ดูแลแผ่นซีดีให้ใช้งานได้ 100 ปี…

0

Garoonchart  Bukkavesa

วันก่อน…วันที่หลายคนบอกว่าซีดีจะตาย วันนี้ ต้นปีพ.ศ. 2565 แล้วแต่ก็ยังผลิตขายกันอยู่ มีให้เลือกหลายฟอร์แมท โดยเฉพาะฟอร์แมทพิเศษ เช่น HQ II, Ultimate HQ, 1:1 ไปจนสูงสุดอย่าง Crystal Disc แผ่นละ 4 หมื่นกว่า!!

มีทั้งแผ่นอัลบั้มใหม่ และอัลบั้มเก่าที่เคยออกมาแล้วบ้าง ออกใหม่อีกรอบ ทำเป็นเวอร์ชั่นพิเศษปลอมบ้างจริงบ้างก็ว่ากันไป แผ่นเก่าเป็นแผ่นธรรมดา ปั๊มใหม่จัดทำในรูปแผ่นทอง ฯลฯ ปั๊มกันมาดูดเงินเราเดือน ๆ นึงหลายสิบอัลบั้ม ช่วงพีค ๆ น่าจะเตะเป็น “เกินร้อย” อัลบั้มในเดือนเดียว พิมพ์แบ๊งค์กันแทบไม่ทันเลยทีเดียว

คนซื้อแผ่นซีดีจะตายก่อนละครับ….เพราะมีเท่าไหร่ลงแผ่นหมดไม่มีเงินซื้อข้าวกิน 55

ผู้ผลิตเคลมว่าซีดี มาตรฐาน Red Book เก็บได้เป็น 100ปี….พอออกมาคนที่ซื้อมองว่าถ้าเขาอายุ 30 ปี แผ่นจะใช้ไปได้จนอายุเขาถึง 130 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะเสียจะพังก็ช่างมัน เพราะถึงตอนนั้นอาจไม่ได้อยู่ฟัง…หรืออยู่แต่ก็อาจฟังไม่ได้ยินแล้ว นั่ง ๆ นอน ๆ ไปวัน ๆ แต่อย่างน้อยไม่พังคามือตอนที่เล่น ทำให้ยอดจำหน่ายซีดีเริ่มพีคพุ่งขึ้นแบบสุด ๆ

แต่เมื่อมาถึง “ตอนนี้” กาลเวลาผ่านไปน่าจะครึ่งทาง ราว 4-50 ปี (ไม่ถึงดี) อายุของแผ่นกลับไม่เป็นตามที่คุย ผมเริ่มพบว่ามีคนซื้อหลายคนเริ่มพบปัญหาว่าแผ่นซีดีสุดโปรดของพวกเขาที่ซื้อมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ดันเล่นไม่ได้ ไม่อ่านซะงั้น…

เครื่องขึ้น No Disc ซะงั้น…ทั้งที่แผ่นยังใหม่เอี่ยม ไม่มีริ้วรอย หรือบางแผ่นสารเคลือบหลุดหายกลายเป็นรู มองทะลุได้ พอเล่นจุดนี้สะดุดเสมอ…หรือบางแผ่นมีเชื้อราขึ้นแล้ว บางแผ่นฝังแน่นหรือมีราเต็มแผ่น!!

ครั้นจะให้ซื้อใหม่ มันไม่มีปั๊มนั้นแล้วซิครับผ่านมา 30 ปีอัพ มีแต่ปั๊มปัจจุบัน บางทีซื้อมาแล้ว อะไรฟะ เสียงแห้ง คนละเรื่องกับที่เคยฟัง คุณพระ!! ต้องควานหาปั๊มปีเดิมให้ได้ หรือต้องปั๊มเก่าหน่อย ซึ่งบางทีก็ไม่มี บางทีมีแต่ราคาพุ่งไปหลายพัน บางทีหลายหมื่นขึ้นกับแต่ละแผ่น เล่นเอาเครียดเลยเคยซื้อแผ่นแค่หลักร้อยหลักพัน

บางอัลบั้มไม่มีผลิตซ้ำออกมาเลยด้วยซ้ำอันนี้ยิ่งหายาก ถ้าคุณชอบนี้บางทีพลิกแผ่นดินยังไม่เจอ…เนื่องจากแผ่นมีน้อยมากนั่นเอง…กลายเป็นปัญหาโลกแตก กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในที่สุด

ลองคิด + วิเคราะห์ว่าทำไม?

