What HI-FI? Thailand

นำมาเล่า (2) ทำไมออดิโอไฟล์จึงรังเกียจอีควอไลเซอร์?

Mongkol Oumroengsri

ในครั้งที่ผ่านมา ได้บอกเล่าไปถึงว่า การใช้อีควอไลเซอร์ หรือ EQ นั้นเอื้อประโยชน์ เพื่อจุดประสงค์ในการฟังเพลงให้ได้มาซึ่งลักษณะเสียงที่ผู้ฟังชื่นชอบ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในการปรับแต่งลักษณะเสียงในการรับฟังให้ถูกอกถูกใจยิ่งกว่าการใช้ tone control ให้เป็นไปตามรสนิยมใครรสนิยมมันก็ว่าได้ แต่กระนั้นก็มีข้อโต้แย้งมากมายว่าควรใช้ EQ หรือไม่ และพวกออดิโอไฟล์คิดยังไงกับอีควอไลเซอร์? แล้วทำไมออดิโอไฟล์จึงไม่ชอบที่จะใช้อีควอไลเซอร์ (รังเกียจเลยก็ว่าได้) ? …ครั้งนี้จะนำมาเล่ากันต่อครับ

…เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สำหรับความเป็นออดิโอไฟล์นั้น จำนวนมากทีเดียวเชียวแหละที่ไม่ได้ใช้อีควอไลเซอร์ และออดิโอไฟล์ส่วนใหญ่ก็มีแนวคิดต่อต้านการใช้อีควอไลเซอร์ ทั้งนี้ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ออดิโอไฟล์นับเป็นบุคคลที่หลงใหลในการรังสรรค์เสียงที่มีความเที่ยงตรงสูงสุดเท่านั้น เสียงที่รับฟังต้องปราศจากการปรุงแต่ง หรือ ปรับเปลี่ยนไปจากสัญญาณต้นตำรับ ความเป็นออดิโอไฟล์จึงต่างจากนักฟังเพลงทั่วไปในแบบฉบับของ music lover ที่เสพคุณค่าของเพลงและดนตรี ออดิโอไฟล์จึงเป็นนักฟังเพลงที่มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพเสียงเป็นสำคัญ และต้องได้รับประสบการณ์เสียงที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่านั้น

ดังนั้น อีควอไลเซอร์ในสายตาของออดิโอไฟล์จึงไม่น่าเสน่หา นั่นเป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่า อีควอไลเซอร์ทำให้สัญญาณแย่ลง (degrade) และลดทอนคุณภาพเสียงของสัญญาณลงไป นอกจากนี้ ด้วยความเป็นออดิโอไฟล์ ที่ยังต้องการฟังเสียงที่ใกล้เคียงกับการบันทึกต้นฉบับมากที่สุดโดยไม่มีการเติมแต่ง หรือ เปลี่ยนแปลงใดๆ แต่การใช้อีควอไลเซอร์จะไปส่งผลเปลี่ยนแปลง หรือ แปรผัน (alter) ความถี่โดยรวมของเสียงให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง หรือจากความน่าจะเป็น ทว่าอย่างไรก็ตาม ออดิโอไฟล์บางคนก็มีอีควอไลเซอร์ไว้ใช้งาน เพื่อแก้ไขลักษณะห้องฟัง (room correction)

ด้วยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้แนวทางการเล่นการฟังของนักเล่นเครื่องเสียงส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนแนวทางไปสู่ความเป็นออดิโอไฟล์กัน นี่จึงเป็นทั้งเหตุและผลที่ว่า “ทำไมการใช้อีควอไลเซอร์กับเครื่องเสียงบ้านถึงหมดความนิยมลงไป” ไม่ต่างจากความนิยมในการผนวกใส่ภาคปรับแต่งเสียง หรือ tone control ไว้ในอุปกรณ์แอมปลิฟายเออร์อย่างที่เคยเป็นมาช้านาน แม้ว่า ทั้งอีควอไลเซอร์และ tone control จะเอื้อประโยชน์ในการปรับปรุงลักษณะเสียงให้เหมาะเจาะตามรสนิยมผู้ฟัง มิใช่ตายตัวอยู่กับการรับฟังแบบไร้ซึ่งการปรับแต่งที่อ้างว่า เพื่อความบริสุทธิ์นิยม

