-05 ออกแบบเป็นดูอัล-โมโน ภาคอินพุตใช้เทคโนโลยี ES-Link Analog วงจรขยาย Bi-polar 3 Parallel Push/Pull ภาคจ่ายไฟหม้อแปลง EI-core 940VA ชุดตัวเก็บประจุคัสต้อมเมด 10,000μF × 4/ch ให้กำลังขับ 30W + 30W (8Ω, Class-A), 60W + 60W (4Ω)

Mark Levinson ML-50 เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกรุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 50 ปีของบริษัท ผลิตแบบจำกัดจำนวน 100 คู่ทั่วโลก เป็นการสานตำนานของเครื่องอนุกรม ML อันโด่งดังอย่างเช่น Model ML-2 ที่เป็นแอมป์โมโนบล็อก Pure Class-A กำลังขับ 25W ที่ 8 โอห์ม ที่ยังเป็นแรร์ไอเท็มสำหรับนักสะสม โดย ML-50 ยังคงดีไซน์วงจรแบบ Class-A ออกแบบในลักษณะ Fully Balanced ภาคจ่ายไฟปรับปรุงมาจากรุ่น No 536 ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ค่านอยส์ฟลอร์ลดลง 50% เพิ่ม Dynamic Power อีก 20% ให้กำลังขับ 20W ที่ 8 โอห์ม แต่สามารถทำงานในโหมด Class AB ให้กำลังขับได้ถึง 425W ที่ 8 โอห์มเมื่อลำโพงต้องการ มีขั้วต่ออินพุตให้เลือกใช้งานได้ทั้งแบบ Balanced XLR และ Single-Ended RCA พร้อมขั้วต่อสายลำโพงแบบพิเศษของมาร์กเองที่เรียกว่า Hurricane Binding-Post


Exit mobile version