Dawn Nathong
นี่คือหูฟังทรูไวร์เลส (TWS) ที่เป็นกระแสพอสมควรรุ่นหนึ่งในตอนนี้ ล่าสุดเพิ่งไปคว้ารางวัล VGP2022 หมวด Earphone Grand Prize มาหมาด ๆ แม้จะเปิดตัวมาช้าสักหน่อย ปล่อยให้แบรนด์อื่นทำตลาด TWS กันเป็นล่ำเป็นสัน แต่มาทั้งที Technics ก็จัดเต็มทั้งเทคโนโลยีและคุณภาพเสียงแบบไม่มีกั๊ก
Technics เป็นแบรนด์เครื่องเสียงไฮไฟของประเทศญี่ปุ่นในเครือของ Panasonic Corporation ที่มีประวัติยาวนานถึงห้าทศวรรษ และมีองค์ความรู้ด้านออดิโอเทคโนโลยีทั้งดิจิทัลและแอนะล็อกที่ไม่น้อยหน้าใคร ปัจจุบันมีเครื่องเสียงในกลุ่ม Reference Class ที่เป็น Hi-End ของบริษัทรวมถึง Grand Class ที่เป็นกลุ่ม Mid-Fi ซึ่งน่าสนใจทั้งคู่ น่าเสียดายที่ทั้งสองอนุกรมนี้ยังไม่มีการนำเข้ามาจำหน่ายตอนนี้
อย่างน้อยบริษัท พานาโซนิค ประเทศไทย ก็ได้นำเอาสินค้าหูฟัง TWS รุ่นใหม่ล่าสุดของทาง Technics เข้ามาเปิดตัวในไทยเป็นครั้งแรก ได้แก่รุ่น EAH-AZ60 และ EAH-AZ40 ถือว่าเป็นการชิมลางก่อน และส่งตรงมาที่โต๊ะกอง บก. ของ What Hi-Fi Thailand เป็นที่เรียบร้อย
คุณสมบัติของ EAH-AZ60
- ไดร์เวอร์ Biocellulose ขนาด 8 มม.
- ไมค์ 4 ตัว / ข้าง สำหรับฟีเจอร์ด้านเสียงต่าง ๆ
- โหมด Dual Hybrid Active Noise Cancelling (ปรับระดับได้)
- โหมด Ambient Sound (ปรับระดับได้)
- เทคโนโลยี JustMyVoice (TM) ปรับเสียงสนทนาให้ชัดเจนในทุกสภาพแวดล้อม
- ระบบ Multipoint Pairing
- มี EQ ปรับได้ 5 แบนด์
- ควบคุมการทำงานผ่าน App บนสมาร์ทโฟน
- กันน้ำ / ฝุ่น มาตรฐาน IPX4
- Bluetooth เวอร์ชั่น 5.2
- รองรับ codec LDAC, AAC, SBC
- ใช้งานได้ 7 ชั่วโมง (ANC on), พร้อมเคสชาร์จ 24 ชั่วโมง (ANC on)
เทคโนโลยีเฉพาะตัวที่น่าสนใจ
Dual Hybrid Noise Canceling เทคโนโลยี ANC แบบไฮบริดที่ใส่มาเฉพาะในรุ่น EAH-AZ60 นี้เท่านั้น โดยจะทำงานทั้งแบบ feedforward และ feedback คอยตรวจจับเสียงรบกวนทั้งภายในและภายนอกตัวหูฟัง แล้วเอามาประมวลผลแบบร่วมกันทั้งภาคดิจิทัลและแอนะล็อก ทำให้ได้ประสิทธิภาพของการตัดเสียงรบกวนที่ดีที่สุด แถมยังสามารถปรับระดับของ ANC มากหรือน้อยได้ตามชอบใจ (1 – 100) ซึ่งบอกก่อนเลยว่าเยี่ยมมาก ๆ ANC ตัวนี้ของ Technics ทำได้ไม่แพ้ใคร
JustMyVoice (TM) เป็นเทคโนโลยีที่ทาง Technics ภูมิใจนำเสนอ เพื่อตอบโจทย์ไลฟสไตล์ “Work from anywhere” ของคนยุคนี้ให้ตรงประเด็นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการประชุมทางไกล (VDO Conference), วิดีโอคอล หรือการโทรที่ต้องการประสิทธิภาพของเสียงที่ชัดเจน น่าเชื่อถือ โดยตัวหูฟังสามารถตรวจหาและจับเสียงของผู้พูดขณะสนทนา และวิเคราะห์พร้อมแยกเสียงรบกวนรอบข้างออกเพื่อให้สามารถสื่อสารด้วยเสียงที่คมชัดที่สุด
วัสดุและการออกแบบ
