What HI-FI? Thailand

รีวิว JBL 4349 Studio Monitor

DAWN NATHONG

ลำโพงมอนิเตอร์ฮอร์นโหลดระดับไฮเอ็นด์

เคยมีคำถามที่ว่าถ้าอยากได้เสียงที่เหมือนกับในสตูดิโอบันทึกเสียงมากที่สุดควรทำอย่างไร หนึ่งในคำตอบที่เคยฟังมานั้นก็คือการเลือกใช้ลำโพงแบบเดียวกับในสตูดิโอ แต่อันที่จริงแล้วการนำลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์มาใช้ฟังเพลงกับชุดเครื่องเสียงในบ้าน แล้วคาดหวังว่าเสียงจะเหมือนกับในสตูดิโอนั้น เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์แท้ ๆ กับลำโพงโฮมยูสนั้นถูกออกแบบมาแตกต่างกัน เพื่อใช้งานในสภาพอะคูสติกส์ที่แตกต่างกัน การนำมาใช้ผิดประเภทย่อมทำให้ประสิทธิภาพที่ได้นั้นมีความเบี่ยงเบนไป

แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีผู้ผลิตลำโพงโปรเฟสชันแนลหลายรายลงมาเล่นในตลาดกลุ่มโฮมยูสมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็มี Harman International ผู้ผลิตลำโพง JBL ลำโพงที่นักเล่นรุ่นเก๋ารู้จักกันดี และลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์หลายรุ่นของ JBL เองก็เป็นที่นิยมของนักเล่นและนำมาใช้งานภายในที่พักอาศัยกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ล่าสุดได้ทาง Harman International ได้เปิดตัวลำโพงรุ่นใหม่อย่าง JBL 4349 ซึ่งเป็นลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์แท้ ๆ แต่ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานสำหรับการฟังเพลงภายในบ้านได้ด้วยเลย ไม่ต้องแทงกั๊กกันอีกต่อไป ซึ่งทางผู้ผลิตเคลมว่าท่านจะเพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีด้วยการตอบสนองทางไดนามิกและความแม่นยำดุจเดียวกับโปรดิวเซอร์และซาวด์เอ็นจิเนียร์ได้ยินในสตูดิโอชั้นนำเลยทีเดียว

รายละเอียดที่น่าสนใจ

ลองมาดูกันว่าอะไรทำให้ JBL 4349 สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งสองแนวทางแบบนี้ จุดเด่นแรกคือการใช้ D2 คอมเพรสชั่นทวีตเตอร์ขนาด 1.5 นิ้วไดอะเฟรม Teonex® รุ่น D2415K ซึ่งใช้อยู่ในกลุ่มลำโพงโปรเฟสชันแนลตระกูล VTX ของ JBL เป็นการรวมเอาตัวขับเสียงแหลมสองชุดเป็นหนึ่งเดียว (วอยซ์คอยล์, มอเตอร์) เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดของคอมเพรสชั่นไดร์เวอร์แบบเดิมที่ตอบสนองความถี่สูงได้จำกัด และเกิดความเพี้ยนรวมถึงเบรคอัพได้ง่าย

ทำงานร่วมกับปากฮอร์นเทคโนโลยี High-Definition Imaging (HDI) ทำจากวัสดุ Sonoglass ที่ออกแบบรูปทรงให้มีประสิทธิภาพในการกระจายเสียงที่ราบรื่นทั้งในและนอกแนวแกน รวมถึงประสานการทำงานกับวูฟเฟอร์ได้อย่างกลมกลืนไร้รอยต่อ

