What HI-FI? Thailand

ขุดราก Rock & Roll (8) จุดกำเนิด ร็อค แอนด์ โรลล์ ในอังกฤษ

จ้อ ชีวาส

เมื่อดนตรี บลูส์ คันทรี และ รึธึม แอนด์ บลูส์ จากสหรัฐอเมริกาแผ่อิทธิพลข้ามไปยังฝั่งอังกฤษ คนอังกฤษเกิดความตื่นตัวกับดนตรีจากฟากฝั่งอเมริกาเหล่านี้กันอย่างมาก พอถึงช่วงทศวรรษที่ 1950 ชาวอังกฤษก็นำดนตรีเหล่านั้นไปผสมผสานกับดนตรีพื้นเพของตัวเองจนเกิดเป็นดนตรีรูปแบบของตัวเองขึ้น โดยเรียกดนตรีที่เกิดขึ้นนี้ว่า “Skiffle”  

หากจะเปรียบเทียบแล้ว ดนตรี สคิฟเฟิล ของอังกฤษอาจเปรียบเทียบได้กับดนตรีร็อคอะบิลลีของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากนำดนตรีแบบ ริธึม แอนด์ บลูส์ ไปผสมกับดนตรีแบบ คันทรี และ โฟล์ค ของตัวเองที่มีความแตกต่างจากของชาวอเมริกัน จึงได้ส่วนผสมที่แตกต่างออกไป กลายเป็น ริธึม แอนด์ บลูส์ อีกรูปแบบหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นอังกฤษ มีความละเอียดละออและสละสลวยกว่า มากกว่าการเน้นที่ความตื่นเต้นเร้าใจแบบของร็อคอะบิลลีของสหรัฐอเมริกา และจากดนตรีแบบ สคิฟเฟิล นี้เอง ที่ต่อได้จุดประกายให้คนหนุ่มสาวยุคทศวรรษที่ 1950 ต่างหันมาคลั่งไคล้ในดนตรีรูปแบบใหม่นี้ และพัฒนาขึ้นกลายเป็น ร็อค แอนด์ โรลล์ ในทศวรรษต่อมา

Skiffle

จุดกำเนิด ร็อค แอนด์ โรลล์ ในอังกฤษ

ก่อนหน้าที่ดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ จะเกิดขึ้นในอังกฤษนั้น เพลง บลูส์ และ แจ๊ซซ์  รวมถึง คันทรี และ โฟล์ค จากสหรัฐอเมริกา ได้แพร่กระจายเข้าสู่ความนิยมของคนอังกฤษมาตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว และเริ่มมีวงดนตรีรุ่นใหม่ๆที่หันมาเล่นดนตรีตามอย่างอิทธิพลของชาวอเมริกันดังกล่าวกันอย่างมากมาย และการเข้ามาของอิทธิพลดนตรีคลื่นลูกใหม่เหล่านี้ก็ไม่พ้นการต้องถูกต่อต้านโดยพวกอนุรักษ์นิยมที่เคยชนกับการฟังเพลง คลาสสิค และ โฟล์ค ของตนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันทุกหนแห่ง

เมื่อวัฒนธรรมเก่าถูกกระแสวัฒนธรรมใหม่เข้ามาท้าทายก็ต้องเกิดการปะทะกัน แต่ในที่สุดกระแสวัฒนธรรมเก่าก็ไม่อาจที่จะต้านทานกระแสวัฒนธรรมใหม่ในขณะที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่ได้ ฝ่ายแรกจึงต้องยอมถอยออกไป ฉากดนตรีในยุคทศวรรษที่ 1950 ของอังกฤษก็เช่นกัน เมื่อคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในอังกฤษเริ่มเห่อเหิมกับอิทธิพลดนตรีที่มาจากฟากฝั่งอเมริกากันขนานใหญ่ จึงมีการตั้งคณะดนตรีขึ้นเล่นดนตรีต่างๆเหล่านั้น ซึ่งแรกๆนั้นวงต่างๆก็เล่นเพลงแจ๊ซซ์ และบลูส์ ที่รับเอามาตรงๆ เช่น Dixieland และ Ragtime  แต่ต่อมาก็เริ่มมีการทำดนตรีที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปกลายเป็นแจ็ซซ์ในรูปแบบของตัวเองที่ออกไปในแนว Swing Jazz และ Hot Jazz และต่อมาก็เกิดมีดนตรี สคิฟเฟิล ขึ้นมาจากวงดนตรีเหล่านี้ที่ต้องการจะเสนอสิ่งที่แตกต่างออกไปอีก จนได้รับความนิยมโดยทั่วไปตลอดช่วงทศวรรษที่ 1950 นั้นเอง 

