Garoonchart Bukkavesa
ถ้าบอกว่ามีผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงจากยุโรปมาแนะนำ คงไม่แปลกนัก เพราะมีหลายประเทศ เช่น เยอรมัน เดนมาร์ค สวีเดน นอร์เวย์ อิตาลี ฯลฯ ผลิตเต็มไปหมด แต่ถ้าบอกว่ามาจากประเทศ “โปแลนด์” แบบนี้ชักน่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ
ผลิตภัณฑ์ที่จะนำเสนอครั้งนี้ แม้จะเกริ่นให้ทราบแล้วมาจากมาจากโปแลนด์ แต่หลายคนคงนึกไม่ออกว่ายี่ห้ออะไร ผมเฉลยให้ทราบครับ นั่นคือแบรนด์ Circle Labs
มาทั้งทีไม่ได้มาแบบระดับเริ่มต้น หรือมิดเอนด์ แต่มุ่งเน้นตลาด “ไฮเอนด์” กันเลย มีประสบการณ์กว่า 25 ปีไม่ใช่เพิ่งสร้างกันปีสองปี ต้องขอบคุณ Gxotic ที่กล้านำเข้าแบรนด์แปลก ๆ มายังประเทศไทย
Circle Labs รุ่นที่ได้รับมาครั้งนี้เป็นรุ่น A200 ในรูปแบบอินทิเกรตแอมป์ “ไฮบริดจ์” (หลอด+ทรานซิสเตอร์) ตัวเรือธง รุ่นรองคือ A100 ส่วนปรี / เพาเวอร์กำลังจะผลิตตามมา ตามมาดูกันครับว่าคุณภาพเสียง ของ Circle Labs จากโปแลนด์จะทำได้ดีเพียงใด เมื่อคู่แข่งพร้อมรับน้องกันแล้ว?
คุณสมบัติพิเศษ Circle Labs : A200
- ดีไซน์โมเดิร์น ใช้อคีริคหนาที่แผงหน้า
- เป็นอินทิเกรตแอมป์ “ไฮบริดจ์”
- ภาคปรีเป็นหลอด ใช้ยี่ห้อ ซีเมนต์ NOS (new old stock) เบอร์ ECC8100
- อายุหลอดยาวนาน 10,000 ชั่วโมง
- ภาคขยายทรานซิสเตอร์ชนิดไบโพล่าร์ กำลัง 100 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม
- โวลุ่มเป็น รีซิสเตอร์ ไม่ได้ใช้สำเร็จรูป ให้ทั้งคุณภาพเสียงที่ดี รวมถึงฟิลลิ่งเวลาหมุนดีมาก ๆ
- ใช้วงจรดูอัลโมโน หม้อแปลง 2 ลูก ไม่กวนกัน
- ตัวเก็บประจุ 200,000 uf
- ขั้ว RCA ใช้ยี่ห้อเป็น CMC ขั้ว XLR เป็น Neutrik และขั้วลำโพงเป็น WBT Nextgen
- ใช้สีดำตัดกับโทนสีทอง “คลาสสิค” มาก ๆ
- จอแสดงผลเป็นดวงไฟ LED เรียงต่อกัน
ลักษณะทั่วไป Circle Labs : A200
Circle Labs : A200 ดีไซน์เน้นแบบสมมาตร ในสไตล์โมเดิร์น ใช้อคีริคหนาที่แผงหน้า ตัวถังหลัก ๆ สีดำ ปุ่มกด / ปุ่มหมุนต่าง ๆ สีทอง ตัดกันคลาสสิคมาก ๆ แสดงผลด้วยดวงไฟ LED ในหลายจุด เช่น ซีเลคเตอร์, ระดับเสียง โดยรวมทำให้มองตัวเครื่องแล้วถือว่ามีแผงหน้าปัดที่สวยงามแปลกตาไม่ซ้ำใคร
ซ้ายสุดเป็นปุ่มหมุนเลือกอินพุท กึ่งกลางเป็นจอแสดงผลแต่แทนที่จะเป็นจอสำเร็จรูปทาง Circle Labs ดีไซน์ใช้ดวงไฟ LED เป็นจุดมาเรียงต่อกัน ดูโดดเด่นจริง ๆ ด้านบนเป็นแถบโลหะสีทองเซาะร่องชื่อยี่ห้อ ซึ่งด้านบนของแถบนี้ในส่วนที่เชื่อมต่อกับฝาบนจะติดตั้ง “สวิตช์เปิด / ปิดเครื่อง” ส่วนด้านล่างติดเพื่อให้ดูสมมาตร ขวาสุดเป็นปุ่มโวลุ่มซึ่งเลือกใช้แบบรีซิสเตอร์ ไม่ได้ใช้สำเร็จรูป ใครเคยเล่นโวลุ่มจะทราบดีว่ามีผลต่อ “คุณภาพเสียง” มากขนาดไหน นอกจากนี้เวลาหมุน จะดังแก๊ก ๆ ให้ความรู้สึกดีมาก ๆ ด้านล่างขวาสุดเป็นโลโก้ที่หลายคนคิดต่างไป บางคนบอกเหมือนมนุษย์ต่างดาว บางคนบอกเหมือนสุนัขจิ้งจอก???
