ฟังไปบ่นไป: เรื่องของ anti-skating

0

Mongkol Oumroengsri

anti-skating คืออะไร? การตั้งค่า anti-skating สำคัญไฉน? การตั้งค่า anti-skating นั้นทำอย่างไร?

หากเราป้อนคำว่า anti-skating เข้าไปในพจนานุกรม ก็จะได้ความหมายออกมาว่า “การต่อต้านสเก็ต” …ซึ่งอาจทำให้หลายท่านงุนงงสงกาหนักยิ่งขึ้นไปอีกว่า มันคือ อิหยังหว่า !! ดังนั้น ผมขอแปลความเป็นการส่วนตัว เพื่อให้เข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น และตรงกันก็ละกันว่า anti-skating ก็คือ ค่าต้านทานการผลักไถล นั่นเอง

หากว่า ถ้าคุณเป็นนักเล่นแผ่นเสียงก็คงคุ้นๆ หรือเคยผ่านตากับคำนี้อยู่บ้าง เพราะมันเกี่ยวกับการเล่นแผ่นเสียงโดยตรง …ในขณะที่เราเล่นแผ่นเสียงนั้น แท่นหมุน หรือ จานวางรับแผ่นเสียง (platter) จะหมุนไปตามทิศทางเข็มนาฬิกา นำพาให้ตัวแผ่นเสียงหมุนไปด้วย แต่ด้วยการหมุนนี้เองที่จะเกิดแรงสู่ศูนย์กลาง (centripetal force) ขึ้นมา ซึ่งจะรั้ง หรือ ผลักโทนอาร์ม รวมทั้งหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง (cartridge) ให้เข้าหาศูนย์กลางของตัวแผ่นเสียง

หากส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ แรงนี้จะทำให้ปลายหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง (stylus) มีแรงกดที่ผนังด้านในของร่องเสียง (groove) มากกว่าผนังด้านนอก ส่งผลให้เกิดการผิดเพี้ยนทางเสียง หรือ distortions ที่ฟังออก ที่เด่นที่สุดคือ การบิดเบือนของเสียงที่น่ารำคาญ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อออกเสียงตัวอักษรบางตัวหรือหลายตัวอักษร เช่น “s” และ “sh” ที่ดูเหมือนว่า จะฟังดังกว่า (หรือไม่) ระหว่างช่องสัญญาณซ้ายหรือขวา จึงจำเป็นต้องมีการปรับตั้งค่า anti-skating เพื่อให้มีการบิดเบือนดังกล่าวน้อยที่สุด การปรับตั้งค่า anti-skating เป็นการตอบโต้แรงกระทำเข้าหาศูนย์กลางของตัวแผ่นเสียงนั่นเอง โดยที่โทนอาร์มส่วนใหญ่จะมีปุ่มปรับตั้ง anti-skating ซึ่งก็จะใช้แรงเหวี่ยงเพื่อต้านแรงเหวี่ยง ทำให้ส่วนปลายหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงมีแรงกดที่ผนังทั้งสองด้านของร่องเสียงได้เท่ากัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นการปรับตั้ง anti-skating จะมีผลต่อ Azimuth ด้วย เนื่องเพราะส่วนปลายหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงอาจไม่สัมผัสร่องแผ่นเสียงอย่างถูกต้องนั่นเอง ซึ่งส่งผลต่อ crosstalk (การแยกช่องสัญญาณซ้าย/ขวา) ที่ผิดเพี้ยน หรือ ไม่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นไปด้วยนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไป การปรับตั้ง anti-skating มักจะกำหนดค่าสัมพันธ์กับการปรับตั้งค่าแรงกดหัวเข็ม (Vertical Tracking Force หรือ VTF) ที่ใช้อยู่ในตอนนั้น (ด้วยการปรับให้เป็นค่าเดียวกับแรงกดหัวเข็มนั่นเอง) จากนั้นก็ลองฟังเพลงดูว่า เสียงที่รับฟังนั้น ออกอาการเสียงทางช่องสัญญาณซ้ายดังกว่าช่องสัญญาณขวาหรือไม่ / หรือว่าในทางกลับกัน รวมถึงลองฟังดูว่า เสียงตัวอักษร “s” และ “sh” นั้นผิดเพี้ยน หรือ น่ารำคาญหรือไม่

ซึ่งบางทีนั้น การฟังแบบดังกล่าวอาจทำได้ยาก เพราะผู้ฟังไม่คุ้นเคย ก็อาจใช้วิธีหาแผ่นเสียงหน้าเรียบที่ไม่มีร่องเสียง หรือว่าถ้าหากมีแผ่นเลเซอร์ ดิสก์ (LD) อยู่บ้าง ก็อาจสามารถนำมาใช้ช่วยในการปรับตั้ง anti-skating ได้ โดยอาศัยความราบเรียบบนผิวแผ่นเลเซอร์ ดิสก์มาใช้ประเมินการกำหนดค่า anti-skating ซึ่งขั้นแรกก็ให้ทำการปรับตั้งค่าแรงกดหัวเข็มให้เหมาะสม หรือ ตามค่าที่บริษัทผู้ผลิตหัวเข็มนั่นๆ กำหนดมา อย่างเช่นว่า 1.5 – 2 gram ก็แสดงว่า ค่าที่เหมาะสมสำหรับกำหนดแรงกดหัวเข็มนั้นอยู่ในช่วงระหว่าง 1.5 – 2 กรัม เราก็ทำการปรับตั้งค่าแรงกดหัวเข็มให้อยู่ในช่วงดังกล่าว …เอาเป็นสมมติว่า ตั้งไว้ที่ 2 กรัม จากนั้นก็เปิดใช้งานเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ทำงาน แท่นหมุนก็จะหมุนไปตามค่าความเร็วรอบที่กำหนด (33 1/3 หรือ 45 รอบต่อนาที)