อันที่จริงแล้วดนตรี สคิฟเฟิล นี้ก็ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในอังกฤษแต่อย่างใด แต่เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมา ซึ่งก็คือช่วงแรกๆในการกำเนิดดนตรีสมัยใหม่ขึ้นในสหรัฐอเมริกา เวลานั้นจึงมีคนพยายามคิดหาวิธีนำเสนอดนตรีแปลกออกมากันอย่างมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือดนตรี “สคิฟเฟิล” นั่นเอง

ไม่มีบันทึกชัดเจนว่าดนตรีประเภทนี้เกิดขึ้นมาจากปห่งหนใดเป็นแห่งแรก แต่เชื่อกันว่าเกิดในแถบนิวออร์ลีน รัฐหลุยเซียนา ในสหรัฐอเมริกานั่นเอง โดยเริ่มจากวงดนตรีแจ๊ซซ์ที่ต้องการเสนอสิ่งใหม่ๆออกมา ด้วยการคิดทำดนตรีที่ให้เสียงอะคูสติกจริงๆ จากเครื่องดนตรีพื้นๆที่ทำขึ้นเองจากวัสดุที่บ้าน เช่น กระดานซักผ้าที่นำมาขัดและตีเพื่อให้เกิดจังหวะ  เบสส์ที่ทำจากถังซักผ้า ซอ หรือ ฟิดเดิล (Fiddle) ที่ทำจากกล่องซิการ์  เลื่อยลันดาที่นำมาสีให้เกิดเสียง  และเหยือกเหล้าที่นำมาเป่า เป็นต้น โดยมีเครื่องดนตรีที่แท้จริงเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ กีตาร์ และ แบนโจ เมื่อมีการนำเครื่องดนตรีเหล่านี้มาใช้แสดง ก็กลายเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ฟังเป็นอย่างมาก จนต่อๆมาก็เกิดวงประเภทนี้ขึ้นติดตามมามากมาย ซึ่งคำว่า “สคิฟเฟิล” ก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่เวลานั้นแล้วเช่นกัน

สำหรับความหมายของคำว่า สคิฟเฟิล นี้ไม่ปรากฏชัดว่ามาจากที่ใด หรือมีความหมายหมายถึงอะไรแน่ แต่คำนี้เคยเป็นคำแสลงที่ใช้เรียกวงดนตรีรับจ้างเล่นตามปาร์ตีส่วนตัวซึ่งเด็กหนุ่มเด็กสาวมักแอบจัดขึ้นที่บ้านเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน จึงเชื่อว่าว่า สคิฟเฟิล ก็น่าจะมาจากที่มาเดียวกัน คือวงดนตรีที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งถ้าหากดูจากเครื่องดนตรีประกอบเองตามที่กล่าวมาแล้ว คำว่า สคิฟเฟิล ก็น่าจะมีความหมายไปในเชิงนั้น คือ “ลวกๆ” คณะดนตรีที่มีชื่อเสียงในแนวนี้มี เช่น Jimmy O’Bryant and his Chicago Skifflers และ Dan Burley & his Skiffle Boys เป็นต้น 

วง สคิฟเฟิล ได้รับความนิยมอยู่ในสหรัฐอเมริกาอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว ดนตรีแบบนี้ก็หายไปจากความนิยม จนกระทั่งมาถึงทศวรรษที่  1950 นั่นเอง วงดนตรีในอังกฤษจึงนำเอารูปแบบของวง สคิฟเฟิล นี้มาใช้ และเล่นดนตรีในแบบของตน โดยเริ่มต้นจากวงแจ็ซซ์เช่นกัน วงอังกฤษที่บุกเบิกดนตรีแบบ สคิฟเฟิล บนแผ่นดินอังกฤษเป็นวงแรกๆมีเช่น Bill Bailey Skiffle Group และ Chris Barber’s Jazz Band

