DAWN NATHONG
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/DSC_1061-1024x684.jpg)
หลังจากที่เคยได้ทดสอบลำโพงรุ่น S5 BTL ซึ่งเป็นรุ่นน้องเล็กไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ต้องจดชื่อของ Scansonic แบรนด์จากเดนมาร์คนี้ไว้ในลิสต์เครื่องเสียงคุ้มค่าคุ้มราคา เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่สามารถแนะนำใครต่อใครได้อย่างเต็มปากเต็มคำ คราวนี้เป็นทีของรุ่นพี่ที่ขยับขึ้นมาอีกหนึ่งสเต็บแต่ราคายังอยู่ระดับคุ้มราคาเหมือนเดิม ความแตกต่างอันดับแรกคือซีรี่ยส์นี้จะถูกจัดไว้ในกลุ่มของ Scansonic HD ซึ่งมีรุ่นระดับไฮเอ็นด์ในกลุ่มคือ MB ซีรี่ยส์ บ่งบอกเป็นนัยถึงคุณภาพเสียงที่ก้าวกระโดดจากรุ่นน้องมากพอสมควร อีกอย่างที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือการใช้ริบบ้อนทวีตเตอร์แทนซอฟท์โดมเหมือนรุ่น S รวมทั้งขนาดตัวตู้ที่มีปริมาตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย
รายละเอียดที่น่าสนใจ
M5 BTL จัดอยู่ในกลุ่มของลำโพงขนาดเล็กหรือเรียกว่ามินิมอนิเตอร์ เหมาะสำหรับห้องฟังขนาดเล็กไปถึงกลาง เป็นลำโพงวางหิ้งแบบสองทางที่มีแอมป์ภาคขยาย Class AB 50 วัตต์ พร้อมภาครับบลูทูธ aptX 2.4 GHz ซึ่งรองรับความละเอียดเทียบเท่าซีดีหรือ Lossless และช่องอนาล็อคอินพุต ดิจิทัลอินพุตออพติคอล, โคแอ็คเชี่ยลบรรจุอยู่ในลำโพงข้างซ้าย ส่วนลำโพงข้างขวาจะเป็นลำโพงปกติ
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/DSC_1054-1024x684.jpg)
ความพิเศษของ M5 BTL คือผลิตไดร์เวอร์เองทั้งหมด ริบบ้อนทวีตเตอร์ผลิตจากวัสดุ Kapton/aluminum Sandwich ซีลแยกตู้อิสระ ข้อดีคือมีมวลต่ำและเบากว่าทวีตเตอร์โดมทั่วไปหลายเท่า ทำให้มีความฉับพลันและรายละเอียดสูง ไดร์เวอร์เบส/มิดเรนจ์กรวยกระดาษผสมโพลีโพรไพลีนสานขนาด 4.5 นิ้ว พร้อมแม่เหล็กขนาดใหญ่พิเศษ
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/DSC_1062-684x1024.jpg)
จุดตัดครอสโอเวอร์ที่ 3.5 KHz แบบ 2nd Order ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ตัวขับเสียงต่ำจะทำหน้าที่เกือบเป็นฟลูเรนจ์แล้วริบบ้อนทวีตเตอร์จะรับหน้าที่ความถี่สูงที่เหนือขึ้นไป บริเวณด้านล่างจะเป็นท่อเบสรีเฟล็กแนวนอนขนาดเกือบเท่าหน้ากว้างของลำโพง ภายในทำเป็นช่องผายออกเหมือนปากแตรซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณเสียงต่ำให้มากขึ้น โครงสร้างตู้คาดโครงคร่าวอย่างแน่นหนาแข็งแรงมาก ตัวตู้ทำผิวสีดำเปียโนเงางาม งานประกอบเก็บรายละเอียดได้เรียบร้อย ด้านบนของลำโพงข้างซ้ายจะเป็นแผงควบคุมเอาไว้เลือกอินพุต, ปรับระดับเสียง, และควบคุมการเล่น คล้ายกับปุ่มสัมผัสแบบคลิกวีลของไอพอด พร้อมรีโมทคอนโทรลที่สามารถโปรแกรมได้
ติดตั้งเข้าระบบ