EAH-AZ60 เป็นหูฟัง TWS รุ่นใหญ่สุดของค่ายตอนนี้ จุดเด่นคือการนำไดนามิกไดร์เวอร์ ที่ไดอะแฟรมเป็น bio-cellulose membrane ซึ่งทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ขนาด 8 ม.ม. มาใช้ ข้อดีของไดร์เวอร์ชนิดนี้คือ แกร่ง แต่ให้ตัวได้พอเหมาะ เสียงจึงนุ่มนวลไม่กระด้าง โทนเสียงจะอยู่ตรงกลางระหว่างไดอะแฟรมพลาสติกและโลหะ รวมถึงมีการออกแบบช่อง Acoustics Chamber ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ช่วยปรับการไหลเวียนของอากาศ ทำให้ย่านเสียงต่ำและกลางมีคุณภาพดียิ่งขึ้น รวมถึงมีตัว harmonizer ช่วยปรับย่านเสียงสูงให้สมูทราบรื่น
ตัวเคสชาร์จเป็นแบบ USB Type-C ขนาดกะทัดรัดทรงกระบอก พกง่ายไม่เกะกะเอาใส่กระเป๋ากางเกงได้เลย วัสดุทำมาจากพลาสติกและอลูมิเนียม ทำสีเทาเมทัลลิก มีฝาเปิดด้านบน งานเนี้ยบเรียบร้อยสมราคา ตัวหูฟังมีขนาดใหญ่สักนิดแต่ออกแบบรูปทรงให้รับกับใบหูของผู้สวมใส่มาอย่างดี เวลาใส่จะกระชับและแนบกับใบหู ไม่รู้สึกว่าตัวหูฟังรั้งหรือถ่วงหูเมื่อใส่นาน ๆ รวม ๆ แล้วใส่สบายมาก ๆ เพราะมีน้ำหนักเพียง 7 กรัมเท่านั้น
จุกหูฟังซิลิโคนที่ติดมาจากโรงงานจะเป็นไซส์ M ส่วนที่แถมมาในกล่องนั้นจะมีมาให้ 4 คู่คือไซส์ XL, L, S, XS (แกนสีขาว) ซึ่งไซส์ S กับ XS จะมีจุกแยกมาให้อีก 2 ชุด (แกนสีดำ) ให้ลองเปรียบเทียบกันว่าจุกไหนกันเสียงได้เหมาะกับช่องหูของผู้ใช้มากที่สุด นับว่าใส่ใจในรายละเอียดมากทีเดียว
การสั่งงาน Touch sensor
(L = หูฟังข้างซ้าย, R = หูฟังข้างขวา)
ขณะใช้งานทั่วไป
- แตะ 1 ครั้ง – L หรือ R : เล่น / หยุดเพลง / รับสาย
- แตะ 2 ครั้ง – L : ลดเสียง, R : เพลงถัดไป
- แตะ 3 ครั้ง – L : เพิ่มเสียง, R : เพลงก่อนหน้า
- แตะค้าง – L หรือ R : ตัดสาย, L : เรียก voice assistant, R : สลับโหมด Ambient Sound / Noise Cancelling
ขณะโทรศัพท์
- แตะ 1 ครั้ง – L : ลดเสียง, R :ปิดเสียง
- แตะ 2 ครั้ง – L : เพิ่มเสียง, R : สลับการตัดเสียงรบกวน Normal / Strong
- แตะค้าง – L หรือ R : วางสาย
ทดลองใช้งาน EAH-AZ60
การเข้า Pairing Mode เพื่อเชื่อมต่อกับมือถือครั้งแรก ทำได้โดยนำหูฟังทั้งสองข้างออกจากเคสชาร์จ แล้วแตะที่ Touch Control ของตัวหูฟังค้างไว้ประมาณ 4-5 วินาทีจนมีไฟกระพริบสีแดงสลับน้ำเงินที่ตัวหูฟังทั้งสองข้าง จากนั้นทำการ Pairing เข้ากับมือถือเป็นอันเสร็จ ตัวแอปคอนโทรลของหูฟังชื่อว่า “Technics Audio Connect” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งบน iOS และ Android เมื่อ Paring เสร็จแล้วก็จะสามารถเข้าใช้งานแอปได้ทันที
เนื่องจาก EAH-AZ60 มี LDAC มาให้ ผู้เขียนจึงเชื่อมต่อเข้ากับมือถือ Oppo F9 ที่รองรับ ก็สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่น และเข้า Developer Mode เพื่อเช็คสถานะการเชื่อมต่อและตั้งค่า Sampling rate : 96 kHz, Bit Depth : 24 bit, Bitrated : 660 kbps / 606 kbps (ทดลองตั้ง 990 kbps / 909 kbps แล้วสะดุด) เปรัยบเทียบกับการเชื่อมต่อที่ใช้ SBC codec แล้วต่างกันพอสมควร เมื่อใช้ LDAC เสียงโดยรวมจะมีความใสกระจ่างกว่าอย่างเห็นได้ชัด (อย่าลืมเข้าไปเปิด LDAC ในเมนู Connection mode บนแอป Audio Connect ก่อน)