แต่ผู้ที่ทำให้ดนตรี สคิฟเฟิล ดังเป็นพลุแตก และเป็นแรงบันดาลใจให้วงเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ๆต่างลุกขึ้นมารวมตัวกันตั้งวง สคิฟเฟิล กันเป็นทิวแถวก็คือ Ronnie Donegan ผู้ซึ่งถือเป็นตำนานของ สคิฟเฟิล ในอังกฤษและได้รับการขนานนามให้เป็น “King of Skiffle”

Ronnie Donegan

ราชาแห่ง สคิฟเฟิล

ลอนนี โดนีแกน มีชื่อจริง คือ Anthony James Donegan เกิดในกลาสโกว์ มีเชื้อสายไอริช เขาเริ่มงานด้านดนตรีโดยเล่นเพลง แจ็ซซ์ กับวง คริส บาร์เบอร์ แจ๊ซซ์ แบนด์ ช่วงประมาณปี ค.ศ. 1948  ซึ่งเป็นวงที่เล่นเพลง เทรดิชัน แจ็ซซ์ โดยเล่นในตำแหน่งแบนโจ และกีตาร์ กระทั่งปี ค.ศ. 1949 ก็ต้องออกจากคณะเพื่อไปเกณฑ์ทหาร แต่เขาก็ยังคงเล่นดนตรีต่อไปในระหว่างอยู่ค่ายทหาร โดยรับจ้างเล่นกลองให้กับวงแจ็ซซ์ในคลับแห่งหนึ่งใกล้กับค่ายทหาร จนเมื่อปลดประจำการในปี ค.ศ. 1952 จึงได้ตั้งคณะของตัวเองขึ้น ชื่อ Tony Donegan Jazzband และได้เล่นใน Royal Festival Hall โดยเล่นเป็นวงเปิดให้กับ Lonnie Johnson นักกีตาร์แจ็ซซ์รุ่นบุกเบิกชาวอเมริกันชื่อดังจากนิวออร์ลีนที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเวลานั้น และจากการที่ได้มีโอกาสเล่นใน รอแยล เฟสติวอล ฮอลล์ ครั้งนั้นเอง เขาจึงได้ทิ้งชื่อต้นชื่อเดิม แล้วเริ่มหันมาใช้ชื่อว่า ลอนนี ตามชื่อของ ลอนนี จอห์นสัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงโอกาสในครั้งนั้น 

ในปี ค.ศ. 1953 ลอนนี โดนีแกน กลับเข้าร่วมคณะกับ คริส บาร์เบอร์ อีกครั้ง แต่ในเวลานั้นคณะดนตรีคณะนี้เปลี่ยนชื่อไปเป็น เคน คอลเยอร์ แจ๊ซซ์ เม็น แล้ว เนื่องจาก เคน คอลเยอร์ นักเป่าทรัมเป็ตมีชื่อเสียงได้รับการทายทามจาก คริส บาร์เบอร์ ให้เข้ามาร่วมคณะด้วย โดยยกชื่อวงให้แก่เขาด้วยเพื่อเป็นเกียรติ คณะดนตรีคณะนี้จึงถือเป็นการรวมพลังของนักดนตรีแจ็ซซ์ของอังกฤษที่โดดเด่นแห่งยุคสมัยเอาไว้ด้วยกันเลยทีเดียว