ผู้เขียนทำการยกลำโพง NHT 1.5 ลงจากขาตั้งลำโพง Atacama จากนั้นนำ M5 BTL วางลงไปโดยทียังไม่ได้ขยับตำแหน่งลำโพงแต่อย่างใดก็ค่อนข้างให้น้ำเสียงที่ได้สมดุลและลงตัวแล้วทีเดียว แม้จะมีระยะห่างระหว่างลำโพงเกือบสองเมตรก็ไม่พบว่าเสียงตรงกลางโห่วหรือบอบบางแต่อย่างใด แสดงว่า M5 BTL ไม่จุกจิกกับการจัดวางมากนัก รวมทั้งมีมุมกระจายเสียงที่กว้างมากเมื่อเทียบกับขนาดตัว ซึ่งขัดแย้งกับสายลำโพงที่แถมมาในกล่องเสียเหลือเกินเพราะสั้นเอามาก ๆ ไม่เกิน 1.5 ม. อยากให้ทางผู้ผลิตแถมสายลำโพงที่ยาวสัก 2 เมตรจะดีมาก หากผู้ใช้งานไม่มีสายลำโพงที่ยาวกว่ามาใช้คงไม่ทราบคุณงามความดีในแง่นี้ของลำโพงเป็นแน่แท้ ผู้เขียนใช้สายลำโพง Audioquest Type-2 ราคาไม่แพงมาเปลี่ยนแทนก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าเดิมแบบชัดเจน แนะนำให้ลองหาสายลำโพงคุณภาพดี ราคาไม่ต้องสูงมากสักเมตรละไม่เกินหนึ่งพันกำลังสวยเพราะใช้แค่เส้นเดียว ส่วนสายไฟเอซีเป็นหัวแบบ C-8 มาตรฐานจึงไม่ได้เปลี่ยนแต่อย่างใด
TIPS: สายไฟเอซีของ M5 BTL เป็นแบบสองขาควรเสียบไฟให้ถูกขั้วเพื่อคุณภาพเสียงที่ถูกต้อง ด้วยการใช้ไขควงวัดไฟตรวจสอบ ด้านที่เสียบปลั๊กถูกขั้วเมื่อเสียบปลั๊กแต่ยังไม่เปิดสวิตช์จะต้องไม่มีไฟรั่วออกมาหรือมีเพียงเล็กน้อย
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/DSC_1053-1-1024x684.jpg)
หลังจากขยับตำแหน่งลำโพงเพื่อไฟน์จูนเพิ่มอีกเล็กน้อยก็ลงตัว ระยะห่างระหว่างลำโพงอยู่ที่ประมาณ 187 ซม. เอียงหน้าลำโพงโทอินเข้าหากันเล็กน้อยไม่เกิน 10 องศา จากการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างการใส่หน้ากากลำโพงกับไม่ใส่ การถอดหน้ากากจะได้เสียงที่โปร่ง มีรายละเอียดระยิบระยับ มีความกังวานที่ดีกว่า ส่วนการใส่หน้ากากปลายเสียงจะไม่ทอดตัวไปจนสุด รายละเอียดหยุมหยิมลดลงเล็กน้อย แต่ให้ความรู้สึกว่าเสียงมีความกลมกล่อมฟังสบายกว่าเล็กน้อยเช่นกัน โดยในการทดสอบนี้จะถอดหน้ากากออก
ความสะดวกง่ายดายของการฟังลำโพงแบบแอ็คทีฟคือไม่ต้องเสียเวลาจัดชุดให้วุ่นวาย มีแค่เหล่งโปรแกรมไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นหรือมือถือสักเครื่องก็สามารถใช้งานได้ทันที เมื่อติดตั้งเรียบร้อยทำการเปิดสวิตช์ที่แผงด้านหลังลำโพงข้างซ้าย ไฟสีเขียบบริเวณด้ายหน้าลำโพงจะสว่างขึ้น และอินพุตที่แสดงบนหน้าจอด้านบนลำโพงจะถูกปรับไปอยู่ที่บลูทูธโดยอัตโนมัติ หากไม่มีสัญญาณป้อนเข้ามาช่วงระยะเวลาหนึ่งลำโพงจะเข้าสู่โหมดสแตนบายเพื่อประหยัดพลังงาน ชั่วโมงแรก ๆ ของการใช้งานเสียงจะทึบเล็กน้อยหลังเปิดเบิร์นอินไปเรื่อย ๆ อาการดังกล่าวก็หายไป
ผลการลองฟัง
