รีวิวลำโพง ATC SCM19 V2

0

DAWN NATHONG

ลำโพงมอนิเตอร์เพื่อสุนทรียภาพแห่งการฟัง

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้มีโอกาสทดสอบลำโพง ATC SCM7 V3 ไปรู้สึกว่าลำโพงจากอังกฤษแบรนด์นี้มีอะไรที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดการออกแบบที่ไม่ได้ตั้งต้นกับ “ความเป็นดนตรี” หรือ “จูนเสียงแบบที่ชอบ” แต่ยึดในความถูกต้องของการวัดผลเป็นหลัก ไม่ได้ขายความหรูหราอลังการของวัสดุอุปกรณ์ แต่ผลิตและกำหนดสเปกดอกลำโพงเองทั้งหมด ซึ่งแนวคิดของ ATC ก็ถูกพิสูจน์แล้วจากลำโพงหลากหลายรุ่นที่เข้าไปอยู่ในสตูดิโอระดับโลกหลายแห่งมาร่วม 40 ปี เช่น Abbey Road Studios หรือ Dolby Laboratories ก็เป็นลูกค้าของ ATC

ATC SCM19 V2 เป็นลำโพงวางหิ้งรุ่นใหญ่สุดของอนุกรม Entry Series ซึ่งเน้นการใช้งานภายในที่พักอาศัย แต่มีการแชร์เทคโนโลยีต่าง ๆ ร่วมกันกับสินค้ากลุ่ม Professional ถ้าเทียบกับ SCM7 ที่เคยทดสอบไปต้องบอกว่าอยู่คนละพิกัดกันเลยทั้งขนาดและน้ำหนัก โดยตัว SCM19 V2 นั้นมีขนาดสูง 43.8 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร และมีหน้ากว้าง 26.5 เซนติเมตร นำหนักตู้ต่อข้าง 17.8 กิโลกรัม ดังนั้นควรพิจารณาเลือกขาตั้งที่เพลตด้านบนใหญ่หน่อยและมีความมั่นคงแข็งแรง

ใช้ทวีตเตอร์เดียวกันกับรุ่น SCM7 V3 ที่เคยทดสอบไป คือเป็นซอฟท์โดมขนาด 1 นิ้ว รุ่น SH25-76 ขอบแบบสองชั้น (Dual Suspension) มีชุดขับเคลื่อนแม่เหล็กนีโอไดเมียมความเข้มสนามแม่เหล็กสูงที่ปรับแต่งมาอย่างดีเพื่อลดความผิดเพี้ยน รอบตัวโดมจะมีเวฟไกด์เล็ก ๆ ที่ทำจากโลหะอัลลอยด์ช่วยในเรื่องมุมกระจายเสียง

ไฮไลท์ของ SCM19 V2 คือใช้ดอกกลาง / ทุ้ม Super Linear ขนาด 6 นิ้วรุ่น SB75-150SL เหมือนกับลำโพงแอคทีฟตระกูลโปรอย่าง SCM20ASL Pro ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนกับใช้ดอกขนาด 7-8 นิ้วซะด้วยซ้ำเพราะขนาดของขอบยางและเฟรมยึดดอกลำโพงนั้นมีขนาดใหญ่กว่าลำโพงในพิกัดเดียวกันพอสมควร เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะโครงสร้างของชุดมอเตอร์ดอกลำโพงมีขนาดใหญ่ น้ำหนักถึง 9 กิโลกรัม ส่วนของวอยซ์คอยล์เป็นแบบ Underhung คือตัววอยซ์คอยล์สั้นกว่าความความยาวช่องแม่เหล็ก ทำให้การขยับตัวของดอกมีความเป็นลิเนียร์มากกว่า

ตัวไดอะแฟรมใช้เทคโนโลยี Constrained Layer Damping (CLD) โดยจะเป็นผ้าอาบน้ำยาแล้วประกบวัสดุแดมปิ้งตรงกลางแบบแซนด์วิช ทำให้มีคุณสมบัติที่เหมือนกับเอาข้อดีของกรวยกระดาษและกรวยโลหะมารวมกัน คือ เบา แกร่ง และแดมป์ปิ้งได้ดี

