ย้อนรอยเครื่องเล่นพกพาสุดเก๋ Aiwa ไอเท็มฮิตของเด็กยุค 90

0

สำหรับผู้ที่คลั่งไคล้ในเสียงเพลง ที่เกิดและเติบโตมาในยุค อะนาล็อค ประมาณปีคริสตศักราช 1990มนต์เสน่ห์ที่พวกเขาคุ้นเคย แล้วต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันเป็นประจำ คือ “การรอคอย” ไม่ใช่ทุกอย่างจะได้มาง่ายๆ เทคโนโลยีต่างๆ ในสมัยนั้น เทียบกับค่าเงินทุกอย่างที่ทันสมัยดูแพงไปเสียหมด คอมพิวเตอร์ หนึ่งเครื่อง ราคาระดับหลักแสนเงินเดือนเฉลี่ยของคนวัยกลางคนอยู่ระดับ 8,000 – 12,000 บาท แทบจะฝันถึงข้าวของเครื่องใช้แบบทันสมัยไม่ได้เลย นอกจากจะเก็บหอมรอมริบ จำนวนเงินเล็กๆ น้อยๆ ให้กลายเป็น ก้อนใหญ่ แล้วไปแปรเปลี่ยนเป็น “สิ่งที่ต้องการ” เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

การฟังเพลงในยุคเก่าก่อน พัฒนามาตั้งแต่ยุค ปู่ ย่า ตา ทวด ที่เริ่มมาตั้งแต่ รีลเทป, แผ่นเสียง และมาจนถึงคาสเซ็ทท์เทป สังเกตุได้ง่ายๆ เลยว่า ขนาดของตัว Source จะหดลงเรื่อยๆ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน ก่อนจะพัฒนาไปสู่การพกพาได้ ไอเทมฮิต ที่เป็นหนึ่งในเครื่องประดับแฟชั่้นของเด็กยุค 90 ที่หลายคนโหยหากันเหลือเกิน คือ ซาวอะเบ้าท์ หรือ เครื่องเล่นเทปแบบพกพา

หากย้อนกลับไปในสมัยที่ สยาม ยังเป็นแหล่งฮิตของการชุมมุมของวัยรุ่น จะเห็นเหล่าตัวจี๊ดแต่งตัวมาแบบจัดเต็ม แต่ทุกคนต้องมีหูฟังเสียบอยู่ที่หู จะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็แล้วแต่สไตล์ใครสไตล์มัน ให้เป็นจุดเด่นในการเรียกความสนใจจากสายตาคนรอบข้าง ไอ้เจ้าเครื่องเล่น ซาวอะเบ้าท์แบบพกพา แบรนด์ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากครอบครอง ย่อมเป็นเจ้าตลาดจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Sony ที่ยุคนั้นถูกมองว่าเป็นแบรนด์ระดับสูง ราคาต่อเครื่องตกอยู่หลายพันบาท วัยรุ่นน้อยคนนักที่จะเก็บเงินหรือขอพ่อ-แม่ให้ซื้อมาใช้ได้ ดังนั้นเมื่อมีแบรนด์หลัก ก็ย่อมต้องมีแบรนด์รอง ราคาย่อมเยาว์ลงมาสำหรับคนงบน้อย ซึ่งหลายคนอาจจะยังจำกันได้บ้างอย่าง Aiwa ที่มีสินค้าตั้งแต่ วิทยุทรานซิสเตอร์, วิทยุบวกกับเครื่องเล่นเทป และรวมไปถึง ซาวอะเบ้าท์ แบบพกพา เป็นทางเลือกในราคาหลักพันต้นๆ บางรุ่นไม่ถึงพันก็มีให้เลือกใช้กัน คุ่มค่าคุ้มในราคาที่เอื้อมถึง

ความพิเศษของไอ้เจ้าเครื่องเล่นตัวนี้ ที่อิงกับการรอคอยที่เป็นเสน่ห์ในยุคก่อน คือ การอัดเพลง แน่นอนว่ายุค 90 การจัดรายการวิทยุยังคงเฟื่องฟู รายการที่เหล่าวัยรุ่นรอคอยกันอยู่เป็นประจำ ย่อมเป็น อัพเดตชาร์ตเพลงฮิตประจำสัปดาห์ ที่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ตัวเลข 20 อันดับเพลงฮิตที่ถูกเปิดบ่อยที่สุด อันดับล่างๆ ที่ผู้ฟังคอยลุ้นกันย่อมเป็น เพลงใหม่เข้าชาร์จ ที่จะเรียกกันว่า นิว เอนทรี หากยังไม่มีเทปคาสเซ็ทท์ ออกมาให้ซื้อหากันตามแผงเทป โอกาสที่ผู้ฟังจะได้ฟังเพลงใหม่แบบบ่อยๆ ย้อนไปย้อนมาได้ ต้อง “รอ” ดีเจหยิบเพลงนั้นมาเปิด แล้วต้องหาเทปเปล่ามาใส่ ซาวอะเบ้าท์ เพื่ออัดให้ทัน ใครมีเพลงนั้นเพลงนี้ที่เป็น เพลงฮิตใหม่ๆ ถูกอัดเอาไว้ในเทป จะเท่ห์เอามากๆ ทุกขั้นตอนกว่าจะได้มาแต่ละเพลงเรียกว่า “แมนวล” ทำมือเองทั้งหมด ทั้งที่ระบบการใช้งานมีเพียงแค่ฟังก์ชั่นการฟัง วิทยุในระบบ AM/FM และเล่นเทปคาสเซ็ทท์ วัยรุ่นยุค 90 ก็พอใจกับสิ่งที่มีเพียงเท่านั้น สามารถหาความสุขจากเสียงเพลงมาจรุงใจได้ตามกระแส แม้ว่าการใช้งานจะไม่สะดวกสบาย ระบบกรอเทปแต่ละทีไม่ทันใจหากจะย้อนไปฟังเพลงก่อนหน้า ต้องใช้ไอเทมเทปอย่าง ปากกาแลนเซอร์ มาหมุนตัวหัวเทปตรงกลาง ที่ทำได้เร็วกว่า ฟังซ้ำบ่อยๆ เทปก็ยืด มีความเชื่อแปลกๆ ที่จำต่อกันมาให้เอาไปแช่ตู้เย็น พวกเขาก็ยินดีจะทำแบบไม่มีปริปากบ่น

มาถึงในยุคโลกไปไกลในระบบดิจิตอล ทุกการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนสะดวกสบายขึ้นหลายเท่าตัว แต่ก็น่าแปลกที่เทรนด์ฮิตการใช้ของยุค อะนาล็อค กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเล่นแผ่นเสียง, เครื่องเล่นเทป หรือ เครื่องเล่นซีดี ที่กลับมาได้รับความนิยมกันใหม่ ทั้งที่การใช้งานพวกมันนั้นวุ่นวาย ต้องพิถีพิถันเป็นขั้นเป็นตอน เล่นเอาคนวัยกลางคนที่เกิดทันเครื่องเล่นพวกนั้นยุคแรกๆ ออกมาเคลมพูดถึงความหลังกันยกใหญ่ ไม่รู้ว่า “เสน่ห์” การ Flash Back ภาพในอดีตที่กลับมานั้นเป็นเพราะอะไรกันแน่? แล้วเครื่องเล่นประจำตัวของแฟนเพจแต่ละคนเป็นอะไรกันบ้าง? มาร่วมแชร์ความหลังพูดคุยกันได้เลยในโพสต์นี้