What HI-FI? Thailand

รีวิว เครื่องเล่นซีดี EAR YOSHINO ACUTE CLASSIC

หัสคุณ เกิดบัณฑิต

            Compact Disc หรือซีดี (CD) นั้น ถูกนำเสนอออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 หรือ พ.ศ. 2525 โดยความร่วมมือระหว่าง PHILIPS และ SONY ที่ตัดสินใจร่วมมือกันจัดตั้งทีมวิศวกรร่วม เพื่อออกแบบแผ่นดิสก์ระบบเสียงดิจิตอลแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐาน”เรดบุ๊ค” (Red Book) ด้วยระบบเสียงสเตอริโอที่ผ่านการเข้ารหัสแบบ PCM ( Pulse-code Modulation ) ขนาด 16 BIT ด้วยอัตราการสุ่มตัวอย่างหรือ sampling rate ที่ 44.1 KHz การกำเนิดของแผ่นซีดี หรือคอมแพคดิสก์ในขณะนั้น ต้องถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเสียงในระบบดิจิตอล คุณภาพเสียงของซีดีนั้นก็ได้รับทั้งการยอมรับ ความชื่นชม รวมทั้งคำติติงเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับคุณภาพเสียงที่ได้รับจากระบบอะนาลอกเดิม

จะอย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ ก็หันมาผลิตเครื่องเล่นซีดีอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แน่นอนว่าตลาดของแผ่นซีดีรวมทั้งเครื่องเล่นซีดีก็เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้วยคุณภาพเสียง ความสะดวกสบาย การใช้งานที่ง่าย การดูแลและการเก็บรักษาที่ทำได้ง่ายกว่าแผ่นไวนิลในอดีต มีหลายคนที่มองว่าสาเหตุที่ความนิยมในแผ่นซีดีเติบโตอย่างรวดเร็วนั้นก็เพราะมันเป็น “แฟชั่น” เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ใครๆ ต่างพากันตื่นเต้นไปกับระบบดิจิตอลแบบใหม่ ที่มาแทนระบบอะนาลอกเดิมนั่นเอง

            ช่วงราวๆ ต้นยุค 90s จนถึงปี ค.ศ. 2007 ต้องนับว่าระบบซีดีได้ก้าวมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด มีแผ่นซีดีจำหน่ายไม่น้อยกว่า 200 ล้านล้านแผ่นทั่วโลก สำหรับเครื่องเล่นซีดีเองก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และอาจจะถือว่าได้พัฒนามาถึงจุดสูงสุดแล้วด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นก็เริ่มมีระบบใหม่ๆในการเก็บข้อมูลรวมทั้งการเผยแพร่เกิดขึ้น ระบบซีดีเองก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงเป็นลำดับ ซึ่งก็เป็นไปตามวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์โดยทั่วไป ในขณะที่ผู้ผลิตหลายๆ เจ้าต่างเริ่มจะหันหลังให้กับเครื่องเล่นซีดี และหันไปหาเทคโนโลยีใหม่ๆ แทน แต่เชื่อหรือไม่ว่า กลับมีผู้ผลิตอยู่เจ้าหนึ่งที่รอคอยมานานถึง 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ระบบซีดีถูกนำเสนอออกสู่ตลาด และได้ตัดสินใจที่จะผลิตเครื่องเล่นซีดีเครื่องแรกของตนเองขึ้นในปี ค.ศ. 2007 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่แปลกและแหวกแนวไปจากรายอื่นๆ ผู้ผลิตที่มีแนวคิดแหวกแนวดังที่กล่าวก็คือ EAR Yoshino นั่นเอง

EAR Yoshino

            EAR หรือชื่อเต็มว่า Esoteric Audio Research LTD. ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1976 สำหรับคำว่า Yoshino นั้นเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะมีความหมายถึง ความนิยมยกย่อง การให้เกียรติ หรือความอุดมสมบูรณ์ เดิมทีนั้นจะใช้เพียงชื่อ EAR เท่านั้น ต่อมาในภายหลังได้เติมคำว่า Yoshino เข้าไป เข้าใจว่า Tim De Paravicini ผู้ก่อตั้ง ได้เพิ่มคำนี้โดยนัย ก็เพื่อที่จะสื่อถึงหม้อแปลงที่เขาได้ออกแบบขึ้นเองเป็นพิเศษและใช้ในผลิตภัณฑ์ของ EAR เป็นหลัก Tim เรียกหม้อแปลงนี้ว่า “ Yoshino ”Transformer

EAR เปิดตัวด้วยผลงานชิ้นแรกในปีนั้นด้วยเพาเวอร์แอมป์หลอดแบบโมโนบล็อก รุ่น EAR 509 ที่มีกำลังขับ 100 วัตต์ เพาเวอร์แอมป์ตัวนี้ถือว่าเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่มีความสมดุลอย่างลงตัว ถึงพร้อมด้วยคุณภาพความน่าเชื่อถือขนาด รวมทั้งราคาส่งผลให้ EAR 509 ยังคงอยู่ในไลน์การผลิตจนถึงทุกวันนี้ นับได้ว่าเป็นการวางรากฐานที่มั่นคง ส่งผลให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ของ EAR พัฒนา และก้าวต่อไปในอนาคต ตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ถูกสร้างขึ้นตามหลักปรัชญาของ EAR ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในสตูดิโอระดับมืออาชีพแบบโปรเฟสชั่นแนล เพื่อเก็บรายละเอียดในการบันทึกเสียงให้มีความสมบรูณ์ที่สุดมาจนถึงเครื่องเสียงชั้นเยี่ยมภายในบ้านที่ต้องการรังสรรค์คุณภาพเสียงระดับสตูดิโอ กลับมาสู่ผู้ฟังภายในห้องฟังที่บ้าน

            สิ่งที่ได้รับการสืบทอด และยึดถือกันมาจนเรียกได้ว่าเป็นปรัชญาของ EAR เลยก็ว่าได้ ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของ EAR ได้รับรางวัลรวมทั้งคำยกย่อง ชื่นชมมากมายจากผลิตภัณฑ์ในหลากหลายสาขา นั่นก็คือ ความเอาใจใส่ในการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมไปถึงขั้นตอนในการผลิตที่มีความประณีตดีเป็นพิเศษ คุณความดีดังกล่าวถือว่าเป็น “จุดแข็ง” ของ EAR ที่ดำรงอยู่และไม่เคยเปลี่ยน อีกทั้งยังสร้างชื่อเสียง และการยอมรับให้กับ EAR อย่างแข็งแกร่งนี้คือ วิสัยทัศน์ของ Tim De Paravicini ผู้ก่อตั้ง EAR ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่นำพา EAR ก้าวเดินมาอย่างมั่นคง และรับรู้จนได้รับการยอมรับไปทั่วทุกมุมโลก EAR หรือ EAR Yoshino ในเวลาต่อมาคือ ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ฟังที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดนั่นเอง !

