Test Report : หัสคุณ เกิดบัณฑิต
ในระบบเครื่องเสียงแล้ว นอกจากลำโพงและอุปกรณ์หลักๆ เช่น แหล่งโปรแกรม และแอมปิไฟเออร์ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังมีอุปกรณ์เสริมหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แอคเซสซอรี่ส์ (Accessories) อันประกอบไปด้วย สายนำสัญญาณ, สายลำโพง และสายไฟ AC ปกติอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ต้องถือว่า มีส่วนสำคัญไม่ด้อยไปกว่าอุปกรณ์หลักที่กล่าวมาในข้างต้น เพราะถ้าขาดไปแล้วเครื่องเสียงก็ไม่สามารถทำงานได้เป็นระบบสมบูรณ์อย่างแน่นอน ต่อมาเมื่อพบว่า อุปกรณ์เสริมเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพเสียง ผู้ผลิตจึงหันมาเอาดีกับอุปกรณ์เสริมหลักๆ เหล่านี้กันเป็นการใหญ่ มีสายต่างๆ ถูกนำเสนอกันออกมาอย่างหลากหลาย มากมาย มีการเฟ้นหาทั้งตัวนำและการออกแบบที่ผ่านการคิดค้นคัดสรรมาอย่างใส่ใจ พร้อมกับสรรพคุณที่เป็นเยี่ยม และแน่นอนกับราคาที่ไต่ระดับสูงขึ้นไปอย่างที่นักเล่น นักฟังในอดีตได้ยินแล้วต้องอึ้งกันไปตามๆ กัน
เรื่องของเสียงเป็นเรื่องของพลังงาน เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้แต่เสียงก็เป็นพลังงานที่มีความละเอียดอ่อนที่ผู้คนสามารถสัมผัสฟัง รู้สึก รับรู้ และเข้าถึงได้ อุปกรณ์เสริมจึงไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่สายต่างๆ ที่มีความจำเป็นดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นเท่านั้น แต่ขยายตัวและแตกไลน์ออกไปกันอย่างมากมาย อุปกรณ์เสริมต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อช่วยในการปรับปรุงคุณภาพเสียงให้ดีขึ้น แต่ก็มีนักเล่น นักฟังหลายท่านที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับอุปกรณ์เสริมเหล่านี้มากนัก พร้อมกับตั้งคำถามถึงความจำเป็นของอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ บางท่านอาจจะมองว่า มันเป็นเรื่องของ “ความเชื่อ” มีการอวดอ้างที่เกินจริงจนกลายเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ จนบางคนถึงขั้นมองว่าเป็นเรื่องที่เหลวไหลก็มี ถ้าพูดกันตรงๆ อุปกรณ์เสริมต่างๆ นั้นถือว่า เป็นอุปกรณ์ที่สามารถเลือกที่จะไม่ใช้ก็ได้ ไม่ได้เสียหายอะไร ขึ้นอยู่กับความพอใจของนักเล่นหรือนักฟังแต่ละท่าน แต่ในทางกลับกันก็มีนักเล่น นักฟังจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ให้ความสนใจกับอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ บางท่านเล่นกันถึงขั้นเอาจริงเอาจัง ใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ ในการปรับแต่งและปรับปรุงซิสเต็มของตนเองในทุกจุดเท่าที่จะสามารถทำได้ อาจจะเรียกได้ว่า ชอบจนถึงขั้นหลงใหล ใช้จนคุ้นเคย ถึงขั้นไม่สามารถที่จะเอาอุปกรณ์เสริมเหล่านั้นออกจากชุดเครื่องเสียงของตนเองได้เลยก็มี ตามที่กล่าวไปแล้วว่า เสียงเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ คุณภาพของเสียงจึงเป็นสิ่งที่มีความละเอียดอ่อน การสัมผัสฟัง รู้สึก รับรู้ และเข้าถึงในคนแต่ละคนนั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกันได้ จะชอบมากหรือชอบน้อยจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต่างคนต่างให้น้ำหนักแตกต่างกันไป
Entreq
Entreq เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม มีออฟฟิศตั้งอยู่ในเขตเทศบาล Astorp ใน Skane เคาน์ตี้ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศสวีเดน Entreq ก่อตั้งขึ้นในราวๆ ปีค.ศ. 2000 โดย Mr.Per-Olof Friberg ที่เดิมเติบโตมาจากการทำกสิกรรม หรือก็คือ การเป็นชาวไร่ชาวนานั่นเอง การที่ Per-Olof Friberg เป็นกสิกรนั้นทำให้เขาได้อยู่กับ “ธรรมชาติ” (Mother Nature) มาเป็นระยะเวลานาน มีคนหลายคนที่มักจะเข้าใจว่า ธรรมชาติเป็นเพียง ”สิ่งแวดล้อม” ของมนุษย์เท่านั้น ตัวมนุษย์เองจึงมักจะถือตัวว่า ตนเองนั้นเป็นศูนย์กลางของธรรมชาติ จึงอ้างสิทธิสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยขาดซึ่งความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้น อันถือว่ามีความสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย ตัว Per-Olof Friberg เองมองว่า ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่โดยมีมนุษย์เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น กฎของธรรมชาติจึงมีความถูกต้องและมีเหตุผล สิ่งที่ธรรมชาติสรรสร้างขึ้นนั้นจึงยากที่จะหาสิ่งใดที่ดีและเหนือกว่ามาทดแทนได้ มีเพียงแต่การนำเอาสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเหล่านั้น มาประยุกต์ และปรับแต่งให้เหมาะสมกับการใช้งานเท่านั้น