ความคิดในการทำดนตรีแบบ สคิฟฟเฟิล ออกมาเกิดขึ้นในระหว่างช่วงพักการแสดงครั้งหนึ่ง ที่ ลอนนี โดนีแกน กับเพื่อร่วมคณะ เคน คอลเยอร์ แจ๊ซซ์ เม็น อีกสองคนมานั่งเล่นดนตรีเพื่อคร่าเวลา โดยใช้กีตาร์กับของข้างตัวมาช่วยให้จังหวะ ก็มีใครคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่าทำไมไม่ลองเล่นเพลงแบบ สคิฟเฟิล ดูบ้าง ซึ่ง โดนีแกน ก็เห็นว่าเข้าท่า จึงเริ่มหาเครื่องดนตรีแบบ สคิฟเฟิล ที่มีกระดานซักผ้า เบสส์ถังซักผ้า กับกีตาร์และแบนโจ โดยเริ่มเล่นในรายการทัวร์กับคณะ คริส บาเบอร์ แจ็ซซ์ แบนด์ (ภายหลังจากที่ เค็น คอลเยอร์ ออกจากคณะไปในปี ค.ศ. 1954 คณะนี้ก็เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อ คริส บาเบอร์ แจ็ซซ์ แบนด์ อีกครั้ง)  และต่อมา ลอนนี โดนีแกน ก็เริ่มเอาจริงเอาจังกับเพลงแบบ สคิฟเฟิล โดยเข้าห้องอัดเสียงบันทึกแผ่นเสียงเพลง สคิฟเฟิล เพลงแรกของเขาคือเพลง Rock Island Line เพลงโฟล์คอเมริกันเก่าแก่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929  ซึ่ง Lead Belly นักร้องนักดนตรีบลูส์ชาวหลุยเซียนาเคยร้องบันทึกเสียงเป็นเพลงฮิตไว้ในปี ค.ศ. 1934  และกลายเป็นเพลงฮิตเพลงแรกของ ลอนนี โดนีแกน ในปี ค.ศ. 1955  

ส่วนเพลงในหน้า B คือเพลง John Henry เพลงโฟล์คอเมริกันอีกเพลงหนึ่งนั้น ลอนนี ใช้เวอร์ชันของ Woody Guthrie นักดนตรีโฟล์คผู้เป็นตำนานของชาวอเมริกันอีกคนหนึ่ง แต่ทั้งสองเพลงนี้ ลอนนี ออกในเครดิต คริส บาเบอร์ แจ็ซซ์ แบนด์  เพลงนี้ยังดังข้ามทวีปไปติดอยู่ในอันดับ 8 ของ Top 10 Chart ในฟากฝั่งสหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย 

และจากความโด่งดังของซิงเกิล ร็อค ไอร์แลนด์ ไลน์ นั่นเอง ที่ทำให้บริษัท Dacca Records ได้ไปขุดเอาผลงานของ ลอนนี โดนีแกน ในสมัยที่ตั้งวง โทนี โดนีแกน แจ็ซซ์ แบนด์ และเล่นคอนเสิร์ตที่ รอแยล เฟสติวอล ฮอลล์ ในปี ค.ศ. 1953 ที่ เด็คคา บันทึกเสียงเอาไว้นำมาออกเป็นซิงเกิล 2 เพลง คือ Diggin’ My Potatoes มาออกในปี ค.ศ. 1955  และในปีเดียวกันนั้นเองที่ ลอนนี โดนีแกน ได้ออกจากคณะ คริส บาเบอร์ แจ็ซซ์ แบนด์ มาตั้งคณะของตัวเองชื่อ Lonnie Donegan’s Skiffle Group เพื่อเล่นเพลงแบบ สคิฟเฟิล อย่างเต็มตัว โดยเริ่มเซ็นสัญญาอัดแผ่นเสียงกับบริษัท Pye Records และออกซิงเกิลของตัวเองอย่างแท้จริงเพลงแรก คือเพลง Lost John ซึ่งขึ้นถึงอันดับ 2 ใน UK Singles Chart นอกจากนี้ยังมีเพลงฮิตอื่นๆอีก เช่น Cumberland Gap ในปี ค.ศ. 1957 Does Your Chewing Gum Lose Its Flavour ค.ศ. 1958 และ My Old Man’s a Dustman ค.ศ. 1960

