What HI-FI? Thailand

ขุดราก Rock & Roll (ตอนที่ 5) Elvis Presley ราชา ร็อค แอนด์ โรลล์

จ้อ ชีวาส

หากจะกล่าวว่า Bill Harley เป็นผู้จุดชนวนระเบิด ร็อค แอนด์ โรลล์ ขึ้น ผู้ที่ทำให้ ร็อค แอนด์ โรลล์ กลายเป็นระเบิดนิวเคลียร์ที่แผ่ขยายรัศมีของแรงระเบิดจนแพร่กระจายไปทั่วทั้งโลกอย่างรวดเร็วก็คือคนผู้นี้ Elvis Presley  จากระเบิดลูกแรกที่ บิลล์ ฮาร์ลีย์ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้โลกได้รู้จักกับ ร็อค แอนด์ โรลล์ ในปี ค.ศ. 1954  

กระทั่งในปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1955 เอลวิส เพรสลีย์ ก็เป็นผู้จุดระเบิดลูกที่สองซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬารกว่ามาก จนทำให้ ร็อค แอนด์ โรลล์ กลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ของสังคมคนหนุ่มคนสาวนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 50 เป็นต้นมา และยืนยงอยู่คู่สังคมเช่นนั้นตลอดมา แม้ว่าจะผ่านยุคสมัยต่างๆมามากมายจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และมีดนตรีประเภทใหม่ๆเกิดขึ้นในสังคมคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆอยู่ตลอดมาอย่างไม่ขาดสาย  ร็อค แอนด์ โรลล์ ก็ยังคงความเป็นอมตะตราบมาจนถึงทุกวันนี้  

นับจาก บิลล์ ฮาร์ลีย์ แล้ว ต้องถือว่า เอสวิส เพรสลีย์ ก็คือคลื่นลูกที่สองที่ซัดเอากระแสดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ขึ้นสู่ฝั่ง และนับเป็นบุคคลร่วมสมัยกันกับ บิลล์ ฮาร์ลีย์  เพราะหลังจากที่ ฮาลีย์ นำ Rock Around the Clock ออกมาสร้างกระแสจนโด่งดังไปทั่วนั้น ในเวลาไล่เลี่ยกัน เอลวิส เพรสลีย์ ก็เกิดดังเป็นพลุแตกขึ้นในทันทีหลังจากนั้นเพียงไม่ถึงปี  เอลวิส เพรสลีย์ นั้นมีอายุอ่อนกว่า ฮาลีย์ ถึง 10 ปี และตอนที่ บิลล์ ฮาร์ลีย์ ดังเป็นพลุแตกนั้นก็มีวัยเกือบ 30 ปีแล้ว เมื่อ เพรสลีย์ ถูกเปิดตัวออกมา กระแสความนิยมจึงเทไปที่หนุ่มเหน้าวัยเพียงไม่ถึง 20 คนนี้ในทันที และบุคลิกของทั้งสองก็ดูจะตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง  เพรสลีย์ มีใบหน้าที่หล่อเหลาดูสง่างาม

หากเทียบบุคลิกของทั้งสองจากภาพยนตร์เรื่องดังที่ถือเป็นการจุดระเบิดให้แก่วงการเพลง ร็อค แอนด์ โรลล์ ในช่วงเวลานั้นคือเรื่อง Blackboard Jungle ซึ่งนำเพลง ร็อค อะราวด์ เธอะ คล็อค ของ บิลล์ ฮาร์ลีย์ ไปใช้จนโด่งดังแล้ว  บิลล์ ฮาร์ลีย์ เปรียบเสมือนครูในหนัง ส่วน เอลวิส เพรสลีย์ ก็คือนักเรียนนั่นเอง ยิ่งถ้าหากนำกระแสของภาพยนตร์ The Wild One ที่ Marlon Brando แสดงในปี ค.ศ. 1953 จนทำให้บุคลิกของเขาซึ่งแสดงเป็นแก๊งมอเตอร์ไซค์ที่ขบถต่อสังคมกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มคนสาวไปตั้งแต่นั้น บุคลิกอันหนุ่มสดของ เอลวิส เพรสลีย์ ก็คือแบบอย่างที่คนหนุ่มคนสาวแสวงหาในเวลานั้นนั่นเอง 