ความจริงที่ Per-Olof Friberg คิดและเข้าใจนั้น จึงถือว่าเป็นแนวทางที่นำพาให้เขาเข้าถึงความเข้าใจถึงการส่งผ่านสัญญาณ (Signal Transfer) ในโลกของดนตรีและไฮไฟเดลิตี้ในเวลาต่อมา ถึงแม้ว่า Per-Olof Friberg จะเป็นกสิกร หรือคนทำไร่ทำนาที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลักและถือเป็นงานที่หนัก แต่เขาก็มีความหลงใหลในเสียงเพลง ดนตรีได้ชักนำให้เขาเข้าสู่โลกของไฮไฟ เริ่มจากวิทยุเทปขนาด 2×5 วัตต์ ที่เขามีในปีค.ศ. 1973 กระตุ้นให้เขาเกิดความสนใจในการที่จะปรับปรุง แก้ไข เพื่อให้คุณภาพเสียงมันดีขึ้น ความสนใจในการฟังเพลงและการปรับแต่งนี้เองที่กลายมาเป็นงานอดิเรกในยามว่างที่ช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากงานที่เขาทำในแต่ละวัน เขามุ่งมั่นและพยายามที่จะทำเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ ซึ่งก็ใช้เวลานานหลายปีทีเดียวกว่าที่เขาจะเริ่มสังเกตเห็นโครงสร้างระหว่างสาเหตุ (Cause) และผลกระทบ (Effect)
ตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 ในขณะที่เขายังคงทำงานกสิกรรมอยู่นั้น ตัวของ Per-Olof Friberg ก็ได้ทำงานในการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับการค้นคว้าเรื่องผลกระทบของสนามแม่เหล็ก (Magnetic Field Effects) จนไปถึงการออกแบบเครื่องกรองอากาศทางการแพทย์ งานเหล่านี้ได้เปิดมุมมองและแนวคิดในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิม สำหรับ Per-Olof Friberg เองความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองใหม่ๆ ที่ได้มาจากงานเหล่านี้ได้ทำให้เขาเริ่มเข้าใจถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อคุณภาพเสียงของชุดเครื่องเสียงของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงสั่นสะเทือน (Vibrations), สนามแม่เหล็ก (Magnetic Fields) และระบบการกราวด์ (Grounding) เรื่องต่างๆ เหล่านี้เริ่มจะมีความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับตัวเขา
นับเป็นเวลาหลายปีที่ Per-Olof Friberg ใช้ลำโพง Wilson Alexandria, แอมปิไฟเออร์ของ Halcro และระบบดิจิตอลของ dcs ลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ถูกขับด้วยแอมปิไฟเออร์ที่มีพละกำลังไม่ใช่น้อย ด้วยฟร้อนเอนด์ที่เลิศหรู เทียบกันไม่ได้เลยกับวิทยุเทปกระเป๋าหิ้วในอดีต ณ จุดเริ่มต้นมาจนถึงวันนี้ วันที่เขาขยับขึ้นไปใช้ลำโพง Tidal Akira ปรีแอมป์ Precensio เพาเวอร์แอมป์ Tidal Absoluta Mono และ DAC ของ Camira ตัว Per-Olof Friberg เองได้ค้นพบสัจธรรมว่า มันไม่สำคัญว่า ซิสเต็มของคุณจะเล็ก ราคาถูกหรือใหญ่และแพงแค่ไหนก็ตาม ถ้ารากฐานของซิสเต็มไม่ได้ถูกจัดไว้อย่างเหมาะสม หรือคุณไม่ได้ให้ซิสเต็มของคุณได้ทำหน้าที่ในการให้ดนตรีไหลผ่านอย่างถูกต้อง คุณก็จะพบแต่ความผิดหวัง และฟังเพลงโดยปราศจากซึ่งความรักตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้
หลังจากนั้น Per-Olof Friberg ก็เริ่มลงมือทำ “ของเล่น” ขึ้นมาใช้เอง และแบ่งปันให้พรรคพวกเพื่อนฝูงลองเล่นกัน ปลายทศวรรษ ค.ศ. 1990 ทั้งเพื่อนพ้องและคนรู้จักก็เริ่มถามเขาถึงความสนใจที่จะผลิต และนำเอาสิ่งเหล่านั้นออกจำหน่ายหรือไม่ นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Entreq ขึ้นประมาณปี ค.ศ. 2000 ชื่อ Entreq นั้นเป็นอักษรที่ย่อมาจากคำ 3 คำด้วยกัน ประกอบด้วย En-Energy, Tr-Transforming และ Eq-Equipment รวมกันเป็นชื่อ Entreq นั่นเอง ด้วยปรัชญาที่สำคัญ นั่นก็คือ “To Quietly Go Where No Man Has Gone Before” ซึ่งแปลความได้ว่า “การเดินทางไปถึงยังที่ๆ ยังไม่เคยมีมนุษย์คนไหน เคยไปถึงมาก่อนอย่างเงียบเชียบ” ผลิตภัณฑ์แรกๆ ของ Entreq ประกอบด้วย Vibbeaters และ Caffeets ในเวลาต่อมาตัว Per-Olof Friberg เองก็เลิกเป็นกสิกร และเข้ามาทำงานที่ Entreq อย่างเต็มตัวในปีค.ศ. 2007 พื้นที่ของโรงงานจากเดิมเมื่อเริ่มต้นที่ขนาด 36 ตารางเมตร พัฒนามาเป็น 12,000 ตารางเมตร เครื่องจักร 3 CNC Laser / Cutters and Burners เครื่องผ่า CNC Mills และเครื่องจักรต่างๆ อีกมากมาย เพื่อจะทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาด้วยตนเองเกือบทั้งหมด จากนั้นในปีค.ศ. 2007 ทาง Entreq ก็เริ่มผลิต Ground Box รุ่น Tellus / Minimus ซึ่งเป็นผลงานที่ผ่านการค้นคว้ามากว่า 5 ปี ตามมาด้วยสายสัญญาณตระกูล Konstantin ในปีค.ศ. 2008 จนถึงวันนี้ Entreq มีผลิตภัณฑ์หลายรุ่น เพื่อความเหมาะสมและครอบคลุมกับความต้องการของนักเล่น นักฟังในทุกกลุ่ม โดยผลิตภัณฑ์ของ Entreq นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย กล่องกราวด์ (Ground Boxes), สายนำสัญญาณ (Cables), กล่องปลั๊ก (Power Management) และ แอคเซสซอรี่ส์ (Accessories) ทาง Audio 168 ผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Entreq ในประเทศไทย ได้จัดส่งอุปกรณ์มาให้ทดลองด้วยกันหลายชิ้น ประกอบด้วย Ground Boxes รุ่น Silver Minimus, กล่องกราวด์ รุ่น Primer Box, สายนำสัญญาณ Primer แบบ Balanced XLR, ตัวรองเครื่อง Garbo 4 ดังนั้นจึงขอเริ่มต้นด้วย ชุด Ground Boxes รุ่น Silver Minimus พร้อมสายกราวด์ Eartha Silver 1.65 และตัวขันล็อคกราวด์ รุ่น K2 เป็นอันดับแรก
ทำไมต้องใช้ Ground Box ของ Entreq ?