พ่อมดแห่งวงการเครื่องเสียง นาม Tim De Paravicini

            Tim De Paravicini หรือในชื่อเต็มว่า Baron Timothy De Paravicini เป็นชาวอังกฤษ แต่ไปเกิดที่ประเทศไนจีเรีย (Nigeria) เพราะพ่อของเขาเป็นนักธรณีวิทยา ซึ่งขณะนั้นเข้าไปทำงานเกี่ยวกับเหมืองแทนทาลัมในไนจีเรีย Tim กลับมาที่ประเทศอังกฤษเมื่ออายุได้ 7 ขวบ ด้วยจุดประสงค์เพื่อการศึกษา แต่ความสนใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของอุปกรณ์นั้น Tim เริ่มตั้งแต่อายุเพียง 4 ปี เท่านั้น จนเมื่ออายุได้ 13 ปี Tim ก็เริ่มประกอบวิทยุ AM จากบทความในนิตยสารงานอดิเรก แต่ด้วยความจนทำให้เขาไม่สามารถซื้ออุปกรณ์ที่ต้องการได้ เขาจึงเริ่มด้วยการหาอุปกรณ์จากวิทยุเก่าๆ รวมทั้งโทรทัศน์จากกองซากอิเล็กทรอนิกส์ ความหงุดหงิดของ Tim จากโครงสร้างและการประกอบของโครงงานต่างๆ บังคับให้เขาเริ่มสนใจและลงลึกถึงการออกแบบ ทำให้เขาต้องพยายามที่จะคิดค้นอะไรใหม่ๆ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ และขยายเพิ่มเติมจนกลายมาเป็นการออกแบบใหม่ขึ้นมาเอง Tim เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัย Technical College และตามด้วย Electrical Engineering

            เมื่อจบการศึกษา เขาเริ่มงานโดยทำงานที่บริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง ในตำแหน่ง Customer Engineer และเมื่อเขาอายุได้ 21 ปี เขาก็ตัดสินใจที่จะเดินทางไปปักหลักที่แอฟริกาใต้ (South Africa) ที่ซึ่งมีอากาศที่อุ่นกว่า พร้อมกับโอกาสที่ดีกว่า Tim เริ่มทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เขาได้สานสัมพันธ์กับผู้คนในวงการเครื่องเสียงเป็นจำนวนมาก ด้วยการวางตัวเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำแก่ตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงแบบไฮไฟ อย่าง McIntosh, LUXMAN และอีกหลายๆแบรนด์ รวมทั้งผู้คนในอุตสาหกรรมแผ่นเสียง

Tim เองยังได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับวงดนตรีร็อก และระบบ PA System ไล่กันตั้งแต่ไมโครโฟนไปจนถึงระบบลำโพง รวมทั้งงานซ่อมและปรับปรุงเครื่องเสียงทั้งของระบบ PA และไฮไฟที่ใช้ภายในบ้าน ต่อมา Tim ก็ได้ก่อตั้งธุรกิจเล็กๆ ในการผลิตหม้อแปลงหรือทรานสฟอร์เมอร์ขึ้น ในช่วงนั้นเองที่ Tim ได้พูดคุยพร้อมกับให้คำปรึกษากับตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียง LUX ในแอฟริกาใต้อย่างมากมาย จนเมื่อประธานบริษัทและผู้จัดการฝ่ายขายของ LUX มาเยือนแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 1972 พวกเขาได้มีโอกาสพูดคุยกับ Tim และตัดสินใจที่จะเชิญ Tim ไปญี่ปุ่น Tim เองก็ตัดสินใจวางมือทุกอย่างที่แอฟริกาใต้ และมุ่งสู่ LUX ที่มีฐานอยู่ที่ Osaka ในประเทศญี่ปุ่น

            ที่ LUX , Tim ได้ทำงานเกี่ยวกับแอมป์แบบโซลิดสเตทอยู่ถึง 2 ปี ต่อมา Tim ก็ยืนหยัดที่จะหันไปทางหลอด  เขาได้พยายามนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ผ่านการพูดคุย แสดงความคิดเห็น และโต้เถียงกันกับทีมงานของ LUX เอง   Tim มองว่าเครื่องเสียงของญี่ปุ่นนั้น 99 เปอร์เซ็นต์ ล้วนเป็นงานเก่าในเหล้าขวดใหม่เท่านั้น มีแต่การปรับเปลี่ยนเพียงรูปโฉมภายนอก ขาดการริเริ่มในสิ่งใหม่ๆจากภายใน Tim จึงลงมือประกอบแอมป์ตัวต้นแบบขึ้นคู่หนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าแอมป์หลอดควรจะต้องเป็นอย่างไร ทาง LUX ได้ชมและฟัง จากนั้นจึงตัดสินใจที่จะผลิตแอมป์ตัวหนึ่งในนั้นขึ้น และนี่คือที่มาของผลงานชิ้นแรกของ Tim De Paravicini ภายใต้แบรนด์เนม LUX นั้นคือ เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก รุ่น MB 3045 ที่มีกำลังขับ 70 วัตต์ นี้ถูกเรียกขานว่าเป็นเพาเวอร์แแอมป์แบบไทรโอด (Triode Valves)

            ผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นก็คือ ปรีแอมป์ รุ่น C1000 ที่ Tim ตั้งใจออกแบบปรีแอมป์ที่มีค่าตรวจวัดที่เหนือกว่าปรีแอมป์ตัวไหนๆ ในตลาด ณ ขณะนั้น หรือให้ชัดเจนกว่านี้ก็คือ ดีที่สุดในโลก และนี่คือจุดเริ่มต้นของ“สงครามสเปค” (Specification Wars) นอกจากนี้ Tim ยังฝากฝีไม้ลายมือในผลิตภัณฑ์ของ LUX อีกหลายรุ่น อย่าง เพาเวอร์แอมป์ขนาดใหญ่ รุ่น M6000 เพื่อตลาดอเมริกัน รวมทั้งเพาเวอร์แอมป์รุ่นรองลงมาอย่าง M4000 และ M3000

            แต่แล้วเมื่อทำงานถึงจุดหนึ่ง Tim ก็รู้สึกถึงข้อจำกัด ด้วยการที่ตัวเขาเองเป็นคนอังกฤษไม่ใช่คนญี่ปุ่น  ดังนั้นความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเขาจึงมาถึงจุดสูงสุด ที่ไม่สามารถจะขยับก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ถ้าเขาต้องการตามล่าความฝันของตนเองด้วยการผลิตผลงานของตนเองอย่างจริงจัง เขาจำเป็นต้องก้าวเท้าออกจากญี่ปุ่น ออกจาก LUX Company ที่เขาทำงานมาร่วม 4 ปี ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจที่จะกลับมายังประเทศอังกฤษพร้อมกับภรรยาชาวญี่ปุ่น เมื่อกลับมาถึงอังกฤษ Tim ก็ได้ร่วมงานกับ TANGENT ใน Huntingdon ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

            ในขณะนั้น Tim ได้พบกับ Antony Michaelson และ Kevin Austin แห่ง M&A ผ่านคนใน TANGENT ทั้งสองได้ออกแบบแอมป์หลอดขึ้น Tim ได้ฟังแอมป์ตัวดังกล่าว ถึงแม้ว่าเสียงจะน่าฟังก็ตามแต่เมื่อทำการตรวจวัดแล้ว ผลที่ได้ออกมาแย่มาก Tim จึงนำมันมาปรับปรุงใหม่ทั้งหมด โดยที่ยังคงคุณภาพเสียงตามที่ทั้งสองนั้นต้องการ ผลงานชิ้นนี้ก็คือ TVA 1 นั่นเอง ซึ่งต่อมาทาง M&A ก็ได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นรุ่น TVA 10

ต่อมาทาง TANGENT ก็ประสบกับปัญหาทางด้านการเงิน Tim ได้มีโอกาสร่วมงานกับ TANGENT ก็เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น จากนั้น Tim ก็ตัดสินใจที่จะออกมายืนด้วยตนเอง ในช่วงที่ Tim ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับทาง M&A นั้น เขาได้เริ่มออกแบบเพาเวอร์แอมป์ตัวต้นแบบเอาไว้ ต่อมาเมื่อเขาออกจาก M&A เขาก็ยังรู้สึกผูกพันกับงานที่เขาได้ออกแบบไว้ จนเมื่อเขาก่อตั้ง EAR ขึ้น เพาเวอร์แอมป์ตัวดังกล่าวก็ถูกผลิตขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นเพาเวอร์แอมป์ตัวแรกภายใต้แบรนด์เนม EAR ซึ่งก็คือ เพาเวอร์แอมป์หลอดแบบโมโนบล็อกที่มีกำลังขับ 100 วัตต์ รุ่น EAR 509 นั่นเอง