ด้วยอาศัยรูปร่างและหน้าตาที่ดึงดูดใจต่อเพศตรงข้ามของ เพรสลีย์ นี้เอง จึงทำให้เขาสามารถครองใจแฟนเพลงให้เกิดความความคลั่งไคล้ในตัวเขาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เพรสลีย์ ยังได้สร้างรูปแบบการแสดง คือการเต้นและร้องที่เป็นแบบอย่างเฉพาะตัวของเขาเองขึ้นอีกด้วย ความคล่องแคล่วในการร้องและเต้นไปด้วยของเขานับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้แก่แฟนๆ จนกลายเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้น ทำให้ดนตรีในรูปแบบเก่าๆที่เคยได้รับความนิยมมาก่อนเกิดความถดถอยลงไปในทันที  ร็อค แอนด์ โรลล์ รูปแบบของ เอลวิส เพรสลีย์ จึงกลายเป็นกระแสความคลั่งไคล้ครั้งใหม่ที่หยุดไม่อยู่นับจากปี ค.ศ. 1955 เป็นต้นมา

เอลวิส เพรสลีย์ มีชื่อเต็มว่า Elvis Aaron Presley เกิดในปี ค.ศ. 1935 ที่เมือง Tupelo มลรัฐ Mississippi สหรัฐอเมริกา เขาเติบโตขึ้นท่ามกลางเสียงดนตรี กอสเปล-บูลส์ และคันทรีย์ ในสังคมชาวใต้ของสหรัฐฯ ครอบครัวของเขาอยู่ท่ามกลางเพื่อนบ้านที่เคร่งศาสนา ทั้งพ่อและแม่จึงเลี้ยงดูเขาอย่างครอบครัวเคร่งศาสนาทั่วๆไป ครอบครัว เพรสลีย์ ไม่ได้ฐานะดีแต่อย่างใด จัดว่าเป็นครองครัวค่อนข้างยากจนก็เป็นได้ พ่อของเขามีอาชีพรับจ้างทั่วไปที่ไม่แน่นอน บางครั้งต้องเดินทางไปรับจ้างต่างเมืองเป็นเวลานานๆ แม่ของ เพรสลีย์ จึงเลี้ยงดูเขาเพียงลำพังเสียส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขามีความผูกพันกับแม่อย่างมากตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

เพรสลีย์ มีแววนักร้องมาตั้งแต่เล็ก เขาชอบร้องเพลงจนพ่อต้องซื้อกีตาร์ตัวแรกในชีวิตให้ในวันเกิดครบ 8 ขวบเป็นของขวัญ นับแต่นั้นมาเขาก็พยายามหัดเล่นกีตาร์จนคล่อง และร้องเพลงได้ดีตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ พออายุ 11 ปี เอลวิส เพรสลีย์ ก็สมัครเข้าแข่งขันร้องเพลงในเวทีเยาวชน ซึ่งครั้งนั้นเขาได้รับรางวัลรองชนะเลิศมาครอง จนเมื่อเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มน้อยวัย 13 ปี ครอบครัว เพรสลีย์ จึงย้ายบ้านไปปักหลักที่เมือง Memphis มลรัฐ Tennessee  

ชีวิตในช่วงวัยรุ่นของ เพลสลีย์ ไม่ค่อยราบรื่นนัก เขาต้องแบ่งเวลาจากการเรียนเพื่อช่วยหาเงินเข้าบ้าน ผลการเรียนของเขาจึงไม่ดีนัก แต่ต่อมาเข้าก็กลับพบว่าการเรียนไม่ใช่เรื่องสำคัญเสียแล้ว จึงมักหนีเรียนไปฝึกเล่นกีตาร์อยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเรียนไม่จบ และคิดที่จะออกมาหางานทำเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของทางบ้าน ถึงแม้แม่ของเขาต้องการให้กลับไปเรียนเพื่อโตขึ้นจะได้มีวิชาความรู้และหางานเป็นหลักเป็นแหล่ง ไม่ต้องลำบากเหมือนอย่างพ่อ  แต่ เพรสลีย์ ก็ไม่ยอมกลับไปเรียน เขาตั้งใจแล้วว่าจะทำงานเพื่อหาเงินไปสักระยะหนึ่ง และอาจหางานเป็นนักร้องเพลงที่ในเมือง แม่ของ เพรสลีย์ จึงจนปัญญาที่จะเคี่ยวเข็ญลูกต่อไป ปล่อยให้เขาทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดไปก่อน 