SCM19 V2 ออกแบบเป็นระบบตู้ปิดแบบสองทาง งานประกอบเนี้ยบทุกกระเบียดนิ้วมาตรฐานลำโพงชั้นดี มีการทำผนังด้านข้างโค้งไม่ขนานกันและสอบแคบไปทางด้านหลัง ช่วยลดคลื่นสะท้อนค้างภายในตู้ ที่ด้านหลังมีชุดขั้วต่อแบบไบไวร์ และหน้ากากจะเป็นตระแกรงโลหะทรงโค้ง ยึดติดกับลำโพงด้วยแม่เหล็ก

การเซ็ตอัพและแม็ตชิ่ง

ก่อนจะได้ฟังจริงจังแอมหวั่นใจเล็กน้อยเรื่องการจับคู่แอมป์กับลำโพงคู่นี้ เพราะตอนที่ทดสอบ SCM7 V3 ไปพบว่ามีความเลือกแอมป์อยู่พอสมควรและชอบแอมป์วัต์สูงสัก 100 วัตต์ขึ้นไปถึงจะดี กับ SCM19 V2 นั้นก็มีอยู่บ้างแต่กลับรู้สึกว่าขับง่ายกว่า SCM7 อยู่เหมือนกัน น่าจะเป็นเพราะตัวลำโพงตอบสนองความถี่ย่านต่ำได้มากกว่าทำให้ไม่รู้สึกว่าต้องเร่งโวลุ่มขึ้นไปสูงกว่าปกติ ตอนทดลองนำอินทิเกรตแอมป์ Cambridge CXA81 กำลังขับ 80 วัตต์มาลองขับดูปรากฎว่าไปกันได้ดีเลยทีเดียวทั้งน้ำเสียงและรายละเอียด และเมื่อลองเอาอินทิเกรตแอมป์ที่ระดับสูงขึ้นอย่าง Audia Flight Three S ซึ่งมีกำลังขับ 100 วัตต์มาขับก็ได้ไดนามิกและความกระชับแน่นของย่านต่ำที่ดีขึ้นไปอีก

ลำโพงคู่นี้ชอบให้วางห่างกันมากสักหน่อยราว ๆ 1.80 เมตรขึ้นไป โทอินเพียงเล็กน้อยจะให้เวทีเสียงที่โปร่งกว้างเป็นอิสระไม่กระจุกตัวอยู่ตรงกลาง และควรวางบนขาตั้งที่ไม่สูงเกินไป (ทวีตเตอร์อยู่ระดับเดียวกับหู) ดึงลำโพงหนีห่างผนังห้องพอประมาณแม้ว่าจะเป็นลำโพงตู้ปิดก็ตาม ควรต่อสายลำโพงแบบไบ-ไวร์ไปเลยถ้าทำได้ แต่หากจำเป็นต้องต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์ควรต่อเข้าที่ขั้วต่อสายลำโพงชุดล่าง (LF) จะได้สมดุลเสียงที่ดีกว่าการต่อเข้าขั้วต่อสายลำโพงชุดบน (HF) จุดนั่งฟังห่างออกมาเป็นระยะสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือถอยห่างจากจุดตัดยอดสามเหลี่ยมอีกราว ๆ หนึ่งฟุต