อันดับแรกลองฟังในลักษณะลำลองด้วยบลูทูธดูก่อน โดยการใช้มือถือโซนี่ Xperia Z3 เป็นตัวส่งสัญญาณ ด้วยประสิทธิภาพของ apt-X® Audio Codec ที่ใช้เทคโนโลยีการส่งสัญญาณ 2.4 GHz ผ่านสัญญานบลูทูธ สามารถสตรีมไฟล์ความละเอียดสุงสุด 44.1kHz/16bit ซึ่งเทียบเท่าความละเอียดของฟอร์แมตซีดีได้ คุณภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมากเลยทีเดียว แน่นอนเมื่อเทียบกับฟอรแม็ตซีดีแท้ ๆ ยังด้อยกว่าในแง่ของไดนามิกเร้นจ์ ความเปิดโปร่งและรายละเอียด แต่หากเทียบคุณภาพเสียงกับคู่แข่งที่ใช้บลูทูธเหมือนกันถือว่าไม่เป็นสองรองใครแน่นอน ทดลองฟังจากไฟล์เพลง Lossless หลายแนวที่เก็บไว้บนมือถือผ่านแอพฟังเพลงอย่าง HibyMusic รวมทั้งสตรีมมิ่งเซอร์วิสอย่าง TIDAL และฟังเพลงบน Youtube เนื้อเสียงมีความนุ่มนวลที่ดีน่าฟัง ไม่บอบบางแห้งแล้งหรือแข็งกระด้างแต่อย่างใด แถมเบสมีน้ำมีนวลและลงน้ำหนักได้ไม่เลวเลย ให้สเกลของเสียงที่ใหญ่เกินตัว ถือว่าภาค DAC ถอดรหัสภาย M5 BTL ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/DSC_1064-1024x684.jpg)
จากนั้นเข้าสู่การทดสอบคุณภาพเสียงที่แท้จริงของ M5 BTL ผู้เขียนใช้เน็ตเวิร์คโมดูล Poly เชื่อมต่อกับ DAC Chord Mojo ผ่านสายสัญญาณอนาล็อค Audio Quest: Big Sur เข้าสู่ช่องอนาล็อค RCA อินพุตของ M5 BTL โดยทดสอบด้วยการฟังไฟล์เพลงเป็นหลัก ข้อดีของทวีตเตอร์แบบริบบ้อนคือสามารถรีดให้บางมาก ๆ จนมีมวลและน้ำหนักที่เบาจึงสามารถขยับตัวได้อย่างฉับไวกว่าทวีตเตอร์โดมโลหะทั่วไป ทำให้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้อย่างหมดจด และมีความฉับพลันสมจริง
ข้อเสียคือหากออกแบบได้ไม่ดีก็จะมีเนื้อเสียงที่บาง ขาดมวลและบรรยากาศล้อมรอบตัวเสียง เหมือนกับเสียงที่ดังโพล่งออกมาแต่ไร้น้ำหนัก ส่วน M5 BTL สามารถก้าวข้ามผ่านปัญหานี้มาได้อย่างหมดจด ด้วยการออกแบบจุดตัดความถี่ให้ไดร์เวอร์เบส/มิดเรนจ์เป็นตัวหลักในการทำงานในช่วงความถี่หลักเกือบทั้งหมด ส่วนริบบ้อนทวีตเตอร์จะทำหน้าที่ในช่วงความถี่สูงที่ไม่กว้างมากนัก บวกกับขนาดของไดร์เวอร์เบสมิดเรนจ์ขนาด 4.5 นิ้วและการใช้แม่เห็ลกขนาดใหญ่ ทำให้ฉับไวพอที่จะตามริบบ้อนทวีตเตอร์ทัน ผลคือทำให้มีความกลมกลืนระหว่างไดร์เวอร์ทั้งสองได้อย่างแนบเนียน
สังเกตว่า Scansonic ใช้แนวทางการออกแบบในลักษณะนี้กับลำโพงรุ่นใหญ่ของเขาเช่นเดียวกัน เสียงแหลมที่ได้ยินจาก M5 BTL จึงทั้งโปร่งกระจ่าง ฉับไว มีรายละเอียดหยุมหยิมแต่ไม่บอบบางขาดน้ำหนัก จุดนี้ต้องขอปรบมือให้กับผู้ออกแบบด้วยจริง ๆ ที่สามารถจูนเสียงไดร์เวอร์ทั้งสองประเภทให้มีความกลมกลืนได้ขนาดนี้
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/DSC_1044-684x1024.jpg)
คนที่ชอบรายละเอียดกรุ้งกริ้งน่าจะถูกโฉลกกับ M5 BTL เป็นพิเศษ กับเพลงเดิม ๆ ที่คุ้นเคย หากได้ฟังผ่าน M5-BTL แล้วท่านจะแปลกใจกับรายละเอียดระยิบระยับที่ไม่เคยได้ยินชัดเจนขนาดนี้มาก่อน แม้จะอ่อนมวลบรรยากาศของปลายเสียงแหลมย่านบนสุดไปบ้างแต่เท่านี้ก็เรียกได้ว่าเป็นเสียงแหลมที่หาฟังได้ยากในลำโพงระดับราคานี้แล้ว เมื่อไดร์เวอร์ทั้งสองทำงานผสานกันได้อย่างกลมกลืนทำให้เสียงกลางของ M5 BTL มีความน่าฟังเป็นพิเศษในแง่ของความสดฉับพลันและรายละเอียด ทำให้เราติดตามอากัปกิริยาการเปล่งเสียงของนักร้องได้ตลอด ในขณะที่รักษาความต่อเนื่องลื่นไหลเอาไว้ได้อย่างน่าพอใจ เนื้อเสียงแม้จะไม่เนียนละเอียดสุด ๆ แต่ให้มวลเสียงนักร้องที่อิ่มเอิบมีฐานเสียงรองรับและปราศจากความหยาบสากกร้านให้ระคายโสตประสาท