ในช่วงที่เป็นวัยรุ่น เพรสลีย์ ติดรายการวิทยุอยู่รายการหนึ่งจากสถานีวิทยุ WDIA ที่ชอบเปิดเพลง ริธึม แอนด์ บลูส์ อยู่เป็นประจำ เขามักจะนั่งแกะเพลงต่างๆจากรายการนั้นจนกระทั่งเล่นและร้องได้ขึ้นใจเกือบทุกเพลง

เมื่อออกจากโรงเรียนมาแล้ว งานแรกที่ เอลวิส เพรสลีย์ ทำก็คือเป็นเด็กยกของในบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน เมมฟิส นั้นเอง ต่อมาจึงได้ยกระดับขึ้นมาเป็นคนขับรถส่งของแทน  ในขณะที่ เพรสลีย์ อายุได้ 20 ปี ในปี ค.ศ. 1953 ขณะที่เขากำลังขับรถส่งของอยู่นั้นก็เกิดฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าใกล้วันเกิดแม่ของเขาเข้ามาแล้ว เขาจึงคิดจะเซอร์ไพรซ์แม่ด้วยการอัดเสียงร้องของเขาลงบนแผ่นเสียงเพื่อมอบเป็นของขวัญวันเกิดให้กับแม่  เพรสลีย์ จึงเดินเข้าไปที่สติวดิโอแห่งหนึ่งใน เมมฟิส เพื่อขอเช่าเวลาห้องอัดเสียง  สติวดิโอแห่งนั้นมีชื่อว่า Sun Studio ซึ่งมี Sam Phillips เป็นเจ้าของสติวดิโอ 

ในวันที่ เพรสลีย์ เข้าไปเช่าห้องอัดเสียงนั้น แซม ฟิลลิพส์ ไม่ได้อยู่ที่สติวดิโอ มีเพียงเลขาของเขาชื่อว่า Marion Keisker เท่านั้นที่คอยเฝ้าสติวดิโออยู่ และในขณะที่ เพรสลีย์ กำลังร้องเพลงบันทึกเทปอยู่นั้น  แมเรียน ก็เกิดชื่นชอบเสียงร้องของ เอลวิส ขึ้นมา เธอจึงนั่งฟังเขาร้องจนจบเพลงอย่างตั้งใจ และเมื่อ เพรสลีย์ อัดเสียงเสร็จ ก่อนที่จะกลับนั้น แมเรียน ก็ขอที่อยู่กับเบอร์โทรศัพท์ของเขาเอาไว้ด้วย โดยบอกว่าถ้าหากมีงานให้ช่วยก็จะได้ติดต่อไป

จากจุดนี้เองที่นับเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางเดินที่ทอดไปสู่ดวงดาวของ เอลวิส เพรสลีย์  เพราะถ้าหากในวันนั้น แมเรียน ไม่บังเอิญชอบเสียงร้องของ เพรสลีย์ และนั่งฟังเขาร้องจนจบเพลงเหมือนอย่างทุกวันที่เธอทำ คือนั่งทำงานอันน่าเบื่อหน่ายแบบวันต่อวันของเธอ เปิดเครื่องบันทึกเสียงให้นักดนตรีคนแล้วคนเล่าที่เข้ามาขอเช่าห้องอัดแล้วไปหลบมุมนั่งอ่านหนังสือหลังเคาน์เตอร์ และไม่บังเอิญขอเบอร์โทรศัพท์ของ เพรสลีย์ เอาไว้ด้วย โลกนี้ก็คงจะไม่มี “ราชาร็อค” คนนี้เกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน 