คงจะมีนักเล่นจำนวนไม่น้อยที่เมื่อได้เจอหรือได้ยินเรื่องของ “กล่องกราวด์” หรือ Ground Box ของ Entreq แล้ว ต้องเกิดความสงสัยว่า มีความจำเป็นแค่ไหน ในเมื่อที่บ้านก็มีระบบกราวด์ที่ทำหน้าที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นนักเล่นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบกราวด์ด้วยแล้ว คงต้องอธิบายกันแบบยาวๆ สักนิด เพื่อความเข้าใจที่กระจ่างมากยิ่งขึ้น
กระแสไฟฟ้าที่ส่งมาจากการไฟฟ้า มาตามสายไฟเข้าสู่บ้านแต่ละหลังนั้นจะเรียกว่า กระแสไฟ AC ซึ่งย่อมาจาก Alternate Current หมายถึงไฟฟ้ากระแสสลับ มีรูปคลื่นเป็นกระแสบวก และกระแสลบสลับกันไปด้วยความถี่ 50 เฮิรตซ์ (50 รอบ / วินาที) ปกติสายไฟตามบ้านโดยทั่วไปจะมีด้วยกัน 2 สาย สายหนึ่งนั้นจะเป็นสายที่มีแรงดันไฟตามที่การไฟฟ้าส่งมา เราจะเรียกว่า เป็นสายที่มีไฟหรือสาย Hot ส่วนอีกสายหนึ่งนั้นเป็นสายที่ไม่มีแรงดันไฟฟ้า เราจะเรียกสายนี้ว่า สาย Neutral สายเส้นนี้ที่ไม่มีแรงดันไฟก็เพราะเขาทำไว้เพื่อเป็นสายอ้างอิงของอุปกรณ์ไฟฟ้า จึงไม่มีไฟหรือมีไฟระดับศูนย์ บางคนจึงมักเรียกสายนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า สายกราวด์ ความแตกต่างของแรงดันไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ (สายหนึ่งมีไฟ อีกสายไม่มีไฟ) จะส่งผลให้อิเล็กตรอนเกิดการเคลื่อนตัว นั้นก็คือ เกิดการไหลของกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าจึงสามารถทำงานได้
ในอดีตระบบไฟฟ้าในบ้านเรายังไม่มีข้อกำหนดที่เคร่งครัดนักต่างจากเมืองนอก ต่อมาในปีพ.ศ. 2539 การไฟฟ้านครหลวงได้ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอไฟฟ้ารายใหม่จะต้องเดินสายไฟฟ้าให้มีระบบต่อลงดิน ซึ่งก็คือระบบ Earth Grounding หรือระบบสายดินที่เรียกกันว่าการลงกราวด์นั่นเอง รวมทั้งภายในบ้านจะต้องติดเต้ารับไฟชนิด 3 ขา ที่มีขั้วสำหรับสายดินด้วย นับแต่นั้นบ้านที่สร้างใหม่จึงมีระบบไฟที่มีกราวด์มาจนถึงปัจจุบัน
ระบบสายดิน (Grounding System) มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร เราจะเห็นว่า เครื่องเสียงจากทางฝั่งอเมริกาจะมีขั้วต่อสายไฟเป็น IEC แบบ 3 ขา มีกราวด์ หรือถ้าเป็นสายไฟติดเครื่องแบบในอดีตปลายสายที่เป็นปลั๊กตัวผู้ก็จะเป็นแบบ 3 ขา มีกราวด์เช่นกัน (ในขณะที่ทางฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นปลั๊กแบบ 2 ขา เท่านั้น) สาเหตุเป็นเพราะที่อเมริกาเขามีข้อกำหนดที่เคร่งครัดให้ทุกบ้านมีระบบ Earth Grounding มาเป็นเวลานานแล้วนั่นเอง ประโยชน์ของระบบสายดินนั้นก็เพื่อเสริมความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ เพราะในกรณีที่เครื่องไฟฟ้าเกิดไฟรั่วไปที่ตัวถังเครื่อง กระแสไฟที่รั่วดังกล่าวก็จะใช้สายดินเป็นเส้นทางในการไหลลงดิน แทนที่จะไหลผ่านร่างกายของคนเราในกรณีที่เผลอไปสัมผัสโดนกับเครื่องที่มีปัญหาดังกล่าว ผู้ใช้ก็จะไม่ได้รับอันตรายจากการถูกไฟดูดนั่นเอง นอกจากความปลอดภัยแล้ว สำหรับนักเล่นเครื่องเสียงแล้ว ระบบสายดินยังมีส่วนช่วยในการจัดการกับสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าเองรวมทั้งสัญญาณของคลื่นวิทยุ (RF) ที่เข้ามารบกวนในระบบให้ไหลลงดินไปเสีย ไม่มาก่อกวนการทำงานของวงจรภายในระบบที่มีความอ่อนไหวสูง ดังนั้นระบบสายดินหรือ Grounding System ที่ดีจึงสามารถนำพาเอาสัญญาณรบกวนต่างๆที่มีโดยรวมในระบบ ถ่ายลงสู่ดินได้อย่างมีประสิทธิผล ส่งผลให้คุณภาพเสียงจากชุดเครื่องเสียงโดยรวมนั้นดีขึ้น
การต่อระบบสายดิน โดยปกติก็จะใช้แท่งโลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้าหรือแท่งทองแดงที่ทำไว้เป็นการเฉพาะ และมีชื่อเรียกว่า Ground Rod ตอกลงไปในดินให้ลึกลงไปประมาณ 1 เมตรเป็นอย่างน้อย สำหรับจุดลงกราวด์นั้นก็ต้องเลือกจุดที่มีความชื้นสูง เพื่อให้มีความเป็นสื่อในการเหนี่ยวนำให้กระแสไฟไหลลงดินได้ดีนั่นเอง
สำหรับทาง Entreq เองนั้น แน่นอนว่า การทำระบบกราวด์ที่มีประสิทธิภาพและสะอาดนั้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของเสียงที่เป็นเยี่ยมสำหรับชุดเครื่องเสียงทุกชุด ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า คุณมั่นใจแล้วหรือว่า ระบบสายดินที่มีอยู่นั้นมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ เพื่อคุณภาพเสียงที่คุณถวิลหาจากชุดเครื่องเสียงของคุณ?
เมื่อพูดถึงกระแสไฟ AC ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะมองเพียงแค่เรื่องของแรงดันไฟฟ้าที่ 220-240 โวลต์ มีความถี่ที่ 50 เฮิรตซ์ หรืออย่างที่อเมริกาก็จะเป็นแรงดันไฟฟ้าที่ 110 โวลต์ มีความถี่ที่ 60 เฮิรตซ์ เท่านั้น แต่ในมุมมองของ Entreq แล้ว มีสิ่งก่อกวนที่มาในรูปของคลื่นความถี่ในกระแสไฟฟ้าอีกมากมาย เพียงแค่คุณเสียบปลั๊กเครื่องไฟฟ้าตัวใดตัวหนึ่งเข้ากับปลั๊กไฟที่ผนังก็สามารถก่อให้เกิดกระแสไหลวนในระบบไฟ AC ที่คลาดเคลื่อนและผิดพลาดได้ ยังไม่นับเครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, คอมพิวเตอร์ PC, ชาร์จเจอร์สำหรับมือถือ หรือระบบแอร์คอนดิชั่นในห้องต่างๆ อีกทั้งหลอดไฟต่างๆ ที่ให้ความสว่างในบ้านอีกนับไม่ถ้วนที่เป็นหลอดแบบฟลูออเรสเซนต์หรือ LED อุปกรณ์ที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความปั่นป่วนในกระแสไฟฟ้า และเป็นสาเหตุของการเกิดสัญญาณรบกวนความถี่สูง (High Frequency Noise) และแรงดันไฟฟ้าจางหาย (Stray Voltages)
