What HI-FI? Thailand

คุยกับ Mr. John Franks Founder & Chief Engineer Chord Electronics Ltd.

พิพัฒน์ คคะนาท

pipat.cacanaat@gmail.com

Behind the Panel

แน่นอนว่า ทุกปรากฏการณ์ย่อมต้องมีเบื้องหลัง เช่นเดียวกับเครื่องเสียงที่เราเห็นแผงหน้าปัดของเครื่อง ที่บ่งบอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ขณะเดียวกันหลังแผงหน้าปัดนั้นย่อมต้องมีเรื่องราว ที่มา ของแต่ละนานา องคาพยพในความหมายของชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาบนแผ่นพิมพ์วงจร ก่อนที่จะประกอบกันออกมาเป็นเครื่องเสียงแต่ละชิ้น แต่ละเครื่อง เพื่อทำหน้าที่ในการรังสรรค์เสียงดนตรีออกมาตามแต่ความรับผิดชอบของเครื่องนั้นๆ ดังที่ได้ถูกออกแบบมา

ความยอดเยี่ยมของแต่ละเส้นเสียงที่เราท่านได้สัมผัส จากการทำงานของเครื่องเสียงแต่ละชิ้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นระบบเสียงหรือ Audio System ย่อมมิอาจปฏิเสธความยอดเยี่ยมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังแผงหน้าปัดของแต่ละเครื่องนั้นได้อย่างแน่นอน

เรื่องราวที่เป็นเบื้องหลังแผงหน้าปัดจึงล้วนแล้วแต่น่าสนใจยิ่งนัก

จังหวะเหมาะ เมื่อไม่นานวันที่ผ่านพ้น ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบ และผลิต ชุดเครื่องเสียงระดับ Super Hi-End ของสหราชอาณาจักร ที่จัดอยู่แถวหน้าๆ ของวงการรายหนึ่ง ซึ่งแม้อาจจะมีเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ที่ได้พบปะพูดคุยกัน แต่มันก็มีบางเรื่องราวที่น่าสนใจจากที่ได้สนทนามาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้อยู่พอประมาณ

เขาผู้นั้น คือ Mr. John Franks ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกรของ Chord Electronics Ltd. ที่ปัจจุบันระบตำแหน่งเอาไว้บนนามบัตรว่า Managing Director

จาก Avionics Engineer สู่เส้นทาง Audio Engineer

หลังจากโอภาปราศัยทำความรู้จักกันเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่การสนทนาจะนำไปสู่ชุดอุปกรณ์เครื่องเสียงที่เป็นพัฒนาการล่าสุดของ Chord Electronics คุณจอห์นได้ปูพื้นฐานส่วนตัวให้ทราบเป็นเงาๆ ก่อน….

“สมัยหนุ่มๆ ผมเริ่มงานเป็นวิศวกรให้กับริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการบินมาก่อน เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากทางด้านการออกแบบ และผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับระบบการบินนั่นคือ Marconi Avionics Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้มาอย่างยาวนานตราบจนทุกวันนี้”

กำเนิดของ MAL นั้นต้องย้อนไปถึงปีค.ศ. 1897 เมื่อ Guglielmo Marconi ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา แล้วได้ร่วมกับ Elloitt Brothers Ltd. ในปีค.ศ. 1909 เพื่อร่วมกันพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อใช้ในระบบการบิน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น MAL ในปีค.ศ. 1978

ซึ่งปัจจุบัน คือ BAE (British Aerospace Electronics) Systems Avionics Ltd. อันมีฐานใหญ่อยู่ที่เมือง Basildon ในมณฑล Essex ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประมาณ 40 กิโลเมตร เท่านั้นเอง