จุดเด่นอีกอย่างของ M5 BTL คือให้ความชัดเจนของหัวโน็ตที่ดี ไม่ว่าเสียงเครื่องดนตรีประเภทไหนก็จะรับรู้ได้ถึงอิมแพ็คหัวเสียงที่ส่งออกมาอย่างฉับไว ทำให้เรารับรู้ถึงความสดของเครื่องดนตรี ฟังแล้วมีชีวิตชีวา ฟังสนุก ไม่รู้สึกว่าอับทึบ อย่างเสียงเคาะแฉเบา ๆ ก็ยังรับรู้ถึงน้ำหนักการเคาะได้ชัดเจน ส่งผลไปยังเสียงทุ้มต้นที่มีแรงปะทะหัวเสียงและมีมวลเนื้อที่เข้มข้นดีทีเดียว ผสานการทำงานกับท่อเปิดด้านหน้าทำให้ M5 BTL มีเสียงเบสเบสที่ใหญ่ ฉับไว ไม่รุ่มร่าม และลงได้ลึกเกินตัวไม่เบา
ลองฟังเสียงเดี่ยวเชลโล่จาก Tsuyoshi Yamamoto Trio แทร็ค What A Wonderful World ให้ขนาดชิ้นดนตรีที่สมส่วนไม่หดเล็กตามขนาดตู้และมีมวลเนื้อเสียงที่ดี เก็บรายละเอียดเสียงสั่นเครือของเชลโล่ได้ชัดเจน ช่วงครึ่งหลังเสียงเปียโนก็มีน้ำหนักความพริ้วกังวานเป็นประกาย แต่แน่นอนว่าอย่างไรก็หนีกฎของฟิสิกส์ไม่พ้น ในส่วนของทุ้มกลางต่อเนื่องไปถึงทุ้มลึกนั้นไม่สามารถแผ่ขยายมวลเสียงออกมาให้สัมผัสได้มากพอ แต่ก็จะค่อย ๆ ลาดลงอย่างนุ่มนวลจนไม่รู้สึกว่าทุ้มจางหายเร็วเกินไปนัก หากวัดกับลำโพงในระดับราคาและปริมาตรไล่เลี่ยกันคุณภาพทุ้มของ M5 BTL ก็ถือว่ายืนอยู่แถวหน้าได้อย่างไม่ขัดเขิน
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/DSC_1057-1024x684.jpg)
ดุลเสียงของ M5 BTL จะจูนเสียงมาทางกลางต่ำนิด ๆ มีเบสต้นที่เด่นเล็กน้อยซึ่งเป็นสไตล์ของลำโพงขนาดเล็กระดับเริ่มต้นส่วนใหญ่ เมื่อรวมกับความฉับพลัน โปร่งกระจ่างของริบบ้อนทวีตเตอร์จึงเกิดเป็นความลงตัวที่น่าฟังอีกแบบหนึ่ง เหมาะกับดนตรีหลากหลายแนวโดยเฉพาะแนวเพลงป็อบ ร็อค อาร์แอนด์บีสมัยใหม่จะฟังสนุกมาก ในขณะเดียวกันเมื่อทดลองฟังเพลงคลาสสิควงใหญ่ก็สามารถถ่ายทอดความโอ่อ่าอลังการของเวทีเสียงออกมาได้เกินกว่าที่คาดไว้ เพราะให้สเกลของเสียงที่ใหญ่กว่าขนาดตัว สามารถกระจายตำแหน่งของเครื่องตรีทั้งหลายหลุดลอยออกมาเป็นที่เป็นทางได้ดี มีช่องว่างช่องไฟที่พอเหมาะ และรองรับกับไดนามิกกว้าง ๆ ได้เกินตัวเลยทีเดียว เพราะผู้เขียนลองเร่งระดับความดังสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แม้ตำแหน่งชิ้นคนตรีจะเริ่มมีอาการสับสนคลุมเครือบ้างแต่ก็ยังสามารถควบคุมเอาไว้ได้ดี ไม่มีอาการแกว่งของเสียงหรือสะบัดจัดจ้านแต่อย่างใด ยังตรึงตำแหน่งของชิ้นดนตรีเอาไว้ได้นิ่ง แสดงว่าไดร์เวอร์เบส/มิดเรนจ์ 4.5 นิ้วของ Scansonic ตัวนี้ก็คุณภาพไม่ธรรมดาเช่นเดียวกัน
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/DSC_1060-1024x684.jpg)
