รู้หรือไม่? การวางตำแหน่งปลั๊กผนังบนกำแพงที่ถูกต้อง

0

DAWN NATHONG

ปลั๊กผนังที่วงการเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์บ้านเรานิยมใช้กันทุกวันนี้ มักจะเป็นปลั๊กมาตรฐานโซนทวีปอเมริกาเหนือ, ญี่ปุ่น รวมถึงไทย ที่เรียกว่า Type B หรือปลั๊กแบบ 3 พิน (รูแบนสองขาเป็นไลน์และนิวทรัล กับรูกราวด์กลมอีกหนึ่ง) เกรดสูงที่เรียกว่า Hospital Grade หรือ Audio Grade ซึ่งให้แรงบีบหน้าคอนแท็คสูง สามารถเสียบได้แน่น บางรุ่นถึงขนาดเวลาดึงออกแทบจะต้องใช้เท้าช่วยยันเลยทีเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตซึ่งพบได้บ่อยครั้งเมื่อต้องติดตั้งปลั๊กผนังบนกำแพงห้อง จะพบว่าการวางตำแน่งของปลั๊กนั้น มีทั้งแนวตั้งและแนวนอน ตามตัวอย่างในรูป (A. B. และ C.)


ซึ่งก็คงไม่มีปัญหาอะไรหากใช้กับสายไฟเอซีขนาดเล็ก แต่หากเป็นสายไฟเอซีขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมาก การติดตั้งปลั๊กผนังก็ควรทำให้ถูกต้องสักนิด เพราะจากประสบการณ์ที่พบเจอมา แม้ว่าปลั๊กผนังจะเสียบได้แน่นหนาเพียงไร หากวางตำแหน่งของปลั๊กผนังในรูปแบบ A. หรือ B. เมื่อเสียบใช้งานไปสักระยะ หัวปลั๊กตัวผู้จะถูกน้ำหนักของสายดึงรั้งให้เคลื่อนออกจากเต้ารับทีละน้อย ไม่สนิทแนบแน่นเหมือนตอนแรก

ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่สายไฟเอซี แต่เป็นเพราะการติดตั้งตำแหน่งปลั๊กผนังที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ NEC (The National Electrical Code) ซึ่งกำหนดให้การติดตั้งปลั๊กผนังประเภทนี้ในสถานพยาบาลหรือโรงงานอุตสาหกรรม ต้องวางตำแน่งของปลั๊กในแนวตั้ง โดยการหันเอารูขากราวด์ไว้ด้านบนที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา (ตามรูป C.) เมื่อเสียบใช้งานร่วมกับหัวปลั๊กตัวผู้ที่มีขากราวด์เป็นโลหะทรงคล้ายตัว U ความยาวของขากราวด์จะช่วยรับน้ำหนักของสายไฟเอซีเอาไว้ ไม่ให้ถูกน้ำหนักของสายดึงรั้งจนเคลื่อนออกจากเต้ารับได้โดยง่าย

แต่เหนืออื่นใด สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของความปลอดภัย ในกรณีที่หัวปลั๊กเกิดการเคลื่อนตัวออกจากเต้ารับ หากมีวัตถุที่เป็นโลหะตกลงไป ก็จะมีโอกาสแตะกับขั้วที่เป็นกราวด์ก่อน แทนที่จะเป็นขั้วที่มีกระแสไฟซึ่งอาจเกิดการช็อตได้นั่นเอง