เสียง

ใครที่เคยฟัง SCM7 มาก่อนแล้วเปลี่ยนมาฟังรุ่น SCM19 จะเหมือนกับว่าเราเปลี่ยนจาการชมภาพยตร์ในโรงธรรมดามาเป็น IMAX ยังไงยังงั้น เพราะมันมีรายละเอียดของเสียงที่ตกหล่นไปราวกับไม่เคยมีมาก่อนปรากฎให้ได้ยินอย่างชัดเจนทั้ง ๆ ที่ก็ฟังอัลบั้มนั้น ๆ มาแล้วไม่รู้กี่ร้อยครั้ง สาเหตุก็น่าจะมาจากค่าความเพี้ยนทางฮาร์โมนิกที่ต่ำมาก ๆ ของดอกลำโพง ทำให้รายละเอียดที่มีอยู่แล้วผุดลอยขึ้นมาไม่ถูกกลบเกลื่อนจมหายไป ยิ่งฟังกับหลายอัลบั้มที่คุ้นเคยจะเหมือนกับอัลบั้มเหล่านั้นถูกนำไปรีมาสเตอร์ใหม่ทั้ง ๆ ที่มันเป็นก็แผ่นเดิมนั่นละ

ให้โทนเสียงที่เที่ยงตรงมาก แม่นยำ จนแรกฟังอาจทำให้หลายคนรู้สึกแปร่งหู โดยเฉพาะถ้าใครฟังลำโพงที่มีบุคลิกเสียงเฉพาะตัวมาก ๆ มากก่อน พอมาฟังลำโพงคู่นี้อาจต้องให้เวลาสักนิด ค่อย ๆ ฟังไปเรื่อย แล้วจะรู้ว่ามันมีเสน่ห์ของเสียงอะไรบางอย่างที่ชวนให้ท่านอยากลองเอาอัลบั้มโน้นอัลบั้มนี้มาลองฟังไปเรื่อย ๆ ยิ่งฟังยิ่งสนุก เพราะคุณภาพการรับฟังจะแปรเปลี่ยนไปตามคุณภาพการบันทึกเสียงของแต่ละอัลบั้มอย่างชัดเจน ไม่ปิดบังอำพราง อัลบั้มที่บันทึกเสียงมาไม่ดีเราจะรับรู้ได้ทันทีว่าเสียงไม่น่าฟัง (แต่ไม่น่ารำคาญ) พอเป็นอัลบั้มที่บันทึกมาได้มาตรฐานเท่านั้นละหูตาสว่างเลยทีเดียว เสียงที่ได้ยินก็จะมีความไพเราะแบบน่าทึ่ง (ทั้งเพลงไทยหรือสากล) เรียกว่าถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมาได้อย่างหมดจดงดงาม

ให้มวลเสียงเข้มข้น สดแฝงความจริงจังในน้ำเสียงอย่างเท่าเทียมกันในทุกย่านความถี่ที่ลำโพงทำได้แต่ไม่รุกเร้าหรือสาดพุ่งเข้าหาคนฟัง ทำให้ฟังต่อเนื่องได้นานโดยไม่ล้าหู ให้รายละเอียดของทั้งเสียงหลักและเสียงรองอย่างเป็นธรรมชาติ และรักษาสมดุลของเสียงและความสะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลาเอาไว้ได้อย่างน่าฟังไม่ว่าจะเล่นดังแค่ไหน ไดนามิกเร้นจ์กว้างขวางรองรับความดังของดนตรีหลากหลายรูปแบบได้อย่างอิสระ ไม่รู้สึกอั้นตื้อ แยกแยะลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีที่มีโทนเสียงใกล้เคียงกันออกมาได้อย่างไม่คลุมเครือ

ทุ้มออกไปทางกระชับแน่น บางคนอาจฟังว่าไม่อวบอิ่ม ไม่เป็นลูกใหญ่แผ่ทิ้งตัวลงพื้น แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นทุ้มที่สมส่วนอย่างที่ควรเป็น (สำหรับดอก 6 นิ้ว) ให้น้ำหนักการย้ำเน้นที่ดี ตอบสนองได้อย่างฉับไวตามสไตล์ลำโพงตู้ปิด สะอาด ไม่คลุมเครือ ควบคุมได้ดีไม่ไปกวนเสียงย่านกลางแหลม ทำให้เสียงร้องมีความชัดถ้อยชัดคำ มีความเป็นสามมิติ ให้อารมณ์สด ทรงพลัง เหมือนเรารับฟังเสียงคนร้องจริงผ่านไมโครโฟนอยู่ตรงหน้า อาจไม่ถูกใจสายชอบเสียงร้องหวาน ๆ เท่าไรนัก แต่ถ้ามองหาความสมจิงของเสียงกลาง นี่คือลำโพงที่หาตัวจับยากในพิกัดราคานี้ ย่านแหลมให้ความต่อเนื่องกลมกลืนกับไปกับเสียงกลางสูงอย่างราบรื่น มีโฟกัสที่ชัดเจน มีน้ำหนักเป็นเม็ด ๆ ควบคุมจังหวะการทอกตัวของหางเสียงได้ดีไม่ฟุ้ง หรือสะบัดจัดจ้าน