ในวันต่อมาเมื่อ แซม ฟิลลิพส์ เข้ามาที่สติวดิโอแล้วเห็นแผ่นเสียงที่ แมเรียน บันทึกเพลงของ เอลวิส เพรสลีย์ วางทิ้งเอาไว้ เขาจึงหยิบขึ้นมาฟัง  แซม ฟิลลิพส์ ประทับใจกับน้ำเสียงของ เอลวิส ขึ้นมาอีกคนหนึ่งในทันที จึงถามหาเจ้าของเสียงนี้จาก แมเรียน   เธอก็ยื่นเบอร์โทรศัพท์ของ เพรสลีย์ ให้  แซม ฟิลลิพส์ จึงรีบติดต่อกลับไปหา เพรสลีย์ ในทันที และขอให้เขามาพบที่สติวดิโออีกครั้งเพื่อทดสอบเพลง โดยบอกกับเขาว่าอาจจะมีงานใหญ่รออยู่  เอลวิส เพรสลีย์ จึงกลับมาที่ ซัน สติวดิโอ อีกครั้งตามคำชักชวน และทดสอบเสียงร้องให้ ฟิลลิพส์ ฟังอยู่หลายครั้ง  ถึงแม้ ฟิลลิพส์ จะพอใจในเสียงร้องของ เพรสลีย์  แต่ตอนนั้นเขาก็ยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะปั้น เพรสลีย์ ขึ้นมาได้อย่างไร เพราะเพลงทุกเพลงที่นำมาร้องนั้นใครๆเขาก็ร้องกันจนเกร่อไปหมดแล้ว  ถึงเขาจะค้นพบเพชรเม็ดงามเม็ดนี้แล้ว แต่เขาก็ยังคิดหาวิธีเจียระไนเพชรเม็ดนี้ไม่ได้ 

จนเวลาล่วงเลยมาอีกหลายเดือน กระทั่งต่อมา เอลวิส เพรสลีย์ ได้ไปฟังเพลงที่คลับแห่งหนึ่ง และคุยกันอย่างถูกคอกับนักดนตรี เวสเทิร์น สวิง สองคนที่เล่นอยู่ในคลับแห่งนั้น คือ Scotty Moore และ Bill Black  เพรสลีย์ จึงชักชวนทั้งสองไปพบกันที่ห้องอัดเสียงของ แซม ฟิลลิพส์ ในวันต่อมา แล้วลองต่อเพลงกันอยู่หลายเพลง  จนกระทั่งเลือกได้เพลงเพลงหนึ่งของ Arthur Crudup ชื่อเพลง That’s All Right Mama  เพลงนั้นถูกใจ แซม ฟิลลิพส์ เป็นอย่างมาก จนเขาถึงกับตะโกนออกมาเสียงดังว่า “นี่แหละเพลงฮิต”

แซม ฟิลลิพส์ บันทึกเสียงเพลงนั้นลงในเดโมเทป แล้วส่งไปให้เพื่อนซึ่งเป็น DJ รายการวิทยุ ชื่อ Dewey Phillips เพื่อโปรโมตเพลงนี้ในรายการเพลงของเขา  และหลังจากที่ ดิวอี ฟิลลิพส์ เปิดเพลง แธต’ส ออล ไรท์ มามา จบ เขาก็ยังเอ่ยปากสำทับกับผู้ฟังของเขาด้วยประโยคเดียวกันกับที่ แซม ฟิลลิพส์ พูดว่า “นี่แหละเพลงฮิต”  จากวินาทีนั้นเอง เพลง แธต’ส ออล ไรท์ มามา ได้กลายเป็นเพลงที่ติดหูคนฟังทั่วทั้งเมมฟิสอย่างรวดเร็ว มีการ โทรเข้ามาขอฟังซ้ำกันหลายต่อหลายเที่ยวตลอดสัปดาห์ เพลงนี้จึงถือเป็นเพลงฮิตเพลงแรกของ เอลวิส เพรสลีย์ อย่างไม่เป็นทางการไปในที่สุด จากนั้น แซม ฟิลลิพส์ ก็เร่งพิมพ์แผ่นเสียง แธต’ส ออล ไรท์ มามา ออกวางจำหน่ายภายใต้ตราสัญลักษณ์ Sun Records ในปี ค.ศ. 1954  เพียงแค่สัปดาห์เดียว ซัน เร็คคอร์ดส ของ แซม ฟิลลิพส์ ก็สามารถขายแผ่นเสียงแผ่นแรกของ เอลวิส เพรสลีย์ ได้ถึง 6,000 แผ่น