ส่วนตัวเบส / มิดเรนจ์เป็น Pure Plup Cone ขนาด 12 นิ้วรุ่น JW300PG-8 ที่มีน้ำหนักเบาและแกร่ง โครงเหล็กหล่อ แม่เหล็กขนาด 3 นิ้ว สไปเดอร์แบบสองชั้นทำให้การขยับของกรวยมีความแม่นยำสูง ติดตั้งในตู้ที่มีความหนาถึง 1 นิ้วคาดโครงคร่าวอย่างแน่นหนา มีท่อพอร์ตระบายเสียงเบสคู่ด้านหน้า บริเวณส่วนบนของลำโพงติดตั้งภาคโทนคอนโทรลสำหรับย่านความถี่ HF และ UHF มาให้ ครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คเลือกใช้อุปกรณ์เกรดสูงทั้งหมด อย่างเช่น ตัวเหนี่ยวนำแกนอากาศ, ตัวต้านทานแบบ Cast Wirewound และชุดตัวเก็บประจุเมทัลฟิลม์แบบ Low ESR ขั้วต่อลำโพงด้านหลังเป็นไบดิ้งโพสแบบไบไวร์

JBL 4349 ยังมีรุ่นพี่อีกรุ่นคือ 4367 (ราคาร่วม ๆ 5 แสนบาท) เป็นลำโพงแบบสองทางแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่ามากรวมถึงชุดตัวขับเสียงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งคอมเพรสชั่นทวีตเตอร์ขนาด 3 นิ้ว และวูฟเฟอร์ขนาด 15 นิ้ว เรียกว่าย่อส่วนจากรุ่นใหญ่ลงมาก็ไม่ผิด

ราคาจำหน่าย 259,900 บาท / คู่

รายละเอียดการเซ็ตอัพ

ครั้งนี้เป็นการทดสอบนอกสถานที่ ณ ร้าน Dream Theater สาขา Siam Paragon ชั้น 3 ซึ่งผู้เขียนทำการทดสอบต่อจากลำโพง JBL 4312G ที่เขียนบทความไปก่อนหน้านี้

จับลำโพงวางบนขาตั้งไม้สูงประมาณ 1 ฟุต ไม่มีสไปค์อะไรทั้งสิ้น วางกันแบบบ้าน ๆ เลย ไม่ต้องพิถีพิถัน ผู้เขียนเพียงแต่ขยับปรับตำแหน่งบ้างเล็กน้อยด้วยสายตา ตำแหน่งใกล้เคียงกับตอนทดสอบ 4312G ลำโพงห่างกันสักราว 2 เมตร โทอินเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังหน่อย สภาพอคูสติกไม่ได้เป็นห้องฟังที่มิดชิด สภาพอคูสติกมีเสียงรบกวนบ้างอะไรบ้างตามประสาโชว์รูม ซึ่งผู้เขียนก็จะฟังทดสอบไปในลักษณะนี้ ไม่ไปยุ่มย่ามเรื่องการเซ็ตอัพให้มากความ ตามสไตล์การฟังกึ่งลำลองนอกสถานที่ซึ่งไม่ใช่ห้องทดสอบของผู้เขียน

ซิสเต็มหลักที่ใช้ทดสอบ ประกอบด้วยเครื่องเล่น Denon DCD-SA1, ปรีแอมป์ Mark Levinson No.326S, เพาเวอร์แอมป์ Mark Levinson No.534, สายไฟเอซี / สายลำโพง / สายสัญญาณแบบบาล้านซ์ เป็น Chord Company ทั้งหมด ตัวลำโพงต่อสายแบบซิงเกิ้ลไวร์เข้าที่ขั้ว LF จากนั้นเปิดให้ลำโพงและซิสเต็มได้ทำการอุ่นเครื่องทิ้งไว้ราว ๆ 30 นาที (ลำโพงผ่านการใช้งานมาระดับนึงแล้ว) จึงเริ่มการทดสอบ ใช้เวลาฟังเพื่อประเมินบุคลิกเสียงทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง ถอดหน้ากากลำโพงตลอดการรับฟัง