นอกจากนี้ยังบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงของซิสเต็มได้อย่างชัดเจน ทั้งการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือการแม็ตชิ่งระหว่างอุปกรณ์ลำโพงคู่นี้จะเป็นตัวช่วยชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของเสียงได้เป็นอย่างดี นักเล่นที่ชอบเล่นอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ น่าจะถูกโฉลกกับลำโพงคู่นี้ไม่น้อย ช่วงนึงของการทดสอบผู้เขียนลองเทียบเสียงระหว่างสายลำโพงสองรุ่นพบว่าเส้นนึงให้สปีดของเสียงที่ช้ากว่าอีกเส้นแบบรู้สึกได้ หรืออย่างการทดลองเปลี่ยนแหล่งโปรแกรมจากเครื่องเล่นซีดีเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง โทนของเสียงที่ได้ก็เปลี่ยนไปทางอนาล็อก มีความอบอุ่นลื่นไหลของน้ำเสียงเพิ่มพูนขึ้นทันที ซึ่งหากไม่ได้ฟังกับลำโพงคู่นี้ บุคลิกเสียงดังกล่าวอาจไม่แสดงออกมาในปริมาณที่ทำให้เกิดการรับรู้ได้อย่างรวดเร็วหรือชัดเจนขนาดนี้ ถือว่าต้องยกความดีความชอบให้กับความเที่ยงตรง แม่นยำของลำโพงคู่นี้ด้วย

สรุป

ไม่มีคำว่าผิด ไม่ว่าท่านจะชื่นชอบความเป็นกลางปลอดสีสันแบบ ATC หรือชอบบุคลิกเสียงที่มีความน่าฟังของลำโพงแบรนด์อื่น เพราะการฟังเพลงคือการเสพงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครสามารถตีกรอบได้ เพียงแต่ต้องเลือกเครื่องมือที่จะนำเสนอได้ถูกกับจริตของท่านเท่านั้น SCM19 V2 คือตัวแทนของลำโพงที่มีความเที่ยงตรง หากท่านต้องการรับฟังความเป็นจริงของซิสเต็มที่มีความบิดเบือนน้อยที่สุด และเข้าใกล้ความเป็นจริงของการบันทึกเสียงในแต่ละอัลบั้ม ลำโพงคู่นี้คือเครื่องมือที่ท่านต้องหาโอกาสลองฟัง เพื่อใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงให้ได้สักครั้ง

Specification

Drivers: HF ATC 25mm Neodymium soft dome, Mid/LF ATC 150mm SL
Matched Response: ±0.5dB
Frequency Response (-6dB): 54Hz-22kHz
Dispersion: ±80° Coherent Horizontal, ±10° Coherent Vertical
Sensitivity: 85dB @ 1W @ 1metre
Max SPL: 108dB
Recommended Power Amplifier: 75 to 300 Watts
Nominal Impedance: 8 Ohm
Crossover Frequency: 2.5kHz
Connectors: Binding Posts/4mm Plugs, bi-wire
Cabinet Dimensions (HxWxD): 438x265x300mm (grill adds 34mm to depth)
Weight: 17.8kg

ขอขอบคุณร้าน Komfort Sound โทร. 083 758 7771 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