            ในปี ค.ศ. 1983 Tim ก็มีโอกาสได้กลับเข้าสู่วงการโปรเฟสชั่นแนลอีกครั้ง เมื่อเขาได้พบผู้คนในสตูดิโอซึ่งต้องการเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อใช้ในงาน Tim เลยออกแบบระบบเครื่องตัดแผ่น (Disc-Cutting System) ทั้งตัวให้กับทาง Island Recordsเขายังได้ตัดแผ่นเสียง( cut records) ให้กับทาง Island Records ยังมีค่ายเพลงอย่าง Water Lilly Acoustics รวมทั้ง Chesky Recordsด้วย ทาง Mobile Fidelity เองก็มีเครื่องตัดแผ่นรุ่นที่ปรับปรุงใหม่โดย Tim ใน California ด้วยเช่นกัน Tim ยังได้ทำงานรวมทั้งสร้างอุปกรณ์-เครื่องมือให้กับวงร็อกแบบโปรเกรสซีฟชื่อดังอย่าง Pink Floyd ในการแสดงคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ ซึ่ง Tim ถือว่าเป็นโชคและนับเป็นโอกาสที่ดี

Tim ได้พบกับ Antony Michaelson อีกครั้ง ครานี้ Antony Michaelson ได้ก่อตั้ง Musical Fidelity ขึ้นTim ได้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษา พร้อมกับได้ออกแบบอินทีเกรทแอมป์ที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากที่สุดตัวหนึ่งของโลก และได้กลายมาเป็นหนึ่งในตำนานแห่งวงการตลอดกาล อินทีเกรทแอมป์ตัวนั้นก็คือ Musical Fidelity A1 ตัวของTim เองยังมีความพอใจและมีความสุขที่มีส่วนในการสนับสนุน และผลักดันวงการเครื่องเสียงให้ก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เขายังได้มีส่วนในการออกแบบเครื่องเสียงอีกหลายชิ้น จากหลากหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น QUAD, ALCHEMIST และ UNITY AUDIO

            ในช่วงปี ค.ศ. 1990s Tim ก็ได้สร้างผลงานที่น่าทึ่ง เขาได้ปรับปรุง (Upgrade) หรือจะเรียกว่า สร้างมันขึ้นมาใหม่แบบ Re-Build เลยก็ว่าได้ กับเครื่องบันทึกเทประดับตำนานอย่าง STUDER C37 Tim สั่งทำหัวเทปขึ้นเป็นพิเศษแบบ Custom-Made ตามรายละเอียดที่เขาต้องการ ปรับปรุงระบบกลไกภายในใหม่ ถอดชุดวงจรเก่าออก และสร้างวงจรขึ้นมาใหม่ใส่เข้าไปแทน สร้างวงจรภาคเพาเวอร์ซัพพลายใหม่ และปรับปรุงในส่วนต่างๆ อีกมากมาย จนคุณภาพเสียงของมันเหนือกว่าเครื่องบันทึกเทปของ AMPEX MR 70 เสียอีก ไม่เพียงเท่านั้นผู้คนในวงการสตูดิโอบันทึกเสียงยังยอมรับว่า ผลงานของ Tim ทำให้ระบบบันทึกเสียงแบบอะนาลอกนั้น มีคุณภาพเสียงที่เหนือกว่าระบบบันทึกเสียงแบบดิจิตอลเสียด้วยซ้ำ

            หลายสตูดิโอจึงนำเครื่องบันทึกเทปมาให้ Tim ปรับปรุงกันและประทับใจกับฝีมือของ Tim เป็นอย่างมากKavi Alexander เอ็นจิเนียร์ของสตูดิโอ Water Lily Acoustics ได้รับรางวัล Grammy Award ในสาขา Sound Engineering จากอัลบั้มของ Ry Cooderที่บันทึกด้วยเครื่องบันทึกเทป STUDER C37 ที่ได้รับการปรับปรุงโดยฝีมือของ Tim De Paravicini ความสามารถของ Tim ไม่ได้หยุดอยู่แค่เครื่องตัดแผ่นหรือเครื่องบันทึกเทปเท่านั้น แต่เขายังได้ปรับปรุงไมโครโฟนสำหรับการบันทึก, แอมปลิไฟเออร์ที่ใช้ในสตูดิโอ รวมทั้งระบบลำโพง Tim รู้ว่าการบันทึกเสียงที่ดีนั้นต้องทำอย่างไร ความสามารถและฝีมือของ Tim จึงเป็นที่เลื่องลือ และได้รับการยอมรับไปทั่วทุกมุมโลก

ฝีมือ ความเข้าใจ ความประณีตอย่างเอาใจใส่ ถูกถ่ายทอดลงในผลิตภัณฑ์ของ EAR Yoshino ทุกชิ้น ผลิตภัณฑ์ของ EAR Yoshino จะถูกประกอบขึ้นในโรงงานของ EAR Yoshino เองใน Cambridgeshire ,ประเทศอังกฤษผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจะถูกประกอบโดยเอ็นจิเนียร์ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับ EAR Yoshino มากว่า 10 ปี การประกอบนั้นจะเริ่มขั้นตอนจากต้นไปจนจบเสร็จสิ้นด้วยเอ็นจิเนียร์เพียงคนเดียว อุปกรณ์ทุกชิ้นจะผ่านการตรวจสอบและคัดสรรมาอย่างละเอียด ถี่ถ้วน เพื่อให้เป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่จะสร้างความพึงพอใจ และมั่นใจในคุณภาพที่เหนือกาลเวลา นี่คือ EAR Yoshino นี่คือผลงานที่ภาคภูมิใจของ Tim De Paravicini ผู้ที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น”พ่อมดแห่งวงการเครื่องเสียง”นั่นเอง !

ACUTE CLASSIC จาก EAR  Yoshino

            เมื่อระบบซีดีถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1982 นั้น Tim De Paravicini เป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่มองเห็นข้อจำกัด หรือข้อบกพร่องในคุณภาพเสียงของระบบเสียงแบบดิจิตอลใหม่นี้ Tim เชื่อว่าระบบอะนาลอกเดิมนั้นให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าระบบดิจิตอลใหม่ที่คิดค้นขึ้น Tim ยอมรับว่าเขาสามารถจะผลิตเครื่องเล่นซีดีออกมาได้ตั้งนานแล้ว แต่เขาปฏิเสธที่จะทำและก็อดกลั้นความรู้สึกนั้นไว้ และค่อยๆมองอย่างระมัดระวัง เขาไม่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อของเขาอยู่บนนั้น กลับมาตามหลอกหลอนเขาในอนาคต บางคนอาจจะมองว่า Tim นั้นยึดติดกับอะนาลอก หรือหลอดจนเกินไปและไม่สนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว Tim ยืนยันว่าตัวเขานั้นพร้อมและเปิดกว้างสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่มีสิ่งใดจะมาหยุดยั้งเขาได้ ถ้าเขาเชื่อและคิดว่าสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้นดีจริง

