ทำความรู้จัก Oswalds Mill Audio

0

Mongkol Oumroengsri

เปิดเว๊บท่องอินเตอร์เนตไปเจอรูปภาพลำโพงแปลกๆ แถมยังมีสโลแกนเรียกแขกแบบกระแทกใจ “Music is an event not the wallpaper” เลยทำให้ต้องทำความรู้จักกันสักหน่อย – Oswalds Mill Audio

…ชื่อแบรนด์ก็ไม่ซ้ำแบบใครใช่ไหมล่ะครับ แถมสัญลักษณ์หรือโลโก้บริษัทก็แตกต่าง “ΩMA” ชวนให้ค้นหา เว๊บไซต์ของ Oswalds Mill Audio ระบุไว้อย่างนี้ครับ – ออสวอลด์ มิลล์ ออดิโอ ชื่อแปลกสำหรับเรื่องราวที่ไม่น่าเป็นไปได้ ‘OMA’ ได้ชื่อมาจากโรงสีอายุกว่า 200 ปี ในเพนซิลเวเนียตะวันออก ซึ่งได้รับการบูรณะโดย Jonathan Weiss ผู้ก่อตั้ง OMA

ในโรงสีนั้น Jonathan ได้รวบรวมคอลเลกชั่นอุปกรณ์อันหลายหลากจาก vintage cinema, studio audio equipment และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง horn loaded loudspeakers ย้อนหลังไปถึงปี 1930 ภายในกำแพงของโรงสีขนาดใหญ่แห่งนี้ ซึ่งได้รับการแนะนำอยู่ในแคมเปญสำหรับ Ralph Lauren, Anthropologie และ Victoria’s Secret

ด้วยความหลงใหลในเรื่องเสียงของ Jonathan ดึงดูดผู้คนที่มีใจเดียวกัน ซึ่งได้มารวมตัวกันที่นั่นทุกปี สำหรับงานที่กลายเป็นที่โด่งดังมีชื่อเสียงระดับโลก นี่คือนิคมใต้ดิน (underground community) ของนักออกแบบและผู้สร้างลำโพงแบบฮอร์นรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องหลอด กระทั่งแผ่นเสียงและโทนอาร์ม จนได้กลายเป็นรากฐานสำหรับการเปิดตัวแนวทางใหม่ทั้งหมดสำหรับเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ – OMA, Oswalds Mill Audio

…ใช่ครับ ผลิตภัณฑ์ของ Oswalds Mill Audio ล้วนสะท้อนถึงเครื่องเสียง “แนวทางใหม่” ซึ่ง “OMA” ระบุไว้ชัดว่า Our products and design look different because they ARE different, in ways that you hear and not just see. ที่แปลความได้ดังนี้ – ผลิตภัณฑ์และการออกแบบของเราดูแตกต่างเนื่องเพราะความแตกต่างอย่างที่เป็นนั้น อยู่ในวิถีที่คุณได้ฟัง และมิใช่แค่มอง

…คมกริบจริงๆ ครับ

ไม่เพียง Oswalds Mill Audio ที่โดดเดี่ยวมีแนวทางจำเพาะบริษัทเดียวหากแต่ปัจจุบัน Oswalds Mill Audio ยังแตกแขนงไปสู่ Fleetwood Sound Co. ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้หลังคาเดียวกันกับ OMA ในเพนซิลเวเนีย นี่แสดงว่าแนวทางความแตกต่างของ นั้นประสบความสำเร็จ สามารถสร้างยอดขายเลี้ยงตัวได้ จึงส่งต่อมาสู่บริษัใหม่ – Fleetwood Sound Company เป็นแผนกใหม่ของ Oswalds Mill Audio (ก่อตั้งเมื่อปี 2006) เราสร้าง FSC เพื่อผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์เสียงที่มีขนาดเล็กลง และมีราคาจับต้องได้มากขึ้น โดยที่ยังคงรักษาคุณภาพและการออกแบบระดับสูงเป็นพิเศษไว้ดุจเดียวกับ OMA ลำโพงที่ใช้ไม้เนื้อแข็งแบบเดียวกัน เคลือบสีธรรมชาติด้วยมือ (น้ำมันและขี้ผึ้ง) ฮอร์นทรงกรวยและการออกแบบที่ขับเคลื่อนด้วยวิศวกรรมเสียงอันล้ำสมัยที่คุณเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

The Museum Speaker

ลำโพงที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับ Guggenheim Museum of Art ในนิวยอร์กซิตี้ และได้รับการนำเสนอในรายการเพลงสวดสรรเสริญ (Anthem) ปี
2021

…นี่คือ ลำโพงรุ่นใหม่ล่าสุดของ OMA เป็นลำโพงระดับโปรเฟสชั่นแนลที่มีขนาดกะทัดรัด ทรงพลังเป็นพิเศษ ทำจากไม้แท้ Pennsylvania ash wood ที่ผ่านกระบวนการในการอบความร้อนแบบใหม่ที่เรียกว่า torrefaction ทำให้ไม้มีสีเข้มขึ้น เสถียรขึ้น และยังปรับปรุงโทนเสียงให้ยอดเยี่ยมอีกด้วย ตะแกรงหน้าทำเป็นดั่งงานประติมากรรมและแผงด้านหลังลำโพงแกะสลักจากแผ่นฟีนอลิก (phenolic) ซึ่งเป็นคอมโพสิตของกระดาษ และเทอร์โมเซ็ต เรซิน (thermoset resin) ซึ่งมีคุณสมบัติการแดมปิ้งที่ดีเยี่ยม ขาตั้งลำโพงทำจากแผ่นเหล็กไร้สนิมย่างหนา ผ่านกระบวนการรีดเย็น

วูฟเฟอร์ขนาด 15 นิ้ว 2 ตัวเป็นทรานสดิวเซอร์ระดับโปรเฟสชั่นแนลเต็มขั้น ทำงานแบบเดียวกับ coaxial compression driver บนฮอร์นความถี่เสียงกลางและสูงที่ทำด้วยไม้ทรงกรวยรูปสนามกีฬา (stadium shaped conical horn) คิดค้นโดย OMA และนี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์แวดวงออดิโอ วูฟเฟอร์ขนาด 15 นิ้วทำหน้าที่ขับขานความถี่เสียงต่ำ ได้รับพลังขับขานโดยการออกแบบของ OMA เอง และเป็นแบบ plate amp ซึ่งให้เสียงเบสต่ำอย่างน่าทึ่ง

(***ตะแกรงหน้าและขาตั้ง ออกแบบโดย David D’Imperio)

มีมิติขนาดตัวตู้ กว้าง 22 x ลึก 18 x สูง 50 นิ้ว เป็นระบบ 4-ทาง ที่สามารถส่งมอบเอาท์พุตระดับคอนเสิร์ตด้วยกำลังขับที่น้อยมาก โดยมีประสิทธิภาพสูงถึง 100db 1 วัตต์/1 เมตร ซึ่งสูงกว่าลำโพงใดๆ ในระดับเดียวกัน ด้วยอิมพีแดนซ์ปกติที่ 8 โอห์ม จึงสามารถขับขานด้วยแอมปลิฟายเออร์ใดๆ รวมถึงแอมป์หลอดกำลังขับต่ำได้สบาย Oswalds Mill Audio เปรียบ The Museum Speaker เสมือนมีรถแข่ง Formula One วิ่งอยู่ในถนนเลนรถของคุณ