ผมลองคิดย้อนกลับไปกลับมา สรุปน่าจะมีปัญหาหลัก ๆ 3 อย่าง ดังนี้

แผ่นปกติแล้วไม่เล่น  อันนี้ถือว่าแจ๊คพ๊อตมาก ๆ แต่ถ้าดูดี ๆ ต้องใช้วิธีการ “ส่อง” หลาย ๆ มุม บางแผ่นเคลือบมาไม่มี มองเห็นเป็นริ้ว ๆ ดวงๆ ตาเปล่าบางทียังดูยากเลย ลองส่องหลาย ๆ แผ่นเทียบถูกกับแพงอาจจะเห็นครับ

แผ่นที่สารเคลือบหลุด  อันนี้ถือว่ามาตรฐานของโรงงานไม่ดีพอ แต่เราคงเอาผิดเคลมอะไรไม่ได้แล้ว โรงงานนั้นอาจเจ๊งไปแล้ว เปลี่ยนมือไปแล้ว ฯลฯ แม้จะเก็บอย่างดี คงต้องทำใจ อย่าให้เจอหลายแผ่น ไม่งั้นงานเข้าครับ แผ่นที่มีจะเสียไปเรื่อย ๆ

แผ่นมีเชื้อรา  เข้าใจว่าส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ตอนใช้งานตั้งแต่เริ่มด้วย ความชื้นในอากาศที่คอยเข้ามาทำปฏิกิริยาต่าง ๆ กับแผ่นได้เช่นกัน ตลอดจนบางคนกินข้าวไปฟังเพลงไป ทำให้มือเปื้อนคราบมัน คราบสกปรกต่าง ๆ แล้วไปจับตัวแผ่น เสร็จแล้วไม่ได้ทำความสะอาด เจ้าเชื้อราตัวดีจึงค่อย ๆ ลัดเลาะมาที่ตัวแผ่นและกำเนิดขึ้น

หาวิธีบรรเทา และรักษาปัญหา

สำหรับคนที่เก็บแผ่นมาประมาณ 30 ปีขึ้นไป ไม่อยากพบปัญหาดังกล่าว มาดูว่าจะเก็บอย่างไร แบบไหน? ผมมีทริคมาฝากครับ

  • เก็บแผ่นซีดีให้เหมาะสม  เริ่มจากแผ่นของผมเองเก็บแบบวางใส่ที่วาง และอยู่ด้านนอกแถว ๆ ห้องนั่งเล่น บนฉากที่เอาไว้กั้นห้อง โซนก่อนขึ้นบันได (ไม่ใช่ใต้บันได) ดังนั้นไม่โดนแดด ไม่โดนความร้อน รวมทั้งไม่โดนความชื้นอีกด้วย จะมีแต่ฝุ่นจับตรึม 55 ถึงวันนี้อายุอานามแต่ละแผ่นก็มีตั้งแต่ 20-30 ปีขึ้น ยังปกติ ไม่มีคราบรา สารเคลือบยังปกติไม่มีริ้วรอยหลุดออกไปเหมือนที่คนอื่นเจอ ขณะที่แผ่นอีกส่วนที่นิยมจะอยู่ในห้องฟัง เปิดแอร์ตอนฟังจากนั้นปิด แต่ “จะต้อง” มีเปิดประตูบ้างนะครับ ไม่งั้นจะอับ อากาศไม่ถ่ายเท จนนำมาซึ่งการเกิดเชื้อราในที่สุด แผ่นซีดีในห้องยังปกติดีไม่มีเชื้อรา ไม่มีการหลุดร่อนของสารเคลือบ พื้นผิวด้านข้อมูลยังเต็มร้อย ไม่มีการเสื่อมสภาพใด ๆ ผมเชื่อว่าวิธีการเก็บที่เหมาะสมจะช่วยยืดอายุไปได้อีกยาวไกล
  • หลีกเลี่ยงชั้นวางติดผนัง  บางคนหรือหลายคนมีชั้นวางแล้วคิดว่าดี แต่ลืมคิดไปว่าชั้นวางนี้ยึดติดกับผนังของบ้านโดยตรง ซึ่งจะมีการถ่ายเทความชื้นเข้ามา ความชื้นนี้จะแผ่ออกมาที่แผ่นได้ด้วย นาน ๆ ไม่รอด ยิ่งถ้าชื้นมาก ๆ ยิ่งก่อตัวได้เร็ว หรือถ้าไปติดผนังด้านทิศตะวันตก โดนความร้อนเต็ม ๆ + ห้องอาจจะ “อบ” ด้วย ความร้อนสะสมสูงมาก นานปีย่อมทำให้สารเคลือบผิวเสื่อมสถาพได้ หรือไม่ก็ “ปก” จะซีดจางกลายเป็นคล้ายแผ่นซีร๊อกซ์กันเลย 
  • มือต้องสะอาด  เพื่อไม่ให้เป็นตัวแปรตั้งต้น เช่น คราบมัน เชื้อรา เวลาหยิบแผ่นซีดีมือควรจะสะอาดที่สุด ตรงนี้เอาพอหอมปากหอมคอก็พอครับ ไม่ต้องถึงกับเช็ดแอลกอฮอล์ก่อนจับ เดี๋ยวกลายเป็นว่าแผ่นด่างจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ละครับ รวมถึงการใส่ถุงมือ เดี๋ยวไม่ถนัดแผ่นหลุดมือกระเด้งไปมาเป็นรอยอีก หรือตกแตกไปเลยกรณีแผ่นเปราะ
  • ล้างน้ำ  สำหรับแผ่นที่มีเชื้อราเกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่กินลึก มีไม่กี่จุด ให้ใช้น้ำยาล้างจานล้างออกได้เลย ด้านข้อมูลให้ถูกจากด้านในออกไปด้านขอบนอก อย่าไปฝน อย่าไปถูวน ๆ ซึ่งอาจจะเกิดรอยขนแมวได้ เท่านี้แผ่นก็จะใหม่เอี่ยม