โดยธรรมชาติของไฟฟ้านั้น ปกติจะเคลื่อนตัวหรือไหลจากบริเวณที่มีศักย์ทางไฟฟ้าสูงไปยังบริเวณที่มีศักย์ไฟฟ้าที่น้อยกว่าหรือที่ๆ มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์ ซึ่งตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดก็คือ สายที่ลงดินนั่นเอง แต่ในกรณีที่เป็นสัญญาณรบกวนอ่อนๆ มันก็ไม่แน่เสมอไปที่จะเดินทางลงไปสู่ดินตามสายดินที่มีการเดินไว้ตามปกติ เนื่องจากตัวสายดินเองก็มีค่าความต้านทาน (Resistance) ในตัวของมันเองด้วย สัญญาณรบกวนกำลังอ่อนเหล่านี้ก็จะย้อนกลับไปยังอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าตัวอื่นๆ ที่เสียบปลั๊กอยู่ภายในบ้าน หรือแย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ มันมีโอกาสที่จะย้อนกลับไปยังตัวนำคุณภาพสูงที่ไม่ว่าจะเป็นสายนำสัญญาณ, สายลำโพง, สายไฟ AC คุณภาพสูงในชุดเครื่องเสียงที่ใช้ หรือแม้แต่ตัวเครื่องและแหล่งโปรแกรมเองอีกด้วย สภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “แรงดันไฟฟ้าจางหาย (Stray Voltage)” ซึ่งก็คือ การเกิดศักย์ไฟฟ้าระหว่างวัตถุสองสิ่งที่ไม่ควรมีแรงดันไฟฟ้าแตกต่างกัน ศักย์ไฟฟ้าสถิตหรือแรงดันไฟฟ้าอ่อนๆ นี้มักจะอยู่ระหว่างวัตถุที่มีสายดิน 2 แห่งในตำแหน่งที่แยกห่างออกจากกัน แรงดันไฟฟ้าอ่อนๆ ที่ว่านี้จะสร้างสนามแม่เหล็ก (Magnetic Fields) ขึ้น สนามแม่เหล็กดังกล่าวไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็จะส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่ได้ยินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทาง Entreq ยังชี้ให้เห็นถึงเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามกัน ซึ่งก็คือ จะมีใครรู้บ้างไหมว่า ระบบสายดินในบ้านนั้นเกิดการโอเวอร์โหลดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านจำนวนมาก อีกทั้งระบบสายดินแบบปกติจะไม่สามารถรับมือกับปัญหาของการรบกวนดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทาง Entreq จึงได้คิดค้นกล่องกราวด์ หรือ Ground Boxes และสาย Eartha Cables เพื่อจะจำลองการทำงานของระบบกราวด์ในอุดมคติขึ้นมา โดยตัวกล่อง Ground Boxes นั้นจะทำหน้าที่เหมือนกับเป็น “แม่พระธรณี” หรือพื้นดิน ความแตกต่างอยู่ที่ตัวกล่อง Ground Boxes ของ Entreq นั้นจะมีความสามารถในการเหนี่ยวนำที่มีความเข้มข้นสูงเป็นพิเศษ เมื่อทำงานร่วมกับสาย Eartha Cable จะทำให้สัญญาณรบกวนที่มีความถี่สูงแต่มีกำลังอ่อนๆ เหล่านั้นถูกนำพาไปยังกล่อง Ground Boxes ด้วยระยะทางที่สั้นและรวดเร็วที่สุด สัญญาณรบกวนดังกล่าวเมื่อเดินทางไปถึงตัวกล่อง Ground Boxes ก็จะถูกแปรสภาพให้กลายเป็นคลื่นความร้อน และค่อยๆ สลายตัวไป
ทาง Entreq ได้ออกแบบกล่อง Ground Boxes และสาย Eartha Cable ไว้ด้วยกันหลายรุ่นทีเดียว แต่ละรุ่นจะผ่านการคัดสรรวัสดุที่ใช้ภายในมาอย่างพิถีพิถัน มีการเลือกใช้ผงแร่และผงโลหะ และชนิดตัวนำที่แตกต่างกันไปตามการออกแบบ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น
Silver Minimus
ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Ground Boxes ของ Entreq พอจะแบ่งออกมาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ ตระกูล Tellus Line ซึ่งจะประกอบไปด้วยรุ่น Minimus, Silver Minimus, Tellus (ยกเลิกการผลิตไปแล้ว), Tellus II และ Silver Tellus กลุ่มนี้ถือเป็นรุ่นดั้งเดิมที่ทาง Entreq ผลิตขึ้นมา ภายในจะมีผงแร่ (Mineral) ผสมกับผงโลหะผสม (Metal Mix) ในสัดส่วนที่เหมาะสม แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น ซึ่งทาง Entreq ได้ผลิตขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว สำหรับกลุ่มที่สองคือ ตระกูล Olympus Line ซึ่งประกอบไปด้วยรุ่น Olympus Tellus, Olympus Mini, Poseidon และรุ่นล่าสุดคือ Olympus Ten ตระกูล Olympus Line นี้ทาง Entreq เพิ่งจะพัฒนาและนำออกจำหน่ายได้ประมาณ 2 ปีเศษ ตระกูล Olympus ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงสัดส่วนของผงแร่กับโลหะผสมใหม่ ซึ่งจะให้ประสิทภาพในระดับที่ก้าวไกลไปกว่าเดิมอย่างมาก นอกจากนี้ทาง Entreq ยังได้นำเสนอ Ground Boxes รุ่น Atlantis Minimus และ Atlantis Tellus ซึ่งในตอนแรกได้ออกแบบมาเพื่อนำไปใช้ร่วมกันกับผลิตภัณฑ์ในตระกูล Tellus Line เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานให้สูงยิ่งขึ้น ในลักษณะของ “ตัวบูสเตอร์” (Boosters) เพื่อให้มีคุณภาพที่ขยับเข้าไปใกล้เคียงกับตระกูล Olympus Line ผู้ใช้สามารถจะนำ Atlantis ไปใช้ร่วมกับตระกูล Olympus Line เพื่อเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพเสียงให้ดียิ่งขึ้นไปด้วยได้เช่นกัน
สำหรับ Silver Minimus นั้นจะเป็น Ground Box รุ่นเล็กสุดที่มีเพียง 1 ขั้วกราวด์ (Single Dedicated Ground Point) ประสิทธิภาพของ Silver Minimus นั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานต่อเข้ากับกราวด์ของเครื่อง อันได้แก่ ปรีแอมป์, CD ทรานสปอร์ต, DAC หรือ Music Server เพียง 1 หรือ 2 เครื่องเท่านั้น โดยอาจจะใช้สายกราวด์ที่ทำขึ้นมาเองเป็นพิเศษ หรือใช้สายกราวด์ที่ทาง Entreq ออกแบบขึ้นเอง สัดส่วนของ Silver Minimus อยู่ที่ 17x8x19 ซม. (กxสxล) มีน้ำหนักอยู่ที่ 2 กก. ตัวกล่องทำจากไม้โอ๊ค (Oak) ที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี ประกอบยึดอย่างแน่นหนา แข็งแรง มีเพียงแต่ฐานด้านล่างเท่านั้นที่ดูจะใช้ไม้เนื้ออ่อนซึ่งแตกต่างออกไปจากส่วนอื่น ด้านหน้าจะมีการสกรีนชื่อ Entreq ,แหล่งที่มา (Made In Sweden) และชื่อรุ่น Silver Minimus ด้านหลังที่มุมด้านขวาบนจะมีชื่อรุ่นพร้อมกับเลขซีรีส์นัมเบอร์ของกล่องตัวนั้นๆ ตรงกึ่งกลางด้านหลังจะมีขั้วกราวด์ที่เป็นเกลียวน็อต กลึงขึ้นจากทองแดง พร้อมกับตัวขันล็อคที่กลึงขึ้นจากไม้ ด้านล่างจะมีขารอง 3 จุดด้วยกัน สามารถจะหา Spike หรือเดือยแหลมมาใส่เพิ่มเติมได้ Silver Minimus จะได้รับการปรับปรุงให้มีคุณภาพที่เหนือกว่ารุ่น Minimus ด้วยการเติมผงเงินประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เข้าไปในสัดส่วนของผงแร่ที่อยู่ภายใน ซึ่งจะเหมือนกับรุ่น Silver Tellus นี่จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่นว่า Silver Minimus ด้วยพัฒนาการนี้เองที่ส่งผลให้ Ground Box รุ่น Silver Minimus สามารถที่จะลดสัญญาณรบกวน (Noise) ลงอย่างได้ผลพร้อมกับทำให้ได้ไดนามิกที่ดีขึ้นอย่างเด่นชัด กล่อง Silver Minimus จะถูกบรรจุมาในกล่องไม้อย่างแน่นหนา จากนั้นจึงบรรจุลงในกล่องกระดาษอีกชั้นหนึ่ง
Eartha Cable
นอกจากกล่อง Ground Box ที่ทำหน้าที่สำคัญในการกำจัดสัญญาณรบกวนแล้ว ทาง Entreq ยังได้ออกแบบสายกราวด์ที่มีชื่อว่า Eartha Cable ขึ้นมา มันออกจะดูเป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อ ว่าสายกราวด์นั้นมีผลกระทบต่อคุณภาพเสียงมากกว่าที่คุณคิดไว้เสียอีก ลักษณะของสายตัวนำที่จะเอามาใช้ในการนำเอาสัญญาณรบกวน (Noise) และแรงดันไฟฟ้าจางหาย (Stray Voltage) ให้เดินทางไปสู่กล่องกราวด์นั้นจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ทาง Entreq เชื่อว่า เป็นเพราะสัญญาณรบกวนดังกล่าว เป็นสัญญาณรบกวนที่มีความถี่สูง (Very High Frequency) และเป็นเพียงแรงดันที่ต่ำเป็นพิเศษ (Low Voltage) ซึ่งเมื่อทาง Entreq ได้พัฒนาสาย Apollo Network Cable ทาง Entreq ได้ทดลองนำเอาสายไปผ่านกระบวนการ High Pressure Treating ก่อนจะนำมาทำเป็นสายส่งสัญญาณ ผลที่ได้นั้นออกมาดีแต่ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจมากเท่าไหร่ แต่เมื่อทาง Entreq นำสายเหล่านั้นมาทำเป็นสายกราวด์ ผลที่ได้กลับเป็นพัฒนาการที่ก้าวไกลที่สุดเท่าที่ทาง Entreq เคยประสบมา ถึงแม้ว่าจะหาเหตุผลมาอธิบายก็คงจะมีหลายทฤษฎีด้วยกัน แต่ก็ยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ ทาง Entreq จึงให้ความสำคัญกับ “ผล” ที่ได้มากกว่า เมื่อนำเอาเทคนิคนี้มาผสานกับการเลือกใช้วัสดุของ “ไม้” มาประกอบเข้าด้วยกันซึ่งไม้มีข้อดีในการลดแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่าโลหะต่างๆ อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ปราศจากการเหนี่ยวนำใดๆ และไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อเสียง ( Non-Magnetic and Non-Conductive) จึงทำให้สาย Eartha Cable ของ Entreq เป็นสายกราวด์ที่มีคุณภาพ และศักยภาพที่เป็นเยี่ยมนั่นเอง
ทาง Entreq ได้ออกแบบสายกราวด์ Eartha Cable ในรูปแบบต่างๆ ไว้มากกว่า 10 แบบเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานที่หลากหลายตามความต้องการอย่างครอบคลุม นอกจากนี้ยังมีตัวนำให้เลือกทั้งแบบทองแดง (Copper) และเงิน (Silver) สำหรับสายกราวด์ที่ได้รับมานั้น จะเป็นรุ่น Eartha Silver 1.65 Grounding ปลายสายด้านหนึ่งจะเป็นก้ามปู (Spade) ที่ทำขึ้นจากลวดเงิน เพื่อใช้ขัดล็อคกับกล่อง Ground Box สำหรับปลายสายอีกด้านหนึ่งนั้นจะเป็นขากราวด์ ขาเดียวเท่านั้น (Grounding) หัวปลั๊กจะกลึงขึ้นจากไม้ มีขนาดที่เหมาะ จับถนัดมือเพื่อเสียบต่อเข้าไปยังปลั๊กไฟแบบมีกราวด์ 3 ขาที่ผนัง ตัวสายจะห่อหุ้มด้วยผ้าฝ้าย (Cotton Covering) สีดำ มีลายเป็นเส้นสีขาวในแนวเฉียง มีความยาวที่ 1.65 เมตร และมีป้ายวงรีที่ทำจากไม้ระบุชื่อของ Entreq และรุ่นเอาไว้ ตัวสายจะบรรจุมาในซองหนังสีดำที่มีโลโก้สีเงิน
K2
นอกจากกล่องกราวด์และสายกราวด์แล้ว ทาง Entreq ยังได้สรรสร้างอุปกรณ์เสริมเพื่อมาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ทั้งสองดังกล่าว เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม (ได้อีก) แหม…Per Olof Friberg…พ่อคุณ…ช่างคิดเสียเหลือเกิน…ทาง Entreq ได้นำเสนอ K2 และ Everest ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมใช้ในการขันล็อคสายกราวด์เข้ากับกล่อง Ground Box แทนตัวขันล็อคไม้เดิมที่ติดมากับกล่อง
เดิมทีนั้นทาง Entreq จะใช้ตัวขันล็อคที่ทำจากไม้ ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ และคุณประโยชน์ของไม้นั้นก็คือ ไม่มีการเสริมเติมแต่งแต่อย่างใด ในทางกลับกันถ้าใช้เป็นวัสดุอื่นอาจจะส่งผลต่อคุณภาพเสียงได้ ทาง Entreq ได้ใช้แนวคิดนี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็น K2 และ Everest สำหรับตัว K2 นั้นผลิตขึ้นจากวัสดุที่เป็นโลหะ 2 ชนิดผสมกัน และหลอมขึ้นมาเป็นแท่งกลม (ในขณะที่ Everest จะใช้ส่วนผสมถึง 4 ชนิดด้วยกัน) จากนั้นก็นำแท่งโลหะกลมดังกล่าวมาเจาะรูทำเกลียว เพื่อสามารถนำไปขันล็อคเข้ากับกล่อง Ground Box ได้ ภายนอกยังได้ทำปลอกไม้ (Wood Cap ) หุ้มเอาไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อลดการเหนี่ยวนำ ที่ตัวปลอกไม้จะมีการสกรีนชื่อรุ่นเอาไว้ ทาง Entreq แนะนำว่า ด้วยการเพิ่ม K2 เข้าไปในระบบ Ground Box จะเปลี่ยนคุณภาพของ Ground Box ให้แตกต่างไปจากเดิม ทาง Entreq สำทับมาว่า การเพิ่มปลอกรุ่น K2 หรือ Everest เข้าไปที่ Ground Box รุ่น Minimus อย่างน้อย…(ขอย้ำ…ว่าอย่างน้อย) จะส่งผลให้คุณภาพเสียงของ Ground Box รุ่น Minimus + K2 หรือ Everest นั้นมีคุณภาพที่เหนือชั้นกว่ากล่อง Ground Box Silver Minimus รุ่นมาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด!