จากการที่ได้ทำงานอยู่ในองค์กรนาดใหญ่ มีประวัติศาสตร์มายาวนาน และอยู่กับงานออกแบบที่มีความประณีต พิถีพิถัน และมีรายละเอียดสูง เนื่องเพราะเกี่ยวกับระบบที่ต้องการความถูกต้อง และเที่ยงตรงอย่างสูงสุดนี่เอง ที่ทำให้คุณจอห์นบอกว่า “เป็นที่นี่เอง ที่ได้หล่อหลอมให้ผมเข้าถึงสัจธรรมของการออกแบบ ว่าจะต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดในการนำมาประยุกต์ใช้ โดยเวลานั้นความเชี่ยวชาญของผมอยู่ที่การออกแบบระบบจ่ายกำลังที่เป็นแบบ “Ultra-High Frequency”

หลังจากสั่งสมประสบการณ์ และเก็บเกี่ยวความเชี่ยวชาญในการออกแบบ รวมทั้งความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เป็นศาสตร์ระดับสูง จนเกิดความอิ่มตัวในงานดังกล่าวแล้ว นั้นเองที่ทำให้เขาตัดสินใจเริ่มต้นก่อตั้ง Chord Electronics Ltd. ขึ้นมา

….. “มันเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความมั่นใจ และเข้มแข็งพอ ทั้งในแง่ของแนวคิดและการออกแบบที่จะต้องนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง เที่ยงตรง แม้ว่ามันจะต้องใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้องทุ่มเททรัพย์มากขึ้นอีกนิดหรือแม้แต่จะมากขึ้นอีกมากก็ตาม เพื่อความถูกต้องเที่ยงตรงของผลงานแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้” คุณจอห์นบอกให้รับรู้ถึงความตั้งใจในวันที่ตัดสินใจก้าวเดินมายังเส้นทางของการเป็น Audio Engineer

ซึ่งเขาย้ำว่า “นั้นเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของเราทุกคนที่ Chord และในการที่จะได้โอกาสนั้นอย่างเป็นสำคัญอีกด้วย”

จากเครื่องในสติวดิโอถึงห้องฟังของนักเล่นเครื่องเสียง

ด้วยความรู้ทั้งมวล อันสั่งสมมาจากประสบการณ์การออกแบบเกี่ยวกับระบบการบิน ทำให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ออกมาภายใต้ชื่อ Chord Electronics นั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่คุณจอห์นบอกว่า……

….. “มันเป็นอุปกรณ์ที่ผมสามารถใช้แนวคิดในการออกแบบ เพื่อประสานการทำงานระหว่างภาคจ่ายกระแสกับการไหลเวียนอันทรงพลังของคลื่นแม่เหล็กได้อย่างทรงประสิทธิภาพยิ่ง”

พร้อมกับย้ำว่า “นั้น มันทำให้เพาเวอร์ แอมปลิไฟเออร์ ของเราสามารถทำงานกับสัญญาณดนตรีได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งในแง่ของความรวดเร็ว ความโปร่งใส ในความหมายของการสนองตอบต่อสัญญาณต่างๆ โดยเฉพาะกับสัญญาณฉับพลันได้อย่างดียิ่ง อันนำมาซึ่งคุณภาพเสียงดนตรีที่มีความถูกต้องและเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง”

คุณจอห์นยังบอกอีกว่า นอกจากจะตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว มันยังให้ความเป็นดนตรีที่ถึงพร้อมในทุกรายละเอียด ที่สามารถสัมผัสผ่านลำโพงได้อย่างแจ่มชัด และนั้นเองเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสถานีวิทยุกระจายเสียงอย่าง BBC : British Broadcasting Corporation จึงให้การยอมรับมันเกือบจะในทันทีที่ออกสู่ตลาด

“แล้วคุณคิดว่าควรจะเป็นใครล่ะ ที่จะเป็นผู้รับรองผลิตภัณฑ์ในการใช้เพื่อการออกอากาศได้ดีที่สุด” นี้ น่าจะเป็นคำถามขณะสนทนาโดยที่คุณจอห์นดูท่าจะมิได้ต้องการคำตอบแต่อย่างใด ด้วยมันมีคำตอบอยู่ในคำถามแล้วนั่นเอง

