Tee Prasert
ตอนที่สอง : เยี่ยมบ้านคุณหมอไกรฤกษ์
วันอาทิตย์ที่ 15 ก.ย. 2562
เนื้อหาของกิจกรรม
เป็นการไปเยี่ยมเยือนห้องฟังของนักเล่น และให้เจ้าของซิสเต็มนั้นเป็นผู้เลือกเพลย์ลิสต์ หรือรายการเพลงที่จะเปิดกับซิสเต็มของตัวเอง จำนวน 20 เพลง โดยไม่จำกัดรูปแบบของแหล่งโปรแกรม จะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง ซีดีเพลเยอร์ เทปรีล หรือแหล่งโปรแกรมอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นเพลงที่ตนเองชื่นชอบและฟังบ่อยครั้งมากที่สุด คิดว่าเหมาะสมกับซิสเต็มของตนเองมากที่สุด โดยจะจัดขึ้นตามความเหมาะสมทุก 2 สัปดาห์ หรือหนึ่งเดือนต่อครั้ง
และแล้ว เราก็ถึงวันนัดหมาย
อยากขอแสดงความในใจว่า ต้องขอขอบคุณ คุณหมอไกรฤกษ์ ผู้เปิดประตูระบบลำโพงฮอร์น Western Electric 16A ให้ผมได้มีโอกาสได้ฟัง และทันทีที่ได้ยินเสียง สมองก็มีคำตอบทันทีทันใดว่า “..ชอบแบบนี้ จะเอาที่เป็นแบบนี้ จะเอาระบบแบบนี้ จะเอาวินเทจอย่างนี้ ก็มันชอบแบบนี้ จริง จริง..”
อ่านให้ออกเป็นเมโลดี้ เพลง “ชอบแบบนี้” นะครับ (ฮา)
นี่คือระบบเครื่องเสียงที่เราถวิลหามาอย่างนมนานโดยตลอด ชอบแนวทางแบบนี้ มันให้เสียงใหญ่โตโอ่อ่า เวทีเต็มห้อง มันคนละเรื่องกับที่เคยๆ ฟังกันไปเลย แต่เวลาไปฟังบ้านคุณหมอไกรฤกษ์ รู้สึกอายตัวเอง เพราะไม่เกรงใจเจ้าบ้านเลย คือ เวลามาฟังที่นี่ทีไร ตัวมักจะเลื้อย นอนคลุกกับโซฟาเบดเสมอ ๆ (ฮา) มันเสมือนมีมนต์สะกด ไม่สามารถนั่งตัวตรงได้ เพราะดื่มด่ำไปกับบทเพลงจากชุดเครื่องเสียงนี้อย่างเอาจริงเอาจัง มนต์เสน่ห์จะเป็นดั่งที่ผมพูดไหม.. ต้องพิสูจน์ แล้วจะรู้ว่า เครื่องเสียงชุดนี้มันคือสิ่งที่ไม่ต้องพิสูจน์ ที่สำคัญคือ คุณหมอไกรฤกษ์ท่านบอกว่า..
“ สิ่งที่อยากนำเสนอคือ ระบบ Multi Way Horn System ผลงานของซือแป๋ตั๊กม๊อ หรือพี่แปะ ของชาววินเทจ ที่มีความแตกต่างจากชุดของลูกศิษย์ท่านอื่นๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะคงเซ็ตอัพของระบบนี้ไปอีกนานไหม แต่ตอนนี้ฟังลงตัวมาก ก่อนจะรื้อหรืออัพระบบ อยากให้มาฟังหรือเก็บคลิปเสียงไว้ครับ ”
มีที่น่าประทับใจสุดๆ คือ คุณเทียนทอง เธออุตส่าห์นั่งรถเมล์มาจากขอนแก่น มาฟังงานนี้โดยเฉพาะ เป็นอะไรที่สุดๆ ไปเลย หวังว่าจะช่วยเปิดโลกทัศน์ของการฟังเพลงให้น้องได้ และอยากชื่นชมมิตรรักแฟนเพลง ที่มามากกว่ากำหนด มานั่งอยู่ข้างนอกกันก็ยอม
เรื่องเสียงของซิสเต็มนี้ คงไม่ต้องอวยอะไรกันมาก ไม่รู้จะยอในความสมบูรณ์หมดจดของชุดนี้อย่างไรได้อีก.. ที่สำคัญสุด ในความคิดเห็นส่วนตัว คือ ปกติซิสเต็มวินเทจจะต้องเปิดโวลุ่มถึงระดับหนึ่งจึงจะไพเราะ เปิดเบาๆ คุณภาพของเสียง รายละเอียดจะไม่ออกมาเลย แต่ของคุณหมอไกรฤกษ์นั้นแตกต่าง.. แค่เปิดเบาๆ มันไพเราะมากๆ ไม่มีใครเหมือนและเหมือนใคร..