ในความเห็นของ Entreq แล้ว ปลอกรุ่น K2 จะให้เสียงที่สงบและเงียบสงัดกว่า Everest อีกทั้งยังสามารถเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับซิสเต็มที่ให้เสียงบางและเจิดจ้า และต้องการมวลเสียงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นทาง Entreq จึงได้เปิดโอกาสให้คุณสามารถที่จะปรับแต่งคุณภาพเสียงของกล่อง Ground Box เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงดีที่สุด ตามที่คุณต้องการดังใจปรารถนา
ผลการลองฟัง
Entreq Ground Box + สาย Eartha Silver 1.65 Grounding และ K2 เดินทางมาถึงมือพวกเรา โดยไม่มีคู่มือหรือรายละเอียดใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย โดยปกติวิธีต่อใช้งานของกล่องกราวด์ Silver Minimus เข้ากับชุดเครื่องเสียงนั้น จะใช้วิธีต่อด้วยสายไม่ว่าจะเป็น Eartha Challanger, Eartha Konstantin หรือจะเป็น Eartha Silver S/S ซึ่งมีปลายสายด้านหนึ่ง (ปลายทาง) เป็นก้ามปู (Spade) เพื่อเชื่อมต่อกับกล่อง Ground Box ส่วนปลายสายอีกด้านหนึ่งนั้น (ต้นทาง) จะเป็นหัวต่อแบบ RCA หรืออาจจะเป็นแบบก้ามปู (Spade) ก็ได้เพื่อที่จะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับแหล่งโปรแกรมอย่างเครื่องเล่นซีดี หรือ Music Server หรือจะเป็นปรีแอมป์ หรืออาจจะเป็นลำโพงก็ตาม แต่เที่ยวนี้ “Audio 168” ตัวแทนจำหน่ายในบ้านเราได้จัดส่งสายกราวด์แบบที่มีหัวเป็นปลั๊กต่อแบบ “กราวด์ดิ้ง” หรือ ปลั๊กต่อลงกราวด์ที่ผนังมาให้แทน ดังนั้นระบบกล่อง Ground Box จากเดิมที่จะนำสัญญาณที่ปะปนมาในระบบกราวด์ของเครื่องหรืออุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งไหลลง (Drain) ผ่านสาย Eartha Cable เข้าสู่กล่อง Ground Box เพื่อให้สัญญาณรบกวนที่ปะปนมาเหล่านั้น สลายตัวไปในรูปของความร้อนในแบบเดิม ก็จะเปลี่ยนการใช้งานมาเป็น ให้กล่อง Ground Box ทำหน้าที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบกราวด์รวมผ่านปลั๊กไฟที่ผนัง และนำสัญญาณรบกวนที่ปะปนมาในระบบกราวด์รวม (ไม่ใช่จากตัวเครื่องโดยตรง) ไหลลงมาที่กล่อง Ground Box และสลายไปในรูปของความร้อนแทน เมื่อเข้าใจภาพรวมแล้ว เราก็มาว่ากันถึงคุณภาพเสียงกันเลยดีกว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังในครั้งนี้ประกอบด้วย (สำหรับชุดฟังเพลงแบบ 2 แชนแนล สเตอริโอ)
- CD Player : Marantz CD 17 (Clock II), Pioneer PD-91 (Clock II),NAD Silverline S 500, Denon DCD-1015
- ปรีแอมป์ : Adcom GFP-750, Krell KSL
- เพาเวอร์แอมป์ : AVI S 2000 MA, Forte’ F5, Quad 606, Adcom GFA-5800
- อินทีเกรทแอมป์ : XAV X-60i, X-75i
- ลำโพง : XAV Small One “Classic“ Silk
- สายสัญญาณ : Vampire AI-II
- สายลำโพง : Vampire ST-II
- สายไฟ AC : XAV XAC 4, XAC 5
- ฟิวส์ : Music Muse V2
- สำหรับชุดโฮมเธียเตอร์ ประกอบด้วย
- Blu-Ray : Panasonic BD-85
- ปรีแอมป์ : NAD 1020, Rotel RC-970BX
- เพาเวอร์แอมป์ : Rotel RX-980BX x 2
- อินทีเกรทแอมป์ : XAV XAMP 30i
- ลำโพงคู่หน้า : XAV Small One “Classic” Silk
- ลำโพงเซ็นเตอร์ : XAV SL-5C
- ลำโพงเซอร์ราวด์ : XAV DP-130
- ลำโพงซับวูฟเฟอร์ : XAV V-12 Turbo
- สายสัญญาณ : Vampire CC1
- สายลำโพง : Vampire # 826C
- สายไฟ AC : XAV XAC # 2, 5
- ฟิวส์ : Music Muse V2
- ห้องฟังขนาด 4×8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี
ทาง Entreq มีคำแนะนำให้ใช้งานกล่อง Ground Box รวมทั้งสาย Eartha Cable เป็นเวลาอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ก่อนที่จะเริ่มฟังถึงคุณภาพเสียงอย่างจริงจัง นี้จึงเป็นข้อแนะนำในการใช้งานอันดับแรก
อันดับต่อมา การใช้งานกล่อง Ground Box ของ Entreq แนะนำให้เชื่อมต่อไว้ให้ใกล้กับระบบให้มากที่สุด (หมายถึงตำแหน่งของปลั๊ก) เพื่อที่กล่อง Ground Box จะได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด
อันดับสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ตำแหน่งในการเชื่อมต่อกับปลั๊กที่ผนังหรือบางท่านอาจจะใช้รางปลั๊กพ่วงนั้น มีความสำคัญและส่งผลต่อคุณภาพเสียงของ Ground Box อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นควรจะใช้เวลาในการตรวจเช็คด้วยการฟัง เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการต่อกล่อง Ground Box เข้ากับปลั๊กผนัง (ในกรณีที่เลือกใช้สาย Eartha Silver 1.65 Grounding เท่านั้น)
ถึงแม้ว่ากล่อง Ground Box ของ Entreq จะพ้นระยะเวลาในการรันอินหรือเบิร์นอินตามคำแนะนำไปแล้วก็ตาม หากมีการถอดออกจากระบบ และทำการเชื่อมเข้าไปในระบบใหม่ทุกครั้ง กล่อง Ground Box ของ Entreq จะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที ในการวอร์มอัพเพื่อให้กล่องกราวด์อยู่ในสภาพพร้อมต่อการรับฟัง เพื่อคุณภาพที่สูงสุดทุกครั้งไปเช่นกัน เพราะเมื่อเชื่อมต่อและรับฟังในทันทีนั้น เวทีของเสียงที่คุณได้ยินนั้นจะหุบแคบ น้ำเสียงจะขาดความกระจ่าง และฟังดูทึบ หม่นลงไปในทันที จากนั้นอีกสักพักน้ำเสียงโดยรวมจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ต้องใช้เวลาตามที่กล่าวกว่ากล่อง Ground Box จะพร้อมเต็มที่ต่อการรับฟังอย่างจริงจัง
สิ่งแรกที่รู้สึกได้และฟังออกในทันทีก็คือ Silver Minimus เข้าไปปรับสมดุลของเสียงทั้งหมดให้เข้ารูป เข้ารอยมากขึ้น ไม่มีเสียงหรือเครื่องดนตรีชิ้นใดที่จะออกมาแสดงบทนำ หรือเด่นล้ำเกินหน้า คุณจะสัมผัสฟังได้ถึงความสงัด เงียบของพื้นเสียงที่เพิ่มมากขึ้น มีการขัดเกลาเนื้อเสียงโดยรวมให้มีความต่อเนื่องและกลมกลืนมากยิ่งขึ้น เหมือนดังกับว่า มีคอนดักเตอร์มาคอยกำกับควบคุมให้ดนตรีทั้งองคาพยพเล่นเข้าขากันไปได้อย่างลื่นไหลแตกต่างไปจากเดิม เสียงร้องของ Alison Krauss ที่มีพลังของความสดใส มีความบริสุทธิ์ของผู้หญิงที่ยากจะหาใครเหมือนในแบบฉบับของเพลงสไตล์คันทรี-โฟล์คแล้ว Ground Box Silver Minimus จาก Entreq ยังสามารถขับเน้นเสียงของเธอออกมาด้วยความกระจ่างใสที่มากขึ้นกว่าเดิม พร้อมกับโฟกัสและตัวตนที่เด่นชัด ไม่เพียงเท่านั้น น้ำเสียงของเธอที่ปกติจะเจือแฝงไว้ด้วยความหวานอยู่แล้ว มาครั้งนี้กลับยิ่งหวานใส กระจ่างชัดยิ่งขึ้นกว่าเดิม เปรียบได้กับแก้วที่ผ่านการเจียระไนออกมาอย่างสวยสดและงดงามยิ่ง (Alison Krauss : Now That I’ve Found You : A Collection / Rounder CD 0325) ลูกขุนท่านหนึ่งที่แวะมาเยี่ยมมาเยือน และมีโอกาสได้นั่งฟังถึงกับอึ้งออกปากชมว่า ไม่เคยฟังเสียงของ Alison Krauss ที่หวานหยดย้อยมากเท่านี้มาก่อน “ปกติแผ่นเพลงนี้ไม่เห็นจะเสียงดีเท่าไหร่เลย ทำได้อย่างไรกันนี่” แทนคำตอบก็เพียงชี้นิ้วไปที่กล่อง Ground Box รุ่น Silver Minimus ที่วางอยู่บนพื้นข้างๆ กองแผ่นซีดี “โอโห…ตัวเล็กแค่นี้…ทำได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ…!”