ส่วนในการปรับแต่งค่าต่าง ๆ เพื่อฟังเพลง ผู้เขียนเข้าเมนู Ambient Sound Control สลับโหมดเป็น Noise Cancelling และปรับระดับการตัดเสียงรบกวนเอาไว้ที่ 30% คือพอให้ตัดเฉพาะเสียงรบกวนที่ดังมากออกไปเท่านั้น (ไม่ได้ยินเสียงพัดลมที่ตั้งห่างออกไป 1 เมตร) รวมถึงทำการ Optimizing noise cancellation ในหน้าเมนู Settings ขึ้นมาจากค่ากลางอีกครึ่งสเต็ป ช่วยให้เสียงมีความเปิดสว่างอีกเล็กน้อย ซึ่งตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าขึ้นกับขนาดไซส์จุกซิลิโคนและช่องหูของแต่ละคน อาจต้องปรับค่าแตกต่างไปจากนี้
Setting นี้ให้คุณภาพเสียงน่าพอใจกว่าการใช้โหมด Ambient Sound ตรงได้ยินรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ชัดเจนกว่า พื้นเสียงสงัดกว่า โดยที่ให้ความกว้างของมิติเสียงใกล้เคียงกัน ส่วนการเลือก off (ปิดโหมด Ambient Sound Control) ฟังแล้วเสียงจะนุ่ม ๆ และอ่อนไดนามิกลง
มีทริคเล็กน้อยสำหรับใครที่ฟังแล้วรู้สึกว่าเสียงจาก EAH-AZ60 นั้นเบาไปแม้จะเร่งเสียงที่มือถือจนสุดแล้ว นั่นเพราะที่ตัว EAH-AZ60 จะตั้งค่า default ของโวลุ่มในตัวเอาไว้ประมาณครึ่งเดียว ให้ทำการลดเสียงบนมือถือลงมาเหลือสักครึ่งนึง จากนั้นแตะที่ Touch Control ของหูฟังข้างซ้ายเร็ว ๆ 3 ครั้งเพื่อเพิ่มระดับเสียง ให้เพิ่มระดับเสียงไปเรื่อย ๆ จนสุด (จะมีเสียงเตือนเบา ๆ 2 ครั้ง) เท่ากับตอนนี้เราตั้งเกนเสียงของหูฟังเอาไว้ที่ MAX ซึ่งตัวหูฟังก็จะจำค่านี้เอาไว้ตลอด จนกว่าเอาค่าการ Paring บนมือถือออก จากนั้นค่อยทำการปรับระดับเสียงที่มือถือแทน
หมายเหตุ อัลบั้มทั้งหมดเป็นการสตรีมจาก TIDAL และ Spotify
เสียง
EAH-AZ60 จูนเสียงมาค่อนข้างเป็นธรรมชาติดีทีเดียว เสียงแต่ละย่านบาล้านซ์มาแบบพอเหมาะ ไม่รู้สึกว่ามากหรือน้อยกว่ากันจนเกินไปนัก (โทนเสียงค่อนไปทางทุ้มหรือดาร์คเล็กน้อย) มีความนุ่มนวลและมีรายละเอียดที่ดี ถ้าวัดกันที่กลุ่มหูฟัง TWS พิกัดใกล้ ๆ กัน ตั้งแต่ปลายแหลมจรดย่านทุ้มเก็บรายละเอียดของเสียงมาได้ค่อนข้างครบถ้วนเลยทีเดียว เนื้อเสียงจะออกไปทางอวบอิ่ม เลยทำให้รู้สึกว่าช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีจะชิดกันมากกว่าปกติไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขึ้นเบียดหรือซ้อนกันจนฟังแล้วสับสน ยังคงฟังแยกแยะ และระบุตำแหน่งอิมเมจของเสียงได้ดีอยู่ ถ้าฟังพวกดนตรีน้อยชิ้นจะไม่รู้สึก เสียงคนร้องหรือเสียงพวกเครื่องเป่าทองเหลืองจะอิ่มเข้มเป็นตัวตนดีมาก