ล่าสุด ผมไปเจอแผ่นซีดี Led Zeppelin ‎– Houses Of The Holy ของผู้ใหญ่ท่านนึง รู้ว่าเก่า แต่ไม่รู้มากน้อยเพียงใด ผมลองหาข้อมูลใน discogs แจ้งว่าอัลบั้มนี้ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1973 ในฟอร์แมทอื่น ขณะที่ฟอร์แมท “ซีดี” ปั๊มแรกเป็นแผ่นที่ผลิตจากญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1985 โค๊ดแผ่นคือ  Atlantic 32XP-154, 19130-2 เรียกว่าเกือบ 40 ปี!! มาแล้ว ถ้าเก็บไม่ดีน่าจะกลับญี่ปุ่นไปแล้วแน่นอน

ซีดี Led Zeppelin ‎– Houses Of The Holy ที่ผมเจอนี้ พบว่าผลิตปี ค.ศ. 1994 เป็นปั๊มครั้งที่ 5 โค๊ดแผ่นคือ Atlantic 82639-2 ถือว่าเก่าใช้ได้เลย อายุงาน 28 ปีมาแล้ว หากเก็บไม่ดี ปล่อยโดนแดดโดนความชื้นก็น่าจะมีความเสียหาย / ความเสื่อมรุมเร้าเช่นกัน

แผ่นนี้แกะซีลแล้วแต่เจ้าของคงไม่ได้หยิบมาเล่นมากนัก (สังเกตุจากรอยนิ้วมือ-แทบไม่มีเลย) น่าสนใจตรงที่ท่านได้ใส่ “กระดาษทิชชู่” บ้าน ๆ แปะวางในหลุมแล้วค่อยวางซีดีทับลงไป โดยถ้าทิชชู่หนามากหรือที่ล๊อคไม่ค่อยดีอาจทำให้แผ่นซีดี “หล่น” ออกมาเวลาเปิด…งานเข้าอีก

ทั้งนี้คงไม่ต้องเทียบเกรดทิชชู่กันนะครับ 55 ถ้าเทียบ ผมคงถือหางว่าควรใช้กระดาษทิชชู่ญี่ปุ่นน่าจะดีกว่าทิชชู่ไทย….ในอัตราต่อครึ่งควบลูก แน๊ะ…

ผมเชื่อว่าวิธีการใช้กระดาษทิชชู่นี้น่าสนใจทีเดียวครับ  พอมีความชื้นเยอะ ๆ หรือเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น จะเกิดเป็น “ไอน้ำ” มาเกาะได้ จะถูกทิชชู่นี้ซึบซับเอาไว้นั่นเอง และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นความชื้นย่อมลดลง กระดาษทิชชู่ที่มีความชื้นอยู่จะค่อย ๆ แห้งขึ้นเอง ซึ่งเมื่อไม่มีความชื้นย่อมทำให้ตัวแผ่นซีดีปลอดภัยขึ้น มีอายุการใช้งานมากขึ้น อยู่กับเราไปนาน ๆ นั่นเอง

จัดว่าเป็นวิธีการเก็บรักษาแผ่นที่น่าสนใจ ลองทำกันดูครับ ง่าย ๆ แต่สุดยอดมาก ๆ ครับ ข้าน้อยขอคารวะ