เสียง

ก่อนฟังเสียง เชื่อว่าหลายคนอาจมีคำถามว่าเสียงจากฮอร์นทวีตเตอร์กับวูฟเฟอร์ไดนามิก 12 นิ้วมันจะกลมกลืนกันไหม บอกเลยว่า “หายห่วง” จากที่ทดลองฟังหลายต่อหลายอัลบั้มไม่รู้สึกว่าย่านแหลมนั้นโดดเด่นเกินหน้าเกินตาเลย ให้ความสมดุลราบเรียบของโทนัลบาล้านซ์ตลอดย่านความถี่อย่างเป็นธรรมชาติมากทีเดียว จนแรกฟังนั้นกลับรู้สึกว่าเสียงมันแฟล็ตเอามาก ๆ หากเทียบกับ L100 Classic หรือ 4312G แล้วจะยิ่งรับรู้ได้ทันที่ว่าลำโพงคู่นี้นั้นมีความเป็นมอนิเตอร์สูงกว่า และมีบุคลิกส่วนตัวที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากนั่งฟังไปเรื่อย ๆ สักพักจะเริ่มพบกับความพิเศษของลำโพงคู่นี้ที่ค่อย ๆ เผยออกมา อันดับแรกคือเรื่องของอิมเมจของเสียงที่มีความเคลียร์ชัดเจนและเป็นสามมิติดีมาก ให้โฟกัสของเสียงได้ชัดคมเหมือนกับลำโพงวางหิ้งชั้นอ๋อง แต่มีขนาดของอิมเมจตัวเสียงที่สมส่วนถูกต้องมากกว่า มีรายละเอียดของเสียงที่สูงมาก เวลาฟังสามารถเลือกโฟกัสไปที่รายละเอียดของเสียงใดเสียงหนึ่งได้เลยทันทีว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีอย่างนึงของลำโพงสไตล์มอนิเตอร์ แต่ไม่ใช้ว่ารายละเอียดทั้งหมดนั้นจะถูกยัดเยียดเข้าหาหูเราแบบลำโพงราคาถูก แต่ถูกนำเสนอออกมาให้เรารับรู้ได้ชัดเจนแบบสบาย ๆ โดยไม่ทำให้ฟังแล้วรู้สึกอึดอัด แสดงถึงค่าความเพี้ยนที่ต่ำมาก ๆ ของลำโพงคู่นี้

เนื้อเสียงถ่ายทอดออกมาอย่างพอดีไม่ติดไปทางหนาหรือบาง แต่ใครที่ฟังลำโพงเสียงติดหนามาอาจรู้สึกว่าเหมือนเนื้อเสียงจะไม่อิ่มเอิบเอาใจหูนักแต่รับรองว่าไม่บอบบางหรือขาดน้ำหนักแน่นอน ปลายแหลมมีความเปิดโปร่ง พลิ้ว ละเอียดอ่อน เหนือกว่า L100 Classic และ 4312G ไปอีกระดับ ให้ความกังวานและบรรยากาศรอบตัวโน้ตได้อย่างโดดเด่น ถ่ายทอดรายละเอียดแผ่วเบาออกมาได้อย่างไม่มีตกหล่น เรียกว่าเก็บรายละเอียดทุกเม็ดของการบันทึกมาได้อย่างหมดจด ยิ่งฟังแผ่นที่เน้นการบันทึกเสียงแบบสดจะยิ่งรับรู้บรรยากาศของเสียงได้อย่างสมจริงน่าฟังมาก

อานิสงค์นี้ต่อเนื่องมาถึงย่านเสียงกลางที่ทั้งละเอียด และมีความลื่นไหลไม่แข็งกระด้าง ให้ความรู้สึกว่าสดเหมือนฟังเสียงจากปากคนร้องจริง ๆ ทั้งชายและหญิง และรองรับไดนามิกของเสียงทุกระดับได้อย่างสะอาดหมดจด ได้ยินทั้งรายละเอียดหยุมหยิมในช่วงแผ่วเบาหรือรายละเอียดของเสียงทีซุกซ่อนอยู่ในช่วงความดังมาก ๆ  ลำโพงโพงคู่นี้ถ่ายทอดได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีอาการเครียดของแข็งกร้าวของน้ำเสียงเลยแม้แต่น้อย ขอแค่เลือกแผ่นที่บันทึกมาได้มาตรฐานสักหน่อย ไม่ต้องถึงกับต้องเป็นแผ่นทดสอบอะไรเทือกนั้นท่านก็จะเสพเนื้อหาสาระการฟังเพลงจากลำโพงคู่นี้ได้อย่างเพลิดเพลิน