            มีผู้คนเรียกร้องและขอร้องให้ Tim ลงมือสร้างเครื่องเล่นซีดีมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ Tim ก็ยังรั้งรอจนเมื่อเขาคิดว่า เขาสามารถที่จะทำออกมาได้ดีกว่าเครื่องส่วนใหญ่อยู่บ้างเล็กน้อย Tim ก็ไม่รั้งรอเช่นกัน นั่นจึงเป็นที่มาของเครื่องเล่นซีดี รุ่น ACUTE ที่เริ่มต้นผลิตขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2007 Tim ต้องการระบบการควบคุม ระบบการสั่งงาน รวมถึงระบบกลไกของเครื่องที่ดีมีความน่าเชื่อถือและมีการผลิตที่ต่อเนื่อง Tim จึงได้เลือกระบบของ ARCAM มาใช้ใน ACUTE ใหม่นี้ ต่อมา Tim ก็ได้ปรับปรุงเครื่องเล่นซีดี ACUTE มาเป็นรุ่น ACUTE 3 ในปี ค.ศ. 2012 และแล้วTim ก็ได้ปรับปรุง และพัฒนาเครื่องเล่นซีดีจาก ACUTE 3 เดิมมาเป็น ACUTE CLASSIC ใหม่ในปัจจุบัน

รูปลักษณ์และการออกแบบ

            ACUTE CLASSIC ได้รับการออกแบบหน้าตาใหม่ให้ดูสวยงาม หรูหรา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวกว่า ACUTE เดิมอยู่ไม่น้อยเลย ด้วยแผงหน้าที่ขึ้นรูปจากแผ่นทองเหลือง ผ่านการขัดแบบ Hand-Polished และเคลือบเงาด้วย Chrome Finish ตัวถาดรับแผ่นนั้น เรียว บาง วางตัวอยู่ทางด้านซ้าย ช่วยทำให้เครื่องดูสะโอดสะองและเพรียวบางขึ้นอย่างน่าแปลกใจ ที่มุมซ้ายจะมีช่องต่อหูฟัง (Headphone Socket) ขนาด ¼ นิ้ว มาให้ 1 ชุด สามารถรองรับหูฟังที่มีอิมพีแดนซ์ตั้งแต่ 16-100 โอห์ม ถัดมาจะมีปุ่มควบคุมทั้งหมด 6 ปุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย ปุ่ม Eject เพื่อเปิด / ปิดถาดรับแผ่น, ปุ่ม Stop, Play / Pause, ปุ่ม Skip Track (ข้ามเพลง) / Fast Forward&Rewind (เดินหน้า / ถอยหลังเพลงแบบเร็วๆ ทั้งย้อนเพลงและข้ามเพลง) สำหรับปุ่มสุดท้ายจะเป็นปุ่มฟังก์ชัน เพื่อเลือกแหล่งโปรแกรมระหว่าง CD และภาคดิจิตอลอินพุท

ตรงกลางจะเป็นหน้าจอดิสก์เพลย์ขนาดใหญ่ มีไฟ LED สีส้มมองเห็นได้ชัดเจนถัดไปทางขวาก็จะเป็นปุ่มลูกบิด Volume Control ที่ไม่ใช้ปุ่มปรับระดับความดัง (Volume) แบบธรรมดาทั่วไป แต่จะเป็นปุ่มใช้เพื่อปรับระดับเอาท์พุทของ ACUTE CLASSIC (สำหรับรายละเอียด และการใช้งานนั้นขอนำไปอธิบายในช่วงทดลองฟังครับ) สำหรับปุ่ม เปิด / ปิด (Power On / Off) จะอยู่ทางมุมขวาล่างซึ่งเมื่อกดใช้งานจะมีวงแหวนรอบปุ่มสว่างขึ้นเป็นไฟสีส้มดูสวยงาม สาเหตุที่ Tim จงใจเลือกใช้ไฟแสงสีส้มที่จอดิสเพลย์และปุ่มเปิด/ปิดเครื่องก็เพื่อให้ความรู้สึกถึงความอบอุ่นที่สื่อถึงความเป็นหลอดนั่นเอง

            ด้านหลังจะมีขั้วต่ออะนาลอกเอาท์พุทแบบ RCA และแบบBalanced XLR มาให้อย่างละ 1 ชุด มีดิจิตอลอินพุทแบบ Coaxial S/PDIF มาให้ 1 ชุด และแบบ Optical S/PDIF Toslinkอีก 1 ชุด มีขั้วต่อแบบ USB 2.0 Type B ที่สามารถรองรับระบบดิจิตอลแบบ 16-24 BIT Sampling Rate ที่ 44.1-192 KHz ได้  ทางด้านซ้ายจะเป็นขั้วต่อสายไฟAC แบบซ็อกเกต 3 ขา IEC แบบมีกราวด์ สามารถถอดเปลี่ยนสายได้

            ACUTE CLASSIC มีสัดส่วนอยู่ที่ 435 x 65 x 285 มม.(ก x ส x ล) ถึงแม้จะดูเป็นเครื่องที่ดูเพรียวบาง แต่น้ำหนักตัวของ ACUTE CLASSIC อยู่ที่ 8 กก.ซึ่งถือว่าหนักใช้ได้เลยทีเดียว ที่มาของน้ำหนักนั้นมาจากโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ตัวถังด้านล่างจะขึ้นรูปจากเหล็กหนา ฝาเครื่องจะเป็นอะลูมิเนียมพับทำสีดำกึ่งเงา รวมทั้งหม้อแปลงที่ได้ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถันและใส่ใจเป็นพิเศษนั่นเอง

            นอกจากรูปโฉมใหม่แล้ว ภายใน ACUTE CLASSIC ก็ยังได้รับการออกแบบและปรับปรุงใหม่ทั้งหมด เริ่มจากหม้อแปลงแบบเทอร์รอยด์ใหม่ที่มีฝาครอบโลหะขัดเงาจนดูเผินๆ คล้ายกับหม้อแปลงแบบ EI การใช้ฝาครอบหม้อแปลงนั้น โดยนัยก็เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของคลื่นแม่เหล็กที่อาจจะไปรบกวนส่วนของวงจรที่อยู่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังให้ความสวยงาม และเข้าใจว่า Tim ต้องการให้หม้อแปลงเทอร์รอยด์ใน ACUTE CLASSIC นั้น ดูเหมือนหม้อแปลง EI เพื่อความสวยงามและลงตัวอย่างพอเหมาะจริงๆ

            สำหรับชุดขับเคลื่อน ระบบกลไก รวมทั้งภาคคอนโทรลจากเดิมที่ใช้ชุดของ ARCAM ใน ACUTE รุ่นแรกจนมาถึงรุ่น ACUTE 3 มาใน ACUTE CLASSIC ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ทาง EAR Yoshino ไม่ได้ให้รายละเอียดหรือข้อมูลใดๆ เป็นไปได้ที่ทาง EAR Yoshinoได้ลงมือพัฒนาระบบขึ้นมาเองแบบ In House เพื่อให้ความมั่นใจในเรื่องของการเซอร์วิส และคำนึงถึงการใช้งานในระยะเวลาที่ยาวนาน

            ในภาคดิจิตอลของ ACUTE CLASSIC ซึ่งจะทำหน้าที่ในการแปลงสัญญาณทั้งภายในซีดีเองและรับมือกับสัญญาณอินพุทดิจิตอลนั้น Tim เองชอบและเลือกใช้ DAC ของ WOLFSON มาตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียว เขาเชื่อว่า DAC ของ WOLFSON นั้นดีที่สุดในบรรดา DAC ทั้งหมดในตลาด สิ่งที่น่าสนใจก็คือ Tim ไม่ได้เชื่อจากสเปคแต่เขาเชื่อเพราะว่าเขาได้ทำการทดสอบ และตรวจเช็คอย่างละเอียดแล้วนั่นเอง จากการทดสอบทำให้เขาพบว่า DAC ของ WOLFSON นั้น สามารถถ่ายทอดคุณภาพออกมาได้ใกล้เคียงกับคุณภาพเสียงของอะนาลอก “ถึงแม้จะไม่ค่อยเหมือนก็เถอะ แต่ก็มีความใกล้เคียง” Tim สำทับเพิ่มเติม