เมื่อผลงานเริ่มโด่งดัง ทั้ง สก็อตตี มัวร์ และ บิลล์ แบล็ค จึงขอลาออกจากคณะที่เล่นประจำอยู่เพื่อมาร่วมทีมกับ เอลวิส เพรสลีย์ อย่างเต็มตัว และเริ่มออกทัวร์คอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ อย่างไรก็ตามเวลานั้น เพรสลีย์ ยังไม่มีชื่อเสียงมากพอที่จะมีทัวร์คอนเสิร์ตเป็นของตนเอง จึงต้องร่วมออกทัวร์โดยเล่นเป็นวงเปิดให้กับศิลปินดังๆหลายคน และออกเล่นตามรายการวิทยุต่างๆอีกหลายรายการ จนในที่สุดชื่อเสียงของเขาก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วทั้งเมมฟิสและเมืองต่างๆอีกหลายเมืองในละแวกรัฐเทนเนสซี และต่อมาวงของเขาก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน เป็นมือกลอง ชื่อ D.J. Fontana 

พอมาถึงตอนนี้ก็ถือว่า เอลวิส เพรสลีย์ เริ่มประสบความสำเร็จตามที่ฝันไว้แล้ว และสิ่งแรกที่เขาตั้งใจจะทำหากความฝันเป็นจริงก็คือการซื้อรถหรูรุ่น “Lincoln Continenton” เพื่อเป็นกำนัลให้กับพ่อแม่ และอาสาเป็นสารถีพาพ่อกับแม่นั่งชมทิวทัศน์ของเมืองเมมฟิสเพื่ออวดความสำเร็จไปทั่วทั้งเมือง

เมื่อ เอลวิส เพรสลีย์ เริ่มโด่งดังแล้ว Colonel Tom Parker ก็เดินทางมาที่เมมฟิสเพื่ออาสาเป็นผู้จัดการให้กับเขา โดยบอกกับ เพรสลีย์ ว่าเขาจำเป็นต้องมีมืออาชีพ หากต้องการไปสู่ความสำเร็จในระดับที่ใหญ่กว่านี้ และเขาก็เป็นมืออาชีพที่จะพา เอลวิส เพรสลีย์ ไปถึงจุดนั้นได้ โดยรับปากว่าจะทำให้เขาได้เซ็นสัญญากับบริษัทแผ่นเสียงระดับยักษ์ใหญ่ให้ได้ เมื่อ เพรสลีย์ นำไปปรึกษากับ แซม ฟิลลิพส์ เขาก็เห็นด้วย  ฟิลลิพส์ ยอมรับว่าเขามีความสามารถเพียงพา เอลวิส เพรสลีย์ ให้โด่งดังเพียงแค่ละแวกบ้านเท่านั้น หากจะไปไกลกว่านั้นก็ต้องส่งไม้ต่อให้มืออาชีพอย่าง ทอม พาร์คเกอร์ ไป 

เมื่อ เพรสลีย์ ตกลง ทอม พาร์คเกอร์ จึงพาเขาและคณะเดินทางไปนิวยอร์ก เพื่อเจรจากับบริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ RCA Records  และแผ่นเสียงชุดแรกภายใต้สัญญากับ RCA คือ Heartbreak Hotel ก็ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1955  เพลงนี้ขึ้นถึงอันดับ 1 ในทันทีที่วางจำหน่าย จากนั้นทั้งรายการทีวีและรายการวิทยุต่างก็แย่งตัว เอลวิส เพรสลีย์ ไปออกในรายการกันทั้งสิ้น ตารางคอนเสิร์ตต่างๆก็เข้าคิวจองตัวเขา ที่ไหนๆก็ต้องการให้ เอลวิส และคณะไปปรากฏตัว

สิ่งที่ เอลวิส เพรสลีย์ สร้างขึ้นไม่ใช่เพียงดนตรีที่ฟังแปลกออกไปหรือมีวิธีการร้องที่ไม่เหมือนใครเท่านั้น แม้แต่ลีลาในการแสดงของเขาก็ไม่เหมือนใครด้วย  เอลวิส เพรสลีย์ มีท่าเต้นเฉพาะตัวด้วยท่าโยกขาส่ายสะโพกที่ไม่เหมือนใคร แม้ก่อนหน้านั้นจะมีใครเคยทำแบบนี้มาก่อนก็ตาม แม้จะเคยเห็น บิลล์ ฮาร์ลีย์ อกลีลาเต้นกับเพลงที่สนุกสนานของเขา แต่รับรองว่าไม่มีใครเคยเห็นท่วงท่าลีลาการเต้นที่กลมกลึงกลมกลืนแบบที่ เพรสลีย์ คิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเขานำเอาลีลาของใครต่อใครทั้งหมดมาดัดแปลงจนลีลาที่ว่าเฉียบก่อนหน้านั้นลืมไปได้เลย และ เอลวิส เพรสลีย์ ก็ฉลาดที่จะดึงบุคลิกอันมีเสน่ห์ดึงดูดใจของเขามาตรึงแฟนเพลงให้เคลิ้มไปกับเขาด้วยการแสดงอารมณ์ที่ค่อนข้างยั่วยวนบนเวที จนทำให้แฟนเพลง โดยเฉพาะที่เป็นสาวๆถึงกับเข่าอ่อนลงได้ในทันทีเมื่อเห็นเขาแสดงท่า “โยก (Rock)” และ “คลึง (Roll)” เล่นกับกีตาร์และไมโครโฟนตรงหน้าเขาอย่างบาดอารมณ์ 

แต่ท่าทีเช่นนี้ไม่ได้ถูกใจพวกผู้ใหญ่หรือคนหัวเก่ากันนัก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกสาวอยู่ในวัยแรกรุ่นซึ่งนั่งมองลูกๆกรีดร้องจนแทบคลั่ง เมื่อได้ยินเสียงเพลงของ เอลวิส เพรสลีย์ หรือเห็นเขาในทีวี จนมีการออกมาต่อต้านเขาอย่างรุนแรงโดยสมาคมผู้ปกครองในทุกๆที่ เมื่อเขาไปแสดงตามเมืองใหญ่ๆ เพราะไม่ต้องการเห็น เอลวิส เพรสลีย์ แสดงท่วงท่าที่พวกผู้ใหญ่มองว่าอุจาดเช่นนั้นบนเวทีอีก  แต่ในที่สุดพลังของพวกผู้ใหญ่ก็ไม่อาจต้านทานพลังของเด็กหนุ่มเด็กสาวได้ ถึงพ่อแม่จะห้ามลูกๆไม่ให้ไปดูคอนเสิร์ตของ เอลวิส เพรสลีย์ อย่างไร พวกเขาก็ยังหาทางหนีไปดูได้อยู่ดี

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1965-68  ความนิยมของ เอลวิส เพรสลีย์ พุ่งขึ้นถึงขีดสูงสุด  เพลงฮิตเพลงดังของเขาเพลงแล้วเพลงเล่าพรั่งพรูออกมาอย่างไม่ขาดสาย จนกล่าวได้ว่าไม่ว่า เอลวิส เพรสลีย์ จะร้องเพลงอะไรออกมา เพลงนั้นก็ต้องเป็นเพลงดังทุกเพลง แม้จะเป็นเพลงเก่าแก่โบรํ่าโบราณขนาดไหน หาก เอลวิส เพรสลีย์ นำมันมาร้อง เพลงนั้นก็จะอยู่ในกระแสนิยมเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตที่หนุ่มๆสาวๆเปิดฟังกันทั่วทุกหัวถนนในทันที  นอกจากนี้ เพรสลีย์ ยังพัฒนารูปแบบและขีดความสามารถทางดนตรีของเขาขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง หลังจากที่เคยใช้เพียงเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น ต่อมาเขาก็เพิ่มเปียโนและเครื่องเป่า และยังมีคณะนักร้องประสานเสียง ชื่อ The Jordanaires มาเป็นวงประสานเสียงให้กับเขาอีกด้วย  

และนอกจากเพลงแล้ว เอลวิส เพรสลีย์ ก็ยังประสบความสำเร็จในด้านภาพยนตร์อีกด้วย ผู้สร้างภาพยนตร์มากมายต่างก็เดินเข้าหา เพรสลีย์ เพื่อขอคิวแสดงกันอย่างไม่หยุดหย่อน ภาพยนตร์ที่เขาแสดงจึงมีออกมามากมายติดต่อกันไม่เคยขาดเช่นกัน  ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ เพรสลีย์ แสดงก็คือเรื่อง Love Me Tender ออกฉายในปี ค.ศ. 1956  เรื่องต่อมาก็คือ Loving You และ Jailhouse Rock ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1957 และ King Creole ในปี ค.ศ. 1958 ทุกเรื่องล้วนได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งสิ้น 