และไม่นานหลังจากนั้น หลังจากที่ใครต่อใครได้ข่าวการใช้เครื่องของเราที่ BBC บรรดาโปรดิวเซอร์ในสติวดิโอชั้นนำหลายต่อหลายแห่ง ก็ได้คัดสรรนำผลิตภัณฑ์ของเราไปใช้ด้วย คุณจอห์นบอกว่า “มีทั้ง Abbey Road ในลอนดอน สติวดิโอของ Sony ในนิวยอร์ก รวมทั้ง Toshiba ที่โตเกียว และ Skywalker Ranch ในแคลิฟอร์เนีย”

อย่างไรก็ตาม คุณจอห์นบอกว่าความสนใจอันจริงแท้ของเขานั้น อยู่ที่ตลาดเครื่องเสียงสำหรับผู้บริโภค ในความหมายของคนเล่นเครื่องเสียงมากกว่า “และนั้นเองเป็นเหตุผลอันสำคัญ ว่าทำไมหลายปีที่ผ่านมาความพยายามของเราจึงมุ่งมั่นไปยังทิศทางนี้อย่างแน่วแน่” เขากล่าวย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างหนักแน่น

ขีดขั้นการออกแบบที่ไร้ข้อจำกัดใดทั้งปวง

จากความพยายามในการทุ่มเททำงาน และพัฒนางานออกแบบ เพื่อรังสรรค์ชิ้นงานมาอย่างต่อเนื่อง และไร้ขีดจำกัด ผลที่ตามมาก็คือ “เราได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง” คุณจอห์นบอก

และกล่าวต่อว่า “เราได้รับรางวัลต่างๆ มากกว่ามาก จากงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของเรา อีกทั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในแง่ของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ของเราได้รับคำชื่นชมอย่างมากมาย ทั้งจากนักเล่น และจากนักวิจารณ์ของนิตยสารต่างๆ ทั่วโลก”

และด้วยความครัดเคร่งในวัตรปฏิบัติอันเป็นประเพณีในงานออกแบบ ที่เปี่ยมไปด้วยการเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด เพื่อนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์อันน่าชื่นชมยิ่ง อันเป็นเอกลักษณ์ของ Chord Electronics ทำให้คุณจอห์นถึงกับออกปากว่า “ผมโชคดียิ่ง ที่เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้”

คุณจอห์นยังบอกอีกว่านอกจากจะโชคดีที่ได้ทำในงานที่รักแล้ว ยังโชคดีที่ได้ทำงานอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่น เงียบสงบ และสวยงาม ภายในอาคารเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Medway ที่มีสายน้ำสีเขียวมรกตไหลเอื่อยๆ ผ่านไปอย่างเนิบช้า

“เมดเวย์นั้นนอกจากจะเป็นชื่อของแม่น้ำแห่งมณฑลเคนห์หรือ คือ The River of Kent แล้ว ยังเป็นชื่อของเมืองชนบทที่อยู่ใจกลางเคนท์อีกด้วย” คุณจอห์นอธิบาย และขยายความให้ทราบอีกว่า “เป็นเมืองชนบทอันเป็นที่รู้จักกันดีของผู้คนทั่วไปว่า คือ สวนแห่งอังกฤษหรือ The Garden of England ที่มีผลไม้เลื่องชื่อในคุณภาพมากมาย อาทิ สตอรว์เบอรีย์ ราสเบอรีย์ แอพเปิล ตลอดจนลูกแพร์”

ก่อนที่จะย้ำบอกในที่สุด ว่าเขาได้ทำงานอยู่ภายใต้บรรยากาศที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ในการที่จะให้สามารถรังสรรค์ผลงานอันไร้ขีดจำกัดออกมาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ

พันธมิตรใหม่กับเครื่องรุ่นใหม่

ท้ายสุดของการพูดถึงภาพรวมขององค์กรนั้น คุณจอห์นบอกว่า เขามีความภาคภูมิใจในทีมงานทุกๆ คนยิ่ง ที่ทั้งหมดมีกว่า 20 คน ในองค์กร “ทุกคนได้พิสูจน์แล้วถึงความเป็นมืออาชีพ และมีความพร้อมในการที่จะทุ่มเทให้กับ Chord Electronics Ltd. อย่างแท้จริง” เขายืนยันด้วยคำกล่าวนี้อย่างหนักแน่น

ก่อนจะปิดท้ายด้วยประโยคที่ว่า “และผมเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า พวกเขาจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กับพันธมิตรใหม่ที่เป็นคู่ค้าใหม่ของเราอย่าง Audio Force ในประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเติบโตและพัฒนาธุรกิจร่วมกันในอนาคตต่อไปอีกนานแสนนาน”

ครับ ทั้งหมดนั้นเป็นการพูดคุยกับคุณจอห์น แฟรงค์ส ที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง หัวหน้าทีมวิศวกร อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ Chord Electronics Ltd. ด้วย

ซึ่งเป็นการพูดคุยให้รู้จักกับที่มา ที่ไปของผู้คน และองค์กร ในภาพรวมกว้างๆ รวมทั้งความคาดหวังถึงการตลาดที่จะเติบโตในบ้านเรา ดุจเดียวกับที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในทวีปยุโรปและอเมริกา รวมทั้งในเอเชียอย่างตลาดที่ญี่ปุ่น ที่มีนักเล่นเครื่องเสียงจำนวนไม่น้อยให้ความเชื่อมมั่นและชื่นชมในผลิตภัณฑ์ของเขา

จากนั้นเราได้พูดคุยกันถึงเครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่ Chord เพิ่งจะนำมาเปิดตัวในบ้านเราที่งาน Thailand International High -End Audio-Video Show ที่กลุ่มนิตยสารในเครื่อง What Group ได้จัดขึ้น ซึ่งเครื่องเด่นๆ และได้รับความสนใจอย่างมากจากนักเล่นเครื่องเสียงบ้านเราก็คือ Digital-to-Analogue Converter หรือ DAC กับเครื่องในกลุ่มแอมปลิไฟเออร์นั่นเอง

คุณจอห์นได้เอ่ยถึง DAVE DAC (Chord DAVE D-to-A Converter) ว่า “นี้ เป็นพัฒนาการล่าสุดในการออกแบบเครื่อง DAC ของเรา ที่ ณ ปัจจุบัน กล่าวได้ว่ามีความก้าวล้ำนำหน้าใครไปมากกว่ามาก เป็นเครื่องที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย มันเป็นงานออกแบบอันยอดเยี่ยมยิ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่ายากที่จะหาเครื่องใด และไม่ว่าจะมีราคาระดับใดก็ตาม มาเทียบเคียงได้อย่างแท้จริง”

“เพราะมันเป็นเครื่องที่ได้ผนวกรวมความเป็นสุดยอดของเทคโนโลยีการแปลงสัญญาณขั้นสูง ผสานเข้ากับเทคนิคในการออกแบบที่ลึกล้ำ อย่างชนิดที่ไม่เคยมีปรากฏในเครื่องอื่นใดมาก่อนเลย” เขาได้กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความภาคภูมิใจไม่น้อยเลย

“ความโดดเด่นประการหนึ่งของมันก็คือ การใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์บางส่วนที่ดีขึ้นกว่าเดิมเอามากๆ เช่นกับ FPGA : Field Programmable Gate Array นั้น พัฒนาการล่าสุดที่เรานำมาใช้ตรงนี้ มันให้ประสิทธิภาพทำงานได้มากกว่าเดิมถึงสิบเท่าเมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นที่ผ่านๆ มา”

DAVE ยังใช้ฟิลเตอร์แบบใหม่ที่เป็นพัฒนาการล่าสุดในส่วนการทำงานของ System Clock ซึ่งเป็นแบบ WTA : Watts Transient Aligned Filter ที่ให้การทำงานสุ่มสัญญาณด้วยอัตราที่สูงสุด อย่างชนิดที่ไม่เคยมีปรากฏใน DAC เครื่องใดมาก่อนเช่นกัน” คุณจอห์นบอก