ใน ACUTE CLASSIC ได้เลือกใช้ DAC รุ่น WM 8741 ซึ่งทำงานในระบบ Stereo D/A Converter แบบ Multi-Bit Sigma Delta Modulator มีวงจร Digital Interpolation Filter สำหรับ Digital Filters นั้น สามารถเลือกการลาดลงของความถี่ (Roll-Off) ได้หลากหลาย ทำให้มีความคล่องตัวสูงในการเลือกใช้งาน WM 8741 สามารถรองรับสัญญาณ PCM อินพุทได้ตั้งแต่ 16 Bits ไปถึง 32 Bits มี Sampling Rate ที่ 192 kHz ในวงจรภาคดิจิตอลนั้น ทาง EAR Yoshinoได้ออกแบบและให้ความใส่ใจในการทำงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด มีการใช้หม้อแปลงขนาดจิ๋วที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษในทางเดินสัญญาณ ซึ่งทาง EAR Yoshino เรียกว่า Signal Transformers เพื่อช่วยเสริมการทำงานของ DAC WOLFSON WM 8741 เพื่อให้ได้สัญญาณเสียงที่กระจ่างและชัดเจน ปราศจากอาการหยาบกระด้างที่มักพบเจอกับแหล่งกำเนิดเสียงดิจิตอลโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีข้อดีในการลดสัญญาณรบกวน (Noise) และความเพี้ยน (Distortion) อีกด้วย

            ความพิเศษใน ACUTE CLASSIC ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ Tim ยังต้องการให้สัญญาณที่ส่งผ่านจาก DAC นั้น มีความเรียบง่ายและบริสุทธิ์ที่สุด เขาจึงได้ใช้วงจรแบบ Passive LC Filter เพื่อรับมือและจำกัดสัญญาณรบกวนแบบดิจิตอลที่เกินความถี่ 50 kHz ออกไป มีการใช้โวลุ่มในการปรับระดับเกนการขยายเพื่อส่งต่อสัญญาณไปยังภาคไลน์แอมป์ที่เป็นหลอด ตัว Tim เองนั้น เขาไม่ชอบระบบการปรับเกนขยายด้วยวงจรแบบดิจิตอลที่มีความหยาบ กระด้างเจือปนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Tim จึงเลือกใช้ระบบโวลุ่มแบบอะนาลอกแทน

ตัวโวลุ่มที่เลือกใช้เป็นแบบ motorised ที่สามารถปรับระดับเกนได้ด้วยรีโมทคอนโทรลและโวลุ่มที่เลือกใช้เป็นของ ALPS ของญี่ปุ่นมีการออกแบบหม้อแปลงเอาท์พุท (Output Transformers) ขึ้นมาเป็นพิเศษ 1 ตัวต่อแชนแนล ที่ให้ค่าอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวนที่ดีเป็นพิเศษ หม้อแปลงดังกล่าวถูกพันขึ้นด้วยมือ (Built by Hand) ใน Cambridgeshire ตามสเปคที่ทาง EAR Yoshino กำหนดขึ้น เพื่อให้ทำงานร่วมกับหลอดอย่างลงตัว

สำหรับหลอดที่ทาง EAR Yoshino เลือกใช้คือ หลอด ECC 88 (6DJ8) Dual-Triode ตัววงจรนั้นถูกใช้ในรุ่น ACUTE 3 จนเป็นที่กล่าวขวัญมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ใน ACUTE CLASSIC นี้ ลักษณะของวงจรได้ถูกปรับปรุงใหม่ตามแบบของวงจรที่ใช้ใน DAC แบบแยกชิ้นคุณภาพสูงของ EAR Yoshinoรุ่น DAC 4 ตัวของTim ย้ำว่าการเลือกใช้หลอดนั้น หลอดไม่ได้เป็นตัวกำหนดถึงคุณภาพเสียงอย่างที่หลายๆคนเข้าใจกัน แต่หัวใจสำคัญคือการออกแบบวงจรให้มีความสามารถที่จะดึงเอาเอาท์พุทของหลอดออกมาใช้ได้อย่างสูงสุด เพื่อที่จะขับโหลดที่สูงถึง 600 โอห์ม ตลอดย่านความถี่ที่กว้างโดยมีเกนขยายที่สูงถึง 26 dB นั้นต่างหาก ที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของเสียงในแนวทางของหลอดที่ควรจะเป็น

ในคู่มือของ ACUTE CLASSIC มีการระบุห้ามผู้ใช้สับเปลี่ยนหลอดที่ใช้ภายในด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด หากมีความต้องการจะเปลี่ยนหลอดไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ต้องนำเครื่องไปให้ทางตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลให้เท่านั้น ถึงแม้การสับเปลี่ยนหลอดจะไม่ได้ยุ่งยาก แต่การสับเปลี่ยนหรือถอดหลอดออกด้วยตนเองจะถือว่าเป็นการตัดสิทธิ์ในการรับประกันสินค้าในทันที ดังนั้นแนะนำให้คุยและสอบถามจากทางตัวแทนจำหน่ายในบ้านเราให้เป็นที่เข้าใจอย่างละเอียด ก่อนจะลงมือทำการใดๆ กับหลอดใน ACUTE CLASSIC เสียก่อนก็จะเป็นการดียิ่ง

สเปคของ ACUTE CLASSIC มีดังนี้

Valves

Audio Playback

Connectivity

Performance

Dimensions & Weight

Power

ผลการทดลองฟัง

            ACUTE CLASSIC มาอยู่กับพวกเราด้วยระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ด้วยปัจจัยของตัว ACUTE CLASSIC เอง และด้วยเหตุปัจจัยส่วนตัวทำให้ต้องห่างเว้นไปจากงานเขียนและการฟังทดสอบในช่วงระยะหนึ่งด้วยความจำเป็น ผลของการทดลองฟัง ACUTE CLASSIC ในครั้งนี้จึงอาจจะมีความไม่สมบูรณ์ตามที่ได้ตั้งใจไว้ ก็ต้องกล่าวคำขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ซิสเต็มที่ใช้ร่วมในการฟังประกอบด้วย

ห้องฟังขนาด 4 x 8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี

            มีเรื่องที่ต้องอธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปุ่มลูกบิด Volume Control ของ ACUTE CLASSIC กันอย่างละเอียด ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ปุ่มลูกบิด Volume Control ของ ACUTE CLASSIC ไม่ใช่ปุ่มปรับระดับความดังแบบธรรมดาๆ ที่มีอยู่ในเครื่องเล่นซีดีโดยทั่วไปซึ่งจะมีทั้งเป็นระบบอะนาลอกหรือดิจิตอล ปกติในเครื่องเล่นซีดีที่มีปุ่มโวลุ่มก็เพื่อความสะดวกในการใช้งาน มีนักเล่นหลายท่านนำเอาไปเล่นโดยต่อตรงเข้ากับเพาเวอร์แอมป์โดยตรงโดยไม่ต้องใช้ปรีแอมป์เลยก็มี สำหรับคุณภาพเสียงจะเป็นที่ถูกใจหรือถูกหูหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ความพอใจของแต่ละท่าน เกือบร้อยทั้งร้อยของเครื่องเล่นซีดีเหล่านั้น เมื่อเร่งระดับโวลุ่มไปจนสูงสุดก็จะมีระดับเอาท์พุทที่ไม่เกินไปกว่าแรงดันของเอาท์พุท ซึ่งโดยมาตรฐานจะกำหนดไว้ที่ 2 โวลต์ มีบ้างบางเครื่องที่อาจจะเกินเลยไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย แต่สำหรับเครื่องเล่นซีดีของ EAR Yoshino นั้น Tim ได้ออกแบบมาเป็นพิเศษ นอกจากจะเป็นตัวปรับระดับความดังในแง่ของโวลุ่มสำหรับเครื่องเล่นซีดีและช่องหูฟัง ยังเป็นปุ่มในการปรับเกนขยายของภาคเอาท์พุทที่เมื่อเร่งสูงสุดแล้วจะมีแรงดันในภาคเอาท์พุทที่สูงถึง 5 โวลต์ เลยทีเดียว! (ทั้งช่อง Output ทั้งในแบบ RCA และ BALANCED XLR)