และที่ผมถือว่าสำคัญ.. สุดของที่สุด คือ ผมถือว่าชุดเครื่องเสียงของคุณหมอไกรฤกษ์ คือประวัติศาสตร์ คือพิพิธภัณฑ์ คือสัญลักษณ์ของวงการวินเทจไทย ชุดอื่นๆ อาจเพียบพร้อม เก่ากว่า สมบูรณ์กว่า แต่ไม่มีความหมายเลย เพราะที่นี่เป็นที่รับแขกมากที่สุด มีมิตรรักแฟนเพลงวินเทจรู้จักกันมากที่สุด
เพลงในดวงใจของคุณหมอไกรฤกษ์
- Shota Osabe Piano Trio – Happy Coat (CD) คิดว่าแท็รค Willow Weep for Me ของอัลบั้มชุดนี้ บ่งบอกตัวตนของเครื่องเสียงชุดนี้ได้ดีมากๆ เวทีเสียงออกมาเป็นชั้นๆ ได้รายละเอียดสูง ส่วนตัวชอบดนตรีแถวที่สามมากๆ ที่อยู่หลังเวที ตัวโน๊ตคมๆ
- Tsuyoshi Yamamoto – Autumn in Seattle (CD) แผ่นนี้เห็นมานาน ไม่เคยคิดอยากจะซื้อ แต่วันนี้ แค่ฟังอินโทรเพลง Misty แล้วต้องตะลึง ปกติชอบแผ่นซีดีของค่าย FIM มากๆ มีเกือบ 60 – 70 เปอร์เซ็นจากที่เขาผลิตมาทั้งหมด อีกทั้งคนผลิตเธอเด็ดสะมอเร่ไปแล้ว แผ่นนี้หลุดไม่ได้ซื้อไปได้อย่างไรนี่
- The Fleetwoods – Graduation’s here (Vinyl) แผ่น LP โอลด์ดี้ที่บันทึกสเตอริโออิมเมจมาได้ดีมากๆ และไม่คิดว่าใครจะมีกัน
- Youn Sun Nah – Same Girl (Vinyl) เพลง Favorites Girl ถือว่าดังมากที่นักร้องเกาหลีมาร้องเพลงสไตล์แจ๊ส เราฟังแต่ซีดี พอมาฟัง LP ได้บรรยากาศดีกว่า มันฟุ้งอบอวลมากกว่า
- The Alan Parson Project – Eye in the sky (Vinyl) คลาสสิคร็อคของ Bad Company ฟังออกมาเป็นร็อคที่นิ่มนวล ติดหู เคยฟังมานานแสนนาน กลับมา Revise อีกครั้ง
- Karin Krog – Bengt Hallberg – Two of A Kind (Vinyl) เพลง My Man เป็นการโซโลเปียโน ดูเอ็ตกับเสียงร้องสไตล์สวิงแจ๊ส คิดว่าคงจะหาฟังกันยาก
- Karin Krog – Bengt Hallberg – Two of A Kind เพลง Jeepers Creepers จากแผ่นเดียวกัน
- Lou Donaldson – Blues Walk (Vinyl) เป็นเพียว แจ๊สซึ่งดังมากๆ อยู่แล้ว
- Chabrier: España – Rhapsody for Orchestra Detroit Symphony Orchestra and Paul Paray (Vinyl) เพลงคลาสสิค อันนี้เป็นโจทย์ที่ยาก เครื่องเสียงต่างๆ ก้าวข้ามที่จะฟังคลาสสิคให้ไพเราะทำได้ยาก ส่วนมากแค่จำลองแผ่น หัวใจอยู่ที่ไดนามิค-ทรานเชี้ยนต์ต้องเจ๋งสุดๆ ฟังเพลงนี้ที่ห้องคุณหมอไกรฤกษ์ ได้บรรยากาศเหมือนฟังในฮอลล์ที่ไม่ต้องใช้ไมค์เสริม ชอบมากสุดคือการเก็บตัวของเสียงเบส ดีมากๆ ส่วนเรื่องเวทีเสียงและความเป็นเลเยอร์ของดนตรี ชุดนี้หายห่วง
- Dead Can Dance – Into the Labyrinth (Vinyl) คุณหมอไกรฤกษ์บอกว่านี่คือแผ่นโปรดซือแปะ มีกลิ่นอายอินตะระเดีย ผสมโปรเกรสซีฟร็อคและเวิลด์มิวสิค เพลง Yulunga (Spirit Dance) บอกได้คำเดียว อร่อยเหาะ เอาไว้เทสเครื่องเสียงได้ดีมากๆ