จากนั้นคุณจอห์นได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบ และการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เป็นพัฒนาการล่าสุดในอีกหลายๆ ภาคส่วนในการทำงานของ DAVE ให้ทราบ ซึ่งมีรายละเอียดอันซับซ้อนและน่าทึ่งยิ่ง ก่อนที่จะเอ่ยปากเกี่ยวกับชื่อ DAVE ว่า รู้ไหม มันมีที่มาจากอะไร

ซึ่งคำตอบก็คือ Digital-to-Analogue Veritas in Extremis ที่มีความหมายทำนองคล้ายๆ ว่า หลังเสร็จสิ้นกระบวนการทำงานของมัน สิ่งที่คุณสามารถสัมผัสได้ก็คือ ความเป็นจริงอันเป็นที่สุดแล้ว นั่นเอง

จากนั้นได้คุยกันต่อถึงเรื่องที่เกี่ยวกับแอมปลิไฟเออร์อีกเล็กน้อย

คุณจอห์นบอกว่าหัวใจสำคัญของแอมปลิไฟเออร์ทั้งหลายนั้น ใครๆ ก็รู้ ว่ามันเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกกันแบบง่ายๆ ว่า ภาคจ่ายกระแสหรือ Power Supply Unit ในอันที่จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้แรงดันไฟฟ้าที่เข้ามายังเครื่องนั้นๆ สามารถจ่ายต่อไปยังภาคการทำงานต่างๆ ภายในเครื่องได้อย่างปลอดภัย

เพราะเมื่อภาคการทำงานต่างๆ ได้รับพลังงานที่จ่ายเข้ามาด้วยความเสถียร เที่ยงตรง รวมทั้งเพียงพอต่อความต้องการในทุกสภาวะแล้ว ผลต่อเนื่องก็คือ วงจรต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานในแต่ละภาคส่วน ก็จะทำงานด้วยความมั่นคง การส่งผ่านสัญญาณก็จะเป็นไปอย่างถูกต้อง เที่ยงตรง คือ เป็นไปตามสัญญาณต้นฉบับที่ถูกป้อนเข้ามาเช่นเดียวกันนั่นเอง

“คือ ฟังแล้วมันดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วการออกแบบภาคจ่ายพลังงานในแอมปลิไฟเออร์นั้น มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวต่อการทำงานของเครื่องมาก” คุณจอห์นกล่าวย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้

ปัจจุบันการออกแบบภาคจ่ายกระแสของ Chord Amplifiers เป็นนวัตกรรมล่าสุดของเทคโนโลยีทางด้านนี้ ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า Chord High Frequency Power Supply เป็นแบบแยกอิสระการทำงานในตัวเอง พร้อมมีโมดูลในตัวเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความเที่ยงตรงระหว่างการทำงานด้วย ซึ่งคุณจอห์นบอกว่านั้นเป็นเรื่องของพื้นฐานอันสำคัญ ในการที่จะทำให้เครื่องสามารถให้ประสิทธิภาพการทำงานออกมาได้อย่างโดดเด่น

นอกจากภาคเพาเวอร์ ซัพพลาย แล้ว การออกแบบวงจรทางด้าน Audio Circuit ก็เป็นสิ่งที่ Chord ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ บนแผงวงจร ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องมีความพิถีพิถัน และคัดสรรด้วยความเอาใจใส่อย่างสูง

แอมปลิไฟเออร์ของ Chord ยังมีวงจรป้องกันที่ภาคเอาท์พุท สเทจ ซึ่งมิเพียงออกแบบมาเพื่อป้องกันมิให้ไปทำอันตรายต่อลำโพงเท่านั้น หากยังเพื่อให้ได้การทำงานอย่างเหมาะสมกับทุกๆ ลำโพงที่นำมาใช้ร่วมกับมันอีกด้วย