เมื่อ เอลวิส ประสบความสำเร็จจนสร้างความร่ำรวยได้อย่างมากมายแล้ว เขาก็เริ่มต้นชดเชยให้กับตัวเองในสิ่งที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ก็คือต้องการมีบ้านหลังใหญ่ๆ เขาจึงซื้อคฤหาสน์หลังใหญ่ใน เมมฟิส ให้กับพ่อแม่ โดยตั้งชื่อคฤหาสน์แห่งนี้ว่า “Graceland”  และซื้อมอเตอร์ไซค์กับรถสปอร์ตหรูที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กเอาไว้มากมายหลายคัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เขามีความสุขเขาก็จะซื้อมัน การจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของแพงๆเหล่านี้อย่างไม่อั้นเป็นความสุขเพื่อชดเชยความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานอย่างหนักของเขา

แต่แล้วในขณะที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างสูงอยู่นั้น เอลวิส เพรสลีย์ ก็ต้องถูกเกณฑ์ทหารเพื่อรับใช้ชาติในปี ค.ศ. 1958  แม้แต่วันเกณฑ์เข้าเป็นทหารในกองทัพก็ยังเป็นข่าวโด่งดัง ขบวนนักข่าวและแฟนๆมากมายต่างไปรอเขาอยู่ที่กองทหาร ภาพของ เอลวิส เพรสลีย์ กำลังถูกกล้อนผมเพื่อเข้าเป็นทหารในวันนั้นถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในไม่ถึงวัน แต่ถึง เพรสลีย์ จะต้องเข้าประจำการอย่างไรก็ไม่อาจหยุดความโด่งดังของเขาได้ ทั่วโลกกลับยิ่งต้องการทราบข่าวความเคลื่อนไหวของเขาแม้อยู่ในกองทัพกันมากยิ่งขึ้น แต่ในระหว่างที่ เพรสลีย์ เข้าเป็นทหารในกองทัพนี้เอง เขาต้องสูญเสียแม่ไปขณะยังประจำการอยู่ที่ฐานทัพสหรัฐฯในประเทศเยอรมนี สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่เขาอย่างมาก

ช่วงนี้เองที่ เพรสลีย์ เริ่มคบหาหญิงสาวเพื่อชดเชยความเศร้าเสียใจของเขา หญิงสาวผู้นั้นเป็นสาวน้อยวัยเพียง 15 ปีซึ่งเป็นบุตรสาวนายทหารในค่ายที่เขาประจำการอยู่นั่นเอง ชื่อ Priscilla Beaumont  ข่าวคราวการคบหาของทั้งสองกลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกด้วยเช่นกัน กระทั่งเมื่อ เพรสลีย์ ปลดประจำการในปี ค.ศ. 1960  เขาก็ขอให้เธอมาอยู่กับเขาที่ เกรซแลนด์ แต่ เพรสลีย์ ก็ต้องรอให้ พริสซิลลา เรียนให้จบและบรรลุนิติภาวะเสียก่อน ทั้งสองจึงเข้าพิธีสมรสกันอย่างถูกต้องในปี ค.ศ. 1967

สไตล์เพลงของ เอลวิส เพรสลีย์ นั้นผสมผสานดนตรีหลายๆรูปแบบ ทั้งบลูส์ ริธึม แอนด์ บลูส์ และกอสเปล แต่ที่ชัดมากคืออิทธิพลของเพลงแบบ ร็อคอะบิลลี ที่เป็นดนตรีสำเนียงชาวใต้ แต่ เพรสลีย์ ไม่ใช่นักร้องคนแรกที่นำสไตล์ร็อคชาวใต้มาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับ ร็อค แอนด์ โรลล์ ก่อนหน้านั้น Ronnie Hawkins เป็นผู้บุกเบิก ร็อคอะบิลลี เข้าสู่วงการเพลงร็อคมาก่อน  ฮอว์กินส์ เป็นชาว Arkansas เกิดหลัง เพรสลีย์ เพียง 2 วัน  แต่เพลงของ ฮอว์กินส์ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก กระทั่งภายหลังความสำเร็จของ เพรสลีย์ นั้นเอง ที่ศิลปินอย่าง ฮอว์กินส์ และอีกหลายคนจึงนำเพลง ร็อคอะบิลลี ของพวกเขาเจ้าสู่ความนิยม  Sonny Fisher จาก Texas ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เดินในแนวทางเดียวกันกับ ฮอว์กินส์  และเริ่มเป็นที่รู้จักภายหลังที่ เพรสลีย์ นำดนตรีร็อคชาวใต้แบบนี้เข้าสู่ความนิยมเช่นกัน