ออดิโอไฟล์ส่วนใหญ่ใช้เงินหลายพันหลายหมื่นหลายแสน หรืออาจเป็นหลักล้านกับสายสัญญาณเสียง สายลำโพง และสายไฟเข้าเครื่อง รวมไปถึงแหล่งสัญญาณต่างๆ อย่าง SACD/CD Player, Streaming Player, R2R Tape Player, DAC, etc. กระทั่งปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ ระบบลำโพง และหูฟัง เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด ใกล้เคียงที่สุดกับเสียงต้นฉบับที่ทำการบันทึก และที่สำคัญ ออดิโอไฟล์จะทำทุกอย่างเพื่อกำจัดอุปกรณ์ที่จะลดทอนคุณภาพเสียงให้ด้อยลงไป ดังนั้นการไม่ใช้ EQ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ออดิโอไฟล์ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำ… แต่ก็ยังมีออดิโอไฟล์บางส่วนเลือกที่จะไม่ทำ…..

Photo by Alexey Demidov on Pexels.com

โดยหลักการทำงานของอีควอไลเซอร์ (Equalizer) นั้น คือ อุปกรณ์อย่างหนึ่งในระบบเสียง มีหน้าที่ในการควบคุมและชดเชยย่านความถี่ของเสียง (frequency) ให้อยู่ในระดับสัญญาณที่เหมาะสม หรือ ตรงตามความต้องการ เพื่อการใช้งานเป็นไปตามเป้าประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีสด ตลอดจนกิจกรรมประชุมสัมมนา รวมไปถึงเรื่องของการบันทึกเสียงและการรับฟัง สำหรับแวดวงมืออาชีพนั้น กล่าวได้ว่า Equalizer เป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความเข้าใจและประสบการณ์ เนื่องจากในแต่ละกิจกรรมมีลักษณะการใช้เสียงที่แตกต่างกัน ประกอบกับสภาพพื้นที่โดยรอบของกิจกรรมนั้นๆ ยังส่งผลต่อความถี่เสียงอีกด้วย ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ถึงองค์ประกอบพื้นฐานของอีควอไลเซอร์ที่เกี่ยวข้องกับการปรับแต่งต่างๆ มีดังต่อไปนี้ –

– Frequency คือ ค่าความถี่ของสัญญาณเสียงในการปรับแต่ง โดยความถี่ดังกล่าวมีหน่วยวัดเป็นเฮิร์ตซ์ (Hz) ในการปรับความถี่จะเลือกปรับเป็นย่านความถี่ตามการใช้งาน เช่น ย่านความถี่เสียงกลาง (Midrange) เป็นย่านสำหรับเสียงพูด หรือ ย่านความถี่เสียงต่ำ (Low) เป็นย่านความถี่ต่ำสุด เป็นความถี่ระดับพื้นฐาน (Fundamental) ที่ใช้สำหรับควบคุมความแน่นของเสียงของเครื่องดนตรี เช่น กีตาร์ เบส หรือ Kick-drum ของกลองชุด เป็นต้น

– Gain คือ ค่าในการปรับระดับความดัง-เบาของเสียง ผ่านการทำ Boost (ยกเพิ่ม) และ Cut (ลดลง) ต่อปริมาณเสียงในย่านความถี่ที่ต้องการ

– Q คือ ค่าที่ใช้สำหรับกำหนดความกว้างและความแคบของช่วงความถี่เสียง เป็นการปรับเพื่อสร้างสมดุลของความถี่เสียง เช่น กำหนดค่า Q ให้แคบเพื่อตัดเสียงในย่านเสียงที่ไม่ต้องการออกไป เป็นต้น

Photo by Pixabay on Pexels.com

การทำงานของ Equalizer จึงถือเป็นหัวใจสำคัญต่อระบบเสียง เนื่องจากระบบเสียงเป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อน และมีองค์ประกอบมากมายทั้งย่านความถี่เสียง ระดับความดังเบา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานทั้งสิ้น หากขาดซึ่งอุปกรณ์ Equalizer ที่เข้ามาควบคุมระบบเสียง อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ อย่างเช่นว่า เกิดการตอบสนองของความถี่ (Frequency Response) ที่ไม่ได้ถูกควบคุมจาก EQ ที่มากเกินไป จนทำให้เกิดอาการหอน (Feedback) ของลำโพง หรือในแง่ที่ว่า ขาดความสมดุลในการตอบสนองความถี่เสียงที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อระดับความดังของความถี่เสียงในแต่ละช่วงย่านความถี่ ซึ่งด้วยการมี Equalizer จะช่วยปรับให้ระดับความดัง-ความค่อยของความถี่เสียงในย่านต่างๆ ให้เหมาะสมพอดีกับงานได้ ดังนั้นอุปกรณ์อย่าง Equalizer จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการควบคุมเพื่อให้เสียงไปเป็นตามความต้องการ “Equalizer” จึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบเสียง

…แล้วทำไมออดิโอไฟล์จึงรังเกียจอีควอไลเซอร์?