ทุ้มไม่เน้นอิ่มอวบหนา เห็นวูฟเฟอร์ขนาด 12 นิ้วก็จริงแต่ 4349  จูนเสียงย่านทุ้มให้มีความกระชับฉับไว เพื่อให้สอดรับกับเสียงกลางแหลมได้อย่างกลมกลืน ให้น้ำหนักแรงปะทะที่ทรงพลัง มีความฉับไวสมจริง และสามารถเปิดได้ดังโดยตัวเสียงทุ้มยังคงความชัดเจนไม่พร่าเบลอ แต่หากท่านชอบทุ้มที่มีสีสันฟังสนุกกว่านี้ L100 Classic หรือ 4312G จะตอบโจทย์ได้ตรงประเด็นมากกว่า

มิติเวทีเสียงถือเป็นไม้ตายของลำโพงคู่นี้อีกอย่างนึง เพราะมีความแม่นยำจับวางเสียเหลือเกิน แถมยังให้ความรู้สึกว่าตู้ลำโพงตู้ใหญ่ ๆ นั้นเหมือนจะอันตรธานหายไปจากห้องได้จริง ๆ เพราะแม้จะเซ็ตอัพกันอย่างหยาบ ๆ ก็ให้ความรู้สึกว่าเสียงไม่ได้ดังออกมาจากตู้โดยตรง แต่ลอยอยู่รอบ ๆ ลำโพง  มีช่องว่างช่องไฟที่ชัดเจน แยกเลเยอร์ของดนตรีออกมาได้เป็นชั้น ๆ มีตื้น-ลึก สูง-ต่ำ เปลี่ยนไปตามการบันทึกในแต่ละอัลบั้ม กับบางอัลบั้มนั้นเวทีเสียงแผ่กว้างโอ่อ่าเลยแนวลำโพงออกไปมากทีเดียว แต่ยังรับรู้ถึงรูปวงและอาณาเขตได้เป็นอย่างดี ไม่ใช้กว้างแบบเวิ้งว้างไร้ขอบเขต

สรุป

JBL 4349 เป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่ผสานความทันสมัยของเทคโนโลยียุคใหม่กับรูปลักษณ์แนววินเทจได้ลงตัว วางแนวทางของตัวเองเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนในแง่ของความเป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่มีบุคลิกส่วนตัวน้อย นำเสนอน้ำเสียงแบบจริงจังไม่ปิดบังอำพราง ซึ่งจะตรงกันข้ามกับลำโพง L100 Classic หรือ 4312G ที่จูนเสียงไปทางมิวสิคเลิฟเวอร์มากกว่า แต่ในความเที่ยงตรงของ 4349 นั้นยิ่งฟังไปเรื่อย ๆ กลับรู้สึกว่ามันไม่น่าเบื่อ เพราะมันจะมีสีสันที่พร้อมจะเปลี่ยนไปตามบทเพลงที่นำมาเล่นตลอดเวลา ยิ่งฟังยิ่งเพลิน ที่สำคัญคือค่อนข้างขับง่าย (เน้นวัตต์คุณภาพ) เปิดเบาก็ได้ยินรายละเอียดครบ เหมาะสำหรับใครที่ต้องการฟังทุกรายละเอียดของการบันทึก เหมือนกับสตูดิโอบันทึกมามากที่สุด ลำโพงมอนิเตอร์คู่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ควรพิจารณา

Specifications

ขอขอบคุณร้าน Dream theater สาขา Siam Paragon โทร 02-610-9671 ที่เอื้อเฟื้อสถานที่เพื่อการทดสอบในครั้งนี้


Exit mobile version