ตอกย้ำกันอีกครั้งกับเสียงร้องของ Amanda Mcbroom ในแผ่นชุด Midnight Matinee จากสังกัดค่าย Gecko Records โดยปกติแล้วแผ่นนี้ได้รับการบันทึกมาค่อนข้างดี น้ำเสียงมีความกระจ่างสดใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อนำไปเล่นกับซิสเต็มบางชุดที่โดดเด่นโดยเฉพาะกับย่านเสียงแหลมด้วยแล้ว ในบางครั้งหรือบางทีนั้น น้ำเสียงของแผ่นนี้จะออกอาการเจิดจ้าเกินพอดีไปบ้าง แต่คราวนี้ด้วย Silver Minimus กับ Eartha Silver 1.65 Grounding กลับสามารถรักษา และควบคุมสมดุลเสียงโดยรวมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่มีความเจิดจ้าเกินพอดีอย่างที่เคยฟังพบ เสียงร้องของ Amanda Mcbroom มีความกระจ่างชัด มีโฟกัส และตัวตนที่ถูกขับเน้นออกมาอย่างเด่นชัด พื้นเสียงนั้นเงียบ มีความสงัด สามารถแยกแยะตำแหน่งของชิ้นดนตรีต่างๆ ที่บรรเลงออกมาได้อย่างเป็นอิสระ ไม่มีความคลุมเครือ หรือทับซ้อนกันแต่อย่างใด ที่เหนือกว่านั้นก็คือ ความสามารถในการแยกแยะ ไล่เรียงลำดับชั้นที่ลดหลั่นลงไปได้ดี เสียงแหลมมีรายละเอียด น้ำเสียงเนียน มีความกลมกลืน มีความกระจ่างและสะอาด ไม่มีความกระด้างหรืออาการเจิดจ้าเกินงามแม้แต่น้อย จังหวะของเบสจะมีการย้ำเน้นที่จะแจ้งขึ้น รายละเอียดของเบสถูกนำเสนอ และแยกแยะออกมาได้อย่างชัดเจนถึงพร้อมทั้งน้ำหนักที่กระชับ มีแรงปะทะที่ดีขึ้นอย่างลงตัว (Amanda Mcbroom : Midnight Matinee : Grecko Records / USA.) กับเพลงร้องชั้นเยี่ยมเหล่านี้ Silver Minimus กับ Eartha Silver 1.65 Grounding สามารถนำเสนอออกมาได้อย่างดีเยี่ยม น่าฟัง แทบจะไร้ที่ติจริงๆ “โอโฮ…ฟังได้ไพเราะและเพลิดเพลินได้อย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ”ลูกขุนอีกท่านตบท้ายเป็นการสรุปผล
กับเสียงของไวโอลินฝีมือของ Isaac Stern อย่างเพลง Flight of The Bumblebee ที่รวดเร็วและฉับไวนั้น มาครั้งนี้ฟังดูจะลดระดับความดุดันลง เพิ่มความละเมียด นุ่มนวล มีความสุภาพมากขึ้นกว่าที่คุ้นเคย (Isaac Stern “Humoresque” Favorite Violin Encores : CBS / USA.) กับเสียงเปียโนที่บรรเลงโดย Valadimir Horowitz ก็ให้ความนุ่มนวลมีความต่อเนื่องในท่วงทำนองที่ไพเราะ มีความเป็นผู้ใหญ่ที่ฟังผ่อนคลายได้ดี (Horowitz in Moscow : DG / Germany)
ในย่านเสียงแหลมนั้น มีความสะอาด สดใส ให้ความกังวานของหางเสียงที่กระจ่างชัดขึ้น และทอดตัวออกไปได้ไกลขึ้น เป็นเสียงแหลมที่เยือกเย็นที่เจือไว้ด้วยความฉ่ำหวานอย่างน่าฟัง มีการจางหายที่เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ (Lars Erstrand and Four Brother : Opus 3 / Sweden)
กับสมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น Silver Minimus กับ Eartha Silver 1.65 Grounding จะขับเน้นอิมเมจโดยเฉพาะกับเสียงร้องให้มีตัวตนที่เด่นชัดขึ้น ในขณะที่จะดึงชิ้นดนตรีต่างๆ ให้ถอยลึกลงไปจากแนวระนาบของลำโพง ส่งผลให้สัดส่วนความลึกนั้นดีขึ้น พื้นเสียงที่เงียบและสงัด ช่วยทำให้เกิดช่องว่างระหว่างดนตรีที่ดีขึ้น ขอบหรือรูปวงของเวทีจึงถูกขยายอาณาบริเวณให้กว้างออกไปได้อย่างน่าฟัง การวางตำแหน่งของชิ้นดนตรีนั้น นิ่ง และมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ได้ลองเพิ่ม Silver Minimus กับ Eartha Silver 1.65 Grounding เข้าไปอีก 1 ชุด (เป็น 2 ชุด / ซิสเต็ม) ความแตกต่างที่ฟังออกชัดเจนก็คือ ความสงัด และความเงียบของพื้นเสียง ที่จากเดิมก็ว่าดีอยู่แล้ว มาครั้งนี้กลับมีความสงัด และความเงียบที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม น้ำเสียงโดยรวมมีความกระจ่าง และโฟกัสที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม จังหวะของดนตรีและเบสจะกระชับขึ้นไปอีก เก็บตัวเร็วขึ้น ความโดดเด่นจะขยับไปอยู่ในเสียงช่วงกลางถึงกลางสูง และแหลมเป็นหลัก แต่เนื้อเสียงก็เหมือนจะบางลงกว่าเดิม รวมทั้งเบสต่ำด้วย ได้ลองถอดตัวล็อคสายที่ Silver Minimus ซึ่งกลึงจากไม้ออก และนำปลอกรุ่น K2 เข้าไปใส่แทน จำนวน 1 ตัว ผลปรากฏว่า K2 ช่วยเพิ่มมวลเสียงในย่านเสียงกลางให้เพิ่มมากขึ้น อย่างเสียงร้องของ Alison Krauss ก็จะมีมวลเสียงที่อิ่มขึ้น ในย่านกลางต่ำก็จะมีมวล และการย้ำเน้นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นลงไปถึงเบสต่ำๆ ด้วย นับว่าทาง Entreq ได้ศึกษาและทำการบ้านมาอย่างดีทีเดียว แต่เมื่อเพิ่มปลอก K2 ตัวที่สองเข้าไปในระบบ ปริมาณของมวลเสียงจะถูกเพิ่มเยอะขึ้น ในขณะที่ความชัดเจนและไดนามิคดูจะถูกลดทอนลง น้ำเสียงจะนุ่มนวลขึ้นด้วย แต่เสียงร้องยังคงรักษาโฟกัส และการแยกแยะรายละเอียดเอาไว้ได้ดี ผลที่ได้จึงขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ซึ่งเป็นไปตามที่ทาง Entreq ได้แนะนำ และเปิดโอกาสให้คุณเป็นผู้เลือกที่จะปรับแต่งคุณภาพเสียงให้ได้ตามความชอบ และเห็นว่าเหมาะสม