            Tim ได้ให้เหตุผลว่า ที่ต้องออกแบบให้เครื่องเล่นซีดีของตนเองนั้นสามารถปรับแต่งเอาท์พุทได้สูงถึง 5 โวลต์ ก็เพราะเขาต้องการให้เครื่องเล่นซีดีของเขาสามารถที่จะต่อตรงเข้ากับเพาเวอร์แอมป์และสามารถที่จะขับเพาเวอร์แอมป์ทั้งหมดที่มีอยู่ในวงการได้ทั้งหมดทุกเครื่อง Tim ตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ว่า มีเพาเวอร์แอมป์อยู่จำนวนหนึ่งที่ต้องการแรงดันในการขับที่สูงกว่าปกติโดยทั่วไป เพาเวอร์แอมป์เหล่านี้ต้องการแรงดันที่สูงถึง 3 หรือ 4 โวลต์ขึ้นไป จึงจะทำให้มันถูกขับจนเกิดการคลิปหรือถูกขับจนเกินกำลังได้  Tim จึงต้องการดึงเอาศักยภาพสูงสุดของเพาเวอร์แอมป์เหล่านั้นออกมา ซึ่งเครื่องเล่นซีดีที่มีเอาท์พุทเพียงแค่ 2 โวลต์ ไม่สามารถที่จะทำได้ แต่เครื่องเล่นซีดีของ EAR Yoshino นั้นทำได้

            ดังนั้นการใช้งานในการปรับเกนขยายของปุ่ม Volume Control ใน ACUTE CLASSIC หรือ ACUTE รุ่นอื่นๆ ก็ตาม จึงต้องเป็นไปด้วยความเข้าใจ และใช้งานอย่างระมัดระวัง เพราะถ้าใช้ผิดอาจจะทำให้ทั้งปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้งานร่วมกัน เกิดการ Overload และอาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ Tim แนะนำว่า กับการใช้งานตามปกติก็ควรจะเซ็ตระดับของ Volume Control ไว้ที่ประมาณ 1 นาฬิกา ซึ่งจะทำให้ ACUTE CLASSIC มีระดับเอาท์พุทอยู่ที่ค่ามาตรฐานกำหนดคือ ที่ 2 โวลต์ พอดี

            น่าเสียดายที่สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่มีอยู่ในคู่มือการใช้งานของ ACUTE CLASSIC เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อการใช้งานในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ที่ไม่ควรมองข้ามหรือละเลยอย่างง่ายๆ   เป็นไปได้ที่ Tim อาจจะวางมาตรฐานและความเข้าใจของผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของ EAR Yoshino เอาไว้สูงในระดับมืออาชีพหรือโปรเฟสชั่นแนล หรือต้องการให้ทางตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้อรรถาธิบายและทำความเข้าใจโดยตรงกับผู้ใช้งานตัวจริงก็เป็นได้

            พวกเราเริ่มต้นการฟัง ACUTE CLASSIC ด้วยการเชื่อมต่อผ่านสายสัญญาณแบบ BALANCED XLR ไปยังซิสเต็มของ KRELLเป็นอันดับแรก ACUTE CLASSIC เปิดตัวด้วยน้ำเสียงที่มีความโปร่ง เสียงร้องของAdele มีความสดใสที่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล แจกแจงรายละเอียดได้ดี ดูเหมือน ACUTE CLASSIC จะให้ความสำคัญกับย่านเสียงกลางเป็นหลัก จากนั้นจึงขยายอาณาบริเวณลงไปทั้งย่านกลางต่ำและขึ้นไปถึงย่านกลางสูง ส่งผลให้ย่านเสียงดังกล่าว มีความกระจ่าง สดใส มีความชัดเจนที่โดดเด่นแฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล (Adele 19 : XL Recording / Columbia : USA) เสียงไวโอลินจากฝีมือของ Isaac Stern นั้นกระชับ แต่สปีดของดนตรีเหมือนจะถูกดึงให้ช้าลงกว่าปกติ ทำให้ขาดความกลมกลืนอย่างที่คุ้นเคยไปอย่างน่าเสียดาย (Isaac Stern “Humoresque” Favorite Violin Encores : CBS / USA)

กับเพลงแนวคึกคัก เร่งเร้า ตามสไตล์ของชาวคิวบา อย่าง La Maxima Expression ยิ่งแสดงให้เห็นถึงจังหวะดนตรีของ ACUTE CLASSIC ที่ถ่ายทอดผ่านซิสเต็มของ KRELL นั้น ดูจะย่อหย่อนจังหวะความคึกคัก หรือไทม์มิ่งของดนตรีลงไปกว่าที่คุ้นเคยอย่างชัดเจน (Salsa, Merengue, Mambo! / EMI : Italy) ตอกย้ำด้วยเพลง Hotel California ที่วง The Eagles แสดงสดในปี ค.ศ. 1994 ที่ Warner Bros Studio ใน Burbank, California ที่จังหวะของเบสนั้น ย่อหย่อนทั้งจังหวะ สปีด รวมถึงน้ำหนัก และพละกำลังของเบสต่ำอย่างน่าแปลกใจ (Eagles Hell Freezer Over : Geffen / USA)สำหรับซาวด์สเตจนั้น ถึงแม้จะวางวงถอยหลังแบบ Laid back  แต่อิมเมจจะค่อนข้างใหญ่ การจัดวางรูปวงจะเรียงตัวแบบหน้ากระดาน ซาวด์สเตจจะโดดเด่นเฉพาะด้านกว้างเท่านั้น

            ในคาบที่สองพวกเราสับเปลี่ยนนำ ACUTE CLASSIC มาต่อร่วมกับซิสเต็มของ PARASOUND โดยยังคงการต่อเชื่อมด้วยสายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR แนวเสียงที่ ACUTE CLASSIC ถ่ายทอดออกมายังคงคล้ายคลึงกับที่ฟังได้จากซิสเต็มของ KRELL ความกระจ่างและความชัดเจนนั้นเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ความนุ่มนวลจะถูกลดปริมาณลงไปในอัตราเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกัน เสียงร้องของ Adele ยังคงมีความโปร่ง แยกแยะรายละเอียดได้ดี แต่น้ำเสียงนั้นมีความกระด้างและกร้าว เสียงของ Adele จะมีอาการแผดพุ่งออกมามากกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงที่เธอใช้พลังในการร้องในคีย์ที่สูงขึ้น การแยกแยะรายละเอียดของเสียงแหลมนั้นทำได้ดี ปลายเสียงมีความกังวานที่น่าฟังก่อนจะเก็บตัวลง (Lars Erstrand and Four Brothers : Opus 3 / Sweden) การแยกแยะชิ้นดนตรีต่างๆ ทำได้ดี แต่การแสดงให้รู้สึกถึงช่องว่างระหว่างดนตรีนั้นทำได้ไม่ดีนัก การจัดวางรูปวงยังคงวางวงถอยหลังลงไปกว่าแนวระนาบของลำโพงแบบ Laid back การจัดวางรูปวงยังคงเรียงตัวในแนวหน้ากระดานเช่นเดิม ซาวด์สเตจจะโดดเด่นแต่เฉพาะด้านกว้างเท่านั้น