- Eiji Kitamura – Memories of Benny Goodman (Vinyl) แผ่นนักดนตรีโปรดของผม Eiji Kitamura สไตล์เพลงนิวออร์ลีนแจ๊ส ถ้าอยากฟัง แคลริเน็ต, เปียโน, ไวบราโฟน ว่ามันเข้ากันอย่างไร ต้องฟัง Eiji แต่ฟังเพลง Rose Room นี้ แทนที่จะคิดถึง Eiji กลับคิดถึง ในหลวง ร.9 ของเรา พระองค์ทรงโปรดดนตรีสไตล์นี้และ Benny Goodman ก็เคยมาเล่นดนตรีร่วมกับพระองค์ในเมืองไทย
- Eiji Kitamura – Memories of Benny Goodman เพลง Moon Glow จากแผ่นเดียวกัน
- Karla Bonoff – Restless Nights (Vinyl) เพลง The Water Is Wide คุณหมอบอกว่า เสียงคล้าย Linda Ronstadt ออกแนวคันทรี่โฟล์ก
- Patricia Barber – Nightclub (Tape Reel: Lyrec) ไม่เล่นไม่ได้แล้ว นี่คือเจ้าพ่อเทปรีลของเมืองไทย ที่มีองค์ความรู้เรื่องนี้มากสุดในปัจจุบัน เพลง Bye Bye Black Bird จุดเด่นคือไดนามิกเรนจ์ที่กว้างมากๆ จึงนิยมใช้เป็นอุปกรณ์หลักสำหรับงานบันทึกเสียง หรืองานเอาไปทำมาสเตอร์แผ่นต่างๆ
- Patricia Barber – Nightclub เพลง Yesterday จากม้วนเดียวกัน
- Bill Evans Trio – Waltz for Debby (Tape Reel: Telefunken) เป็นเทปที่ก็อปปี้จากมาสเตอร์เทปโดยคุณหมอเอง เปิดเพลง My Foolish Heart ส่วนตัวหูแยกไม่ได้ว่าต่างหรือไม่ต่าง แต่รู้สึกว่าให้ความเป็นดนตรีมากๆ ถ้าเปรียบเทียบกับ LP ผมว่าพอๆ กัน ที่จะชนะคือ ไม่มี (ฮา)
- Audiophile Dam – Tsuyoshi Yamamoto Isao Suzuki Orpheus (Vinyl) เพลง The Way We Were / Yama & Jiro’s Wave
- สุเทพ วงศ์กำแหง – เพ้อ (CD-R) แผ่นซีดีที่ซือแปะบันทึกเสียงแบบโมโน เสียงร้องนี่ออกมาเป็นตัวตน อยู่ตรงกลางลำโพง Western Electric 16A เลย เพลงสาริกาหน้าทอง เป็นเพลงที่ให้บรรยากาศแบบวินเทจออกมาอย่างเก๋ไก๋ ทั้งๆ ที่เป็นซีดี
- สุเทพ วงศ์กำแหง – เพ้อ เพลง ช้อนนาง จากแผ่นเดียวกัน
- Big Band Scale – Kenichi Tsunoda Big Band (CD) เพลง Melodies En Sound-Sol / Take Five อันนี้เพลงตามคำขอ เพราะชอบสไตล์เพลงบิ๊กแบนด์ของแผ่นนี้ จากคุณหมอแนะนำนี่ละ
My Top 4 Favorite
ทุกครั้งที่มาเยี่ยมฟังแต่ละห้อง จะขอเลือกสุดยอดเพลงสามอันดับที่รู้สึกว่า “ใช่เลย” กับซิสเต็ม แต่คราวนี้พิเศษหน่อย ขอเพิ่มเป็นสี่อันดับ
- Happy Coat – Shota Osabe Piano Trio (CD) เพลง Willow Weep for Me
- Eiji Kitamura – Memories of Benny Goodman (Vinyl) เพลง Rose Room / Moon Glow
- Patricia Barber – Night Club (Tape Reel) เพลง Bye Bye Black Bird
- Big Band Scale – Kenichi Tsunoda Big Band (CD) เหตุที่ต้องเลือกให้เป็นสี่อันดับ เพราะแผ่นนี้ มันขาดไม่ได้จริงๆ เป็นแผ่นในดวงใจทุกชุด เปิดฟังทุกวัน อยากบอกว่าลำโพง Western Electric 16A ฟังเพลงสไตล์นี้ได้สนุกมากๆ สนุกกว่าลำโพงใดๆ