เมื่อ ลอนนี โดนีแกน ประสบความสำเร็จกับดนตรี สคิฟเฟิล ของเขาแล้ว เขาได้รับเชิญไปออกในรายการทีวีของสหรัฐอเมริกาถึง 2 รายการ คือรายการ The Perry Como Show และ The Paul Winchell Show ทำให้เพลงแบบ สคิฟเฟิล ได้กลับขึ้นมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในสหรัฐเมริกา หลังจากที่ห่างหายไปเป็นเวลานาน ส่วนทางฝั่งอังกฤษนั้น ดนตรี สคิฟเฟิล กลายเป็นที่คลั่งไคล้กันโดยทั่วไปอย่างรวดเร็วจากผลงานของ ลอนนี โดนีแกน นั่นเอง ทำให้เด็กหนุ่มๆต่างก็กลับเข้าไปค้นหาเครื่องใช้เก่าๆในห้องเก็บของ และขโมยกระดานซักผ้าของแม่มาใช้ และตั้งเป็นวง สคิฟเฟิล กันทั่วบ้านทั่วเมือง

โดยนับได้ว่าตั้งแต่เพลง สคิฟเฟิล ของ ลอนนี โดนีแกน โด่งดังขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 – 1957  มีวง สคิฟเฟิล เกิดขึ้นติดตามมานับพันวงเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่ก็ตั้งขึ้นมาเล่นกันเอง โดยไม่ได้หวังที่จะได้เซ็นสัญญาอัดแผ่นเสียงอย่างจริงจังแต่อย่างใด อย่างมากก็ได้รับการว่าจ้างให้ไปเล่นตามงานปาร์ตีต่างๆ หรือเล่นให้ฟรีๆตามที่สาธารณะก็มี และหนึ่งในวง สคิฟเฟิล ที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของ ลอนนี โดนีแกน ก็คือวง The Quarrymen ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1957 โดยกลุ่มเด็กหนุ่ม 4 คนจาก Quarry Bank High School มี John Lennon, Pete Shotton, Rod Davis และ Eric Griffiths ที่ต่อมามี Paul McCartney และ George Harrison เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งต่อมา 3 คนในวงนี้ คือ จอห์น เล็นนอน พอล แมคคาร์ทนีย์ และ จอร์จ แฮร์ริสัน ได้ร่วมกันก่อตั้งวง The Beatles ขึ้น ภายหลังจากยุบวง เธอะ ควารีเม็น ลง 

นอกจากนี้ยังมีศิลปินอังฤษในระดับตำนานร็อคยุคหลังจากนี้อีกมากมายหลายคนเช่นกัน ที่เริ่มต้นตั้งคณะดนตรีแบบ สคิฟเฟิล มาก่อนที่จะสร้างตำนานความสำเร็จของตังเองขึ้นในช่วงทศวรรษต่อมา เช่น Van Morrison (Them), Alexis Korner (Blues Incorporated), Ronnie Wood (Faces), Alex Harvey (The Sensational Alex Harvey Band), Mick Jagger (The Rolling Stones), John Renbourn (Pentangle), Ashley Hutchings (Fairport Convention), Roger Daltrey (The Who), Jimmy Page (Led Zeppelin), Ritchie Blackmore (Deep Purple), Robin Trower (Procol Harum), David Gilmour (Pink Floyd), Graham Nash และ Allan Clarke (The Hollies) และ Barry Gibb (Bee Gees)

จากรายชื่อศิลปินและวงที่แต่ละคนก่อตั้งขึ้น และกลายเป็นวงร็อคระดับตำนานที่ถือเป็นรากฐานของ ร็อค แอนด์ โรลล์ บนแผ่นดินอังกฤษทั้งสิ้น ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าดนตรี สคิฟเฟิล ก็คือเมล็ดพันธุ์แรกที่หว่านลงบนพื้นดิน และเจริญงอกงามแตกยอดออกไปเป็นดนตรีร็อคประเภทต่างๆที่เกิดขึ้นบนฟากฝั่งอังกฤษนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นไป นับจาก ริธึม แอนด์ บลูส์ ก็แตกกระจายออกไปเป็นดนตรี ร็อค สายต่างๆอีกมากมาย และนับจากช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมาอีกเช่นกัน ที่แวดวงดนตรีตะวันตกนี้ อังกฤษได้กลายเป็นศูนย์กลางของดนตรีของโลกแทนฟากฝั่งสหรัฐอเมริกา

