What HI-FI? Thailand

ส่องดิจิตอลอินพุตของ DAC ยุคนี้แบบไหน อย่างไร?

DAWN NATHONG

ทุกวันนี้ผู้เขียนเชื่อว่ายังมีนักเล่นหลายท่านยังสับสนกับการเลือกใช้ช่องดิจิทัลออดิโออินพุตที่อยู่ด้านหลัง D/A Converter ไม่มากก็น้อย สมัยก่อนที่เป็นยุคของเครื่องเล่นซีดียังมีให้เลือกแค่ช่องแบบโคแอ็คเชี่ยลหรือออพติคอล แต่ยุคนี้นั้นเวลามองไปที่ด้านหลังเครื่องก็อาจตาลายได้เหมือนกัน เพราะช่องดิจิทัลอินพุตนั้นมีหลายรูปแบบซะเหลือเกิน

บทความนี้จะขออธิบายคุณสมบัติของช่องดิจิทัลอินพุตแบบต่าง ๆ ของ D/A Converter แบบคร่าว ๆ รวมถึงความเหมาะสมต่อการใช้งาน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเลือกใช้อย่างเหมาะสมและเต็มประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่มีอยู่

หมายเหตุ สเปคช่องดิจิทัลอินพุตประเภทเดียวกันของแต่ละรุ่นนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิตแบรนด์นั้น ๆ

ช่องอินพุต S/PDIF แบบ Optical (TOSLINK)

เป็นช่องดิจิตอลอินพุตที่มักพบเห็นได้ในอุปกรณ์หลายระดับราคา รับสัญญาณแสงผ่านสายใยแก้วนำแสง ตามทฤษฎีนั้นน่าจะเหมาะสมกับระบบออดิโอเพราะปลอดการรบกวนทางไฟฟ้า แต่จริง ๆ คุณภาพการส่งสัญญาณจะขึ้นอยู่กับเกรดของใยแก้วนำแสง (พลาสติก / แก้ว)

ส่วนใหญ่คุณภาพเสียงจากการฟังเพลง ถ้าไม่ใช้สายที่เป็นเกรดแก้วแท้ ๆ คุณภาพเสียงยังด้อยกว่าสายโคแอ็กเชี่ยลในพิกัดราคาใกล้ ๆ กัน ในแง่ของเนื้อเสียงและน้ำหนักการย้ำเน้น (บางท่านฟังว่าเสียงโปร่งกว้างกว่า)

คุณสมบัติ

ข่องอินพุต S/PDIF แบบ Coaxial

ในวงการเครื่องเสียงเป็นช่องดิจิตอลอินพุตที่ได้รับความนิยมสูงกว่าแบบออพติคอล รับสัญญาณในรูปแบบไฟฟ้าผ่านสายดิจิตอลโคแอ็คเชี่ยลความต้านทาน 75 โอห์ม มีขั้วต่อ 2 แบบคือ RCA และ BNC ซึ่งขั้วต่ออันหลังจะให้คุณภาพดีกว่าเพราะรักษาความต้านทานไว้ที่ 75 โอห์ม

ในแง่ของคุณภาพเสียงโดยรวมให้ความอิ่มของมวลเสียงและน้ำหนักย้ำเน้นดีกว่าช่องออพติคอล ปัจจุบันบางเครื่องจะมีขั้วต่อแบบ Dual-BNC ทำให้รองรับแบนด์วิธของข้อมูลได้สูงขึ้น

คุณสมบัติ

ช่องอินพุต AES/EBU (AES3)

เป็นช่องอินพุตที่นิยมใช้กับอุปกรณ์ระดับโปรหรือสตูดิโอ จุดประสงค์เพื่อให้เดินสายยาว ๆ ได้ ช่อง AES/EBU จะเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณแบบบาล้านซ์ XLR มีค่าความต้านทาน 110 โอห์ม

ในแง่ของน้ำเสียงจะได้ความสงัดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่องต่อโคแอ็คเชียลหรือออพติคอล เนื่องจากมีการแยกกราวด์ออกจากบวกและลบ สำหรับการฟังเพลง ในบางกรณีหรือบางเครื่อง อาจให้น้ำเสียงที่ตึงตัวและขาดความผ่อนคลายไปสักนิด ในเครื่องระดับไฮเอ็นด์บางรุ่นจะมีขั้วต่อแบบ Dual-AES มาให้ทำให้รองรับแบนด์วิธของข้อมูลได้สูงขึ้น

คุณสมบัติ

ช่องอินพุต USB

ช่องดิจิทัลอินพุต USB Audio ถูกนำมาใช้กับเครื่องเสียงเพื่อการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เป็นหลัก โดยเชื่อมต่อผ่านสาย USB และมีการส่งข้อมูลแบบ Asynchronous โดยใช้ Clock อ้างอิงในตัว DAC เป็นหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการส่งข้อมูล (Jitter)

ในการเชื่อมต่อต้องอาศัยไฟเลี้ยง 5V จึงมีโอกาสที่สัญญาณจะถูกรบกวน คุณภาพเสียงจึงขึ้นอยู่กับเทคนิคการออกแบบของผู้ผลิตด้วยส่วนหนึ่ง

คุณสมบัติ

ช่องอินพุต I2S

ชื่อเต็มคือ Inter-IC Sound สำหรับเครื่องเสียงบ้านมักจะอยู่ในรูปแบบของช่องพอร์ต HDMI เป็นช่องดิจิทัลอินพุตที่ “ต่อตรง” ระหว่างชิปไอซีถึงชิปไอซีเพื่อขจัดปัญหาคอขวด ไม่ต้องผ่านการแปลงสัญญาณมาเป็น I2S ก่อนเพื่อส่งข้อมูลไปยังชิพไอซีของ DAC เหมือนกับช่องดิจิทัลอินพุตรูปแบบอื่น ข้อเสียคือไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการเดินสายยาว ๆ

ทางทฤษฎีจึงถือว่าเป็นการเชื่อมต่อดีที่สุด ปัญหาเพียงอย่างเดียวคือเครื่องเสียงหรือออดิโอทรานสปอร์ตที่มีช่อง I2S เอาท์พุตนั้นยังมีให้เลือกไม่มากนัก

คุณสมบัติ

นอกจากนี้ยังมีช่องดิจิทัลอินพุตแบบ Ethernet ที่มีเรื่องของเน็ตเวิร์คเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เขียนจะหาโอกาสมานำเสนอในโอกาสต่อ ๆ ไป

Exit mobile version