ทีนี้ก็ให้เอาแผ่นเลเซอร์ ดิสก์ หรือว่าแผ่นเสียงหน้าเรียบที่ไม่มีร่องเสียงมาวางบนแท่นหมุน แล้วจึงค่อยๆ วางหัวเข็มลงบนผิวแผ่นเลเซอร์ ดิสก์หรือว่าแผ่นเสียงหน้าเรียบที่ไม่มีร่องเสียงซึ่งกำลังหมุนอยู่นั้น พอวางหัวเข็มลงไปแล้วก็ให้สังเกตดูว่า หัวเข็มเคลื่อนที่เข้า หรือ ออกจากศูนย์กลางแผ่นเสียง ซึ่งหากว่า หัวเข็มออกอาการเคลื่อนที่เข้าศูนย์กลางแผ่นเสียง ก็แสดงว่า แรงผลักสู่ศูนย์กลางกำลังผลักให้หัวเข็มเกิดอาการเคลื่อนที่เข้าในมากเกินไป ก็ให้ทำการปรับตั้งค่า anti-skating ให้มากขึ้นอีกนิด และอีกนิด… จนกระทั่งหัวเข็มเริ่มอยู่นิ่งไม่เกิดอาการเคลื่อนที่เข้าใน ก็เป็นอันประเมินได้ว่า เราทำการ ได้อย่างเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าแรงกดหัวเข็มตามที่ปรับตั้งไว้ 2 กรัม

ทั้งนี้ทั้งนั้นจากการที่มีแรง anti-skating น้อยเกินไป แรงสู่ศูนย์กลางจะทำให้ปลายหัวเข็มมีแรงกระทำมากเกินไปกับผนังร่องเสียงด้านซ้ายหรือด้านใน ทำให้เกิดการบิดเบือนในระดับที่สูงขึ้นในช่องสัญญาณเสียงด้านขวา (R) แต่เมื่อมีแรง anti-skating ที่มากเกินไป จะทำให้เกิดแรงกดมากเกินไปกับผนังด้านขวาหรือร่องเสียงด้านนอก ทำให้เกิดการบิดเบือนในระดับที่สูงขึ้นในช่องสัญญาณเสียงด้านซ้าย (L) ซึ่งเมื่อมีการปรับค่า anti-skating ที่เหมาะสม ระดับความผิดเพี้ยนระหว่างช่องสัญญาณเสียงด้านซ้ายและด้านขวา ควรสมดุลกัน

กระนั้นโทนอาร์มบางชนิด ก็ไม่ได้มีปุ่มปรับไว้สำหรับการปรับค่า anti-skating ซึ่งโทนอาร์มขนาด 12 นิ้ว ปกติแล้วนั้นมักไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการปรับค่า anti-skating  แต่สำหรับโทนอาร์มขนาด 9 นิ้ว ยังจำเป็นต้องมีการปรับตั้งค่า anti-skating อยู่บ้าง การออกแบบโทนอาร์มบางแบบ ถูกกำหนดให้มีความไม่สมดุลโดยธรรมชาติ และจะมีค่าที่จะปรับตั้งให้เบ้ หรือ เป๋ (skewed) ไปทางช่องสัญญาณหนึ่ง (ซึ่งก็มักจะเป็นช่องสัญญาณด้านขวา) อยู่นิดหน่อย ซึ่งในกรณีเช่นนี้ จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ โทนอาร์มบางชนิดถูกกำหนดแรง anti-skating มากเกินไป แม้ในการตั้งค่าต่ำสุด ดังนั้นผลลัพธ์จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์เป็นอย่างมาก

เราต้องตระหนักว่าแรงสู่ศูนย์กลางที่กระทำกับปลายหัวเข็มนั้นไม่เป็นเชิงเส้น ดังนั้นปริมาณแรง anti-skating ที่ต้องการจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งสัมพัทธ์ของหัวเข็ม (cartridge) ที่มีต่อการหมุนของแผ่นเสียง โดยปกติแล้วจะต้องใช้แรงกระทำมากขึ้นไปยังจุดศูนย์กลาง การออกแบบโทนอาร์มบางแบบมีกลไกที่จะเพิ่มแรง anti-skating ทีละน้อยเพื่อต่อต้านอย่างเป็นธรรมชาติต่อความไม่เป็นเชิงเส้นของแรงสู่ศูนย์กลาง