ช่วงเริ่มต้นทศวรรษที่ 60 วงการดนตรีร็อคได้พลิกโฉมออกไปอีกรูปแบบหนึ่ง เวทีของคนรุ่นก่อนถูกทดแทนด้วยคนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่ๆต่างแข่งขันกันสร้างผลงานเข้าสู่วงการกันเป็นดอกเห็ด  ร็อค แอนด์ โรลล์ ในยุคทศวรรษที่ 50 กำลังถูกดัดแปลงไปสู่ความแปลกใหม่ของยุคเทคโนโลยี เช่นเดียวกันกับการเดินทางของ เอลวิส เพรสลีย์ ก็ได้เดินเข้าสู่จุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่นี้ด้วย งานดนตรีตลอดจนงานภาพยนตร์ของเขาเริ่มเดินห่างจากจุดเดิมที่เคยเป็นรูปแบบเฉพาะตัวในยุคแรกๆ สู่ความหรูหราของ ร็อค แอนด์ โรลล์ ร่วมสมัยของยุค 60   

ด้วยเหตุนี้ทำให้เวลาสำหรับซูเปอร์สตาร์เช่น เพรสลีย์ จึงเหลือน้อยเต็มที  เขาเริ่มมีอายุมากขึ้น และเวทีก็เป็นของคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ผลัดเปลี่ยนกันดังจนแทบไม่มีที่ว่าง กอปรกับการสูญเสียแม่อันเป็นที่รัก เขาเริ่มใช้ยาและหายหน้าจากวงการไประยะหนึ่ง แต่แล้วด้วยการรบเร้าจากเพื่อนๆและคนใกล้ชิดจึงทำให้ เพรสลีย์ ตัดสินใจคืนสู่วงการอีกครั้ง เพื่อจะพิสูจน์ว่าเขายังครองใจของแฟนๆเอาไว้ได้อีกหรือไม่ เด็กรุ่นใหม่จะยอมรับความยิ่งใหญ่ในอดีตของเขามากน้อยเพียงไร และการกลับมาของเขาก็ทำให้เขาประจักษ์ ความเป็น เอลวิส เพรสลีย์ ไม่ใช่แฟชั่นหรือสิ่งฉาบฉวย เขาคืออมตะ คือสถาบัน จนมีการขนานนามเขาว่า “King of Rock and Roll” ซึ่งก็ไม่มีใครปฏิเสธ

ภายหลังจากการกลับคืนสู่วงการดนตรีอีกครั้งในปี ค.ศ. 1968 และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นต้นมา ตลอดช่วงชีวิต 10 ปีสุดท้ายของ เอลวิส เพรสลีย์ นั้นเขาก็ยังคงใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในกระแส ร็อค แอนด์ โรลล์ อย่างราชา ร็อค ที่แท้จริง  เพรสลีย์ มีรายการโชว์ประจำอยู่ที่ลาสเวกัส และออกทัวร์คอนเสิร์ตอย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ เอลวิส ขึ้นเวที ภาพของราชาร็อคในชุดหมีประจำตัวของเขาคือสัญลักษณ์ของร็อค แอนด์ โรลล์ ที่จะสร้างความสุขให้แก่แฟนๆ ทุกวินาทีที่เขาเต้น ร้อง และเล่นกีตาร์อยู่บนเวทีคือความประทับใจไม่รู้ลืม  


เอลวิส เพรสลีย์ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1977 ที่คฤหาสน์ เกรซแลนด์ ของเขาใน เมมฟิส อย่างปัจจุบันด้วยอาการหัวใจวายจากการได้รับยาหลายๆขนานติดต่อกันเป็นเวลานาน โลกได้สูญเสียราชาร็อคผู้นี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ชื่อเสียงของเขายังเป็นอมตะไม่เคยจางหายไปจากคนทั้งโลกแม้สักนิดจวบจนทุกวันนี้

Exit mobile version