            ต่อมาได้สลับสับเปลี่ยนไปใช้สายนำสัญญาณแบบ RCA แทน ปรากฏว่าช่อง RCA จะให้ระดับเสียงที่ดังกว่าช่องต่อแบบ BALANCED XLR บางท่านอาจจะรู้สึกแปลกใจเพราะปกติช่องต่อแบบ BALANCED XLR จะมีระดับเสียงที่ดังกว่า ต้องไม่ลืมว่าในเครื่องทั่วไปนั้นปกติจะออกแบบช่องต่อแบบ RCA ให้มีเอาท์พุทอยู่ที่ระดับ 2 โวลต์ และสำหรับช่องต่อแบบ BALANCED XLR จะมีเอาท์พุทอยู่ที่ 4 โวลต์ ซึ่งมากกว่าช่องต่อแบบ RCA ถึงเท่าตัว แต่สำหรับ ACUTE CLASSIC นั้น ถูกออกแบบมาให้ปรับระดับสัญญาณของเอาท์พุทได้ ดังนั้นเมื่อตั้งระดับเอาท์พุทไว้เท่ากัน ช่องต่อ RCA จึงจะให้ระดับเสียงที่ดังกว่าช่องต่อแบบ BALANCED XLR อย่างแน่นอน

            ผลที่ได้จากการต่อด้วยสายนำสัญญาณแบบ RCA นั้นก็คือ น้ำเสียงโดยรวมของ ACUTE CLASSIC จะเปิดโปร่งขึ้น มีความเป็นอิสระมากขึ้นในทุกด้าน ถึงแม้น้ำเสียงจะเปิดโปร่ง กระจ่าง และมีความชัดเจนขึ้น แต่อาการแผดพุ่ง กระด้าง กร้าว ที่มีอยู่เดิมก็กลับยิ่งถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน เนื้อเสียงโดยรวมก็จะบางลง กับเสียงเปียโนที่บรรเลงโดย Vladimir Horowitz ก็ให้จังหวะที่เร่งเร้าขึ้นเล็กน้อย การลงน้ำหนักของคีย์เปียโนนั้นทำได้ดี ให้ความต่อเนื่องที่ดี ( Horowitz in Moscow : DG/ Germany) กับเพลง Jazz Variants ที่บรรเลงโดยวง The O-zone Precussion Group นั้น ACUTE CLASSIC ก็ถ่ายทอดน้ำเสียงที่สดใส มีความกระจ่างอย่างโดดเด่น แม้ในย่านเสียงสูงจะฟังดูบางเบาไปบ้าง แต่อัพเปอร์เบสนั้นมีจังหวะจะโคนที่กระชับ คึกคัก กระฉับกระเฉง มีการย้ำเน้นที่รวดเร็ว หนักแน่น เบสต่ำๆ จะเก็บตัวเร็ว (Manger : MusikWie Von Einem / www.manger-msw.com) สำหรับซาวด์สเตจนั้นยังคงโดดเด่นเฉพาะแต่เพียงด้านกว้างเป็นหลัก

            ในคาบที่สามได้สลับเปลี่ยนแอมป์มาเป็นซิสเต็มของ ADCOM โดยที่ปรีแอมป์ GFP-750 จะปรับภาคปรีแอมป์ให้ทำงานในแบบ Passive เป็นหลัก  คราวนี้ ACUTE CLASSIC ก็ให้เสียงในโทนที่นุ่มนวล ละมุนละไม เป็นหลัก เสียงร้องของ Adele ถึงแม้จะวางตัวเดินหน้า แต่ก็ไม่มีอาการแผดพุ่ง หยาบกระด้างเหมือนเก่า น้ำเสียงแม้จะไม่เน้นการแจกแจงรายละเอียดเหมือนกับซิสเต็มก่อนหน้านี้ แต่ก็สามารถให้ความกลมกลืนที่ดีขึ้น เสียงเปียโนนั้นจะอิ่มนุ่มนวลขึ้นแบบติดปลายนวม บรรยากาศจะย่อหย่อนลงไปบ้าง แต่ก็เติมเต็มด้วยความต่อเนื่องที่ลื่นไหลอย่างน่าฟัง การจัดวางซาวด์สเตจนั้นยังคงวางวงถอยหลังแบบ Laid back การขึ้นรูปของอิมเมจจะทำได้ดีขึ้น สำหรับซาวด์สเตจนั้นยังคงจัดวางโดยมีสัดส่วนความกว้างที่ทำได้ดีกว่าทางด้านลึก

            ผลจากการฟังด้วยซิสเต็มที่แตกต่างกันทั้ง 3 ชุด โดยทั้งหมดเป็นแอมป์แบบโซลิดสเตทหรือทรานซิสเตอร์ทั้งหมด พอจะสรุปได้ว่า ACUTE CLASSIC นั้นค่อนข้างจะเลือกคู่ในการ Matching System อยู่ไม่น้อยเลยเพราะทั้งหมด 3 ชุดที่ฟังมา ก็ยังไม่มีซิสเต็มไหนที่ทำงานได้เข้าขากับ ACUTE CLASSIC อย่างสมบูรณ์ และมีความเป็นไปได้ที่ ACUTE CLASSIC จะไปได้ดีกับปรีแแอมป์ที่ทำงานในแบบPassive มากกว่าปรีแอมป์ที่ทำงานในแบบ Active โดยทั่วไป ท่าจะให้คาดเดา ACUTE CLASSIC น่าจะไปได้ดีกับแอมป์หลอดมากกว่าแอมป์แบบโซลิดสเตท  ดังนั้นสำหรับผู้ที่สนใจใน ACUTE CLASSIC แต่ชุดซิสเต็มที่ใช้อยู่เดิมเป็นแแอมป์แบบโซลิดสเตท ก็ควรจะหาโอกาสไปทดลองฟังด้วยตนเองให้มั่นใจเสียก่อนเป็นสำคัญ

            สุดท้ายได้นำ ACUTE CLASSIC มาจับคู่กับอินทีเกรทแอมป์หลอดอย่าง Increcable iAMP TIA-240 (อัพเกรดโดย Inner Sound พร้อมกับเปลี่ยนหลอด EL34 เดิมมาเป็นหลอดของ Groove Tube ) และแล้ว…ก็เป็นไปตามที่คาดเอาไว้ เพราะคราวนี้ ACUTE CLASSIC ก็สามารถพลิกบทบาทจากหน้ามือเป็นหลังมือกันเลยทีเดียว น้ำเสียงของ ACUTE CLASSIC กลับมามีความนุ่มนวลที่มีความลงตัวอย่างพอเหมาะ มีความโปร่งใสที่น่าฟัง เสียงร้องของ Adele จากเดิมที่เคยรู้สึกว่ามวลเสียงจะบางไป มีอาการกร้าว หยาบกระด้าง หรือการให้มวลเสียงที่อิ่มแต่ย่อหย่อนในรายละเอียด เมื่อนำไปจับคู่กับบรรดาแอมป์ปลิไฟเออร์แบบทรานซิสเตอร์ก่อนหน้านี้นั้น

มาคราวนี้เนื้อเสียงกลับมามีมวลเสียงที่อิ่มเอิบขึ้น มีตัวตนอย่างพอเหมาะ ไม่ชัดเจนแบบขึ้นขอบหรือถูกขับเน้นจนเกินงาม เสียงร้องของ Adele กลับมีพลัง ถึงพร้อมทั้งรายละเอียด ความสดใส อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดฮาร์โมนิกของเสียงออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา นับว่ามีสัดส่วนและความลงตัวที่โดดเด่นเฉพาะตัวของ ACUTE CLASSIC จริงๆ อาการหยาบ กร้าว และเสียงที่แผดพุ่งที่ฟังพบก่อนหน้านี้นั้นได้อันตธานหายไปจนหมดสิ้น เหลือไว้แต่ความเป็นดนตรีที่น่าฟัง แฝงไว้ด้วยความผ่อนคลายอย่างน่าแปลกใจ ทำให้ความเหนื่อยล้าที่สั่งสมจากงานและการฟังก่อนหน้านี้แทบจะมลายหายไปในบันดล!