ด้านข้างติดตั้งครีบระบายความร้อนเต็มพื้นที่ตัวเครื่องทั้ง 2 ฝั่งกันเลย ทำให้เวลาจับตัวถังด้านบนจะแค่อุ่น ๆ ไม่ร้อน ขณะที่ด้านบนก็มีช่องระบายความร้อน รวม 10 ช่องที่ครึ่งหลังของฝาบน ช่วยระบายความร้อนได้อีกทางหนึ่ง ด้วยว่า “หลอด” ของภาคปรีจะถูกติดตั้งบริเวณนั้นนั่นเอง
ด้านหลังไล่จากซ้ายไปขวา สกรีนยี่ห้อขนาดบิ๊กบึ้ม ด้านล่างเป็นขั้วลำโพงเป็น WBT Nextgen รุ่นใหม่เป็นยางนิ่ม ไม่ต้องโมดิฟายใด ๆ, ขั้ว RCA ของภาค Pre Out 1 คู่, กลุ่มอนาลอกอินพุทขั้ว RCA 3 ชุด XLR 1 ชุด (ขั้ว RCA ทั้งหมดเป็นยี่ห้อ CMC ส่วนขั้ว XLR เป็นของ Neutrik) ด้านล่างเป็นเบ้าเสียบสายไฟแบบ IEC 15 แอมป์พร้อมเมนสวิตช์ ขวาสุดเป็นขั้วลำโพงเป็น WBT Nextgen โดยที่ขั้วลำโพงมีเพียง 1 ชุด การเล่นไบไวร์อาจจะลำบากเล็กน้อยเนื่องจากต้องรวมสาย 2 ชุดในขั้วลำโพงเดียวกัน ด้านบนสกรีนชื่อรุ่นขนาดบิ๊กบึ้ม
มีรีโมทคอนโทรลทรงแท่งให้มาด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง Circle Labs : A200
- แหล่งโปรแกรม ; Audia Flight : FL Three CD, Nuprime : Omnia A300
- อินทิเกรตแอมป์ ; Circle Labs : A200
- ลำโพง ; Gamut : M3
- สายสัญญาณ ; HarmonicTech : Harmony Link III (XLR)
- สายลำโพง ; SharkWire : Blue Sea Classical
- สายไฟเอซี ; SharkWire : Blue Sea Classical, Life Audio : LD-5, Acoustic Zen : CL-3
- อุปกรณ์เสริม ; ปลั๊ก MSHD Power, Clef Audio ชั้นวาง Life Audio
ผลการลองฟัง Circle Labs : A200
เริ่มต้นลองฟังซึ่งในขณะนั้นลำโพงที่ถูกเซ็ทอัพไว้เป็น Gamut : M3 มีอิมพิแดนซ์ปกติที่ 4 โอห์ม ทำให้เมื่อต่อ Circle Labs : A200 เข้าระบบ จากเดิมมีกำลัง 100 วัตต์ที่ 8 โอห์ม จึงปั๊มกำลังเพิ่มเป็นได้ที่ 200 วัตต์ ขับได้เต็มที่ขึ้น และแสดงถึงภาคจ่ายไฟในตัวที่ทรงพลังสามารถเบิ้ลขึ้นมาเป็นเท่าตัว
ตัว Circle Labs : A200 ยังค่อนข้างใหม่มาก ผมเบิร์นด้วยแทรค The Sheffield / XLO Test & Burn-in CD 2-3 รอบก่อนเริ่มฟัง รวมถึงอุ่นเครื่องเป็นชั่วโมงก่อนทดสอบ เพื่อให้ “หลอด” ในภาคปรีนั้นเข้าที่มากที่สุด
พูดถึงตัว “หลอด” สักนิด ผู้ผลิตได้เลือกใช้ยี่ห้อซีเมนต์ Siemens เบอร์ ECC 8100 ซึ่งเป็นหลอด NOS (New Old Stock) หลอดยุคเก่าไม่ใช่หลอดผลิตใหม่ และยังไม่เคยใช้งานมาก่อน ซึ่งแปลว่าพวกเขาต้องสต๊อกหลอดไว้มากพอสมควร มิฉะนั้นคงทำได้ไม่กี่เครื่องเป็นแน่
คนเล่นส่วนมากยังเชื่อว่าหลอดยุคเก่าให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าหลอดที่ผลิตใหม่นั่นเอง ถ้าให้เลือกซื้อหลอดยุคใหม่ VS หลอดยุคเก่า…พวกเขาจะซื้อหลอด “เก่า” แม้จะใช้งานมาแล้วก็ตาม