ได้มีโอกาสลองนำ Silver Minimus กับ Eartha Silver 1.65 Grounding ไปใช้ร่วมกับซิสเต็มชุดเล็กที่ประกอบด้วย อินทีเกรทแอมป์ XAMP 75i กับเครื่องเล่นซีดีระดับเริ่มต้นอย่าง Denon DCD-1015 ซึ่งปกติซิสเต็มนี้จะให้น้ำเสียงที่ราบเรียบดี น้ำเสียงมาทางนุ่มนวล ให้สมดุลเสียงที่ดี แยกแยะรายละเอียดได้ในระดับ “พอประมาณ” การเพิ่ม Silver Minimus กับ Eartha Silver 1.65 Grounding เข้าไปสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพเสียงได้ในทันทีที่วอร์มอัพจนผ่านระยะเวลาที่กำหนด
น้ำเสียงโดยรวมเปิดโปร่งขึ้น เสียงร้องของ Janis Ian ถูกนำเสนอออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ ด้วยโฟกัสที่ชัดเจน พร้อมกับการให้น้ำหนักที่กระจ่างชัดขึ้น พื้นเสียงที่เงียบและสงัดขึ้น ช่วยแยกแยะรายละเอียดของชิ้นดนตรีได้เด่นชัดขึ้น เหมือนจะมีระยะห่างระหว่างชิ้นดนตรีที่ดีขึ้น เบสกระชับพร้อมกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น มีการย้ำเน้นที่ดีขึ้น จนเจ้าของซิสเต็มอดประหลาดไม่ได้ว่า “มันดีขึ้นได้ถึงเพียงนี้เลยเชียวหรือ !..” (Janis Ian : Breaking Silence-24 Gold Limited Edition / Analogue Production)
สุดท้ายได้ลองนำ Silver Minimus กับ Eartha Silver 1.65 Grounding มาต่อใช้ในระบบโฮมเธียเตอร์ชุดใหญ่ ผลปรากฏว่า ระบบ Ground Box ได้ช่วยควบคุมสมดุลเสียงให้มีความราบเรียบ พร้อมกับตรึงตำแหน่งของเสียงต่างๆ เอาไว้ได้อย่างมั่นคง การนำเสนอซาวด์สเตจที่ถูกดึงให้ถอยลึกลงไปกว่าแนวระนาบของลำโพงมีส่วนช่วยให้น้ำเสียงมีความกลมกลืน พื้นเสียงมีความสงัดเงียบมากขึ้น เสียงร้องแบบดูโอของ Kenny “Baby-Face” Edmonds และ Kevon Edmonds ในเพลง I Swear หรือจะเป็นเพลง Home ที่ขับขานโดยหนุ่มอารมณ์ดีอย่าง Michael Buble กับนักร้องคันทรีเสียงมีเสน่ห์อย่าง Blake Shelton ถูกถ่ายทอดออกมาได้ดี เป็นน้ำเสียงที่มีมวลและรายละเอียดที่ดี โฟกัสกับความกระจ่างใสนั้นดูจะย่อหย่อนลง มีข้อจำกัดในเรื่องของไดนามิคและเป็นรองเมื่อเทียบกับที่ฟังในระบบ 2 แชนแนลก่อนหน้านี้ ( Hitman: David Foster& Friends :DTS HD)
เข้าใจว่าคงเป็นงานที่หนัก และเกินกำลังของ Silver Minimus เมื่อนำมาใช้กับซิสเต็มที่มีกำลังขับโดยรวมทั้งหมดเกินกว่า 600 วัตต์ ต้องไม่ลืมว่า Silver Mnimus เป็น Ground Box ที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดากล่องกราวด์ทั้งหมดของ Entreq และต้องไม่ลืมว่าทาง Entreq แนะนำให้ใช้ Silver Minimus ต่อเข้ากับกราวด์ของเครื่องเพียง1 หรือ 2 เครื่องเท่านั้น ในภาพรวมแล้วต้องยอมรับว่า Silver Minimus ทำหน้าที่ได้ดีเกินกว่าที่คาดเอาไว้ ถ้านำไปใช้กับชุดโฮมเธียเตอร์ในห้องที่ไม่มีระบบอคูสติกที่ถึงพร้อมแล้ว Silver Minimus ก็สามารถเสริมจุดแข็งเหล่านั้นดังที่กล่าวมา ช่วยให้คุณภาพโดยรวมดีขึ้นได้ไม่น้อยด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ที่มีความต้องการคุณภาพเสียงที่มากกว่านี้และมีงบประมาณที่เพียงพอ จะให้ดี ก็น่าจะขยับไปลองใช้รุ่นที่ใหญ่ขึ้นไปกว่า Silver Minimus ดู น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมและลงตัวกว่า
สรุป
ในปัจจุบันนับว่ามีอุปกรณ์แอคเซสซอรี่ส์ ผลิตออกมาให้เลือกหา และเลือกใช้กันเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟ AC เป็นหลัก มีน้อยรายจริงๆ ที่จะให้ความสำคัญกับระบบกราวด์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว Entreq ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตจำนวนน้อยที่เห็นความสำคัญของระบบกราวด์อย่างจริงจัง มีการฟัง ศึกษา ค้นคว้า และพัฒนามาอย่างยาวนานร่วม 10 ปี หลังจากที่มีโอกาสได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ของ Entreq อย่าง กล่องกราวด์ รุ่น Silver Minimus กับ สาย Eartha Silver 1.65 Grounding กับ K2 แล้ว ผลงานของ Entreq เองก็สามารถแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึง ความสำคัญของระบบกราวด์ที่ดีนั้นส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่คุณคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว ซึ่งบางทีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคุณภาพเสียงอาจเป็นเพียงแค่ความฝันที่คุณอาจจะไม่เคยได้สัมผัสฟังมาก่อน ไม่ว่าคุณจะทุ่มงบประมาณมากมายแค่ไหนไปกับการเปลี่ยนเครื่องและลำโพง
แน่นอนว่า Entreq อาจจะไม่เหมาะกับนักเล่นมือใหม่ที่ยังขาดความมั่นใจในการฟัง แต่ทาง “Audio 168 ”ก็พร้อมเสมอที่จะให้คำแนะนำ และยินดีที่จะให้คำปรึกษาเพื่อชี้และนำทางให้คุณได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสถึงศักยภาพของชุดเครื่องเสียงของคุณ เปิดประตูสู่มิติแห่งเสียงที่คุณยังไม่เคยได้สัมผัสฟังมาก่อนจากชุดเครื่องเสียงชุดโปรดของคุณเอง ตัวคุณเองต่างหากที่…พร้อม…แล้วหรือยัง…?