            ตอกย้ำกันอีกครั้งกับการบรรเลงเปียโนของ Vladimir Horowitz ที่กลับมามีชีวิตชีวา มีความพลิ้วไหวที่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล การพรมนิ้วบนคีย์เปียโนมีความต่อเนื่อง แจกแจงน้ำหนักการกดคีย์หนัก-เบาออกมาได้อย่างน่าฟัง เสียงไวโอลินของ Isaac Stern นั้นรวดเร็ว ฉับไว มีพลังขับเน้นที่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล ให้ความกลมกลืนที่ฟังระรื่นหู เสียงแหลมของ ACUTE CLASSIC นั้นสอดรับกับย่านเสียงกลางได้อย่างกลมกลืน มีการย้ำเน้นที่ชัดเจน มีตัวตน ฮาร์โมนิกและความคมชัดที่ควบคุมไว้ได้เป็นอย่างดี ปลายเสียงจะทอดตัวออกไปได้ระดับหนึ่งก่อนจะลดระดับความเข้มข้นลงอย่างรวดเร็ว (Lars Erstrand and Four Brothers : Opus 3 / Sweden)

            กับเพลง Salsa แนวดนตรีของคิวบา ที่ให้จังหวะดนตรีที่คึกคัก สนุกสนาน อย่าง La Maxima Expression ที่บรรเลงโดยวง Ensamble Latino นั้น มีจังหวะที่กระชับ เครื่องดนตรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขย่า Maracas, เครื่องเคาะให้จังหวะอย่าง Claves รวมทั้งกลอง Bongos และ Congas ต่างสอดประสานสร้างจังหวะที่ไหลลื่นได้อย่างน่าฟัง (Salsa, Merengue, Mambo! / EMI : Italy) อัพเปอร์เบสของ ACUTE CLASSIC นั้นแน่น กระชับ ให้มวลที่ค่อนไปทางทึบเข้ม ทิ้งตัวได้ดี และรวดเร็ว (The Merry Angle Opus 5 “พญาลำพอง”) เบสต่ำๆ จะผ่อนน้ำหนักค่อนข้างรวดเร็วและเก็บตัวเร็วเช่นกัน (Tutti ! Orchestral Sampler : R&R / USA)

            สมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น ACUTE CLASSIC สามารถตรึงตำแหน่งได้ดี การขึ้นรูปของอิมเมจทำได้ดีโดยเฉพาะกับเสียงร้อง การแยกแยะตำแหน่งของชิ้นดนตรีทำได้ดี สามารถแสดงให้สัมผัสฟังถึงช่องว่างระหว่างดนตรีที่แบ่งระยะห่าง และระยะที่ซ้อนกันออกมาได้ดี ซาวด์สเตจทางด้านลึกทำได้ดีขึ้นแต่ความโดดเด่นก็ยังคงเป็นซาวด์สเตจทางด้านกว้างที่ทำได้เหนือกว่า

            ได้นำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมาโหลด Drivers จากเว็บไซต์ของทาง EAR Yoshinoโดยเข้าไปที่โปรแกรมการดาวน์โหลดไฟล์ คลิกไปที่โปรแกรม EAR-USB-AUDIO-DRIVERS V3.20.0 exe และทำการ Install ตามขั้นตอนจนเสร็จ เพียงเท่านี้ก็สามารถจะเชื่อมโน้ตบุ๊ก หรือ PC ของคุณเข้ากับ ACUTE CLASSIC น่าเสียดายก็ตรงที่ยังไม่ทันได้ทดลองฟัง ก็ถึงเวลาที่ ACUTE CLASSIC มีอันต้องเดินทางจากไปอย่างกะทันหัน นอกจากการเล่นไฟล์เพลงผ่าน ACUTE CLASSIC ที่พลาดโอกาสแล้ว ยังมีเรื่องการลองเชื่อมต่อ ACUTE CLASSIC ตรงเข้าไปยังเพาเวอร์แอมป์แบบโซลิดสเตทโดยไม่ต้องใช้ปรีแอมป์ ซึ่งคาดเดาเอาว่า น่าจะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า และน่าจะเป็นทางเลือกสำหรับนักเล่นที่ใช้แอมปลิไฟเออร์แบบโซลิดสเตทเป็นหลัก ได้อีกทางหนึ่งครับ

สรุป

            จะว่าไปทาง EAR Yoshino ไม่ได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆที่จะแสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปกว่าที่ทำไปก่อนหน้านี้ผ่าน ACUTE CLASSIC แต่อย่างใด เพราะ ACUTE 3 ของ EAR Yoshino ในอดีตก็สามารถทำหน้าที่ในสถานะของเครื่องเล่นซีดี อีกทั้งยังสามารถรองรับดิจิตอลอินพุทด้วย DAC แบบ 24 Bit Sampling ที่ 192 kHz ได้เช่นกัน แต่ ACUTE CLASSIC แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการ “ขัดเกลา” และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ดียิ่งขึ้น ลดงานการผลิตแบบ OEM จากภายนอก และหันมาพัฒนาการผลิตขึ้นเองภายใน มีการปรับปรุงในหลายภาคส่วนเพื่อ “กระชับ” พื้นที่ เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้น

ACUTE CLASSIC จึงถือได้ว่าเป็นผลงานที่ผ่านการออกแบบอย่างใส่ใจ เพื่อให้มีความลงตัวทั้งในแง่ของเทคโนโลยี คุณภาพ และการใช้งานที่สมบูรณ์ ACUTE CLASSIC จึงถือเป็นผลงานชิ้นงาม เป็นเครื่องเล่นซีดีที่ให้เสียงแบบอะนาลอกดังที่ Tim De Paravicini แห่ง EAR Yoshino ตั้งใจ  แม้ ACUTE CLASSIC จะเป็นเครื่องเล่นซีดีที่ต้องการความพิถีพิถัน และความเอาใจใส่ในการจับคู่ Matching System มากกว่าเครื่องเล่นซีดีโดยทั่วไป โดยมีแนวโน้มที่จะไปได้ดีกับแอมป์หลอดเป็นพิเศษ แต่เมื่อได้ซิสเต็มที่มีความเหมาะสมและลงตัว ACUTE CLASSIC จะฉายแววที่โดดเด่นออกมาได้อย่างน่าชื่นชม

นี่ไม่ใช่เครื่องเล่นซีดีที่ฟังกันด้วยสมองเพื่อหาความเป็นที่สุด แต่ ACUTE CLASSIC คือเครื่องเล่นซีดีหลอดที่สามารถนำพาให้คุณเข้าถึงความเป็นอะนาลอกด้วยหลอดที่ดีที่สุดเครื่องหนึ่ง เสน่ห์ของ ACUTE CLASSIC อยู่ที่ความสามารถในการนำพาให้คุณเข้าถึงความไพเราะของดนตรีดังประโยคที่ว่า“เข้าถึงความเป็นดนตรีที่ลึกซึ้งถึงจิตใจ” นี่คือ ACUTE CLASSIC จาก EAR Yoshino ครับ !

Exit mobile version