เมื่อ เธอะ บีทเทิลส์ เกิดขึ้น และสร้างปรากฏการณ์ขึ้นเป็นวงดนตรีร็อคที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยดนตรีที่เรียกว่า “Beat Music” ซึ่งก็คือดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ที่เน้นจังหวะรวดเร็วและสนุกสนานยิ่งขึ้น ทำให้กลุ่มดนตรีเช่นเดียวกับ เธอะ บีทเทิลส์ เกิดขึ้นติดตามมาและข้ามฝั่งไปขึ้นสู่ความนิยมกันในสหรัฐอเมริกาเป็นทิวแถว ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เรียกกันว่า “British Invasion” หรือ “การบุกรุกจากอังกฤษ” นั่นเอง 

แต่ถึงแม้ว่าจะเกิดดนตรีร็อคแนวใหม่ๆขึ้นมาอีกมากมายในชาวงทศวรรษ 1960 ก็ตาม ดนตรี สคิฟเฟิล ก็ยังไม่ได้หายไปจากตลาดดนตรีแต่อย่างใด แม้ว่าในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 นั้น ดนตรีแบบนี้จะไม่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นเท่ากับช่วงที่ดนตรี สคิฟเฟิล เริ่มเกิดขึ้นมาก็ตาม ดนตรีแบบนี้ก็ยังคงมีตลาดของตัวเองดำเนินต่อไปอย่างเงียบๆ และยังมีวงร็อครุ่นหลังๆจำนวนมากที่คิดลองทำผลงานแบบ สคิฟเฟิล เพื่อหลีกหนีความจำเจออกมาบ้าง แม้จะไม่ได้เล่นดนตรี สคิฟเฟิล เป็นหลักก็ตาม

ตัวอย่างเช่นวง มังโก เจอร์รี (Mungo Jerry) วงร็อคอังกฤษวงหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1970 และโด่งดังจากเพลง In the Summer Time ซึ่ง มังโก เจอร์รี ทำเพลงออกมาในแนว สคิฟเฟิล  เพลงนี้ขึ้นถึงอันดับ 1 ในอังกฤษ และในหลายๆประเทศทั่วโลก และขึ้นอันดับ 3 ใน Billboard Hot 100 Singles Chart และต่อมาภายหลังได้รับการจัดให้เป็น Best-selling Singles of All-time อีกด้วย ทำให้เห็นได้ว่า สคิฟเฟิล ไม่ได้ตายไปจากวงการดนตรีเลยแต่อย่างใด แม้แต่ตัว ลอนนี โดนีแกน เองก็ยังคงเล่นเพลง สคิฟเฟิล ของเขาต่อไปจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี ค.ศ. 2002

British Pop Stars

การสร้างดาราจากกระแสของ Elvis Presley

วงการดนตรียุคสมัยใหม่ของอังกฤษนี้ ก่อนที่จะเกิดการระเบิดของ ร็อค แอนด์ โรลล์ บนเกาะอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1960 นั้น จะมองข้ามช่วงเวลาของการสร้างดาราขวัญใจวัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวที่เรียกว่า “ไอดอล (Idol)” หรือ “Pop Stars” ของทางฟากฝั่งอังกฤษไม่ได้เลย 

นับจากการสร้างปรากฏการณ์จนโด่งดังไปทั่วโลกของ เอลวิส เพรสลีย์ และยังเป็นการปลุกกระแสให้ธุรกิจต่างๆต่างหลั่งไหลเข้ามาสู่โลกของวงการดนตรีแล้ว วงการดนตรีทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติก ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกาหรือในอังกฤษก็ตาม ต่างก็มีความตื่นตัวในการพยายามที่จะสร้าง “ป็อป สตาร์” ขึ้นมาเรียกกระแสความนิยมในตลาด โดยเป้าหมายสำคัญก็คือผลประโยชน์ทางการค้านั่นเอง ที่การสร้างดาราขวัญใจหรือ ไอดอล ขึ้นมาสำเร็จสักคนหนึ่ง นั่นหมายถึงกระแสธุรกิจต่างๆจะถูกดูดเข้ามารายล้อม ไอดอล ผู้นั้นด้วยเป็นธรรมดา อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับ เอลวส เพรสลีย์ ก็คือตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน

นับจากช่วงปี ค.ศ. 1957 เป็นต้นมา ตลาดดนตรีทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติกจึงต่างเร่งค้นหาคนหนุ่มคนสาวรูปร่างหน้าตาดีมาปลุกปั้นเป็นดารากันอย่างคึกคัก ช่วงเวลานั้นจึงนับเป็นช่วงที่เกิดเริ่มเกิด ป็อป สตาร์ ขึ้นอย่างมากมายทั้งหญิงทั้งชาย  และยิ่งในช่วง เอลวิส เพรสลีย์ จำเป็นต้องห่างหายไปจากการออกผลงานใหม่ๆในช่วงที่เขาต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 – 1960 ด้วยแล้ว ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ค่ายต่างๆพยายามค้นคว้าหาดาวเพื่อที่จะมาปั้นเป็นดาราให้โด่งดังขึ้นเป็นขวัญใจวัยรุ่นแทน เอลวิส เพรสลีย์ กันเป็นทิวแถว 

ในสหรัฐอเมริกามีการปั้นดาราที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงเวลานั้น เช่น Frankie Avalon, Ricky Nelson,Bobby Rydell, Bobby Vee, Fabian, และ Tommy Sands เป็นต้น  ส่วนทางฟากฝั่งอังกฤษก็มี Johnny Gentle, Marty Wilde, Tommy Steele, Billy Fury, Vince Eager และ Cliff Richard เป็นต้น โดยเฉพาะ คลิฟฟ์ ริชาร์ด นั้นคือความหวังของค่ายปั้นดาราทางฟากฝั่งอังกฤษที่หวังจะใช้ช่วงโอกาสที่ เอลวิส เพรสลีย์ เข้าค่ายทหารนี้ เข็นให้ขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทนเลยทีเดียว และก็สามารถกล่าวได้ว่าประสบผลสำเร็จตามที่คาดหมายเอาไว้เช่นกัน เมื่อ คลิฟฟ์ ริชาร์ด ได้รับความนิยมสูงสุดจนเทียบเคียง เอลวิส เพรสลีย์ ได้เลย

คลิฟฟ์ ริชาร์ด นั้นเริ่มเล่นดนตรีด้วยดนตรีแบบ สคิฟเฟิล ตามอย่าง ลอนนี โดนีแกน มาก่อนเช่นเดียวกับศิลปินอังกฤษคนอื่นๆ ประกอบกับความสำเร็จของ เอลวิส เพรสลีย์ จึงรับเอาอิทธิพลของ เอลวิส เพรสลีย์ มาใช้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะท่าเต้น เขาเริ่มบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1958 โดยใช้ชื่อว่า Cliff Richard and the Drifters เพลง Schoolboy Crush ในหน้า A ส่วนหน้า B คือเพลง Move It  แต่เพลง มูฟ อิต กลับเป็นเพลงที่ดังกว่า และส่งให้ซิงเกิลชิ้นแรกของ คลิฟฟ์ ริชาร์ด ชิ้นนี้ขึ้นสู่ความนิยมในอันดับ 2 ของ UK Singles Chart ภายหลังวางจำหน่าย 3 สัปดาห์

นับแต่นั้นมา คลิฟฟ์ ริชาร์ด ก็โด่งดังขึ้นในวงการเพลงอังกฤษอย่างรวดเร็ว และถูกจองตัวไปแสดงดนตรีและให้สัมภาษณ์ตามรายการวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆคิวยาวเหยียด จนกลายเป็นศิลปินยอดนิยมสูงสุดของอังกฤษ และยังถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษในยุคสมัยนั้นอีกด้วย ที่มีศิลปินอังกฤษชื่อเสียงโด่งดังก้องโลกเทียบเคียง เอลวิส เพรสลีย์ เกิดขึ้นทางฝั่งอังกฤษบ้าง  คลิฟฟ์ ริชาร์ด นับเป็นศิลปินที่ได้รับความนิยมยาวนานที่สุดของอังกฤษและของโลกคนหนึ่ง เขาสามารถรักษาชื่อเสียงข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆของโลกนับจากทศวรรษที่ 1950 มาจนกระทั่งเข้าถึงสหัสวรรษใหม่นี้ ชื่อเสียงของเขาก็ยังไม่จางหายไปเลยแต่อย่างใด


Exit mobile version