นอกจากนี้ด้วยบุคลิกของ M5 BTL ผู้เขียนจึงขอเอาไปทดลองชมคอนเสิร์ทและภาพยนตร์แบบสองแชนแนลดูสักหน่อย พบว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ด้วยรายละเอียดหยุมหยิมพรั่งพรูที่ถ่ายทอดออกมา เวทีเสียงที่กว้างรวมทั้งตัวเสียงที่หลุดลอยออกมาได้ดี มีความอิ่มใหญ่เกินตัวก็ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมได้มาก ท่านจะรับรู้ได้ว่าเสียงจากภาพยนตร์หรือคอนเสิร์ทที่รับชมรับฟังมีรายละเอียดน่าตื่นใจมากมายให้ค้นหาขึ้นอีกมากมาย คนที่หาลำโพงไปอัพเกรดเสียงจากทีวีนอกจากซาวด์บาร์แล้วหากคุณไม่ซีเรียสกับระบบเสียงเซอร์ราวด์เท่าไรนัก การใช้ M5 BTL มาเสริมก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
สรุป
ตลาดของลำโพงวางหิ้งแอ็คทีฟพร้อมบลูทูธในระดับราคาไม่เกินสองหมื่นมีตัวเลือกไม่มากนัก M5 BTL เข้ามาวางตำแหน่งในตลาดกลุ่มนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เมื่อได้ทดลองฟังคุณภาพเสียงแล้วยิ่งเพิ่มความคุ้มค่าเป็นทวีคูณ ด้วย Know-how ของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นการฟังแบบลำลองสำหรับมิวสิคเลิฟเวอร์ทั่วไป หรือผู้ที่ซีเรียสจริงจังกับคุณภาพเสียงแบบออดิโอฟายด์ก็ถือว่าสอบผ่าน เล่นง่ายและตอบโจทย์การฟังได้หลากหลาย เสียงแหลมและทุ้มทำได้โดดเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับดียวกัน แม้จะมีสีสีนเจืออยู่บ้างก็เป็นสีสันที่น่าฟังและเสริมความไพเราะได้อย่างลงตัว
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ
- แหล่งโปรแกรม: แด็คแอมป์พกพา Chord: Mojo, เน็ตเวิร์คโมดูล Poly, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso: DX80, มือถือ Sony: Xperia Z3
- สายเชื่อมต่อ: สายดิจิตอล QED Reference SR75, สาย USB Furutech: Formula 2, สายอนาล็อกAudio Quest: Big Sur, สายไฟเอซี Shunyata: Python VX, สายลำโพงAudioquest: Type 2
- อุปกรณ์เสริม: ปลั๊กผนัง PS Audio: Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef: Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism: Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ USB Audio Quest: Jitter Bug, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive: QR-8, ขาตั้งลำโพง Atacama: HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Arts
รายละเอียดเชิงเทคนิค
- ขนาด: (WxHxD) 151 x 265 x 151 mm
- น้ำหนัก: 5,4 kg
- ตอบสนองความถี่: 55 Hz – 30 kHz
- ความต้านทาน: > 6 ohm
- ครอสโอเวอร์: 3.5 KHz 2. order acoustic slope
- โครงสร้างตู้: Heavily braced, ventilated box design with front loaded port
- ตัวขับเสียง: 1 sealed ribbon tweeter with kapton/aluminum sandwich membrane, 1 paper-polypropylene coned 4,5” bass/mid driver with underhung magnet system
- ทำผิว: Black-piano or White-piano
- ภาคขยาย: 50 W Class A-B
- ภาครับสัญญาณขาเข้า: Wireless: 2.4GHz aptX, Optical: Toslink optical inputs, Wired: 2 RCA PCM inputs
- รีโมทคอนโทรล: Learning function