เบอร์ ECC 8100 ของหลอดที่ใช้ใน Circle Labs : A200 สำหรับนักเล่นที่ซุกซนชอบการจูนต่าง ๆ อาจจะสามารถใช้เบอร์เทียบอย่าง 12AT7 เสียบทดแทนได้ (ต้องเช๊คละเอียดอีกครั้ง) ถ้าใช้ได้ หลอดเบอร์ 12AT7 นี้ จะมีให้เลือกพอสมควร มีทั้งหลอดผลิตใหม่กับหลอดยุคเก่าโดยมีราคาไม่แพงนักเมื่อเทียบกับเบอร์ 12AX7 อันนี้ราคาดุเดือดทีเดียว
ในสเปคเคลมว่ามีค่า damping factor การหยุดสั่นค้างของดอกลำโพง = 500 เมื่อฟังเพลงต่าง ๆ ตัว Circle Labs : A200 สามารถหยุดกรวยลำโพง Gamut : M3 ได้ดี ไม่บวมคราง ไล่โน๊ตเบสได้อย่างถูกต้อง นิ่งสนิท บางเพลงลงไปลึก ๆ บางเพลงเน้นมวลหนา ๆ Let It Go (Sheffield Labs CD-29)
Sound of China (Modern Audio : MCD 3101HQ) และ CenterStage (Wilson Audio WCD-8824) ถ่ายทอดไดนามิคโอ่อ่า คึกคัก มีไทมิ่งดี ไม่ใช่เน้นยืด ๆ จนขาดความเร้าใจ ขอบคุณตัวเก็บประจุค่าสูงถึง 200,000 uf ช่วยทำให้เนื้อเสียงมีพลังอัดฉีดที่ดี ต่อเนื่อง
Rhythm Basket (Ikauma Records – IRD-0007) ไทมิ่งดี ไม่ช้าหรือเร็ว มีมวลดี เสียงทุ้มควบแน่นรายละเอียดพรั่งพรู ชิ้นดนตรีเคาะมีตำแหน่งที่แน่นอน โอ่อ่าช่วงท้ายแผ่เต็มด้านหน้า ลำโพงล่องหน
Rain Forest Dream (Saydisc CD-SDL 384) เนียน อบอุ่น กลมกล่อม เป็น “อนาลอก” มาก ๆ บอกได้แค่นี้ ไม่รู้สึกว่าฟัง “ดิจิตอล” อยู่เลย
boydPod (Brilliance Music : BMS-1005 UHQCD) แทรค1 รักคุณเข้าอีกแล้ว ร้องไพเราะน่าฟัง ออดอ้อนทีเดียว เนื้อเสียงมีบอดี้ ส่วนนึงต้องขอบคุณภาคปรีที่เป็นหลอด แน่นอนว่าควรจะต้อง “อุ่น” เครื่องนานก่อนฟัง
Saint Me (AM 6038 UHQ) ปลายแหลมใสกระจ่าง เปิดโปร่ง ทอดตัวดี ไม่บาดหูแม้แต่น้อย รายละเอียดแผ่วเบาดี มิติตื้นลึกดี โฟกัสดีน้องๆ เข้าไปยืนในห้องบันทึกกันเลย
Gift : The Finger Style (GMM : G 0554023) เพลงไทย ถ่ายทอดได้ลื่นไหล อิ่มหวาน นักร้องมีเสียงที่ออดอ้อน อักขระชัดเจน ไทมิ่งดี น่าฟังจริง ๆ
The Wonderful Sound of Three Blind Mice (Golden String – GSCD 004) แทรค Bridge Over Troubler Water ขับร้องโดย Ayako Hosakawa มีมวลเสียงเข้มข้น เสียงร้องลื่นไหล มีบอดี้ ออดอ้อนดี มีการย้ำหนัก-เบา / สั้น-ยาวได้อย่างลงตัว
บทสรุป Circle Labs : A200
ต้องบอกว่า ถ้าคุณต้องการความเป็นยูนีค ไม่ซ้ำใคร มีรสนิยมที่ดี Circle Labs : A200 ถือว่าเป็นอินทิเกรตแอมป์ ” ไฮบริดจ์” ที่น่าสนใจ ภาคปรีเป็นหลอด ขณะที่ภาคขยายเป็นทรานซิสเตอร์ ที่ผสมจูนกันอย่างลงตัว น้ำเสียงที่ลื่นไหน น่าฟัง ไม่รุกเร้าแต่ไม่ทึม ที่น่าสนใจคือยึดมั่นการไม่ใส่ภาคใด ๆ เพื่อมารบกวนความบริสุทธิ์ของสัญญาณ มาพร้อมรูปลักษณ์อันหรูหรา
ถึงแม้ว่าแบรนด์ Circle Labs : A200 ไม่คุ้นหูคนทั่วไป แต่ผมบอกจากใจเลยว่า ถ้าคุณ “ไม่เปิดใจ” อาจพลาดของดีที่คิดว่า “ไม่มีอยู่จริง” ก็เป็นได้ แนะนำว่าลองไปหาฟัง
ไม่แน่ Circle Labs : A200 อาจจะเป็นเครื่องที่คุณตามหามากว่า 20 ปีก็เป็นได้ครับ