การใช้ไดร์เวอร์ขนาด 8 มม. ทำให้ตอบสนองย่านทุ้มเต็มอิ่ม ทรงพลัง หัวเสียงจะติดนุ่ม ๆ หน่อยไม่ถึงกับคมชัดเป๊ะ เนื้อเสียงทุ้มอิ่มและสะอาด เวลาฟังเพลงที่มีเบสลึก ๆ หน่อยจะฟังสนุกขึ้น รู้สึกว่ามีพลังเต็มอิ่มดี และสามารถคุมจังหวะให้กระชับและเก็บตัวได้ทัน ไม่ปล่อยให้หางเสียงแตกพร่า และที่สำคัญคือย่านทุ้มไม่ขึ้นมากกวนย่านกลางแหลมมากนัก ทำให้เสียงย่านกลางและแหลมยังมีความเปิดโปร่ง ลอยเด่นออกมา ไม่จมทึบหรือพร่าเบลอตามไปด้วย
ดูเหมือนแนวแจ๊สก็เข้าทาง EAH-AZ60 อยู่ไม่น้อย ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือเปล่าที่ตอนฟังอัลบั้มของ Sadao Watanabe กลับรู้สึกว่ามันเข้ากันดีเหลือเกิน น้ำเสียงกระชับ แน่น ใสสะอาด ฟังเพลินดีมาก อาจจะมาจากแดนอาทิตย์อุทัยเหมือนกันก็เป็นได้ เพราะส่วนใหญ่ซาวด์อัลบั้มฝั่งญี่ปุ่น ชอบบันทึกเสียงมาค่อนไปทางสว่างเล็ก ๆ เนื้อเสียงรวมถึงย่านทุ้มจะความกระชับ สะอาด ออกไปทางลีน ๆ พอมาเจอเสียงแนวอิ่ม ๆ นุ่ม ๆ สะอาด ของ EAH-AZ60 เลยเข้ากันดีเป็นพิเศษ
เดี๋ยวจะหาหาเลือกข้าง ลองฟังอัลบั้ม Awake ของ Dream Theater ดูปรากฏว่าเข้ากันดีเช่นกัน เสียงชิ้นดนตรีไม่มีมั่วเลย กระชับ ไม่มียานคราง ฟังสนุกมากและไม่รู้สึกว่าหนวกหูเวลาเปิดดัง ๆ เสียงรัวกระเดื่องยังเก็บรายละเอียดได้ทุกเม็ด ปลายแหลมสะอาด เป็นตัวตนไม่ฟุ้ง
สุดท้ายเรื่องของดีเลย์แม้ว่าจะไม่มี Low Latency Mode แต่ก็ทำได้น่าประทับใจ เวลาดู YouTube หรือ Netflix ก็มีอาการหลุดซิงค์แต่ไม่มากจนน่าเกลียด (น้อยมาก) ถือว่าทำได้โดดเด่นกว่าหูฟัง TWS หลายรุ่นที่เคยมีโอกาสทดลองฟังมา และอานิสงค์จาก LDAC codec ด้วยทำให้เสียงมีความใสกว่าการเชื่อมต่อแบบ SBC หรือ AAC ขึ้นมาอีกระดับ
อัลบั้มบางส่วนที่ใช้ทดสอบ
- Mike Oldfield – Tubular Bells (1973)
- Sadao Watanabe – Morning Island (1979)
- เรวัต พุทธินันท์ – เต๋อ 3 (1986)
- Dream Theater – Awake (1994)
- 2Cellos – 2Cellos (2011)
- Adele – 30 (2021)
สรุป
ต้องบอกว่า EAH-AZ60 เป็นหูฟัง TWS ที่ทาง Technics ทำการบ้านมาดีมาก ใส่ใจในรายละเอียดเรื่องของการฟิตติ้งจุกหูฟัง ซึ่งผู้เขียนย้ำเสมอว่ามีผลต่อคุณภาพเสียง “มหาศาล” ให้เสียงที่เป็นมิตรต่อโสตประสาท ฟังง่ายสบายหู และมีรายละเอียดที่ครบถ้วน สามารถ Optimize โหมดตัดเสียงรบกวนได้อย่างละเอียด เพื่อเสริมคุณภาพการฟังเพลงได้อย่างเต็มที่ สวมใส่สบาย ความอึดของแบตเตอรี่ถือว่าดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมือถือหรืออุปกรณ์ของคุณสามารถใช้ LDAC ได้ นี่เป็นหูฟัง TWS อีกรุ่นที่ควรพิจารณาในงบประมาณไม่เกิน 1 หมื่นบาทมีทอน
ข้อเด่น
- ระบบ ANC ดีเยี่ยม
- น้ำหนักเบา ใส่สบาย
- มี LDAC
ข้อสังเกตุ
- ไม่รองรับ aptX
- ไม่มี Low Latency โหมด
- ไม่มีฟังก์ชั่นหยุดอัตโนมัติเมื่อดึงหูฟังออกขณะใช้งาน
ราคาจำหน่าย
Technics EAH-AZ60 ราคา 8,990 บาท (รับประกัน 12 เดือน)