Streaming Music ไม่พูดถึงคงไม่ได้

ท้ายสุด ก่อนลาจากกัน ได้พูดคุยกันถึงการเล่นเพลงแบบ Streaming ที่ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็น Trend หรือมาตรฐานใหม่ของการเล่นเครื่องสียงไปเสียแล้ว

ได้ถามคุณจอห์นทำนองว่า การเล่นเพลงในลักษณะดังกล่าวมีอุปสรรคอะไรเป็นสำคัญ และพอจะมีคำแนะนำอะไรบ้างไหม

คุณจอห์นตอบในเกือบจะทันทีว่า “เน็ทเวอร์ค”

จากนั้นก็ได้อธิบายต่อว่า “เน็ทเวอร์คเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นแบบ Streaming ไม่ว่าจะดูหนังหรือฟังเพลงก็ตาม ประการแรกเน็ทเวอร์คต้องมีความเร็วสูงพอในการถ่ายโอนข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดอาการสะดุด ประการต่อมาเน็ทเวอร์คเพื่อการนี้ควรแยกเป็นอิสระจากการใช้งานทั่วๆ ไป เพราะในเครือข่ายหนึ่งหากมีผู้ใช้งานร่วมกันมากๆ มันจะเกิดการเบียดชิงกันเป็นธรรมดา ทำให้ระหว่างการถ่ายโอนข้อมูลมีปัญหาเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรแยกเน็ทเวอร์คที่ใช้สำหรับการดูหนัง ฟังเพลง มาเป็นเครือข่ายเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จะทำให้ลดปัญหาการถ่ายโอนข้อมูล ทำให้การดูหนัง ฟังเพลง ได้อรรถรสอย่างอิ่มเอมในอารมณ์ สัมผัสได้แบบเข้าถึงความสุนทรีย์ในสิ่งที่กำลังเสพอยู่อย่างแท้จริง”

ฟังแล้วคุ้นๆ อะไรไหมครับ

ผมน่ะ ได้ยินแล้วเหมือนกับระลึกชาติได้นั่นเลย

เพราะมันฟังแล้วคุ้นๆ กับเหมือนสี่ซ้าห้าสิบปีก่อน ที่เข้ามาในวงการนี้ใหม่ๆ เป็นละอ่อนที่ไม่ประสาอะไรเลยในเรื่องนี้ – ก็เรื่องเกี่ยวกับเครื่องเสียงและการเล่นเครื่องเสียงนี่ละ เพราะเวลานั้น จำได้ว่าไม่ว่าจะไปแสวงหาประสบการณ์ที่ห้องฟังไหนๆ ก็ตาม เรื่องหนึ่งที่มักจะได้ยินใครต่อใคร ในความหมายของ ‘เซียนเครื่องเสียง’ ยุคนั้น พูดกันถึงแบบแทบจะกลายเป็นกฎข้อสำคัญของการเล่นเครื่องเสียงเลยก็ว่าได้

กฎที่ว่านั้นก็คือ ถ้าสามารถทำได้ ให้แยกกระแสไฟที่จะจ่ายมายังห้องฟังเป็นการเฉพาะจากสายเมนโดยตรง อย่าใช้ร่วมกับกระแสไฟที่จ่ายไปยังส่วนอื่นๆ ในบ้านอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าใช้กระแสไฟฟ้าจากที่จ่ายร่วมกันกับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ของบ้านแล้ว มันจะเข้ามากวนกระแสที่ใช้อยู่ในห้องฟังได้ โดยเฉพาะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่มีเทอร์โมสตัท อย่างตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

อ้อ รวมทั้งการรบกวนจากไฟแสงสว่างที่มีพวกบัลลาทและสตาร์ทเตอร์ด้วย เพราะฉะนั้นไฟแสงสว่างที่ใช้ในห้องฟังจึงควรเป็นพวกจุดไส้หลอดโดยตรง

คุ้นๆ นะครับ – คุ้นๆ แบบพาให้ระลึกชาติได้จริงๆ เลยคุณ

Exit mobile version