ประการแรก ด้วยความที่อีควอไลเซอร์เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการปรับแต่งระบบเสียง ดังนั้นเหล่าออดิโอไฟล์จึงมองไปว่า อีควอไลเซอร์นำสัญญาณรบกวน (noise) เข้ามาสู่สัญญาณเสียงมากขึ้น ซึ่งเท่ากับลดทอนคุณภาพสัญญาณเสียงให้ด้อยลงไป ยิ่งเพิ่มอุปกรณ์เข้าไปในระบบ ก็เท่ากับเพิ่มโอกาสเหนี่ยวนำสัญญาณรบกวนเข้าไปในระบบ ระดับของ noise floor ก็จะยิ่งสูงขึ้น

ซึ่งนั่นหมายความว่า การใส่เพิ่มอุปกรณ์อีควอไลเซอร์ในเส้นทางของสัญญาณเสียง ก็จะยิ่งมีระดับเสียงรบกวนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการลดระดับสัญญาณที่ดีให้ลดน้อยถอยลงไป ด้วยเหตุนี้ ผู้ชื่นชอบเสียงดนตรีบริสุทธิ์นิยม รวมถึงออดิโอไฟล์จึงพยายามใช้ส่วนประกอบ หรือ อุปกรณ์ต่างๆ ให้น้อยลงในการปรับตั้งค่าเสียง (audio set up) เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดโดยมีสัญญาณรบกวนต่ำ และนั่นหมายถึงการไม่ใช้อีควอไลเซอร์ก็ด้วยเช่นกัน เพราะเหล่าออดิโอไฟล์มักจะหมกมุ่นอยู่กับการได้คุณภาพเสียงที่มีความเที่ยงตรงสูงที่สุด โดยแทบไม่มีเสียงรบกวนเลย…

ประการถัดมา เหล่าออดิโอไฟล์ไม่ชอบสร้างรูปแบบ (shape) เสียงด้วย EQ –  เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนปล่อยเพลงใด ๆ ศิลปินหรือค่ายเพลงจะให้วิศวกรเสียงมืออาชีพทำการมิกซ์เสียง และควบคุมเพลงของพวกเขา วิศวกรมืออาชีพเหล่านี้ใช้อุปกรณ์เสียง เช่น คอมเพรสเซอร์และอีควอไลเซอร์เพื่อให้เสียงดีที่สุดในการตั้งค่าเสียงทุกครั้ง วิศวกรเสียงเหล่านี้มักจะเล่นกลับสัญญาณเสียงผ่านชุดลำโพงและหูฟังที่แตกต่างกัน และตรวจสอบให้แน่ใจว่า เสียงมีการผสมกันอย่างดี เพื่อให้เสียงออกมาดีอย่างที่ต้องการในระบบต่างๆ ที่เขาใช้งานอยู่นั้น

และอย่างที่คุณอาจทราบอยู่แล้วว่า ออดิโอไฟล์เป็นคนเจ้าระเบียบ ชื่นชอบที่จะฟังเพลงตามที่ศิลปินต้องการ หรือเป็นไปตามที่วิศวกรเสียงมืออาชีพได้ทำการสร้างสรรค์ขึ้นมา ด้วยความเชื่อว่า ทุกๆ เพลงถูกสร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน ดังนั้นเหล่าออดิโอไฟล์จึงละเว้นการใช้งานอีควอไลเซอร์ เพราะพวกเขาไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงดนตรีในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลไปลดทอนในเรื่องของความคมชัดสูง พวกเขาต้องการการสร้างเสียงที่แม่นยำสุดๆ ในเพลงที่พวกเขาฟัง และการใช้ EQ เพื่อเพิ่มหรือลดเสียงเบส – เสียงกลาง หรือความถี่สูงนั้น จะทำให้เอาต์พุตสุดท้ายขาดซึ่งความแม่นยำ-ถูกต้องไป


Exit mobile version